- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 21 February 2015 12:42
- Hits: 3958
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8851 ข่าวสดรายวัน
แจงคดีปู บิ๊กตู่ โต้ 2 มาตรฐาน กมธ.เคาะกก.ปรองดอง เล็งออกพรฎ.อภัยโทษ เสวนาปิโตรเลียมเดือด บิ๊กป้อมขู่ทำโพลตัดสิน
เวทีพลังงาน- รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความเห็น "เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน" ที่ตึกสันติไมตรี(หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีตัวแทนภาครัฐกับกลุ่มคัดค้านเปิดสัมปทานรอบที่ 21 มานำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูล เมื่อวันที่ 20 ก.พ. |
กมธ.เคาะแล้ว กก.ปรองดองใน รธน. มีกรรมการไม่เกิน 15 คน ดูแลปรองดอง-เยียวยา-อภัยโทษ ส่วนวิธีเลือกจะกำหนดในกฎหมายลูก เตรียมออนทัวร์พัทยาร่างระบบเลือกตั้งส.ส.-ส.ว. มั่นใจสิ้นเดือนก.พ.เสร็จ เดือนมี.ค.ทบทวนก่อนส่งสปช. เพื่อไทยขอเหตุผล 'สนช.' ชงลดส.ส. 'บิ๊กป๊อก'ยัน ไม่ได้กดดันเร่งรัดทำคดี'ปู'ด้าน 'บิ๊กตู่' แจงวุ่น ไม่มี 2 มาตรฐาน คดีช้าเร็วอยู่ที่หลักฐาน-ความเสียหาย เตือนม็อบเกษตรกรห้ามใช้ความรุนแรง วอนประชาชน 'ฟังผมบ้างสิ'
'บิ๊กตู่'จ้อทีวีขอให้ใช้เหตุผล
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติตอนหนึ่งว่า ขณะนี้การปฏิรูปกำลังเดินหน้าในระยะที่ 2 ตามโรดแม็ปเพื่อให้เกิดสิ่งที่ทุกคนต้องการโดยเร็วที่สุดและยั่งยืน ดังนั้น ทุกฝ่ายน่าจะใช้เหตุผลเข้ามาช่วยกัน ร่วมมือทำงานกับรัฐบาล หากใช้วิถีทางการเมืองเข้ามาสร้างกระแสหรือสร้างประเด็นขัดแย้งอีกต่อไป มันจะเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายตามเวลาที่เราต้องการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อบางสื่อ คอลัมนิสต์หรือบางคนอาจจะฝ่ายการเมืองหรือนักวิชาการ ฝากว่าขอให้มีข้อมูลให้ครบ ทำการบ้านมาบ้างแล้วดูในส่วนที่เป็นเหตุเป็นผล ได้ตรวจสอบความถูกต้องเพราะเป็นจรรยาบรรณของมนุษย์ ของคนที่ดี สื่อที่ดี สื่อที่มีคุณภาพ ไม่งั้นมันสร้างความเข้าใจผิดแล้วสร้างมวลชนขึ้นมา ทำให้เกิดปัญหา เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลในการทำงาน ตนต้องมาตอบคำถามซ้ำๆ ในเรื่องที่เคยตอบไปแล้ว ถ้าไม่ฟังกัน ไม่เข้าใจกัน ก็เอามาพูดกลับไปกลับมาอยู่แบบเดิม บางครั้งทำให้การทำงานสะดุด
แจงวุ่นไม่มี 2 มาตรฐาน
"อยากฝากถึงสื่อและผู้ที่ประชาชนยอม รับในการพูดจาต่างๆ ต้องมาช่วยกัน ทั้งสื่อ ทั้งนักวิชาการ เอาประเด็นหลักมาก่อนว่าทำอย่างไรประเทศชาติจะปลอดภัย ประชาชนเป็นสุข ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าประชาธิปไตยในเวลานี้ วันนี้ต้องยอมรับในกติกาของกระบวนการยุติธรรม อย่ากล่าวอ้างว่า 2 มาตรฐาน หรือเร่งรัดเรื่องต่างๆ ขึ้นอยู่กับคดีไหนมีหลักฐานพร้อม หรือคดีใดที่มีความเสียหายมาก เขาก็ต้องเอาไปพิจารณาก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า คดีทุจริตทุกคดีดำเนินการให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส ตามกระบวนการยุติธรรม หลายคดีมีผลกระทบประชาชนจำนวนมาก เช่น คดี สจล. สหกรณ์ยูเนี่ยน การทุจริตจัดซื้อจัดหาก่อนวันที่ 22 พ.ค.มีอยู่หลายคดี ประชาชนก็ติดตามแล้วกัน อย่าไปเร่งรัดหรืออย่าไปตัดสินก่อน ให้เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมาย ไม่งั้นจะวุ่นวายและสร้างความสับสน เกลียดชังกันไปเรื่อยๆ ใครที่ทำผิดก็สู้กันตามหลักฐานที่มีอยู่ ฝ่ายรัฐก็ดำเนินการให้โปร่งใส เป็นธรรม ทุกคดีให้ยึดกฎหมายเป็นหลัก
วอนลดพูดจาให้ร้ายกัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ การปรองดอง การนิรโทษ การดำเนินการทางกฎหมาย หลายคนอยากให้รัฐทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เข้าใจว่าหวังดี อยากให้บ้านเมืองสงบ แต่ต้องคำนึงถึงกติกา ถ้าพูดถึงเรื่องปรองดองอย่างเดียว เรื่องกฎหมายก็มีปัญหา ถ้าจะพูดถึงการนิรโทษต้องต่อมาจากกฎหมายเช่นเดียวกัน ฉะนั้น หลายเรื่องเกี่ยวพันกับกฎหมายของประเทศ ถ้าหากจะปรองดองกันอย่างแรกคือลดการพูดจาให้ร้ายกัน ปล่อยทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการ อย่าไปตัดสินเอง อย่าใช้ความชอบส่วนตัวมาเป็นเหตุผล แม้จะเป็นคนที่ชอบ แต่กระทำความผิดก็ต้อง ผิด จะได้ปรับปรุงตัวเองต่อไป เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับประเทศให้กับทุกคนที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้ายังไม่ยอมรับความผิดกันเลย หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผิดมากน้อยแค่ไหน เจตนา ไม่เจตนา ตนคิดว่ายังเป็นปัญหาอยู่ จึงต้องเอากฎหมายมาดูแล้วพิจารณา ใช้หลักเกณฑ์ความเป็นธรรม ชอบธรรม โปร่งใส การยอมรับ ต้องฝากหลายส่วนทั้งภาครัฐ กระบวนการยุติธรรม เอกชน ประชาชนที่มีส่วนร่วม ต้องไปหาทางกันมาว่าจะทำยังไงบ้านเมืองถึงจะสงบสุข
ให้ตั้งสติ-ลดขัดแย้ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้มุ่งเน้นเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ วันนี้ปัญหาขัดแย้งมันอยู่ที่ประชาชน มีหลายพวกหลายฝ่าย หลายกลุ่มอาชีพ คนทำความผิดก็มีหลายพวกเหมือนกัน อยากให้ดูปัญหาในภาพกว้าง ถ้าคนผิด ทำความผิดไปแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนอื่นๆ จะได้รู้ว่าอย่างนี้ทำได้ อย่างนี้ทำไม่ได้ แก้ปัญหาไปทีละจุด เราแก้ที่เดียวไม่ได้เพราะปัญหาเกิดขึ้นมานาน ความขัดแย้งมันเกิดอยู่กับประชาชนเป็นล้านๆ คน เราจะไปชี้เป็นชี้ตาย ชี้ถูกชี้ผิดไม่ได้ เว้นแต่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งทุกคนต้องยอมรับ ไม่งั้นก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันรวนไปหมด ดังนั้น อย่าเอามาเกี่ยวพันกัน เรื่องกฎหมาย นิรโทษ ปรองดอง เหล่านี้ต้องดำเนินการตามขั้นตอน นึกถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซึ่งอาจจะอยู่ตรงกลางอยู่ในขณะนี้"
"ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ทุกอย่างกำลังเดินไปได้ด้วยดี หากวันนี้เรามีความขัดแย้งในประเทศมาก หรือกลับไปสู่การขัดแย้งเก่าๆ สิ่งที่เราเดินหน้ามันก็ไปไม่ได้ ผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดประโยชน์กับใคร หากเป็นไปตามที่หลายฝ่ายต้องการสร้างความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน มันจะเกิดประโยชน์อยู่กับคนกลุ่มเดียวเท่านั้น แล้วประชาชนที่เหลือจะทำอย่างไร บ้านเมืองไปไม่ได้ เศรษฐกิจก็แย่ รัฐบาลก็ไม่มีใครทำได้ ถ้ายังขัดแย้ง ไม่ร่วมมือกันอยู่ สิ่งสำคัญเราเป็นคนไทยด้วยกัน อย่าโกรธกันจนเกินไป หรือเกลียดจนกระทั่งให้อภัยกันไม่ได้ เราต้องตั้งสติใหม่ แล้วลดความขัดแย้งลงให้ได้ ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิด เบือนต่างๆ บางครั้งทำให้ทุกอย่างลุกลาม สร้างความเกลียดชังมากขึ้น"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ลั่นห้ามใช้ความรุนแรง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า ตนสั่งการไปแล้วให้มีการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น บริษัทที่สนใจซื้อยางในประเทศ รัฐจะดูแลเรื่องภาษีให้เพื่อจะได้มีกำไร ซึ่งต้องมาร่วมมือกันทำงาน และอยากให้เกษตรกรเข้าใจว่าเราพยายามทำเต็มที่ ส่วนที่มีพวกออกมาตำหนิ ปลุกปั่นให้ประชาชนไม่เข้าใจรัฐบาลนั้น อยากบอกว่าอย่าทำเลย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ได้ข่าวว่าเตรียมการใช้ความรุนแรงอีก ซึ่งมันไม่ได้ วันนี้กลับไปอย่างนั้นไม่ได้ จะต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด เดือดร้อนคนเก่าๆ ด้วยถ้าเชื่อมโยง ก็เดือดร้อนไปอีก ไม่มีวันจบ ให้ฝ่ายความมั่นคงติดตามเรื่องนี้อยู่ อย่าทำโดยเด็ดขาด ตนเตือนไว้ก่อน เพราะต้องลงโทษ อย่ามาโวยวายทีหลังว่ารุนแรงเกินไป ไม่เป็นธรรม ตนพร้อมใช้อำนาจพิเศษ จึงเตือนไว้ก่อน อย่าคิดว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์ มันยิ่งไม่เกิดประโยชน์ ประชาชนก็รังเกียจ เขามีความสุขกันอยู่ อย่าไปทำ หลายคนคิดได้แต่อย่าออกมา
วอนประชาชนฟังผมบ้าง
"ประชาชนต้องฟังผมบ้าง ใครพูดอะไร ผมไม่ห้ามอยู่แล้ว แต่ฟังการแสดงออกถึงความจริงใจของผม เพราะผมไม่ต้องการอะไรอยู่แล้ว ไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้าหรือก่อนเข้ามา ดังนั้นท่านจะเชื่อใครก็ตาม นักการเมืองบางคนดี บางคนอาจไม่ดี ขอให้ไปถามคนเหล่านั้นว่าไปหลายๆ งานทั้งงานแต่ง งานบวช งานศพ เอาเงินมาจากไหน เงินส่วนตัวหรือเอาเงินหลวงมา ถ้าเป็นเงินหลวง ไม่ใช่เงินส่วนตัว แล้วใช้เยอะแบบนั้น เอามาได้ยังไง ไปถามเขาดู วันนี้ผมไม่ทำแบบนั้น ส่วนตัวเองถ้าไม่ทำธุรกิจแล้วเป็นนักการเมืองอย่างเดียวแล้วรวย มีเงินไปแจกชาวบ้านเยอะๆ ผมไม่รู้เอามาจากไหนเหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า อย่าไปใช้เงินสร้างอิทธิพล สร้างบุญคุณกับประชาชนที่ยากไร้ คนเหล่านี้เป็นคนไทยแท้ ใครให้ก็กตัญญู แต่วันนี้ความกตัญญูที่ว่าต้องไปดูว่าเขาเอามาให้จากที่ไหน เงินถูกหรือเงินผิด ถ้าเงินผิด จริงๆ มันเงินของเรา เขาไม่ต้องมาแจก เอามาลงทุนให้เกิดประโยชน์จะดีกว่า ฝากเรื่องนี้ด้วย อย่าคัดค้านกันอย่างเดียวโดยไม่มีเหตุผล ใช้กลุ่มเดิมๆ คนเดิมๆ ไปล้างสมอง ฝังชิพจนพูดอะไรก็ไม่ฟัง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปีนี้ครบ 5 รอบของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อยากให้ทุกคนตั้งใจทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล มันดีกับคนทั้งประเทศ ตนเคยบอกแล้วว่าวันสำคัญไม่ใช่วันเลี้ยงฉลอง แสดงความยินดีแล้วจบ วันสำคัญควรตั้งตัวตั้งใจว่าจะทำอะไรที่มันดีๆ ให้กับตัวเอง ครอบครัว ประชาชน ถ้าคิดอย่างนี้ทุกวัน ประเทศไทยก้าวหน้าแน่นอน
'ป๊อก'ยันไม่ได้กดดันคดี'ปู'
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์บ้านเมืองโดยรวมว่า ยังไม่มีอะไรน่าห่วง สำหรับนายกฯต้องแก้ปัญหาทุกเรื่องต่อไป เพราะเรามีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และเราตั้งใจทำทุกอย่างให้ประชาชนอยู่แล้ว คิดว่าประชาชนก็ทราบดี
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ขณะนี้คนไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งไม่ได้ สังคมต้องเรียนรู้ว่าการดำเนินการทุกเรื่องต้องเป็นไปตามกฎหมาย แม้ว่าตนจะเป็นรัฐมนตรี แต่ถ้ากระทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน ดังนั้นใครที่มีคดีความต้องถูกดำเนินคดีไม่มีข้อยกเว้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกดดันให้มีการเร่งรัดทำคดีดังกล่าว ขณะนี้เมื่อเรื่องอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามว่าได้รับรายงานความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม หรือมีคลื่นใต้น้ำในจังหวัดใดบ้างหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มี ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีความเคลื่อน ไหวที่ผิดปกติในจังหวัดใด ทั้งนี้หากมีกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวก่อกวน ทางหน่วยงานความมั่นคงจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ในส่วนของจังหวัด ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข ประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปได้
ยกร่างตั้ง 15 กก.ปรองดอง
ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองหมวด 3 การสร้างความปรองดอง ในมาตราที่ 1 วรรค 1 เพื่อให้มีการสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ ให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือความขัดแย้งและ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง วรรค 2 ที่มาวาระการดำรงตำแหน่งอำนาจหน้าที่และการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในมาตราที่ 2 คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับอำนาจหน้าที่ มีดังต่อไปนี้ 1. ศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)หรือรัฐสภา 2.เสริมสร้าง ดำเนินการ และประสานงานให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดองในหมู่ประชาชนทั้งประเทศ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และใช้กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่างๆ 3.เป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้นำความขัดแย้งทุกกลุ่ม เพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน
ดูแลเยียวยา-อภัยโทษ
4.รวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำ ทั้งนี้การจะเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ทราบได้ว่า เป็นผู้ใดไม่ได้เว้นแต่จะเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ 5.ให้การเยียวยาความเสียหาย แก่ผู้เสียหายและครอบครัวรวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ 6.เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การดำเนินงาน และ ผู้กระทำซึ่งได้แสดงความสำนึกผิดต่อคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติแล้ว 7.ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชนเพื่อให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง รวมทั้งความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง ตลอดจนสร้างเครื่องเตือนใจให้สังคมรำลึกถึงผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อจะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก
8.ส่งเสริมและเสนอแนะการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม โดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคมและเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อการดังกล่าวต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเสนอต่อรัฐสภา และ 9.ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติบัญญัติ นอกจากนี้ ครม. รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐต้องให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การดำเนินการจของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
วิธีเลือกกำหนดในกม.ลูก
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ 15 คนจะมีวิธีการอย่างไร นายคำนูณกล่าวว่า รายละเอียดจะไปกำหนดอยู่ในกฎหมายลูก ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครอยากเข้ามารับ "เผือกร้อน"เพราะมีแต่จะโดนโจมตีจากทุกฝ่าย อีกทั้งจนถึงเวลานี้ก็ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองคือคู่ขัดแย้ง สุดท้ายหากหาไม่ได้อาจต้องถึงขั้นไปขอร้องให้ช่วยมาเป็น ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯจำเป็นที่จะต้องบัญญัติเรื่องการปรองดองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศมีทางเดินต่อไป
เมื่อถามว่า คณะกรรมการจะมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ใช่ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเฉพาะ 2 เรื่อง คือ ดำเนินการและพิจารณาส่งเรื่องความปรองดองไปยัง นายกฯ ครม. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือกรณีการอภัยโทษก็เป็นไปตามขั้นตอน ที่จะต้องดำเนินการออก พ.ร.ก. หรือพ.ร.บ. คณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจพิเศษแต่อย่างใด
มั่นใจยกร่างเสร็จก.พ.
นายคำนูณให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ร่างรัฐ ธรรมนูญในหมวดนี้จะไม่มีการบัญญัติให้นิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ ซึ่งกลไกนี้จะเป็นไปตามอนุกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน โดยกลไกที่ยกร่างนั้นจะมีผลบังคับใช้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ หากรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่หน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กรณีฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นคนกลางยุติความขัดแย้งนั้น คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ที่มีนายเอนกเป็นประธานจะเป็นผู้พิจารณา ส่วนรายละเอียดนั้นต้องให้คณะกรรมการที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณา และคิดว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการคงไม่ระบุให้มีสัดส่วนของทหาร แต่จะรวมถึงหรือไม่ ต้องแล้วแต่คุณสมบัติ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีคุณสมบัติของผู้ที่เป็นคสช.เข้ามาเป็นกรรมการ
นายคำนูณ กล่าวว่า ในวันที่ 23-28 ก.พ.นี้ กมธ.ยกร่างฯจะประชุมยกร่างเป็นรายมาตรานอกสถานที่ที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยพิจารณาในภาค 2 หมวดว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งส.ส. ส.ว. ครม.ให้เสร็จทั้งหมด โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างไว้ในทุกภาคจะพิจารณาเสร็จสิ้นได้ภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้ จากนั้นต้นเดือนมี.ค.จะเหลือการพิจารณาในส่วนที่รอการพิจารณาและทบทวนในบางประเด็นเท่านั้น จากนั้นจะเตรียมรูปแบบรัฐธรรมนูญรายมาตราและเจตนารมณ์เสนอต่อสปช.ต่อไป
สนช.ส่งความเห็นให้กมธ.แล้ว
วันเดียวกัน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามาตรา 34 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ สนช. ได้นำรายงานความคิดเห็นของ สนช.และคณะกรรมาธิการสามัญ สนช.ทุกคณะ เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ระยะที่ 2 เสนอต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
นายสุรชัย กล่าวว่า รายงานที่ส่งให้ กมธ.ยกร่างฯมี 3 เล่มประกอบด้วย 1.การรวบรวมความเห็นทั้งหมดจากสมาชิก สนช.และคณะกรรมาธิการสามัญ สนช. ทุกคณะ เป็นรายประเด็น 2.การเจาะเฉพาะเป็นประเด็น เรื่องผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง รวมถึงการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และ 3.การเจาะเฉพาะประเด็น เรื่องคณะรัฐมนตรี(ครม.) และรัฐสภา รวมถึงการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแนวทางสร้างความปรองดอง หวังว่า กมธ.ยกร่างฯจะนำข้อมูลเหล่านี้ของ สนช.ไปประกอบการพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน หลังจากนี้คณะกรรมาธิการชุดนี้จะทำหน้าที่รวบรวมความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะที่ 3 ควบคู่ไปกับการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ คาดจะส่งความเห็นในระยะ 3 ได้ ในเดือนเม.ย. ส่วนการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก สนช.พร้อมให้ความร่วมมือ
บวรศักดิ์ฝากเร่งกม.ลูก
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่มีประสบ การณ์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่มีประสบการณ์จัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีความคล้ายคลึงกัน โดยจะนำความเห็นมาวางไว้ เพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯ นำไปใช้ ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้มีความเห็นของสนช. สปช. พรรคการเมือง และหน่วยงานต่างๆ มาวางไว้ แล้วให้เลขานุการกมธ.ยกร่างฯ รายงานความเห็นเหล่านี้ เช่น เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่มีความเห็นกันอย่างหลากหลาย จะไม่ลงไปในรายมาตรา แต่จะนำความเห็นมาพิจารณาให้ได้ข้อสรุปก่อน ยืนยันว่า ได้พิจารณาความเห็นของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบพิธีการ และพร้อมเปิดรับฟังความเห็นตลอดจนถึงปลายเดือนมิ.ย. ก่อนที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายต่อ สปช. ในวันที่ 23 ก.ค.
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ และสปช.อาจจะต้องจัดทำกฎหมายหลายฉบับเพื่อส่งให้ สนช.พิจารณา ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกทั่วไป เช่น กฎหมายว่าด้วยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ขณะที่สปช.ได้ยกร่างกฎหมายสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ฯลฯ เมื่อกฎหมายเหล่านี้เข้า สนช. ขอให้เร่งพิจารณา เพราะหากรอให้มีรัฐบาลใหม่ ก็จะไม่เข้าใจ อาจเกิดความล่าช้าได้ โดยเฉพาะกฎหมายการสร้างความปรองดองแห่งชาติ อยากให้มีตัวแทนของ สปช. สนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมยกร่างด้วย เพื่อความรวดเร็ว ซึ่งอยู่ที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.จะเห็นด้วยหรือไม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งจะมีเนื้อหาครบทุกกระบวนการทั้งเรื่องการเยียวยา การชดใช้ และการอภัยโทษ
พท.ขอเหตุผล'สนช.'ชงลดส.ส.
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการกฎหมายของสนช.เสนอให้มีส.ส.จำนวน 350 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแบบแบ่งเขต 250 คน และมาจากบัญชีรายชื่อ 100 คนว่า จำนวนส.ส.จะ 350 หรือ 550 คนนั้นแตกต่างกันอย่างไร จะดีกว่าเดิมหรือทำให้การเมืองดีขึ้นหรือจะช่วยประหยัดงบประมาณอย่างไร อยากให้กมธ.อธิบายหรือบอกเหตุผลให้ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ร่างกฎหมายเขาไม่ได้มาจากผู้แทนราษฎร ไม่รู้ว่าส.ส.ต้องทำงานกันอย่างไรบ้าง วันหนึ่งจะต้องไปงาน ต้องดูแลประชาชนเท่าไร
"พวกผมไม่ได้เป็นส.ส.ที่มาจากสวรรค์ แต่ผมมาจากมือของประชาชน ต้องดูแลประชาชน ยิ่งถ้าไม่อยากให้มีการซื้อเสียงก็ต้องหมั่นดูแล หมั่นทำความรู้จักชาวบ้าน ไปรับฟังปัญหาหรือความเดือดร้อนของเขา ประชาชนในพื้นที่มีจำนวนมาก ถ้าไม่รู้จักใครเลย ไม่ใกล้ชิดกัน แต่อยากเข้ามาเป็นส.ส. แบบนี้จะเปิดช่องให้มีการซื้อเสียงยิ่งขึ้น" นายวิสุทธิ์กล่าว
ร้อง'บิ๊กตู่'ตรวจเหมืองทอง
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นางวันเพ็ญ พรหมรังสรรค์ และตัวแทนชาวบ้าน 30 คน จากจ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สระบุรี และลพบุรี ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อขอให้มีคำสั่งด่วนให้ตรวจพิสูจน์ประชาชนประมาณ 6,000 คน และพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่เนื่องจากเบื้องต้นพบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในคน ดิน พืช และน้ำ
นางวันเพ็ญ กล่าวว่า ขณะนี้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สั่งปิดเหมืองอีก 45 วัน นับจากวันที่ 12 ก.พ.2558 จึงขอให้มีคำสั่งด่วนที่สุด เพื่อประเมินสถานการณ์การทำเหมืองแร่ทองคำในช่วงที่ผ่านมาสู่สาธารณชน และขอให้ตรวจสอบทบทวนการเอาที่ดินคืนจากประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้เข้าแจ้งความเพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่แอบอ้างเอาที่ดินของประชาชนกลับไปส่งมอบให้นายทุนเข้าทำประโยชน์สำรวจขุดเจาะแร่ทองคำ จึงขอให้ตรวจสอบว่ามีการเอาพื้นที่คืน เพื่อเตรียมให้นายทุนทำเหมืองแร่จริงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีการขออาชญาบัตรทับซ้อนที่ดินในการทำเหมืองแร่กว่า 1 ล้านไร่ พร้อมขอให้พิจารณาชะลอการอนุมัติสัมปทานทรัพยากรแร่ทองคำ แร่โพแทช และแร่ทุกชนิด เนื่องจากทรัพยากรเป็นสิทธิของประชาชน
ถกเดือดเสวนาพลังงานยั่งยืน
เวลา 09.30 น. วันที่ 20 ก.พ. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลจัดเวทีเสวนา "เดินหน้า ประเทศไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน" ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน บรรยากาศการถกเถียงเป็นไปอย่างเข้มข้น นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง จากภาคประชาชน กล่าวกรณีกระทรวงพลังงานประกาศให้ยื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม สามารถใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ได้ว่า ห่วงจะผลักภาระให้รัฐบาลในอนาคตและเรื่องความโปร่งใส จึงขอให้แก้กฎหมายและตั้งกติกาใหม่ให้เรียบร้อยก่อนให้สิทธิ์เอกชน แต่เชื่อว่าระบบพีเอสซีประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ตอบโต้ว่า ปริมาณก๊าซในไทยจะหมดลงในอีก 7 ปีหากไม่เปิดสัมปทาน ข้อเสนอภาคประชาชนที่ให้เปลี่ยนไปใช้ระบบพีเอสซีเนื่องจากมองว่ารัฐสูญเสียรายได้ภาษีนั้น แก้ด้วยการเปลี่ยนหลักเกณฑ์บางข้อ ไม่ต้องแก้พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมทั้งฉบับ ส่วนระบบพีเอสซีต้องศึกษาควบคู่ไประหว่างการเปิดสัมปทานรอบนี้ เพื่อนำไปใช้ในสัมปทานรอบต่อไป
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ผู้เข้าร่วมฟังเสวนา ให้สัมภาษณ์ว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับปัจจุบันเหมาะสมที่โต้แย้งบางมาตราทำให้รัฐเสียประโยชน์ สปช.อยู่ระหว่างแก้ไข รัฐยังคงกำหนดปิดรับสิทธิ์สำรวจในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ตามเดิม
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ประชาชนที่แจ้งชื่อล่วงหน้าเข้าฟังในทำเนียบได้ พร้อมติดตั้งจอทีวีขนาดใหญ่ 4-5 ตัว ให้ประชาชนที่สนใจเข้าฟังผ่านการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานก.พ.เดิม มีการเปิดเวทีย่อมๆ วิพากษ์วิจารณ์ผลดี ผลเสีย ชูป้ายคัดค้านการเปิดสัมปทาน
เวลา 16.40 น. ม.ล.ปนัดดา เข้าชี้แจงประชาชนว่า บทสรุปน่าจะตรงกับข้อเรียกร้องของภาคประชาชน คือต้องมีนโยบายสร้างความเป็นธรรม ทบทวนการแก้ไขกฎหมาย ส่วนการเปิดสัมปทานกระทรวงพลังงานเห็นความจำเป็นต้องเดินหน้าแต่ฝ่ายคัดค้านยังไม่เห็นด้วย จึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วและตั้งให้เสร็จก่อนวันที่ 16 มี.ค.นี้ ประชาชนพอใจผลสรุป พร้อมฝากคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นให้มีภาคประชาชนร่วมด้วย
ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม เเกนนำเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า หากเปิดสัมปทานต้องตอบให้ได้ว่าผลประโยชน์ชาติไม่เสียหาย ต่อให้มีการใช้กฎอัยการศึกรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ติดตามการเสวนาจนจบที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า เวลา 17.00 น. ขึ้นรถกลับออกจากทำเนียบ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเวทีกลางโอเคหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ยกนิ้วโป้งคล้ายสัญลักษณ์กดไลก์
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า กรณีที่มีกลุ่มต่างๆ รวมตัวกันมาเคลื่อนไหวในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมนั้นไม่มีอะไร เขาแค่มีความสงสัยเท่านั้น จึงต้องมาพูดคุยกันให้ตกผลึกชัดเจน ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ ก็คงต้องทำโพลจะได้หมดเรื่อง ทั้งนี้ไม่ได้ให้โพลเป็นตัวตัดสิน แต่ต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก