WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8847 ข่าวสดรายวัน


ประยุทธ์ เมินสปช. ไม่ถกแม้ว 
ทักษิณขอคุยคนมีอำนาจจริง'กมธ.'เคาะแล้วกก.ปรองดอง ปปช.ตรวจบัญชี 5 รมต.ไร้พิรุธ ยกคดีเผารถทัวร์นปช.หน้าราม

      'บิ๊กตู่'ปัดคุยแม้ว ลั่นทำไม่ได้'บิ๊กป้อม'ให้สปช.ไปคุยเองเลย ด้าน'ทักษิณ'พร้อมเจรจา อยากเห็นบ้านเมืองสงบ แต่ขอพูดกับผู้มีอำนาจตัวจริง กลัวถูกหลอกอีก 'บิ๊กโด่ง'หวัง'ฮิวแมนไรต์'เข้าใจ ยันธรรมนูญศาลทหารไม่ละเมิด 'วิษณุ-พรเพชร'ดาหน้าอุ้ม ชี้พลเรือนขึ้นศาลทหารเพราะอัยการศึก กมธ.ยกร่างสัมมนา 43 พรรคการเมือง แจง 13 หลักใหม่สร้างการเมืองโปร่งใส เลือกตั้งแบบสัดส่วน ส.ว.ใช้เลือกทางอ้อม ชทพ.ติงกำลังสร้างปัญหาใหม่ 'ป.ป.ช.'ส่งคดีบุญทรงให้อสส.แล้ว

 

บิ๊กตู่สวน'สปช.'ให้คุยแม้ว

      เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับสื่อมวลชนทำเนียบ ที่โรงอาหารตึกบัญชาการ 1 ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการหลังปิดปรับปรุงมากว่า 3 เดือน โดยกล่าวชื่นชมว่าทำได้ดีขึ้น

    จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้นายกฯพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเพื่อสร้างความปรองดองในชาติว่า เขามีอำนาจอะไรมาบังคับตน แล้วมีการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายหรือไม่ อย่าลืมว่าวันนี้พ.ต.ท.ทักษิณมีคดีติดตัวอยู่ แล้วตนจะไปพูดด้วยได้หรือไม่ ต้องคิดดูตรงนี้ ไม่ว่าใครไปก็ผิดทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ถ้าใครอยากปรองดองก็กลับประเทศเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งตนพูดมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าใครก็เหมือนกันทุกคน ผิดกฎหมายตรงไหน ขอให้กลับเข้ามาสู่กลไกและกระบวนการยุติธรรม

ลั่นคุยกับคนมีคดีไม่ได้

     เมื่อถามว่าแสดงว่าผู้ที่หลบหนีคดี หากจะเรียกร้องหรือขออะไรจากรัฐบาลจะต้องกลับเข้ามาประเทศใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องถามคนไทยทั้งประเทศว่าอย่างไร แล้วหาคำตอบมา ถ้ายกเลิกสิ่งที่ทำผิดกฎหมายทั้งหมดแล้วประเทศไทยจะทำอย่างไรต่อไป ในข้อเท็จจริงผิดหรือไม่ผิดก็ว่ากันตามหลักฐาน ต้องดูว่าการตัดสินคดีความทั้งหมดอย่างไร มีผลย้อนหลังทั้งหมดหรือไม่ หรือทุกคดีจะให้นิรโทษกรรมทั้งหมด เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ต้องตั้งหลักของเราให้ได้ก่อน แก้ปัญหาประเทศ ดูแลประชาชนวางรากฐานเตรียมเลือกตั้ง ส่วนการจะย้อนไปเรื่องนิรโทษกรรม เดี๋ยวค่อยว่ากัน ถ้าทำได้ก็ไปว่ากันมา "แต่ส่วนตัวผมจะให้ไปพูดอะไรกับใครที่มีคดีความอยู่ มันไม่ได้เพราะผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ" 

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า อย่าลืมว่าตนเข้ามาครั้งนี้เพื่อหยุดปัญหารุนแรงที่จะเกิดขึ้นและมาเพื่อเดินหน้าประเทศ ซึ่งมันยังเดินไม่ได้ ถือเป็นหน้าที่ของตน ส่วนเรื่องคดีความ ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ไปว่ากัน ถ้ากระบวนการยุติธรรมระบุว่าทำอย่างที่เสนอได้ก็ต้องทำให้เป็นเรื่องราว ส่งมาให้ตนเพื่อรับทราบว่าทำได้หรือไม่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ จะมาตกลงกันเอง มันไม่ได้ทุกอย่าง ต้องมีเหตุและผล ทำงานต้องมีหลักการ

     "ไม่ได้ปิดประตูตาย ประตูยังเปิดอยู่สำหรับคนที่ทำถูกต้อง ผมก็เปิดทั้งหมด ถ้ายังไม่ถูกก็ต้องทำให้ถูก ผมยินดีเปิดรับแต่ถ้าทำไม่ถูกขั้นตอนว่าอย่างไรก็ต้องทำตามขั้นตอนนั้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เตือนน.ศ.อย่าตกเป็นเครื่องมือ

     เมื่อถามถึงกรณีนักศึกษาออกมาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากฝากน้องๆ หลานๆ ว่าอย่าตกเป็นเครื่องมือใคร อย่าลืมว่าคนที่นำมาเคลื่อนไหวเขาต้องการอะไร กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการขยายความขัดแย้ง กับคสช. ถามว่าวันนี้เลือกตั้งได้หรือยัง สมมติว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วจะเลือกตั้งได้หรือไม่ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าสถานการณ์เบาลงหรือลดลง ใครที่ทำผิดกฎหมายก็กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันก็ไม่ทะเลาะกัน แต่ถ้าทำไม่ได้วันข้างหน้าก็ทะเลาะกันอีก ตนไม่รู้จะทำอย่างไร

      "การเมืองก็เป็นการเมืองแต่อย่าเอาการเมืองกับการดูแลประชาชนมาปนกัน มันไม่ได้ เราต้องดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะรื้อหรือแตะอะไรก็มีปัญหาหมดทุกเรื่องที่ทำ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปหาเรื่องทำรื้อตรงนี้ปรับตรงนั้น เหนื่อยหนำซ้ำยังถูกด่าทุกเรื่องแต่ถ้าไม่ทำ น่าจะเละกว่านี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

