WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มะกัน ชี้ขัดระเบียบทูต เมินสนช. ยันเข้าแจง'กมธ.'ไม่ได้ ทหารเชิญผช.ทูตหารือ อสส.ร่างคำฟ้องปูเสร็จ เผยไปนอกต้องขอคสช. เด็กมธ.โวยโดนยึดป้าย

      รองอธิการฯ'มธ.'พร้อมรับผิดชอบขบวนล้อเลียนการเมืองในบอลประเพณี ยันเป็นผู้ขอให้นักศึกษาสามารถทำได้ อุปทูตมะกันปัดชี้แจง สนช.

@ คสช.แจงเบรก'ปู'ขอไปฮ่องกง

       เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญของนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ กรณีที่มีกระแสข่าวว่า คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีน ตามที่ยื่นหนังสือขอเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ต่อ คสช.ว่า "ให้ไปอ่านหนังสือพิมพ์ดูนะ หนังสือพิมพ์เขาเขียนว่าอย่างไร"

       ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.และโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศในขณะนี้มีขั้นตอนการพิจารณาที่อาจต้องใช้เวลามากขึ้น ไม่เหมือนช่วงที่ผ่านมา ต้องนำองค์ประกอบและเหตุผล ทั้งทางเจตนาและทางกฎหมายมาพิจารณาด้วย โดยเฉพาะในขณะนี้กำลังเริ่มเข้าสู่กระบวนการในทางคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งฟ้องในคดีโครงการรับจำนำข้าว อาจจะต้องประสานขอแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับข้อปฏิบัติทางกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

       "คสช.ต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ขออนุญาตและไม่ให้กระทบกับกระบวนการทางคดี สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ หลายบุคคลที่มีเงื่อนไขให้แจ้งบอกกล่าวมาทาง คสช.ก่อน ขอเรียนว่าส่วนใหญ่ต้องการความเป็นส่วนตัวไม่ประสงค์ให้ถูกรบกวน จึงเป็นไปได้ที่แม้ว่าจะได้รับอนุญาตแต่อาจไม่เป็นที่รับทราบของสังคม" พ.อ.วินธัยกล่าว

@ ทนายป้องอดีตนายกฯมีสิทธิไป

       นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทีมทนายทำงานอยู่ในกรอบเฉพาะทางคดีเท่านั้น การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปที่ไหน อย่างไร หรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทางทีมทนายทราบ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี

      นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ความจริงแล้ว หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ประสงค์จะเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ ก็ไม่ได้ติดขัดในเรื่องข้อกฎหมายอะไร แม้ว่า อสส.จะมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีโครงการรับจำนำข้าวก็เป็นเพียงความเห็น แต่ยังไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมของ อสส.หรือศาล 

      "มีหลักอยู่ว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด หลักกฎหมายดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยที่ผ่านมาทุกฉบับได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ แม้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ได้รับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 4" นายนรวิชญ์กล่าว

@ ชี้คำสั่งคสช.ขัดหลักคุ้มครองสิทธิ

      นายนรวิชญ์กล่าวว่า สำหรับการยื่นฟ้องคดีอาญาของ อสส.ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีขั้นตอนแตกต่างจากการอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาทั่วๆ ไป ตั้งแต่ชั้นการยื่นฟ้องต่อศาลและการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้หรือไม่ ในวันยื่นฟ้องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายกำหนดให้ อสส.ที่เป็นโจทก์ส่งสำนวนไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลพร้อมคำฟ้องเพื่อประกอบการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวนเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าในการยื่นฟ้องต่อศาลให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลด้วย มีตัวอย่างเทียบในคดีเมื่อเร็วๆ นี้ มีการยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันยื่นฟ้องก็ไม่ต้องนำตัวนายสมชายไปศาลแม้ภายหลังการยื่นฟ้องแล้ว ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ยังมีขั้นตอนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาเป็นองค์คณะผู้พิจารณาพิพากษาอีกขั้นตอนหนึ่ง เมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ศาลจึงจะส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยและนัดคู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก 

