- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 14 February 2015 12:58
- Hits: 4045
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8844 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ย้ำเลือกตั้ง ทำยังไง! ถ้ารธน.-เสร็จไม่ทัน ปปช.บี้ซ้ำอีก'ปู-บุญทรง'ค่าเสียหายจำนำข้าว-จีทูจี 'อียู'จี้ไทยเลิกอัยการศึก ยุติใช้ศาลทหารกับปชช.
ทำบัตร- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถ่ายรูปทำบัตรประชาชนและใบขับขี่รถยนต์ ระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ วันที่ 13 ก.พ. |
'บิ๊กตู่'โยนคำถามให้ช่วยหาคำตอบ ระบุถ้ารัฐธรรมนูญร่างเสร็จไม่ทันจะให้ทำอย่างไร วอนอย่าต่อต้านจนกระทบโรดแม็ปที่วางไว้ว่าจะเลือกตั้งปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า ระบุถ้าดำเนินการแล้ว กลับมาเป็นแบบเดิมก็ช่วยไม่ได้ ยืนยันจะไม่อยู่เกินตามที่สัญญาไว้ สั่งกองทัพใช้วิจารณญาณให้มากหลังปฏิบัติการกับนิสิต-นักศึกษาในงานฟุตบอลประเพณี จนทำให้รัฐบาลเจอแรงกดดันว่าละเมิดการแสดงออก ด้านยิ่งลักษณ์ยังอยู่เชียงใหม่ควงเจ๊แดงไปตลาดซื้อผลไม้ พร้อมแวะนมัสการพระเถระที่เคารพนับถือ 2 วัด ป.ป.ช.โต้"สมชาย"ยันไม่สองมาตรฐาน ท้าน้องชายกมนเกดพยาบาลอาสาที่ถูกยิงตายใน วัดปทุมฯ ถ้าฟ้อง ก็พร้อมสู้คดี
'บิ๊กตู่'โอดเข้ามายังไม่ได้อะไร
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษงานสัมมนาทางวิชาการประจำปีของการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ในหัวข้อเรื่อง "ข้อมูลข่าวสารกับความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนพูดปาฐกถาทุกวันเหมือนคนแก่ขี้บ่น พูดทุกวัน ทุกเรื่อง คนก็หมั่นไส้ การพูดของตนใช้หลักจริงใจ และจริงใจในการทำงาน ตนพูดได้ ทุกเรื่อง จะผิดจะถูกคิดว่าแค่ตั้งใจดี มีระเบียบวินัย บริหารราชการแผ่นดินที่ดีมีธรรมาภิบาล และยึดแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเป็นข้าราชการที่ดี ตนคิดว่าพูดได้ ทุกเรื่อง
นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนอยากให้ไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์โดยเร็ว เลือกตั้งโดยเร็ว ถามว่าเราพร้อมตรงนั้นหรือยัง ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้ในทุกเรื่อง ต้องเดินหน้าประเทศไปให้ได้และอย่ากลับมาวังวนเดิมอีก ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายทำไม่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียหายและมีหลายคดีอยู่ในกระบวนการ ซึ่งต้องดูว่าจะรับผิดชอบกันอย่างไร ยืนยันว่าตนจะดูแลอย่างเต็มที่ในกรณีที่ไม่ได้ทำผิด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับในความผิดพลาดและยอมรับกระบวนการตามกฎหมาย อย่าคิดว่ากฎหมายทำอะไรไม่ได้ หรือกังวลว่าไม่ได้รับความ เป็นธรรม สิ่งนี้ถือเป็นหัวใจของการบริหารราชการแผ่นดิน
"วันนี้เข้ามาบริหารราชการยังไม่ได้อะไรสักอย่างที่เป็นผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ต้องมาว่ากันจะเดินหน้าประเทศได้อย่างไร ไม่งั้นผมคงไม่เข้ามาให้เปลืองตัว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ยันไม่เคยมีขั้ว-แต่ยอมรับมีรู้จัก
นายกฯ กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารกว่า 90 ถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด ถ้าสุจริตก็เปิดเผยได้ สิ่งที่ยกเว้นคือสิ่งที่ทำไม่ได้ หากทุกคนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรทำ ถ้าหากทำแล้วสังคมเดือดร้อนผิดกฎหมายก็ต้องว่ากัน แต่ถ้าบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ อำนาจเป็นของประชาชน คงถอยหลังกันหมด ไม่ต้องมีรัฐบาล ไม่ต้องมีกฎหมาย ไม่ต้องมีหัวหน้าแต่ละพวก คาดหัวคนละสี จับกระบองตีกันเข้าไป ถ้าอยากกลับไปย้อนยุคแบบนั้นก็เอา
"บางทีผมก็นั่งคิด บังเอิญผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้ามาจากการเลือกตั้งผมจะเข้ามาทำไม ผลประโยชน์ก็ไม่ได้ เหนื่อย ต้องปวดหัว ชอบผมบ้าง ไม่ชอบผมบ้าง ต้องมาดูว่าทำไมคนถึงแย่งที่จะมายืนในที่ที่ผมพูด เราต้องทำให้คนเหล่านั้นไม่อยากมายืน เพราะมันเป็นจำเลย คนที่ยืนตรงนี้ได้คือจำเลยของประชาชน ถ้าดีก็โอเคประชาชนเดินหน้าไปได้ ผมไม่ได้ต้องการคำชม แต่ถ้าไปไม่ได้ก็นอนไม่หลับ คิดมาก ตื่นมาก็คิดว่ายางจะไปทางไหน ข้าวจะไปทางไหน ธุรกิจจะเดินหน้าอย่างไร ต่างชาติจะทำอย่างไร" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่ากังวลว่าจะเข้ามาเปลี่ยนขั้วอะไร ตนไม่เคยมีขั้ว แต่เป็นธรรมดาที่จะมีคนรู้จักกัน พี่ก็คือพี่ น้องก็คือน้อง วันเดียวนาทีเดียวก็คือรู้จัก อย่าไปกังวล ตราบใดที่เราสุจริต ไม่เคยไปขอสตางค์ใคร แต่ถ้าใครนำชื่อผมและ ครม.ไปแอบอ้าง ต้องไปเอาตัวมา 30-50 เปอร์เซ็นต์ให้ไปหามา ถ้าเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ยิ่งหนักเลย ต้องเอาตัวไปประหาร "ผมไม่ยอม ซึ่งทุกวันนี้เช้ามาก็ง่วง กลางคืนนอนไม่หลับ และไม่เคยฝันดีเลย ฝันแต่ว่าเช้ามาจะโดนอะไรหรือเปล่า จะแก้อย่างไร เพราะผมมีศักดิ์ศรี ยอมไม่ได้ แม้จะเป็นนายกฯ ก็เป็นนายกฯ ที่ไม่เหมือนคนอื่น จนลืมไปแล้วว่ามายืนตรงนี้ได้อย่างไร"
