WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8852 ข่าวสดรายวัน

'แม้ว'โผล่สร้างวัดพม่า 'กก.ปรองดอง'ฟิต บุกคุก-เยี่ยมทุกสี วุ่นอีกจุดเทียนชม.


ผล่พม่า - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฏตัวที่เจดีย์ชเวดากอง กรุงย่างกุ้ง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้ามาขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก ระหว่างเดินสายทำบุญ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ตามข่าว

      'ทักษิณ'โผล่พม่า เดินสายทำบุญ สร้างวัดช่วงหลังตรุษจีน สนช.เตรียมนัดวันแถลงเปิดคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว. ก่อนลงมติหลังกลางเดือนมี.ค.นี้ ประธานกก.ปรองดองสปช. เผยกก.อิสระเสริมสร้างความปรองดองฯในรธน.เฟ้นจากผู้นำความขัดแย้ง มีหน้าที่ยุติปัญหา-ไม่เกี้ยเซี้ย-ไม่ให้ทหารสืบทอดอำนาจ พร้อมนำทีมเยี่ยมผู้ต้องหาทุกสีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 24 ก.พ.นี้ ยันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่บังคับทิ้งจุดยืนการเมือง อดีตส.ส.เพื่อไทยชี้ปรองดองได้จริงถ้า'บิ๊กตู่'ใช้อำนาจพิเศษนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทนาย'ปู'โต้ข่าวขอเพิ่มพยาน 20 ปาก

สนช.นัดถกถอด 38 อดีตส.ว.
       วันที่ 21 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 25 ก.พ.เวลา 10.00 น.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งให้นัดประชุมสนช.เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาการถอดถอนอดีตส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีการร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกอบพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 เพื่อกำหนดรายละเอียดวันเวลาในการแถลงเปิดคดี ภายหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ส่งสำนวนการถอดถอนความผิดของอดีตส.ว. 38 คนมาให้สนช.ดำเนินการในกระบวนการถอดถอน 
      นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) กล่าวว่า ในวันที่ 25 ก.พ. จะเป็นวันแรกที่เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาถอดถอนคดีดังกล่าว เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวน และการพิจารณาพยานหลักฐานที่ฝ่ายป.ป.ช. หรืออดีตส.ว. 38 คนจะยื่นขอเพิ่มเติม โดยหลักการทั่วไปหลังจากวันที่ 25 ก.พ.ประมาณ 1 สัปดาห์จะเป็นการนัดแถลงเปิดสำนวนของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม 9 คน มาทำหน้าที่ซักถามคู่กรณี 

คาดภายในมี.ค.ลงมติได้
    นพ.เจตน์ กล่าวว่า จากนั้นอีก 1 สัปดาห์จึงเข้าสู่ขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการซักถามจะทำหน้าที่ตั้งคำถามซักถามคู่กรณีสองฝ่ายแทนสมาชิกสนช. และอีก 1 สัปดาห์ต่อมา เข้าสู่การแถลงปิดสำนวน หลังจากนั้นอีกไม่เกิน 3 วัน สนช.จะลงมติถอดถอนในคดี ดังกล่าว คาดว่า หากอดีตส.ว.ทั้ง 38 คน ไม่ขอแถลงเปิดคดีด้วยตัวเองทุกคน จนทำให้กระบวนการพิจารณาเกิดความยืดเยื้อ สนช.น่าจะลงมติถอดถอนได้ในช่วงเลยกลางเดือนมี.ค.ไปเล็กน้อย แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา จะส่งตัวแทนไม่กี่คนมาเป็นผู้แถลงเปิดคดี ซึ่งจะทำให้กระบวนการถอดถอนไม่ยืดเยื้อ แต่ไม่ทราบว่าสุดท้าย แล้วอดีตส.ว. 38 คน จะขอใช้สิทธิแถลงเปิดคดีด้วยตัวเองทุกคนหรือไม่ 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีอดีตส.ว. 38 คน จะใช้คดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา มาใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีได้หรือไม่ เนื่องจาก สนช.ลงมติไม่ถอดถอนคดีดังกล่าว นพ. เจตน์กล่าวว่า ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ เพราะรายละเอียดทั้งสองคดีไม่เหมือนกัน โดยคดีนายสมศักดิ์และนายนิคม ถูกถอดถอนกรณีปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานที่ประชุมที่มีการตัดสิทธิผู้อภิปรายจำนวนมากโดยไม่ถูกต้อง แต่คดีอดีตส.ว. 38 คน มีการแบ่งประเภทการกระทำผิด เป็นเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การลงมติรายมาตรา และการลงมติในวาระ 3 เข้า ข่ายการลงมติในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ ทับซ้อนของตัวเอง 