      "วันพิจารณาครั้งแรกจึงเป็นวันที่จำเลยต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น สำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าวเมื่อยังไม่มีการกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก หาก คสช.มีคำสั่งห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศด้วยเหตุผลว่า อสส.มีความเห็นสั่งฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้วนั้น คำสั่งน่าจะขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่รัฐธรรมนูญของไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด" นายนรวิชญ์กล่าว

@ 'อาณันย์'แจงคสช.ไม่ได้จำกัดสิทธิ

       พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ไม่มองเรื่องนี้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเกินไป ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่เป็นผู้ต้องหาคดีอาญา คสช.ก็อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้ตามปกติ แต่วันนี้ เมื่อเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาคงอนุญาตลำบากเพราะตัวอย่างในอดีตก็มีให้เห็นว่าเคยมีผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศแล้วไม่ยอมกลับมาต่อสู้คดี ส่วนตัวไม่ได้มองแง่ร้ายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเสือที่กำลังจะขอหนีเข้าป่า แต่ถ้าครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศได้ แล้วเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นมา หัวหน้า คสช.เองคงตอบคำถามไม่ได้ จึงไม่คิดว่าประเด็นนี้จะทำให้เกิดภาพว่า คสช.กำลังบีบคั้นอดีตนายกฯ มากเกินไป จนกระทบภาพความปรองดองที่ สปช.กำลังทำงานอยู่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจตามหลักสากลไม่ใช้อารมณ์ประชาชนคงเข้าใจ

@ ทำร่างคำฟ้องยิ่งลักษณ์เสร็จแล้ว

      นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกระแสข่าวว่ากรณีในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จะมีการยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีปฏิบัติหน้าที่โครงการรับจำนำข้าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ว่า คณะทำงานอัยการยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่ากำหนดนัดยื่นฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อใด แต่ขณะนี้คณะทำงานอัยการร่างคำฟ้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นฟ้องที่มีจำนวนมาก อาจจะต้องมีการเสนอร่างคำฟ้องให้นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด พิจารณาอีกครั้งก่อนการยื่นฟ้องที่จะดำเนินการภายใน 1 เดือน หลังจากที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องที่จะครบกำหนดภายใน 21 กุมภาพันธ์นี้ แต่จะยื่นฟ้องวันใด ต้องรอความชัดเจนจากคณะทำงานอีกครั้ง หากมีการยื่นฟ้องอัยการพร้อมจะแถลงข่าวต่อไป 

       ส่วนที่มีข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปต่างประเทศช่วงเวลาดังกล่าว โฆษกอัยการสูงสุดกล่าวว่า หากจะมีการเดินทางไปต่างประเทศ ก็ต้องสอบถามทาง คสช.ว่าจะอนุญาตหรือไม่ อัยการไม่มีอำนาจในยับยั้งหรือห้ามเดินทาง เว้นแต่จะมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้วจะเป็นอำนาจของศาลจะพิจารณา ทั้งนี้ หากอัยการพร้อมฟ้องแล้ว ถ้าตัวผู้ถูกกล่าวหายังอยู่ ก็ควรต้องยื่นฟ้องพร้อมตัว

@ ป.ป.ช.จี้คลังประเมินค่าเสียหายข้าว

        นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะออกหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้ติดตามความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว โดยเหลือขั้นตอนการให้กรรมการ ป.ป.ช.รับรองมติของ ป.ป.ช.พร้อมสรุปสำนวนหลักฐานให้กระทรวงการคลังได้ทราบถึงต้นเหตุของการทุจริต เพื่อให้ไปดำเนินการว่าใครจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเท่าไหร่ เรื่องที่ ป.ป.ช.จะส่งไปยังกระทรวงการคลังนั้น ป.ป.ช.คงไม่ระบุตัวเลขความเสียหาย คิดว่ากระทรวงการคลังมีความรู้ความชำนาญ แต่เบื้องต้นต้องไม่ต่ำกว่าคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้สรุปไว้ก่อนหน้านี้

"ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย คิดว่าท่านต้องตื่นตัวแล้วเพราะว่าหนี้ที่เราต้องชำระนั้นจะใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหน เป็นเรื่องของการมีจิตสำนึกสาธารณะในการเอาเงินของประเทศกลับคืนมา คิดว่านายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธาอยู่แล้ว ท่านเป็นคนมีอะไรก็พูดตรงๆ ผมชอบมาก" นายวิชากล่าว และว่า เวลานี้ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วยตัวเอง หากในอนาคตจะมีการให้อำนาจ ป.ป.ช.ในส่วนนี้ ป.ป.ช.ก็มีความพร้อมและไม่คิดว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด

@ มั่นใจสำนวนฟ้องสลายม็อบปี 51 

      นายวิชายังกล่าวกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งในคดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งสลายการชุมนุมปี 2551 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า เรื่องนี้เมื่อ อสส.ไม่ดำเนินการสั่งฟ้อง ทาง ป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องเอง โดยให้ทนายความฟ้องร้องส่งไปที่ศาลแล้ว และศาลก็นัดพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ 

      นายวิชา กล่าวว่า กระบวนการที่ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนมาในเรื่องนี้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน มีข้อสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและของรัฐสภาประกอบกันหลายส่วน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญและศาลปกครองที่เคยชี้ในเรื่องนี้ด้วยว่ากรณีกระทำการสลายการชุมนุมนั้นเกินขอบเขตหรือไม่ อย่างไร เป็นข้อมูลที่ทำให้ ป.ป.ช.มีความมั่นใจ

      เมื่อถามว่า ในคดีดังกล่าวฟ้องร้องเฉพาะนายสมชายคนเดียวหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า นอกจากนายสมชายก็จะมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ ครม.ในสมัยนั้น ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอฟังว่าศาลรับพิจารณาหรือไม่ เท่าที่ทราบศาลนัดเร็วๆ นี้ จำวันที่ไม่ได้แน่ชัด หากศาลสั่งออกมาก็ต้องเริ่มกระบวนการเตรียมสำนวนและอะไรต่ออะไร เป็นหน้าที่ของทนายความซึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งให้ทนายหมดแล้ว

@ ป.ป.ช.ปลุกปชช.เป็นเกราะกันโกง

     นายวิชากล่าวกรณี ป.ป.ช.ต้องการให้ประชาชนร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ว่า ต้องมีความตื่นตัว ร่วมแรงร่วมใจกับ ป.ป.ช.ในการทำงานเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะแจ้งเบาะแส ไม่ทอดทิ้ง สนับสนุน เคลื่อนไหวเพื่อให้เห็นว่าประชาชนเป็นเกราะกำบังให้ ป.ป.ช. แม้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่จะมีหลายคนต้องพ้นตำแหน่งไป ประชาชนก็ยังจะสนับสนุนต่อไป ช่วยให้ประเทศไทยใสสะอาด ปราศจากทุจริต ป.ป.ช.ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าเราเป็นคนที่ไว้วางใจได้ เชื่อถือได้ น่าศรัทธา ดังนั้นคดีต่างๆ ต้องทำให้ชัดเจน ทำให้มีความรู้สึกว่ามีพลังเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ เพราะถ้า ป.ป.ช.ไม่ทำให้เห็นชัดเจนประชาชนก็คงไม่สนับสนุน

นายวิชากล่าวว่า เครื่องมือที่จะช่วยให้เห็นผลคือประชาชนต้องรู้ว่าเขาควรช่วย ป.ป.ช.เฝ้าระวังในจุดไหนอย่างไร ชุมชนต่างๆ ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ การป้องกันการทุจริตไม่ใช่เพียงว่าฉันจะเป็นคนดีเท่านั้น จะต้องอ่านเกมออก รู้ว่าบริษัทไหนเป็นของใคร ประมูลได้หรือไม่ได้ ต้องรู้และคอยเตือนผู้บริหารท้องถิ่นว่าประชาชนรู้ทัน

@ ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างต้องเปิดเผย

เมื่อถามว่าเรื่องการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนนั้นยังไม่ทั่วถึง นายวิชากล่าวว่า ยังมีปัญหา ต้องเพิ่มในลักษณะที่เรียกว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องเป็นข้อมูลที่เปิดเผยทั้งหมด ไม่ใช่ความลับ อะไรก็บอกว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างนั้นไม่ใช่ หากเข้าสู่กระบวนการที่งบประมาณผ่านสภาแล้วก็ต้องนำเสนอผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ ถนนเส้นไหนที่จะซ่อม ขยาย เพราะถนนหนทางนี้เป็นเรื่องที่โกงได้ง่ายที่สุด เพราะงบประมาณจำนวนมาก หากรวมทั้งหมดมูลค่าเป็นแสนๆ ล้านบาท

นายวิชากล่าวต่อว่า ต้องให้เรียนรู้กันตั้งแต่ระดับนักศึกษา อาทิ เรียนบัญชี เรียนวิศวกร ก็ต้องเรียนรู้ถึงจุดด้อยจุดด่างของวิชาชีพนั้นๆ ด้วยว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตได้อย่างไร จะป้องกันได้อย่างไร เช่น กรณีของการตรวจสอบบัญชีไม่ใช่แค่เรียนรู้เพื่อไปตรวจบัญชีเฉยๆ ต้องรู้ว่าที่มีการโกงกันแล้วถูกจับได้ หรือมีการนำงบประมาณไปใช้ได้ เงินไหลออกได้เพราะมีการตรวจสอบบัญชีผิดพลาดอย่างไร วิศวกรก็เช่นกัน ต้องดูด้วยว่าจะไปรับรองในสิ่งที่ผิดได้อย่างไร ก็ต้องเรียนรู้ด้วย

@ 'วรชัย'ทวงคดีประกันข้าว-โรงพัก 

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พท. กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งในคดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งสลายการชุมนุมปี 2551 ว่า เห็นความพยายามของ ป.ป.ช.สั่งฟ้องทั้งคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนถึงคดีนายสมชาย แล้ว ไม่น่าแปลกใจหากสังคมจะเห็นตรงกันถึงเจตนารมณ์ของ ป.ป.ช.ที่จ้องเล่นงานคนในตระกูลชินวัตร จ้องทำลายฝ่ายประชาธิปไตยชัดเจนขึ้นทุกที 

"คดีของนายสมชายเป็นเรื่องของอุบัติเหตุจนมีคนตาย ไม่ใช่มาจากการสั่งสลายการชุมนุมเหมือนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่นานาชาติจับตามองเรื่องนี้อยู่ ดังนั้น ป.ป.ช.ควรเร่งรีบดำเนินการในคดีนี้ด้วย อย่าเร่งรัดแต่คดีของฝั่งพรรคเพื่อไทย จะได้ไม่เป็นการตอกย้ำว่า ป.ป.ช.สองมาตรฐาน และขอฝาก ป.ป.ช.เร่งพิจารณาทั้งคดีประกันราคาข้าว คดีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะหรือแม้แต่คดีทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน มูลค่าความเสียหายสูงมากเช่นกัน" นายวรชัยกล่าว

@ 'เรืองไกร'กลับบ้านตั้งแต่6ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวไปปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เป็นเวลา 5 วัน หลังจากนายเรืองไกรส่งหนังสือถึงนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เนื้อหาอธิบายถึงสถานการณ์ทางการเมืองและระบุว่า การที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องการเมืองนั้น แหล่งข่าวคนใกล้ชิดนายเรืองไกรเปิดเผยว่า นายเรืองไกรได้เดินทางกลับที่พักแล้วตั้งแต่ช่วงเย็นวันศุกร์ ที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายทหารเป็นผู้มาส่งถึงที่บ้านพัก