อ้างเคยเตือน"ปู"กรณีจำนำข้าว
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เดินเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ภายในงาน และถือโอกาสถ่ายรูปทำบัตรประชาชนใบใหม่ รวมทั้งหยอกล้อกับเจ้าหน้าที่ที่ทำบัตรว่าถ่ายแล้วต้องหล่อ และเมื่อไปรับบัตรตัวจริง พล.อ.ประยุทธ์ยิ้มอย่างภาคภูมิใจ พร้อมโชว์บัตรประชาชนใบใหม่ว่า "หล่อกว่าทุกใบเลย" นอกจากนั้นยังได้ถ่ายรูปเปลี่ยนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใบใหม่ด้วย สำหรับบัตรประชาชนของนายกฯ จะมีอายุถึงเดือนมี.ค.2566
ต่อมาเวลา 10.40 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงที่ให้สัมภาษณ์ระบุว่าเคยคุยกับน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรื่องการต่อสู้ในคดีรับจำนำข้าวว่า พูดคุยกันนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.57 ในช่วงเริ่มมีปัญหา ซึ่งขณะนั้นหลายฝ่ายได้ท้วงติงในโครงการดังกล่าว
"ผมก็บอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้นายกฯ จะว่าอย่างไร มันมีปัญหาอย่างนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะท่านตั้งใจทำหน้าที่ตรงนี้ มีหลักฐานสู้ได้ทุกอย่าง ซึ่งผมก็แล้วแต่ท่าน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ใช้คำว่าเตือนแล้วไม่ฟังได้ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ว่าเตือนแล้วไม่ฟัง เพียงแต่ตนบอกถึงเหตุผลต่างๆ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลใช่หรือไม่ ตนเกรงใจทุกคน ใครเป็นรัฐบาลตนก็ช่วยมาตลอดทุกรัฐบาล ผบ.ทบ.ไทยทุกคนต้องสนับสนุนรัฐบาลในการทำหน้าที่ แต่เมื่อมีปัญหาต้องถามว่าเรื่องนี้จะเอาอย่างไร ประชาชนมีปัญหาอย่างนี้ๆ เมื่อบอกว่ารับได้ เป็นฝ่ายบริหาร พร้อมรับผิดชอบโดยมีแนวทางแก้ปัญหาและแนวทางชี้แจงก็เป็นเรื่องของน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามว่าคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ รัฐบาลและ คสช.มีธงไว้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่มีธง เรื่องนี้ตอบมาเป็น 100 ครั้งแล้ว
เสี่ยตาชั่งโผล่-ตะโกนทำเนียบ
เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษนั้น นายอุทิศ เหมวัตถกิจ หรือเสี่ยตาชั่ง อายุ 62 ปี มายืนปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมตะโกนด่าถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับการบังคับใช้พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี 2540 แล้ว แต่กลับไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน
นายอุทิศ กล่าวว่า ตนร้องเรียนเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน กรณีหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัทการบินไทย ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในเชิงลึกให้ทราบ ถือว่าการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารนี้ไม่ได้ผล หน่วยงานเอาแต่แช่ข้อมูลไว้ไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนทราบ อ้างว่าไม่มีข้อบังคับ ทั้งที่รัฐธรรมนูญระบุให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง นายกฯ ต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วย
ค้นมธ.รังสิต-หลังนศ.ขู่ประท้วง
เวลา 13.30 น.ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์เดินเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาที่นำไปใช้ประโยชน์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังให้ความสนใจกับผลงานวิจัยงานด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีการจัดแสดงอุปกรณ์ป้องกันตัวของ เจ้าหน้าที่ และเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันการจุดชนวนระเบิด พร้อมระบุว่า สิ่งเหล่านี้ที่ตนสนใจไม่ใช่ว่าจะซื้อได้เลย แต่ต้องผ่านคณะกรรมการ 3 เหล่าทัพด้วย ส่วนนวัตกรรมทางเครื่องสำอางอื่นๆ นั้นมีคุณภาพดีอยู่แล้ว แต่อยากให้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
การเดินทางมาครั้งนี้ของนายกฯ มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นัดรวมตัวกันผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อ "กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย" ระบุข้อความว่า "ด่วน ขอเรียนเชิญทุกท่านมาร่วมให้กำลังใจท่านผู้นำที่ป้ายรถเมล์ แล้วเราจะไปหน้า สวทช.ด้วยกัน" เพื่อประท้วงนายกฯ ที่บริเวณสถานที่ที่ใช้เป็นที่ประชุม แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัยจริง เพื่อเตรียมเจรจากับกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว ป้องกันการก่อความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น แต่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เบื้องต้นพบว่าไม่ได้มีการรวมตัวกันภายในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่เพื่อความไม่ประมาทเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มกำลังการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยและรอบนอกสถานที่ประชุม โดยการสนธิกำลังทั้งทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบอย่างเข้มงวดขึ้น