'ดิเรก'นำทีมแจงข้อกล่าวหา
      ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี หนึ่งใน 38 ส.ว. ที่ถูกยื่นถอดถอน กล่าวว่า ขณะนี้อดีตส.ว. 38 คนเตรียมข้อมูลในการสู้คดีต่อสนช.ไว้หมดแล้ว โดยจะส่งตัวแทน 4 คน ได้แก่ ตน นายกฤช อาทิตย์แก้ว นายวิทยา อินาลา และนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง เป็นผู้แถลงเปิดสำนวน ตอบข้อซักถาม และแถลงปิดสำนวน ซึ่งตนจะเป็นผู้สรุปในการแถลงเปิดและปิดสำนวน โดยจะชี้แจงเรื่องข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงในการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการทำตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุให้สามารถทำได้ 
     "ยืนยันว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะชี้แจงด้วยเหตุผล ไม่มุ่งทะเลาะกับใคร มั่นใจว่าสามารถชี้แจงให้สนช.เข้าใจได้ ไม่หนักใจอะไร เพราะดูแล้วกรณีอดีตส.ว. 38 คนมีเนื้อหาเบากว่าคดีของนายสมศักดิ์ และนายนิคม ที่สนช.ลงมติไม่ถอดถอนไปก่อนหน้านี้" นายดิเรกกล่าว

เล็งวางตัวกก.ปรองดอง
      เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนาและรับฟังความเห็น เรื่อง การปฏิรูปการปรองดอง โดยมีวิทยากรและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 
      นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 15 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือความ ขัดแย้งและผู้นำความขัดแย้ง มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ โดยหลังจากนี้จะมีการยกร่างพ.ร.บ.เพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ หลักการคือจะให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 9-10 คน เป็นผู้คัดเลือกผู้นำความขัดแย้งให้เข้าร่วมเป็นกรรมการ 

มีหน้าที่หาข้อยุติ-ไม่เกี้ยเซี้ย
      "ยืนยันว่า คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ ไม่ใช่กรรมการ เกี้ยเซี้ยหรือต่อรอง แต่จะมีหน้าที่เพื่อหา ข้อยุติความขัดแย้ง ศึกษาหาข้อเท็จจริง การเยียวยา การดูแล รวมถึงเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เมื่อบุคคลได้ให้ความจริงและสำนึกผิดต่อกรรมการ รวมถึงเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯจะแตกต่างจากกรรมการหรือคณะทำงานที่ผ่านมา คือ มีความเป็นอิสระ และร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนให้รัฐสภา และรัฐบาลสนับสนุนการทำงานทั้งเรื่องงบประมาณและข้อเสนอของกรรมการ" นายเอนกกล่าว 
     นายเอนก กล่าวอีกว่า เรื่องความปรองดองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะทำให้เกิดข้อยอมรับของ 2 ฝ่ายพอสมควร ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ พยายามเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และร่วมช่วยในการปฏิรูปและการปรองดองต่อไป ไม่ให้บ้านเมืองไปสู่จุดขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา โดยในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่เป็นไปตามเสียงความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะจำนวนส.ส.ที่นั่งในรัฐสภา ดังนั้นส่วนหนึ่งจะมีกลไกให้พรรคคู่ขัดแย้งสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยไม่ผลักให้เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แม้ 2 พรรคจะไม่ชอบกัน แต่ต้องทำงานร่วมกันได้ 


เสวนา - นายสุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวบรรยาย เรื่อง "ศาสนาผีและการเมือง" ในการเสวนาวิชาการบรรยายสาธารณะ เรื่อง "ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้" จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่คณะศิลปศาสตร์ ที่ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.