      เมื่อถามว่า การเมืองไทยวันนี้ยังผูกติดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็อย่าไปสนใจ สื่ออย่าไปเขียนให้เขา อะไรที่มันผิดอย่าไปเขียนต่อ สื่อต้องก้าวให้ข้าม ส่วนผมก้าวข้ามมานานแล้ว" 

โยน'สปช.'รับฟังข้อเสนอ

      ที่บ้านเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหมกล่าวกรณีฮิวแมนไรต์วอตช์ คัดค้านการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญทหาร ว่า ตนไม่กังวล ถือเป็นความคิดของเขาในส่วนของเรา สนช.ก็ดำเนินการไป ส่วนนักการเมืองถ้าอยากจะแสดงความคิดเห็นก็ไปเลยที่ สปช. ไม่มีใครห้าม อย่ามาตะโกนปาวๆ มันไม่ใช่เรื่อง อยากให้ทำอะไรก็ไปบอกเขาได้เลย เราพร้อมสนับสนุนเพื่อให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นผ่านทาง สปช. เพราะเปิดเวทีให้มากมาย ส่วนกรณีนายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ เสนอให้ปฏิรูปกองทัพ โดยให้ยุบกองบัญชาการกองทัพไทย ก็ให้ไปเสนอที่สปช. กองทัพมีแผนงานที่จะทำเหมือนกันและจะนำเข้าสู่สภาปฏิรูปเหมือนกัน สื่อเองก็เสนอได้เช่นกันอยากเสนออะไรใน สปช.ก็เสนอไป มีเวทีอยู่แล้ว ตามสบาย

      เมื่อถามว่า ทุกฝ่ายออกมากดดันรัฐบาลและ คสช. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เคยรู้สึกกดดันและไม่เคยคิดว่ามีการกดดัน เราอยากให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นใน สปช. และไม่ใช่ว่าออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรและเรียกมาคุย เพียงแต่เราดูว่าอะไรที่มันเกินเลยไปจนเกิดความไม่ปรองดองถึงจะเรียก ส่วนกรณีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับออกมาเคลื่อนไหวที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯนั้น ก็อยากทำความเข้าใจให้ไปคุยกันที่ สปช. เพราะมีหลายเวทีไปพูดจากัน ไม่พอใจเรื่องอะไรก็ไปคุยกัน แต่การเคลื่อนนอกเวทีถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เรามีเวทีให้อยู่แล้วไม่จำเป็นจะต้องไปเปิดใหม่ ถ้าอะไรที่ผิดกฎหมายก็ไปทำให้ถูกกฎหมาย การจะเคลื่อนไหวนอกเวที คงไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย 

บิ๊กป้อมให้"สปช."คุยแม้วเอง

       พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงข้อเสนอให้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า สปช.ก็ดำเนินการไปเองเลย ทางเราก็พร้อม ทางพล.อ.ประยุทธ์ ก็พูดตลอดเวลา ให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาประเทศ ไทยได้เลย นายกฯไม่ว่าอะไรเลย เป็นเรื่องของทางสปช. ทำอย่างไรให้ไปสู่การปรองดองได้เชิญเลย หากต้องให้นายกฯไปคุยกับพ.ต.ท. ทักษิณ ตนว่ามันไม่ใช่หน้าที่ ท่านนายกฯเปรียบเสมือนข้าราชการที่ดูแลในเรื่องของกฎหมาย อะไรที่ผิดกฎหมายก็ทำไม่ได้ เพราะขณะนี้ทางพ.ต.ท.ทักษิณก็มีคดีความอยู่ เรื่องนี้ สปช.เป็นผู้เสนอแนะก็ให้ไปทำมา คิดอะไรได้ก็ไปทำมา เพราะสปช. มีหน้าที่ทำให้เกิดความปรองดองเพื่อไปสู่การปฏิรูปในทุกเรื่อง 

       เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เคยส่งสัญญาณการพูดคุยมายังพล.อ.ประวิตร บ้างหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่เคยได้รับสัญญาณอะไรและไม่เคยเจอกับ พ.ต.ท.ทักษิณ 

บิ๊กโด่งหวัง"ฮิวแมนไรต์"เข้าใจ

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ กังวลกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เพิ่มอำนาจทหารให้ควบคุมตัวได้นานถึง 84 วันว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ทำให้ทหารมีอำนาจเกินขอบเขต แต่ทำให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ที่จำเป็น หรือนอกเหนือจากในพื้นที่ศาลทั่วไปให้มีอำนาจในพื้นที่นั้นอยู่ เช่น ผู้บังคับการเรือจะนำเรือออกไปกลางทะเลในระยะไกลและเข้าไปในเขตนอกน่านน้ำ เพื่อปฏิบัติภารกิจในขบวนเรือ ขณะนี้กฎหมายมิได้ครอบคลุมชัดเจนที่จะให้อำนาจการควบคุมตัวผู้กระทำความผิดบนเรือลำนั้นๆ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมตัวที่ถูกต้อง กำหนดข้อกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น ขอย้ำว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งกำลังพลก็มีกฎหมายอยู่แล้วแต่จะให้มีความชัดเจน ขอให้เข้าใจตรงกัน

เมื่อถามว่าทหารจะเชิญฮิวแมนไรต์วอตช์ มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ต้องดูก่อนเพราะเราชี้แจงไปแล้ว ถ้าเข้าใจก็จบไป ไม่จำเป็นต้องชี้แจง แต่อะไรที่ไม่เข้าใจเราพยายามสื่อให้เข้าใจ คิดว่าถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว คนส่วนน้อยก็ต้องพยายามทำความเข้าใจด้วย ถ้าไม่มีความเข้าใจก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงๆ แล้วเราจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายอีกหลายอย่าง กฎหมายทางทหารบางอย่างไม่ทันสมัย ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2490 จึงจำเป็นต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น