ออกทีวี-ชี้แจงผลเยือนญี่ปุ่น
เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ตอนหนึ่งถึงภารกิจในการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8-10 ก.พ. พร้อมระบุว่า ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ขอขอบคุณรัฐบาลและชาวญี่ปุ่นที่ห่วงใยสถานการณ์การเมืองของไทยมาตลอด ตนได้ชี้แจงให้ทางญี่ปุ่นทราบว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ทุกประการ
นายกฯ กล่าวว่า การที่คสช.เข้ามาก็เพื่อบริหารให้ประเทศไทยเดินหน้า ขอให้ชาวญี่ปุ่นมั่นใจว่าประเทศไทยพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานในทุกเรื่องอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อพัฒนาทางการเมือง เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่นักการเมืองและผู้บริหารมีวินัย มีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมือง สุดท้ายตนให้คำมั่นสัญญาว่าจะต้องไม่เกิดปัญหาขัดแย้งอีกในอนาคต ประชาชนจะกลับมาเป็นศูนย์กลางและไทยจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยที่ เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
อย่าต้าน-เดี๋ยวกระทบโรดแม็ป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมปรับตัว อาจจะลืมว่าเป็นคนไทย วันหน้าเราต้องกลับมาอยู่ด้วยกันอีก ไม่ทราบว่าจะอะไรกันนักหนา รัฐบาลก็ทำเต็มที่ พยายามให้ความเป็นธรรม นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ถูกต้องก็ไม่ยอมรับกันอีก หลายคนหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ไปพูดจาให้เสียหาย ตนไปญี่ปุ่นก็ทราบว่ามี แต่ไม่ได้เจอกัน และญี่ปุ่นก็ไม่ให้ความสนใจ ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าคนเหล่านี้ทำความผิดอะไรบ้าง ส่วนเรื่องกฎอัยการศึกก็ชี้แจงว่าใช้ทำอะไรและเขาก็เข้าใจ เพียงแต่เขาอยากให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เมื่อไรพร้อมก็เป็น ตนบอกแล้วว่า 1 ปีเท่านั้น ไม่ช้า ไม่เร็วเกินไป ไม่อย่างนั้นก็เสียเวลาไปทั้งหมด
"โรดแม็ป คสช. จะเร็วหรือจะช้า ไม่ได้อยู่กับผมอย่างเดียว หลายอย่างทุกคนเอากลับมาลงที่ผมหมด วันนี้ใช่ ความรับผิดชอบใช่ แต่ถ้าบังคับว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ขอความร่วมมือก็ไม่ได้ ต่อต้านแล้วจะไปถึงโรดแม็ปได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ ผมคิดว่าในโลกโซเชี่ยลมีเดีย น่ารักก็เยอะ แต่ที่โหดร้ายก็มาก บางอันไม่ให้อภัยกันเลย หรือมีแต่ชมจนเสียคน หรือลงโทษ โกรธ เกลียดกันไป ไม่มีลดหย่อน ไม่มีให้อภัย ใครเสพข้อมูลเหล่านี้ มันจะซึมลึกเข้าไปในใจ เกลียดก็เกลียดเลย ผมคิดว่าต้องให้อภัยกันบ้างในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถ้าใช้โซเชี่ยลมีเดียโต้ตอบกันไป ไม่ได้พูดจากันโดยตรง บางทีก็ขยายความขัดแย้ง ถ้าติดค้างหรือไม่พอใจกันมากๆ มาตั้งโต๊ะคุยกัน ผมก็พร้อมคุย มาคุยกันให้หมดแล้วเข้าสู่กระบวนการจะจบเรื่องกันสักที ไม่เป็นอันตรายต่อส่วนรวม" นายกฯ กล่าว
ลั่นไม่อยู่นานเกินที่ขีดเส้นไว้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน รัฐบาลและคสช.พยายามทำให้ดี ให้เร็วตามโรดแม็ป แต่บางคน บางสื่อพยายามจะเร่งเวลาให้เร็วกว่านั้น ตำหนิติเตียนหาช่องทางขัดขวาง เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่อยากให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้น ไม่อยากให้เกิดขัดแย้งขึ้นอีก เสียดายเวลา เสียดายโอกาส เสียชีวิต และบาดเจ็บไปมาก ยืนยันคสช.ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร และอย่ามองรัฐบาลเป็นศัตรู เราไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่เราเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่ว่าสิ่งใดที่เราทำก็ผิดทั้งหมด หรือถูกทั้งหมด แต่พยายามแก้ไขเรื่องการพัฒนาคน การใช้จ่ายงบประมาณ พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และการบริหารราชการ ข้อสำคัญคือการปฏิรูป ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น
