- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 11 February 2015 10:22
- Hits: 3673
ทภ.3 ชี้แค่รปภ.อดีตนายก ปัดค้นรถ'ปู'รีบขอโทษ-ยันให้เกียรติ'ป้อม'หวั่น'มือที่3'ป่วน บิ๊กตู่ย้ำเลือกตั้งต้นปี'59 ปปช.เรียก'ยิ่งลักษณ์'รายงานตัวอสส.19 กพ. มธ.รังสิตติดป้ายไล่ปว.
มติชนออนไลน์ :
'บิ๊กตู่'ย้ำสื่อยุ่นเลือกตั้งต้นปี 59 ทหาร-ตร.ตั้งด่านค้นขบวนรถ'ปู'ที่เชียงใหม่ ขณะไปทำบุญไหว้บรรพบุรุษ 'บิ๊กป้อม'ชี้ดูแลความปลอดภัยวีไอพีปกติ
@ "บิ๊กป้อม"นั่งประธานถกครม.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากมีรัฐมนตรีหลายคน อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เยือนประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีภารกิจอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
@ "บิ๊กตู่"ยันเลือกตั้งต้นปี 59
เมื่อเวลา 08.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่ประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการว่า ในส่วนของสถานการณ์การเมืองของไทยนั้น ญี่ปุ่นเข้าใจและเชื่อมั่นด้วยดี ทั้งนี้ ได้ชี้แจงว่าไทยได้เดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตามแผนโรดแมปที่วางไว้ โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะใช้เวลาอีกไม่นาน
"คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559 ซึ่งผมได้ยืนยันว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ บิ๊กป๊อกปัดตปท.บีบร่างรธน.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย ยังคงแสดงท่าทีให้ประเทศไทยเร่งคืนประชาธิปไตยโดยเร็วว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันรวมทั้งคนไทยก็เห็นตรงกัน ที่อยากให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งต้องมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ
"ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญก็เร่งเต็มที่ เพื่อไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน จากนั้นต้องจัดทำกฎหมายลูกออกมาให้เร็ว" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว และว่า มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากอาจจะมีปัญหา เพราะจะทำให้ทุกกระทรวง ทบวงกรม จะต้องแก้ไขกฎระเบียบตามไปอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางต่างประเทศพยายามบีบให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเร็วขึ้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า "ไม่บีบหรอก แต่เราบีบตัวเองเหมือนกันเพื่อให้เป็นไปตามโรดแมป คงไม่สามารถตอบแทนทาง กมธ.ยกร่างฯได้"
@ โต้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมชูป้ายผ้าประท้วงขอให้ไทยเร่งยกเลิกกฎอัยการศึกในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เยือนประเทศญี่ปุ่น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า การแสดงออกดังกล่าวเป็นเรื่องของความเห็น รัฐบาลรับฟังและต้องชั่งน้ำหนัก หากสถานการณ์เรียบร้อย มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทุกอย่างเดินได้โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต่างชาติอยากเห็น ดังนั้นอยากให้สถานการณ์ทุกอย่างนิ่ง
เมื่อถามถึงกรณีที่นายรูเพิร์ต แอ็บบอต ผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ทำนองกองทัพไทยเพิ่มอำนาจให้ตนเองมากขึ้น รวมทั้งสามารถสั่งควบคุมตัวบุคคลได้โดยพลการ ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า หลักสิทธิมนุษยชนก็ว่ากันไป แต่รู้ดีว่าไม่ได้ละเมิดหรือลิดรอนสิทธิใครยกเว้นว่าบุคคลใดกระทำผิด คนที่ไม่ได้ทำผิดก็ไม่มีปัญหาอะไร ที่สำคัญไม่ได้เพิ่มอำนาจอะไรเลย การประกาศกฎอัยการศึกก็ไม่มีการออกข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้เพิ่มเติม เป็นเพียงหลักประกันเพื่อให้สังคมเกิดความเรียบร้อยเท่านั้น