ยันไร้อำนาจอภัยโทษ
      นายเอนก กล่าวว่า หากทำได้เชื่อว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งความต้องการลักษณะดังกล่าวต้องไม่ใช่การจูบปาก หอมแก้ม แต่คือการร่วมมือร่วมใจกัน นอกจากนี้ ต้องไม่ใช่ให้ทหารเข้ามาสืบทอดอำนาจ เชื่อว่าทหารก็ไม่ต้องการเพราะต้องทำให้แนวทางร่วมไปด้วยกันได้ ไม่ใช่กลับไป ตีกันแบบเดิม โดยกลไกปรองดองในรัฐธรรมนูญถือเป็นกระบวนการหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ มีกมธ.บางคนให้ความเห็นว่าหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คู่ขัดแย้งจะกลับมาตีกันอีก ดังนั้นต้องพยายามออกกฎหมายลูกให้เร็วที่สุด 
  นายเอนก ยืนยันว่า คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างการปรองดองฯ ไม่มีอำนาจสั่งให้อภัยโทษใคร แต่จะสามารถเสนอชื่อบุคคลให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะการอภัยโทษต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา รวมทั้งการนิรโทษกรรมต้องออกเป็นพระราชบัญญัติซึ่งต้องดำเนินการผ่านสองฝ่ายนี้ ส่วนความหมายระหว่างอภัยโทษและนิรโทษต้องแยกออกให้ชัดเจน เพราะการอภัยโทษคือการที่บุคคลนั้นได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการรับโทษแล้ว และต่อมาได้มีการพิจารณาให้ลดโทษ ส่วนการนิรโทษคือการล้างความผิดเหมือนกับว่าไม่เคยเกิดขึ้นมา

24 ก.พ.เยี่ยมผู้ต้องขังทุกสี
      นายเอนก กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างการปรองดองฯ ยังไม่มี จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าคณะกรรมการในส่วนของผู้ขัดแย้งจะเป็นใคร คงต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาเลือก แต่ผู้ขัดแย้งจะไม่ได้มาในฐานะตัวแทนกลุ่มและไม่ใช่เป็นการมาเจรจาต่อรองแต่จะ เข้ามาทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การอภัยโทษจะครอบคลุมถึงผู้ที่กระทำความผิดคดีอาญาหรือไม่ และผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการอภัยโทษจะต้องได้รับโทษก่อนหรือไม่ รวมถึงกระบวนการยอมรับผิดต่อคณะกรรมการจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่ ยังไม่ทราบรายละเอียด ขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก่อน แต่ยืนยันว่าการอภัยโทษไม่ได้เป็นการเตรียมไว้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอน
    นายเอนก กล่าวว่า วันที่ 24 ก.พ.นี้ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังทุกกลุ่มสีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยเหตุผลที่ไปคือเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เป็นการบังคับให้เขาละทิ้งจุดยืนทางการเมือง ซึ่งกรรมการอิสระเสริมสร้างความ ปรองดองฯ ก็เช่นเดียวกันคือการทำให้สังคมที่เห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ตามหลักประชาธิปไตยปกติ ไม่ใช่บังคับให้เปลี่ยนจุดยืน