ชี้ 4 พลเมือง-เตือนแล้วไม่ฟัง

พล.อ.อุดมเดชกล่าวถึงเจ้าหน้าที่จับ 4 แกนนำกลุ่มกิจกรรมพลเมืองโต้กลับ Resistant citizen ในงานเลือกตั้งที่รัก (ลัก) ว่า ทหาร ไม่ได้เป็นคนควบคุมตัว แต่ดำเนินการตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตักเตือน ขอร้องทำความเข้าใจว่าอย่าทำ สิ่งใดที่อยู่นอกกรอบกฎหมายก็จะดำเนินการตามกฎหมาย แต่จะไม่ดำเนินการทันที ตนได้ติดตามสถานการณ์ตลอด ไม่ใช่เพิ่งเริ่มเกิดเหตุการณ์ แล้วตำรวจจะเข้าไปจับกุม เท่าที่ทราบ เจ้าหน้าที่เตือนหลายครั้งแล้ว ถ้าเตือนแล้วไม่ทำตามกรอบกฎหมายก็จำเป็นต้องทำตามกฎหมาย และถ้ายังเคลื่อนไหวต่อไปอีก คงต้องดำเนินการตามกฎหมาย

"การแสดงออกนั้น รัฐบาลมีเวทีแสดง ออกที่ถูกต้อง ทุกคนทราบดีและส่งความคิดเห็นใดๆก็ได้ ต้องเป็นไปตามนั้น อาจจะแสดงออกได้บ้าง แต่คงไม่ใช่ทุกอย่าง สิ่งใดที่เกินกรอบกฎหมาย รวมกลุ่มกันมากเกินไป เราจะเข้าไปเตือน ส่วนผู้ที่กระทำต้องรับฟังและปฏิบัติตาม ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย" ผบ.ทบ.กล่าว 

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า คิดว่าคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจ อยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่มีบางส่วนที่เคลื่อนไหว ขอฝากว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ช่วยไปตักเตือนกัน บ้านเมืองจะได้สงบ เดินหน้าสู่เป้าหมายที่ทุกคนต้องการ ตามที่ คสช.กำหนด ซึ่งตนก็มีส่วนเกี่ยวข้องตามโรดแม็ปด้วย จะดำเนินการให้ดีที่สุด 

ยันใช้อัยการศึกเท่าที่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดรับกับแถลงการณ์ของอียู ให้รัฐบาลและคสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น แต่จะใช้ตามความจำเป็นจริงๆ ตอนนี้คงไม่ใช้ โดยใช้แค่กฎหมายปกติก็พอแล้ว ส่วนการแสดงออกดังกล่าวเพื่อยั่วยุให้ทหารใช้ความรุนแรงนั้น ตนจะตีความแบบนั้นไม่ได้ เราต้องคิดว่าทุกคนมีความบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องชี้แจงกันไป คิดว่าผู้ที่มีเจตนาไม่ดีและมีสิ่งใดแอบแฝงอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้ดีว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อน ไหวคิดเช่นใด

เมื่อถามถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. นัดเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพื่อให้การปรองดองสำเร็จ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เป็นข้อคิดเห็นของบางคนถึงผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ตนไม่สามารถตอบแทนได้ เมื่อมีข้อคิดเห็นคงรับไว้พิจารณา แต่ความชัดเจน ตนยังตอบไม่ได้

พรเพชรอุ้มธรรมนูญศาลทหาร

ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งออกมาคัดค้านการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และเรียกร้องให้สนช.หยุดการพิจารณากฎหมายดังกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิบุคคลใด และไม่ได้เพิ่มอำนาจให้ศาลทหารในการดำเนินการละเมิดสิทธิบุคคลเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับปรุงกฎหมายศาลทหารบางเรื่อง เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องหาของศาลทหาร ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไป เช่น การให้ศาลตั้งทนายให้กับจำเลย โดยไม่ต้องไต่สวนว่าจำเลยยากจนหรือไม่ การไม่ให้ศาลทหารพิพากษาเกินคำฟ้อง การเพิ่มระยะเวลาอุทธรณ์และฎีกา จาก 15 วัน เป็น 30 วัน จึงเป็นการยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่มีประเด็นที่กระทบกับสิทธิของจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีที่ขึ้นศาลทหาร 

นายพรเพชรกล่าวต่อว่า ดังนั้นส่วนที่เป็นปัญหาจึงไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นผลจากกฎอัยการศึก ที่ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติจึงต้องมีบทบัญญัติให้คดีบางประเภทต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยดำเนินการมาแล้วหลายครั้งในอดีต 

ชี้ขึ้นศาลทหารเพราะอัยการศึก

นายพรเพชรกล่าวอีกว่า การขึ้นศาลทหารยุคคสช.เกิดขึ้นหลังจากบ้านเมืองไม่สงบ เมื่อยึดอำนาจและประกาศโรดแม็ปชัดเจน คสช.จึงต้องมีเครื่องมือและกฎหมาย ซึ่งคสช.ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนกฎอัยการศึกถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คสช.เห็นว่าจำเป็น และแม้ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาทั่วไป แต่คสช.ได้ออกคำสั่งให้คดีที่ต้องขึ้นศาลทหารมีเพียง 2 ประเภท คือ คดีหมิ่นสถาบัน และคดีความมั่นคงที่ขัดคำสั่งคสช. ซึ่งต่างจากอดีตที่คดีอาญาจำนวนมากต้องขึ้นศาลทหาร สะท้อนให้เห็นว่าการคงกฎอัยการศึกและการมีศาลทหารก็จำกัดประเภทคดี และมีผู้ฝ่าฝืนจำนวนไม่มาก 

นายพรเพชรกล่าวว่า ทั้งนี้ศาลทหารมีหลักการที่ต้องปฏิบัติ เช่น การควบคุมตัวผู้ต้องหาทำได้สูงสุด 84 วัน ในกระบวนการมีทนาย ความให้ประกันและปล่อยตัวชั่วคราว โดยรวมจึงสรุปได้ว่าเครื่องมือหรือกฎหมายที่คสช.ใช้ เป็นการใช้อย่างมีขอบเขต และเป็นไปด้วยความประนีประนอมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ในอนาคต คือการสร้างความปรองดองและการเลือกตั้ง