@ อุปทูตมะกันแจ้งกลับไม่ขอชี้แจง

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างประเทศ สนช. กล่าวกรณี กมธ.ต่างประเทศทำหนังสือเชิญนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าชี้แจงในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ กรณีนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ แสดงจุดยืนสหรัฐต่อรัฐบาลทางการเมืองของประเทศไทย พร้อมเสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึกว่า ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้แจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศว่า อุปทูตสหรัฐไม่สามารถเดินทางมาชี้แจงต่อ สนช. เนื่องจากติดขัดต่อระเบียบปฏิบัติที่จะให้อุปทูตมาปรากฏตัว ทาง กมธ.ต่างประเทศได้รับทราบและเข้าใจดี คงจะไม่มีการส่งหนังสือเชิญซ้ำ ซึ่งการเชิญของ กมธ.ต่างประเทศนี้ เป็นเพียงแค่การเชิญมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพูดคุยกันเท่านั้น เหมือนที่เชิญทูตสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย หรือฮังการี เป็นการปฏิบัติตามปกติ ถ้าไม่มากรรมาธิการก็เข้าใจและคงรอไว้เป็นโอกาสหน้า คงได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. กรมข่าวทหารบกจะจัดแถลงข่าว โดยเชิญผู้ช่วยทูตทหารของประเทศต่างๆ ที่ประจำประเทศไทย มาทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ คสช. โดยมี พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร รองเสนาธิการทหารบก เป็นประธานการชี้แจง

@ 'ปริญญา'พร้อมรับผิดชอบแทน

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงขบวนพาเหรดของนักศึกษา มธ.ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 70 ที่เป็นขบวนล้อการเมืองในสนามศุภชลาศัย โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบก่อนยึดป้ายผ้าบางส่วน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า "ผมได้แจ้งนายทหารที่ดูแลเรื่องนี้ว่า ถ้าจะมีการดำเนินการใดๆ กับนักศึกษา ขอให้ผ่านทางผมก่อน และผู้บริหารมหาวิทยาลัยคือตัวผมเองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะเราเป็นผู้ขอให้นักศึกษาสามารถมีล้อการเมืองในปีนี้ได้ หลังจากนั้นก็ยังไม่มีการติดต่อกันอีก"

ขณะที่นายปิยะฉัตร นิกรพงษ์สิน นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 และนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ ต่อขบวนพาเหรดล้อการเมืองที่เกิดขึ้น

@ มาร์คให้คสช.-รบ.เปิดใจยอมรับ 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ ถึงการที่ คสช.สั่งงดขบวนล้อการเมืองในงานประเพณีฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ว่าอยากให้เจ้าหน้าที่และ คสช.ได้พิจารณาว่าการผ่อนคลายให้แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ไม่ได้ไปสร้างปัญหาหรือไปปลุกปั่นหรือปลุกระดม แต่เป็นการแสดงออกของสังคม อยากให้เปิดโอกาส ถึงอย่างไรบ้านเมืองก็ต้องกลับเข้าสู่การใช้สิทธิ เสรีภาพ แต่ก็เข้าใจในกรณีที่ให้ทำอะไรแล้ว แต่กลับไปทำอะไรที่แอบแฝงหรือปลุกปั่นทำให้เกิดความวุ่นวาย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เข้าใจได้ว่าต้องการให้เกิดความสงบ ส่วนตัวไม่อยากให้มีการปิดกั้นมากเกินไป การแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตใจ เป็นการสะท้อนมุมมองของประชาชนที่เป็นประโยชน์กับ คสช.และรัฐบาลเอง จะได้ทราบว่าประชาชนคิดอย่างไร ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหาเพราะเป็นธรรมดาของฟุตบอลประเพณี ไม่เห็นมีการแสดงออกในลักษณะที่จะไปยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย คสช.จะต้องรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ คำล้อเลียนบ้าง 

@ คสช.ควรชี้แจงปมปูขอไปนอก

       นายอภิสิทธิ์ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่ คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดและข้อเท็จจริง ต้องให้ คสช.ยืนยันชี้แจงเหตุผล ขึ้นอยู่กับ คสช.จะกำหนดแนวทาง เข้าใจว่า คสช.พิจารณาถึงความจำเป็นในการเดินทางและความมั่นใจว่าจะไม่มีการหลบหนี กรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เดินทางออกนอกประเทศได้ในระหว่างมีคดีในชั้นศาลได้ ก็เนื่องจากศาลอนุมัติ แต่ในครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้ขึ้นศาลจึงเป็นอำนาจของ คสช. เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่หากจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องขออนุญาต ร่วมถึงตนด้วย

@ 'วิษณุ'ระบุรับร่างรธน.ยังแก้ไขได้

        นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คัดค้านการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ระหว่างการยกร่าง พยายามทำให้โปร่งใส เช่น ตอนนั่งประชุมก็ให้ผู้สื่อข่าวมานั่งฟัง ประชุมเสร็จก็จัดแถลงข่าว และส่งร่างไปให้หลายๆ ฝ่าย ตนก็ได้รับอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและบางมาตราเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอมาสัปดาห์นี้มีการพิจารณาไปหลายมาตรา พอย้อนไปดูมาตราเก่าๆ ก็ไม่เหมือนที่เคยเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงว่าช่วง 7 วันที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขไปแล้วแสดงให้เห็นว่า สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดเวลา

        "การแก้ไขทำได้จนถึงกลางเดือนเมษายน 2558 รวมครบ 120 วัน ก็จะถึงฉบับที่เกือบจะสมบูรณ์หรือสมบูรณ์ แต่ยังแก้ไขได้ ตอนนั้นจะมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ต้องส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเมื่อตอนประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้ขอให้ส่งให้ด้วย ถึงตอนนั้นก็จะมีความเห็นหลั่งไหลกลับไปอย่างเป็นทางการ อย่าง สปช.จะต้องเปิดประชุมพิจารณามีมติเลยว่าจะเอาอย่างไร แล้ว กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องรับไปพิจารณาแก้ไขอย่างเป็นทางการอีก เพราะฉะนั้นมันแก้ได้ พรุ่งนี้มะรืนนี้ก็แก้ไขไปอย่างไม่เป็นทางการ หาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการจะแก้ พอแก้เสร็จแล้ว พอถึงกลางเดือนเมษายนก็รวบรวมส่งไปอย่างเป็นทางการ" นายวิษณุกล่าว 

@ ถ้าจะปฏิรูปต้องยอมเปลี่ยนแปลง 

      เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเชิญองค์กรอิสระไปให้ความเห็นหรือไม่ เช่น กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ควบรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเกิดความขัดแย้งขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เรียกว่าเป็นความขัดแย้ง เมื่อจะร่างอะไรใหม่และเมื่อจะต้องปฏิรูปนั้นจะต้องมีความแตกต่างไปจากของเดิมเป็นธรรมดา ถ้าดูให้ดีทุกเรื่องมีความต่างไปจากเดิมหมด กกต.ก็ได้รับผลกระทบ ป.ป.ช.ก็ได้รับผลกระทบในการปฏิรูป รัฐบาลก็ได้รับผลกระทบ ปัญหาคือใครเห็นอย่างไรก็บอกมา ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไร คิดว่าเรื่องของ กกต.กับ กสม.ทำถูกด้วยซ้ำไป 

      "ถ้าคุณเห็นว่า อะไรไม่ถูกก็ต้องมาบอกเขา สุดท้ายก็อยู่ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเปิดศึกรอบทิศ ผมเคยทำงานปฏิรูปมาก่อนไม่เคยไปเปิดศึก สุดท้ายพูดกันด้วยเหตุผล แต่ว่าสุดท้ายถ้ายอมไม่เปลี่ยนอะไรเลย ก็ไม่รู้จะปฏิรูปไปทำไม ต้องให้คนที่ได้รับผลกระทบมาชี้แจงแสดงเหตุผลและมาชั่งน้ำหนักกัน" นายวิษณุกล่าว และว่า คำว่าปฏิรูปแปลว่าเปลี่ยนรูปแบบใหม่ การเปลี่ยนแปลงทำให้คนที่เคยชินต้องได้รับผลกระทบ ไม่พอใจ บางครั้งรุนแรง บางครั้งไม่รุนแรงเสมอ เพราะฉะนั้นใครทำเรื่องปฏิรูปต้องคิด ตนจำขี้ปากฝรั่งมาพูดว่า คนทำปฏิรูปไม่มีวันได้รับความนิยมเพราะมันไปทำทวนกระแสในสิ่งที่คนเขาเคยชิน

@ ดันองค์กรผลักดันปฏิรูปหลังได้รบ.

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐหมวดการปฏิรูปเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้พิจารณา ในวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะงดการประชุม เนื่องจากต้องยื่นร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และการปฏิรูป ให้แก่คณะอนุกรรมาธิการ สปช.ทั้ง 18 คณะ ช่วยพิจารณาเพื่อความรอบคอบ เรื่องของการปฏิรูปก็กระจายกันอยู่ใน 3 หมวดดังกล่าวด้วย เช่น ในหมวดสิทธิเสรีภาพ หากบรรจุเอาไว้ก็หมายความว่ารัฐต้องจัดให้ประชาชน แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐก็เป็นส่วนของการปฏิรูป หากคณะอนุกรรมาธิการ สปช.มีความเห็นประการใดให้สะท้อนมาภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เพื่อนำมาปรับแก้ไขให้สมบูรณ์ที่สุดในช่วงตลอดสัปดาห์นี้ 

       "ส่วนกลไกที่จะผลักดันการปฏิรูปต่อจะเป็นองค์กรทำหน้าที่ภายหลัง สปช.หมดสภาพไปแล้ว แม้จะมีรัฐบาลเลือกตั้งปกติแล้ว แต่ต้องมีกลไกผลักดันการปฏิรูปในช่วงนั้นด้วย มิฉะนั้นจะเป็นเพียงผลการศึกษาที่วางไว้บนหิ้ง แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไรยังไม่ได้พิจารณา" นายคำนูณกล่าว

@ เชิญพรรคการเมืองให้ความเห็น

       นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการสัมมนา "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" โดยผู้ร่วมสัมมนา ประกอบไปด้วย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ปฏิรูปการเมืองของ สปช. สถาบันพระปกเกล้า สื่อมวลชน และตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 74 พรรคมาร่วมสัมมนาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ เป็นงานของคณะอนุ กมธ.คณะรับฟังความคิดเห็นองค์กรของ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องมาจากตอนแรกมีการเชิญกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองมาให้ความเห็นแก่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตกลงเรื่องบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้บอกว่าเมื่อถึงเวลาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรูปธรรมแล้ว จะแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกันอีกครั้ง 

       "ขณะนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตกลงร่างบทบัญญัติเรื่อง รัฐสภา วุฒิสภา และการเลือกตั้ง เสร็จสิ้นไปแล้ว เราจึงเชิญทุกฝ่ายมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง" นายคำนูณกล่าว 

@ เนื้อหารธน.แก้ไขได้ถึง 23 ก.ค.

        นายคำนูณ กล่าวว่า บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นมติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว ยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้น หากจะถึงขั้นแก้อะไรไม่ได้แล้วคือนับจากวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ไปแล้ว แต่ตอนนี้ยังทบทวนเปลี่ยนแปลงได้ทุกเรื่อง การที่ตกลงในหลักการที่จะร่างบทบัญญัติรายมาตราไปแล้วแถลงความคืบหน้าไป ต้องการให้สังคมเห็นว่า กมธ.ทำงานอย่างเปิดเผย หากไม่เห็นด้วยหรือเห็นเพิ่มเติมประการใดก็ส่งความคิดเห็นเข้ามา หากมีความคิดเห็นที่หนักแน่นไปในทางเดียวกันมากพอสมควร ก็จะทบทวนก่อนจะเสร็จร่างแรกและส่งให้ สปช. ในวันที่ 17 เมษายนนี้

        "ถึงแม้จะส่งร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 เมษายน กลับมา ยังคงรับฟังความคิดเห็นอยู่ เพราะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องรับฟังทั้ง ครม. คสช. และ สปช. ด้วย และนำกลับมาทบทวนครั้งสุดท้ายหลังมีร่างแก้ไข คือ วันที่ 25 พฤษภาคม-23 กรกฎาคม 2558 ตรงนี้คือช่วงตัดสินใจสุดท้าย ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม ทุกอย่างมีโอกาสทบทวนเปลี่ยนแปลงได้" โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าว

@ สื่อมะกันตีข่าว'คอบร้าโกลด์'