ชูต้นแบบไอร์แลนด์เหนือ
     ด้านพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. เสนอแนะว่าการทำงานของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ ต้องเข้าสู่ภาคการปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยนำผลการศึกษาจากผู้ที่เคยศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองมาแล้วมากำหนดเป้าหมายและแนวทางสู่การปฏิบัติ นอกจากนั้นการทำงานต้องประสานและสอดคล้องกับภาคส่วนต่างๆ เช่น คู่ขัดแย้ง กระบวนการยุติธรรม ทั้งระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย รวมถึงการทำข้อเท็จจริงทุกฝ่ายและกลุ่มสีให้ปรากฏ เพื่อนำไปสู่สถานการณ์หรือบรรยากาศที่เปิดโอกาสและความเชื่อของการสร้างความปรองดองซึ่งกันและกัน
     พล.อ.เอกชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการศึกษาความขัดแย้งและแนวทางสร้างความปรองดองของต่างประเทศพบว่าการออกกฎหมายและตั้งกรรมการอิสระเป็นส่วนช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ ซึ่งมองว่าประสบการณ์แก้ไขความขัดแย้งจากไอร์แลนด์เหนือ มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย เช่น จุดเริ่มความขัดแย้งมาจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย การไม่ได้รับความยุติธรรม ไอร์แลนด์เหนือใช้วิธีแก้ไขคือ ใช้การเลือกตั้ง โดยพรรคการเมือง 2 พรรคที่ขัดแย้งกันร่วมเป็นรัฐบาล เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการความสำเร็จคือ รัฐบาลชุดดังกล่าวสามารถอยู่ครบเทอมได้ในรอบ 40 ปี แม้ช่วงบริหารประเทศจะมีปัญหา แต่เขาไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นการหาแนวทางปรองดองและแก้ไขความขัดแย้งของไทยต้องหาปัจจัยให้ได้ 

ถามกลับ 2 ฝั่งคิดเลิกตีกันยัง
     "ยอมรับว่า ปัญหาของไทยมีความซับซ้อน แต่เชื่อว่าสามารถทำได้ โดยคู่ขัดแย้งต้องมีเจตจำนงว่าจะเข้าสู่โหมดความปรองดอง แต่ปัจจุบันเจตจำนงนั้นยังไม่มีใครให้ความชัดเจน ผมมองว่าในร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีสมัชชาพลเมือง จะทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งได้ และอาจส่งผลในระดับกดดันให้คู่ขัดแย้งร่วมแนวทางปรองดองและลดความขัดแย้งระหว่างกัน" พล.อ.เอกชัยกล่าว
      นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกล่าวว่า ยังไม่เห็นว่าโหมดการปรองดองจะเกิดขึ้นภายในประเทศได้อย่างไร อาจเป็นเพราะ ผู้อยู่เบื้องหลัง หรือผู้เสียหายไม่อยากปรองดองใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่คิดไว้การปรองดองเกิดขึ้นยาก ทั้งนี้จิตวิญญาณของคนไอร์แลนด์เหนือ หรือรวันดาที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และเรานำหลักเกณฑ์การอภัยโทษของเขามาประยุกต์ใช้ ตนเห็นว่าใช้ไม่ได้กับบ้านเรา วันนี้ปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองคือการประนีประนอมทั้งสองฝั่ง ต้องทำให้เขาเกิดความยับยั้งชั่งใจให้ได้ ว่าจะตีกันแล้วเกิดความสูญเสียอีกไม่ได้ วันนี้ผู้ชุมนุมมีคำนี้ในใจหรือยัง ถ้ายังก็มองไม่เห็นว่าจะปรองดองอย่างไร

'สุรชัย'แนะแยกกม.ปรองดอง
       ส่วนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ติดตาม กมธ.ยกร่างฯได้เรื่องการปรองดองบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯจะออกแบบวิธีการสร้างความปรองดองไว้อย่างไร แต่เห็นว่าเรื่องปรองดองควรแยกไว้ต่างหากเพื่อจะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องไปพูดคุยกัน เพียงแต่ออกเป็นกฎหมายน่าจะทำให้เกิดผลได้รวดเร็วกว่า เพราะหากนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอาจไปสัมพันธ์กับส่วนอื่น อาจนำไปสู่ผลในชั้นการพิจารณารับหรือ ไม่รับรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจกระทบกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ เรื่องปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดถึงกรอบกติกาในความ ขัดแย้งช่วงใดช่วงหนึ่ง เพื่อให้เราก้าวข้ามความขัดแย้งไป ขณะที่รัฐธรรมนูญต้องถาวรใช้ได้นานที่สุด 


