- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 18 February 2015 09:27
- Hits: 3783
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8848 ข่าวสดรายวัน
'ปู'อ่วมอีก ปปช.จี้คลังทวง 6 แสนล.บิ๊กตู่เลิกพูดถึงแม้ว-ยันไม่ไล่ล่า เผย'ชวน-เติ้ง'ก็ขอมีตร.ติดตาม
แอ่วเหนือ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เยี่ยมชมโครงการหลวง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนโครงการหลวง ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. |
ป.ป.ช.ยื่นคลัง จี้ทวง'ปู' 6 แสนล้าน ค่าเจ๊งจำนำข้าว จ่อเรียกค่าเสียหายจาก'บุญทรง'อีกคดี 'ปานเทพ'ปัดจ้องเล่นงาน 'บิ๊กตู่'บินเชียงใหม่ แม่บ้านเหล่าทัพต้อนรับอบอุ่น ลั่นเลิกพูดเรื่องแม้ว ยันไม่ได้ไปไล่ล่าใคร 'วันชัย'โพสต์เสนอคุยแม้ว ไม่มีวาระซ่อนเร้น 'ธิดา'ชี้ปรองดอง แค่ละครระหว่างฉาก สมชายชี้ต้องคุยทุกฝ่าย อำนวยชงสนช.เคลียร์คดีแม้ว ศาลให้ประกันเสื้อแดงคดีแถลงการณ์
'บิ๊กตู่'บินเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก (ขส.ทบ.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะประกอบด้วย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ เดินทางไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และเยี่ยมการดำเนินงานของโครงการ รวมถึงถวายกำลังใจแด่ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง
จากนั้นช่วงบ่ายจะไปรับเสด็จสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จ.น่าน พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บางส่วน และผบ.เหล่าทัพ การประชุมครม.จึงเลื่อนการประชุม ครม. เป็นวันที่ 18 ก.พ. นี้
ลั่นเลิกพูดเรื่องเจรจาแม้ว
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุพร้อมพูดคุยกับผู้มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ เพื่อหาทางออกตามข้อเสนอของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ได้พูดเรื่องนี้ไปแล้วว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องทำตัวให้เหมาะสม ไม่สามารถไป พูดคุยได้ นายกฯ มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินและแก้ปัญหาที่ทุกคนได้ทำกันไว้ ส่วนเรื่องปรองดองก็เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ขออย่านำมาผูกโยงกัน ตนไม่เกี่ยวข้อง และจะไม่พูดเรื่องนี้อีกแล้ว
"ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ผมเข้ามา เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มาแก้ปัญหาโดยใช้กลไกกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปรองดองเป็นหน้าที่ของทุกคน คนไทยอยากขัดแย้งกันต่อไปหรือ ผมคิดว่าวันนี้บ้านเมือง สงบดีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องกระทำผิดกฎหมาย พยายามละเมิดขัดขวางให้เกิดปัญหา ควรไปถามคนเหล่านั้นว่าทำเพื่ออะไร ผมถามว่า ที่บอกทำเพื่อประชาธิปไตย แล้ววันนี้ประชาธิปไตยที่ผ่านมามันดีหรือไม่ ถ้ามันดีก็คงไม่มีเรื่อง ใครจะไปยุ่งเกี่ยว ผมก็ไม่ต้องเข้ามา แสดงว่า มันยังมีปัญหาอยู่ ฉะนั้นอย่ากังวล ใครจะเสนออะไรก็ได้ แต่อย่าทำให้เกิดความขัดแย้ง วุ่นวายและอย่าลากผมไปเกี่ยวข้อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ย้ำต้องเดินตามโรดแม็ป
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ระบุฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเป็นฝ่ายถูกกดดันและ ไล่ล่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะไปไล่ล่าได้อย่างไร เป็นเรื่องของคดีความ ไม่ใช่การ ไล่ล่า ถ้ามีการร้องเรียนฟ้องร้องก็ดำเนินคดี จะไปไล่ล่าอะไร
เมื่อถามถึงโรดแม็ปที่รัฐบาลวางไว้ อาจต้องเลื่อนออกไป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ใครจะทำให้เลื่อนก็ทำไป ยืนยันว่าตนต้องเดินตามโรดแม็ปและคนส่วนใหญ่ต้องการให้ดูแลช่วยเหลือและแก้ปัญหา เรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายปีก่อนที่ตนจะเข้ามา เมื่อสถานการณ์เลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเข้ามาแก้ไข เพราะห่วงประเทศชาติ ถ้าไม่เข้ามา คนอื่นจะว่าปล่อยให้ประเทศเป็นอย่างนี้ ได้อย่างไร เมื่อเข้ามาก็มาต่อว่ากันอีก หากทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการปรองดอง สงบ สันติ ก็อย่าไปขยายความขยายข่าว ต่อไปอีก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากพูดถึงการใช้อำนาจอย่างแท้จริง ตนทำได้อยู่แล้วแต่ ไม่อยากทำ ไม่อยากใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปแก้ปัญหา เพราะจะหาว่าไปรังแกใครอีก วันนี้จึงต้องใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเดินหน้า ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นมีโอกาสชี้แจงตามกระบวน การยุติธรรม แต่หากไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร
ยันไม่ได้ไปไล่ล่าใคร
"อย่าไปให้เครดิตคนเหล่านี้มากนัก ที่ พูดมา ผมคิดว่าทุกคนมีเจตนาดี และไม่ได้ จงเกลียดจงชังรัฐบาล แต่ทุกคนมุ่งหวังจะ แก้ปัญหาของตัวเองหรือภาพรวมโดยไม่ได้นึกถึงกลไกของรัฐ แต่จะไม่นึกถึงกฎหมาย ก็ไม่ได้ เพราะประเทศชาติอยู่ด้วยกฎหมาย ถ้าบอกว่ากฎหมายไปทำร้าย ไล่ล่า ถามว่า ที่ทำมีความผิดหรือไม่ เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ นำเข้าสู่กระบวนการก็ต้องสอบสวน ถามว่าไปไล่ตรงไหน ถ้าไม่มีความผิดจะร้องเรียนอย่างไรก็หลุดอยู่ดี" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการร้องเรียนหลายคดี บางคดีตัดสินว่าไม่รับฟ้อง ไม่มีความผิด ไม่เห็นมีใครมาเรียกร้อง สรุปว่าอะไรที่ตัดสินเข้าข้างตัวเองแล้วดีถือว่า เป็นธรรม อะไรที่ตัดสินแล้วมีความผิด ต้องไปแก้คดีก็ว่าไม่เป็นธรรม ไล่ล่า ตนคิดว่ามันไม่ถูกต้อง อย่าคิดแบบนี้ สื่ออย่าไปขยายความ และอยากให้ลดความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ให้กฎหมายว่าตามกระบวนการ ผิดก็คือผิด ถ้าตรวจสอบแล้วไม่มีหลักฐาน ไม่ผิดจะไปลงโทษได้อย่างไร แม้กระทั่งคดีเก่า ถ้ามี หลักฐาน มันผิดกฎหมายต้องถูกลงโทษ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะมีอะไรนอกเหนือจากนี้ ตนไม่เข้าใจ ฉะนั้น อย่าลากให้พันกัน เดี๋ยวจะเดือดร้อนทั้งประเทศแล้วใครจะรับผิดชอบ ตนขอถามใครที่มาร้องๆ กัน จะรับผิดชอบได้หรือไม่
"ผมประกาศไว้เลยว่าใครที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายเดือดร้อน จากนี้ไปต้องรับ ผิดชอบ ที่ผ่านมาไม่ค่อยรับผิดชอบกันอยู่แล้ว ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ตามระเบียบวินัย ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกคน ทุกพวก ทุกพรรค เจตนาดีหรือไม่ก็ไปพิสูจน์กันในศาล ผมตัดสินให้ไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
โวยต้องแก้ปัญหาหนี้เก่า
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า การไปรับซื้อยางอาจยังไม่ถึงชาวสวนยาง รัฐจะซื้อมากไม่ได้เพราะราคาจะตก เก็บไว้รัฐบาลก็มีปัญหา จึงให้สหกรณ์ซื้อทั้งหมด 10 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปิดการกรีดยาง และต้องเร่งแปรรูปยางนำมาใช้ให้มากที่สุด คิดว่าในอนาคตจะดีขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่สะสมมาวันนี้รื้อใหม่หมด ที่ผ่านมาเวลามีปัญหา ก็เอาเงินทุ่มไป ทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ที่เหลือก็ตาย ฉะนั้นต้องทำแผนการใช้จ่าย งบประมาณให้ชัดเจน ถ้าเอาไปช่วยเรียกคะแนนกันหมด จะไม่เหลือเงินทำอะไรเลย งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ที่ตั้งมาใช้ได้ไม่เท่าไร เพราะมีปัญหาหนี้เก่า และต้องเคลียร์หนี้เก่าให้ได้ระดับหนึ่งและไม่สร้างหนี้ใหม่ให้มาก หากจะสร้างหนี้ใหม่จะเป็นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมาไม่เคยเชื่อมต่อเป็นเรื่องเป็นราว อนาคตจะต้องเชื่อมต่อกันให้ได้ ประชาชนจะได้สะดวก ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเป็นอยู่แบบนี้
ลั่นอย่ามาเร่งเดี๋ยวทำไม่เสร็จ
"ถ้ามาเร่ง ผมก็จะทำไม่เสร็จ พวกท่าน ก็มาทำกันต่อ ถ้าทำไม่ได้ อย่ามาโทษกัน สิ่งที่ห่วงคือ สิ่งที่จะทำทั้งหมดมันทำไม่ได้เพราะความขัดแย้ง ฉะนั้นผมไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกับใครเลย ไม่ว่ากลุ่มการเมือง นิสิต นักศึกษา คนไทยด้วยกัน ทำไมไม่ให้เวลา ไม่มาดูว่าปัญหาเกิดตรงไหนและเรา ทำอะไรอยู่ สิ่งที่รัฐบาลทำอาจทำให้หลายคนเดือดร้อนบ้าง เขาเรียกว่าลดการเหลื่อมล้ำ ไม่เช่นนั้นคนทำความผิดจะได้รับประโยชน์ คนที่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ประโยชน์ จึงต้องจัดระเบียบให้ได้ ฝากบอกชาวเชียงใหม่ด้วยว่าความขัดแย้งพอได้แล้ว ขัดแย้งไม่ได้อะไร" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ที่ จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์และคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานน่าน มีกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กลุ่มแม่บ้านเหล่าทัพมายืนรอต้อนรับเพื่อมอบดอกกุหลาบแดงให้กำลังใจ และขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
