- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 11 February 2015 10:01
- Hits: 3988
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8841 ข่าวสดรายวัน
ยันไม่ได้ค้นรถปู ทหารโต้ บิ๊กตู่ชี้ตรวจเฉยๆ นายกพอใจผลเยือนยุ่น ปลื้มได้นั่ง'ชินคันเซ็น'ปปช.เรียก'ยิ่งลักษณ์'พบอสส.คดีข้าว 19 กพ.
ชินคันเซ็น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยภริยา เยี่ยมชมและดูงานระบบขนส่งระบบราง โดยทดลองนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงชินคันเซ็น จากโตเกียวไปยังโอซากา ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. |
'ปู'ไปเชียงใหม่ทำบุญไหว้บรรพ บุรุษ เจอด่านทหารตรวจเข้ม มทภ.3 แจงแค่ด่านความมั่นคง ยันไม่ได้ค้นรถอดีตนายกฯ ผบ.มทบ.33 โต้ส่งทหารตามประกบ อ้างเป็นมาตรการดูแลบุคคลวีไอพี 'บิ๊กป้อม'ปฏิเสธ คสช.ไม่ได้สั่ง 'บิ๊กตู่' ยันมีเอกสารชัด อสส.สั่งห้ามอดีต นายกฯ ไปนอก ปลื้มนั่ง'ชินคันเซ็น' ทูตอังกฤษยืนยันมิตรภาพไทย-อังกฤษ แม้บางเรื่อง เห็นต่าง ป.ป.ช.ส่งหนังสือแจ้ง'ยิ่งลักษณ์' รายงานตัวอสส. 19 ก.พ. เพื่อส่งฟ้องอาญาคดีจำนำข้าว
ปูไปเชียงใหม่เจอตรวจเข้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หลัง คสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศตามคำขอว่า อดีตนายกฯ เดินทางไปยัง จ.เชียงใหม่ ช่วงบ่ายวันที่ 9 ก.พ. เพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ และรอรับ ด.ช.ศุภเสกข์ หรือน้องไปป์ อมรฉัตร ที่มาเข้าค่าย อ.แม่ริม ระหว่าง 8-13 ก.พ. ซึ่งการเดินทางกลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสืบข่าวถึงบ้านพักที่หมู่บ้านกรีน วัลเล่ย์ อ.แม่ริม ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าสอบถาม รปภ.ประจำบ้านพักว่ามีการเข้าพักจริงหรือไม่ และมีใครเข้าพักบ้าง
และช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ (10 ก.พ.) ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมผู้ติดตามและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกำลังออกจากบ้านพัก กรีนวัลเล่ย์ เพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษร่วมกับญาติๆ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตั้งด่านเรียกตรวจรถของอดีตนายกฯ และเจ้าหน้าที่ที่ติดตามเพื่อรักษาความปลอดภัย ซึ่งขณะนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งอยู่ในรถโฟล์กตู้ ทะเบียน กธ 77 เชียงใหม่ แสดงความบริสุทธิ์ใจให้เจ้าหน้าที่ตรวจ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังติดตามความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ ตลอดทั้งวัน
ทหาร-ตร.ตามประกบ
หลังถูกตรวจค้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงเดินทางไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพ บุรุษที่วัดโรงธรรมสามัคคีตามปกติ รวมทั้งเดินที่ตลาดสันกำแพงด้วย ซึ่งยังคงได้รับ การต้อนรับจากประชาชนและพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงแวะรับประทานอาหารที่บ้านคุณจุก และไปบ้านญาติ ร้านชินวัตรไหมไทย และเดินทางกลับหมู่บ้านกรีนวัลเล่ย์ อ.แม่ริม
ช่วงบ่ายทางแม่ทัพภาคที่ 3 สั่งยกเลิกจุดตรวจบริเวณดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเปลี่ยนมาใส่ชุดนอกเครื่องแบบมาติดตามเฝ้าสังเกตการณ์คณะของอดีตนายกฯ โดยใช้รถปิกอัพ 3-4 คัน หนึ่งในนั้นเป็นโตโยต้า สีน้ำเงิน ทะเบียน 6046 ลพบุรี จอดที่หน้าหมู่บ้านและภายในหมู่บ้าน
มทภ.3 โต้ตรวจค้นรถยิ่งลักษณ์
พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงข่าวทหารเรียกตรวจรถน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ยืนยันทหารไม่ได้ตรวจค้นรถของอดีตนายกฯ แต่ทางทหารของมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตั้งจุดตรวจจุดสกัดดูแลความมั่นคงเท่านั้น
พล.ต.ธนา จารุวัต เสนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ในฐานะโฆษกกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า เป็นการตั้งจุดตรวจจุดสกัดหรือด่านตรวจความมั่นคงตามปกติร่วมกับตำรวจ เจ้าหน้าที่จะตั้งด่านตั้งแต่เวลา 22.00-12.00 น. ของอีกวันเพื่อรักษาความปลอดภัย ประกอบกับมีกระแสข่าวเรื่องยาเสพติดและความเคลื่อน ไหวที่จะก่อความวุ่นวาย จึงต้องเข้มงวดกวดขันด้านความมั่นคงและจะเปลี่ยนเส้นทางตั้งด่านทุกวัน และตรวจค้นรถทุกคันไม่ได้เจาะจงบุคคล