จุดเทียน - กลุ่มเกษตรกรจากสมาชิกสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ ร่วมกันจุดเทียนส่องรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงสัญลักษณ์ บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ ก่อนจะถูกทหารควบคุมตัวแกนนำไปปรับทัศนคติ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.

    สำหรับ การเจรจาและการให้อภัยถือเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความปรองดองหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่าการเจรจาก็จำเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องระบุตัวบุคคลออกมา ถ้ามีความจริงใจ มองปัญหาของบ้านเมืองตรงกัน คุยกับใครก็จะได้ข้อมูลเหมือนกัน ถ้าเห็นไม่เหมือนกันก็คุยกันได้ยาก เชื่อว่าวันนี้ทุกคนเห็นปัญหาตรงกันที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ เมื่อวันนี้เราเห็นปัญหาตรงกันเราย่อมสามารถพูดคุยกันได้ ส่วนเรื่องการให้อภัย ถ้ายอมรับผิดเป็นเรื่องที่ทุกคนจะให้อภัยได้ แต่ต้องอยู่ที่ประเภทความผิดด้วยว่าสมควรให้อภัยหรือไม่

พท.จี้ผู้อำนาจกล้าตัดสินใจ
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า ตนเคารพในความคิดเห็นของกมธ.ยกร่างฯ แต่ดูความสำเร็จค่อนข้างจะเลือนราง ถ้าจะสำเร็จ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ต้องกล้าตัดสินใจแก้ปัญหาบ้านเมือง เพราะตอนนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ ไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน จึงอยากฝากข้อสังเกตว่า 1.สถานการณ์ปัจจุบันจะหาคนเป็นกลางที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองได้จากไหน 2.ในอดีตมีการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้หลายครั้ง แต่แก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ 3.ที่แก้ไขความขัดแย้งได้สำเร็จ คือผู้ถืออำนาจรัฐที่กล้าตัดสินใจในการใช้คุณธรรม ให้อภัยด้วยการออก พ.ร.บ. พ.ร.ก.หรือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองก็เกิดความสงบ ร่มเย็น
     "ทำไมผู้ถืออำนาจรัฐในอดีตทำได้ และทำมาไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ทำไมยุคนี้ทำไม่ได้ ไม่อยากมองว่ามีวาระพิเศษ การใช้คุณธรรมอภัยที่ผมเสนอ ไม่รวมถึงคดีทุจริตคอร์รัปชั่น และคดีหมิ่นตามมาตรา 112 เราไม่ได้เสนอให้อภัยยกเข่ง" นายชวลิต กล่าว
    นายชวลิต กล่าวอีกว่า 4.กรณีเอาผู้มีส่วนได้เสียมาเป็นคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้สำเร็จเพราะผู้สูญเสียแต่ละฝ่ายยังเจ็บปวดกับการสูญเสียบุคคลในครอบครัว ดังนั้น ผู้ถืออำนาจรัฐควรใช้คุณธรรมอภัย และ ตั้งคณะกรรมการเยียวยาดูแลผู้ที่ได้รับ ผลกระทบ รวมทั้งการให้เกียรติยศแก่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ และฝ่ายประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