บิ๊กป้อมให้แยกคดี-ปรองดอง
ที่ขส.ทบ. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้ พูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นไปตามที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเรามีกฎหมาย เรื่องคุยกับเรื่องปรองดองเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องคดีและเรื่องปรองดองต้องแยกออกจากกัน จะนำมารวมกันได้อย่างไร ทั้งนี้ ก็อยากให้ปรองดองและทำ ทุกอย่างให้เกิดความปรองดองในชาติ
เมื่อถามถึงกรณีมีการเผยแพร่ภาพของน.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือตั๊น อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยน แปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และคนมาร่วมงาน รวมทั้งดารา ในโซเชี่ยลมีเดียที่มีการแต่งกายคล้ายชุดทหารร่วมงานสังสรรค์ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ตนยังไม่เห็นภาพดังกล่าว และเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีภาพนานแล้ว ต้องไปถามเจ้าตัว ที่ผ่านมานักแสดงมีการแต่งชุดทหารและตำรวจ ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องเอาผิดนักแสดงใช่หรือไม่
ปล่อยตัว - จนท.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปล่อยตัวนายกฤษณ์ บุตรดีจีน ผู้ต้องหาโพสต์แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม หลังศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาหลักประกัน 4 แสนบาท โดยต้องมารายงานตัวตามผลัดนัดศาลทหาร เมื่อวันที่ 17 ก.พ. |
ปัดตอบแกนนำม็อบแต่งทหาร
เมื่อถามว่านักแสดงทำเรื่องขออนุญาตก่อนแต่งชุด แต่กรณีนี้มีการทำเรื่องขออนุญาตก่อนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตอนนั้นตนยังไม่ได้มาทำหน้าที่รมว.กลาโหม และเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ 3-4 เดือน มันเป็นเรื่องเก่า สื่อจะเอาอย่างไร เขาทำผิดและเป็นคดีหรือไม่ ทำไมไม่ไปแจ้งความ
เมื่อถามว่า จะแจ้งความดำเนินคดีย้อนหลังหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นกว่าเดิมว่า "คุณก็ไปแจ้ง ที่ผมไม่ไปแจ้งความเพราะยังไม่เห็นภาพ อยากให้ถามเรื่องงานและการบริหารราชการแผ่นดิน อย่าถามเรื่องส่วนบุคคล"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่สัมภาษณ์พล.อ.ประวิตรนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ และพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ได้ขอดูภาพที่มีการเผยแพร่ จากผู้สื่อข่าว จากนั้นพล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า สามารถเอาผิดได้ เพราะผิดพ.ร.บ.เครื่องแบบทหาร พ.ศ.2477
โฆษกทบ.ชี้แค่แฟนซีปาร์ตี้
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงสื่อโซเชี่ยลมีเดียเผยแพร่ภาพน.ส.จิตภัสร์ แต่งกายคล้ายทหารในงานสังสรรค์ว่า ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นภาพเก่าในอดีต ดูเหมือนสังสรรค์กันในงานเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูงภายในสถานที่ส่วนบุคคล เหมือนผู้จัดงานกำหนดให้ผู้ร่วมงานร่วมแต่งกายในแนวธีมเดียวกัน ซึ่งผู้ร่วมงานส่วนใหญ่น่าจะทราบสถานะตัวตนของผู้แต่งกายนั้นๆ ว่าใคร เป็นใคร เหมือนสร้างสีสันในมุมแนวบันเทิง ส่วนจะกระทบเรื่องกฎระเบียบใดหรือไม่ ทางหน่วยต้องไปดูรายละเอียดก่อน
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนประเด็นกฎหมายที่ผ่านมา เคยดำเนินการบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทหารแล้วไปแต่งกายคล้ายทหาร ส่วนใหญ่มีเจตนาชัดเจนไปล่อลวงหรือทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าผู้แต่งกายนั้นๆ เป็นทหารจริง เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง ซึ่งต่อกรณีนี้ต้องดูเจตนาหรือรายละเอียดมากกว่านี้
บิ๊กโด่ง ชี้เห็นต่างให้ไปคุยสปช.
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นคู่กรณีกับใคร รัฐบาลนี้เข้ามาเพื่อหยุดสถานการณ์ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ ส่วนความขัดแย้งรัฐบาลก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ขณะที่การบริหารราชการแผ่นดินก็บริหารตามปกติ และเดินหน้าปฏิรูปตามโรดแม็ป ส่วนที่กมธ.ปฏิรูปด้านท้องถิ่น ของสปช. เสนอตั้งสภาท้องถิ่นแห่งชาตินั้น ขอให้เป็นเรื่องของ สปช. ดำเนินการ หากเกิดผลดีต่อท้องถิ่นก็ถือว่าเป็นข้อยุติที่ลงตัว
ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีฯ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. กล่าวว่า การดำเนินงานของรัฐบาลและคสช.เป็นไปตามกรอบคือ ตั้งสปช.เพื่อให้ปรับสิ่งต่างๆ ที่ควรจะปรับในสังคม ที่ผ่านมามีความคิดบางอย่างไม่เหมาะสม จนเกิดความคิดต่างและไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความปรองดอง น้อยลง ถ้าเราปรับในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลและนายกฯวางไว้ จึงต้องช่วยกันเข้ามาอยู่ในกรอบ อย่าทำอะไรนอกกรอบเพราะจะกลายเป็นการต่อต้าน ขอให้เดินตามกระบวนการ ตนมองว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่ยังมีบางส่วนที่เห็นต่าง อยากให้ทุกคนเปิดใจพูดคุยกันให้ข้อคิดเห็นตามแนวทางที่ได้วางไว้ หากเดินนอกแนวทางจะเป็นการต่อต้านและเกิดความขัดแย้ง
"เราอย่ามั่นใจในความคิดของตัวเองมากเกินไป เราตั้งสปช.ไว้แล้วก็เข้าไปคุยกัน ทุกอย่างจะได้ราบรื่น อยากขอร้องบางส่วนที่ยังเคลื่อนไหวข้างนอก ขอให้กลับมา ความคิด ก็ไม่ได้ถูกลบเลือนไปไหน ขอให้อดใจและเดินตามกรอบที่นายกฯ วางไว้"
'วันชัย'ยันไม่มีวาระซ่อนเร้น
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.สามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) โพสต์ เฟซบุ๊กกรณี พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธข้อเสนอให้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า มีคนออกมาวิจารณ์ ตำหนิติเตียนตนว่ากินยาผิดซอง มีวาระซ่อนเร้น ยืนยันว่าจุดยืนยังเหมือนเดิม การจะปฏิรูปหรือร่างรัฐธรรมนูญให้วิเศษอย่างไรก็ไม่มีทางทำให้ประเทศเดินไปได้ ถ้าคนในชาติไม่รักกัน ไม่ปรองดองกัน
นายวันชัย ระบุอีกว่า การปรองดองสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่หยุดทะเลาะไว้แค่นั้นแล้วก็จบ ไม่ใช่แค่เอาตำรวจทหารไป ร้องรำทำเพลงให้ชาวบ้านดูแล้วคิดว่านั่นเป็นการปรองดอง ซึ่งการจะยุติความขัดแย้ง สร้างความปรองดองได้ ต้องเริ่มด้วยการพูดคุยเจรจา ทำความเข้าใจกับกลุ่มคู่ขัดแย้งตัวหลักตัวสำคัญเหล่านั้น ซึ่งต้องให้เวลากับเรื่องนี้อย่างเต็มที่จนกว่าจะบรรลุผลจะ 3 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 1 ปี 2 ปี ก็ต้องทำ และคนที่มีอำนาจ มีพลังที่สุดในการเจรจาคือผู้ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนี้ เป็นผู้ใหญ่ในขณะนี้ ก็คือพล.อ.ประยุทธ์ นอกนั้นแล้วไม่มี น้ำหนัก ไม่มีพลังเพราะคนนี้พูดแล้วทำได้ ตัดสินใจได้
"การเจรจาต้องเจรจากับแกนนำที่เป็นคู่ขัดแย้งทั้งหมดในประเทศ กับทุกพรรค แกนนำ ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง บุคคลผู้นำทางการเมือง แม้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นตัวหลัก เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ที่สำคัญก็ต้องคุย ส่วนวิธีการคุยจะคุยแบบไหนจะต่อหน้า ลับหลังกับใคร อย่างไรบ้าง เป็นเรื่องของผู้นำและเป็นศิลปะที่จะพูดคุย" นายวันชัยระบุ
'ธิดา'ติงละครปรองดอง
นางธิดา โตจิราการ แกนนำกลุ่มนปช. กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติว่า แนวคิดนี้เชื่อว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญต้องการทำให้การเขียนรัฐ ธรรมนูญจบได้ เพราะตอนนี้ร่างมาถึงภาค 4 เรื่องการปฏิรูปและการปรองดอง จึงต้องมีกิจกรรมเรียกความสามัคคี รับฟังความเห็นจาก กลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวรัฐธรรมนูญในภาคนี้ แต่มีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอสร้างปรองดองนั้นพูดถึงการออกกฎหมายอภัยโทษ ไม่ใช่นิรโทษกรรม วิธีคิดแบบนี้คือให้ผู้ที่มีความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาสู่ระบบเพื่อพิจารณาโทษก่อนแล้วค่อยอภัยโทษ
นางธิดา กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตอีกประการ จะเห็นว่าระหว่างที่ยกร่างรัฐธรรม นูญมีการตั้งองค์กรใหม่หลายองค์กร และมักมีกิจกรรมเช่นนี้ในการสร้างความชอบธรรม ตนรู้สึกเฉยๆ กับข้อเสนอนี้ เพราะเห็นว่าการสร้างความปรองดองไม่ได้อยู่ที่ตัวคณะกรรมการใดๆ เนื่องจากปัญหาขัดแย้งยังแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งให้มีการต่อสู้ในระบอบประชา ธิปไตย อีกขั้วหนึ่งยังพยายามรักษาอำนาจอนุรักษนิยมแบบธนาธิปไตย เมื่อความเห็นยังต่างกันมากขนาดนี้แล้ว จะปรองดองได้อย่างไร ยิ่งการมีท่าทีว่าเลือกข้างไปแล้ว การสร้างปรองดองคงเป็นเพียงการแสดงละครระหว่างฉาก ควรไปปรับความคิดให้ดีก่อนว่าเมื่อไรจะคืนอำนาจ เพราะสังคมต้องกลับไปสู่การเลือกตั้งและการปรองดองอาจเกิดขึ้นได้หลังจากนั้น