พล.ต.ศรายุทธ รังษี ผบ.มทบ.33 กล่าวยืนยันว่า ทหารไม่ได้ตรวจค้นรถอดีตนายกฯ เพราะให้เกียรติ ยอมรับว่าตรวจค้นรถในขบวนแต่ไม่ได้แตะต้องรถอดีตนายกฯ เลยแม้แต่น้อย และขอปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งทหารตามประกบ เป็นเพียงการดูแลรักษาความปลอดภัยเมื่อวีไอพีเข้าพื้นที่รับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น
แถลงโต้ค้นรถ-พร้อมถอนกำลัง
จากนั้นเวลา 16.30 น. ที่ค่ายกาวิละ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พล.ต.ศรายุทธ ในฐานะ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบ ร้อย มทบ.33 ซึ่งดูแลความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ ชี้แจงข่าวทหารเรียกตรวจรถของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถนนทางเข้าหมู่บ้านกรีน วัลเล่ย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมนำภาพเหตุการณ์มาแสดงว่า ทหารร่วมปฏิบัติหน้าที่กับตำรวจสภ.แม่ริม ซึ่งไม่ได้ตรวจค้นรถ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือกระทำการพลการ แต่พอมีข่าวออกมาเราก็ไม่สบายใจ ยืนยันไม่ได้ตรวจค้นและไม่ได้เรียกน.ส.ยิ่งลักษณ์ลง จากรถ เราปฏิบัติหน้าที่ดูแลบุคคลสำคัญ ตามปกติ และพร้อมถอนกำลังออกตรงจุดที่น.ส.ยิ่งลักษณ์พักอยู่เพื่อความสบายใจ
ผบ.มทบ.33 กล่าวว่า การเผยแพร่ภาพดังกล่าวออกมาด้านเดียวเหมือนดิสเครดิตการทำงานของทหารร่วมกับตำรวจที่เข้าไปดูแลบุคคลสำคัญ ทราบว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์มีชุดคุ้มกันติดตามมาด้วยหลายคน และยังคงรับราชการอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีข้าราชการมารักษาความปลอดภัยให้นักการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
'ประวิตร'ปัดคสช.ไม่ได้สั่ง
ที่บ้านเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม กล่าวถึงทหารตรวจขบวนรถของน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ จ.เชียงใหม่ว่า ไม่ได้ตรวจค้นหรือควบคุมตัว แต่เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัย ขอยืนยันเจ้าหน้าที่ไม่มีความคิดจะทำอย่างนั้น แต่การดำเนินการดังกล่าวเพราะกลัวมือที่สามจะมาทำให้เกิดความเสียหาย และถ้าหนักหนาอะไรตนจะพิจารณาอีกที
"ถือเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยทั้งทหารและตำรวจ เพราะห่วงเรื่องมือที่ 3 ยืนยันไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตามประกบอดีตนายกฯ แต่อยากให้ท่านปลอดภัยไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ใด ถือเป็นเจตนาดีของ เจ้าหน้าที่" พล.อ.ประวิตรกล่าว
เมื่อถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์รู้สึกไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าแม่ทัพภาคที่ 3 คงจะขยับขยายจุดตรวจ ดังกล่าวแล้ว จะติดตามดูอีกที ยืนยันไม่ใช่คำสั่งของคสช. เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ คสช.ดูแลในภาพรวม ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยบุคคลระดับวีไอพี
เมื่อถามว่าไม่ได้กลัวอดีตนายกฯหนีออกนอกประเทศใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าคงไม่ใช่ จะหลบหนีอย่างไร อดีตนายกฯเป็นผู้ใหญ่แล้วก็รู้ดี ส่วนจะแจ้งให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ทราบล่วงหน้าที่จุดตรวจดังกล่าวหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่ ถือเป็นความปราถนาดี และยังเป็นถึงอดีต นายกฯก็ต้องดูแล ตอนอยู่ กทม.เราก็ดูแลแบบนี้ ยืนยันไม่ใช่การแก้แค้นหรือจำกัดว่าต้องไปอย่างโน้นอย่างนี้
พระสุเทพตักบาตรม.รามฯ
วันเดียวกัน เวลา 07.00 น. ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พระสุเทพ ปภากโร พร้อมด้วยพระอิสสระ โกสโล พระอุทัย อุทโย และพระสงฆ์ จากวัดชลประทานรังสฤษดิ์ รวมพระทั้งหมด 9 รูป ออกบิณฑบาตในมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีน.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และประชาชนกว่า 60 คนมาร่วมใส่บาตร มีกำลังตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบจากสน.หัวหมาก ชุดปจ.บก.น. 4 และเจ้าหน้าที่ทหาร รวมกว่า 100 นาย คอยดูแลความเรียบร้อยบริเวณ ดังกล่าว
พระอุทัย อุทโย กล่าวว่าการออกมาบิณฑบาตเพื่อโปรดญาติโยมศิษย์เก่าและปัจจุบันในมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจะมาประชาสัมพันธ์นักศึกษาเข้าร่วมอุปสมบทหมู่ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ที่จัดอุปสมบทหมู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างซอย 57-59 สำนักพิมพ์รามฯและตรงสะพานวัดเทพลีลาตรงสะพานลอยถนนรามคำแหง มีผู้นำป้ายผ้าข้อความว่า "ขอไบก้อน ฉีดเห็บศาสนา" และข้อความว่า "พระถนอม(2)มาแล้ว" มาแขวนไว้ด้วย
ปปช.แจ้งปูพบอสส.19 กพ.
เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. เผยความคืบหน้าการส่งหนังสือเรียกตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกชี้มูลความผิดทางอาญากรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวให้แก่อัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อส่งฟ้อง คดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า อสส.ทำหนังสือแจ้งมายังตนแล้วว่า จะสั่งฟ้องคดีอาญาน.ส. ยิ่งลักษณ์ จึงขอให้ป.ป.ช.ส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาไปยังอสส.ในวันที่ 19 ก.พ. เวลา 10.00 น. เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งการประชุม ป.ป.ช.วันที่ 10 ก.พ. มีมติให้สำนักงานป.ป.ช.ออกหนังสือแจ้งไปให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบเพื่อไปรายงานตัวในวันดังกล่าวแล้ว ซึ่งวันนี้เลขาธิการป.ป.ช.ส่งหนังสือให้น.ส. ยิ่งลักษณ์แล้ว วันที่ 19 ก.พ. น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเดินทางไปรายงานตัวต่ออสส. หากไม่เดินทางมาอสส.จะส่งฟ้องเลย ซึ่งเป็นเรื่องของศาลฎีกาฯว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ตรวจรถ"ปู" - ทหารด่านความมั่นคง ตรวจ รถตู้ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ออกจากบ้านพัก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ไปทำบุญไหว้บรรพบุรุษ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. โดยทหารแถลงข่าวยืนยันไม่ได้ตรวจค้นภายในรถแต่อย่างใด |
นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนการส่งสำนวนคดีอาญานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความ ผิดกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)โดย มิชอบ ให้แก่อสส.นั้น ขณะนี้กรรมการป.ป.ช.ได้ลงลายชื่อในสำนวนเสร็จหมดแล้ว ได้ให้เจ้าหน้าที่รีบประสานกับฝ่าย อสส.อยู่ เนื่องจากต้องส่งสำนวนหลังวันที่ประชุมมีมติรับรองภายใน 14 วัน คาดว่าจะส่งสำนวนให้อสส.ได้ภายในสัปดาห์หน้า
ทูตอังกฤษยันสัมพันธ์ไทย
เวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย มาร์ก แอนดรูว์ เจฟฟรีย์ เคนต์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ใช้เวลาหารือ 1 ชั่วโมงครึ่ง
เอกอัครทูตสหราชอาณาจักร เผยว่า ได้หารือเรื่องทั่วไปและสถานการณ์ภายในประเทศไทย ท่าทีของอังกฤษที่มีสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมานานกว่า 400 ปี มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับรัฐบาลไทยตลอด เมื่อถามว่าได้หารือเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีคสช.เรียกบุคคลไปปรับทัศนคติ และดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เอกอัครราชทูตกล่าวว่าตนเป็นนักกฎหมาย มองว่าการเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศอังกฤษยินดีร่วมมือกับไทยแม้จะมีบางเรื่องที่อาจไม่เห็นด้วย แต่ความสัมพันธ์ไทยและอังกฤษยังเป็นมิตรที่ดี และมีความร่วมมือทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และการศึกษา รวมถึงด้านการท่องเที่ยว
เมื่อถามว่า บางประเทศแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย นายเคนต์กล่าวว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ(ยูเอ็น) และเป็นประเทศที่มี อัตลักษณ์และแนวทางปฏิบัติของตัวเอง หากมีเรื่องอะไรที่น่าเป็นห่วงก็จะพูดคุยกัน ยืนยันว่าหน้าที่ในการปกครองประเทศขึ้นอยู่กับคนไทยและรัฐบาลไทย
มท.1 รับทุกฝ่ายอยากเห็นปชต.
ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ยังคงแสดงท่าทีให้ไทยเร่งคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว ว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันที่อยากให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งต้องมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมา ธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญก็เร่งเต็มที่ เพื่อไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิป ไตย ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากทุกภาคส่วน จากนั้นต้องจัดทำกฎหมาย ลูกออกมาให้เร็ว อย่างไรก็ตาม มองว่าการ แก้รัฐธรรมนูญมากอาจมีปัญหา ทำให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องแก้ไขกฎระเบียบตามไปอีกจำนวนมากซึ่งต้องใช้เวลา
เมื่อถามว่าต่างประเทศพยายามบีบให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเร็วขึ้นกว่านี้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่าไม่บีบ แต่เราบีบตัวเองเหมือนกันเพื่อให้เป็นไปตามโรดแม็ป แต่ตนคงไม่สามารถตอบแทนกมธ.ยกร่างฯ ได้
ย้ำเหตุผลคงกฎอัยการศึก
ส่วนที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมชูป้ายผ้าประท้วงขอให้ไทยเร่งยกเลิกกฎอัยการศึกระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เยือนญี่ปุ่น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่าการแสดงออก ดังกล่าวเป็นเรื่องของความเห็น เรารับฟังและต้องชั่งน้ำหนัก หากสถานการณ์เรียบร้อย มั่นคง และมีเสถียรภาพ ทุกอย่างเดินได้โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ซึ่งต่างชาติอยากเห็น ดังนั้นอยากให้สถานการณ์ทุกอย่างนิ่ง
เมื่อถามถึงนายรูเพิร์ต แอ็บบอต ผอ.งานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์กังวล ที่กองทัพไทยเพิ่มอำนาจให้ตนเองมากขึ้น รวมทั้งสั่งควบคุมตัวบุคคลได้โดยพลการ ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่าหลักสิทธิมนุษยชนก็ว่ากันไป แต่เรารู้ดีว่าเราไม่ได้ละเมิดหรือลิดรอนสิทธิใคร ยกเว้นว่าบุคคลใดกระทำผิด คนที่ไม่ได้ทำผิดก็ไม่มีปัญหา ที่สำคัญเราไม่ได้เพิ่มอำนาจ การประกาศกฎอัยการศึกไม่ได้ออกข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้เพิ่มเติม เป็นเพียงหลักประกันเพื่อให้สังคมเกิดความเรียบร้อยเท่านั้น
ปรับโครงการวิปสปช.
เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือ วิปสปช. แถลงว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ต้องการให้แก้ข้อบังคับการประชุมสปช. เนื่องจากเห็นว่าวิปสปช.จำเป็นต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับครม. คสช. และสนช. จึงต้องการแก้ข้อบังคับในสัดส่วนของวิปสปช. ให้บุคคลจากครม. คสช. และสนช. เข้ามาเป็นวิปสปช.ได้ เพื่อให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการแก้ข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการเสนอกฎหมายปฏิรูป จากนี้หากเป็นเรื่องกฎหมายจะพิจารณาโดยเร็ว จะไม่มีกระบวนการแปรญัตติ แต่ให้ที่ประชุมพิจารณาให้เสร็จภายใน 7 วัน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ประชุมติดตามงานกมธ.18คณะ
นายวันชัย กล่าวต่อว่า วันที่ 11 ก.พ. เวลา 11.30 น. จะมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการประสานงานของประธานสปช. เพื่อพิจารณาความคืบหน้าของกมธ. 18 คณะ และคณะกรรมการชุดพิเศษ 5 คณะ โดยมีตัวแทนจากสนช. ครม. และคสช. เข้าร่วม โดยสปช.จะรายงานความคืบหน้าวาระการปฏิรูป 36 วาระอย่างละเอียด เพราะการประชุมแม่น้ำ 5 สายครั้งที่ผ่านมา รายงานคร่าวๆ ไม่ได้ลงรายละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความคล่องตัวในการปฏิรูป
นายวันชัย กล่าวว่า ทั้งนี้กมธ.ทั้ง 18 คณะ จะรายงานให้ประธานสปช. รับทราบว่าแต่ละคณะมีเรื่องใดเสร็จบ้าง และจะนำเข้าที่ประชุมเมื่อใด เนื่องจากประธานสปช.กำหนดว่ากรอบการปฏิรูปต้องเสร็จภายในวันที่ 21 ก.พ. และเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จในวันที่ 10 เม.ย. นอกจากนี้ จะพิจารณาการออกกฎหมายลูก การปฏิรูปตำรวจ โดยภายในวันที่ 15 มี.ค. จะมีความชัดเจนในกรอบการปฏิรูปตำรวจ รวมถึงประเด็นเรื่องศาสนาที่พระบางรูปมีเงินมากกว่าปกติ ทางสปช.ซึ่งมีกมธ.ศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา อยู่แล้ว แต่ประธานสปช. เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่กระทบคนจำนวนมากจึงตั้งกมธ.ปฏิรูปศาสนา เป็นพิเศษขึ้นมาอีกหนึ่งชุด
อนุกมธ.เชิญกสม.แจงยุบรวม
เวลา 10.00 น. คณะอนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระในกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. มีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาสภาพโครงสร้างขององค์กรอิสระ โดยเชิญนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเลขาธิการ กสม. พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี ในฐานะรองประธานอนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองฯ กล่าวว่า ที่ประชุมหารือกรณีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอให้ยุบรวม กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งกสม.ให้ข้อมูลพร้อมตอบข้อซักถามอย่างละเอียดเห็นว่าไม่ควรยุบ กสม.รวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน อนุกมธ.จะเก็บข้อมูลไว้เพื่อพิจารณา คาดจะส่งความเห็นให้แก่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ภายในเดือนก.พ.นี้ นอกจากนี้ อนุกมธ.จะเชิญองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน มาหารือและรับข้อเสนอต่างๆ ด้วย ซึ่งพร้อมรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เชื่อว่าข้อเสนอต่างๆ จะไม่ขัดแย้งกับกมธ.ยกร่างฯ
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.กล่าวว่า ได้ให้ข้อมูลเรื่องกระบวนการการตรวจสอบที่หลายฝ่ายมองว่าทำงานซับซ้อนกัน ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนแค่ชื่อเท่านั้นแต่รายละเอียดการทำงานแตกต่างกัน และเสนอเพิ่มเติมเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนแง่ของการปฏิญญาสากลและพันธกรณีอีก 7 ฉบับ รวมถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขณะนี้กสม.ทำงานมากกว่าการตรวจสอบ แต่กมธ.ยกร่างฯ ยังเข้าใจผิดว่าองค์กรพิทักษ์สิทธิ คือ กสม. ทั้งที่องค์กรพิทักษ์เป็นเรื่องของประชาชน แต่ กสม.มีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน กสม.ยื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านเรื่องดังกล่าวไปยังแม่น้ำทั้ง 4 สาย คือ สปช. สนช. คณะรัฐมนตรี และกมธ.ยกร่างฯ แล้ว พร้อมชี้แจงกับทุกฝ่าย
วิษณุแจงปมส.ว.สืบทอดอำนาจ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด อาจเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลและ คสช.ว่า ประเทศไทยเคยมีส.ว. แต่งตั้งมาแล้ว เคยมีส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และส.ว.ระบบผสม จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการแต่งตั้งเป็นลักษณะใด หากแต่งตั้งโดยองค์กรหรือคณะ ไม่สามารถสรุปได้ว่าสืบทอดอำนาจของคสช. แต่หากแต่งตั้งในอีกแบบหนึ่งก็อาจสรุปได้เหมือนกันว่าสืบทอดอำนาจ ต้องดูว่าใครเป็นคนแต่งตั้ง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็เช่นกันจะมีข้อครหาอีกแบบหนึ่ง เช่น สภาผัวสภาเมีย หากคิดกระบวนการเลือกตั้งไม่ให้ซ้ำซ้อนในเรื่องคุณสมบัติ ไม่ให้สามีภรรยาอยู่คนละสภาก็ปิดช่องโหว่ จึงอยู่ที่การคิดระบบว่าควรเป็นอย่างไร
ไหว้อัฐิ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และญาติๆ ทำพิธีไหว้อัฐิบรรพบุรุษตระกูลชินวัตร ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ระหว่างเดินทางมาพักผ่อนที่บ้านเกิด เมื่อวันที่ 10 ก.พ. |
นายวิษณุ กล่าวว่า ในฐานะรองนายกฯ ที่ดูแลด้านกฎหมาย รู้สึกพอใจกับการทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ เพราะทำงานได้เร็ว ขณะนี้ผ่านไปแล้วเดือนครึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้ว 60-70% นอกจากนี้ หลักการหลายอย่างที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนมานั้นถือป็นการปฏิรูป แม้บางจุดจะขัดแย้งกันอยู่
เมื่อถามว่า การไม่ให้ กกต.จัดเลือกตั้งจะเกิดปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ระบุเดิมให้ กกต.จัดเลือกตั้งและเกิดปัญหา เขาจึงเชื่อว่าเมื่อมีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) แล้วจะไม่เกิดปัญหา ซึ่งพอฟังได้ แต่เรายังไม่เคยทดลองเท่านั้นเอง
'ประวิตร'หัวโต๊ะครม.
เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี และ รมว.กลาโหม รักษาการนายกฯ เป็นประธานการประชุม ครม. บรรยากาศเงียบ เหงา เนื่องจากมีรัฐมนตรีหลายคนที่ร่วม คณะไปกับนายกฯ อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพศิษฐ รมช.คมนาคม นางกอบกาญจน์ รัตนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ขณะที่พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. มีภารกิจที่ประเทศสิงคโปร์
เวลา 13.30 น. นายดิสทัต โหตระ กิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่เกี่ยว ข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ พ.ศ. ... มีความคืบหน้าร้อยละ 60 ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับอื่น คณะกรรมการกฤษฎีกาจะเริ่มพิจารณาเพราะต้องทบทวนประเด็นที่มีข้อห่วงใย โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงอาจจะล่าช้า เพราะต้องพิจารณาให้ชัดเจน
เล็งถกสื่อแก้พรบ.ไซเบอร์
นายดิสทัต กล่าวว่า ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีการับฟังความคิดเห็นอยู่ตลอดและได้ปรับแก้เนื้อหาบางส่วน อาทิ เรื่องโครงสร้าง ส่วนอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ศึกษาอย่างละเอียดว่าควรเป็นระบบอย่างไร ต่างประเทศทำแบบไหน กฎหมายอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันเป็นอย่างไร แล้วนำมาพิจารณาปรับแก้ไขเพื่อไม่ปล่อยให้ เจ้าหน้าที่เข้าไปดูข้อมูลของประชาชนได้ตามใจ เราจะนัดหารือกับผู้แทนองค์กรสื่อสารมวลชน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ พร้อมหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ต้องตั้งประเด็นให้ครบก่อนแล้วจึงไปพูดคุย หากได้ความเห็นที่ดีกว่าจะรับฟังแล้วนำมาปรับแก้ไขร่างกฎหมาย
เมื่อถามว่า จะต้องแก้ไขร่างพ.ร.บ.นี้ทั้งฉบับนี้ใช่หรือไม่ นายดิสทัตกล่าวว่า ไม่ได้แก้ไขทั้งหมด มีเพียง 2 มาตราที่เกิดความแคลงใจในเนื้อหาที่ดูเหมือนให้เจ้าหน้าที่ทำได้เลย ทั้งที่เขาไม่มีเจตนาอย่างนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ อาจถูกฟ้องร้อง จึงมีการระบุว่ากรณีเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูข้อมูลได้ต้องผ่านขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ประยุทธ์ดูระบบราง-นั่งชินคันเซ็น
ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เวลา 08.10 น. ที่กรุงโตเกียว ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง นายกฯ เดินทางไปยังอาคาร Sapia Tower สถานีรถไฟโตเกียว รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานีรถไฟโตเกียว รถไฟสายต่างๆ และการพัฒนาด้านระบบรางของญี่ปุ่น โดยมีนายฮิโรชิ มูโต้ รองปลัดกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (ฝ่ายความร่วมมือต่างประเทศ) ต้อนรับนายฮิโรชิ ยืนยันว่าประสบการณ์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นสามารถนำมาพัฒนาแผนระบบรางของ ไทยได้
นายกฯ กล่าวชื่นชมความทันสมัยของเทคโนโลยีญี่ปุ่นพร้อมระบุว่าไทยมีแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟ เริ่มจากพัฒนารางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งไทยก็อยากให้มีชินคันเซ็นเช่นกัน ขึ้นกับการให้ความสนับสนุนของญี่ปุ่น
หลังการบรรยายเสร็จสิ้น นายกฯ และคณะเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ที่ชั้น 10 สถานีรถไฟโตเกียว ก่อนทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น จากสถานีโตเกียวไปยังนครโอซากา
ย้ำโรดแม็ปเป้าหมายเลือกตั้ง
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่าได้หารือร่วมกับภาครัฐและภาคธุรกิจของญี่ปุ่นหลายราย รวมถึงหารือทวิภาคีกับนายกฯ ญี่ปุ่น ไทยเน้นย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันและความร่วมมือในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชา คมอาเซียน ด้วยการสนับสนุนไทยให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบราง และนำเสนอเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 4 ประเทศ เพื่อส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้รับฟังบรรยายสรุปเรื่องการพัฒนาด้านระบบรางของญี่ปุ่น และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นที่สถานีรถไฟโตเกียว ได้โดยสารรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นไปยังนครโอซากา
นายกฯ กล่าวว่า ซึ่งพอใจการเดินทางเยือนครั้งนี้เพราะญี่ปุ่นให้เกียรติไทยอย่างเต็มที่และพูดคุยกันในหลายมิติ นำปัญหาและอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนมาร่วมกันแก้ไข และหาแนวทางการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ขณะที่เรื่องการพัฒนาระบบรางของไทยนำเสนอแนวทางการร่วมทุนเนื่องจากไทยมีที่ดินอยู่แล้ว เชื่อว่าหากไทยมีรถไฟความเร็วสูงจะได้รับประโยชน์ในด้านการค้าขายที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เนื่องจากตลอดเส้นทางการเดินรถไฟและสถานีจะทำการค้าขายได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองของไทยนั้นญี่ปุ่นเข้าใจและเชื่อมั่นด้วยดี ตนชี้แจงว่าไทยได้เดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตามแผนโรดแม็ป การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะใช้เวลาอีกไม่นาน คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559 และยืนยันว่าตนเองเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้ามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน
ให้สัมภาษณ์เอ็นเอชเค
เว็บไซด์ของเอ็นเอชเคเผยแพร่คำสัมภาษณ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ 'เอ็กซ์คลูซีฟ' เมื่อวันที่ 9 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเลือกตั้งส.ส.ในประเทศไทยว่า หากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่นอาจทำให้มีการเลือกตั้งเร็วสุดปลายปีนี้ 2558 หรือต้นปี 2559
เอ็นเอชเครายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศเมื่อเดือนพ.ค.2557 ก่อนจะได้รับตำแหน่งนายกฯ เมื่อเดือนส.ค. ยังชี้ถึงความจำเป็นที่ยังต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อไป โดยระบุว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้ามทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยก และกฎอัยการศึก กำลังช่วยสร้างเสถียรภาพและความปลอดภัยในไทย
เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานอีกว่า พล.อ. ประยุทธ์ย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยยังคงต้องการความสนับสนุนจากประชาคมโลก รวมทั้งญี่ปุ่น เพื่อช่วยทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ตรวจรถ'ปู'เรื่องบังเอิญ
เวลา 21.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ หลังเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ว่า การไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ทำอย่างเต็มที่ในการพูดคุยหารือและสร้างความพันธ์กันระหว่างประเทศ และในรายละเอียดต้องพูดคุยกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจจะมีการร่วมมือกันหลายกิจกรรม
เมื่อถามว่าได้รับรายงานสถานการณ์การเมืองหรือไม่ เพราะล่าสุดมีทหารเข้าตรวจค้นรถยนต์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบ เดี๋ยว จะสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องดู
"คงไม่มีอะไร เขาคงเป็นกังวล ก็คงไม่มีอะไร เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจรถทุกคัน มันก็ต้องตรวจ ซึ่งบังเอิญเจอรถอดีตนายกฯ พอดี เจอแล้วเขาคงไม่ค้นต่ออะไรมากมาย อยู่แล้ว จะไปค้นอะไรกันนักหนา" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว เมื่อถามว่า มีการมองว่าการกระทำดังกล่าวเหมือนไม่ให้เกียรติอดีต นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้เกียรติมาโดยตลอด นี่ก็ให้เกียรติ
ยันอสส.ห้ามอดีตนายกฯไปตปท.
สำหรับ การไม่อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้สั่งการ เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง อย่าให้เป็นเรื่องนักเลย การจะไปหรือไม่ไปต่างประเทศก็ต้องไปดูว่าฝ่ายกฎหมายว่าอย่างไร และเท่าที่จำได้ตนบอกไปครั้งหนึ่งแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมาย ซึ่งเรื่องดังกล่าว อสส.ได้ทำเรื่องมาเป็นเอกสาร
เมื่อถามย้ำว่า สรุปว่า อสส.เป็นคนทำหนังสือถึง คสช.ไม่ให้อดีตนายกฯ เดินทาง ออกนอกประเทศใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง ตนเห็นเอกสารดังกล่าว เอกสารบอกมาชัดเจน เมื่อถามว่า แต่อสส.ยืนยันไม่ได้ทำเอกสารมาที่คสช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ไปดูเอกสาร อสส. มีเอกสารอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เอามาเผยแพร่ ยืนยันผมเห็นเอกสาร เขาขอว่าเอาไว้ก่อน ไปดูเอกสารราชการได้มันมีเอกสารอยู่ เขาไม่ได้มาแพร่ให้คุณดูเท่านั้น ผมเห็นเอกสารเขาใช้คำว่าไม่ควรให้เดินทาง ผมก็อนุมัติตามเสนอ เข้าใจยัง"
'บิ๊กตู่'ไปเชียงใหม่ 17 ก.พ.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่า วันที่ 17 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จะนำคณะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่จ.เชียงใหม่ โดยช่วงเช้าเดินทางไปที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ต.แม่งอน อ.ฝาง เพื่อเป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2558 พิจารณากำหนดแผน นโยบาย และแนวทางการดำเนินงานในโครงการหลวง โดยมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ในฐานะรองประธานและเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ กปส. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ราชเลขาธิการ และนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุม มีวาระ อาทิ การของบประมาณสนับสนุนโครงการหลวงประจำปี 2558 การขอเพิกถอนพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงด้วย
จากนั้นช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางต่อไปที่จ.น่าน เพื่อเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ชี้สอบ'หยุย'ไม่เกิน 60 วัน
ที่รัฐสภา นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เผยว่า ขณะนี้ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม สนช.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ทำให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ประกาศ ดังนั้น สำนักงานต้องดำเนินการ ตามข้อบังคับเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กรณีทำท่าปาดคอหลังทราบผลคะแนนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขั้นตอนต่อไปจะตั้งคณะกรรมการจริยธรรม โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ต้องมอบให้รองประธานคนใดคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการ ประกอบด้วยประธาน กมธ.สามัญประจำ สนช. ทุกคณะ
"สำนักงานเลขาฯ จะส่งเรื่องให้ประธาน สนช.ดำเนินการตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม และเมื่อตั้งกรรมการจริยธรรมแล้วต้องพิจารณาดูว่าจะใช้วิธีพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร อาจนำวิธีพิจารณาในสมัยวุฒิสภามาใช้ก่อน หรืออาจร่างใหม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกรรมการจริยธรรม ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน" นางนรรัตน์กล่าว
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมวิป สนช. นายพรเพชรยังไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ ขณะเดียวกัน ไม่มีวิป สนช.คนใดหยิบยกคำร้องดังกล่าวขึ้นมาหารือด้วย
กกต.ดำเนินคดีอาญา'อริสมันต์'
นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการด้านสืบสวนสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยว่า ที่ประชุม กกต.มีมติสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งพร้อมดำเนินคดีอาญา น.ส.วิลดา อินฉัตร ส.ว.ศรีสะเกษ จากการเลือกตั้งวันที่ 30 มี.ค.2557 กรณีให้นาย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นำซีดีแจกผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยทับทัน จำกัด อ.ห้วย ทับทัน จ.ศรีษะเกษ เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม
นายดุษฎี กล่าวว่า และรู้เห็นเป็นใจให้นายอริสมันต์ และนายพรชัย มณีนิล หาเสียงด้วยวิธีใส่ร้ายคู่แข่งและหลอกลวงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาประชุมเพื่อต้อนรับพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ด้วยการนำรูปภาพของนายสมภพ มั่นคง ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตัดต่อไว้กับรูปภาพบุคคลอื่นคู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เพื่อแสดงให้เห็นว่านายสมภพเป็นแนวร่วมกลุ่มกปปส. โดยมีข้อความบนรูปภาพว่า "คุณสมภพบริจาค 2 ล้านต้านระบบทักษิณ ผู้สมัครส.ว.เบอร์ 5" พร้อมนำสำเนาภาพไปแจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในตัวนายสมภพ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนให้กับตนเอง
นายดุษฎี กล่าวว่า กกต.สั่งให้ดำเนินคดีอาญานายอริสมันต์กรณีดังกล่าวด้วย และก่อนหน้านี้ กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งน.ส.วิลดาไปแล้ว ในข้อหาหลอกลวงผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เข้าใจผิด โดยแจ้งใบแนะนำตัวอ้างว่าสำเร็จการศึกษาในระดับด๊อกเตอร์
สืบสวนสำนวน"ปู"ทัวร์นกขมิ้น
นายดุษฎี กล่าวว่า กกต.ยังสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับนายศักดิ์ดา ศรีวิริยะไพบูลย์ ส.ว.ระนอง จากการเลือกตั้งวันที่ 30 มี.ค. 2557 กรณีรู้เห็นเป็นใจให้ ผู้สนับสนุนนำปฏิทินประจำปี 2557 ที่มีภาพตราสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ภาพนายวิรัช ร่มเย็น อดีตส.ส.ระนอง และภาพของตนเอง พร้อมข้อความใต้ภาพว่า "อดีตผู้สมัครส.ว.ระนอง อดีตผู้ชำนาญการประจำตัวส.ส.วิรัช ร่มเย็น พรรคประชาธิปัตย์" ไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนใน จ.ระนอง เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยทั้ง 2 กรณี กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา หากศาลฎีกาฯ มีความเห็นตามที่ กกต.เสนอจะดำเนินคดีอาญาต่อไป
สำหรับ สำนวนร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ว. คงเหลือค้างการพิจารณา 1 สำนวน ส่วนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. 2 ก.พ.2557 เหลือ 5 สำนวน แบ่งเป็นสำนวนที่เสร็จแล้วรอการพิจารณาของกกต. 2 สำนวน และอีก 3 สำนวนอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน คือ กรณีร้องคัดค้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีทัวร์นกขมิ้น และคดีการใช้สื่อของรัฐหาเสียงเลือกตั้งทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) และคดีร้องคัดค้านเจ้าหน้าที่พรรคประชาธิปัตย์แถลงข่าวจงใจใส่ร้ายป้ายสีพรรคอื่น และยังคงเหลือสำนวนร้องคัดค้านการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 86 สำนวน
สนช.เล็งออกกฎคุมเข้ม'โดรน'
วันที่ 10 ก.พ. ที่รัฐสภา พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข ประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการคมนาคมทางอากาศ ในกมธ.การคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เผยหลังประชุมว่า ที่ประชุมพิจารณาปัญหาการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแต่ยังไม่มีการควบคุมจึงเกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าอาชญากรรม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความมั่นคง และปัญหาที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน แม้กรมการบินพลเรือนออกประกาศกระทรวงเพิ่มเติมภายใต้พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2457 เช่น กำหนดให้โดรนบินได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ห้ามบินระดับความสูงเกิน 500 ฟุต หรือ 150 เมตร และห้ามบินต่ำกว่า 50 ฟุต หรือ 15 เมตร แต่ยังไม่ครอบคลุมครบถ้วนจึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่างๆ
พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์กล่าวว่า กมธ.มีข้อเสนอแนะต่อกรมการบินพลเรือนควรกำหนดคำนิยามของโดรนให้ชัดเจน ลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อ ควรควบคุมการขึ้นบิน อาทิ เวลา วัตถุประสงค์ และเส้นทางการบินให้ชัดเจน มีระบบการจัดการเรื่องใบอนุญาตบังคับโดรนที่เป็นมาตรฐาน กำหนดคลื่นความถี่วิทยุที่ใช้ในระบบของโดรนให้แน่นอนและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะเหล่านี้อนุกมธ.จะนำเสนอข้อสรุปไปยังพล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร ประธานกมธ.คมนาคม เพื่อส่งข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมการบินพลเรือน ดำเนินการเพื่อให้การดูแลเรื่องโดรนมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะด้านความมั่นคง