- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 19 February 2015 09:53
- Hits: 3798
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8849 ข่าวสดรายวัน
รื้ออาณาจักรพระ สปช.ลุย ผ่าตัดพรบ.สงฆ์ อสส.ยื่นฟ้องอาญาวันนี้ เผยปูไม่ไปพบกับอัยการ 'พท.'รุมจวก'ปปช.-คลัง'หลายรพ.ยังเปิดข่าวทีวี 3
ไม่บังคับ - ร.พ.มหาราช จ.นครราชสีมา ยังคงเปิดดูรายการโทรทัศน์ตามปกติ ไม่ได้งดตามที่รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมืออย่าเปิดแช่เฉพาะช่อง 3 โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยืนยันว่าไม่ปิดกั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจผอ.ร.พ.แต่ละแห่ง |
ประธานสปช.ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะ กรรมการปฏิรูปพุทธศาสนา ให้กลุ่มนกหวีดนั่งหัวโต๊ะ เล็งรื้อใหญ่ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ทลายอำนาจผูกขาดคณะสงฆ์ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการด้านศาสนาด้วย อ้างเพื่อ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้าน'สมหมาย ภาษี' ขอเวลา 2 วัน สั่งกรมบัญชีกลาง-ปลัดคลัง หารือแนวทางฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายโครง การจำนำข้าวจาก'ปู'ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ยันไม่คิดปรับครม. ชมทุกคนทำงานเต็มที่แล้ว ซัดการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ด้านโรงพยาบาลหลายจังหวัดยังเปิดข่าวช่อง 3 ให้คนไข้ดู
บิ๊กตู่ตั้งวิษณุดูแลคดีฟ้องแพ่ง'ปู'
เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 18 ก.พ. ที่ทำเนียบ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังประชุมครม. โดยกล่าวอวยพรเนื่องในเทศกาลตรุษจีนว่า ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ ฮวดไช้ ขอให้ร่ำรวย มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ในวันตรุษจีน เราเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใดเราคือคนไทย ใต้ร่มพระบารมี ขอให้ทุกคนตั้งสติให้ดีๆใช้สติปัญญาแก้ปัญหา และช่วยรัฐบาลทำในสิ่งที่ดี อันไหนไม่ดีก็ติเตือนว่ากันมา บอกมา ให้กำลังใจกันบ้าง ขอแค่นั้น ปีใหม่ไม่ขออะไรเลย ตนมีความปราถนาดีกับคนไทยทุกคน
เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งสำนวนโครงการรับจำนำข้าวให้กระทรวงการคลังฟ้องเรียกร้องความเสียหายทางแพ่ง วงเงินไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาทต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าทราบว่าจะมีเรื่องนี้เข้ามาและมีคนมาร้องเรียนให้รัฐบาลดำเนินการ ที่ประชุมครม. จึงมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไปพิจารณาในข้อกฎหมายว่าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลตรงไหน อย่างไร และครม.จะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องกฎหมาย เรื่องคดีความต้องดูความรับผิดชอบว่าอยู่ตรงไหนอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงสถานการณ์หรือไม่ เพราะตอนนี้คดีต่างๆ อยู่ในจุดของการตัดสิน นายกฯ กล่าวว่า "แล้วยังไง มันเร็วเกินไปหรือไง จะให้มันช้าลงกว่าเดิมหรือไง ทุกคดีอันไหนเขาพร้อมเขาก็ทำ"
เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ว่าจะถูกมองว่าเร่งรัดคดี นายกฯ กล่าวว่า ไม่กลัว จะกลัวทำไม ตนไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ตนไม่ได้อยู่ในศาล คนเริ่มต้นดำเนินการก็ไม่ใช่ตน แต่เป็นเรื่องกระบวนการที่เขาทำมา ป.ป.ช.สอบสวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะมาเป็นรัฐบาล ฉะนั้น อะไรมันจะตามออกมาก็เป็นเรื่องกฎหมาย เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่มีการเมืองหรือการกลั่นแกล้ง นายกฯกล่าวว่า ก็ช่วยตนอธิบาย สื่อเข้าใจหรือไม่ว่าทำไมเป็นอย่างนี้อย่างนั้น อย่าไปมโนเองหรือเขียนเอง
แนะไม่ต้องหนี-สู้คดีในศาล
เมื่อถามว่าป.ป.ช.ให้รัฐเรียกความเสียหายทางแพ่ง จะยิ่งบีบให้น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์หนีจะเกิดอะไรขึ้นมา ถ้าไม่หนีจะเกิดอะไรขึ้น ตนไม่เห็นจะเกิดประโยชน์กับใครสักคน ถ้าเขาหนี เขาก็ไม่มีความสุข เขาอยู่ก็ต้องสู้คดี ต้องย้อนไปดูว่าผิดถูกอย่างไร ต้องไปสู้คดีในศาล
เมื่อถามว่า มีการประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวว่าอยู่ในวงเงิน ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาทอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับตัวเลข มูลค่าโครงการนี้ใช้ไปเท่าไร ขายข้าวไปแล้วเท่าไร ที่เหลือจะเป็นยอดเงินที่ขาดทุนอยู่ บวกกับข้าวที่อยู่ ในคลัง ถ้าหักลบกลบหนี้ตอนนี้ยังไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่ว่าจะขายข้าวได้เมื่อไร ข้าวจะเสื่อมราคาหรือไม่ ถ้าขายข้าวได้ราคาต่ำ มูลค่า การขาดทุนก็สูงขึ้น วันนี้ค่าเช่าคลังตก เดือนละ 2,600 ล้านบาท เสียเปล่าๆ จะทำอย่างไร ถ้าเก็บไว้อีกสักปีจะเสียเท่าไร คง 3 หมื่นกว่าล้าน
ส่วนความคืบหน้าในการประมูลข้าวรอบแรกที่ให้ตรวจสอบนอมินีนั้น นายกฯ กล่าวว่า ต้องมีการประมูลเพิ่ม เพราะประมาณ 4 แสนตันที่ประมูลรอบแรกเป็นบริษัทที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ถ้าเราเร่งขายอย่างเดียวจะไม่ได้ ต้องตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งตนสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบว่าบริษัทที่ได้รับไป 4 แสนตัน จาก 9 แสนเกือบล้านตัน อาจเป็นนอมินีกับบริษัทเดิมที่มีปัญหา ก็ต้องให้ประมูลใหม่ และสั่งให้ยุติแล้ว เพราะ 4 แสนตันเป็นบริษัทนอมินี จะเห็นว่ารัฐบาลนี้ทำทุกอย่าง ทำช้าไปก็หาว่าขายไม่ออก แต่พอทำเร็วไปก็หาว่าไม่รอบคอบ แล้วจะเอาอย่างไร แต่ตนทำของตนแบบนี้ จะทำไม
ซัดน.ศ.เคลื่อนไหวมีการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งว่า "ห่วงว่าเดี๋ยวจะเดือดร้อนในเรื่องการเรียนการศึกษา วันนี้ไม่รู้จะประท้วงเรื่องเลือกตั้งกันนักหนา รู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อทุกอย่างมีความพร้อม มีรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามโรดแม็ป แล้วจะมาเรียกร้องให้เลือกตั้งเดี๋ยวนี้ มันยังเลือกตั้งไม่ได้ ขอร้องว่าอย่ามาร้องตอนนี้เลย ถ้าต้องการออกมาแสดงความคิดเห็นก็มีช่องทางให้อยู่แล้ว"
เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาคิดว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็คงมี ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดูอยู่ ถ้าสื่อรู้ ขอให้ช่วยบอกว่าใครบ้างอยู่เบื้องหลัง เดี๋ยวไปถามฝ่ายความมั่นคงให้
เมื่อถามถึงความพึงพอใจผลการทำงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า รู้กันบ้างหรือไม่ว่ามีผลงานอะไร ผลงานที่ผ่านมามีเยอะแยะ แต่สื่อยังเขียนว่ารัฐบาลไม่เห็นทำอะไร นั่งกันอยู่เฉยๆ อ่านแล้วก็โมโห พูดอย่างนี้มันหมดกำลังใจเหมือนกัน ที่ผ่านมาไปย้อนดูว่ามีการทำงานกันกี่กลุ่ม แต่ละกระทรวงทำงานกันมา และทำมาถึงวันนี้ได้เพราะเราออกกฎระเบียบมากมาย ปรับปรุงวิธีการ รื้อของเก่าทำของใหม่ มันไม่ง่าย ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ ครม.ชุดนี้ทำทั้งสิ้นแล้วถ่าย ทอดให้ข้าราชการดำเนินการต่อ ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองลงลึกไปถึงข้างล่าง แต่มีความเสียหายเยอะ ตนไม่อยากพูด
เตือนทำตัวเหมือนไก่ตรุษจีน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการประเมินผลงานของรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนให้ผ่านทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งต้องขอบคุณเพราะทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อย อดหลับอดนอน ผลงานวันนี้ที่จับต้องได้ที่สำคัญคือประเทศมันไม่ล้ม ที่ผ่านมาประเทศเราจะล้มอยู่แล้ว ไม่รู้กันหรืออย่างไรว่าก่อนหน้าวันที่ 22 พ.ค. ประเทศมันล้มไปแล้วเกือบจะพังพาบ รัฐบาลไปดันขึ้นมา รื้อฐานราก ที่ผ่านมาอาจไม่มีใครรู้เพราะไม่มีใครมาตอบคำถาม มีแต่ตนเท่านั้นที่พูดมาก พอพูดมาก็หาว่าพูดเกินไป พอไม่พูดก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะเอาอย่างไรกัน
"วันนี้วันตรุษจีน อยากเป็นเหมือนไก่ตรุษจีนกันก็เอา ต่างคนต่างเก่งต่างก็จิกตีกันตลอดเวลาที่อยู่ในเข่ง สุดท้ายถึงเวลา ถูกนำไปฆ่าเชือดคอทั้งเล้า ตายทั้งเข่ง อย่าทำตัวเป็นไก่ตรุษจีน อย่าทำตัวแบบนั้นเลย ผมไม่ได้ว่าตัวเองดีหรือเก่งกว่าใคร แต่สื่อชอบออกมาตำหนิรัฐบาลแย่ เข้ามาแล้วไม่ทำอะไร ไม่มีผลงาน แต่ความจริงของเก่าไม่มีอะไรเลยที่เป็นเรื่องราว ทำไมสื่อไม่ไปถามรัฐบาลที่แล้วบ้างทำไมถึงมีปัญหาเช่นนี้ ทำไมถึงปล่อยให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องมาแก้ปัญหา ไปถามรัฐบาลคนดีคนเก่งของพวกคุณดู น่ารำคาญจริงเลยพวกนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์
ยันไม่ปรับครม.-ครม.ไม่ยากจน
เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่คิดจะปรับ ครม.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่คิด เพราะมีเรื่องใหญ่โตกว่านี้เยอะ ถ้าคิดถึงเรื่องนี้เรื่องเดียว คงไม่ต้องทำอะไรแล้ว ควรรู้ว่าว่างานมันเยอะขนาดไหน ทุกกระทรวงทำกันเต็มที่ แต่สื่อยังไปวิจารณ์ ตนอ่านแล้วก็รู้สึกแปลกๆ เขียนถึงเรื่องผลประโยชน์ อยากถามว่ารัฐมนตรีจะไปเอาประโยชน์อะไร ทุกคนไม่ยากจน อีกอย่างทุกคนรู้ฐานะดีว่าการเป็นรัฐบาลนั้นเข้ามาทำอะไร ทุกคนต่างทุ่มเท เป็นเรื่องของเกียรติยศ เดี๋ยวก็ไปแล้ว ทำไมต้องทำอะไรให้เกิดความเสียหายกับวงศ์ตระกูล ตนไม่เข้าใจ ทุกคนไม่ได้อยากอยู่ ไม่ได้อยากทำ แต่คนไทยทั้งชาติจะทำอย่างไร
เมื่อถามว่า มาแล้วเจอปัญหามากเช่นนี้รู้สึกตกใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ตกใจ เพราะรู้ว่ามันมีปัญหาเยอะถึงเข้ามา รู้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่ตกใจอย่างเดียวคือมันมากกว่าที่คิดไว้เยอะ เรื่องที่มันแย่ๆ เมื่อถามว่าท้อหรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบคำถาม ก่อนจะเดินออกไปจากวงการให้สัมภาษณ์
ไก่อูเผยบิ๊กตู่ห่วงที่สปก.เปลี่ยนมือ
เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมครม.ถึงการจัดสรรที่ทำกินหรือที่ทำกินไม่เพียงพอให้กับประชาชน ซึ่งในระยะหลังการจัดสรรที่ส.ป.ก. ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในความครอบครองของนายทุนเป็นส่วนใหญ่ จึงมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการจัดการ โดยอาจมีการเรียกคืนที่ดินหรือการฟ้องร้องชดใช้และดำเนินการจัดสรรที่ดินใหม่ ให้เหมาะสมเพื่อให้ที่ดินไปอยู่ในความครอบครองของผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ และป้องกันไม่ให้ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุน ที่สำคัญต้องไม่มีการขายต่อ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้นให้เร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกบุกรุกให้กลับเป็นสภาพป่าที่ดีขึ้น
สำหรับ ป่าต้นน้ำที่มีการบุกรุกต้องเร่งอพยพประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยจัดสรรพื้นที่ว่างเพื่อให้ประชาชนอาศัยไปก่อน ขณะที่ป่าเสื่อมโทรมอาจมีการจัดระเบียบต่อไป ทั้งนี้นายกฯ ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางส่วนให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงกับประชาชน เช่น ในอดีตสนับสนุนให้ประชาชนไปป่าปลูกยางในพื้นที่ป่าที่มีการบุกรุก เพราะทำให้เกิดพื้นที่ป่ามากขึ้น ซึ่งในข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ผิด เพราะป่าต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำชับเจ้าหน้าที่อย่าให้ข้อมูลประชาชนในทางที่ผิด เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้มีการการบุกรุกพื้นที่ป่าในทางที่ไม่ถูกต้อง พร้อมย้ำให้ไปกำหนดเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ และเขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่ประชาชนสามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้โดยไม่รบกวนสภาพป่าสงวนฯ ให้เกิดความชัดเจน
เปิดเวทีปิโตรเลียมฟังความเห็น
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังระบุถึงการที่รัฐบาลจัดเวทีกลางเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน ในวันที่ 20 ก.พ. นี้ เพื่อแสดงความมั่นใจให้ทุกภาคส่วนเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการดำเนินการโดยไม่ฟังความคิดเห็นใคร ขณะนี้ข้อมูลด้านปิโตรเลียมมี 2 ชุด คือ ของกระทรวงพลังงาน และข้อมูลของผู้ที่ห่วงใย จึงเกิดความไม่มั่นใจในสังคมว่าข้อมูลใดถูกต้องที่จะเดินไปอย่างไร วิธีการใดจะเหมาะสมที่สุดระหว่างรัฐบาลลงทุนดำเนินเองทั้งหมด วิธีแบ่งปันผลประโยชน์ หรือการสัมปทาน จึงต้องเปิดเวทีนี้ขึ้นให้รับฟังข้อมูลสองด้านพร้อมกัน และประชาชนจะตัดสินว่าข้อมูลของใครที่มีความน่าเชื่อมากกว่า จากนั้นรัฐบาลจะรับข้อมูลที่หารือกันไปประมวลกำหนดทิศทางว่ารัฐบาลจะดำเนินการไปอย่างไร ทั้งนี้นายกฯ วิงวอนทุกฝ่ายให้การพูดคุยในเวทีนี้ได้ข้อยุติ ให้เสนอข้อมูลต่อกันและเปิดใจรับฟังข้อมูล ไม่ใช่เป็นการโต้วาทีเอาชนะกันอย่างเดียว
ปปช.บี้คลังเรียกค่าเสียหาย'ปู'
วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงการส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์วันเดียวกันนี้ กรรมการป.ป.ช. ได้ลงนามและส่งหนังสือให้กระทรวงการคลังฟ้องเรียกค่าเสียหายเรียบร้อยแล้ว ในหนังสือจะบรรยายค่าความเสียหายซึ่งมาจากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 3 ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท ต่อมาคณะอนุ กรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ยังสรุปว่ามีความเสียหาย 6 แสนล้านบาท รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากข้าวเสื่อมคุณภาพที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯและปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน ไปตรวจสอบมา
นายปานเทพ กล่าวว่า หลังรับหนังสือแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะผู้รับความเสียและผู้ค้ำประกันจะดำเนินการว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องเท่าไร เพื่อไปฟ้องร้องต่อศาลแพ่งต่อไป ซึ่งในพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่คาดว่ากระทรวงการคลังน่าจะดำเนินการโดยเร็ว ยืนยันการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ป.ป.ช.ส่งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ไต่สวนทุกอย่างเป็นลำดับ ป.ป.ช.ไม่ได้ไต่สวนเจาะจงเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างที่วิจารณ์ ทำทั้งสองฝ่าย คดีอื่นอย่างโครงการประกันราคาข้าวในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่
นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนคดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเป็นโทษทางอาญาจะแยกกับคดีแพ่ง เป็นคนละส่วนกัน นอกจากนี้ในวันที่ 19 ก.พ. ทาง อสส.จะนำคดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งอสส.ระบุแล้วว่าในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาหรือไม่มาก็ได้ เป็นดุลพินิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง ไม่มีปัญหา แต่ในวันนัดพิจารณาครั้งแรกหลังจากศาลรับฟ้องแล้วต้องไป ไม่ไปไม่ได้
'สมหมาย'ให้กรมบัญชีกลางดูแล
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รับหนังสือจากป.ป.ช. เพื่อให้เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว โดยได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางที่ดูเรื่องความรับผิดทางละเมิดให้หาแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนภายใน 1-2 วัน ซึ่งการดำเนินการนี้ต้องร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ ต้องร่วมพิจารณาว่าจะเรียกร้องความเสียหายจากใครบ้าง จำนวนเท่าไร ซึ่งการทวงเงินขาดทุนจำนำข้าว เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังหนีไม่ได้เพราะเป็นผู้ดูแลความเสียหายที่เกิดกับรัฐ ส่วนจะต้องไปฟ้องไปทวงอย่างไร เป็นเรื่องรายละเอียดที่ดำเนินการต่ออีกมาก เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ได้ขาดทุนร้อยหรือสองร้อยล้าน
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมอนุกรรมการฯในวันที่ 24 ก.พ. เพื่อสรุปยอดขาดทุนในโครงการจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2557 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากสังคมต้องการรับรู้และกระทรวงการคลังต้องใช้ข้อมูลเป็นฐานเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่ ป.ป.ช.ยื่นเรื่องมา ทั้งนี้ การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวล่าสุดวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีผลขาดทุน 6.82 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 15 โครงการ เป็นผลขาดทุนสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา 4 โครงการ มีผลขาดทุน 5.19 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะขาดทุนเพิ่มจากข้าวที่เสื่อมคุณภาพ และข้าวหายไปจำนวนหนึ่งทำให้ต้องบันทึกขาดทุนทันที
รายงานข่าวอนุกรรมการปิดบัญชีฯ เปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ขาดทุนเพิ่มจากการปิดบัญชีก่อนหน้าอีก 1 แสนล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนเพิ่มเป็นกว่า 6.2 แสนล้านบาท เนื่องจากมีข้าวที่เสื่อมคุณภาพมากจนตีมูลค่าไม่ได้ รวมถึงมีข้าวหายจำนวนหนึ่ง ทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นสูง
ผบ.ทอ.บี้ตั๊นแต่งชุดทหารปาร์ตี้
ที่บก.ทอ. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. และสมาชิกคสช. กล่าวถึงการดูแลสถานการณ์ในวันที่ 19 ก.พ. ที่อัยการสูงสุด(อสส.) เตรียมส่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีรับจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ไม่น่ามีอะไร คิดว่าทุกอย่างอยู่ในกรอบกฎหมาย คงไม่มีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว เพราะทุกฝ่ายต้อง การให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและเดินหน้า ต่อไป
ผบ.ทอ.กล่าวว่า ขอร้องทุกคนว่าให้ทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากไม่สามารถเดินหน้าตามโรดแม็ปได้ทุกคนก็เดือดร้อน ปัญหาต่างๆ มีความยากอยู่ ถ้าภายในชาติมีความเข้มแข็ง คิดว่าจะช่วยประเทศชาติขับเคลื่อนได้ดีขึ้น ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน
พล.อ.อ.ตรีทศ กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ภาพของน.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือตั๊น อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) และพวกในโซเชี่ยลมีเดียที่มีการแต่งกายคล้ายชุดทหารร่วมงานสังสรรค์ว่า ถ้ามีอาชีพเป็นทหารก็แต่งเครื่องแบบได้ แต่ที่ไม่มีสิทธิ์คือผู้ที่ไม่ใช่ทหาร จะไปแต่งเครื่องแบบทหารได้อย่างไร
วิษณุแจงคดีฟ้องแพ่งยิ่งลักษณ์
เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.ถึงกรณีป.ป.ช.ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 6 แสนล้านบาท ในโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า การฟ้องร้องดังกล่าวต้องยื่นต่อศาลแพ่ง มีกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเข้ารัฐ ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดว่าหลังจากป.ป.ช. ส่งหนังสือให้หน่วยงานนั้นๆ แล้วจะต้องฟ้องต่อศาลแพ่งภายในเวลาเท่าใด แต่ทราบกันอยู่แล้วว่าต้องยื่นฟ้องภายในอายุความ ซึ่งอายุความในคดีแพ่งสั้นกว่าอายุความคดีอาญา และการฟ้องร้องทางแพ่งดังกล่าวจะเป็นคนละส่วนกับคดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าวที่อัยการสูงสุด(อสส.) ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่ว่าคดีอาญาจะเป็นอย่างไรก็ถือเป็นคนละเรื่องกัน
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การพิจารณาคดีแพ่งก็มีโอกาสที่จะใช้เวลานาน บางครั้งศาลอาจรอฟังการดำเนินคดีอาญาก่อน โดยเฉพาะถ้ามีประเด็นใกล้เคียงกัน การที่ป.ป.ช.เดินหน้าเรื่องนี้เพราะเขาเชื่อว่าบุคคลนั้นกระทำผิด จึงควรฟ้องร้องก่อนเพราะคดีแพ่งมีอายุความสั้น เมื่อยื่นฟ้องร้องต่อศาลแล้วจะใช้ เวลาพิจารณาคดีนานกี่ปี ก็ไม่มีปัญหาขาด อายุความ
เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกและยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท กับกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่แยกมาฟ้องเรียกค่าเสียหายต่างหากที่ศาลแพ่ง นายวิษณุกล่าวว่า คำว่า "ยึดทรัพย์" คือทรัพย์มีเท่าใดก็ยึดตามนั้น ต้องมีของกลาง แต่กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ของกลางไม่ใช่ของผู้กระทำผิด แต่ของกลางเป็นข้าว จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะต้องยึด แต่ความเสียหายเกิดเป็นเงินเท่าใด รัฐต้องไปเรียกค่าเสียหายจากคนที่ทำผิดมา ดังนั้น 2 กรณีนี้จึงแตกต่างกัน
"วรชัย"อัดปปช.เลือกเล่นงานพท.
ด้านนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีป.ป.ช. มีมติ ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาความเสียหายในคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า เห็นได้ชัดว่า ป.ป.ช.จ้องจัดการซีกพรรคเพื่อไทย ขณะที่คดีของอีกฝ่ายไม่มีความคืบหน้า ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจต้องทำคือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม และการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระโดยเฉพาะป.ป.ช. เพราะ ต่อให้ทุกฝ่ายหันมาพูดคุยกัน แต่กระบวนการใช้กฎหมายตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมทั้งการใช้อำนาจของป.ป.ช.ยังจ้องจัดการคนฝ่ายเดียว ปัญหาไม่จบ ดังนั้น ต้องเร่งปฏิรูปให้กระบวนการยุติธรรมเท่าเทียม เอาความอยุติธรรมออกไป คืนความยุติธรรมกลับมา รับรองว่าประเทศสงบ ความปรองดองก็จะเกิด
นายวรชัยกล่าวว่า 2.การร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ หากร่างออกมาบิดเบี้ยว รับใช้คนฝ่ายเดียว แฝงอำนาจองค์กรเดิมๆ และยึดอำนาจไว้ทั้งหมด เช่น ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง จะทำให้ประเทศถอยหลังแล้ว หากแค่ส.ว.แต่งตั้งกดปุ่มก็ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ทันที ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาด ตั้งนายกฯ คนนอกตามมาตรา 7 แบบนี้ประเทศจะเดินหน้าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ดังนั้น ผู้มีอำนาจต้องเร่งทำ 2 เรื่องนี้ให้สำเร็จ ประเทศจะเดินหน้าต่อได้ ความปรองดองจะเกิดขึ้น ที่สำคัญประชาคมโลกจะให้การยอมรับ
เผย'ปู'ไม่ไปวันอัยการส่งฟ้อง
รายงานข่าวจากคณะทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ก.พ. กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องไปรายงานตัวต่ออสส. เพื่อนำตัวส่งฟ้องคดีรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ล่าสุดจากการหารือกันของทีมทนายและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ข้อสรุปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางไปรายงานตัวที่ อสส. ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อรูปคดี เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่าต้องไป เพราะในวันดังกล่าวเป็นเพียงวันนำตัวไปส่งฟ้อง กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องเดินทางไปรายงานตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ซึ่งเป็นวันไหว้เจ้าและบรรพบุรุษเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ช่วงเช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทำพิธีไหว้เจ้าและบรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน จากนั้นในช่วงเที่ยงได้พาบุตรชาย น้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ไปรับประทานอาหารกลางวันที่คริสตัล ปาร์ค ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน โดยทั้งสองคนได้สวมเสื้อสีแดง มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีประชาชนเข้าไปให้กำลังใจและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก บางรายได้อวยพรและให้กำลังใจให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ ด้วย
อสส.แจงขั้นตอนฟ้องคดี
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กล่าวถึงการยื่นสำนวนฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ในวันที่ 19 ก.พ. นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานและรองหัวหน้าคณะทำงานอัยการ เป็นตัวแทนของนายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. ไปยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ ในเวลา 10.00 น. โดยหลังยื่นฟ้องคดีแล้ว ในเวลา 10.45 น. สำนักงานอสส. จะแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับยื่นสำนวนฟ้องในคดีนี้ด้วย
เมื่อถามว่า สำนักงานอสส.จะคัดค้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการประกันตัวหรือการเดินทางไปต่างประเทศหรือไม่ นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า คาดว่าคงไม่มี เพราะตามขั้นตอน ศาลฎีกาฯจะต้องประชุมเพื่อคัดเลือกองค์คณะให้ได้ 9 คนก่อน ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ นั้น องค์คณะผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเอง ซึ่งคณะทำงานอัยการยังไม่ได้รับการประสานจากป.ป.ช.หรือน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าจะมาตามนัดในวันที่ 19 ก.พ.หรือไม่
ตรุษจีน - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ทำพิธีไหว้เจ้าตรุษจีนในบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 ก่อนพาน้องไปป์ บุตรชายไป รับประทานอาหารที่ร้านย่านคริสตัลปาร์ก เขตลาดพร้าว กทม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. |
พิชัยเตือนคลังรับคดีฟ้องแพ่งปู
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมช.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่ป.ป.ช.ส่งหนังสือให้กระทรวงการคลังดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับน.ส.ยิ่งลักษณ์จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ว่า ไม่เห็นด้วยและไม่สมควรที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ฟ้องร้องค่าเสียหายในเรื่องนี้เอง เพราะโดยหลักการ กระทรวงการคลังต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และหากจะฟ้องร้องต้องถามว่าในอดีตมีหลายเรื่องที่อาจมองว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการก่อสร้างโรงพักทดแทน การใช้จ่ายงบประมาณในแผนปฏิบัติการโครงการไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท ที่ไม่รู้ว่าดำเนินการอย่างไร ตัวเลขการใช้งบประมาณเหลือเท่าไหร่ ถามว่านโยบายเหล่านี้มีความผิดพลาดและจะต้องฟ้องร้องด้วยหรือไม่
นายพิชัย กล่าวว่า หากกระทรวงการคลังตัดสินใจรับเรื่องไว้ก็ทำได้ แต่ควรรับไว้เพื่อคำนวณตัวเลขเท่านั้น และก่อนหน้านั้นกระทรวงคลังระบุตัวเลขอยู่ที่กว่า 5 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขของความเสียหายรวมกัน 3 ปี ไม่ได้ทำให้ประเทศล่มจม เนื่องจากนโยบายที่ออกมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชาวนา จึงเป็นธรรมดาที่การใช้จ่ายต้องมีทั้งขาดทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจไปควบคู่กัน หากจะบอกว่าดำเนินการตามนโยบายแล้วขาดทุนทำประเทศเสียหายคงเถียงกันไม่จบสิ้น
"ถ้าคลังจะรับเรื่องไว้ควรใช้วิจารณญาณพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่า ถูกตามหลักการหรือไม่ที่จะฟ้องร้องเอง ผมเห็นว่าคลังควรคำนวณตัวเลขที่แท้จริงและส่งเรื่องกลับไปให้ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องเรื่องค่าเสียหาย แต่ถ้าจะฟ้องเองก็ควรพิจารณาเฉพาะตัวเลขความเสียหายที่พบว่ามีข้อมูลยืนยันว่ามีการทุจริตจริงเพื่อดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งข้าราชการ เอกชน ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น"นายพิชัยกล่าว
'เต้น'อัดเชือดปู ก่อนจบโรดแม็ป
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มนปช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เห็นอาการลุกลี้ลุกลนของป.ป.ช. ที่จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวแล้ว อดคิดไม่ได้ว่ามีคนตั้งใจให้การเล่นงานน.ส.ยิ่งลักษณ์ เสร็จก่อนโรดแม็ปคสช. ซึ่งส่วนตัวเห็นว่านี่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมปกติ แต่เป็นรายการล่าข้ามทศวรรษ ติดพันมาตั้งแต่ยุคคมช. การฟ้องร้อง ตลอดจนองค์กรและบุคคลที่ทำหน้าที่ล้วนกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามแผนบันได 4 ขั้น
นายณัฐวุฒิระบุว่า แม้วันนี้ตัวแม่คือรัฐธรรมนูญไม่อยู่แล้ว แต่ตัวลูกยังอยู่ครบ ท่าทีไม่ลดราวาศอกแม้แต่น้อย หัวหน้าคสช.บอกว่าจะไม่ยุ่งให้ว่าไปตามกระบวนการ ตนก็จะบอกว่าเพราะกระบวนการแบบนี้ทำให้ยุ่งจนไม่เห็นทางแก้ในปัจจุบัน ถ้าเอามาตรฐานเดียวกัน ป.ป.ช.ต้องเริ่มนับหนึ่งตรวจสอบรัฐบาลนี้กรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้แล้ว เพราะก่อนรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินโครงการจำนำข้าว ป.ป.ช.ก็ไปหยิบผลการศึกษาของ ทีดีอาร์ไอ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากรัฐบาลชุดอื่นมาส่งหนังสือเตือนว่าอย่าทำ จะเกิดความเสียหาย รัฐบาลชุดที่แล้วยืนยันว่าช่วยเหลือชาวนา หาเสียงเอาไว้และแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว พร้อมมีกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ป้องกันทุจริต สุดท้ายก็ลงมือถอดถอนนายกฯ ดำเนินคดีอาญา และจะฟ้อง 6 แสนล้าน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สัมปทานปิโตรเลียมไม่ใช่แค่งานทีดีอาร์ไอ แต่เป็นมติสปช.ซึ่งคสช.ตั้งเอง เขาคัดค้าน องค์กรต่างๆ เคลื่อนไหว ทำไมป.ป.ช.ไม่ทำหนังสือเตือนรัฐบาล ถ้าเดินหน้าตามเดิมแล้วมีคนร้องป.ป.ช. แสดงว่าต่อไปพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องถูกถอดถอน อาญา และฟ้องค่าเสียหาย ไม่ตั้งใจตีรวนแต่จะชวนให้คิดว่าเล่นไม่เลิกกันแบบนี้ หลายคนคงเห็นอนาคตน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าสาหัส แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือจะไม่เห็นอนาคตประเทศไทย
กิตติรัตน์ โพสต์แจงผลดีจำนำ
วันเดียวกัน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว สืบเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว ว่า "แด่ ป.ป.ช. ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จีน..." "โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสุทธิเป็นบวก... จะให้ทวงค่าเสียหายจากใคร"
นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังเรียกค่าเสียหายจากท่าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีโครงการรับจำนำข้าวนั้น ตนเห็นว่าเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ที่ปฏิบัติต่ออดีตนายกฯอย่างซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรม สร้างความหนักใจให้กับกระทรวงการคลัง เพราะถ้าไม่ดำเนินการ ก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาจาก ป.ป.ช.ว่าละเว้นปฏิบัติ แต่หากจะดำเนินการใดๆ ต่อไปก็ย่อมขัดต่อหลักเหตุผล ในแนวคิดเรื่อง "ผลประโยชน์ และความเสียหาย" เพราะโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่ได้ดำเนินการในช่วงรัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นโครงการที่มีผลประโยชน์สุทธิทางเศรษฐกิจเป็นบวก
อดีตรมว.คลัง ระบุว่า ได้ชี้แจงแก่ป.ป.ช. ตั้งแต่ชั้นไต่สวนพยานแล้วว่าสำนักเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้คำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในปี 2554/55 และปี 2555/56 ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเป็นมูลค่าถึง 308,000 ล้านบาท และ 315,000 ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ จีดีพี ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 2.8 ของประเทศในปี 2555 และ 2556 ซึ่งสูงกว่า "ตัวเลขค่าใช้จ่ายสุทธิทางบัญชี" ที่กำลังดำเนินการปิดบัญชีกันอยู่ เป็นจำนวนมาก
จี้ศก.โต 0.7 เปอร์เซ็นต์-ฟ้องใคร
นายกิตติรัตน์ ระบุอีกว่า "พวกผมไม่ใช่พวกที่บริหารเศรษฐกิจของประเทศแบบเช้าชามเย็นชาม เศรษฐกิจจะโตหรือไม่โตก็แล้วแต่ยถากรรม เวลาเศรษฐกิจไม่โตต่างหากที่เรียกว่าเป็นความเสียหาย ทุกๆ ร้อยละหนึ่งของจีดีพี ที่ต่ำไปจากที่ควรเป็น หมายถึงความเสียหายประมาณ 120,000 ล้านบาทต่อปี เช่นในปี 2557 ที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจโตเพียงร้อยละ 0.7 ในขณะที่ทุกๆประเทศในอาเซียน โตเอาโตเอา นี่แหล่ะความเสียหาย จะให้เรียกค่าเสียหายจากใครก็เชิญคิดกันเอาเอง
"ปิดบัญชีฯโครงการก็ยังทำกันไม่ถูกต้องเรียบร้อย ถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ทำกันอย่างรวบรัดเร่งรีบ ยอมรับกันเองในมติในชั้นกล่าวหาว่าไม่พบว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริต หรือมีส่วนรู้เห็น แต่ตอนไปแถลงคดี ก็ใช้วาทกรรมว่า ส่อนั่น ส่อนี่ นี่ยังจะส่งเรื่องให้ส่วนราชการ ดำเนินการทางแพ่งต่อทั้งที่รู้แก่ใจว่าเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสุทธิเป็นบวก มิน่าล่ะคนทั้งสังคมเขาถึงรู้สึกว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง นี่ยังไม่นับเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เคยถูกดำเนินการอะไรอย่างจริงจังสักเรื่องเดียว ทั้งที่สังคมเห็นกันอยู่ชัดๆ ว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ ความยุติธรรมอยู่ไหน.." นายกิตติรัตน์ ระบุ
'พนัส'ติงฟ้องนโยบายรัฐบาล
ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งทำตามที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายไปอาจมีความผิดพลาดได้ แต่ไม่ควรเป็นความผิดทางแพ่ง ในทางอาญาก็ยังก้ำกึ่งเพราะเป็นการตีความของป.ป.ช.ที่บอกว่าผิดมาตรา 157 ทั้งนี้ ในทางแพ่งต้องดูว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่การประมาณการ แต่ข้าวยังไม่ได้ขายทั้งหมด หลักฐานยังไม่ชัดเจน ขณะที่รัฐบาลตั้งใจช่วยเหลือชาวนา ไม่มีใครอยากให้เกิดความเสียหาย เรื่องนี้จึงไม่ควรเป็นความรับผิดทางแพ่ง
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ากระทรวงการคลังจะไม่ฟ้อง นายพนัสกล่าวว่า คิดว่ากระทรวงการคลังคงดำเนินการตามที่ป.ป.ช. ส่งมา เหมือนตั้งธงไว้แล้ว โดยกระทรวงจะต้องขอให้อัยการเป็นผู้ดำเนินคดีให้ ซึ่งอัยการจะต้องมีความเห็นว่าเข้าข่ายละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เพราะขณะนี้ตัวเลขยังเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น เมื่อขายข้าวหมดอาจไม่ขาดทุนถึงขนาดนั้นก็ได้ หากเทียบกับนโยบายอื่นของรัฐบาลนี้ เช่น โครงการทำรถไฟ สมมติรัฐบาลประมาณการว่าต้องใช้งบ 6 แสนล้านบาท แต่เมื่อทำแล้วเกิดบานปลายไปมาก รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ในเรื่องที่เป็นนโยบายรัฐ
วันชัยย้ำให้'บิ๊กตู่'คุย'ทักษิณ'
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ เจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อสร้างความปรองดองว่า เมื่อรัฐประหารแล้ว ต้องสานงานต่อเรื่องความปรองดอง แต่ไม่ใช่แค่การออกกฎหมายหรือร้องรำทำเพลง เพราะสิ่งสำคัญต้องเร่งพูดคุยกับคู่ขัดแย้งที่เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งที่สำคัญ ยืนยันว่าสิ่งที่ตนเสนอนั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว เพื่อให้ประเทศเกิดความปรองดอง ไม่มีใครมาประสานหรือมีวาระซ่อนเร้น ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนแต่เกรงว่าหากยังไม่ปรองดอง ต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญดีอย่างไรก็เสียเวลา เสียของ จึงเห็นว่าการเจรจาเป็นวิธีที่ดีที่สุด นำไปสู่การปรองดอง
"การเจรจาทำได้ทั้งทางตรงและทางลับ ถ้าเจรจาแล้วบางเรื่องไม่สามารถทำได้ก็ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ ไม่ใช่เจรจาแล้วปิดเป็นความลับ จะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจ แต่เมื่อนายกฯตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เจรจาก็ถือว่าจบ ต้องเคารพและไม่ไปก้าวล่วงการตัดสินใจ รวมถึงจะไม่เสนอเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการปรองดองของ สปช. เพราะผมไม่ได้ร่วมคณะกรรมการฯชุดนี้ แต่หากที่ประชุม สปช. หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย ผมจะลุกขึ้นแสดงจุดยืนของผมอย่างแน่นอน" นายวันชัยกล่าว
มาร์คอ้างต้องดูจังหวะเหมาะสม
ที่โรงแรมดุสิตธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้นายกฯใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เดินหน้าสร้างปรองดองว่า ก่อนจะใช้มาตรา 44 หรือจะให้นายกฯหรือหัวหน้าคสช.ทำอะไร หรือใช้สนช.ออกกฎหมาย จะต้องอธิบายและรับฟังความเห็น มีกระบวนการชัดเจนว่าต้องการทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาอะไร ตรงนี้จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ไม่เช่นนั้นจะย้อนกลับไปสู่วิกฤตได้อีก เหมือนกรณีผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม บางเรื่องในการสร้างปรองดองสามารถทำได้ทันที เช่น กลุ่มใดที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม หรือกลุ่มใดที่เห็นว่าไม่ควรเอาผิด แต่ยังมีความผิดติดตัวอยู่ สามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ แต่ต้องระวัง เพราะเกรงจะมีคำถามตามมาจากนักศึกษาที่เคลื่อนไหวและถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนกฎอัยการศึกว่าจะได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะชุมนุมทางการเมืองเช่นกัน ดังนั้น การจะนิรโทษต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม
ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯจะบรรจุเรื่องปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รอดูข้อเสนอต่างๆ ก่อน หากเป็นไปในแนวทางที่มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เห็นว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมการ และกรรมการชุดนี้จะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งหลังมีรัฐธรรมนูญ เท่ากับจะไม่มีการดำเนินการอะไรในระหว่างนี้ หากต่อไปการทำงานในเรื่องปรองดองระบุว่าจำเป็นต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการบ้าง อยากทราบดุลอำนาจตรงนี้ เพราะไม่มั่นใจกับข้อเสนอที่บอกว่าสภาและศาลต้องรับฟังคณะกรรมการปรองดองฯ เพราะจะเกิดคำถามถึงความชอบธรรมของคณะกรรมการชุดนี้ว่ามีที่มาอย่างไร จึงสั่งศาลหรือสภาได้
สนช.นัด 25 ก.พ.เปิดถอด 38 สว.
ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงการพิจารณาถอดถอน 38 อดีตส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ ตามที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้สนช.ดำเนินการว่า วันที่ 25 ก.พ. สนช.จะประชุมเพื่อพิจารณากระบวน การถอดถอนนัดแรก กำหนดวันแถลงเปิดสำนวน รวมทั้งพิจารณาขออนุญาตยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมของผู้ถูกกล่าวหา เบื้องต้นผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 38 คน ระบุจะส่งตัวแทนมาแถลงเปิดคดี แต่ล่าสุดอาจเปลี่ยนแปลง ถือเป็นสิทธิ์ ซึ่งสนช.เปิดโอกาสให้ทุกคน
นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมสนช. วันที่ 19 ก.พ. เวลา 09.30-10.00 น. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ จะรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้นายกล้านรงค์ จันทิก รองประธานกมธ.รวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกสนช.ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรายงานให้ที่ประชุมทราบเป็นครั้งที่สอง ใน 3 ส่วนคือ 1.ส่วนที่สมาชิกเสนอความเห็น 2.ส่วนที่สังเคราะห์แล้ว และ3.เนื้อหาที่กมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้พิจารณา ทั้งนี้ กมธ.ดังกล่าวจะขอเพิ่มภารกิจ ให้มีหน้าที่ติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่แค่การรวบรวมความเห็นเท่านั้น และขอขยายเวลาทำงานออกไปอีก 90 วัน โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีมาตราให้น้อย ไม่เกิน 400 มาตรา เขียนเนื้อหาให้สั้น ส่วนรายละเอียดให้กำหนดในกฎหมายลูกแทน
เร่งปั๊มกฎหมาย-หลังแม่น้ำ 5 สายบี้
นพ.เจตน์ กล่าวว่า กรณีที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย พูดถึงสนช.ให้ความเห็นชอบกฎหมายต่างๆออกมาน้อยเกินไปนั้น วิปรัฐบาล สนช.และครม.เห็นตรงกันว่า หลังจากนี้การพิจารณากฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งไปยังส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้ความเห็นนั้น ขอให้ส่วนราชการเร่งให้ความเห็นกลับมา หากไม่แจ้งความเห็นกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ ให้ถือว่าหน่วยงานนั้นเห็นชอบร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว และส่งให้สนช.พิจารณาต่อไป จะทำให้กฎหมายออกมาเร็วขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่... พ.ศ. ... ซึ่งกมธ.วิสามัญนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดยเห็นว่าร่างดังกล่าวมี 19 ประเด็น แยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การอนุวัติตามอนุสัญญาการต่อต้านการทุจริตของสหประชาติ 10 ประเด็น และ 2.การพัฒนาปรับปรุงวิธีพิจารณากฎหมายป.ป.ช. ซึ่งวิปสนช.เห็นว่าให้พิจารณาในส่วนแรกไปก่อน ส่วนที่สองให้รอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยนำมาพิจารณา จะได้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า ส่วนร่างพ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ จำนวน 35 มาตรา กมธ.ปฏิรูปการเมือง สนช. ยังไม่เห็นด้วย และเสนอให้แก้ไขบางประเด็น จึงขอให้สนช.ชะลอการพิจารณาไปก่อน
คยร.ยังไม่ถกหมวดปรองดอง
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐ ธรรมนูญ แถลงผลการคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ที่ประชุมพิจารณาในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 9 การปฏิรูปเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 10 การปฏิรูปด้านพลังงาน ส่วนที่ 11 การปฏิรูปด้านแรงงาน และส่วน 12 การปฏิรูปด้านวัฒนธรรม โดยสรุปว่า มาตรา (4/1/9) 1 ให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวด ล้อมและการผังเมือง โดยคำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงทรัพยากร ธรรมชาติอย่างเป็นธรรม
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรา (4/1/10) 1 การปฏิรูปด้านพลังงาน กำหนดให้บริหารจัดการพลังงาน ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นเป็นทรัพยากรของชาติและมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน การสำรวจและการผลิตต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน ส่วนการปฏิรูปแรงงาน ต้องสนับสนุนให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นกองทุนของผู้ใช้แรงงานและให้เสรีภาพผู้ใช้แรงงานร่วมเจรจาต่อรองตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่วนการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม สนับสนุนให้มีสมัชชาศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เพื่อปกป้องฟื้นฟูสืบสานส่งเสริมและพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมตามความหลากหลายในแต่ละพื้นที่
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า เรื่องหมวดปรองดองอาจจะพิจารณาร่างไม่ทันในสัปดาห์นี้ เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯจะเร่งพิจารณาหมวดการปฏิรูปให้เสร็จก่อน ขณะนี้ผ่านไปได้แค่ 6-7 ด้านเท่านั้น จากทั้งหมด 18 ด้าน คาดว่าจะนำเรื่องหมวดปรองดองไปพิจารณาลงรายมาตราในการประชุมกมธ.ยกร่างฯนอกสถานที่ ที่จ.ชลบุรี ต่อไป
หลายรพ.ยังเปิดให้ดูข่าวช่อง 3
จากกรณีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือส่งถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง โดยให้ทุกโรงพยาบาลหมุนเวียนเปิดโทรทัศน์ตามช่องสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ในแต่ละวัน อ้างมีผู้ร้องเรียนว่าโรงพยาบาลรัฐเปิดรายการข่าวเฉพาะสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้ผู้มารับบริการรับชม อ้างผู้ดำเนินรายการท่านหนึ่งมีความประพฤติไม่เหมาะสม ขณะที่รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยอมรับเป็นผู้ออกหนังสือดังกล่าว เพื่อลดความขัดแย้งและข้อร้องเรียนนั้น
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศของโรงพยาบาลในต่างจังหวัด หลังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือไม่ให้เปิดโทรทัศน์แช่เฉพาะช่อง 3 โดยที่ร.พ.มหาราช จ.นครราชสีมา จากการตรวจสอบบริเวณพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยนอก ซึ่งแต่ละวันจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 3,000 คน พบยังเปิดให้ชมโทรทัศน์ตามปกติ
นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เห็นหนังสือดังกล่าวแล้ว เมื่ออ่านดูก็ได้แต่เพียงตอบรับ ไม่ได้ส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชา ส่วนการที่โรงพยาบาลเปิดโทรทัศน์ช่องไหนนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผอ.โรงพยาบาล หรือผู้ที่รับผิดชอบที่มีอำนาจสั่งการ โดยตนไม่ได้ปิดกั้น ใครจะดูรายการอะไรถือเป็นสิทธิของเขา แต่ต้องเป็นรายการที่เหมาะสม ไม่ควรมีเนื้อหารุนแรง เพื่อลดความขัดแย้งและลดข้อร้องเรียนของประชาชน จึงได้ขอให้เปิดรายการโทรทัศน์หมุนเวียนสับเปลี่ยนแต่ละช่อง
ที่จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบที่ร.พ.ประสาท อ.เมืองเชียงใหม่ ร.พ.สารภี อ.สารภี และร.พ.นครพิงค์เชียงใหม่ อ.แม่ริม พบโรงพยาบาลทั้งหมดมีการติดตั้งโทรทัศน์ไว้ให้ประชาชนที่มาติดต่อรับชม โดยจะเปิดสลับช่องไปมา
ขณะที่เจ้าหน้าที่ร.พ.สารภี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลจะปิดโทรทัศน์ในช่วงเช้า เพราะคนไข้และญาติจะชอบดูโทรทัศน์จนไม่สนใจเจ้าหน้าที่เรียกคิวหรือชื่อ จึงต้องตัดปัญหาด้วยการปิดโทรทัศน์ในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายจะเปิดโทรทัศน์ได้ดูตามปกติ พร้อมยืนยันโรงพยาบาลไม่เคยเปิดโทรทัศน์แช่เฉพาะช่อง 3
ส่วนที่จ.สุราษฎร์ธานี นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ รรท.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในส่วนของสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานียังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการตามระบบราชการ เพียงแต่ได้รับทราบผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งตนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวได้และมองเป็นเพียงการแจ้งเตือนให้รู้ถึงปัญหาเท่านั้น ในส่วนโรงพยาบาลของรัฐมีหลายแห่งที่เปิดโทรทัศน์ให้ประชาชนดูระหว่างรอตรวจและในห้องพิเศษ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่สามารถเปิดได้ตามปกติและโรงพยาบาลยังมีวีดิทัศน์ความรู้ด้านสุขภาพอยู่แล้ว
สปช.ตั้งกก.รื้ออาณาจักรสงฆ์
วันที่ 18 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ลงนามคำสั่ง สปช.ที่ 8/2558 ลงวันที่ 3 ก.พ. เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาระบุว่า ปัจจุบันเกิดปัญหาในกิจการพระพุทธศาสนามาก สาเหตุที่สำคัญมาจากพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่เน้นการปกครองภายในคณะสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะสงฆ์จึงดำเนินกิจการพระพุทธศาสนาขึ้นอย่างเอกเทศ ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเกิดปัญหาความเสื่อมถอยและความศรัทธาในคณะสงฆ์ทั้งจากภายในและภายนอก หากไม่ได้รับการปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจังทั้งระบบ จะส่งผลให้กิจการพระพุทธศาสนาในสังคมไทยเสื่อมลง เพื่อให้มีการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทโดยตรงในการพิทักษ์กิจการพระ พุทธศาสนาอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อาศัยอำนาจตามข้อบังคับการประชุมสปช. พ.ศ.2557 ข้อ 30(5) จึงแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย 16 คน ดังนี้ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาและกรรมการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมการ นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ รองประธาน คนที่ 1 น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา รองประธาน คนที่ 2 นางทิชา ณ นคร นางพรรณี จารุสมบัติ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายสิระ เจนจาคะ นายทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นายมโน เลาหวณิช นายสุรพล สุยะพรหม และนายสันติสุข โสภณสิริ เป็นกรรมการ น.ส.สุชาดา เมฆรุ่งเรืองกุล กรรมการและเลขานุการ นางภิรมย์ เจริญรุ่ง และนายภีม บุตรเพ็ง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ 1.ศึกษา วิเคราะห์ประเด็นปัญหาสำคัญของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย เพื่อกำหนดแนวทางปฏิรูปโครงสร้างกิจการพระพุทธศาสนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 2.ดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505
3.จัดทำข้อเสนอแนะต่อประธานสปช. เกี่ยวกับแนวทางดำเนินการและยกร่างพ.ร.บ.เพื่อการปฏิรูปกิจการศาสนาและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของพุทธบริษัท 4.รายงานความคืบหน้าให้ประธานสปช.ทราบ 5.ปฏิบัติงานอื่นตามที่ประธานสปช.มอบหมาย และ 6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป