WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปรองดองฝ่อ'บิ๊กตู่'เมิน ปัดคุย'แม้ว'ให้กลับไทยรับโทษก่อน ทักษิณ ส่งซิกพร้อมหารือ เอนกดันตั้งกก.ลดขัดแย้ง บิ๊กโด่งแจงกม.ศาลทหาร คดี'บุญทรง'ถึงมืออัยการ'เพื่อไทย'ค้านสว.แต่งตั้ง

กันเอง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโรงอาหารภายในทำเนียบรัฐบาลหลังจากปิดปรับปรุงแล้วเสร็จ พร้อมร่วมรับประทานข้าวหมกไก่กับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 

 


ยกร่างฯ - นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย พร้อมตัวแทนพรรคการเมือง 37 พรรค เข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์

     'ประยุทธ์"เมินจับเข่า'ทักษิณ'ระบุเป็น จนท.รัฐไม่พูดกับคนมีคดีความ ลั่นใครอยากปรองดองให้กลับเข้ากระบวนการยุติธรรม'แม้ว'เปรยพร้อมถกยุติความขัดแย้ง แต่คู่เจรจาต้องตัวจริงเสียงจริง

@ 'บิ๊กตู่'โต้มีอำนาจอะไรมาบังคับ

      เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลที่โรงอาหารตึกบัญชาการ 1 ที่เพิ่งเปิดให้บริการหลังปิดปรับปรุงมากว่า 3 เดือน โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชื่นชมว่าทำได้ดีขึ้น 

      พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวตอบคำถามกรณีข้อเสนอให้นายกฯไปพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า "เขามีอำนาจอะไรที่จะมาบังคับผม แล้วมีการกระทำอะไรที่ขัดต่อหลักของกฎหมายหรือไม่ อย่าลืมว่าวันนี้คุณทักษิณมีคดีติดตัวอยู่ แล้วผมจะไปพูดด้วยได้หรือไม่ล่ะ ก็ต้องคิดดูตรงนี้" 

     เมื่อถามว่า แสดงว่าสถานะของนายกฯในวันนี้ไม่สามารถไปพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คำถามนี้เข้าท่า เมื่อถามย้ำว่าเมื่อตัวเองไม่สามารถไปพูดคุยเองได้ จะมอบหมายให้ผู้อื่นไปหารือแทนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ว่าใครไปก็ผิดทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าใครอยากจะปรองดองก็กลับประเทศมาเข้ามาสู่กระบวนการ เรื่องนี้พูดมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะใครก็เป็นเหมือนกันทุกคน เห็นมีตั้งหลายคนก็กลับเข้ามาก่อนสิ ซึ่งไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง มันขัดแย้งกันเยอะไปหมด ผิดกฎหมายกันตรงไหนก็ขอให้กลับเข้ามา เข้าสู่กลไกและกระบวนการยุติธรรม

@ ย้ำไม่พูดกับคนมีคดีความ

       เมื่อถามว่า แสดงว่าผู้ที่หลบหนีคดีทั้งหมดหากจะเรียกร้องอะไรหรือขออะไรจากรัฐบาลจะต้องกลับเข้ามาแผ่นดินประเทศไทยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "สิ่งหนึ่งต้องถามคนไทยทั้งประเทศว่าเขาว่าอย่างไร แล้วไปหาคำตอบมา แล้วถ้ายกเลิกสิ่งที่ทำผิดกฎหมายทั้งหมดแล้วประเทศไทยจะทำอย่างไรต่อไป ในข้อเท็จจริงผิดหรือไม่ผิดก็ว่ากันมาตามหลักฐาน และต้องดูว่าการตัดสินคดีความทั้งหมดว่าอย่างไร มีผลย้อนหลังทั้งหมดหรือไม่ หรือทุกคดีจะให้นิรโทษกรรมทั้งหมดเลยหรือ เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น จะต้องตั้งหลักของเราให้ได้ก่อน แก้ปัญหาประเทศ ดูแลประชาชนวางรากฐานเตรียมเลือกตั้ง ส่วนการจะย้อนไปพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมนั้นเดี๋ยวค่อยว่ากัน ถ้าทำได้ก็ไปว่ากันมา แต่ส่วนตัวผมเองจะให้ไปพูดอะไรกับใครที่มีคดีความอยู่มันไม่ได้ เพราะผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ"

     เมื่อถามว่า หมายความว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในฐานะนายกฯ จะปิดประตูตายไม่คุยกับใครใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ได้ปิดประตูตาย ประตูก็ยังเปิดอยู่สำหรับคนที่ทำถูกต้อง ผมก็เปิดทั้งหมด ถ้ายังไม่ถูก ก็ต้องไปทำให้ถูก ผมยินดีเปิดรับ แต่ถ้าทำไม่ถูกขั้นตอนว่าอย่างไรก็ต้องทำตามขั้นตอนนั้น"

@ บอกสื่อเลิกเขียนถึง'ทักษิณ'

      เมื่อถามว่า จะใช้วิธีไปพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือแกนนำเสื้อแดงที่อยู่ในประเทศไทยได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "จะให้ไปคุยเรื่องอะไร คุยกับใคร แล้วคนเหล่านั้นจะคุยกับผมในเรื่องอะไร อย่าลืมว่าการเข้ามาครั้งนี้เพื่อหยุดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นและมาเพื่อเดินหน้าประเทศ ซึ่งมันยังเดินไม่ได้ ถือเป็นหน้าที่ต้องทำ ส่วนเรื่องคดีความ ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ไปว่ากันมา ถ้ากระบวนการยุติธรรมระบุว่าสามารถทำอย่างที่มีการเสนอได้ก็ต้องทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ส่งมาให้ผมเพื่อรับทราบว่าสามารถทำได้หรือเปล่าในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ จะมาตกลงกันเองมันไม่ได้ ทุกอย่างจะต้องมีเหตุและผล ทำงานต้องมีหลักการ" 

     เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่เห็นนักศึกษาออกมาต่อต้านในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากฝากน้องๆ หลานๆ ว่าอย่าตกไปเป็นเครื่องมือใคร อย่าลืมว่าคนที่มานำเคลื่อนไหวเขาต้องการอะไร กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการเพื่อให้มีการขยายความขัดแย้งกับ คสช. 

      เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่มีการกล่าวว่าการเมืองไทยวันนี้ยังผูกขาดและผูกติดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "อย่าไปสนใจ สื่อก็อย่าไปเขียนให้เขา อย่าไปเขียนอะไรที่มันผิด อย่าไปเขียนต่อ พวกสื่อต้องก้าวให้ข้าม ส่วนผมก้าวข้ามมานานแล้ว" 

@ บิ๊กป้อมลั่นไม่ใช่หน้าที่นายกฯ

       ที่อาคารเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวกรณีเดียวกันว่า ไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ เป็นเรื่องของกฎหมาย นายกฯมีหน้าที่ดูแลกฎหมาย ถามว่าผิดหรือไม่ ทาง สปช.ก็ควรว่าไป จะคุยอย่างไร เราพร้อมทุกอย่าง คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็พร้อม ทาง พล.อ.ประยุทธ์ย้ำตลอดเวลาว่าให้กลับมาคุยกัน คิดว่าเป็นเรื่องของ สปช.ทำอย่างไรให้เกิดความปรองดองก็ทำไป 

      เมื่อถามต่อว่า ถ้านายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เดินทางไปพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ พล.อ.ประวิตรย้อนถามกลับว่าแล้วมอบหมายได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณก็มีคดีความ 

        เมื่อถามย้ำว่า ถ้าไม่พูดถึงเรื่องคดีความ แต่จะพูดถึงเรื่องอื่น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่ทราบ ก็ไปหามา สปช.ต้องไปทำมา ต้องดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนหลักการจะเป็นอย่างไรนั้นผมไม่รู้ แต่จะต้องไปดูว่าต้องไม่ผิดกฎหมาย เพราะเรายึดตัวกฎหมาย ถ้า สปช.คิดอะไรและเห็นว่าอะไรสามารถทำได้ก็ทำเลย เพราะมีหน้าที่ในการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การปรองดองในทุกเรื่อง ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยเจอกับ พ.ต.ท.ทักษิณ"

@ แนะ'พลเมืองโต้กลับ'ไปคุยสปช.

      เมื่อถามว่ากรณีนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ โดยเสนอให้ยุบกองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า กองทัพมีการปฏิรูปมาตลอดและทำอยู่ นายกษิตไม่รู้ว่าเขาทำอยู่หรือเปล่า อย่าไปพูดแบบนี้ กองทัพทำตลอดเวลา มีแผนงานในการที่จะปฏิรูปอยู่แล้ว นายกษิตสามารถคิดได้และไปเสนอที่ สปช. อยากคิดอะไรก็คิดได้ 

        "ไม่เคยรู้สึกกดดันและไม่เคยคิดว่ามีการกดดัน เราอยากให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นใน สปช. ไม่ใช่ว่าแสดงความคิดเห็นอะไรและเรียกมาคุย เพียงแต่เราดูว่าอะไรที่มันเกินเลยไปจนเกิดความไม่ปรองดองเราถึงจะเรียก ถ้าเป็นความคิดก็เสนอไป ส่วนกรณีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับออกมาเคลื่อนไหวที่บริเวณหน้าหอศิลป์นั้น ผมก็อยากทำความเข้าใจ ไปคุยกันที่ สปช. เพราะมีหลายเวทีไปพูดจากัน ไม่พอใจเรื่องอะไรก็ไปคุยกัน แต่การเคลื่อนนอกเวทีถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรามีเวทีให้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปเปิดใหม่" พล.อ.ประวิตรกล่าว

@ 'แม้ว'พร้อมคุย-แต่ขอดูเงื่อนไข

แหล่งข่าวใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาโดยตลอดและพร้อมเจรจา แต่มีข้อเสนอดังนี้ คือ 1.ขอให้คนที่มาเจรจามีอำนาจในการพูดคุยและมีอำนาจในการตัดสินใจทุกเรื่อง สามารถเห็นผลได้ในเชิงปฏิบัติ อย่างที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณถูกหลอกหลายครั้ง คุยแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ไม่จบจริง 2.ต้องดูเงื่อนไขในการพูดคุยเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ 3.หากเจรจาได้ต้องดูระยะเวลาในการดำเนินการด้วยว่าเป็นอย่างไร ส่วนเหตุผลที่ พ.ต.ท.ทักษิณอยากเจรจาด้วยนั้น เนื่องจากอยากเห็นประเทศสงบและเดินหน้าได้ ทุกวันนี้โอกาสของประเทศที่จะก้าวหน้าหายไปเรื่อยๆ หากเป็นเช่นนั้นประชาชนจะลำบาก แต่ทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องมีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่สองมาตรฐาน อีกทั้งคนที่มีรายได้น้อยจะต้องมีโอกาสและได้รับการดูแล

"ที่ผ่านมามีการพยายามล่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาต่อต้าน เพื่อคนที่มีอำนาจจะได้อ้างว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบสุข และคงอำนาจการบริหารออกไป พ.ต.ท.ทักษิณจึงขออยู่นิ่งๆ ไม่อยากตกหลุมพรางให้ คสช.และรัฐบาลยืดเวลาในการบริหารประเทศ" แหล่งข่าวใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณระบุ 

@ 'บิ๊กโด่ง'แจงปมพ.ร.บ.ศาลทหาร 

เมื่อเวลา 08.30 น. ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์สวอตช์ เรียกร้องให้ สนช.ลงมติคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับที่..... เนื่องจากมีการเพิ่มอำนาจให้ทหารควบคุมตัวพลเรือนได้นานสูงสุดถึง 84 วัน ไม่จำเป็นต้องได้รับอำนาจศาล และการมอบอำนาจให้ทหารควบคุมตัวพลเรือนโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ จะเป็นการให้อำนาจทหารมากเกินไป ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ไปทำให้ทหารมีอำนาจเกินขอบเขต แต่เป็นการทำให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ที่มีความจำเป็นหรือนอกเหนือจากในพื้นที่ศาลโดยทั่วไปให้มีอำนาจในพื้นที่นั้นอยู่ ขอยกตัวอย่างเช่น ผู้บังคับการเรือจะนำเรือออกไปกลางทะเลในระยะไกลและเข้าไปในเขตนอกน่านน้ำ เพื่อปฏิบัติภารกิจในขบวนเรือนั้นๆ ขณะนี้กฎหมายมิได้ครอบคลุมอย่างชัดเจนที่จะให้อำนาจการควบคุมตัว ผู้ที่กระทำความผิดบนเรือลำนั้นๆ จึงมีกฎหมายควบคุมที่ถูกต้อง เป็นการกำหนดให้ชัดเจนต่อการปรับแก้ไขใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ขอย้ำว่าไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กำลังพลก็มีกฎหมายอยู่แล้วแต่จะให้มีความชัดเจน สิ่งนี้จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจ

@ ยังไม่คิดเรียกฮิวแมนไรต์สฯคุย

เมื่อถามว่าทหารจะเชิญฮิวแมนไรต์สวอตช์มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า คงต้องดูก่อน เพราะได้ชี้แจงไปแล้ว ถ้าเข้าใจก็จบไปไม่จำเป็นต้องชี้แจง จริงๆ แล้วมีความจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายอีกหลายอย่าง กฎหมายทางทหารบางอย่างไม่ทันสมัย ใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 จำเป็นต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น

พล.อ.อุดมเดชกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐจับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ Resistant citizen ในงานเลือกตั้งที่รัก (ลัก) บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ว่า ทหารไม่ได้เป็นคนควบคุมตัว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตักเตือนขอร้องทำความเข้าใจว่าอย่าทำสิ่งใดที่อยู่นอกกรอบกฎหมาย ถ้าอยู่นอกกรอบก็จะดำเนินการ ได้ติดตามตลอด ไม่ใช่เพิ่งเริ่มเกิดเหตุการณ์แล้วตำรวจเข้าไปจับกุม เท่าที่ทราบมีการเตือนหลายครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจแล้ว ถ้าเตือนแล้วไม่ทำตามกรอบกฎหมายจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย มากไปกว่านั้นถ้ายังมีการเคลื่อนไหวต่อไปอีก คงต้องดำเนินการ

@ ใครเกินกรอบ-คสช.จะเตือน

"รัฐบาลมีเวทีการแสดงออกที่ถูกต้อง สามารถส่งความคิดเห็นใดๆ ก็ได้ อาจจะมีการแสดงออกได้บ้างแต่คงไม่ใช่ทุกอย่าง สิ่งใดที่เห็นว่าเกินกรอบกฎหมาย มีการรวมกลุ่มกันมากเกินไป ทางเราจะเข้าไปเตือน ส่วนผู้ที่กระทำต้องรับฟังและปฏิบัติตามให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจอยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่มีบางส่วนที่ออกมาเคลื่อนไหว ขอฝากว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องขอความกรุณาให้ช่วยไปตักเตือนกัน บ้านเมืองจะได้สงบเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่พวกเราต้องการตามที่ คสช.กำหนด ผมก็มีส่วนเกี่ยวข้องตามโรดแมปด้วย จะดำเนินการให้ดีที่สุด" พล.อ.อุดมเดชกล่าว 

เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดรับกับสหภาพยุโรป (อียู) แถลงการณ์ให้รัฐบาลและ คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น แต่จะใช้ตามความจำเป็นจริงๆ โดยทั่วไป ณ ตอนนี้ คงไม่ใช้ ใช้แค่กฎหมายปกติก็เพียงพอแล้ว ส่วนการแสดงออกจะยั่วยุให้ทหารใช้ความรุนแรงนั้น จะตีความแบบนั้นไม่ได้ จะไปกล่าวอ้างว่าพวกต้องการแบบนั้นแบบนี้ ต้องคิดว่าพวกนั้นทุกคนมีความบริสุทธิ์ใจ ถ้าไม่บริสุทธิ์ใจและไม่เข้าใจต้องชี้แจงกันไป ผู้ที่มีเจตนาไม่ดีและมีสิ่งใดแอบแฝงอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้ดีว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวคิดเช่นไร

@ 'มาร์ค'แนะตีโจทย์'ปรองดอง'ให้ชัด

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ว่า ทาง คสช.มองเรื่องการปรองดองเป็นเรื่องของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีในหมวดการปฏิรูปและเรื่องปรองดอง การจะดำเนินการอะไรคงต้องฟังข้อเสนอของทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก่อน ขณะเดียวกันในส่วนของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีข้อยุติทั้งหมด จึงอยากให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตีโจทย์ให้ชัดว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งลักษณะไหน ปัญหาที่ผ่านมาคือกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ต้องแก้ตรงนี้ให้ได้ เข้าใจว่าสัปดาห์นี้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้ข้อยุติ

เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการดำเนินงานของคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติที่ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี นานเกินไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดแต่ขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่และขอบเขตงานที่ทำคืออะไร คิดว่าปมที่เป็นปัญหาความขัดแย้งไม่ได้มีมาก แต่สิ่งที่จำเป็นต้องช่วยกันทำคือ บรรยากาศการทำงานของทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ใช่เอาความรุนแรงมาใช้กัน อย่างไรก็ตาม การที่จะให้นายกรัฐมนตรีมาพูดคุยกับบรรดาแกนนำนั้นคิดว่าคงต้องรอให้กรอบของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชัดก่อนว่ามีข้อเสนออะไร กลไกที่จะมาทำงานเรื่องนี้คืออะไร ใครเป็นผู้ดำเนินการ 

@ รอความชัดเจนจากกมธ.ยกร่างฯ

เมื่อถามอีกว่า แกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดอุดรธานี เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมหรือการปรองดองเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ย้อนไปดูว่าปัญหาของโจทย์เรื่องนิรโทษกรรมซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งครั้งนี้ แต่ที่ฟังขณะนี้มุ่งไปที่เรื่องอภัยโทษมากกว่า เป็นแนวทางที่แตกต่างก็ต้องรับฟังว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ว่าหากไม่มีการพูดคุยกัน ระหว่างนายกฯกับคู่ขัดแย้งอาจทำให้การรัฐประหารเสียของนั้น คิดว่าหัวหน้า คสช.พูดชัดอยู่แล้วว่าต้องการที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ท่านก็ทราบดีอยู่ เพียงแต่การจะไปบอกให้ใช้อำนาจพิเศษทันทีโดยไม่มีความชัดเจนในเชิงกรอบความคิดคงจะไม่ได้และเรื่องนี้มีการมอบหมายให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นควรจะรอความชัดเจนก่อน

ด้านนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวว่า การพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อนไทย (พท.) หรือเจรจาเพื่อรับทราบความต้องการนั้นทำได้ แต่การจะไปเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เห็นด้วยแน่ เพราะเป็นมองข้ามกฎหมายไทยไปให้ความสำคัญกับนักโทษหนีคดี เจ้าพนักงานก็จะต้องมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะถูกกล่าวโทษไปด้วย จะตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติเพื่อความสงบเรียบร้อยในชาติคือเรื่องดี แต่กระบวนการกฎหมายต้องดำเนินอย่างเคร่งครัดถูกต้อง กับเรื่องการปรองดองก็ทำไปพร้อมกันได้ ที่สำคัญ กฎหมายต้องไม่มีการละเว้นโทษ โดยเฉพาะคดีคนโกง เผา และฆ่าคนตาย

@ 'วรชัย'ตอกกลับจะปรองดองอะไร

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พท. ให้สัมภาษณ์กรณีเดียวกันว่า มองตามสถานการณ์ที่เป็นจริง การปรองดองวันนี้ที่นายบวรศักดิ์จะกำหนดให้มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพื่อสร้างบรรยากาศประเทศให้น่าอยู่นั้น เป็นการพูดเพื่อเอาใจฝ่ายประชาธิปไตย พูดให้ต่างชาติเห็นว่าคนที่อยู่ในอำนาจ ณ ตอนนี้ต้องการปรองดอง ต้องการอภัย ต้องการเดินตามโรดแมป ต้องการแก้ปัญหาของประเทศ เป็นการสร้างภาพให้ตัวเองดูดีแต่ความเป็นจริงฝั่ง พท.โดนกระทำตลอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ถูกถอดถอน และจะยังเอาเข้าคุกอีก

"ความเป็นจริงที่กระทำกับพวกเราตลอด ปากพูดแต่ความเป็นจริงมันสวนทางกัน ถามว่าจะปรองดองอะไร ในเมื่อคุณจะเอา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ติดคุก และคดีพวกเราก็โดนฟ้องหมดทุกคดี ป.ป.ช.ก็จะชี้มูลพวกที่แก้รัฐธรรมนูญนี่หรือคือการปรองดอง หลอกลวงโกหกทั้งนั้นที่จะมาแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ ถ้าจะปรองดองต้องเริ่มต้นตั้งแต่การยึดอำนาจแล้ว แต่พอยึดอำนาจก็มาไล่ล่าพวกเราฝ่ายประชาธิปไตย โดนต้อน โดนเข้าคุก โดนถอดถอน มากระทืบกันอยู่ทุกวันจะให้ปรองดองกันได้อย่างไร ตั้ง ส.ว.มีอำนาจล้นฟ้าประชาชนจะมีอำนาจอะไร รัฐธรรมนูญที่ออกมาประชาชนจะยอมรับหรือไม่ ความขัดแย้งรอบใหม่ต้องเกิดขึ้นหนักจากวิกฤตรัฐธรรมนูญที่ทำๆ กันอยู่" นายวรชัยกล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณเจรจากับ พล.อ.ประยุทธ์จะปรองดองสำเร็จหรือไม่ นายวรชัยกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่ตัวปัญหา เพราะถูกกระทำตลอดเวลา ถูกกระบวนการที่มีอำนาจกลไกของประเทศไม่ว่าใครก็ตามจ้องทำลาย 