      เว็บไซต์สื่อของ 'แอลเอไทม์ส'และ 'วอชิงตันโพสต์'ของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐยังคงส่งเจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-20 กุมภาพันธ์นี้ โดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่สหรัฐรายหนึ่ง ระบุว่ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้ส่งทหาร 3,600 นาย เดินทางมายังประเทศไทยในสัปดาห์นี้เพื่อร่วมฝึกทหารด้วยกัน แม้ว่าไทยยังอยู่ในช่วงของการรัฐประหารก็ตาม 

      วอชิงตันโพสต์รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐได้ยกเลิกความช่วยเหลือทางทหารและการแลกเปลี่ยนใดๆ กับรัฐบาลไทย หลังเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจจะไม่นำเรื่องทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการฝึกคอบร้าโกลด์ร่วมกันต่อไป

       รายงานระบุว่า การฝึกคอบร้าโกลด์เป็นหนึ่งในการฝึกกองทัพร่วมกันระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำโดยกองทัพไทยและสหรัฐที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี ปีนี้จะมีทหารเข้าร่วมราว 13,000 นาย จากชาติต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกราว 24 ชาติ รวมทั้งญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ 

@ วิเคราะห์เหตุต้องฝึกร่วมกันต่อ

       วอชิงตันโพสต์รายงานอีกว่า รัฐบาลสหรัฐรู้สึกลังเลที่จะยกเลิกการฝึกคอบร้าโกลด์ เกรงว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ทางทหารอันยาวนานระหว่างสหรัฐกับไทยที่มีมาเกือบ 200 ปี และเป็นห่วงว่าการแตกแยกอาจจะส่งผลให้กองทัพของไทยใกล้ชิดกับประเทศจีนมากขึ้น จีนถือเป็นประเทศมหาอำนาจที่แข่งขันกับสหรัฐเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐก็ระมัดระวังกับการถูกมองว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

       รายงานระบุว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ ทางเพนตากอนได้ลดขนาดการฝึกลง โดย น.ส.เมลิซา เอ. สวีนนีย์ โฆษกสถานทูตสหรัฐ ประจำกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า สหรัฐได้ตัดสินใจฝึกคอบร้าโกลด์ต่อโดยปรับเปลี่ยนเป้าหมายและลดขนาดของการฝึกลง ปีนี้จะเน้นการฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์ ขณะที่การฝึกสะเทินน้ำสะเทินบกถูกยกเลิกไป ส่วนการฝึกด้วยกระสุนจริงจะยังคงมีอยู่ โดยกำลังทหารสหรัฐที่ถูกส่งมาลดลงจาก 4,300 นาย ปีที่แล้ว เหลือ 3,600 นายในปีนี้ 

@ สหรัฐเดินหน้าฝึก'โคปไทเกอร์'

     สื่อของสหรัฐยังรายงานต่อว่า โฆษกสถานทูตสหรัฐ ประจำกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า กองทัพสหรัฐยังมีแผนการฝึกทหารร่วมกับประเทศไทยในเดือนหน้า ภายใต้ชื่อ "โคปไทเกอร์" เป็นการฝึกกำลังทางอากาศร่วมกัน โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2557 สหรัฐส่งทหารมาร่วมฝึกโคปไทเกอร์ที่ไทยจำนวน 160 นาย ที่ฐานทัพอากาศ จ.นครราชสีมา 

      แอลเอไทม์ส รายงานว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างไทยกับสหรัฐ เป็นการฝึกทหารร่วมครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยรัฐบาลของ คสช.สัญญาจะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน แต่ยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก พร้อมกับอ้างคำกล่าวของ น.ส.สวีนนีย์ ที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการลดขนาดการฝึกและจำนวนทหารสหรัฐที่มาร่วมน้อยลงว่า ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่มีคุณค่า รัฐบาลไทยรู้เป็นอย่างดี ถึงสถานะของสหรัฐต่อการทำรัฐประหาร 

      แอลเอไทม์ส ระบุอีกว่า นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการที่สหรัฐเดินหน้าฝึกคอบร้าโกลด์ เพราะต้องการจะต่อสู้กับการเติบโตขึ้นของจีนที่กำลังสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจกับประเทศไทย 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!