@ กสม.ค้านยุบรวมผู้ตรวจการฯ
ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาสภาพโครงสร้างขององค์กรอิสระโดยเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยุบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเชิญนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี ในฐานะรองประธานคณะอนุ กมธ.ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุมหารือในกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีข้อเสนอให้ยุบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ซึ่งทาง กสม.ให้ข้อมูลพร้อมตอบข้อซักถามอย่างละเอียด โดย กสม.ให้ความเห็นว่าไม่ควรยุบ กสม.รวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทางคณะอนุ กมธ.จะเก็บข้อมูลไว้เพื่อพิจารณาข้อเสนอของ กสม. คาดว่าจะส่งความเห็นดังกล่าวให้แก่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
"นอกจากนี้ คณะอนุ กมธ.จะเชิญองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามาหารือและรับข้อเสนอต่างๆ ด้วย และทางอนุ กมธ.พร้อมรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เชื่อว่าข้อเสนอต่างๆ จะไม่ขัดแย้งกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด" นายดิเรกกล่าว
@ กสม.อ้างมีหน้าที่ต่างกัน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. กล่าวว่าให้ข้อมูลในที่ประชุมเรื่องกระบวนการที่เกี่ยวกับการตรวจสอบ ที่หลายฝ่ายมองว่าทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการซ้ำซ้อนเพียงแค่ชื่อเพียงเท่านั้น แต่รายละเอียดการทำงานยังมีความแตกต่างกัน พร้อมเสนอเพิ่มเติมในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนแง่ของการปฏิญญาสากลและพันธกรณีอีก 7 ฉบับ รวมถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
"ขณะนี้ กสม.ทำงานมากกว่าการตรวจสอบ แต่ กมธ.ยกร่างฯยังเข้าใจผิดว่า องค์กรพิทักษ์สิทธิคือกรรมการสิทธิ ทั้งที่เรื่องจริงนั้นองค์กรพิทักษ์เป็นเรื่องของประชาชน แต่ กสม.มีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมองค์กรทั้งสองเข้าด้วยกัน เพราะเห็นว่าเป็นการเสียผลประโยชน์ของประชาชน กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน" นพ.นิรันดร์กล่าว และว่า ที่ กมธ.ยกร่างฯอ้างงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าว่าศึกษาการทำงานที่ซ้ำซ้อนในเรื่องการตรวจสอบนั้น เห็นว่ายังไม่ได้ศึกษาอำนาจหน้าที่โดยรวมของ กสม.และยังไม่ได้วิเคราะห์ความแตกต่างที่ครบถ้วน
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ทาง กสม.ยื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านไปยังแม่น้ำทั้ง 4 สาย คือ สปช. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครม. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเข้ามาชี้แจงกับทุกฝ่าย
@ เล็งแก้ข้อบังคับเพิ่ม3สายร่วมวิป
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงที่รัฐสภาว่า ประเด็นที่ได้ประชุมร่วมกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. คือการแก้ข้อบังคับของ สปช. โดยประธาน สปช.เห็นว่า วิป สปช.มีความจำเป็นที่จะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทั้ง คสช. ครม. และ สนช. จึงเห็นว่าหากนำบุคคลที่อยู่ในส่วนดังกล่าวเหล่านี้เข้ามาอยู่ในวิป สปช. จะทำให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและเป็นไปในแนวทางเดียวกันมากขึ้น อุปสรรคปัญหาและความล่าช้าในการทำงานนั้นก็จะลดน้อยลง