@ 'สมบัติ'หนุนตั้งกก.ปรองดอง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิก สปช.ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติว่า เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะในภาค 4 ของรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนถึงหลักการสร้างความปรองดอง จึงควรมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูแล เพราะเรื่องความขัดแย้งยังคงมีอยู่ แม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้วปัญหาความขัดแย้งก็น่าจะยังอยู่ต่อเนื่อง 

นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนการจะเชิญคู่ขัดแย้งยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ส่วนกรณีการให้คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติเสนอให้ยกร่างกฎหมายอภัยโทษได้นั้น การอภัยโทษเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ หากจะมีการเสนอออกกฎหมายก็ต้องเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การอภัยโทษ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ

นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า เห็นด้วยหลักการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เบื้องต้นควรมีหน้าที่ในการนำคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาพูดคุยหาทางออกกัน ส่วนการออกกฎหมายอภัยโทษนั้น เห็นว่า กลุ่มเป้าหมายหลักที่ควรได้รับการอภัยโทษคือ ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมการชุมนุม และยังถูกคุมขังอยู่ มีความจำเป็นต้องให้พ้นโทษก่อน ส่วนระดับแกนนำคงต้องหารือให้ตกผลึกก่อน 

@ ไก่อูเชื่อภาพลักษณ์ปท.ไม่เสียหาย

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมการทำกิจกรรม "การเลือกตั้งที่(รัก)ลัก" ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ Resistant citizen ว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลและ คสช.เสียหาย หากไม่มีการจับกุมจะให้รัฐบาลทำอย่างไร รัฐบาลและ คสช.ต่างดูแลความสงบในภาพรวมด้วยความแนบเนียนและเข้าใจการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างดี เรื่องใดไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก เจ้าหน้าที่ไม่ติดใจและปล่อยไปอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นเรื่องเล็กน้อยอาจเป็นปมประเด็นความขัดแย้งได้ 

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า แม้รัฐบาลเป็นห่วงการทำกิจกรรมของนักศึกษาแต่ไม่ถึงขั้นหนักใจ เชื่อว่ารัฐบาลและ คสช.บริหารจัดการเรื่องนี้ได้ ไม่ได้เอาความต้องการของนานาประเทศมาเป็นลำดับแรก แต่ความต้องการของคนในชาติมาก่อน

@ 'เอนก'ยังไม่เคาะชื่อคณะปรองดองฯ

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบหมวดการปรองดอง กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติว่า เบื้องต้นยังเป็นเพียงร่างบทบัญญัติอยู่ในหมวดการปรองดอง จะเสนอเข้าที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการชุดนี้มี 14 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน มีคุณสมบัติไม่ฝักใฝ่การเมืองหรือพรรคการเมืองฝ่ายใด สังคมยอมรับ มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งและการสร้างสันติสุข จากนั้นคณะกรรมการที่ได้รับคัดเลือกมาแล้วทั้ง 9 คนจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่อยู่ในฝ่ายคู่ขัดแย้งอีก 5 คน รวมเป็น 14 คน 

"มีอำนาจหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง รวมทั้งเสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ และเสนอมาตรการทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมเข้าสู่รัฐสภาได้ มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน 5 ปี แต่หากอยากให้คณะกรรมการชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปต้องทำประชามติถามประชาชนเพื่อต่ออายุการทำงานออกไปอีก 5 ปี" นายเอนกกล่าว 

@ ยันไม่ใช่นิรโทษฉบับสุดซอย

นายเอนกกล่าวว่า เงื่อนไขการนิรโทษกรรมและการอภัยโทษยังไม่ได้ลงรายละเอียดจะเป็นแบบใด มองว่าต้องอิงตามหลักกระบวนการยุติธรรมเดิมด้วย ตามหลักต้องมีการลงโทษก่อน แม้จะอภัยโทษแล้วยังต้องถือว่าโทษนั้นยังอยู่จนกว่าจะมีการออก พ.ร.บ.ล้างมลทิน แต่ถ้าเป็นการนิรโทษกรรมไม่จำเป็นต้องรับโทษก็ได้ คณะกรรมการจะพิจารณาว่าควรเป็นแนวทางใด ยืนยันว่าครั้งนี้ไม่ได้เป็นนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยแบบที่หลายฝ่ายวิตก 

นายเอนกกล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอให้ พล.ประยุทธ์ไปพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนตัวเห็นด้วยและเห็นว่าควรพูดคุยกับฝ่ายอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส. นปช. หรือ ปชป. พท. โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณก็น่าจะต้องคุย แต่จะคุยอย่างไรยังไม่ทราบวิธีการ อาจจะผ่านตัวแทนก็ได้ จากที่ได้ไปพูดคุยกับหลายฝ่าย เกือบจะทุกฝ่ายเสนอว่าควรให้มาคุยกัน ข้อเสนอนี้รัฐบาลควรนำไปพิจารณา

เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษจะหมายรวมถึงผู้สั่งการด้วยหรือไม่ นายเอนกกล่าวว่า เท่าที่เคยพูดคุยกับ นปช.ก็ระบุว่าอาจไม่จำเป็นต้องรวมถึงแกนนำ เมื่อถามว่า ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 คนจะมีที่มาอย่างไร และใครจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ นายเอนกกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด ยังไม่มีการระบุชื่อ คงต้องรอการพิจารณาจากที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯก่อนว่าจะกำหนดอย่างไร 

@ 'วิษณุ'เห็นด้วยตั้งคณะปรองดอง

เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด หลักการโดยรวมถือว่าใช้ได้เพราะในที่สุดต้องมีคนมาดูแลรับผิดชอบ คำว่าปรองดองไม่ใช่เรื่องที่ทำเฉพาะกับคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันในอดีต ต้องคิดเผื่อไปถึงความขัดแย้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

"ที่บอกว่าคณะกรรมการดังกล่าวเสนอนิรโทษกรรมและออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เรื่องนี้หากเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้ดำเนินการต่อถือว่ารับได้ และหากจะให้คณะกรรมการชุดนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ได้เอง ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ แต่ที่พูดไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพราะเป็นของใหม่ ขอดูรายละเอียดข้อดี-ข้อเสียของร่างดังกล่าวก่อนที่จะให้ความเห็นต่อไป" นายวิษณุกล่าว 

เมื่อถามกรณี สปช.เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อยุติปัญหาและสร้างความปรองดอง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ ใครจะบอกให้หัวหน้ารัฐบาลไปคุยกับใคร หรือให้ใครมาคุยกับหัวหน้ารัฐบาลนั้น คนนอกสามารถพูดได้ แต่คนในรัฐบาลให้ความเห็นไม่ได้ และไม่ควรให้ความเห็นใดๆ

@ ชี้'ปู'ขอไปตปท.ต้องขอศาล-คสช.

นายวิษณุกล่าวกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีจำนำข้าวและยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วนั้น ว่า เรื่องไปอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลฎีกาฯแล้ว การขอออกนอกประเทศต้องขอที่ศาลฎีกาฯ แต่หากมีชื่ออยู่ในคำสั่ง คสช.ที่ต้องขออนุญาตไปต่างประเทศ ต้องขออนุญาตทั้ง 2 กรณี เวลา คสช.พิจารณาจะใช้เกณฑ์ตามกฎอัยการศึก ส่วนศาลจะพิจารณาจาก 2 ข้อคือ 1.มีเหตุที่จะหลบหนีหรือไม่ และ 2.จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ แต่ คสช.อาจพิจารณามากกว่าศาลหรือเท่ากันก็ได้ เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้ หาก คสช.อนุญาต แต่ศาลไม่อนุญาต ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน ศาลหรือ คสช.คนใดคนหนึ่งเบรกก็ไปไม่ได้ทั้งนั้น

@ ถกหลักการใหม่ระบอบการเมือง

เมื่อเวลา 08.30 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมจัดงานสัมมนาเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" โดยมี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง คณะอนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สปช. สถาบันพระปกเกล้า สมาชิกพรรคการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคมาตุภูมิ (มภ.) และพรรคการเมืองพรรคเล็กรวมทั้งหมด 37 พรรคการเมืองเข้าร่วมสัมมนา

@ แจงระบบเลือกตั้งแบบใหม่

ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายหัวข้อ "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ว่าต้องปรับระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ให้สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย เบื้องต้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.มีจำนวน 450 คน ไม่เกิน 470 คน มาจากแบบแบ่งเขต 250 คน เฉลี่ย ส.ส. 1 คนต่อประชาชน 260,000 คน ส่วนแบบบัญชีรายชื่อมี 200 คน แต่ไม่เกิน 220 คน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคกลางด้านตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉลี่ยแต่ละภาคแล้วพรรคการเมืองจะสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้เฉลี่ยภาคละ 32-34 คน

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การนำระบบสัดส่วนแบบผสมมาใช้จะไม่ทำการปัดเศษทิ้งเหมือนประเทศเยอรมนี ที่กำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำจะถูกนำมาคิดไว้ที่ร้อยละ 5 เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองมีที่ยืนในสภา โดยเฉพาะพรรคเล็กไม่สามารถลงแข่งขันแบบแบ่งเขตได้ หมายความว่า หากพรรคเล็กได้เสียงแบบบัญชีรายชื่อถึง 6-7 หมื่นเสียง จะมีที่นั่งในสภาได้ 1-2 คน ส่วนปัญหาการนับคะแนนแบบสัดส่วนมีอยู่ว่าที่สุดแล้วต้องไม่เกิน 220 คน หากเกินมาก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องทำหน้าที่ "ลดทอน" สัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรคลงมาให้อยู่ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

@ ที่มา200ส.ว.ไม่ต้องเลือกตั้ง

"ส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง กมธ.ยกร่างฯก็ยังมีการหารือเบื้องต้น เห็นว่าจะตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยกระทำการทุจริตการเลือกตั้งหรือต้องคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งถัดไปได้ สำหรับสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เบื้องต้นมองว่าจะให้มี 200 คน ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะเราเห็นว่าฐานเสียงของ ส.ว.นั้นเป็นฐานเสียงเดียวกับ ส.ส. โดยแนวทางที่วางไว้คือจะมี ส.ว. 100 คนมาจากการเลือกกันเอง และอีก 100 คนมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมในแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ได้วุฒิสภาคือผู้ทรงคุณวุฒิอย่างแท้จริง" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

@ พท.จี้ทบทวนส.ส.ไม่สังกัดพรรค

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการเลขาธิการ พท. กล่าวถึงการเข้าร่วมสัมมนาของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของ พท. นายสามารถ แก้วมีชัย เป็นผู้เสนอแนะต่างๆ แต่ในช่วงสอบถาม ตนเสนอไป 3 ข้อ คือ 1.อยากให้ทบทวนเรื่อง ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง และนายกฯในภาวะวิกฤตไม่ต้องมาจาก ส.ส.ก็ได้ มองว่าถอยหลังเข้าคลอง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ความเห็นของตนตรงกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานที่ปรึกษา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.ได้เสนอไปว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้ง ถ้ามาจากการสรรหา ใครคือผู้สรรหา ต้องทำให้เป็นธรรม ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ และ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาไม่ควรมีอำนาจในการถอดถอน มีหน้าที่เพียงกลั่นกรองกฎหมายเป็นหลัก 3.การห้ามหรือบัญญัติไม่ให้นายกฯหรือ ครม.แต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวง หากเป็นเช่นนี้ประเทศไทยคงเป็นประเทศเดียวในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถแต่งตั้งปลัดกระทรวงได้ 

@ เริ่มถกหมวด'ปฏิรูปปรองดอง'

ขณะเดียวกัน มีการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเวลา 10.15 น. ที่รัฐสภา โดยมี นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา วันนี้เป็นการเริ่มพิจารณาภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง เป็นภาคที่กำหนดขึ้นใหม่ โดยก่อนเข้าสู่การประชุม นพ.กระแสขอให้สมาชิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไปร่วมจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ จ.อุดรธานีได้รายงานผลให้รับทราบ 

นายประชา เตรัตน์ กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ จ.อุดรธานี ประชาชนตื่นตัวมาก โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง เห็นได้ชัดว่าคนไม่รู้หนังสือ ไม่มีการศึกษายังสามารถมาทำงานเป็นผู้นำภาคพลเมืองได้ ไม่แพ้คนที่เรียนหนังสือระดับสูงเลย 

นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวด้วยว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นที่ จ.อุดรธานี ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การปาฐกถา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!