"ผมไม่อยากอยู่ให้นานไปกว่าโรดแม็ป แต่ขึ้นอยู่กับทุกคนด้วย ถ้าถึงเวลาแล้วไปไม่ได้ จะทำอย่างไร ถ้ารัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ จะทำอย่างไร ตอบผมมาแล้วกัน ก่อนเลือกตั้งมีความรุนแรงต่อต้านกันขึ้นแล้วจะทำอย่างไร เตรียมคำตอบให้ผมแล้วกัน หรือถ้าเลือกตั้งได้ หลังเลือกตั้งจะขัดแย้ง ขัดขวางกันแบบเก่าหรือไม่ ซึ่งต้องไปถามคนอื่นด้วย สำหรับผม ยืนยันว่าเป็นไปตามโรดแม็ป ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่ถ้าประชาชนยังเร่งรัดและพยายามจะเลือกตั้ง หรือจะต่อต้านให้เราทำอะไรไม่สำเร็จสักเรื่อง แล้วกลับไปสู่การเลือกตั้ง ก็จะกลับมาเป็นแบบเดิม อย่างนั้นผมก็ช่วยไม่ได้ ถือเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศเลือกกันเอง ต้องยอมรับในความสำเร็จหรือความผิดพลาด มาโทษคสช.ไม่ได้ ขอให้ช่วยกันกลับไปคิดใหม่ว่าเราต้องทำอะไรกันบ้าง" นายกฯ กล่าว
ลั่นเลือกตั้งปลายปีนี้-ต้นปีหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าเรามาหยุดความรุนแรงและแก้ไขในสิ่งที่บกพร่อง ทำให้ดีขึ้น ทุกอย่างเราไม่ได้เป็นคนสร้างให้เกิด ถ้ารัฐบาลดี ก็ไม่มีใครเขามาควบคุมอำนาจอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้อย่าไปกังวล วันนี้ วันหน้า วันไหน ทำให้ดีแล้วกัน ไม่มีใครมาว่าได้ เลือกมาให้ดี ผู้เลือกก็เตรียมตัวมาให้ดีและนำบทเรียนจากในอดีต อย่าให้เกิดขึ้นอีก ถ้าไม่ทำ ไม่ปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐานก็อยู่ได้ ซึ่งทุกประเทศเขาอยู่แบบนั้น ขอร้อง ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่ทำงานไม่ได้
นายกฯ กล่าวว่า ถ้าวันนี้เราไม่มีกฎหมายกฎอัยการศึก จะเกิดอะไรขึ้น ก็รู้คำตอบกันดีอยู่ ควบคุมไม่ได้ก็เปล่าประโยชน์ ปฏิรูปไม่ได้ ประท้วงวุ่นวายไปหมด ตนคิดว่าตอนนี้ต่างประเทศเข้าใจเรามากขึ้น ยืนยันว่าเราต้องการเดินหน้าให้ปลอดภัย สิ่งใดที่รัฐบาลในอดีตทำไม่ได้ เราพยายามทำให้ได้อย่างน้อยก็เริ่มต้นก่อน ระยะต่อไปก็ไปทำเอง ให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ 2015-2020 รวม 5 ปี ตนคงไม่ได้อยู่ก็ทำให้ได้แล้วกัน จะคอยดู แต่ยังมีบางกลุ่มบางพวกไม่อดทน ไม่เข้าใจ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ตั้งจิตอธิษฐานแล้วกัน ขอให้รัฐบาลเลือกตั้งที่ดีที่อยากได้ในห้วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าตามที่ทุกคนต้องการ ขอให้ทุกคนมีความสุข
คสช.รับเสียภาพ-บอลประเพณี
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า หลังเกิดกระแสวิจารณ์ถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามประกาศกฎอัยการศึก ในการขอความร่วมมือแสดงออกในเรื่องต่างๆ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการผ่านกองทัพ กำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกอย่างมีวิจารณญาณ ให้ประเมินสถานการณ์โดยมองอนาคตว่าจะมีผลอะไรเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการ โดยได้ยกตัวอย่าง กรณีเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติการโดยอ้างกฎอัยการศึกระหว่างงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมกดดันกลับมาที่รัฐบาลและ คสช.ว่ามีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษา
แหล่งข่าวจาก คสช.กล่าวถึงกรณีมีทหารตรวจค้นรถน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ไม่ใช่การไล่ล่าหรือคุกคาม แต่อดีตนายกฯ เป็นบุคคลสำคัญในระดับต้นๆ ถือเป็นเป้าหมายที่มีความ เปราะบาง ที่รัฐบาลและคสช.ต้องดูแลเป็นพิเศษ ในช่วงนี้คดีกำลังเดินหน้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล หากเกิดอะไรขึ้นกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีผลกระทบกลับมาที่รัฐบาลและคสช.ทั้งนั้นส่วนการแสดงความเห็นทางการเมืองของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องพีซทีวีนั้น คสช.ติดตามการแสดงความเห็นของทุกกลุ่มมวลชน แต่กรณีนายจตุพรยังไม่เรียกมารายงานตัวเพราะเคยเรียกมาแล้ว หากเรียกบ่อยจะทำให้กระบวนการเรียกตัวไม่ศักดิ์สิทธิ์
"สมหมาย"โวยถูกเลื่อยขาเก้าอี้
วันเดียวกัน นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีมีคนปล่อยข่าวนั่งเครื่องบินเจ็ตเช่าเหมาลำไปงานที่ประเทศมาเลเซียเป็นเรื่องผิดระเบียบว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ไม่เคยบินไปมาเลเซียและไม่เคยเช่าเครื่องบินเหมาลำไปที่ไหน ยอมรับว่าตอนนี้มีคนคิด ไม่ดี ต้องการให้ตนพ้นจากตำแหน่ง ยืนยันว่าไม่ถอดใจ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแก้ทุจริตคอร์รัปชั่น โดยบอกกับนายกฯ ตรงไปตรงมาว่าตรงไหนมีทุจริตอย่างรุนแรงและให้เปลี่ยนตัวคนไม่ดีออกไป จึงมีคนไม่พอใจและต้องการทำให้ตนออกจากตำแหน่ง แต่ตนไม่คิดจะลาออก และยังมีเรื่องทุจริตที่ต้องแก้ไขร่วมกับรัฐบาลอีกมาก
รมว.คลังกล่าวว่า ส่วนการทำงานของรัฐบาลที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รอง นายกฯ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กับ คสช. ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช.เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั้นไม่มีความขัดแย้งกัน ทุกฝ่ายทำงานเพื่อประเทศ ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรวดเร็วขึ้น
วรชัยแนะบิ๊กตู่ผ่าตัดใหญ่ป.ป.ช.
วันเดียวกัน นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์บ่นว่าเบื่อ เหนื่อยจนอยากพักนั้น มีนัยยะสำคัญว่ากำลังเจอกับแรงกดดันจากผู้มีอำนาจในเครือข่ายเดียวกันเอง จะเห็นว่าเครือข่ายที่เคลื่อนไหว ต่อต้านรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์วันนี้เริ่มเคลื่อน ไหวกดดันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่าต้องการจัดการกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้เด็ดขาด กดดันให้คสช.จัดการกับคนของพรรคเพื่อไทย ประกอบกับต่างชาติกดดันให้เร่งคืนประชาธิปไตย เดินหน้าสู่เลือกตั้ง เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์คงรู้แล้วว่าการบริหารประเทศไม่ง่าย ทางเดียวที่จะลดแรงกดดันได้คือการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2559 ตามที่ประกาศไว้ แต่หากรัฐธรรมนูญใหม่เขียนแบบซ่อนอำนาจ ซ่อนคนในเครือข่ายเอาไว้ เช่น ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แบบนี้ปัญหาความขัดแย้งก็ไม่จบ
"ต่อให้คู่ขัดแย้งมาลงสัตยาบันตามที่พล.อ. ประยุทธ์พูด แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียว ซ่อนกลไกไว้ล้มฝ่ายตรงข้าม ทั้งองค์กรอิสระและส.ว.กลุ่มคนหน้าเดิม ยังอยู่ เลือกตั้งไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องให้อำนาจและยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง โดยส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งด้วย ต้องเปลี่ยนตัวบุคคลในองค์กรอิสระโดยเฉพาะป.ป.ช." นายวรชัยกล่าว
นายวรชัยกล่าวถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และพวกถูกป.ป.ช.สั่งฟ้องคดีเองกรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2551 ต่อศาลฎีกาฯ ว่า มีความพยายามกำจัดคนในตระกูลชินวัตรออกจากวัฏจักรการเมือง เดินเกมต่อเนื่องจากคดีจำนำข้าวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ คดีสลายการชุมนุมในปี 2553 มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก มีหนังสือสั่งสลายการชุมนุมโดย ศอฉ.ชัดเจนแต่คดีไม่คืบหน้า ถึงเวลาแล้วที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องคืนความยุติธรรมให้ประเทศ เปลี่ยนตัวบุคคลในป.ป.ช.เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมในมาตรฐานเดียว ปัญหาทุกอย่างก็จะจบ
"ลีน่าจัง"รุดแจ้งความปอท.
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่บก.ปอท. ศูนย์ราช การฯ นางลีนา จังจรรจา หรือ ลีน่าจัง อายุ 55 ปี เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง และอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เข้าร้องทุกข์ต่อบก.ปอท. หลังถูกโพสต์ข้อความกล่าวหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
นางลีน่ากล่าวว่า ต้องการดำเนินคดีกับเจ้าของเพจที่ใช้ชื่อว่า "ทหารปฏิรูปประเทศ ไทย" ซึ่งเชื่อว่าเป็นข้าราชการทหารได้โพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ล้อเลียน หลังตนเข้าร้องทุกข์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีถูกบุคคลลึกลับดักตบหน้า เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้รับลงบันทึกประจำวันก่อนสืบสวนสอบ สวนหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป
เดินตลาด- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ "น้องไปป์"ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย เดินเที่ยวและหาซื้อของในตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ โดยมีประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดมาขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก เมื่อวันที่ 13 ก.พ. |
'ปู'เที่ยวตลาด-เหมาขนุน
เวลา 09.00 น.วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อม ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ ลูกชาย เดินทางไปยังวัดศรีบุญเรือง ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อกราบนมัสการพระครูสุเทพสุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง มีประชาชนมาขอบันทึกภาพจำนวนมาก ก่อนที่พระครูสุเทพสุทธิคุณหรือตุ๊พันเทวา จะให้ศีลให้พร จากนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์เดินทางไปยังตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรส โดยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวเดินทางมาสมทบ และนายจรัญ ชวาลา เจ้าของร้านเชียงใหม่ใจดี นำชมตามร้านต่างๆ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินไปหาคนรู้จักที่ร้านขายแผงหนังสือพิมพ์ในตลาดและเดินไปเที่ยวชมตลาด มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาขอถ่ายรูป บางกลุ่มขอให้น้องไปป์ ช่วยถ่ายภาพให้จากโทรศัพท์ ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เหมาขนุนสุกหมดร้าน เนื่องจากลูกชายชอบ ส่วนตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นมะม่วงแช่น้ำปลาพริกแดงจึงกล่าวว่า "ชอบมะม่วงแช่น้ำปลาพริกแดงมาก ไม่ได้กินมานาน" และซื้อไป 2 ถุง
รุดนมัสการเจ้าคุณวัดดอนจั่น
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินไปยังร้านขายผ้าเชียงใหม่ใจดีของนายจรัญ และซื้อผ้า 3 ผืน ก่อนที่นางเยาวภาจะชวนไปซื้อสตรอว์เบอร์รี่ โดยมีประชาชนพ่อค้าแม่ค้านำของฝากมาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ่อค้าแม่ค้าพากันดีใจกับการมาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะเดินทางไปกินข้าวซอยที่ร้านข้าวซอยเสมอใจ ก่อนไปเดินเที่ยวที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล โดยน้องไปป์เล่นไอซ์สเกต ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะไปนั่งกินกาแฟร้านสตาร์บัคส์ แล้วเข้าร้านทำผม ก่อนที่จะไปที่วัดดอนจั่น อ.เมือง เพื่อกราบนมัสการพระประชานาถมุนีหรือหลวงพ่อนันท์ เจ้าอาวาสวัดดอนจั่น
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีการปล่อย ข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยว่า อยากถามว่าทำไมอดีตนายกฯ จะต้องหลบหนีหรือลี้ภัยด้วยในเมื่อไม่ได้ทำอะไรผิด ดังนั้น อย่าปล่อยข่าวเพื่อบีบอดีตนายกฯมากนัก เชื่อว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ พร้อมต่อสู้คดีในชั้นศาล สู้ไปตามกระบวนการยุติธรรม
ปปช.โต้สมชาย-ท้าน้องชายเกด
วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯตั้งข้อสังเกตการทำงานของป.ป.ช.ไม่ยึดหลักนิติธรรมในการฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งไม่ฟ้องว่า ยืนยันว่า ป.ป.ช.ทำงานทุกอย่าง ยึดหลักกฎหมาย และทำตามหน้าที่ เมื่ออสส.ไม่สั่งฟ้องคดีนี้ แต่ป.ป.ช.เห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมีความสมบูรณ์เพียงพอที่เอาผิดนายสมชายได้ ก็ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีเองได้ ส่วนที่นายสมชายระบุไม่ได้รับความเป็นธรรมจากป.ป.ช.ในการไต่สวนคดีนั้น ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร แต่ยืนยันว่าป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่แล้ว
นายปานเทพ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของป.ป.ช. มีความถูกต้อง มีหลักนิติธรรม ไม่มีประเด็นทางการเมืองหรือต้องการทำลายคนตระกูลชินวัตรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ยึดพยานหลักฐานเป็นหลัก ส่วนที่ระบุป.ป.ช.ไต่สวนคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล่าช้านั้น เนื่องจากคดียังมีความไม่สมบูรณ์ ป.ป.ช.ต้องรอฟังคำสั่งศาลเรื่องการชันสูตรพลิกศพ และต้องดูรายละเอียดข้อกฎหมายเรื่องพ.ร.ก. ฉุกเฉินให้รอบคอบว่ามีการสั่งการอย่างถูกต้องหรือไม่ ยืนยันว่าป.ป.ช.ทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีสองมาตรฐาน ส่วนกรณีญาติน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม ช่วงสลายชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 เตรียมจะฟ้องคณะ กรรมการป.ป.ช.ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เร่งไต่สวนคดีสลายชุมนุมเสื้อแดงนั้น เป็นสิทธิ์ฟ้องได้ ป.ป.ช.พร้อมชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงทุกอย่างในชั้นกระบวนการยุติธรรม
ชงคลังเรียกค่าเสียหายจีทูจี-จำนำ
นายปานเทพ กล่าวว่า ในวันนี้ตนลงนามและส่งหนังสือให้กระทรวงการคลังดำเนินการ ตามมาตรา 73/1 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐแล้ว โดยในหนังสือไม่ได้ระบุถึงตัวเลขความเสียหาย เพราะกระทรวงการคลังมีตัวเลขเหล่านั้นอยู่แล้ว ส่วนกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯนั้น ป.ป.ช.จะส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาเช่นกัน โดยวันที่ 17 ก.พ.นี้จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.เพื่อพิจารณา และคาดว่าจะส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังในวันเดียวกัน
'อ๋อย'ขึ้นศาลทหารฟังคำวินิจฉัย
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ พร้อมนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความนายจาตุรนต์ นายยูวาล จินบาร์ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอังกฤษ มาฟังคำวินิจฉัยของศาลทหาร หลังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น 1.คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เนื่องจากการกระทำนั้นเกิดขึ้นก่อนมีคำสั่งของคสช. คดีนี้จึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา และ 2.ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 และฉบับที่ 38 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 ว่าด้วยเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ที่ได้รับคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตย และตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนันต์ ฉายแสง บิดา และนางฐิติมา ฉายแสง น้องสาว พร้อมด้วยชาวบ้านจาก กทม.และฉะเชิงเทรา กว่า 30 คน มาให้กำลังใจพร้อมมอบดอกไม้ ซึ่งนายจาตุรนต์มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ชะลอ-รอความเห็นของศาลอาญา
หลังจากฟังคำวินิฉัยของศาลทหาร นาย นรินท์พงศ์เปิดเผยว่า ศาลทหารพิจารณาคำร้องทั้ง 2 ประเด็น เห็นว่าประเด็นที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพสั่งให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจะส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอาญา เพื่อพิจารณาทำความเห็นต่อไป ประเด็นที่ 2 ศาลทหารกรุงเทพไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า หากศาลอาญามีความเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทหารแล้ว ศาลทหารก็พิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป แต่หากศาลอาญาเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา หรือศาลพลเรือนอื่นแล้ว ต้องส่งสำนวนคดีนี้ไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล วินิจฉัยซึ่ง คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการชี้ขาดนี้เป็นที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าจะนัดสืบพยานประมาณเดือนพ.ค.ตามปกติ แต่ถ้าศาลอาญาเห็นว่าควรส่งคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจศาลเรื่องนี้จะยาว
'จาตุรนต์'ย้ำแสดงความเห็นสุจริต
ด้านนายจาตุรนต์กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแสดงความคิดเห็นของตนไม่ขัดต่อกฎหมายอยู่แล้ว และคดีนี้มีลักษณะพิเศษเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดเหตุ เพราะการไม่มารายงานตัวของตนเกิดขึ้นก่อน คสช.จะมีคำสั่งให้คดีขึ้นสู่ศาลทหาร อีกทั้งข้อหาที่เป็นคดีความมั่นคงได้เกิดขึ้นหลังคดีที่มีคำสั่งให้ขึ้นศาลทหารก็จริง แต่เข้าข้อยกเว้นคือ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ยังไม่ยกเลิกในวันที่ 27 พ.ค.2557 แต่มายกเลิกภายหลังวันที่ 3 มิ.ย.2557 แม้จะยกเลิกการใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 แต่เป็นลักษณะกฎหมายย้อนหลังไปให้โทษ
