- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 08 February 2015 16:41
- Hits: 4272
ฟุตบอลประเพณีชุลมุน บุกยึดป้าย สกัดล้อ'คสช.'การเมือง นศ.ซ้อนแผนปลอมหุ่น ผ่านเซ็นเซอร์เข้าสนาม แซวบิ๊กๆเรียกเสียงเฮ แปรอักษรขอคืนปชต.
ทหาร-ตร.คุมเข้มบอล'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' เซ็นเซอร์หุ่นล้อการเมือง ปิดประตูสกัดขบวนพาเหรด มธ. เก็บป้ายผ้าทั้งหมด อ้างข้อความไม่เหมาะสม น.ศ.สับขาหลอก ปลอมหุ่น-ข้อความ
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 70 ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้เเนวคิด "Get Give & Go(al) : รู้รับ รู้ให้ มุ่งไปด้วยกันสองสถาบัน สมานฉันท์เพื่อชาติ" ที่สนามศุภชลาศัย ที่ถูกจับตาเกี่ยวกับการแสดงทางความคิดทางการเมืองและสังคมของนักศึกษา ผ่านขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมืองและการแปรอักษรนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ขอความร่วมมือให้ระวังเนื้อหาล้อเลียนทางการเมือง ว่า เมื่อเวลา 13.00 น. พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) นายธนิต ธงทอง รองอธิการบดีจุฬาฯ และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ. พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าตรวจสอบขบวนล้อเลียนการเมืองของนิสิตและนักศึกษาทั้งสองสถาบัน พร้อมให้นักศึกษาอธิบายถึงแนวคิดของหุ่นล้อการเมืองแต่ละตัวอย่างละเอียด
พล.ต.ต.ชยพล กล่าวว่า มาตรวจความเรียบร้อย เพราะได้รับคำสั่งให้มาร่วมกับทหารดูแลความปลอดภัย เนื่องจากเหตุระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้น ส่วนการตรวจสอบขบวนล้อการเมืองนั้นทางฝ่ายความมั่นคงเข้าใจ เพราะถือเป็นกิจกรรมนักศึกษา โดยได้แนะนำอาจารย์ไปว่าให้ระมัดระวังกิจกรรมใดๆ ที่อาจมีปัญหากระทบปรองดอง และการปฏิรูปประเทศตามนโยบายของ คสช.ก็ขอให้ยกเว้น
"สถานการณ์โดยรวมนั้นคิดว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนความกังวลเรื่องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นั้น เชื่อว่านักศึกษาทุกคนเป็นปัญญาชน ส่วนความกังวลยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่กังวล โดยขณะนี้ได้ใช้กำลังตำรวจกว่า 200 นายมาดูแลความสงบเรียบร้อย" พล.ต.ต.ชยพลกล่าว
ต่อมาเวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เริ่มปล่อยขบวนพาเหรดของทั้งสองสถาบันเข้าสู่สนาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อขบวนพาเหรดล้อการเมืองของจุฬาฯทยอยเข้าสู่สนามจนหมดแล้ว และกำลังจะเป็นคิวของทางฝั่ง มธ. ปรากฏว่าขบวนกลับต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปิดประตูอย่างกะทันหัน ทำให้นักศึกษาหลายคนแสดงความไม่พอใจ และเกิดเหตุชุลมุนขึ้นเล็กน้อย
จากนั้นกลุ่มนักศึกษา มธ.ได้เข้าเจรจากับทหาร พร้อมอธิบายว่า ขบวนล้อการเมืองปีนี้จะไม่พูดเรื่องตัวบุคคล แต่จะเน้นนำเสนอพูดเรื่องกระบวนการยุติธรรม ปัญหาสังคม การต่างประเทศ และความยากจน รวมทั้งอธิบายถึงแนวคิดของหุ่นล้อการเมืองแต่ละตัวอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ กลุ่มไอเอส และไม่เกี่ยวกับการเมือง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยให้นักศึกษาลงสนามพร้อมหุ่นล้อการเมืองได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำป้ายผ้าเข้าโดยเด็ดขาด โดยอ้างว่ามีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ หุ่นล้อการเมืองของจุฬาฯส่วนใหญ่เน้นการวิจารณ์ค่านิยมของคนไทยในยุคโลกออนไลน์ ขณะที่ขบวนล้อการเมืองของ มธ.ได้ทำเซอร์ไพรส์โดยการเปิดภาพที่แสดงให้เห็นถึงการวิจารณ์ค่านิยม 12 ประการ หรือการวิจารณ์รายการคืนความสุข สร้างเสียงปรบมือเป็นจำนวนมาก โดยตัวแรกเป็นหุ่นของ LADY JUSTICE กำลังใช้ดาบแทงเข้าตัวเอง มืออีกข้างหนึ่งถือตราชูที่ไม่เที่ยง หน้าหุ่นมีป้ายผ้าเขียน 'Corrupt ท่าน' หุ่นตัวที่สองคือ'คู่จิ้นวินยกแก๊ง' ล้อเลียนเรื่องราคารถทัวร์ หุ่นตัวที่สามคือ 'THAILAND FARM'ได้ไอเดียมาจากวรรณกรรมของ George Orwell กับบัลลังก์จาก GAME OF THRONE
หุ่นตัวที่สี่ ครูสอนค่านิยม 12 ประการ แต่เมื่อถึงหน้าประธานในพิธี ได้มีการฉีกข้อความเก่าออก กลายเป็นคำ "ประชาธิปไตย" ที่มีหมึกสีแดงขีดฆ่ากลางคำ และหุ่นตัวที่ห้า นำภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใส่เข้าไปในโทรทัศน์ โดยมีฉากหลังเป็นตัวการ์ตูนชื่อดังอย่าง "เทเลทับบี้" โดยมีตุ๊กตาเด็กนั่งดูอยู่
นอกจากนี้ ยังมีหุ่นขบวนการไอเอส แต่เมื่อเข้าสนามได้มีการดึงผ้าสีดำและส่วนประกอบอื่นๆ ออก กลายเป็นหุ่นผู้ชายใส่ชุดเขียวคล้ายทหาร โดยโฆษกในสนามได้ประกาศให้ผู้ชมตีความเอาเองว่า เป็นหุ่นล้อเลียนบุคคลใด
เวลา 15.30 น. ก่อนเริ่มพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มีผู้นำป้ายผ้ามาผูกที่ด้านบนสุดของอัฒจันทร์ด้านไม่มีหลังคา มีข้อความโจมตี คสช.จำนวน 2 ป้าย ระบุข้อความว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ก่อนจะมีผู้ปลดป้ายออกไปในภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนแห่ของนิสิตจุฬาฯได้เกิดอุบัติเหตุหักลงขณะกำลังออกนอกสนาม ทำให้มีนิสิตได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเกมการเเข่งขันฟุตบอลช่วงครึ่งหลัง การแปรอักษรของฝั่ง มธ.ได้มีข้อความต่างๆ เช่น "พี่ขาาา หนูขอได้ไหม, ขอพูด ถึงเมืองไทย, ขออภัย หากขัดเคือง, ขอศรัทธา คืนผ้าเหลือง, ขอลดราคา อาหารโรงกลาง, ขอราคายาง = ข้าวแกง, ขอเมสซี่เจ ให้ชาติไว้ลุย, ขอชัปปุยส์ อุ๊ยสส์ ซักคืนก็พอ, ขอโบกเเท็กซี่ แล้วไปตลอด, ขอ low cost เขกหัวเจ๊เกียว, ขอความสุข คืนคนในชาติ, ขอมารยาท คืนประ...ยุ.. คืนประเทศยูเอส, พี่ขอเวลา หนูไม่ขัดข้อง, พี่ขอปรองดอง เเต่ฟังหนูไหม, ขอตรวจสอบ จะฉุนทำไม, ขอประชาธิปไตย เมื่อไหร่จะคืน" ซึ่งการแปรอักษรดังกล่าวเรียกฮือฮาเเละเสียงปรบมือจากผู้ชมได้ทั่วทั้งสนาม
กองทัพ'ไทย-จีน'จับมือ ผุดดุลอำนาจแทน'มะกัน'
สมภพ มานะรังสรรค์, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์
|
หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการกรณีกองทัพไทยและจีนขยายกรอบความร่วมมือการฝึกร่วมผสมทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อให้สองประเทศมีความร่วมมือด้านความมั่นคงมากขึ้น จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไทยต้องการให้จีนเข้ามามีบทบาทเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐ ภายหลังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐออกมากดดันให้รัฐบาลไทยคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ สมภพ มานะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีนมีหลายมิติมาก กล่าวคือมีทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม การเมือง ความมั่นคง วัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีการร่วมมือกันทางการทหารอยู่ก่อนแล้ว อย่างด้านความมั่นคง เราก็ร่วมซ้อมรบด้วย เรามีคอบร้าโกลด์ ที่ซ้อมกันทุกปีและมีหลายๆ ชาติรวมอยู่ ทั้งไทย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น คือมีความหลากหลายทางความความสัมพันธ์ของหลายๆ ชาติ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลจากหลายปีๆ ที่ผ่านมา เรามีความสัมพันธ์กันอย่างหลากหลายอยู่ก่อนแล้ว ความสัมพันธ์ช่วงนี้ระหว่างไทยกับจีนพิเศษไหมก็พูดลำบาก เราสัมพันธ์กับประเทศจีนมากมายและอาจทำให้สหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นมองว่าเราใกล้ชิดจีน ไทยก็มีเหตุการณ์พิเศษคือ มีรัฐบาลที่เกิดขึ้นด้วยเหตุการณ์เฉพาะ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ จับตามองได้ง่าย แต่พูดในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี เราต้องสัมพันธ์แบบหลากมิติเพื่อให้ได้ดุลยภาพ เป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้น หากเราจะวางจุดยืนของประเทศให้โน้มเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ต้องคำนึงผลกระทบระยะยาวเหมือนกัน ดังนั้นแล้วตอนนี้จึงกลายเป็นเกมการเมือง ต้องดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างชาญฉลาด ให้ทุกประเทศวิ่งมาหาประเทศไทย ให้เข้ามาปฏิสัมพันธ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และถ้าเผื่อเล่นเกมและมีกลยุทธ์อย่างชาญฉลาดจริงๆ ทุกชาติจะให้ความสำคัญ จึงจะเป็น Somebody ไม่ใช่ Nobody เราจึงต้องรอบคอบ สหรัฐอเมริกามองจีนเป็นคู่แข่งหมายเลขหนึ่งในทางยุทธศาสตร์ ประเทศเดียวที่ขึ้นมาแข่งขัน ท้าทาย กระทั่งต่อสู้ในเชิงอำนาจกับอเมริกาก็มีอยู่ชาติเดียวคือจีน แน่นอนว่าการเดินเกมเรื่องการเมือง ความมั่นคงของสองชาตินี้จึงมีเรื่องความสมดุลด้วย ฉะนั้น การที่เราปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายมิตรหรือคู่ต่อสู้ เราต้องดำเนินนโยบายด้วยความรอบคอบ หากถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนครั้งนี้เป็นการถ่วงดุลไหม ก็ต้องแล้วแต่การเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่าย ถ้าประเทศไหนดำเนินมาตรการนำไปสู่ความกดดัน อีกประเทศก็ต้องลดความกดดัน ต้องดูสาเหตุก่อน อย่างตอนนี้ไทยถูกมองว่าโน้มเอียงไปทางจีนมากขึ้น ก็ต้องมองว่าทำไมไทยต้องใช้จีนเข้ามาถ่วงดุล คืออเมริกาเขาก็ขายนโยบายเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชนของเขา แต่การที่อเมริกาเข้ามาในลักษณะแทรกแซงความมั่นคงภายใน ผู้มีอำนาจก็ต้องหาทางถ่วงดุลให้เราไม่เสียดุลความมั่นคงในระยะยาว คือประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจสังคมเปิด จึงต้องบริหารความสมดุลให้มีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์เรากับจีน อเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศใหญ่ๆ อย่างอินเดียและยุโรป เราต้องสร้างจุดสมดุลให้ทุกประเทศมองเราด้วยความเกรงใจ เรามีเหตุผลในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ไม่ดำเนินนโยบายในทิศที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราเป็นคนละฝั่ง ควรทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าเราเป็นพวกและมีความสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตอนนี้อยู่ในลักษณะเป็นการแก้เกมกันไปมา แต่เห็นว่ามีการเล่นเกม มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความรอบคอบ ประเทศไทยเองก็ต้องใช้ความรอบคอบ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นตรงกันข้ามหรือคู่ต่อสู้ เป็นอริกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนทำให้เราเสียสมดุล ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เท่าที่ดูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีนระยะนี้ ดูเหมือนจะกระชับความสัมพันธ์ได้ดียิ่งขึ้น และมากขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตกที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก อย่างอียู ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อาจเพราะมีการเข้ามายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบด้วย สหรัฐแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เร็วๆ นี้ก็มีการแสดงความเห็นอีก เป็นเรื่องปกติของอเมริกา คิดว่าเป็นเรื่องปกติของประเทศทางตะวันตก ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับจีนมีมานานแล้ว ไทยเองก็เคยได้รับความช่วยเหลือจากทางประเทศจีนในเรื่องของความมั่นคงช่วงสงครามเวียดนาม ตอนนั้นที่ไทยไปขอให้จีนมาช่วย รวมไปถึงความสัมพันธ์ทางการทูต วัฒนธรรม การค้า ก็มีกับจีนมายาวนานแล้ว ไม่น้อยไปกว่าที่ไทยมีกับอเมริกา แต่ตอนนี้อาจจะมีปัญหาทางการเมืองขึ้นมา ความสัมพันธ์กับตะวันตกจึงไม่ค่อยราบรื่นเหมือนก่อน ที่ผ่านมาไทยใกล้ชิดกับจีนในหลายๆ เรื่อง แต่ช่วงนี้อาจจะดูแล้วรู้สึกว่าสัมพันธ์ใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ อย่างเช่นในแง่ของเศรษฐกิจหรือความมั่นคง คิดว่าเป็นไปได้ที่จีนจะเห็นว่าทางตะวันตกดูห่างๆ จากไทยไปจึงมีจังหวะ มีโอกาสมาสานความสัมพันธ์ทางการทูต การทหาร คือเราต้องเข้าใจว่าความสัมพันธ์และมุมมองของประเทศจีนต่างจากประเทศตะวันตก คือคิดว่าเรื่องการเมืองถือเป็นเรื่องกิจการภายในของแต่ละประเทศ และจะเคารพเรื่องนี้ ไม่เข้ามาเกี่ยว แต่ตะวันตกเขามองเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มองหลายๆ เรื่อง ผมว่าตรงนี้ต่างกัน แง่หนึ่งอาจจะมองว่าความสัมพันธ์กับจีนในครั้งนี้เป็นการถ่วงดุลกับอเมริกาด้วย อาจเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลไทยก็ได้ว่าไม่แคร์ แต่แน่นอนว่าวันนี้ไทยอาจมีปัญหาทางการเมือง อาจจะไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่จริงๆ แล้วก็ยังแคร์ความสัมพันธ์กับตะวันตกอยู่ เพราะอเมริกาและอียูเป็นตลาดส่งออกสินค้ารายใหญ่ของไทย เรื่องเศรษฐกิจก็ยังสำคัญอยู่มาก ไทยก็ให้ความสำคัญอยู่มาก แต่ประเด็นที่อียู อเมริกาจะแบนสินค้าไทย อันนี้ไม่น่าเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะ 1-2 ปีก่อนยึดอำนาจ ไทยอยู่ในอันดับ 2 ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเรื่องแรงงานเด็ก เราถูกจับตามองมาหลายปีแล้ว ทำให้อเมริกาไม่อยากยุ่ง ไม่น่าเกี่ยวกับการเมืองแต่เผอิญประจวบเหมาะทางการเมืองพอดี ถามว่าการที่คณะรักษาความสงบเข้ามาบริหารประเทศทำให้จีนสะดวกใจจะสานความสัมพันธ์กับไทยไหม ก็เป็นไปได้ เพราะจีนไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ในเซนส์ของตะวันตก แต่ตอนยุคที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ และเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว จีนก็มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างดี คือจีนเขาเล่นหลายบทบาท คิดว่าจีนเป็นพ่อค้าอยู่เหมือนกันแม้จะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม เรื่องการค้า เศรษฐกิจก็สำคัญ คือการที่เราสนิทกับจีนมากๆ ไม่น่ามีผลอะไรต่อสายตาประชาคมโลกหรอก แต่ประชาคมโลกน่าจะตำหนิประเทศไทยเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่า ไม่เกี่ยวกับความสนิท เพราะประชาคมโลกต่างมองว่าสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ต้องบอกก่อนว่าเราอยู่ระหว่างสองมหาอำนาจคือจีนกับอเมริกา จีนก็อยากมีบทบาท ระยะนี้เขาดำเนินนโยบายเข้มข้นขึ้น ขณะที่อเมริกาไม่อยากเสียผลประโยชน์ตรงนี้ไป เพราะมองเห็นว่าตรงนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะทางทะเล และกลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากร 600 ล้านคน มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ คืออเมริกาอาจไม่ได้ผลประโยชน์จากตรงนี้มากขนาดนั้นแต่ก็ไม่อยากเสียไป ส่วนไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าถ้าอยู่กับอเมริกา ถ้าไปอยู่กับจีนจะอยู่ในอุ้งมือมังกร เราต้องเข้าใจว่าเขาเก่งด้านการค้า เขาอาจใจดีกับเราตอนนี้ แต่ถ้าเขาได้จากเราไปหมดแล้วเขาอาจมีท่าทีอีกอย่างก็ได้ ซึ่งถ้ามีอเมริกาอยู่ด้วยจะทำให้เราหันไปหันมาได้ คืออเมริกาในตอนนี้เองก็ได้บทเรียน ว่าการที่เขาห่างจากเราทำให้เราเข้าใกล้จีนมากขึ้น และส่งผลให้เขาเสียผลประโยชน์ ส่วนตัวคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนมีผลโดยตรงกับอเมริกา ในแง่ที่ว่า ถ้าเรามีความสัมพันธ์กับจีนมากก็จะทำให้สัมพันธ์กับอเมริกาได้น้อยลง เหมือนน้ำเทไปมา แต่คิดว่าน้ำไม่ควรแห้งเลยเสียด้านหนึ่ง ควรจะมีน้ำทั้งสองด้าน แต่จะให้ครึ่งๆ เท่ากันทั้งสองด้านเลยคงยาก อีกประเด็นหนึ่งคือจีนอยู่ใกล้กับประเทศไทยมาก และตอนนี้ จีนไม่ค่อยจะแคร์ว่าเรามีระบบการปกครองแบบไหน เขาไม่ยุ่ง แต่อเมริกาออกมาพูดเรื่องนี้และทำให้จีนได้ที ส่งคนระดับสูงๆ มาคุยที่ไทยเลย ด้านหนึ่ง การที่ คสช.เข้ามาก็อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับอเมริกา ตรงนี้ก็ไปว่าอเมริกาไม่ได้ เขาต้องทำอย่างนี้กับทุกประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพราะมีข้อหนด มีกฎหมายว่าจะไม่ยุ่งกับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ เป็นวิธีการของเขา จะบอกว่าห่างเหินกันขึ้นก็ว่าได้ แต่ก็พยายามมาฝึกทหารอย่างคอบร้าโกลด์ด้วยกัน แต่ก็ไม่เป็นทางการ หรือเป็นทางการแค่แบบกึ่งๆ ให้พอไปได้ เพราะหลักผลประโยชน์กับกฎหมายขัดกัน ในทางกฎหมายนี่คือไม่รับรองรัฐบาลไทยเลย แล้วก็ทำแบบนี้มานานแล้ว ย้อนไปสมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว ซึ่งพอไทยมีการเลือกตั้งก็กลับมาใหม่ เสมือนว่าแช่แข็งไว้ เพราะเอาเข้าจริงๆ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของอเมริกาคือความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อเมริกา ยาวนาน 182 ปี เป็นพันธมิตรกันมานาน ก็เหมือนจีนกับอเมริกาที่แม้จะทะเลาะกันแต่ก็เป็นมิตร เป็นเรื่องของผลประโยชน์ แง่ของการถ่วงดุล คือการจะถ่วงดุลอะไรได้เราต้องมีศักยภาพพอจะถ่วงได้ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าเรามีศักยภาพพอไหม แต่ถ้าบอกว่าเรายังพอมีทางเลือกบ้างก็ยังพอพูดได้ แต่ก็เป็นการแสดงให้รู้ว่าเราไม่ได้จนตรอก ถ้ามีปัญหากับอเมริกาก็หันมาหาจีนในบางเรื่องได้ อย่างเช่นกู้ยืมเงินทางการค้า ในอนาคตมองว่าเรากลับไปดีกับอเมริกาได้อีกแน่นอนถ้ามีการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้อเมริกามีปัญหาภายใน เพราะอยู่ในระยะการเปลี่ยนผ่านอยู่ด้วย ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะอยู่เป็นสมัยสุดท้ายแล้ว จากนั้นจะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ จึงไม่อยากมองนโยบายอะไรในระยะยาวนัก เลยไม่ห่วง แต่อยากให้หลายๆ ฝ่ายใจเย็นๆ หน่อย เรื่องในอนาคต ความสัมพันธ์เรากับอเมริกาจะดีเหมือนเดิมได้ |