เสนอ'บิ๊กตู่'นิรโทษทุกฝ่าย
     นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับ ข้อเสนอของกมธ.ยกร่างฯ เรื่องการตั้งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับว่าเรากำลังยอมรับว่าบ้านเมืองจะไม่สามัคคีกันไปอีกนาน จึงต้องตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ มองว่าคงไม่มีประโยชน์ ทั่วโลกคงรู้สึกไม่ต่างกันว่าประเทศไทยคงจะไม่เกิดความสามัคคีกันอีกแล้ว ดังนั้น หากอยากจะปรองดองกันจริงๆ ต้องทำก่อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ และก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 
      "ขอให้ผู้มีอำนาจเชิญคู่ขัดแย้งและผู้ที่ได้รับผลกระทบมาคุยกันเพื่อหาทางออก ไม่ต้องเจาะจงให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสีอยากให้เรื่องจบ ขอให้มาเริ่มกันใหม่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.สามารถใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 โดยประกาศออกมาเลยว่าจะนิรโทษกรรมทุกฝ่าย อย่าไปรอเขียนกฎหมายเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช." นายสามารถกล่าว

ปชป.หนุนพ่วงท้าย'อภัยโทษ'
    นายสามารถกล่าวอีกว่า ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ พูดถึงเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแทนการนิรโทษกรรม โดยต้องยอมรับว่าทำผิดก่อนถึงจะได้รับการอภัยโทษนั้น แบบนี้เรื่องยิ่งไม่จบ แค่คิดหรือพูดออกมาก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับว่าที่ผ่านมาตัวเองทำผิด หากอยากจะให้เกิดการปรองดองควรนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายทันที เพื่อให้ปัญหาทุกอย่างจบลงด้วยดี ถือเป็นการสร้างบรรยากาศการปรองดองก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
      นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตลอดกว่า 10 ปีของความขัดแย้งเมื่อพูดถึงเรื่องปรองดองจะมีคำว่านิรโทษกรรมพ่วงท้ายเสมอ แต่เที่ยวนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กลับบอกว่าปรองดองต้องพ่วงท้ายด้วยอภัยโทษ ซึ่งตนเห็นด้วยกับเเนวทางนี้ เพราะถ้าจะได้รับการอภัยโทษต้องยอมรับผิด รับโทษ และสำนึกก่อน อีกทั้งการขอพระราชทานอภัยโทษก็มีทุกปี ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ไม่เห็นด้วยที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะมีกระบวนการที่ใช้มาตลอดอยู่แล้ว ส่วนกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณจะไม่เข้าข่ายได้รับการอภัยโทษ เพราะยังหลบหนีคดี ไม่สำนึก และยังไม่รับโทษ 

ทนาย'ปู'โต้เพิ่มพยาน 20 คน
     วันเดียวกัน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องการขอเพิ่มพยานว่า ตนไม่เคยพูดที่ไหนเลยว่าจะมีการขอเพิ่มพยานจำนวน 20 ปาก จะขอเพิ่มได้อย่างไรในเมื่อยังไม่เห็นคำฟ้องเลย เมื่อไปดูจากข่าวในเนื้อข่าวก็ไม่ได้บอกว่าเอาข่าวมาจากไหน แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้มาจากทีมทนายความอย่างแน่นอน เพราะโดยหลักการแล้วต้องรอให้เห็นคำฟ้อง ซึ่งศาลยังไม่ได้ประทับรับฟ้องเลย ต้องรอฟังคำสั่งวันที่ 19 มี.ค.ก่อน ยืนยันว่าทีมทนายไม่ได้ให้ข่าวเรื่องนี้
    นายนรวิชญ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมทีมทนายเมื่อวัน 21 ก.พ. ได้ข้อสรุปว่าเนื่องจากศาลยังไม่มีคำสั่ง ช่วงนี้ควรรอก่อนดีกว่าว่าศาลมีคำสั่งต่อสำนวนอย่างไร

'แม้ว'สร้างวัดที่เนปิดอว์
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรเชษฐ ไชยโกศล อดีต ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย โพสต์รูปภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วัดแห่งหนึ่ง พร้อมทั้งข้อความว่า "ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มาสร้างวัดในเนปิดอว์ สหพันธรัฐเมียนมาร์ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตมากอันดับหนึ่งของโลก ในวันที่บ้านเมืองเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับโอกาสจากรัฐ ทุกๆ สัปดาห์จะมีนโยบายให้ความเจริญเกิดขึ้น ทุกๆ นโยบายเป็นประโยชน์ เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุน"
      ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายสุรเชษฐ ได้คำตอบว่า พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางมาเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ไม่ทราบว่ามีการพูดคุยเรื่องอะไรบ้าง เพราะไม่ได้เดินทางไปด้วย เพียงแต่พรรคพวกตนส่งรูปมาให้เท่านั้น จึงไม่สามารถแสดงความเห็นใดๆได้ 

เผยรัฐจ่อคลายกฎอัยการศึก
       นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีนายเดวิด เอ. เมอร์เคล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่ผ่านมาการใช้มาตรคว่ำบาตรในประเทศอื่นๆ ของสหรัฐ ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็คือประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยต้องรับฟังและพยายามนำ ข้อกังวลที่เหมาะสมมาปรับใช้ เช่น การคลายกฎอัยการศึก เปิดให้มีการพูดคุยเรื่องการเมืองมากขึ้น ซึ่งการเปิดพื้นที่ ดังกล่าวนั้นต่างเป็นแผนของรัฐบาลอยู่แล้ว อย่างเช่นสถาบันพระปกเกล้าได้เตรียมจัดเวทีให้ทุกภาคส่วนเข้ามาคุย โดยวันที่ 1 มี.ค. จะเปิดเวทีสมัชชาพลเมือง วันที่ 15 มี.ค. จัดเสวนาด้านธุรกิจ วันที่ 19 มี.ค.เสวนาวิชาการเรื่องการเมือง 
     นายปณิธาน กล่าวว่า การเปิดเวทีดังกล่าวจำเป็นต้องคลายกฎอัยการศึกแน่นอน ทั้งนี้ในปี 2558 ซึ่งจะมีการถกเถียงในเรื่อง ข้อกฎหมายต่างๆ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลได้หาวิธีการผ่อนคลายกฎอัยการศึกเพื่อสร้างบรรยากาศ แต่ต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัยไปด้วย

