WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8850 ข่าวสดรายวัน


อสส.ส่งศาลฎีกา นัด 19 มีค. ชี้'รับ-ไม่รับ'คดีปู สนช.ชูสว.ลูกผสม ชงสเป๊ก 350 สส. ห้ามถูกปปช.ชี้มูล บิ๊กตู่ลั่นไม่ร่วมวง ถกปมปิโตรเลียม


ยื่นฟ้อง'ปู' นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักการสอบสวน นำเอกสารสำนวนคำฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 ก.พ.

       อสส.หอบเอกสาร 20 ลัง ยื่นฟ้อง'ปู'คดีจำนำข้าว ศาลฎีกาฯนัดฟัง 19 มี.ค. รับหรือไม่รับ ระบุวันพิจารณาครั้งแรก จำเลยต้องมาศาล ไม่เช่นนั้นออกหมายจับได้ ทนายอดีตนายกฯ เตรียมขอเพิ่มพยานสู้คดี อัยการโยน คสช.ตัดสินถ้าระหว่างนี้'ปู'ขออนุญาตบินไปนอก 'บิ๊กตู่'ฉุนถูกจี้ถาม ลั่นมีอำนาจปิดสื่อ-ใครผิดจับยิงเป้าได้ แต่ยังไม่ทำ สนช.ชงกรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดสเป๊กส.ส. 350 คน วาระ 4 ปี ส่วนส.ว.สรรหา 100 คน วาระ 6 ปี ห้ามถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ลุยตั้งอนุกรรมการยกร่างกฎหมายลูก 11 ชุด สื่อตปท.แนะสหรัฐกดดันไทยเลิกกฎอัยการศึก-เร่งจัดเลือกตั้ง จับตาเวทีระดมความเห็นสัมปทานปิโตรเลียมวันนี้ ที่ทำเนียบ

อสส.ขนเอกสาร 20 ลังฟ้อง'ปู'

         เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะว่า อสส.มีกำหนดยื่นฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าว โดยเวลา 10.00 น. นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน นำเอกสารหลักฐานการยื่นฟ้องคดีจำนวน 20 ลัง ใส่รถเข็นไปยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอยู่อาคารเดียวกับสำนักงานอสส.

     จากนั้นนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ชี้แจงกระบวนการพิจารณาคดี หลังจากอสส. ยื่นฟ้องว่า ประธานศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ อสส.ยื่นฟ้อง เมื่อเลือกเสร็จสิ้น จะประกาศรายชื่อองค์คณะให้ทราบภายใน 5 วันเพื่อให้คู่ความทราบ และมีโอกาสคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก 

ศาลมีมติรับ-ไม่รับภายใน 19 มี.ค.

     นายธีรทัย กล่าวว่า จากนั้นองค์คณะทั้ง 9 คนจะประชุมกันเพื่อเลือกเจ้าของสำนวน และร่วมกันพิจารณาคำฟ้องของ อสส. ว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ภายในวันที่ 19 มี.ค.นี้ หากองค์คณะลงมติประทับฟ้อง ศาลจะกำหนดวันพิจารณาครั้งแรก และส่งสำนวนคำฟ้องแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้มาศาล เพื่อต่อสู้คดีและกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานเพื่อดำเนินกระบวนการต่อไป ในวันดังกล่าวคู่ความจะต้องไปศาลด้วยตนเอง โดยวันนั้นศาลจะพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย แต่หากน.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่มาในวันที่ศาลนัดพิจารณาครั้งแรก ทางศาลจะพิจารณาเพื่อออกหมายจับได้

     ผู้สื่อข่าวถามว่าหากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอยื่นประกันตัวก่อนที่ศาลฎีกาฯจะพิจารณาเรื่องประทับฟ้องได้หรือไม่ นายธีรทัยกล่าวว่า ทำได้ ให้ยื่นหลักทรัพย์เข้ามาก่อนได้เลยแต่ต้องให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณา ส่วนหลักทรัพย์นั้น พิจารณาตามหลักเกณฑ์ปกติ ดูพฤติกรรม ความผิดและหลักทั่วไป

ระบุโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี

     ต่อข้อถามว่า คดีนี้มีอายุความกี่ปี นายธีรทัยกล่าวว่า คดีนี้ อสส. ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2 หมื่นบาท-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่น-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคดีมีอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ซึ่งในสำนวนระบุว่า มีการกระทำความผิดตั้งแต่เดือนมี.ค.2554-พ.ค.2557 

     ต่อมาเวลา 11.00 น. นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักงานสอบสวน นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอสส. ร่วมกันแถลงว่าคดีนี้อสส.มีสถานะเป็นโจทก์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลย แม้จำเลยจะไม่ได้มาศาลในวันฟ้องคดี อสส.ยังคงส่งฟ้องคดีนี้ได้ตามข้อกำหนดการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ ข้อ 8 วรรคสอง 

อายุความ 15 ปี-ถ้าไม่หนี

     นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สำนวนคำฟ้องของ อสส. ถือว่ามีความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว มีกว่า 20 หน้า ซึ่งจะระบุรายละเอียดประเด็นฟ้องเป็นข้อๆ ส่วนเรื่องมูลค่าความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวนั้น อสส.ได้ใส่ในสำนวน แต่สำนวนคดีอาญาไม่จำเป็นต้องระบุตัวเลขความเสียหาย เพราะแค่มีพยานหลักฐานที่บ่งบอกว่าทำให้เกิดความเสียหายก็ถือว่ามีความผิด ทั้งนี้ การพิจารณาของศาลฎีกาฯจะเป็นระบบไต่สวน จึงนำข้อมูลตัวเลขที่ป.ป.ช.ชี้มูลความเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาทมาประกอบการพิจารณาได้ และระบบไต่สวนนี้ทำให้ศาลฎีกาฯ เรียกไต่สวนพยานนอกเหนือจากสำนวนเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีจำเลยหลบหนี ขณะนี้พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มีการแก้ไขว่าหากหลบหนีอายุความจะไม่นับต่อ โดยคดีจะไม่ขาดอายุความจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีต่อ ซึ่งคดีนี้มีอายุความ 15 ปี

     "ในท้ายสำนวนไม่ได้ขอคัดค้านการประกันตัวหรือคัดค้านการเดินทางออกนอกประเทศ แต่เรื่องการออกนอกประเทศนั้น ขณะนี้ยังถือว่าศาลฎีกาฯยังไม่มีอำนาจสั่งห้ามหรืออนุมัติจนกว่าจะถึงวันพิจารณาคดีครั้งแรกจึงจะเป็นดุลพินิจของศาลฎีกาฯ ระหว่างนี้การขออนุญาตออกนอกประเทศขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" นายสุรศักดิ์กล่าว 

ทนายเล็งขอเบิกพยานเพิ่ม

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เวลา 09.45 น. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง พร้อมทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาที่สำนักงานอสส. เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มารายงานตัวต่อ อสส. พร้อมขอความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี ผ่านนายโกศลวัฒน์ อิทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงาน อสส.

      นายนรวิชญ์กล่าวว่า เหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มารายงานตัว เนื่องจากเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยื่นฟ้อง เพราะเป็นหน้าที่ของ อสส. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปรายงานตัวในชั้นศาลเมื่อศาลประทับรับฟ้องและเรียกตัว เนื่องจากยังอยู่ในสถานะเพียงผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเท่านั้น ยืนยันว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ พร้อมสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งในการพิจารณาคดีของศาลที่ใช้ระบบไต่สวน จะพิจารณาสำนวน ของป.ป.ช.เป็นหลัก ทีมทนายจะขอใช้สิทธิ์เบิกพยานเพิ่มเติม ซึ่งเป็นพยานที่ถูกป.ป.ช.ตัดสิทธิ์ 

มั่นใจหลักฐานหักล้างได้

     นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาและการไต่สวน อดีตนายกฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ ดังนั้น อดีตนายกฯ จึงขอรับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ โดยขอโอกาสให้ได้ตรวจคำฟ้องและตรวจพยานเอกสารที่ถูกกล่าวหาในชั้นศาล เชื่อว่าทุกอย่างจะหยุดนิ่ง ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวน การพิจารณาของศาล อดีตนายกฯ ระบุว่าไม่หนักใจ และมั่นใจในความบริสุทธิ์และพยานหลักฐานที่จะหักล้างข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. และอัยการได้ และขอให้ทุกฝ่ายยุติการชี้นำในทางคดีโดยปล่อยให้องค์คณะผู้พิพากษาเป็น ผู้พิจารณาคดีตามข้อเท็จจริง 

      "ส่วนที่ ป.ป.ช.ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังที่จะให้ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 6 แสนล้านบาทนั้น ทีมทนายต้องหารือเรื่องดังกล่าวก่อน แต่เห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะไปยื่นหนังสือคัดค้านมติ ป.ป.ช.ต่อกระทรวงการคลัง" นายนรวิชญ์กล่าว 

     นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ได้ทำหน้าที่ตามกรอบของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเฉพาะการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 176 หากศาลฎีกาฯ ตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ผิดจริง เท่ากับว่ารัฐสภาทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและส.ว.จะถือว่ามีความผิดด้วย

'บิ๊กตู่'ลั่นมีอำนาจปิดสื่อ-ยิงเป้า

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ อสส.ส่งฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ต้องรอดู อสส.ก่อนเขาว่าอย่างไร ส่วนที่ อสส.ระบุว่าระหว่างนี้การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ คสช.เป็นผู้พิจารณา พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า อสส.จะทำหนังสือเสนอกลับมาทุกครั้ง ซึ่งตนถามกลับไปว่าการไปต่างประเทศจะมีผลอะไรหรือไม่ อสส.จะตอบกลับมาว่าขอร้องให้หยุดไปก่อนในช่วงนี้ระหว่างการดำเนินคดี เอกสารก็มีชัดเจนไม่เคยเห็นกันหรืออย่างไร แล้วทั้งหมดจะมาบอกว่าเป็นอำนาจของคสช. ถ้าคสช.อนุญาตไปแล้ว เกิดเขาไม่อยู่จะทำอย่างไร คสช.ก็ผิดอีก มันก็มาลงที่ตนทั้งหมด

       ผู้สื่อข่าวถามว่าในเมื่อเป็นนายกฯ ก็ต้องตัดสินใจ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "เพราะผมเป็นนายกฯ หรือ งั้นผมใช้อำนาจ คสช.ทุกอย่างเอาหรือไม่ จะใช้อำนาจในทุกมาตราเอาหรือไม่ ปิดสื่อทุกสื่อ อำนาจผมมีขนาดนั้น ผิดจับมายิงเป้าได้เลย แต่ผมก็ยังไม่ได้ทำสักอัน"

ยันไม่ร่วมเวทีปิโตรเลียม

     พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเปิดเวทีกลางแสดงความคิดเห็นเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 วันที่ 20 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งภาคประชาชนที่คัดค้านต้องการให้นายกฯเข้าร่วมรับฟังด้วย หากไม่เข้าร่วมจะขอให้เลื่อนเวทีออกไปก่อนว่า แล้วแต่การตัดสินใจของเขา เวทีนี้มีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 ตนอยู่ตรงไหนก็ฟังอยู่แล้ว ทำไมต้องไปนั่งท่ามกลางตรงนั้น ที่ผ่านมาให้ความสำคัญทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องพลังงาน ทีวีมีถ่ายทอด ตนฟังไปด้วยทำงานอื่นไปด้วย ซึ่งทราบดีว่าจะมาตั้งคำถามใส่ตน มันไม่ใช่เรื่อง ตนเป็นผู้ตัดสินใจฟังความคิดเห็นจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและประชาชน การตัดสินใจไม่ใช่ง่าย ต้องผ่านกลไกอีก ฟังทั้งสองฝ่ายเสร็จจะสรุปออกมาเพื่อหาทางออกให้ได้ว่าจะไปทางไหน

      ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันมีเวทีดังกล่าวอยู่ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องมีอยู่แล้ว ถ้าใครไม่มา ตนไม่รู้ แต่เปิดเวทีให้แล้ว จะไปพูดข้างนอก ไปเคลื่อนไหวมันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเปิดเวทีให้แล้วก็ไม่มาพูด จะมาบังคับ มันไม่ใช่เรื่อง ตนทำให้ก็ถือว่าฟังแล้ว ยืนยันกระทรวงพลังงานไม่มีธง เขาทำตามหน้าที่ ทำตามกฎหมาย ไม่ทำก็ไม่ได้ ถือว่าผิด แต่วันนี้ข้อมูลรายละเอียดไม่ตรงกันเลย ภาคประชาชนก็ต้องฟัง กลุ่มต่อต้านคัดค้านก็กลุ่มเดิมๆ อยู่แล้ว ซึ่งมีการชี้แจงมาหลายครั้ง ตนไม่อยากเห็นการเดินไปพูดที่นี่ที่โน่น โดยไม่ให้รัฐมีโอกาสชี้แจง ถ้าชี้แจงแล้วรัฐมีเหตุผลสู้ไม่ได้ เราก็ทบทวนว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

เลื่อนสัมปทานต้องมีเหตุผล

      เมื่อถามว่า การที่นายกฯไม่เข้าร่วมเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อีกฝ่ายเขามีธงหรือไม่ ซึ่งตนไม่มี รัฐก็ไม่มี และคิดว่าพวกที่มาไม่กล้ามี วันนี้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ มีไม่ได้อยู่แล้ว ต่อข้อถามว่ากระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดสัมปทานแต่ฝ่ายคัดค้านบอกให้แก้ไขกฎหมายและรอเวลาไปก่อน นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดู รอถึงเมื่อไร ถ้าแก้กฎหมายเสร็จภายใน 3 เดือน ทางนี้ยอมหรือไม่ ต้องมาพูดกัน ถามว่า 3 เดือน กฎหมายออกมาแล้วต้องเปิดสัมปทาน รับได้หรือไม่ หรือจะไม่รับอีก 

     ต่อข้อถามว่า รัฐบาลตั้งใจจะให้เวทีนี้เป็นเวทีสุดท้าย ตัดสินใจเลยหรือไม่ว่าจะเปิดสัมปทานหรือไม่เปิด นายกฯ กล่าวว่าต้องหาคำตอบให้ได้ เพื่อให้ตนตัดสินใจ ถ้าตัดสินใจตามกฎหมายตามกติกาก็ต้องเปิดสัมปทาน กฎหมายว่าอย่างนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่ามติของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะเปิดสัมปทานในวันที่ 16 มี.ค.จะเลื่อนออกไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อขยายเวลาไปถึงวันที่ 16 มี.ค. ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในเดือนมี.ค. ถ้าจะเลื่อนอีก ต้องหาเหตุผลมา ยืนยันตนเอาข้อมูลทั้งหมดมาดู เอามาเทียบกัน ในเมื่อรัฐมีตัวเลขอ้างอิงเยอะแยะ อีกฝ่ายจะพูดลอยๆ ไม่ได้ ต้องมีเหตุผลเชิงพื้นฐาน และเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาว่ากัน 

วอน 60 ล้านคนช่วยตัดสิน

     ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแผนสำรองหรือไม่ถ้าเวทีกลางยังมีความเห็นไม่ตรงกัน นายกฯ กล่าวว่า ต้องหาข้อยุติ อะไรรับได้ รับไม่ได้ ไม่ใช่ 100 เรื่องรับไม่ได้ทั้ง 100 เรื่อง แต่หาก 10 เรื่องรับได้ 3 เรื่องก็ควรทำ 3 เรื่องก่อน อีก 7 เรื่องก็หากฎหมายมา รัฐกับประชาชนต้องเจอกันอย่างนั้น ถ้ารัฐบอกว่าสิ่งนี้จะต้องทำแต่ประชาชนไม่ยอม ซึ่งบางอย่างเป็นนโยบาย และบางอย่างเป็นการบริหารจัดการ วันหน้าถ้ามีปัญหา จะมาต่อว่ารัฐว่าทำไมไม่ทำ โดนทั้งขึ้นทั้งล่องอยู่แล้ว ฉะนั้นทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดปัญหาตรงนี้ เราต้องการลดแรงกดดันตรงนี้

      "ผมอยากให้ถามประชาชนทั้งประเทศ ส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร วันนี้มีกลุ่มนี้กับรัฐ แล้วกลุ่มที่เขายังไม่ได้พูด อยู่ตรงไหน ถ้าฟัง 2 พวกก็มีอยู่แค่นี้ จะขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ จึงต้องไปถามคนที่เหลือเขาฟังแล้วเข้าใจอย่างไร เพราะถ่ายทอดสด ต้องไปเรียกคนมาฟังเยอะๆ ดูว่าเชื่อใคร ให้เขาตัดสิน อย่าให้ตัดสินโดยคนจำนวนไม่กี่คนเพราะประเทศ ไทยมีตั้ง 60 กว่าล้านคน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

'มาร์ค'จี้แก้กฎหมายก่อน

      ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯอยู่ตรงกลางระหว่างรัฐกับฝ่ายที่คัดค้าน จะตัดสินใจอย่างไร เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกรุมสกรัม นายกฯ กล่าวว่า ต้องรอฟังผล จะถามให้ตนใช้อำนาจใช่หรือไม่ ยืนยันสัมปทานออกไป อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ตน ต้องว่าอย่างนั้นใช่หรือไม่ มาถามตนทำไม ต้องไปถามคนที่จะมารุมสกรัม ถ้าบ้านเมืองลุกลามบานปลาย ตีกันทะเลาะกันเพราะเรื่องพลังงาน ใครจะรับผิดชอบ เขารับผิดชอบด้วยหรือไม่ ถ้าฝ่าฝืนกฎอัยการศึก พอถูกดำเนินคดีแล้วโวยวาย และมีผลกระทบภาพออกไปต่างประเทศ เสียหายหรือไม่ ใครเสียหาย ตนก็เสียหายอีก มาโทษตนอีก เมื่อถามว่ามีข่าวว่าจะทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหลังเปิดเวทีกลาง นายกฯ กล่าวว่า ข่าวจากไหน แต่เป็นหนึ่งในวิธีการปฏิบัติ 

      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากเห็นเวทีนี้หาทางออกให้กับประเทศได้ แต่รูปแบบงานตามบัตรเชิญทำให้กังวลว่าจะโต้วาทีกัน หากจะปรับรูปแบบ จะเลื่อนไปสัปดาห์หน้าก็ไม่เสียหาย ต้องขอบคุณนายกฯที่อยากรับฟังทุกฝ่าย สิ่งที่พวกเราลงนามในหนังสือนั้น เราชี้ให้รัฐบาลเห็นว่าระบบปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ และที่กำลังเดินหน้าไปนี้มีจุดอ่อน และมีความไม่วางใจของภาคประชาชนจำนวนมาก ที่เห็นควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรให้ได้ก่อนจะไปทำรอบใหม่ 

'บิ๊กเบี้ยว'ลุยสร้างปรองดอง

      ด้านพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เข้าไปในพื้นที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เพื่อป้องกันชาวบ้านไม่ให้ต่อต้านบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เคลื่อนย้าย อุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียมขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ว่า ได้เข้าไปสนับสนุนตำรวจ ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย กอ.รมน.ไม่ได้เข้าไปช่วยนายทุน แต่ให้เหตุการณ์สงบเรียบร้อย ไม่ได้ไปกดดันหรือทำอะไรชาวบ้าน

     พล.อ.ฉัตรเฉลิม ยังกล่าวถึงการสร้างความปรองดองในชาติว่า ขณะนี้ดำเนินการไปหลายพื้นที่แล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนประเมินผล เราอยากให้ประชาชนปรองดองกันจริงๆ หากยังแบ่งพวกแบ่งฝ่าย การพัฒนาประเทศคงยาก ดังนั้น ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน รัฐบาลและคสช.มีเวลาจำกัด จะให้ทำทุกเรื่องสำเร็จ ในรัฐบาลนี้คงเป็นไปไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำตลอดว่าหากงานใดไม่เสร็จก็รอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการต่อ โดยเฉพาะการสร้างปรองดอง เพราะขณะนี้ยังมีคนที่มีความเห็นต่าง

ชี้ปัญหายังมีอย่าฝืนเลือกตั้ง

      "ข้อมูลที่เราพบในต่างจังหวัด ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในปี 2553 ผมให้ทหารลงไปพูดคุย ชาวบ้านก็พูดคุยด้วย ไม่ได้เกลียดทหาร เขาอยากปรองดอง สำหรับแกนนำกลุ่มเคลื่อน ไหวที่อยู่ในพื้นที่ เราเชิญมาคุยตั้งแต่แรก ไม่ใช่มาคุมขัง แต่มาทำความเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ไม่ได้ไล่ล่า" พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าว

     พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า ส่วนที่นักศึกษาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งนั้น ถามว่าสถาน การณ์เช่นนี้จะเลือกตั้งได้อย่างไร รัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ ปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้แก้ไข หากฝืนเลือกตั้ง ปัญหาจะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา ส่วนที่เสนอให้พล.อ. ประยุทธ์ พูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ นั้น พล.อ. ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันตลอดว่า พ.ต.ท. ทักษิณเดินทางกลับมาสู้คดีได้โดยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลและคสช.พร้อมดูแลความปลอดภัยให้เช่นเดียวกับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เพราะหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จะกลายเป็นปัญหา 

      "สิ่งสำคัญคือสื่อต้องนำเสนอข้อเท็จจริงของกระบวนการยุติธรรม อยากให้วิเคราะห์ในแง่ดี ไม่ใช่วิเคราะห์ว่ากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อยู่ยาก บ้านเมืองจะไม่ปรองดอง แต่ละคนก็มีหน้าที่และมีอุดมการณ์" พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าว

โพลชี้ปชช.ต้านกม.นิรโทษฯ

      กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็น เรื่อง "คนไทยคิดอย่างไรกับกฎหมายนิรโทษกรรมสู่ความปรองดอง" เก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,163 คน พบว่า ร้อยละ 47.4 ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง ร้อยละ 40.4 เห็นด้วย โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 22.4 อยากให้นิรโทษกรรมทั้งประชาชนที่ร่วมชุมนุมและแกนนำชุมนุม และร้อยละ 18.0 อยากให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่ร่วมชุมนุม

     ส่วนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะช่วยสร้างความปรองดองให้สังคมไทยได้อย่างไรนั้น ร้อยละ 47.9 ระบุช่วยได้บ้าง ร้อยละ 27.6 เห็นว่าไม่ช่วยเลย ขณะที่ร้อยละ 67.6 คิดว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นแบบอย่างให้เกิดการชุมนุมประท้วงทางการเมืองอีกในอนาคต 

ค้านนายกฯจับเข่าคุย'แม้ว'

      นอกจากนี้ ร้อยละ 56.8 เห็นว่าในการสร้างปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องเป็นคนกลางพูดคุยกับแกนนำพรรค กปปส.และนปช. ร้อยละ 36.4 เห็นว่าไม่จำเป็น และร้อยละ 6.8 ไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 58.6 เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องคุยกับพ.ต.ท. ทักษิณ ในเรื่องปรองดอง ร้อยละ 32.6 เห็นว่าจำเป็น และร้อยละ 8.8 ไม่แน่ใจ 

      ทั้งนี้ ร้อยละ 52.6 คิดว่าแนวทางการปฏิรูปเพื่อสร้างความปรองดองของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ร้อยละ 38.4 คิดว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 71.6 เห็นด้วยกับการคงกฎอัยการศึกไว้จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ร้อยละ 23.6 บอกว่าไม่เห็นด้วย และร้อยละ 4.8 ไม่แน่ใจ

สนช.ซักถามยกร่างรธน.

       เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมา ธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้ารายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ ประชุมสนช. พร้อมรับฟังความเห็นและตอบข้อซักถามของสมาชิกสนช.เป็นวันแรก 

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่เขียนให้ยาวเหมือนของอินเดีย และจะไม่สั้นเหมือนของสหรัฐ และถึงแม้จะต้องออกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกหลายฉบับ กมธ.ยกร่างฯได้เตรียมรองรับไว้แล้วในระดับหนึ่ง โดยจะตั้งคณะกรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อมาดูเรื่องการออกกฎหมายประกอบโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 เดือนก่อนเลือกตั้งต้องขอความร่วมมือจากสนช.เร่งออกฎหมายลูกด้วย

      ต่อมาที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายเวลาการปฏิบัติงานของกมธ.สามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ สนช.ออกไปอีก 90 วัน

วางเกณฑ์สู้คดีในศาลฎีกา

      จากนั้นที่ประชุม มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ ..) พ.ศ... (แก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ ฎีกา) ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ สาระสำคัญคือ การกำหนดหลักเกณฑ์นำคดีแพ่งขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา จากเดิมที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนการฎีกา ไม่สามารถกลั่นกรองคดีที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาล่าช้า 

      ดังนั้น จึงกำหนดหลักเกณฑ์ของคดีที่จะนำมาพิจารณาในศาลฎีกา 6 ข้อได้แก่ 1.ปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ 2.เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา 3.คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งยังไม่มีแนว คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน 

'วิษณุ'ยันไม่ตัดสิทธิคู่ความ

     4.เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น 5.เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย และ 6.ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ซึ่งการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ประกอบด้วย รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาอย่างน้อย 3 คน ด้านสมาชิกสนช.อภิปรายท้วงติงว่า การออกกฎหมายฉบับนี้จะกระทบสิทธิของประชาชนหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญหลายฉบับได้รับรองการใช้สิทธิของประชาชนสู้คดีในชั้นศาลฎีกา 

       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้มีหลักการนำคดีขึ้นศาลฎีกาผ่านระบบการให้อนุญาตโดยให้ศาลฎีกาเป็น ผู้พิจารณาเอง ยืนยันว่าไม่ได้ตัดสิทธิของประชาชนหรือคู่ความในการสู้คดีที่ศาลฎีกา ซึ่งระบบ 3 ศาลคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ยังอยู่เหมือนเดิมทุกประการ ไม่ได้ตัดตอนเหลือแค่ 2 ศาล ทั้งนี้ในชั้นกมธ.วิสามัญของสนช.สามารถปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นได้ ซึ่งรัฐบาลและสำนักงานยุติธรรมพร้อมให้ความร่วมมือ

      จากนั้นที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 168 ต่อ 9 คะแนน รับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และตั้งกมธ.วิสามัญ 21 คนพิจารณาต่อไป 

ชงวาระส.ส.4 ปี-ส.ว. 6 ปี

       ต่อมาที่ประชุมสนช.พิจารณารายงานของกมธ.สามัญ รวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ สนช.ครั้งที่ 2 โดยนายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช. ในฐานะรองประธานกมธ. รายงานถึงการรวบรวมความเห็นของสมาชิกสนช.และบุคคลภายนอก เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาสำคัญ ในหมวด 3 รัฐสภา โดยกมธ.การเมือง สนช. เสนอให้มีส.ส.มาจากเลือกตั้งของประชาชน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง 

     ส่วนผู้สมัครส.ส.จะสังกัดพรรคหรือไม่ก็ได้ มีวาระ 4 ปี ห้ามส.ส.ไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ขณะที่ส.ว.มาจากการสรรหาตามวิชาชีพและกลุ่มอาชีพ ไม่เกิน 100 คน วาระ 6 ปี เป็นได้เพียงวาระเดียว ทั้งนี้ ให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาคณะหนึ่ง 

เคยถูกป.ป.ช.ลงดาบหมดสิทธิ

    ขณะที่กมธ.กฎหมาย กระบวนยุติธรรม และกิจการตำรวจ เสนอให้มีส.ส. 350 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแบบแบ่งเขต 250 คน มาจากบัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนการเลือกตั้งส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและการสรรหา ด้านกมธ.การต่างประเทศ เสนอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ซึ่งหมายถึงผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีและผู้ที่ไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยถูกคณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

     โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอรายงานดังกล่าวไปยังกมธ.ยกร่างฯ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และยังมีมติเห็นชอบให้ตั้งสมาชิกสนช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน ร่วมเป็นกมธ.สามัญรวบรวมความเห็น เพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ขยายกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อติดตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วย

กมธ.เล็งยกเครื่องระบบภาษี

     ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ที่ประชุมได้พิจารณาภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 13 การปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนที่ 14 การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ให้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกัน ลด จำกัด หรือขจัดการผูกขาด และการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนที่ 4 การปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง และภาษีอากร ให้จัดระบบภาษีเป็น 2 ระดับ คือระดับชาติและระดับท้องถิ่น ปรับปรุงระบบภาษีให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นธรรม โดยยกเลิกมาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด จัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญให้ดำรงชีพได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้มีกฎหมายกำหนดให้บุคคลต้องแสดงรายได้ของตนต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ทุกคนเข้าสู่ระบบอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ตั้งอนุกก.ยกร่างกฎหมายลูก

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 11 คณะ ประกอบด้วย 1.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ส. มีพล.อ.เลิศรัตน์ เป็นประธาน 2.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี มีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธาน 3.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน 4.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีนายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นประธาน 5.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นประธาน 6.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน

     7.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีนายประสพสุข บุญเดช เป็นประธาน 8.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน 9.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน 10.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน มีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน 11.อนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการคลังและการงบประมาณของรัฐ มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน 

ผุดองค์กรบริหารพัฒนาภาค

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า อนุกมธ.ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 11 คณะ จะพิจารณาควบคู่กับการพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหากเสร็จจะต้องเก็บไว้ก่อน จะไม่สามารถนำมาใช้ได้จนกว่ารัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ จากนั้นจึงส่งกฎหมายลูกเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ต่อไป คาดว่ากฎหมายลูกจะเสร็จทันพร้อมกับรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

    ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า กมธ.ยกร่างฯพิจารณาหมวดปฏิรูปว่าด้วยการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้มีองค์กรบริหารพัฒนาภาค ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภาค และกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น ประสานพัฒนาพื้นที่ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเห็นว่าการบริหารเป็นรายจังหวัดอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อโลกยุคใหม่ และช่วยแก้ปัญหาในอดีต ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานส่วนกลางจำนวนมากไปตั้งสำนักงานอิสระของตัวเอง ไม่มีการประสานงานกันเท่าที่ควร

      นายประชา เตรัตน์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าการตั้งองค์กรบริหารการพัฒนาภาค ไม่ได้ลดอำนาจนักการเมือง แต่จะถูกตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดยังเป็นเพียงหลักการ ส่วนรายละเอียดจะกำหนดในกฎหมายลูกต่อไป

กสม.ซักฟอกพ.ร.บ.ศาลทหาร

     เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มีนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน จัดประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไว้ 7 วัน โดยไม่แจ้งข้อหาและสถานที่ควบคุมตัว รวมทั้งกรณีสนช. จะพิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 โดยมีพ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ รอง ผู้อำนวยการกองกฤษฎีกาทหารและการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนเจ้ากรมพระธรรมนูญ มาร่วมประชุมชี้แจง 

      พ.อ.ศุภชัย กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหารโดยเฉพาะในมาตรา 46 ให้ควบคุมผู้ต้องหารวมทั้งพลเรือนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้นานถึง 84 วันนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.นี้เคยให้อำนาจผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งควบคุมตัวทหารได้ 90 วัน แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการแก้ไขโดยตัดอำนาจสั่งควบคุมตัวจากผู้บังคับบัญชา และให้เป็นแค่อำนาจของศาลทหาร ทำให้เกิดปัญหาการบังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจึงขอแก้ไขเพื่อให้มีอำนาจดังกล่าว นำมาสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้ ยืนยันว่าอำนาจดังกล่าวใช้กับทหารเท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งควบคุมตัวพลเรือน

ผู้แทนแจงคดีไหนอยู่ในข่าย

      พ.อ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น เป็นไปตามประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ที่กำหนดให้คดีที่เกี่ยวกับสถาบัน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีความมั่นคงให้ดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งเป็นบางคดีเท่านั้นที่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่ควบคุมตัวที่เรือนจำพลเรือน 

      ด้านนพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ขอแนะนำให้กรมพระธรรมนูญทำหนังสือไปแจ้งต่อ สนช. ให้เขียนมาตรา 46 ให้ชัดเจน ไม่ให้มีปัญหาตีความเกิดขึ้น เพราะการตีความข้อกฎหมายของไทยเป็นแบบศรีธนญชัย ขณะที่กสม.จะเสนอความเห็นต่อครม.และสนช. ให้เขียนกฎหมายให้ชัดเจน ให้ระบุเลยว่าอำนาจในมาตรา 46 ของกฎหมายดังกล่าว ใช้แค่กับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็คือทหารเท่านั้น ไม่รวมถึงพลเรือน โดยจะทำหนังสือภายในวันที่ 20 ก.พ.นี้ เพื่อให้ปรับแก้ต่อไป 

กฎหมายผ่านสนช.ฉลุย

      เวลา 16.18 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสนช. มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 เป็นประธาน พิจารณาร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยพิจารณาในวาระ 2 และ 3 

        สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. กำหนดให้รมว.กลาโหม มีอำนาจออกข้อบังคับและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดให้คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร, ให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย เว้นแต่คดีที่จำเลยมียศทหารชั้นสัญญาบัตร เป็นต้น

พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานกมธ. วิสามัญฯ ชี้แจงว่า ตามหลักการผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งคุมตัวได้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งในร่างพ.ร.บ.นี้ จะเขียนให้ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายนี้ ไม่มีเรื่องพลเรือนทั่วไปมาขึ้นศาลทหารโดยเด็ดขาด ยกเว้น กรณีคสช.มีประกาศให้คดีหมิ่นสถาบัน และคดีที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร 

      จากนั้นที่ประชุมลงมติรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนน 179 งดออกเสียง 5 ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

รับหลักการเพิ่มอำนาจป.ป.ช.

      ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ... ตามที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว พิจารณาเสร็จแล้วและคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ขอถอนร่างเพื่อนำกลับไปทบทวนก่อนเสนอเข้ามาใหม่ 

      นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.ชี้แจงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ศ.2003 (UNCAC) และแก้ไขคำผิดในกฎหมายเดิม โดยแก้ไขให้เป็นไปตาม UNCAC ทั้ง 9 ประเด็น และแก้ไขคำผิด 1 ประเด็น อาทิ เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศรับสินบน รวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มเติมกรณีคู่กระทำความผิดหลบหนี มิให้นับระยะเวลาที่จำเลยหลบหนีรวมเป็น 1 ของอายุความ และมิให้นำอายุความล่วงเลยการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาบังคับใช้ 

     นอกจากนี้ กำหนดให้ริบทรัพย์สินบน เนื่องจากทำผิดตามกฎหมายป.ป.ช.ครอบคลุมถึงทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ที่บุคคลได้มาจากการกระทำผิด เพิ่มเติมบทบัญญัติการตรวจสอบความ ถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินให้ถูกต้อง 

เน้นเรื่องทุจริต-อายุความ

      นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายว่า การที่ป.ป.ช.ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาขณะนี้ ถือว่าป.ป.ช.เป็นคู่กรณีของทั้งอดีตนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีหลายคน จึงดูเหมือนการเช็กบิลหรือไม่ รวมถึงเรื่องให้ยึดทรัพย์ หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีคดี โดยเชื่อว่าทรัพย์สินที่โกงไปนั้นคุ้มค่าที่จะหลบหนีคดีจึงรอเวลาที่จะพ้นโทษ เราจะดำเนินการอย่างไร และกรณีผู้หลบหนีคดีไปประเทศ ที่ไม่มีสนธิสัญญา UNCAC จะมีปัญหานี้ หรือไม่

       นายปานเทพชี้แจงว่า เรื่องอายุความเราไม่ได้แก้หลักการแต่แก้ให้ตรงกับพันธกรณี UNCAC ซึ่งเราจะใช้ช่องว่างตรงนี้ให้อายุความเดินไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ส่วนเรื่องยึดทรัพย์สินมูลค่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถือเป็นหลักสากล ยืนยันว่ากฎหมายนี้ทำขึ้นเพื่อให้ป.ป.ช.ทำงานได้ในฐานะที่ทำงานด้านนี้ ซึ่งเราประสานการทำงานกับอัยการสูงสุดอยู่แล้ว และร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเน้นเรื่องทุจริตและเรื่องอายุความ จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 172 ต่อ 5 งดออกเสียง 10 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 21 คน

สื่อนอกแนะสหรัฐกดดันไทย

      วันเดียวกัน เว็บไซต์วิเคราะห์การเมือง เดอะดิโพลแมต(The Diplomat) เผยแพร่บทความของนายเดวิด เอ. เมอร์เคิล อดีต เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และสมาชิกระดับสูงของสภาดิแอตแลนติก เคาน์ซิล คณะทำงานด้านการวิเคราะห์ของสหรัฐ มีใจความสำคัญแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐกดดันรัฐบาลทหารไทยให้มากขึ้น เพราะไทยเป็นชาติพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐในเอเชีย แม้ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจะมีท่าทีที่ถูกต้องหลังเกิดรัฐประหารในไทย แต่สหรัฐยังให้ความสำคัญไม่เพียงพอต่อการแสดงจุดยืนในเอเชีย เพื่อยืนยันหลักการความเท่าเทียมในสิทธิทางการเมือง หนึ่งคนหนึ่งเสียง สหรัฐควรกดดันรัฐบาลไทยให้มากกว่านี้ เหมือนที่เคยทำกับรัฐบาลฮังการีและเวเนซุเอลา

      นายเมอร์เคิล ระบุว่า ขณะนี้ไทยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและรุกหนักให้น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะ พ้นจากเส้นทางการเมือง ขณะที่ชาวอเมริกันและสภาคองเกรสคงไม่อยากให้ตลาดสหรัฐไปใกล้ชิดหรือสร้างสัมพันธ์กับประเทศที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกเท่าไรนัก และหากไม่กดดันรัฐบาลไทยให้มากพอ ปล่อยให้ประชา ธิปไตยและเสรีภาพถดถอย จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ต่อรัฐบาลพม่าไปโดยปริยาย ส่วนที่มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยอาจจะเข้าหารัฐบาลจีนมากขึ้น ถ้าถูกสหรัฐกดดันมากเกินไปนั้น ไม่ควรลืมดูตัวอย่างจากเวียดนามหรือพม่าที่ถูกจีนกดดันมากเกินไป สุดท้ายต้องมา สร้างสัมพันธ์กับสหรัฐ เพื่อเป็นกันชนจากเงื้อมมือของจีนในที่สุด

แนะโอบามาจี้เลิกอัยการศึก

     บทความดังกล่าว ระบุด้วยว่า รัฐบาลทหารไทยเคยสัญญาว่าจะจัดเลือกตั้งในปี 2558 แต่ดูเหมือนว่าเตรียมจะอยู่ในอำนาจนานกว่านั้น อาจนานไปจนกว่าจะถึงช่วงเปลี่ยนผ่านหรือจังหวะที่แน่ใจว่าพวกของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะไม่กลับมามีอำนาจได้อีก ดังนั้น รัฐบาลของนายบารัก โอบามา ต้องกระตุ้นให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึกและจัดการเลือกตั้งที่ทุกกลุ่มการเมืองลงรับสมัครให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 

      ทั้งนี้ สหรัฐยังไม่ควรแต่งตั้งเอกอัคร ราชทูตคนใหม่ประจำประเทศไทย หากรัฐบาลทหารยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้ กระทรวงกลาโหมหรือเพนตากอนต้องทบทวนความสัมพันธ์กับกองทัพไทย โดยแสดงให้เห็นว่าสหรัฐดำเนินภารกิจทางทหารที่สำคัญอย่างการบรรเทาสาธารณภัยหรือการรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายเองได้

เคสรัสเซลทำชื่อเสียงลบ

      ด้านเว็บไซต์ฟอร์บส์ สื่อดังของสหรัฐเผยแพร่บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของไทยในชื่อ "Liberty Dies As Thailand"s Military Monopolizes Power : Junta Dispenses Repression Instead Of Happiness" หรือเสรีภาพของประเทศไทยสิ้นสุดลงจากการยึดอำนาจผูกขาดของทหาร : รัฐบาลทหารแจกจ่ายความอดทนอดกลั้นแทนที่ความสุข" กล่าวถึงกรณีนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ เยือนไทยและเรียกร้องให้ไทยคืนอำนาจการปกครองกลับสู่ประชาชน รวมถึงเคารพ ไม่ใช่ยับยั้งเสรีภาพของพลเรือน แต่สิ่งที่นายรัสเซล ได้รับคือ ถูกรัฐบาลไทยประณามว่าแทรกแซง และนั่นทำให้ชื่อเสียงของไทยยิ่งเป็นไปในทางลบ เช่นเดียวกับที่คณะผู้นำยืนยันในความมีหัวใจประชาธิปไตยแต่แสดงออกในทางตรงข้าม

      รายงานระบุว่า ทุกวันนี้กลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวที่กล้าเสี่ยงเพื่อแสดงความเห็นต่างจากรัฐ คือกลุ่มนักศึกษา เป็นเหตุให้ถูกจับกุมหรือดำเนินคดี ส่วนนักกิจกรรมบางรายถูกคุมขัง บางรายแม้ได้รับการปล่อยตัวก็ถูกบังคับไม่ให้เคลื่อนไหวอีกเพื่อแลกกับอิสรภาพ 

เซ็นเซอร์สื่อทำปชต.ล้มเหลว

      ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการข่มขู่และการปฏิบัติไม่ชอบธรรม มอง ปาลาติโน่ หรือนายเรย์มอนด์ วี. ปาลาติโน่ นักเขียนและบล็อกเกอร์การเมืองชาวฟิลิปปินส์ เปิดข้อมูลที่รวบรวม "กิจกรรมปกติ" แต่ขัดกับคำสั่งของรัฐบาล ได้แก่ การชู 3 นิ้วตามภาพยนตร์เรื่องฮังเกอร์เกมส์ การช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ถูกจับ การถือป้ายหรือกระดาษเปล่า การแสดงป้ายและกระดาษที่มีข้อความต่อต้านรัฐประหาร การปิดตา ปิดหน้า หรือปาก การถือหรือสวมใส่เสื้อสีแดงและเสื้อที่มีข้อความทางการเมือง การจำหน่ายสินค้าที่มีใบหน้าของพ.ต.ท.ทักษิณ การอ่านหนังสือเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ในที่สาธารณะ การกินแซนด์วิชที่ถูกมองว่ามีนัยทางการเมืองแอบแฝง เป็นต้น

      ด้านนายริชาร์ด เบนเนตต์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ประจำเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า การที่สื่อถูกเซ็นเซอร์ถือเป็นความล้มเหลวอย่างยิ่งของระบอบประชาธิปไตยในยุคนี้ มีการจำกัดเสรีภาพบนโลกออนไลน์ และปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่รัฐบาลทหารไม่ชอบใจ รวมถึงองค์การนิรโทษกรรมสากลตกเป็นหนึ่งในบัญชีรายชื่อต้องห้ามด้วย ขณะที่มีการรณรงค์ให้คนปฏิบัติตาม เช่น ค่านิยม 12 ประการ และมหาวิทยาลัยถูกมอบหมายให้เฝ้าระวังและยับยั้งการเคลื่อนไหวของนักศึกษา

อุปทูตมะกันร่วมมอบอาคาร

        ที่โรงเรียนบ้านหนองปล้อง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ เสนาธิการทหาร นายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย พล.ต.ซู กวง ฮุ่ย ผู้ช่วยทูตทหาร สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป รองผู้ว่าฯ ลพบุรี ร่วมเป็นประธานในพิธีส่งมอบอาคารอเนกประสงค์ในโครงการช่วยเหลือประชาชน ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ 2015 

       นายแพทริก กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน รวมทั้งกองทัพไทย ซึ่งการฝึกคอบร้าโกลด์ในปีนี้ใกล้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งขณะที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ระบอบการปกครอง มีรัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากเลือกตั้ง เราได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกคอบร้าโกลด์ เน้นการตอบสนองภัยพิบัติและให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐยังคงแข็งแกร่งเหมือนที่ผ่านมา 

กนย.อนุมัติใช้ 2 พันล.รับซื้อยาง

     เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2558 โดยใช้เวลาหารือ 2 ชั่วโมง 

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาราคายางพารา ทำให้ชาวสวนยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้น และให้มีการแปรรูปสินค้าจากยางพาราภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา และงบประมาณแก้ปัญหา จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรให้รวมตัวตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และภาคเอกชนขอให้ความเป็นธรรมเรื่องราคา พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาและราคายางพาราให้ชาวสวนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ 

      นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้รับซื้อยางก้อนถ้วย และน้ำยางสดจากเกษตรกร โดยนำเงิน 2,000 ล้านบาทที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ไปดำเนินการทันที ขณะนี้ราคาน้ำยางดิบอยู่ที่ ก.ก.ละ 45.50 บาท และยางก้อนถ้วยอยู่ที่ ก.ก.ละ 40 บาท ถือว่าเดินหน้าไปได้ด้วยดี โดยเงิน 2,000 ล้านบาท จะซื้อยางได้จนหมดฤดูปิดกรีดที่จะประกาศในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จะให้แต่ละจังหวัดนำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือเฉพาะชาวสวนยางรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น ไม่ใช่เกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งกลไกนี้จะพยุงราคายางและจะระบายยางในสต๊อกได้ในช่วงปิดกรีด เพื่อไม่ให้ราคายางตกต่ำ อีกทั้งถ้ารัฐบาลตกลงซื้อขายยางพารา 200,000 ตัน และข้าว 2,000,000 ตัน ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนได้จะทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น และฤดูกาลยางใหม่ของปี 2558/2559 ซึ่งเริ่มต้นวันที่ 15 พ.ค.นี้ จะไม่มีปัญหา

สนช.ไฟเขียวกฎหมายอุ้มบุญ

     เวลา 21.15 น. วันที่ 19 ก.พ. ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วด้วยคะแนน 160 ต่อ 2 และงดออกเสียง 4 และให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

       นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงว่า ในชั้นกมธ.ได้ปรับแก้ไข 24 มาตรา เพิ่ม 6 มาตรา ส่วนใหญ่แก้ไขถ้อยคำ หลักสำคัญคือผู้หญิงสามารถอุ้มบุญได้แต่ต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย โดยกำหนดในมาตรา 21 เกี่ยวกับการจำแนกกลุ่มบุคคลที่จะทำการอุ้มบุญ เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สามี ภรรยา คนไทยทั้งคู่ 2.ฝ่ายหนึ่งคนไทยอีกฝ่ายเป็นคนต่างชาติ ซึ่งทั้งสองกลุ่มอนุญาตให้หญิงไทยมาอุ้มบุญได้ แต่ต้องอายุ 25 ปีขึ้นไปและเคยมีบุตรมาก่อน โดยกลุ่มสองต้องจดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี และ 3. เป็นคนต่างชาติทั้งคู่นั้น ไม่อนุญาตให้ติดต่อจ้างหญิงไทยอุ้มบุญได้เพราะกลัวจะซ้ำรอยปัญหาเดิม ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการอุ้มบุญ มดลูกหญิงไทยจะกลายเป็นมดลูกโลก

      ที่ประชุมถกเถียงติดใจในกลุ่มที่สาม ซึ่งกมธ.เพิ่มเนื้อหาว่า ถ้าทั้งสามีและภรรยามิได้มีสัญชาติไทย หญิงที่รับตั้งครรภ์ต้องมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย โดยเห็นว่าเนื้อหากลุ่มนี้ไม่ควรต้องใส่ในร่างพ.ร.บ.นี้เพราะไม่เกี่ยวกับคนไทย พร้อมเสนอให้ตัดเนื้อหาของกลุ่มที่สามทิ้ง ซึ่งกม.ยอมตัดออก 

       ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดหลักการเพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ตลอดจนการควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีฯ ไม่ให้ใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ข้อห้ามในเรื่องของการตั้งครรภ์แทน สิทธิในการดูแลเด็กนอกจากนี้ยังห้ามใช้เพื่อธุรกิจหรือผลประโยชน์ทางการค้า โดยมีบทลงโทษผู้กระทำผิด

ตำรวจสอบทนาย"อานนท์"เพิ่ม

       กรณี กลุ่มนักศึกษาใช้ชื่อว่าสภาหน้าโดม นำโดย นายสิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นายอานนท์ นำพา อาชีพทนายความ นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ อายุ 36 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมในปี 2553 จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แสดงความคิดเห็นเรียกร้องประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง บริเวณหน้าหอศิลป์ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาทำประวัติ ที่สน.ปทุมวัน พร้อมดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 7/2557 ห้ามมิให้มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ทั้งหมดได้ยื่นหลักทรัพย์เงินสดจำนวน 2,000 บาท ประกันตัวออกไปตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

      เวลา 13.00 น. วันที่ 19 ก.พ. ที่สน.ปทุมวัน นายอานนท์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมนาม 'พลเมืองโต้กลับ'ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมนายธนาธร ทนานนท์ ทนายความส่วนตัว เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รองผบก.น.6 เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม 

      พ.ต.อ.ชยุต เปิดเผยว่า เรียกมาสอบเพิ่มเติมในประเด็นที่ยังติดใจสงสัย เพื่อเร่งรัดสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลทหาร รายละเอียดว่าสอบสวนเรื่องใดบ้างยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นความลับทางสำนวน อาจเรียกบุคคลที่เหลืออีก 3 ราย แต่ยังไม่ได้ระบุวันและเวลาในการเรียกสอบเพิ่มเเต่อย่างใด 

      พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.ปทุมวัน กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเรียกนายอานนท์ รวมทั้งพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. ผู้กล่าวหาในคดีดังกล่าวมา สอบปากคำเพิ่มเติม จากนี้เจ้าหน้าที่จะเร่งสรุปสำนวนให้เร็วที่สุด โดยมีกรอบระยะเวลา 30 วัน ครบกำหนดวันที่ 16 มี.ค. ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 4 รายต้องมารายงานตัวที่สน.ปทุมวันก่อนเดินทางไปศาลทหารในวันดังกล่าว หากสำนวนแล้วเสร็จก่อนสามารถร่นระยะเวลาเข้ามาได้ และครบกำหนดแล้วสำนวนยังไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถขยายเวลาได้เช่นกัน 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!