นางธิดา ยังกล่าวถึงข้อเสนอให้เจรจา กับพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ต้องตั้งคำถามว่า ข้อเสนอเช่นนี้ได้มองเห็นประชาชน หรือไม่แน่นอนว่าพ.ต.ท.ทักษิณเป็นส่วนหนึ่ง ในฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการต่อสู้ในระบอบประชา ธิปไตย แต่หากวันหนึ่งพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้อยู่ฝ่ายนี้จะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่ายังมีมวลชนจำนวนมากที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงไม่อยากให้มองว่า คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณเพียงคนเดียวแล้วจะสร้างความปรองดองได้
สมชาย ชี้ต้องคุยทุกฝ่าย
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติว่า ถือเป็นข้อเสนอที่ดี ตนเห็นด้วย บ้านเมืองเราขัดแย้งมานานหลายปีแล้ว ส่วนจะใช้วิธีการหรือรูปแบบใด ขอให้ผู้มีอำนาจช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ยึดประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ที่สำคัญต้องจริงใจ และตั้งใจจะปรองดองอย่างแท้จริง ซึ่งการปรองดองต้องพูดคุย กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องให้พล.อ. ประยุทธ์มาเริ่มพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณก่อน หากเริ่มต้นพูดกันแค่เพียงฝ่ายเดียว จะไม่สะเด็ดน้ำ
"ถ้าผู้มีอำนาจตั้งใจ ความปรองดองคงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก รัฐบาลต้องอยู่ตรงกลาง ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ตกผลึก ส่วนข้อเสนอนิรโทษกรรมนั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการปรองดอง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประชาชนที่ได้รับโทษ บางส่วนติดคุกเพราะมีข้อหาจากการเมือง หากจะปรองดองกันก็ต้องทำใจและยอมรับ ในเรื่องนี้ด้วย" นายสมชายกล่าว
อำนวยชงสนช.เคลียร์คดีแม้ว
นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นเรื่อง ถูกต้อง คนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถพูดคุย กับคนมีคดีได้ เรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่ของสนช. ที่จะพิจารณาว่าจะออกกฎหมาย โดยจะอภัยโทษ นิรโทษกรรมหรือปรองดองอย่างไร ตนพูดมาตลอดว่าไม่ควรไปยุ่งกับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ต้องทบทวนว่าพ.ต.ท. ทักษิณได้รับโทษ เนื่องจากไปรับรองให้ภรรยาซื้อที่ดินรัชดาฯ ซึ่งขณะนี้ที่ดินก็ คืนไปหมดแล้ว เงินก็คืนให้ภรรยาแล้ว แต่พ.ต.ท.ทักษิณยังได้รับโทษอยู่ คือการยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินเท่านั้น เรื่องนี้ อยู่ที่สนช.จะแก้ปัญหาอย่างไร ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเหมือนติดคุกหลายปี เพราะต้องออกไปอยู่ต่างประเทศ ทั้งที่ไม่มีเหตุผล
"การจะนิรโทษหรืออภัยโทษหรือปรอง ดองอยู่ที่สนช.จะหยิบยกขึ้นมา นายวันชัย มีเจตนาดีอยากจะเห็นบ้านเมืองปรองดอง จึงเสนอประเด็นนี้ขึ้นมาซึ่งทำถูกต้อง ถูกเวลา ขณะนี้เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญ และต้องสร้างปรองดองควบคู่กันไป" นายอำนวยกล่าว
จี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
นายอำนวย กล่าวต่อว่า ทุกคนมีคดี อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ วันนี้เราต้องพิจารณาว่าจะยึดประเทศชาติ หรือตัวบุคคลเป็นหลัก ถ้าจะยึดประเทศชาติเป็นหลัก เราต้องมาพูดคุยกัน
นายอำนวย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมทำให้สังคมเบี่ยงเบน แตกแยก โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่ทำคดี บางฝ่ายล่าช้า แต่อีกฝ่ายกลับเร่งรีบรวบรัด ขณะนี้ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด อยากให้กระบวนการยุติธรรมทบทวนตัวเองว่าอะไรผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร การปรองดองก็จะเกิดขึ้น
ทนายชี้'ปู'ไม่ต้องไปวันส่งฟ้อง
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้ รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รับ ผิดชอบคดีรับจำนำข้าว กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปศาลฎีกาฯ ในวันที่ 19 ก.พ. ที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะส่งฟ้องคดีรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเป็นเพียงวันนำตัวไปส่งฟ้อง กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องไปรายงานตัว แต่ต้องรอการตัดสินใจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกครั้ง ซึ่งทีมทนาย จะสรุปข้อเท็จจริงต่างๆ ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบ อีกครั้ง ทั้งนี้ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ไปรายงานตัวในวันที่ 19 ก.พ.ก็ไม่มีผลเสีย ต่อรูปคดี เพราะข้อกฎหมายไม่ได้บังคับไว้
"แต่หลังจากศาลฎีกาฯ รับฟ้องและ นัดขึ้นศาลนัดแรกจำเป็นต้องไป ถ้าไม่ไปอาจมีผลเสียได้ ยืนยันว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อม จะต่อสู้คดี ไม่คิดหลบหนี หรือขอลี้ภัย" นายนรวิชญ์กล่าว
ปปช.ชงคลังทวง'ปู' 6 แสนล.
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีป.ป.ช.ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้เรียกร้องความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ว่า ส่วนฐานของความเสียหายนั้นป.ป.ช. จะส่งสำนวนที่ชี้มูลความผิด ซึ่งระบุถึงฐานความเสียหายของการปิดบัญชี ตั้งแต่ครั้งที่ 3 ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีการปิดบัญชีโดยกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าสูงถึง 6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง มีตัวเลขละเอียดทั้งหมด อยู่แล้ว ทั้งนี้ จะลงนามหนังสือในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ก่อนส่งถึงกระทรวงการคลัง และ ส่งสำนวนการไต่สวนไปพร้อมกันด้วย โดยจะแจ้งไปตามคดีอาญาคือน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงคนเดียว จากนั้นกระทรวงการคลัง จะพิจารณาว่ามีบุคคลอื่นใดร่วมอีกหรือไม่ จะได้พิจารณาเพิ่มเติมอีก
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่จะถูกวิจารณ์ว่าจ้องเล่นงานนักการเมืองบางฝ่าย นายปานเทพกล่าวว่า ที่ประชุมมีการพูดกันแล้ว แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อกฎหมายระบุเช่นนั้น หากยังมีผู้ไม่เข้าใจ คงต้องชี้แจงกันจนกว่า จะเข้าใจ
จี้เรียกค่าเสียหาย'บุญทรง'ด้วย
นายปานเทพ กล่าวถึงการเรียกร้องค่า เสียหายในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในคดีอาญาของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 21 รายว่า ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังประเมินความเสียหายเรียบร้อยแล้ว เป็นไปตามฐานความผิดในคดีอาญา ส่วนเอกชนกว่า 100 รายที่ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดในกรณีนี้นั้นไม่ได้ส่ง ให้กับกระทรงการคลัง เพราะทำสำนวน แยกกัน โดยตัวเลขจะประเมินจากคดีระบายข้าว อย่างเดียว ซึ่งเป็นคนละส่วนกับของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ดูภาพรวมทั้งหมด
นายปานเทพ กล่าวถึงการไต่สวนคดีถอดถอน 269 อดีตส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว. โดยมิชอบว่า อนุกรรมการจะเสนอให้ที่ประชุมป.ป.ช.พิจารณาเพื่อมีมติ ชี้มูลความผิดในวันที่ 24 ก.พ.นี้ หากที่ประชุมเห็นชอบจะส่งสำนวนการไต่สวนไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ยื่นกมธ.ขอให้ปฏิรูป'อปท.'
ที่รัฐสภา กลุ่มเครือข่ายสมาพันธ์สมาคมข้าราชการและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย นำโดยนายวิจารณ์ กุลชนะรัตน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศ ไทย ยื่นหนังสือ ต่อนพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอแนวคิดปฏิรูปองค์กรบริหาร ท้องถิ่นในประมวลกฎหมายท้องถิ่น ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ แบ่งอำนาจระหว่าง ส่วนกลางกับท้องถิ่นให้เหมาะสม ให้มีคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ (ค.ท.ช.) มีนายกฯ หรือรองนายกฯ เป็นประธาน และตั้งกองทุนเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการท้องถิ่นเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายงบประมาณของข้าราชการและลูกจ้างไม่ให้สูงเกินไป
นอกจากนี้ เสนอให้มีคณะกรรมการกลางบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่น มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์บริหารงานบุคคล อัตรากำลัง ทั้งในระดับส่วนกลางและจังหวัด ดูแลแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการท้องถิ่นโดยปราศจากการแทรก แซงของนักการเมือง และมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น มีหน้าที่คุ้มครองระบบคุณธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่
ร้องชวดคืนเก้าอี้สภาท้องถิ่น
จากนั้นนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสปช. ในฐานะนายกสมาคมสัน นิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภา ท้องถิ่น ยื่นหนังสือต่อนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 ขอให้ประสานกับ คสช. และครม. เพื่อให้ผู้บริหาร และสมาชิก สภาท้องถิ่นที่หมดวาระแล้ว กลับเข้าดำรงตำแหน่งตามประกาศคสช. ที่ให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ หมดวาระในวันที่ 1 ม.ค. 2558 ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
นายเกรียงไกร กล่าวว่า มีอยู่ 4 แห่ง ขณะนี้ คือ เทศบาลเมืองท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เทศบาลเมืองล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเดิมเป็นเทศบาลตำบลแล้วยกฐานะมาเป็นเทศบาลเมือง กับเทศบาลตำบลหนองขนาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่เดิมเป็นอบต. ประสบปัญหาไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เนื่องจากมีการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จึงขอให้นายพีระศักดิ์ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ด้านพีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วง รอยต่อของกฎหมายอาจมีปัญหาบ้าง แต่ถ้าดูจากเจตนาของคสช. ต้องการให้ผู้บริหาร และสมาชิกท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งได้ดูแลประชาชนในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดการ เลือกตั้งได้ เชื่อว่าถ้าทำความเข้าใจกับคสช. และรัฐบาลก็ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งในการประชุมแม่น้ำ 5 สายในเดือนมี.ค. จะนำเรื่องนี้เข้า หารือด้วย
กมธ.ยันพร้อมรับฟังพรรค
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นวันที่ 21 โดยพิจารณาในภาค 4 การปฏิรูปและสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
ก่อนเข้าสู่วาระที่ประชุมได้พูดถึงข้อเสนอและข้อสังเกตของตัวแทน 43 พรรคที่มาร่วมแสดงความเห็นในเวทีสัมมนา เรื่องหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมืองนักการเมืองและสถาบันการเมือง เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำให้พรรคอ่อนแอลง
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า กมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของพรรค การเมือง ที่เรียกร้องให้ทบทวนเรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้สร้างความเข้าใจจนมีบรรยา กาศที่รับกันได้แล้ว ส่วนข้อเรียกร้องปลีกย่อยต่างๆ พร้อมนำไปทบทวนเสมอ ส่วนที่พรรคขอให้ทบทวนประเด็นส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคนั้น ยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ถอยแล้ว โดยเปิดให้ใช้ระบบกลุ่มการเมืองมาลงสมัคร ส.ส.ได้ จากเดิมเคยเสนอให้ลงสมัครในนามอิสระได้ ดังนั้น การใช้ระบบกลุ่มการเมืองจะทำให้ภาคประชาชนและภาคสังคมมีตัวแทนเข้าไปในสภาได้
สนช.จัดคิวถก'กม.ภาพโป๊เด็ก'
วันเดียวกัน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิปสนช. กล่าวภายหลังประชุมวิปสนช ว่า ที่ประชุมหารือ ถึงแนวทางการพิจารณากฎหมายตามวาระที่กำหนดในวันที่ 19-20 ก.พ.นี้ มีร่างแก้ไขพ.ร.บ.ที่สำคัญคือ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้สอดคล้องต่ออนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี เนื้อหาจะแก้ไขเฉพาะบางส่วน ไม่ใช่ทั้งฉบับเหมือนร่างแรกที่ป.ป.ช.เสนอมา ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.จะถอนร่างแก้ไขฉบับแรกทิ้งไป เพราะไม่สามารถแก้ไขทั้งหมดได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังพิจารณาไม่เสร็จ แต่ที่ต้องแก้ไขบางส่วนนั้นเพื่อทำให้การจัดอันดับการต่อต้านการทุจริตของประเทศดีขึ้น
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมวิป สนช.ยังเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในส่วนของภาพอนาจารเด็ก ตามที่สมาชิก สนช.เข้าชื่อกันเสนอ จะระบุชัดว่าห้ามครอบครองภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของเยาวชนที่กำลังมีกิจกรรมทางเพศอยู่ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เจ้าของร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วย
แก้รายมาตราเพิ่มอำนาจปปช.
รายงานข่าวแจ้งว่า ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.บางส่วนนั้น มีบางมาตราที่แก้ไขเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการป.ป.ช. ทำคำร้องขอความช่วยเหลือระหว่างประเทศในคดีที่เกี่ยวกับทุจริตได้ และแก้ไขอายุความว่าไม่ให้นำความตามมาตรา 98 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าถึงการล่วงเวลาการลงโทษมาใช้ จะทำให้กรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีคดีจะไม่ถูกนำไปหักออกจากอายุความ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับภาพโป๊เด็กนั้น เป็นเพียงการถามความเห็นต่อที่ประชุมว่าจะเห็นชอบให้ผลักดันร่างกฎหมายนี้หรือไม่ หากเห็นชอบก็ต้องส่งให้ ครม.พิจารณาภายใน 20 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ สนช.พิจารณาวาระแรกต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานการทำหน้าที่ผ่านกฎหมาย ของสนช. ที่ สนช.หรือ สปช.จะต้องส่งร่างกฎหมายไปให้ ครม.พิจารณา ก่อนเข้าสู่การพิจารณาตามวาระเช่นเดียวกัน ส่วนร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จะบรรจุเข้าที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25 ก.พ.นี้
'บิ๊กตู่'ถกงานโครงการหลวง
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1 โดย มีม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง คณะกรรมการ กปส. และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ในฐานะรองประธานและที่ปรึกษาคณะกรรมการกปส. นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ราชเลขาธิการ และนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการมูลนิธิโครงการหลวง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ยกระดับรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพการเกษตร ยังมีปัญหาเรื่องระบบชลประทาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรเรื่องเพาะปลูก จึงจำเป็นต้องนำแนวทางพระราชดำริมาเป็นแนวทางขับเคลื่อน โดยเฉพาะการทำโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และพื้นที่เพาะปลูก
โดยที่ประชุมกปส. มีมติเห็นชอบหลักการยุทธศาสตร์ แผนงาน และคำของบประมาณปี 2559 สนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 38 แห่ง เป็นเงิน 547,300,028 บาท และโครงการขยายผลโครงการหลวง 29 แห่ง วงเงิน 356,692,115 บาท โดยมอบให้สำนักงบประมาณรับไปพิจารณาสนับสนุนต่อไป และเห็นชอบการขอเพิกถอนพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) ออกจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอย สุเทพ-ปุย และอนุมัติงบ 35 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาและติดตั้งระบบงานอีอาร์พี (ERP) ระยะที่ 2 ของมูลนิธิโครงการหลวง
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์และคณะได้เยี่ยมชมฐานปฏิบัติงานบ้านนอแล เยี่ยมชมกิจกรรมสถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง ชมแปลงสตรอว์เบอร์รี่ของเกษตรกร อาคารคัดบรรจุผลผลิต และแปลงวิจัยไม้ผลเขตหนาว สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขางด้วยความสนใจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงผลประชุมกปส.ว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการหลวงอ่างขาง 600 ล้านบาท และสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อยอดสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและต่อเนื่องถึงการทำเกษตรโซนนิ่ง
เผย 4 อดีตนายกฯขอตร.ติดตาม
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่โฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีมีผู้ท้วงติงเรื่อง พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ยังเป็นนายตำรวจติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. มีคำสั่งให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ตรวจสอบข้าราชการตำรวจที่ไปติดตามดูแลความปลอดภัยอดีตนายกฯ และนักการเมือง รวมถึงอดีตผู้บังคับบัญชาทั้งหมดว่ามีใครบ้าง และทำอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ หากพบว่าไม่เหมาะสมก็ต้องยกเลิกทุกราย
โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าตั้งแต่ พล.ต.อ.สมยศ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ยังไม่เคยมีคำสั่งอนุมัติให้นายตำรวจคนใดไปติดตามบุคคลเหล่านี้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีอดีตนายกฯที่ขออนุมัติwข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการ ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัยขอตัว ด.ต.ไพบูลย์ ดาเลิศ ผบ.หมู่ กก.2 บก.ส.3 ไปช่วยราชการตั้งแต่ มิ.ย. 56 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขอตัว จ.ส.ต.ณรงค์ศักดิ์ สุดเพชร ผบ.หมู่ กก.5 บก.ปทส. บช.ก. และ ส.ต.ต.อภิวิชญ์ จันฑะเฆ ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 ตั้งแต่ ก.ย. 57
นายบรรหาร ศิลปอาชา ขอตัว ด.ต.นิมิต เอี่ยมลออ ผบ.หมู่ กก.1 บก.ส.1 และ ส.ต.ต.วัชรินทร์ วงศ์เล็ก ผบ.หมู่ กก.ปพ. บก.ป.บช.ก. ช่วยราชการตั้งแต่ มี.ค. 57 และขอตัว ส.ต.อ.อนันต์ ศรีวิเชียร ผบ.หมู่ กก.ปพ.บก.ป.บช.ก. ตั้งแต่ ก.พ. 2556 ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอตัว พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ผู้ช่วยนายเวร (สบ4) รองผบ.ตร. (พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ) ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. 57
ให้ประกันเสื้อแดง คดีแถลงการณ์
วันที่ 17 ก.พ. ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายกลุ่มแนวร่วม เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ในวันนี้เดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว นายกฤษณ์ บุตรดีจีน ผู้ต้องหาคดีเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม โดยนำหลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลทหาร กทม. โดยศาลทหารพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว เมื่อพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านและหลักประกันที่ผู้ขอประกันยื่นต่อศาล น่าเชื่อถือ จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ตีราคาหลักประกัน 400,000 บาท ทำสัญญาประกัน แล้วออกหมายปล่อยต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำจะนำตัว นายกฤษณ์กลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอหนังสือปล่อยตัวที่ทางศาลทหารกรุงเทพจะนำมายื่นแล้วจึงปล่อยตัวนายกฤษณ์ได้
รบ.ถกขับเคลื่อนกระตุ้นใช้งบฯ
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนัก นายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 2 ว่า หารือเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 2.การกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณ ชี้แจงว่าได้เร่งรัดเชิญ 20 กระทรวงที่มีงบฯ ลงทุนสูงสุดและ 190 หน่วยงานมาทำความเข้าใจ และเร่งรัดเรื่องงบฯ ลงทุน เพื่อให้ปรับแผนและนำเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 18 ก.พ.นี้ รวมทั้งทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งทุกส่วนราชการต้องทำสัญญาได้ ถ้าใครทำไม่ได้ก็ต้องมาชี้แจง
นายสุวพันธุ์ กล่าวอีกว่า 3.เรื่องพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่กำชับให้ทุกหน่วยงานต้องทำคู่มือให้เสร็จก่อนมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี่ที่ประชุมยังพูดถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 11 ด้านของรัฐบาล ที่มีความคืบหน้าโดยยึดตามแผนปฏิบัติการประจำปีของแต่ละหน่วยงาน แต่ส่วนไหนที่ยังช้ามีอุปสรรคก็เร่งรัดและให้ดำเนินการตามแผน ทั้งนี้จะประชุมติดตามงานทุกเดือน ประชุมครั้งต่อไปวันที่ 18 มี.ค.นี้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องรายงานว่านโยบายสำคัญ ของรัฐบาลและข้อสั่งการมีความคืบหน้าอย่างไร อีกกี่เปอร์เซ็นต์จะเสร็จ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมครม.วันที่ 18 ก.พ. มีวาระที่หน่วยงานต่างๆ เสนอให้ครม.พิจารณา อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เสนอรายงานสรุปผลการดำเนินงานของกมธ.และอนุกมธ.ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระหว่างวันที่ 19-23 ม.ค. ให้ครม.รับทราบ พร้อมแจ้งมติของ สนช. กรณีถอดถอนบุคคลจากตำแหน่งในกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้ครม.รับทราบด้วย
ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เสนอขออนุมัติงบกลางเพื่อดำเนินงานตามแผนงานและโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วนประจำปีงบประมาณ 2558 (เพิ่มเติม) พร้อมทั้งขอความเห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน ขณะที่สำนักงบประมาณแห่งชาติ เสนอมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558