"ดังนั้น ในการแก้ข้อบังคับ ส่วนที่สำคัญคือการแก้เรื่องสัดส่วนของบุคคลที่จะเข้ามาอยู่ในวิป สปช. และหากแก้เสร็จภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ วันที่ 16 กุมภาพันธ์จะนำเข้าสู่ที่ประชุม" นายวันชัยกล่าว และว่า ประธานยังเห็นว่ามีข้อบังคับบางประการที่เป็นอุปสรรคและความล่าช้าในการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ที่ประชุมจึงมีมติว่าถ้าเป็นเรื่องของกฎหมาย จะเป็นการพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่ให้ล่าช้า ประธานจึงให้หาวิธีการโดยให้ดูกฎหมายกันให้รอบคอบ และหาวิธีการที่จะพิจารณากันให้รวดเร็ว เมื่อผ่านที่ประชุมเสร็จ ภายใน 7 วัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเสร็จสิ้น ต้องส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ครม. คสช. สนช. หรือหน่วยงานใดที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้งหมดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้นข้อบังคับใดที่เป็นอุปสรรคต้องรีบแก้ไขเสีย
@ จี้18กมธ.รายงานคืบหน้าทำงาน
นายวันชัยกล่าวว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. จะประชุมวิป สปช.และกรรมาธิการ (กมธ.) 18 คณะ และ กมธ.ชุดพิเศษอีก 5 คณะ ร่วมกับ คสช. รัฐบาล และ สนช. โดยประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือร่วมกันคือ ทาง สปช.จะรายงานให้ สนช. คสช. และรัฐบาลได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องวาระของการปฏิรูป 36 วาระที่สำคัญๆ โดยละเอียด เพื่อให้การประสานเพื่อการทำงานนั้นคล่องตัวมากขึ้น เพราะวันที่มีการประชุมแม่น้ำ 5 สายนั้น เป็นเพียงการบอกในเรื่องแนวทางที่จะปฏิรูปแบบสั้นๆ หากเรื่องเสนอไปยัง คสช.ก็จะขอให้ คสช.เร่งดำเนินการ หรือเรื่องใดที่เสนอไปยังรัฐบาลหรือ สนช.ก็ให้เร่งดำเนินการ ดังนั้น จึงจะเป็นการพูดคุยกันในลักษณะทำความเข้าใจกันเพื่อให้การทำงานคล่องตัว รวดเร็ว และเป็นไปตามแนวทางที่แม่น้ำ 5 สายได้วางไว้ในวันนั้น
"กมธ.ทั้ง 18 คณะ จะต้องรายงานให้กับประธาน สปช.ทราบว่าแต่ละคณะมีเรื่องใดที่เสร็จไปแล้ว และจะเข้าที่ประชุมเมื่อไหร่อย่างไร เพราะประธาน สปช.ขีดเส้นไว้ว่ากรอบของการปฏิรูปทั้งหมดต้องเสร็จภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ รวมไปถึงแนวทางการปฏิรูปที่วางไว้ว่าวันที่ 10 เมษายนจะต้องเสร็จด้วย" นายวันชัยกล่าว และว่า วันที่มีการประชุมแม่น้ำ 5 สาย นายกฯปรารภว่าทำไมเดี๋ยวนี้พระ วัดวาอารามต่างๆ มีการสอนหรือการดำเนินการที่ผิดเพี้ยนไป บางแห่ง บางองค์มีเงินจำนวนมาก น่าจะปฏิรูปและบอกให้ไปปฏิรูปด้วย ซึ่งประธานเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อคนจำนวนมาก ประธานจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งพิเศษต่างหาก
@ ชงตั้งกก.สอบจริยธรรมครูหยุย
นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. กล่าวว่า ขณะนี้ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม สนช.ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ประกาศ ดังนั้นทางสำนักงานต้องดำเนินการตามข้อบังคับเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ในกรณีที่ทำท่าปาดคอหลังทราบผลคะแนนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