เสวนา'ศาสนากับการเมือง'
       เมื่อเวลา 13.00 วันที่ 21 ก.พ. ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดมจัดเสวนาเรื่องศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้ มีวิทยากร ได้แก่ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนด้านประวัติศาสตร์ และนายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราภิชานวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มีนักศึกษา ประชาชน และภิกษุสงฆ์ ให้ความสนใจเข้ารับฟังหลายร้อยคน 
     นายสุจิตต์ บรรยายในหัวข้อศาสนาผีและการเมือง ตอนหนึ่งว่า ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผี หรืออาจเรียกศาสนาผี เป็นความเชื่อที่มีมาก่อนที่พุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ ในอดีตกาลศาสนา จึงมีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกับการเมือง มีหัวหน้าเผ่าเป็นหมอผีมีอำนาจควบคุมและจัดการทรัพยากร เป็นผู้นำทางพิธีกรรม หัวหน้าเผ่าในอดีตเป็นผู้หญิง เช่นตัวอย่างจากการค้นพบกระดูกเจ้าเเม่โคกพนมดี ในอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ยังมีตำนานนางนาคเป็นตำนานบรรพชนเพศหญิงของแผ่นดินสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ โดยเขมรนับถือเป็นผู้คุ้มครองอาณาจักรกัมพูชา ส่วนมอญมีนางนาคเป็นเจ้าแม่คุ้มครองอาณาจักรหงสาวดี หรือเพลงแม่สี หมายถึงนางนาคผู้เป็นบรรพชนของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งพุทธศาสนาแผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้ และปะทะเข้ากับความเชื่อเรื่องศาสนาผี จึงเกิดเป็นประเพณีหรือพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ที่ยังคงพบเห็นอิทธิพลของศาสนาผีอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น พิธีบวช เป็นต้น ดังนั้นการปกครองภายใต้ความเชื่อเรื่องศาสนาผีและศาสนาพุทธ ยังคงมีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมกับสังคมและการเมืองในปัจจุบัน
     จากนั้นนายธเนศบรรยายหัวข้อพุทธศาสนากับการเมืองไทย ตอนหนึ่งว่า การเรียนการสอนสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก จะนับเฉพาะศาสนาที่เป็นทางการ แต่ก่อนหน้านั้นคือศาสนาผี ถือเป็นเพียงเรื่องไสยศาสตร์ที่ไม่อยู่ในการยอมรับของนักทฤษฎีในแวดวงวิชาการ ส่วนเรื่องของศาสนาจึงถูกโยงกับเรื่องการเมืองมาโดยตลอดนั้น ส่วนตัวมองว่าเกิดจากเมื่อมีศาสนาแล้ว จึงเกิดอุดมการณ์ทางโลกและทางธรรมตามมา กล่าวคือหลังจากมีศาสนาแล้วการปกครองภายใต้หัวหน้าเผ่า ซึ่งเป็นหมอผี จึงต้องยกระดับขึ้นเป็นผู้ปกครองที่ดูดี ดูงดงาม น่าเชื่อถือและน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น เพราะได้เปลี่ยนสถานะการปกครองจากชุมชนเล็ก เป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการปกครองอย่างเป็นระบบ
     ส่วนนายนิธิบรรยายหัวข้อศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ตอนหนึ่งว่า ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจอิทธิพลของบุคคลบางกลุ่มในสังคมไทย ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองและการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมเช่นกัน อย่างไรก็ตามศาสนาพุทธจะสอนให้ทุกคนสามารถบรรลุนิพพาน ซึ่งถือเป็นอิทธิพลคำสอนเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ แต่กลับไม่ได้รับความสำคัญในสังคมไทย ส่วนการศึกษาของไทยก็ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องเสรีภาพทางการศึกษาและถกเถียงเรื่องศาสนา แต่มีลักษณะของการเป็นเครื่องมือหรือกลไกทางการเมืองของชนชั้นนำ และถูกกำหนดจากอำนาจส่วนกลาง 
    นายนิธิ กล่าวต่อว่า ศาสนาพุทธในอดีตยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะการรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับแนวคิดคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม บทบาทข้างต้นกลับถูกรัฐยึดคืนจนทุกวันนี้ที่องค์กรคณะสงฆ์ไทยหมดพลังลงแล้ว

จุดเทียนรธน.เชียงใหม่วุ่น
       เมื่อเวลา 13.00 น. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มสภาประชาชนเพื่อการปฎิรูปภาคเหนือ 60 คนร่วมกันจุดเทียนส่องรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงสัญลักษณ์ และอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนยื่นข้อเสนอถึงสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายวิรัตน์ พรมสอน แกนนำเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดเชียงราย เป็นผู้อ่านแถลงการณ์รวม 5 ประเด็น อาทิ เสนอให้มีสภาพลเมือง เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจการบริหารท้องถิ่นและประเทศ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้เป็นเพียง"สมัชชาพลเมือง"ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักกระจายอำนาจที่แท้จริง เป็นต้น 
      นายวิรัตน์ กล่าวว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก จึงไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมาจากความคิดเห็นของบุคคล และกลุ่มบุคคลที่จำกัด จึงไม่ตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกิจกรรมดังกล่าว นายพฤ โอโดเชา ซึ่งโพกศีรษะและจุดเทียนเล่มใหญ่สุด มีทหารเข้าไปพูดคุยด้วย เพื่อปรับทัศนคติ แต่ไม่ได้ควบคุมตัวแต่อย่างใด จากนั้นนายเดโช ไชยทัพ อนุกรรมการสปช.รับหนังสือเพื่อนำเสนอประธานสปช.ต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!