อู้อี้เพิ่มอำนาจ

เมื่อถามว่าต่างชาติมองว่าการกำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารทำให้ทหารมีอำนาจมากขึ้น นายพรเพชรกล่าวว่า หากจะดูเพียงบริบทของกฎหมาย ถือว่ามีอำนาจมากมาย แต่ในทางปฏิบัติมีการจำกัดอำนาจการนำคดีขึ้นสู่ศาลทหารเพียงไม่กี่ประเภท และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำคดีเหล่านี้ เพราะไม่ใช่คดีอาญาโดยทั่วไปที่คนจะทำผิด

เมื่อถามว่า ควรคงกฎอัยการศึกจนถึงการเลือกตั้งหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า กฎอัยการศึกจะคงไว้อย่างน้อย เมื่อคสช.เห็นว่าสังคมเรียบร้อยเกิดความเข้าใจไม่มีความขัดแย้ง ส่วนนานที่สุดคงไว้ถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอตั้งกรรมการปรองดองแห่งชาตินั้น ขอศึกษารายละเอียดก่อน

วิษณุชี้"อียู"ระแวงศาลทหาร

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการขออนุญาตออกนอกประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า เมื่อเรื่องอยู่ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องขอที่ศาลฎีกาฯ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีชื่ออยู่ในคำสั่งคสช. ต้องขออนุญาตเวลาไปต่างประเทศ จึงต้องขอทั้งศาลและคสช. เวลาคสช.พิจารณาจะใช้เกณฑ์ตามกฎอัยการศึก ส่วนศาลจะพิจารณาจาก 2 เหตุผลคือ 1.มีเหตุจะหลบหนีหรือไม่ และ 2.จะไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือไม่ เป็นคนละส่วนกัน สมมติว่าศาลอนุญาต สุดท้ายจะได้ไปหรือไม่ ต้องมาขอคสช.อีกอยู่ดี หากคสช.อนุญาตแต่ศาลไม่อนุญาตก็ไปไม่ได้เหมือนกัน 

นายวิษณุกล่าวถึงสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย คัดค้านร่างแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เนื่องจากให้อำนาจทหารมากเกินไปว่า การแก้ไข พ.ร.บ.นี้เขาคิดมา 10 ปีแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไข ตอนที่คสช.เข้ามา ยังเคยเสนอออกเป็นประกาศคสช. แต่ตนกับพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคสช.ในตอนนั้นเห็นว่าปล่อยให้ สนช.พิจารณาจะดีกว่า เพราะอาจมีบางอย่างหลุดหูหลุดตา ศาลทหารตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องระหว่างทหารกับทหาร หรือทหารเป็นผู้กระทำผิด ยกเว้นมีประกาศกฎอัยการศึกและมีคำสั่งให้ศาลทหารไปพิจารณาบางคดีของพลเรือนได้ คดีนั้นจะขึ้นศาลทหาร เวลาปกติที่ไม่ใช้กฎอัยการศึก เมื่อทหารกระทำผิดร่วมกับพลเรือน ทหารต้องขึ้นศาลพลเรือน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง พอออกมาก็หวาดระแวงกันไปหมด

โอเคข้อเสนอ"ปรองดอง"

นายวิษณุกล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯเสนอให้ตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่หลักการโดยรวมถือว่าใช้ได้ เพราะต้องมีคนมาดูแลรับผิดชอบ คำว่าปรองดองไม่ใช่เรื่องทำเฉพาะคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันในอดีต ต้องคิดเผื่อถึงความขัดแย้งใหม่ในอนาคต ซึ่งกรรมการชุดนี้ต้องเข้าไปดูแล ส่วนอำนาจหน้าที่ยังไม่ทราบ เห็นข่าวว่าคณะกรรมการดังกล่าวเสนอให้นิรโทษกรรมและออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เรื่องนี้หากเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อ ถือว่ารับได้ แต่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่หากให้เสนอเข้าสนช.โดยตรง ที่พูดไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เรื่องนี้เป็นของใหม่ ขอดูรายละเอียดและข้อดี-ข้อเสียก่อน และยังไม่รู้ว่านิยามของข้อขัดแย้งคืออะไรและใช้กับเหตุการณ์ใดบ้าง

นายวิษณุยังกล่าวถึงข้อเสนอให้พล.อ. ประยุทธ์ไปคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณว่า ไม่มีความเห็น ใครจะบอกให้หัวหน้ารัฐบาลไปคุยกับใครหรือให้ใครมาคุยกับหัวหน้ารัฐบาลนั้น คนนอกพูดได้ แต่คนในรัฐบาลให้ความเห็นไม่ได้และไม่ควรให้ความเห็นใดๆ

สปช.หนุนตั้งคกก.ปรองดอง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติโดยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วย เพราะในภาค 4 ของรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนถึงหลักการสร้างปรองดอง จึงควรมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ปัญหาขัดแย้งยังคงมีอยู่ แม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว ปัญหาขัดแย้งก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติจะเป็นกลไกช่วยลดความขัดแย้งลงได้ ถือเป็นเรื่องจำเป็นต่อประเทศ เพราะถ้ายังสร้างเอกภาพไม่ได้ หรือแกนนำฝ่ายต่างๆยังขัดแย้งกันอยู่ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 

นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนการเชิญคู่ขัดแย้ง อาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ แกนนำนปช.และแกนนำกปปส. มาหารือกันนั้น เป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่ต้องคุยรายละเอียดกัน ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะเชิญใครมาบ้าง แต่การสร้างความปรองดองจำเป็นต้องทำ ส่วนกรณีให้คณะกรรมการปรองดองฯ เสนอยกร่างกฎหมายอภัยโทษได้นั้น การอภัยโทษเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ หากจะเสนอออกกฎหมายต้องเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การอภัยโทษ ซึ่งการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณารอบคอบ 

ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยเพราะในรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า จะต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น แต่ขอดูรายละเอียดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ก่อน เบื้องต้นควรมีหน้าที่นำคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาพูดคุยหาทางออกกัน ส่วนการออกกฎหมายนิรโทษนั้น เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายหลักที่ควรได้รับการอภัยโทษคือ ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมชุมนุมและยังถูกคุมขังอยู่ จำเป็นต้องให้พ้นโทษก่อน ส่วนระดับแกนนำคงต้องหารือในรายละเอียดให้ตกผลึกก่อน ถ้ายังไม่ตกผลึกให้ชัดเจนแล้วรีบออกกฎหมายอภัยโทษ จะมีปัญหาตามมาแน่นอน 

เอนกแจงแนวทางปรองดอง

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีกมธ.ยกร่างฯ เตรียมตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติเพื่อมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบว่า คาดว่าคณะกรรมการปรองดองจะประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นที่ยอมรับในสังคมและมีประสบ การณ์ในการสร้างสันติสุข ส่วนฝ่ายคู่ขัดแย้ง 5 คนนั้นทางผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 คน จะเป็นผู้คัดเลือกเป็น 14 คน คณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่สร้างความปรองดองในระยะยาว แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทำให้เป็นประชาธิป ไตย ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้บาดหมางกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังเป็นเพียงตัวร่างที่เตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ เท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาแต่อย่างใด

นายเอนกกล่าวว่า กระบวนการสร้างความปรองดองให้เกิดความสำเร็จนั้นทุกคนต้องหันหน้าคุยกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของบ้านเมือง ต้องเชิญทุกฝ่ายมาคุยกัน เนื่องจากทุกคนเชื่อถือและมั่นใจว่ามีอำนาจที่จะทำให้ความขัดแย้งทุเลาคลี่คลายไปสู่สันติวิธีและสันติสุขได้ อีกทั้งเท่าที่ฟังความเห็นจาก ทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะเดินหน้า เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ที่มีอำนาจของบ้านเมืองจะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา ส่วนการออกกฎหมายอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมนั้น คิดว่ารัฐบาลนี้ทำได้แม้เวลาจะน้อย แต่ยืนยันว่าจะไม่ใช่นิรโทษสุดซอย สำหรับข้อเสนอที่ให้พล.อ.ประยุทธ์ไปพูดคุย กับพ.ต.ท.ทักษิณ ตนก็เห็นด้วย เพราะการสร้างความปรองดองควรพูดคุยกับคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกกลุ่ม ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณน่าจะต้องคุยแต่ตอนนี้ยังไม่ทราบวิธีการ อาจผ่านตัวแทนก็ได้ 

พะเยาว์ชี้ต้องยึดประชาชน

นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค 2553 กล่าวกรณีการตั้งคณะกรรมการปรองดองบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า เรื่องดังกล่าวมีการพูดกันในที่ประชุมของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองที่มีนายเอนกเป็นประธาน ตนก็ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในกรรมการด้วย ซึ่งไม่ได้คัดค้านอะไร แต่อยากให้มองในภาพรวมและเรื่องโครงสร้างของประเทศ หากการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีฐานคิดจากความต้องการของประชาชนจริงๆ ก็น่าจะเป็นประ โยชน์ต่อการสร้างความปรองดองกับประเทศ สำหรับองค์ประกอบคณะกรรมการยัง ไม่ทราบรายละเอียดคงต้องรอดู 

นางพะเยาว์กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนอที่อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ไปพูดคุยกับพ.ต.ท. ทักษิณ อย่ามองว่าเป็นแต่เพียงเรื่องของผู้มีอำนาจ เพราะเรื่องการสร้างความปรองดองต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาก็ต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมด้วย

"แม้ว"พร้อมคุยผู้มีอำนาจจริง

แหล่งข่าวคนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ติดตามข่าวสารตลอด และพร้อมเจรจา แต่ 1.ขอให้คนที่มาเจรจามีอำนาจพูดคุยและมีอำนาจตัดสินใจทุกเรื่อง สามารถเห็นผลได้ในเชิงปฏิบัติ อย่างที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณถูกหลอกหลายครั้ง คุยแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ไม่จบจริง จึงอยากให้คนที่มีอำนาจจริงๆ มาพูดคุย 2.ต้องดูเงื่อนไขการพูดคุยเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ 3.หากเจรจาได้ ต้องดูระยะเวลาดำเนินการด้วยว่าเป็นอย่างไร 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่พ.ต.ท. ทักษิณอยากเจรจาด้วยนั้น เนื่องจากอยากเห็นประเทศสงบและเดินหน้าได้ ทุกวันนี้โอกาสของประเทศที่จะก้าวหน้าหายไปเรื่อยๆ หากเป็นเช่นนั้นประชาชนจะลำบาก ทั้งนี้ประเทศ ไทยจะต้องมีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่สองมาตรฐาน อีกทั้งคนที่มีรายได้น้อยจะต้องมีโอกาสและได้รับการดูแล

"ที่ผ่านมามีการพยายามล่อให้พ.ต.ท. ทักษิณออกมาต่อต้าน เพื่อคนที่มีอำนาจจะได้อ้างว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบสุข และคงอำนาจการบริหารออกไป พ.ต.ท.ทักษิณ จึงขออยู่นิ่งๆ ไม่อยากตกหลุมพรางให้ คสช.และรัฐบาลยืดเวลาบริหารประเทศออกไปอีก" แหล่งข่าวระบุ

พท.หวังตั้งด้วยเจตนาบริสุทธิ์

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เห็นด้วยถ้า กมธ.ยกร่างฯทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หวังให้ประเทศชาติเกิดการปรองดองเหมือนในอดีต มีความรักสามัคคี ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ แข่งขันกับนานาประเทศและหวังผลสำเร็จอย่างแท้จริง แต่ถ้าจะตั้งขึ้นมาเพื่อให้สังคมเห็นว่าพยายามแล้ว โดยไม่หวังผลอย่างเป็นรูปธรรม อย่าทำเลยเพราะจะเสียเวลา และสร้างความหวังให้กับประชาชนเปล่าๆ

ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นคร พนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นใจนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง (คศป.) สปช.ที่พูดเรื่องนี้ เพราะตั้งใจทำงาน แต่การจะเขียนเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลทำให้แนว คิดดังกล่าวสำเร็จ การปรองดองจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่อุดมคติของผู้ที่อยู่ในอำนาจว่าจะทำให้การปรองดองออกมาอย่างไร 

มาร์คชี้กมธ.ตีโจทย์ผิด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พูดคุยกับคู่ขัดแย้ง ว่า อยากให้กมธ.ยกร่างฯ ตีโจทย์ให้ชัดว่าปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะไหน ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาเป็นเรื่องการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ จึงต้องแก้ตรงนี้ให้ได้ เข้าใจว่าสัปดาห์นี้กมธ.ยกร่างฯ จะได้ข้อยุติ ส่วนการตั้งคณะกรรม การปรองดองแห่งชาติ ขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่และขอบเขตงานที่ทำคืออะไร 

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีมอบให้ นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคเข้าร่วมสัมมนากับกมธ.ยกร่างฯ ว่า มี 2 ประเด็นที่เราเป็นห่วงคือ 1.โครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารน่าจะสวนทางกับสภาพปัญหาที่ฝ่ายบริหารถูกตรวจสอบได้ยาก เพราะมีบทบัญญัติหลายบทที่เพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร และ 2.การทำให้พรรคขัดแย้งกันเองหรืออ่อนแอไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง 

นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการจะไปเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นการมองข้ามกฎหมายไทย ไปให้ความสำคัญกับนักโทษหนีคดี และพล.อ.ประยุทธ์จะถูกกล่าวโทษไปด้วย ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯ จะตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาตินั้น ตนเห็นว่า การคิดแนวทางปรองดองเพื่อความสงบในชาติ เป็นเรื่องที่ดี แต่กระบวนการกฎหมายต้องดำเนินเคร่งครัดถูกต้อง ทำไปพร้อมกับการสร้างความปรองดองได้ 

จัดถกหลักใหม่การเมือง

ที่รัฐสภา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สปช. ร่วมจัดสัมมนาเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" โดยมีสถาบันพระปกเกล้า และสมาชิกพรรค การเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชา ธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคมาตุภูมิ และพรรคเล็กรวม 43 พรรคเข้าร่วมสัมมนา

โดยนายสุจิต บุญบงการ กมธ.ยกร่างฯ นำเสนอเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" โดยยึดหลักการ 13 ประการ, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ นำเสนอ "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ที่จะใช้การเลือกตั้งแบบสัดส่วนของเยอรมัน ส่วนส.ว.จะใช้การเลือกทางอ้อม 

ปชป.ติงระบบถ่วงดุล

จากนั้นเวลา 10.30 น. ที่ประชุมเปิดให้ตัวแทนพรรคแสดงความคิดเห็นคนละ 5 นาที เริ่มจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ยังมีบางประเด็นอยากให้กมธ.ยกร่างฯ ไปทบทวน คือ ทำอย่างไรให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลมีประสิทธิภาพ ให้พรรคมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ขณะนี้ยังมีประเด็นที่สวนทางกับหลักการดังกล่าว คือการเพิ่มความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหาร เช่น การเลือกตั้งประธานและรองประธานรัฐสภา ได้คะแนนลำดับ 2 และ 3 ได้เป็นรองประธานตามลำดับ เข้าใจว่ากมธ.ยกร่างฯอยากให้ฝ่ายค้านเข้าไปอยู่ด้วย แต่สุดท้ายคนที่ได้เสียงข้างมากจะบล็อกโหวตรองประธาน เพราะฝ่ายค้านจะมีคะแนนเสียงในสภาน้อยตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนการให้ทั้ง 2 สภา คือวุฒิสภาและสภามีอำนาจถอดถอนนักการเมืองนั้น เท่ากับให้แต้มฝ่ายบริหารได้อย่างชัดเจน เพราะสภาเป็นเสียงข้างมากของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ดังนั้นรัฐบาลจะไม่ค่อยมีโอกาสถูกถอดถอน

พท.ชี้ทางปฏิบัติทำได้ยาก

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯ ในทางปฏิบัติจะทำไม่ได้ง่าย จะเห็นว่ามีข้อเสนอตั้งองค์กรใหม่นอกเหนือจากองค์กรอิสระขึ้นมาเยอะ ซึ่งไม่เห็นด้วย อย่างคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและบัญชีทรัพย์สินของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ถือว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ลงสมัครที่อาจถูกตีตกได้ตั้งแต่ชั้นแรก ส่วนสมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่จะมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นมาก อาจทำให้มีปัญหาสังคมแตกแยกขึ้นได้ หากได้คนไม่ดีเข้ามาทำหน้าที่ เข้าใจกมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องการจะออกแบบเครื่องมือการตรวจสอบตามที่รัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ แต่จากข้อเสนอจะตั้งองค์กรใหม่เยอะมากเกินไป เชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์

"ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ไม่ได้ส่งเสริมระบอบพรรค แต่ทำลายพรรคด้วยการทำให้อ่อนแอมากกว่าเดิม ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สามารถลงโดยอิสระ หรือทำในนามคณะบุคคลก็ได้ สิ่งที่น่ากลัวคือการห้ามหาเสียงโดยมิชอบ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร จึงอยากให้จัดทำกติกาที่ทุกคนในบ้านเมืองซึ่งแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ตลอดจนนานาชาติที่ห่วงใย ยอมรับได้ ห้ามมีอคติ และต้องอธิบายได้ทุกมาตราว่าเขียนมาไว้เพื่ออะไร" นายสามารถกล่าว

ชทพ.ซัดกำลังสร้างปัญหาใหม่

ขณะที่นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เช่น การให้อำนาจปลัดกระทรวงทำหน้าที่เลือกกันเองเป็นนายกฯ และครม.รักษาการ แต่ควรให้นายกฯ และครม.รักษาการโดยให้อำนาจกกต.กำกับการใช้อำนาจให้เหมาะสมเหมือนเดิม ส่วนการดูแล ส.ส. ควรเป็นอำนาจของพรรคเหมือนเดิม และส.ส.จำเป็นต้องเคารพมติพรรคเช่นกัน สำหรับคณะกรรมการกรองคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อนเลือกตั้ง แต่กรรมการชุดนี้จะต้องมีความสามารถและเป็นกลางอย่างแท้จริง ทั้งยังต้องกำหนดกรอบเวลาตรวจสอบให้ชัดเจนด้วย 

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า การแก้ไขนี้เหมือนจะแก้ปัญหาในอดีต แต่ความจริงเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เรากำลังมีปัญหาในระบบการเมือง ที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง มีการให้อำนาจทั้ง 2 สภาที่มาจากการแต่งตั้ง แม้จะบอกว่ามีการเลือกตั้งหรือสรรหาโดยอ้อม กำหนดวิธีที่สลับซับซ้อนเกินไป และพยายามลดพรรค รับประกันว่าจะไม่มีพรรคเสียงข้างมาก แต่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 

ชง"รธน."เขียนห้ามปฏิวัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนพรรคเล็กเห็นตรงกันว่า การจัดสัมมนาวันนี้เป็นเพียงละครฉากหนึ่ง ที่เชิญตัวแทนพรรคโดยเฉพาะพรรคเล็กมาเป็นตัวประกอบ หวังว่าทุกความเห็นไม่ว่าของพรรคใหญ่หรือพรรคเล็กควรถูกนำไปใช้ร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้งยังไม่เห็นด้วยในรายละเอียด ที่จะให้ ส.ว.มาจากการสรรหา เพราะผู้ตรวจสอบส.ส.จะต้องมาจากเสียงของประชาชนด้วย ที่สำคัญควรเขียนไว้ในรัฐ ธรรมนูญว่า ห้ามทหารควรปฏิวัติรัฐประหารอีกเด็ดขาด 

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยเริ่มพิจารณาในภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งเป็นภาคที่กำหนดขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมเริ่มพิจารณาประเด็นการปฏิรูปก่อน หลังจากก่อนหน้านี้กมธ.ยกร่างฯ นำความเห็นของกมธ.ปฏิรูปของสปช.ทั้ง 18 คณะ มาพิจารณาว่าแต่ละชุดต้องการให้มีประเด็นใดบ้างถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และคาดว่าวันที่ 18 ก.พ. จะเข้าสู่เรื่องการปรองดอง

ยกร่างคกก.ปรองดอง

จากนั้นช่วงบ่าย กมธ.ยกร่างได้พิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ส่วนที่ 5 ว่าด้วยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมาตรา (4/1/5)1 มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดสรรงบประมาณต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระยะยาวและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่าง สั่งปิดการประชุมเวลา 18.00 น. นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 17 ก.พ. เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาในภาคที่ 4 การปฏิรูปและการปรองดอง หมวดการปฏิรูปด้าน วัฒนธรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านแรงงานและด้านการศึกษา 

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ในการพิจารณาร่างบทบัญญัติรายมาตรา ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ จะมีอายุการทำงาน 5 ปี เว้นแต่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน รัฐสภา หรือ ครม.เสนอให้จัดออกเสียงทำประชามติให้บทบัญญัติภาคนี้ใช้บังคับอยู่ต่อไป ส่วนข้อเสนอการอภัยโทษนั้น ขณะนี้ในกมธ.ยกร่างยังไม่มีการพูดถึง ต้องรอให้ถึงหมวดที่เกี่ยว ข้องก่อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนในการปาฐกถาของนายบวรศักดิ์เท่านั้น

ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุมสปช. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขข้อบังคับการประชุม สปช.แล้ว และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) จากนั้นสิ่งปิดประชุมในเวลา 13.15 น. และงดประชุมในวันที่ 17 ก.พ. เพื่อให้สมาชิกสปช.ไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

รบ.ขายข้าวในสต๊อก7.8พันล้าน

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ครั้งที่ 1/2558 ปริมาณ 9.99 แสนตัน เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา ว่า ได้อนุมัติขายข้าวให้กับผู้เข้าประมูล 38 ราย ปริมาณ 496,243.27 ตัน หรือคิดเป็น 49.64% ของปริมาณที่เปิดประมูลในรอบนี้ โดยคิดเป็นมูลค่า 7,853,375,104 บาท

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า สำหรับปริมาณข้าวที่เหลือกว่า 4 แสนตัน จากการตรวจสอบพบว่าผู้เข้าร่วมประมูลไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงระงับการขายให้ และคาดว่าจะเปิดประมูลใหม่อีกครั้งในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ รวมแล้วปริมาณเกือบ 1 ล้านตัน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า เอกชนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ เป็นบริษัทที่มีข่าวว่าเป็นนอมินีให้กับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดสัญญาซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) สำหรับบริษัทที่ชนะประมูลข้าวปริมาณสูงสุดได้แก่ เอเชีย โกลเด้นท์ ไรซ์ ปริมาณ 1 แสนตัน จากปริมาณเสนอซื้อ 3 แสนตัน รองลงมาคือพงษ์ลาภ ปริมาณ 3 หมื่นตัน จากที่เสนอซื้อ 3 แสนตัน นครหลวงค้าข้าว 2 หมื่นตัน จากที่เสนอซื้อ 3 แสนตัน ส่วนผู้ชนะประมูลรายอื่นๆ มีทั้งผู้ส่งออกและโรงสีข้าวที่ร่วมเสนอราคา โดยราคาเฉลี่ย อยู่ที่ ก.ก.ละ 9.5-10.3 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาขั้นต่ำ ที่เฉลี่ยก.ก.ละ 9-10 บาท โดยนอมินีของสยามอินดิก้าเสนอราคาเฉลี่ย ก.ก.ละ 10-11 บาท 

นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า พร้อมเข้าร่วมประมูลข้าวอีก เพราะมีข้าวที่อยู่ในโกดังของบริษัทที่รัฐบาลเช่าอยู่ ทำให้รู้ว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพที่ดี และยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยการประมูลครั้งล่าสุดบริษัทชนะประมูล 3 หมื่นตันจากที่เสนอซื้อที่ 5 แสนตัน อย่างไรก็ตามการประมูลครั้งต่อไปควรปรับปรุงทีโออาร์ใหม่ให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาสร้างปัญหาอีก เช่น การกำหนดเงินทุนจดทะเบียนบริษัท และการตรวจสอบประวัติการส่งออกข้าว

สวนยางขู่นัดชุมนุมกดดันรบ.

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายทศพล ขวัญรอด แกนนำภาคีเครือข่ายสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ตรวจสอบราคายางพาราพบว่า เกษตรกรยังไม่สามารถขายน้ำยางสดได้ที่ราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ประกาศเอาไว้ และราคาน้ำยางสดยังต่ำต่อเนื่อง ในราคา 35 บาทต่อก.ก. ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ จะประชุมวันที่ 20 ก.พ.นี้อีกครั้งที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะเน้นเรื่องการเสนอข้อเท็จจริงให้กับรัฐบาล เพราะกลไกของกระทรวงเกษตรฯ ยังแก้ปัญหาไม่ถูกทาง และไม่ถึงเกษตรกรตัวจริง

"ในการประชุม ครม.วันที่ 17 ก.พ.นี้ ที่กระทรวงเกษตรฯ ยังจะขออนุมัติงบอีก 8 พันล้านบาท เพื่อซื้อน้ำยางสด ถามว่านายอำนวย ทำถูกแล้วหรือที่ช่วยแต่พ่อค้า อีกทั้งปัญหายางเก่าในโกดัง 2.1 แสนตัน รัฐบาลจะซื้อยางใหม่มาเก็บอีก 1 แสนตัน ห่วงว่าจะไปกดราคายางในประเทศระยะยาว ตอนนี้รัฐบาลกำลังหลงทาง เบื้องต้นแนวทางเคลื่อนไหวจะรวมตัวไปยื่นหนังสือทุกจังหวัด เพื่อคัดค้านให้ยุติการใช้เงินในโครงการมูลภัณฑ์กันชนไปเอื้อแต่พ่อค้าเท่านั้น" นายทศพลกล่าว

นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังวันที่ 20 ก.พ. แกนนำชาวสวนยางภาคใต้ จะร่วมหารือกับภาคีเครือข่ายชาวสวนยางภาคตะวันออก เพื่อนัดชุมนุมเสนอข้อเรียกร้อง และขอความชัดเจนถึงมาตรการแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาล

"การเตรียมรวมตัวของชาวสวนยางครั้งนี้ เป็นชาวสวนตัวจริง เบื้องต้นคงรวมตัวกันประมาณ 1,000 คน สถานที่คงเป็นภาคใต้ จังหวัดไหนยังไม่สรุป เพราะอาจมีทหารไปขัดขวาง" นายเพิกกล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อเช้าวันที่ 16 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้หยิบยกกรณีที่มีการซื้อขายยางพาราในหลายพื้นที่ ขึ้นมาหารือ โดยกำชับให้นายอำนวย ตลอดจนกรมที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และการรับซื้อยางพาราในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานทหารไปช่วยติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหา พร้อมกับอำนวยความสะดวก รวมถึงดูแลปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย

ยกฟ้องเผารถทัวร์นปช.หน้ารามฯ

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ห้องพิจารณา 603 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.542/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ และนางนฤมล คำพยัคฆ์ มารดาของนายสุรเดช หรือเจ กำแปงใจ ผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง นายอดิสรณ์ หรือต้า สีจันทร์ผ่อง หรือศรีจันทร์ผ่อง อายุ 30 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะในที่มีเหตุเพลิงไหม้ โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 215, 217, 224, 335 (1) (7) (9), 336 ทวิ,358 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 30 พ.ย. -1 ธ.ค. 2556 กลุ่ม นปช.ชุมนุมทางการเมืองที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ขณะเดียวกันมีกลุ่มผู้คัดค้านรวมตัวกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยนำรั้วเหล็กมาปิดกั้นการจราจรที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย และมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายเป็นระยะ ต่อมามีรถทัวร์ทะเบียน 30-0170 กำแพงเพชร รับว่าจ้างขนคนมาร่วมชุมนุมที่สนามกีฬาฯ แต่เมื่อถึงบริเวณดังกล่าว กลับถูกกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาทุบทำลายรถ และบุกขึ้นมาบนรถลักทรัพย์สินตามฟ้อง หลังจากนั้นได้เผาทำลายรถทัวร์ ก่อนพบศพนายสุรเดชบนรถดังกล่าว

ตามภาพถ่ายในวันเกิดเหตุไม่พบว่าจำเลยได้ถือวัตถุหรือสิ่งของอื่นใดที่สามารถใช้ในการเผาวางเพลิงได้ ลำพังจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิงรถทัวร์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่บ่งชี้ชัดโดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่าจำเลยร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองและวางเพลิงเผาทำลายทรัพย์สิน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานดังกล่าว

ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจริงและร่วมกับพวกลักทรัพย์สินไป โดยใช้ยานพาหนะจริงตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (2) (7) วรรคสอง ประกอบ 336 ทวิ 83 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุกจำเลย 3 ปี 4 เดือน พร้อมให้จำเลยคืนทรัพย์สินที่ลักไปและชดใช้ค่าเสียหาย 12,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย 

ปปช.ส่งคดี"บุญทรง"ให้อสส.แล้ว

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการส่งสำนวนคดีอาญานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก กรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ป.ป.ช. จะส่งสำนวนคดีอาญาการระบายข้าวแบบจีทูจีไปยังอสส.ในวันที่ 16 ก.พ. ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนลงนามครบแล้ว และมั่นใจในความสมบูรณ์ของสำนวนที่จะส่งไปยังอสส. เมื่ออสส.รับสำนวนไว้พิจารณาดูว่าครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ครบถ้วนจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมแล้วพิจารณาอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเชิงลึก 5 รัฐมนตรีเกี่ยวพันโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ไต่สวนพยานหลักฐานไปได้กว่าร้อยละ 80 ซึ่งในภาพรวมส่วนใหญ่ไม่พบสิ่งผิดปกติในบัญชีของใคร มีเพียงของนายบุญทรง ที่แจ้งเงินลงทุนบริษัท เชียงใหม่แลนด์ จำกัด ซึ่งอนุกรรมการฯ ได้เรียกตัวมาชี้แจงรายละเอียดแล้ว คาดว่าในเร็วๆ นี้จะสรุปเรื่องเพื่อรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ 

แหล่งข่าวกล่าวว่า การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเชิงลึกส่วนใหญ่ค่อนข้างยาก เนื่องจากบัญชีที่ตรวจเป็นส่วนที่เปิดเผยและทำธุรกรรมทางการเงินโดยปกติ แต่ในทางลับยังไม่สามารถสาวไปได้ว่า มีการถืออยู่ในชื่ออื่นหรือไม่ เนื่องจากได้รับเบาะแสน้อยมาก จึงอยากให้สื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไปหากมีเบาะแสเพิ่มเติม ให้แจ้งเข้ามายังสำนักงานป.ป.ช.ได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!