"โดยขั้นตอนจะต้องตั้งคณะกรรมการจริยธรรม โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะต้องมอบหมายให้รองประธานคนใดคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการจะประกอบด้วยประธานกรรมาธิการสามัญประจำ สนช.ทุกคณะ แต่เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีเพราะข้อบังคับเพิ่งประกาศใช้ ดังนั้น ทางสำนักงานจะส่งเรื่องไปให้ประธาน สนช.เพื่อดำเนินการตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม และเมื่อตั้งกรรมการจริยธรรมแล้ว ต้องมาพิจารณาดูว่าจะใช้วิธีพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ซึ่งอาจจะนำวิธีพิจารณาในสมัยวุฒิสภามาใช้ไปก่อน หรืออาจมีการร่างใหม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกรรมการจริยธรรม ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน" นางนรรัตน์กล่าว
@ กกต.เร่งทำคู่มือสืบสวน
เวลา 11.00 น.วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย แถลงว่า สำนักงาน กกต.ได้เตรียมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับรูปแบบการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ โดยนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ให้นโยบายแนวปฏิบัติกับด้านสืบสวนให้ปรับปรุงระเบียบสืบสวน และกำลังจัดทำคู่มือสืบสวนสอบสวน โดยร่างคู่มือดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จจะนำไปรับฟังความคิดเห็นจากอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและเรื่องร้องคัดค้านจำนวน 25 คณะ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดทำสำนวนจากอนุกรรมการวินิจฉัยฯมาบรรจุในร่างคู่มือ ก่อนที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นอีก 9 ครั้ง ในพื้นที่ศาลอุทธรณ์ภาคทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก กกต.จังหวัดและพนักงานสืบสวนสอบสวนประจำจังหวัด
"คาดว่าคู่มือสืบสวนสอบสวนจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ทันต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อนำมาใช้จะทำให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะนำมาพิจารณาใบเหลืองใบแดงอย่างรวดเร็วมากขึ้น" นายดุษฎีกล่าว
@ ปปช.ให้ปูพบอสส.19ก.พ.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งหนังสือเรียกตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกชี้มูลความผิดทางอาญากรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวให้แก่อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า เลขาธิการ ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อให้ไปรายงานตัวต่อ อสส.ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาลฎีกา
นายปานเทพกล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งสำนวนคดีอาญา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบให้แก่ อสส.ว่า ป.ป.ช.ลงรายชื่อในสำนวนเสร็จหมดแล้ว ทางเจ้าหน้าที่รีบประสานกับฝ่าย อสส.อยู่ เนื่องจากต้องส่งสำนวนหลังวันที่ประชุมมีมติรับรองภายใน 14 วัน คาดว่าจะส่งสำนวนให้ อสส.ได้ภายในสัปดาห์หน้า
@ ปปช.เลื่อนคดีมาร์คสลายม็อบ
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.แถลงมติที่ประชุม ป.ป.ช.ในการพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สั่งใช้กำลังทหารตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553-19 พฤษภาคม 2553 ที่ประชุมเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้และมีกรณีต้องพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 17 จึงให้มีการสรุปสำนวนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. (องค์คณะไต่สวน) พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ภายในเวลา 2 สัปดาห์
@ ปชป.สู้คดีสั่งสลายม็อบปี53
นายราเมศ รัตนะเชวง ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช.จะสรุปข้อมูล พยานหลักฐานให้ที่ประชุม ป.ป.ช.
พิจารณาแจ้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะอดีตนายกฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะอดีตรองนายกฯฝ่ายมั่นคงกรณีสลายการชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2553 ว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคและนายอภิสิทธิ์ยังไม่ได้รับการประสานหรือแจ้งข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ขอยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมเพราะเชื่อมั่นในความสุจริตว่าไม่ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการใดๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
"หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือมีการเชิญตัวผู้ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต้องดูในรายละเอียดและข้อเท็จจริงในคดีว่าเป็นเรื่องใดบ้าง ซึ่งเราพร้อมที่จะรักษาสิทธิในการต่อสู้ทั้งข้อเท็จจริงและกฎหมายตามกระบวนการ" นายราเมศกล่าว
@ ทภ.3ตั้งด่านค้นรถ"ปู"หน้าหมู่บ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลัง คสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศตามคำขอว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไป จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์เพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ โดยเข้าพักที่บ้านพักในหมู่บ้านกรีนวัลเลย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ ช่วงเช้าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกจากบ้านพัก หมู่บ้านกรีนวัลเลย์ เพื่อไปกราบไหว้กู่บรรพบุรุษ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีกองกำลังรักษาความสงบมณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 33 ค่ายกาวิละ พร้อมตำรวจกว่า 20 นาย ตรวจค้นรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ทะเบียน กธ 7000 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้เวลา 10 นาที ที่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านก่อนปล่อยขบวนรถ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้รถตู้ ทะเบียน กธ 77 เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำสั่ง พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 ที่สั่งถึง พล.ต.ศรายุธ รังษี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (ผบ.มทบ.) ที่ 33 และหน่วยข่าวความมั่นคงกองทัพภาคที่ 3 เพื่อเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมรายงานให้ คสช.ทราบทุกระยะ
@ ชาวสันกำแพงแห่รับอบอุ่น
ด้านคนใกล้ชิดนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาว น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ทีมงานและเจ้าหน้าที่พรรคเพื่อไทย สาขาเชียงใหม่ ไม่ได้ติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาไหว้กู่บรรพบุรุษ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่อยากเป็นข่าว จึงไม่แจ้งสำนักงานพรรคทราบ ส่วนกรณีทหารตรวจค้นรถผู้ติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตกใจหรือกลัว ยังคงเดินทางมาพบปะประชาชนและไหว้กู่บรรพบุรุษตามปกติ
ต่อมาที่วัดโรงธรรมสามัคคี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนางเยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมญาติกว่า 20 คน เดินทางไปกราบไหว้กู่บรรพบุรุษ ประกอบด้วยกู่นายเชียง ชินวัตร นางแสง ชินวัตร ปู่ย่า นายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร บิดามารดาผู้ล่วงลับ จากนั้นไปรับประทานอาหารกลางวันบ้านญาติ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าตลาดสันกำแพง ก่อนเข้าเยี่ยม น.ส.จันทร์สม ชินวัตร อาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ร้านชินวัตรไหมไทย รวมทั้งเดินตลาดสันกำแพง ซึ่งประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ดูแลความปลอดภัย และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา
@ มทภ.3แจงแค่รปภ.ตามปกติ
พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ขอยืนยันว่าทหารไม่ได้ตรวจค้นรถของอดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด เพียงแต่ทางทหารของมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 5 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยตั้งจุดตรวจจุดสกัดดูแลความมั่นคงเท่านั้น