"เท่าที่ดูคิดว่า คดีนี้เข้าข่ายอยู่ในข้อยกเว้นของคำสั่งให้คดีขึ้นสู่ศาลทหาร และมีประเด็นที่ผมหวังว่าเรื่องนี้จะเข้าสู่คณะกรรมการชี้ขาดเขตอำนาจศาล จากนี้ต้องรอศาลอาญาพิจารณาความเห็นที่ส่งไป ถ้ามีความเห็นสอดคล้องกันก็เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าเห็นไม่ตรงกันต้องส่งคณะกรรมการชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ยืนยันไม่กังวลแต่รอว่าคดีนี้จะอยู่ในการพิจารณาของศาลใด" นายจาตุรนต์กล่าว
ชี้พลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร
ด้านนายยูวาล จินบาร์ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า ตนเคารพต่อคำพิพากษาของศาล แต่กรณีของพลเรือนไม่ควรถูกดำเนินการด้วยศาลทหาร โดยเฉพาะกรณีที่ชุมนุมด้วยความสงบ ทั้งนี้ มองว่ารัฐธรรมนูญยังไม่เข้มแข็งพอที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเรือน นอกจากนี้ ผู้พิพากษาบอกตลอดว่าปฏิบัติตามหลักการของประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง เรื่องสิทธิการพิจารณาคดี เนื่องในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ ทั้งที่การอุทธรณ์เป็นสิทธิพื้นฐาน จะมาอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้
"น่าเสียใจที่รัฐไม่ได้คืนสิทธิการอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่า รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในการแสดงออก หรือการชุมนุม อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ภัยคุกคามต่อราชอาณาจักร จึงควรได้รับสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่า หวังว่ารัฐจะพิจารณาคืนสิทธิ์เหล่านี้ให้กับประชาชนโดยเร็ว" นายยูวาลกล่าว
"ปื๊ด"แจกซีร็อกซ์ร่างรธน.ให้ทูต
เวลา 13.15 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวางกรอบแนวทางการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง
ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์แจ้งว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้รับเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารกับเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยกว่า 20 ประเทศ โดยกมธ.ยกร่างฯ นำเอกสาร คำแปลร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษที่ผ่านการพิจารณาในภาคที่ 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน และผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน แจกให้ตัวแทนเอกอัครราชทูต โดยแต่ละประเทศมีการสอบถามแต่ไม่ได้ติดใจ โดยเฉพาะฝรั่งเศส และสเปน ที่มีการควบรวมทั้งสองหน่วยงานเป็นองค์กรเดียวกัน
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตต่างประเทศยังสอบถามถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความสนใจประเด็นการเลือกตั้งเป็นพิเศษว่าจะมีรูปแบบอย่างไร ขณะที่นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย แจ้งว่าวันที่ 15 ก.พ. จะไปร่วมสังเกตการณ์ที่เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนจ.อุดรธานี ด้วย
4 พรรคใหญ่ร่วมเวทีกมธ.ยกร่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็น การสัมมนา เรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 08.00-13.00 น. ที่ห้องประชุมกรรมาธิการหมายเลข 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 นั้น คณะผู้จัดงาน เปิดเผยพรรคการเมืองที่ตอบรับจะเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 43 พรรคการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคมาตุภูมิ เป็นต้น โดยมีนักการเมืองที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 118 คน
ทั้งนี้ รายชื่อนักการเมืองที่เข้าร่วมสัมมนา อาทิ พรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ปรากฏแต่เพียงชื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคเป็นตัวแทนเข้าร่วมสัมมนา ส่วนพรรคชาติพัฒนา มีแกนนำพรรคเข้าร่วมอย่างคับคั่ง เช่น น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค ร.ต.ประภาส ลิมปะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ บุญชัยสุข เลขาธิการพรรค เป็นต้น พรรคชาติไทยพัฒนา มีนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคและ ผู้อำนวยการพรรค และนายพันธุ์เทพ สุลีสถิร เลขาธิการพรรค ส่วนนักการเมืองอื่นๆ ที่มีรายชื่อเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ มีชื่อของ นาย สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย และนางลีนา จังจรรจา หัวหน้าพรรคมหาประชาชน เป็นต้น
ฮิวแมนไรต์จี้คว่ำกม.ศาลทหาร
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกแถลงการณ์อีกครั้งเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คว่ำร่างกฎหมายศาลทหาร เพราะถือเป็นการเพิ่มอำนาจทหารควบคุมตัวพลเรือน ไม่ต้องแจ้งข้อหา ไม่ต้องมีคำสั่งศาล นานเกือบ 3 เดือนนั้นขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล
แถลงการณ์ฮิวแมนไรต์วอตช์คาดการณ์ว่า ก่อนสิ้นเดือนก.พ.นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทยจากการแต่งตั้งของทหาร มีกำหนดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 หลังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 โดยมาตรา 46 ของร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้ผู้บัญชาการทหารควบคุมตัวพลเรือนได้นาน 84 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา หรือการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ
นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลไทยพยายามจะมอบอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบให้แก่ทหารเพื่อควบคุมตัวพลเรือนนี้ไม่เป็นไปตามคำสัญญาว่าจะเคารพต่อสิทธิและระบอบประชาธิปไตย การกักขังบุคคลพลเรือนโดยศาลทหารนั้นจะนำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่ประชาธิปไตยสำหรับประเทศไทย สมาชิกสภาของไทยจึงควรปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งทำให้พลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกคุมขังโดยปราศจากข้อหา
อียูจี้ไทยยุติศาลทหารกับปชช.
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ และในฐานะที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไทยมีหน้าที่ต้องนำผู้ต้องสงสัยไปยังศาลโดยทันที คณะผู้แทนอียูยังกังวลต่อการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีผู้ที่เป็นพลเรือน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจำกัดอำนาจของศาลดังกล่าวให้พิจารณาคดีเฉพาะความผิดต่อกฎหมายทหาร ซึ่งผู้ต้องหาเป็นทหารเท่านั้น พร้อมกันนี้อียูยังเรียกร้องให้ไทยกลับสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยและยกเลิก กฎอัยการศึกโดยเร็ว แถลงการณ์ระบุด้วยว่าได้รับความเห็นชอบจากคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอียูประจำประเทศไทยแล้ว
เอพีรายงานว่าแถลงการณ์ของอียูดังกล่าวสอดคล้องกับแถลงการณ์ขององค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ที่เผยแพร่ในวันเดียวกัน กรณีเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คว่ำร่างกฎหมายศาลทหาร เพราะถือเป็นการเพิ่มอำนาจทหารควบคุมตัวพลเรือน โดยมาตรา 46 ของร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้ผู้บัญชาการทหารควบคุมตัวพลเรือนได้ นาน 84 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา หรือการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ
นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลไทยพยายามจะมอบอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบให้แก่ทหารเพื่อควบคุมตัวพลเรือนนี้ไม่เป็นไปตามคำสัญญาว่าจะเคารพต่อสิทธิและระบอบประชาธิปไตย การกักขังบุคคลพลเรือนโดยศาลทหารนั้นจะนำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่ประชาธิปไตยสำหรับประเทศไทย สมาชิกสภาของไทยจึงควรปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งทำให้พลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกคุมขังโดยปราศจากข้อหา
'หม่อมเต่านา'จี้สอบ'ครูหยุย'
วันที่ 13 ก.พ. ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่านา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความคืบหน้ากรณีส่งทีมทนายเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ว่าได้รับการติดต่อจากนายบรรหาร กำลา ผบ.กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม สำนักเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอให้ยืนยันว่าเป็นผู้ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้าไปจริง พร้อมชี้แจงว่า คำร้องนี้เป็นคำร้องแรกที่ร้องเรียนมายังสนช. หลังจากข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสนช. 2557 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือ การตามเรื่องจากสำนัก ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เรายื่นเรื่องไว้อีกที่หนึ่ง
รายงานข่าวจากคณะกรรมการจริยธรรม สนช. แจงว่า เมื่อคณะกรรมการจริยธรรมฯซึ่งมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. เป็นประธาน ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว มีเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริง 60 วันและขอขยายเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 30 วัน จากนั้นจะสรุปเป็นรายงานความคิดเห็นต่อคำร้องดังกล่าวว่ามีการประพฤติผิดจริยธรรมจริงหรือไม่อย่างไร เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สนช.ให้ลงมติ หากมีมติว่ามีกระทำผิดจริยธรรมจริง ก็จะว่ากล่าวตักเตือน หรือตำหนิ หรือประณามให้เป็นที่ประจักษ์ แต่หากมีมติว่าการกระทำดังกล่าวผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องส่งเรื่องให้ผู้ตรจการแผ่นดินพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นไปตามระเบียบวิธีพิจารณาประมวลจริยธรรมตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ยังประกาศใช้อยู่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตีความว่า ระเบียบวิธีพิจารณาดังกล่าวนั้น จะสอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 หรือไม่อย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากที่ประชุมมีมติเห็นว่ามีการประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม วุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 ข้อ 40 ระบุว่า ให้ส่งเรื่องคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา ตามมาตรา 244 (2) ให้ดำเนินการตาม มาตรา 279 วรรคสาม และมาตรา 280 ที่กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา และหากทำผิดร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.พิจารณา โดยถือเป็นเหตุจะต้องถูกถอดถอนตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ต่อไป สำหรับข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรม สนช. พ.ศ.2558 ข้อ 33 ระบุว่าให้ส่งไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ศาลสั่งรวมคดีกบฏ-4 กปปส.
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 ก.พ. ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อ.1191/2557, อ.1298/2557, อ.1328/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 52 ปี และนายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 37 ปี แกนนำกปปส. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 63 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายเสรี วงษ์มณฑา อายุ 65 ปี แกนนำกปปส. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือความไม่สงบในราชอาณาจักร, อั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของกกต. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และพ.ร.บ.ว่าด้วยเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.
จากกรณีจำเลยร่วมชุมนุมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ต่อต้านรัฐบาล พาผู้ชุมนุมบุกรุกและปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อกดดันให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจำเลยที่ 1-4 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
วันเดียวกันนี้ อัยการโจทก์แถลงขอส่งพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ 216 แฟ้ม พร้อมขอรวมคดี อ.1298/2557 และคดี อ.1328/2557 เข้าเป็นคดีเดียวกับคดีหมายเลขดำที่ อ.1191/2557 เนื่องจากมีมูลคดีและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน เพื่อให้ขั้นตอนการพิจารณาคดีสะดวกรวดเร็ว โดยศาลสอบถามทนายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้รวมคดีได้
นอกจากนี้ อัยการโจทก์และฝ่ายจำเลยยังแถลงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน เนื่องจากคดีนี้มีผู้ต้องหากปปส.อีก 28 คน ที่อัยการนัดรอฟังคำสั่งฟ้องในวันที่ 5 มี.ค.นี้ ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้เลื่อนไปนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง วันที่ 26 มิ.ย. เวลา 09.00 น.