พล.ต.ธนา จารุวัต โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า การตรวจค้นรถของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และผู้ติดตาม เป็นการตั้งด่านลอยเพื่อตรวจค้นตามปกติ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะรถ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคันเดียว ยอมรับว่าช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงค่อนข้างเข้มงวดเพื่อป้องกันการก่อเหตุวางระเบิดอย่างที่สยามพารากอน กรุงเทพฯ ได้ ดังนั้นทหารกองทัพภาคที่ 3 โดยมณฑลทหารบกที่ 33 กองพันทหารราบที่ 7 และกองพลพัฒนาที่ 3 จึงร่วมกับตำรวจ จ.เชียงใหม่ ตั้งด่านลอยในพื้นที่ถนนสายหลักหลายอำเภอของ จ.เชียงใหม่ เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ตรวจค้นอาวุธและยาเสพติด ซึ่งเป็นการตั้งด่านตามปกติ
"ส่วนการตรวจรถยนต์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ขอยืนยันว่าทหารไม่ได้เจาะจงตั้งด่านเพื่อตรวจค้นรถเฉพาะคัน เมื่อมีรถผ่านด่านทหารตำรวจก็ตรวจตามปกติ เมื่อทราบว่าเป็นรถของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทหารได้อำนวยความสะดวก ให้เกียรติในความเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เพียงแต่มองดูว่ามีบุคคลใดนั่งมาในรถด้วยเท่านั้น
ไม่ได้ตรวจค้นอะไร แต่สำหรับผู้ติดตามได้ตรวจค้นตามปกติเช่นรถทุกคันที่ผ่านเส้นทางที่ตั้งด่าน เมื่อผลการตรวจค้นไม่พบความผิดปกติก็ให้ผ่านไป" พล.ต.ธนากล่าว และว่า สำหรับด่านดังกล่าวได้ตั้งตั้งแต่ในช่วงนี้ เวลา 22.00 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ จนถึงเวลา 12.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์หยุดการตั้งด่านตรวจค้น เป็นการตรวจตามมาตรการ ไม่ได้เจาะจงตั้งด่านเฉพาะช่วงเวลาที่ขบวนรถอดีตนายกรัฐมนตรีผ่านแต่อย่างใด
@ ขออภัยหากทำ"ปู"ไม่สบายใจ
พล.ต.ศรายุธ รังษี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 (ผบ.มทบ.33) กล่าวว่า ทหารไม่ได้ตรวจค้นรถ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพราะให้เกียรติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยเมื่อเข้าพื้นที่ แต่ยอมรับว่ามีการตรวจค้นรถในขบวน แต่ไม่ได้แตะต้องรถอดีตนายกรัฐมนตรีเลย รวมทั้งการจัดรถทหารตามประกบก็เป็นเพียงการดูแลรักษาความปลอดภัยเมื่อมีบุคคลระดับวีไอพีเข้าพื้นที่เท่านั้น
"ต้องขออภัยหากทำให้อดีตนายกฯไม่สบายใจ แต่ทหารตั้งจุดตรวจร่วมกับตำรวจเพื่อดูแลบุคคลระดับวีไอพี เบื้องต้นได้สั่งยกเลิกด่านจุดตรวจดังกล่าวแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นการร้องขอจากอดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าทหารมีวิธีดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลระดับวีไอพีในพื้นที่ตามระเบียบอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการตามประกบ อย่าคิดมากว่าทหารตามเพราะกลัวหนีออกนอกประเทศ แต่เป็นการดูแลบุคคลสำคัญตามระเบียบเท่านั้น" พล.ต.ศรายุธกล่าว
@ "บิ๊กป้อม"แจงกลัวมือที่3ป่วน
ที่บ้านเกษะโกมล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ได้ค้น เจ้าหน้าที่เพียงแต่เข้าไปดูแลความปลอดภัย ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความคิดจะเข้าไปควบคุมอะไร ทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กลัวมือที่ 3 ทำความเสียหายเท่านั้น และไม่สั่งตามประกบทั้งสิ้น แค่ดูแลความปลอดภัย หากไม่สบายใจทางแม่ทัพภาคที่ 3 ก็คงขยับขยายให้
ผู้สื่อข่าวถามว่าทาง คสช.ได้สั่งการอะไรในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ได้สั่ง คสช.สั่งเพียงภาพรวมว่าเจ้าหน้าที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะระดับวีไอพี เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อถามว่ามีความกังวลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางหลบหนีคดีหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่หรอก ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ท่านเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านรู้ดี"
@ "บิ๊กตู่"ชี้แค่บังเอิญตรวจเจอรถ"ปู"
เมื่อเวลา 21.10 น. วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) หลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้ ทำอย่างเต็มที่ในการพูดคุยหารือและสร้างความพันธ์กันระหว่างประเทศ และในรายละเอียดต้องพูดคุยกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจก็จะร่วมมือกันหลายกิจกรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างการเยือนต่างประเทศได้รับรายงานสถานการณ์การเมืองหรือไม่ เนื่องจากทหารเข้าตรวจค้นรถยนต์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า
ยังไม่ทราบ เดี๋ยวจะสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องดู
"คงไม่มีอะไรหรอก เขาคงเป็นกังวล ก็คงไม่มีอะไรหรอกนะ เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เขาตรวจรถทุกคัน แล้วบังเอิญเจอรถของอดีตนายกฯพอดี พอเจอแล้วเขาคงไม่ค้นต่ออะไรมากมายอยู่แล้ว จะไปค้นอะไรกันนักหนา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่มีการมองว่าการกระทำดังกล่าวเหมือนไม่ให้เกียรติอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ให้เกียรติมาโดยตลอด นี่ก็ให้เกียรติ"
@ แฉอสส.ส่งเอกสารห้าม"ปู"ไปนอก
เมื่อถามถึงกรณีไม่อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้สั่งการ เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง อย่าให้เป็นเรื่องนักเลย การจะไปหรือไม่ไปต่างประเทศ ต้องไปดูว่าฝ่ายกฎหมายว่าอย่างไร เท่าที่จำได้ ตนบอกไปครั้งหนึ่งแล้วว่าเป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมาย เรื่องนี้อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ทำเรื่องมาเป็นเอกสารถึง คสช.ไม่ให้อดีตนายกฯเดินทางออกนอกประเทศใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ถูกต้อง ผมเห็นเอกสารดังกล่าว เอกสารบอกมาชัดเจน"
เมื่อถามว่า แต่ทาง อสส.ยืนยันไม่ได้ทำเอกสารดังกล่าวมาที่ คสช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไปดูเอกสาร อสส.สิ มีเอกสารอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เอามาเผยแพร่ให้พวกคุณดู ยืนยันว่าผมเห็นเอกสารว่าเขาขอว่าเอาไว้ก่อน ก็ไปดูเอกสารราชการเขาสิ มีเอกสารอยู่ เขาไม่ได้มาแพร่ให้คุณดูเท่านั้น ผมเห็นเอกสารเขาใช้คำว่าไม่ควรให้เดินทาง ผมก็อนุมัติตามเสนอ เข้าใจยัง"
@ ตร.วางกำลังคุ้มกัน"พระสุเทพ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ต.อ.ศรายุทธ จุณณวัตต์ ผกก.สน.หัวหมาก มีหนังสือขอกำลังสนับสนุนภารกิจรักษาความปลอดภัยพระสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่จะเดินทางมาบิณฑบาตและเทศนาธรรมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ไปยังผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 (ผบก.น.4) เพื่อรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอกำลังสนับสนุน 1.ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) บก.น.4 จำนวน 1 หมวด 2.กำลังจู่โจม บก.น.4 1 ชุดปฏิบัติการ 3.สืบสวนนครบาล 4 จำนวน 2 นาย 4.หน่วยเก็บกู้ระเบิด จำนวน 1 ชุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมีการเปรียบเทียบ 2 เหตุการณ์ และตั้งคำถามว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่
@ มธ.ติดป้ายขอปชต.ถึงคสช.
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารบรรยายเรียนรวม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบว่ามีการติดแผ่นป้ายข้อความโจมตีระบบการปกครองอย่างรุนแรง
นายศิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มธ. เปิดเผยว่า ป้ายเป็นของนักศึกษาที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสภาหน้าโดมเป็นผู้ติด ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่สนามศุภชลาศัยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่มีทหารและตำรวจได้ยึดป้ายผ้าล้อการเมืองของนักศึกษา มธ.ไปจำนวนหนึ่ง
"การติดป้ายเป็นเพียงการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อไปถึง คสช.ว่าประชาชนต้องการระบอบประชาธิปไตยกลับมาโดยเร็วที่สุด ป้ายที่ติดอยู่ตามสถานที่หลายจุดใน มธ.ถูกปลดออกเกือบหมดแล้วภายในระยะเวลาไม่นาน นี่ก็คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่ผ่านมาทางกลุ่มสภาหน้าโดมตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ต้องการแสดงออก แต่ถูก คสช.ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ตลอดจนการข่มขู่คุกคาม" นายศิรวิชญ์กล่าว และว่า ขอเรียกร้องให้ คสช.คืนอำนาจให้กับประชาชน และให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว