- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 08 February 2015 16:23
- Hits: 3664
วันที่ 07 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8837 ข่าวสดรายวัน
ทหารกัก'เรืองไกร' 'สมชาย'งงฟื้นคดี สลายม็อบตค.51 จีนซูฮกทหารไทย
ต้อนรับจีน- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้อนรับพล.อ.ฉาง ว่านฉวน รมว.กลาโหมสาธารณ รัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารและความมั่นคงทางภูมิภาค ที่ทำเนียบ รัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ก.พ. |
'เรืองไกร'อ่วม ถูกทหารกัก อุ้มจากบ้านไปปรับทัศนคติ เหตุยื่นร้องเรียนสหรัฐ กรณีถอดถอน "ปู" มะกันย้ำอีก กดดัน ไทยเดินหน้าสู่ปชต.โดยเร็ว'ฮิวแมนไรต์'ยื่นญี่ปุ่น ช่วยกดดัน'บิ๊กตู่'ที่จะไปเยือน เลิกละเมิดสิทธิ์ ด้านรมว.กลาโหมจีนพบ'ประยุทธ์'พร้อมหนุนกองทัพ ชื่นชมทหารคุมสถานการณ์ คสช.แจงวุ่น ห้ามบอลประเพณี 'จุฬาฯ-มธ.'ล้อการเมือง แค่พูดคุยให้ระมัดระวัง
รมว.กลาโหมจีนถกไทย
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ พล.อ.ฉาง ว่านฉวน มนตรีแห่งรัฐและรมว.กลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร และความมั่นคงทางภูมิภาค โดยมีพล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. ให้การต้อนรับ พร้อมรับการเคารพจากทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศและสวนสนาม
จากนั้น พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ฉาง ว่านฉวน หารือการฝึกร่วมระหว่างทหารไทยและทหารจีนเพื่อขยายกรอบความร่วมมือกันให้มากขึ้นทั้งรบพิเศษไทย-จีน หรือการฝึก สไตรก์ ก่อนเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือด้านความมั่นคงทางภูมิภาคและกรอบความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งด้าน การค้า การลงทุน
พร้อมสนับสนุนกองทัพ
พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เผยว่า ปีนี้ครบรอบวันสถาปนาไทย-จีน ครบ 40 ปี ทางจีนพร้อม ต้อนรับผบ.เหล่าทัพของไทยที่จะเดินทางไปเยือน รวมถึงการจัดคณะไปดูงานต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้จีนขอวางแผนร่วมกันฝึกร่วมผสมทางทหารของนาวิกโยธินยกพลขึ้นบก พร้อมวางเป้าหมายยกระดับการฝึกให้มากขึ้นในเวลา 3-5 ปี เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค
พ.อ.คงชีพ กล่าวว่า จีนพร้อมสนับสนุนไทยในเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการทหาร และยุทโธปกรณ์ทั้งรถถัง เรือดำน้ำ ตลอดจนการฝึกกำลังพลในเรื่องการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง พร้อมเชิญรมว.กลาโหมไทย ไปร่วมประชุมกับรมว.กลาโหมจีนกับอาเซียน และหวังว่าไทยจะแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในการ ส่งเสริมบทบาทจีนในอาเซียนด้วย
ชื่นชมทหารคุมสถานการณ์
พ.อ.คงชีพกล่าวต่อว่า ทางการจีนพร้อม ส่งเสริมนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของไทยทุกแห่ง และขอให้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของไทย เช่น ข้าว ยางพารา โดยตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่ายรับซื้อสินค้าทางเกษตร และสนับสนุนให้นัก ท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยให้มากขึ้น
"จีนมีความเข้าใจถึงสถานการณ์การเมืองไทย เพราะได้ติดตามตลอด และชื่นชมกองทัพไทยที่เข้าควบคุมสถานการณ์ให้ประเทศเกิดความสงบ ตามความต้องการของประชาชน ซึ่งจีนเคารพการแก้ไขปัญหาภายในของไทย และจีนจะไม่เข้าไปแทรกแซง รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเมืองไทยด้วย" พ.อ.คงชีพกล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังรมว.กลาโหมจีน เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ. ประยุทธ์ว่า ทั้งสองฝ่ายหารือและแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ส่วนเรื่องข้าวและยางพารานั้น ทางทูตพิเศษของจีนที่เข้าพบนายกฯ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ระบุว่าทางการจีนจะเร่งความร่วมมือซื้อสินค้าทางการเกษตรทั้งข้าวและยางพารา แต่ยัง ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะเป็นเมื่อใดอย่างไร เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมือง ฝ่ายจีนเข้าใจสถานการณ์อย่างดีและพร้อมร่วมมือกับไทยสนับสนุนการปฏิรูป ซึ่งที่ผ่านมาจีนก็สนับสนุนไทยไปศึกษาดูงานปฏิรูป ระบบกฎหมายและเรื่องความมั่นคง
'บิ๊กตู่'หนุนระบบสหกรณ์
เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร จำเป็นต้องเร่งดำเนินการวางรากฐานให้เป็นชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็ง หลังจากได้พูดคุยกับเกษตรกร เข้าใจว่าปัญหาในหลายพื้นที่เกิดขึ้นจากการปลูกฝังอุดมการณ์ ที่ผิด ไม่เข้าใจ หลายคนบอกว่าเงินที่รัฐบาลสนับสนุนไปนั้น ช่วยเหลือพวกเขาได้ระดับหนึ่ง แต่อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันสนับสนุนแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือให้รัฐบาลช่วยเหลือให้ชาวเกษตรกรมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งที่ผ่านมา เขาบอกว่าทุกรัฐบาลยังไม่มีใครทำได้ ฉะนั้นรัฐบาลก็พยายามทำให้ดีที่สุด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าการรวมกลุ่มกันของสหกรณ์นั้นสำคัญที่สุด จะช่วยได้ตรง ช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ ช่วยเรื่องการจัดหาตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องสร้างให้ชุมชนตนเองเข้มแข็งด้วย ทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีใช้ยาฆ่าแมลง เป็นพืชออร์แกนิกที่ปลอดภัย ก็จะช่วยทั้งลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งหลายคนก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แล้วสัญญาว่าจะนำไปพูดคุยหารือกันในชุมชนต่อไป ช่วยกันขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยจะได้มีส่วนราชการเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดขึ้น
ยันสัมพันธ์ตปท.แน่นแฟ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น รัฐบาลได้พูดคุยอย่างแน่นแฟ้นกับทุกประเทศ ตนถือว่าทุกคนเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันมายาวนาน ไม่เป็นศัตรูกัน วันนี้อาจมีปัญหากันอยู่บ้าง วันหน้าก็ต้องดีกันอยู่แล้ว การค้าการลงทุนยังลงทุนอยู่ การเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นการค้าการลงทุนหรือเศรษฐกิจมีผลต่อประชาชนทุกประเทศ ความขัดแย้งทำให้ประชาชนอดอยากยากจน ก็ไม่น่าจะดี เราต้องลดความกดดันในเรื่องนี้ให้ได้ ใจเย็นๆ อดทนกัน ตนพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทุกประเทศที่มีมายาวนาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ตนจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน เราให้ความสำคัญทุกประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ตนไปในฐานะที่เป็นประเทศประชา ธิปไตยของอาเซียนในตะวันตก โดยตนจะนำผลข้อสรุปต่างๆ มาพูดถึงในสัปดาห์หน้า เพื่อให้รับทราบความคืบหน้า เราเจรจาบนพื้นฐานของความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกัน
ขอประชาชนเฝ้าระวัง'รุนแรง'
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า หลายเรื่องตนได้สั่งการไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่ ต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหาของประชาชน และรับฟังปัญหา ความคิดเห็นด้วย ตนลงตรวจเยี่ยมประชาชนเพื่อรับฟังปัญหา ก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ มากบ้างน้อยบ้าง ตนรับได้ทั้งหมดเพราะเป็นความทุกข์ของประชาชน เป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศ หน้าที่ของรัฐมนตรีทั้งหมดต้องนำมาแก้ไขด้วยเหตุผล ด้วยความเหมาะสมและจริงจัง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ถ้าเราทุกคนช่วยเหลือสังคมได้ก็ช่วยกัน คนละไม้คนละมือ มีอะไรมากก็เผื่อแผ่แบ่งปัน เป็นคนไทยด้วยกัน ต้องช่วยดูแลกันทั้งผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้เข้าไม่ถึงทรัพยากรของรัฐ ความเท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำ ต้องช่วยรัฐบาลช่วยแก้ปัญหา ทุกคนช่วยได้หมด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม สั่งการให้ทุกหน่วยมีมาตรการที่เข้มข้น กวดขันทุกคดี ให้เร่งสืบสวนหาคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะคดีที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีผลกระทบต่อการบริหารราชการหรือประเทศชาติ ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ให้ความเป็นธรรม ไม่ปล่อยปละละเลย ต้องขอให้ความร่วมมือประชาชนเฝ้าระวัง แจ้งความดูแลพื้นที่ตัวเองให้ปลอดภัย การท่องเที่ยวจะได้ดีขึ้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา อย่าให้ใครเข้ามาสร้างสถานการณ์ จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่ดี ไม่ทราบว่าคิดอะไรกันอยู่
วอนลดความเกลียดชัง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวกับสถาบันและการเมืองนั้น ขอให้ใช้วิจารณญาณ ถ้าเป็นคดีที่มีความผิด รัฐบาลก็ละเว้นไม่ได้ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย และขอความร่วมมือ ทุกคนต้องช่วยกันลดความเกลียดชังกันลงไปทั้งในสื่อ ในโซเชี่ยลมีเดีย ช่วยกันลดลง วันนี้มีการใช้โซเชี่ยลมีเดียจำนวนมาก ใช้โทรศัพท์ ใช้อะไรต่างๆ มีการส่งข้อความถึงกันตลอดเวลา อาจจะมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลกหรืออาเซียนด้วยซ้ำ ต้องดูแลกันให้ดี รัฐบาลไม่มีวัตถุประสงค์จะเข้าไปแทรกแซง เข้าไปดูในส่วนที่เป็นความลับของท่าน เว้นแต่ท่านช่วยกันดูแลเองว่าไม่แพร่กระจาย ไม่ช่วยกันแพร่ในส่วนที่ไม่เหมาะสมออกไป
"ถึงเวลาถูกดำเนินคดี ก็หาว่าเป็นคดีการเมืองหรือการรังแกของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เลย เรามองทุกคนเป็นประชาชน บางคนรู้ก็ทำ บางคนก็อาจจะทำทั้งที่ไม่รู้ ต้องสอบสวนกันออกมาให้ได้ข้อชัดเจน ดังนั้น ต้องระมัดระวัง ประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อของคนไม่ดีเหล่านั้น ที่มุ่งหวังทำลายชาติ ทำลายสถาบัน ทำลายความมั่นคงของรัฐในปัจจุบัน เรากำลังปฏิรูปอยู่ รัฐบาลสัญญาว่าจะทำอย่างเต็มที่ในการดำเนินคดีไม่ให้เกิดขึ้นอีก ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายข้าราชการพลเรือนต้องดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัย ให้ประชาชนมีความสุข" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
คสช.แจงวุ่นห้ามล้อการเมือง
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคสช. กล่าวถึงข่าวคสช.สั่งห้ามจัดกิจกรรมล้อเลียนทางการเมืองในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 7 ก.พ.ว่า ทางผู้จัดงานร่วมกันทั้ง 2 สถาบัน ได้ประสานมายังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในระดับพื้นที่ ถึงรายละเอียดกิจกรรมว่าก่อนจะมีการแข่งขันในทุกๆ ปี จะมีการละเล่นเชิงหยอกล้อการเมือง หรือพาเหรดล้อเลียนทางการเมือง จึงประสานงานพูดคุยกันว่าปีนี้จะระมัดระวังในเนื้อหาของการล้อเลียนทางการเมืองให้อยู่ในกรอบของความบันเทิงทางการกีฬาตามธรรมเนียมที่พอเหมาะสม เพราะทั้งผู้จัดงาน คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ทั้ง 2 สถาบันและเจ้าหน้าที่เห็นตรงกันว่ามีโอกาสที่อาจถูกบุคคลใดบุคคลหนึ่งหยิบยกไปบิดเบือนขยายผลส่งผลให้เกิดความไม่เรียบร้อยหรือถูกนำไปอ้างเชื่อมโยงเป็นประเด็นขัดแย้งได้
"ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้สั่งห้าม แค่เห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ผู้จัดงานประเพณีเข้าใจและมีแผนที่จะระมัดระวังให้อยู่แล้ว" โฆษก คสช. กล่าว
ทหารอุ้ม'เรืองไกร'ปรับทัศนคติ
แหล่งข่าวคนใกล้ชิดนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า นายเรืองไกรถูกทหารควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ตั้งแต่คืนวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีทหารยศพันเอก พร้อมอาวุธครบมือมาที่บ้านพักของนายเรืองไกร และพูดคุยกันระยะหนึ่ง จากนั้นนำตัวนายเรืองไกรขึ้นรถตู้ ซึ่งสาเหตุมาจากฝ่ายความมั่นคงไม่พอใจมากที่นายเรืองไกรทำหนังสือถึงนายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยชี้แจงสถานการณ์ในไทยและให้ความชัดเจนแก่สหรัฐว่าการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นเรื่องการเมือง และจนถึงขณะนี้นายเรืองไกรก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
แหล่งข่าวนายทหารระดับสูงของกองทัพบก ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทหารของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้ควบคุมตัวนายเรืองไกรมาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติตามกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. ที่ มทบ.11 หลังจากยื่นหนังสือร้องเรียนถึงอุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย มีเนื้อหาวิจารณ์การถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์และโจมตีการทำงานของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปหรือไม่
สหรัฐขู่กดดัน-เร่งไทยฟื้นปชต.
วันเดียวกันนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางทหารกับไทยจะไม่เป็นไปในระดับพันธมิตรเต็มรูปแบบตราบใดที่ไทยยังไม่ฟื้นฟูประชาธิปไตย
"จำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูสถาบันต่างๆ ทั้งในด้านการปกครองและความยุติธรรม เช่นเดียวกับการฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง" เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าว
ด้านน.ส.มารี ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวถึงเรื่องนี้ในการแถลงข่าวประจำวันว่า เป็นสารที่สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาล ประเทศไทยเป็นพันธมิตรและเพื่อนที่ทรงคุณค่าต่อสหรัฐ เรามีประวัติ ศาสตร์ความเร่วมมือที่ยาวนาน และเราจะ ร่วมมือกันต่อไปในด้านความมั่นคง เพื่อประโยชน์ของสองประเทศ แต่เราต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเดินหน้าไปสู่ขั้นตอนสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย นี่คือทางเดินสำคัญ เป็นนโยบายของเรา เราพูดถึงเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว และจะดำเนินต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สหรัฐกำหนดเวลานานเท่าใดที่จะประเมินการเปลี่ยนผ่านสู่ประชา ธิปไตย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในท่าทีความสัมพันธ์ น.ส.ฮาร์ฟกล่าวว่า เราได้เปลี่ยน แปลงท่าทีมาแล้วจากกรณีที่เราระงับความสัมพันธ์บางส่วนหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ในไทยเมื่อปีก่อนดังนั้นเราเชื่อว่า ต้องรีบจัดการให้เร็วที่สุด และเราจะกดดันต่อไป
'ฮิวแมนไรต์'ชงญี่ปุ่นช่วยกดดัน
ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกแถลงการณ์ในญี่ปุ่นเรียกร้องให้นายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ใช้โอกาสต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯไทยไปเยือนญี่ปุ่น ในวันที่ 8-10 ก.พ.นี้ แสดงความวิตกกังวลต่อการปิดกั้นเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของไทย พร้อมกดดันให้ไทยฟื้นฟูการปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตย และควรมีเงื่อนไขว่าญี่ปุ่นจะกลับมาดำเนินธุรกิจกับไทยตามปกติ เมื่อไทยมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและ การเคารพสิทธิมนุษยชนได้รับการฟื้นฟู
ฮิวแมนไรต์สาขาในญี่ปุ่นระบุด้วยว่า นายอาเบะ ควรปรับเปลี่ยนการทูตเดิมที่นิ่งเงียบในด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงประชาชนและวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ควรใช้ความสัมพันธ์ทางการทูต การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางสังคมที่ใกล้ชิด ผ่านการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาในการยกประเด็นสิทธิมนุษยชนต่อไทย
องค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถูกคสช. กดทับด้วยกฎอัยการศึก มีเว็บไซต์มากกว่า 200 เว็บ รวมถึงของฮิวแมนไรต์วอตช์ ถูกบล็อกด้วยการอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทางกลุ่มเห็นว่าแรงกดดันของญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญจะช่วยทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยกลับคืนมาได้เร็วขึ้น
กกต.ยื่น'บิ๊กตู่'ค้านลดอำนาจ
ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดย น.ส. สุรณี ผลทวี ผอ.สำนักเลขานุการกกต. เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เพื่อให้พิจารณากรณีคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของกกต. โดยนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง
น.ส.สุรณี กล่าวว่า กกต.มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ การยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่กมธ. ยกร่างฯให้ความเห็นชอบ ว่าจะตั้งคณะกรรม การจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เพื่อเป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทนกกต. ซึ่งกกต.เห็นว่าระบบ การแยกผู้ควบคุมการเลือกตั้งและผู้จัดการเลือกตั้งออกจากกันนั้น ไม่ใช่หลักสากล รวมทั้งอาจจะขาดประสิทธิภาพ ประเด็นต่อมาคือการให้กกต.มีอำนาจเฉพาะให้ใบเหลือง หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง โดยอำนาจการเพิกถอนสิทธิการเลือกของผู้สมัครหรือใบแดง เป็นอำนาจของศาล ทางกกต.เห็นว่ากว่าศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดให้ใบแดงได้นั้น จะเกิดช่องว่างให้ผู้กระทำความผิดเข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติหรือบริหารก่อนมี คำวินิจฉัย ซึ่งอาจใช้อำนาจข่มขู่พยานได้ รวมถึงการให้จัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลนั้น จะเอื้อให้ผู้มีทุนมากกว่าได้เปรียบ
เดินสายร้อง'คสช.'ด้วย
น.ส.สุรณี กล่าวว่า ส่วนที่จะยกเลิกอำนาจของกกต.ที่เคยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น กกต.เห็นว่าจำเป็นต้องให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตื่นตัวและมีส่วนช่วยทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม อย่างไรก็ตาม กกต.แค่ยื่นข้อสังเกตเท่านั้น หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างออกมาอย่างไร ก็พร้อมทำตามและพร้อมปรับปรุงองค์กรให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย จากนั้นตัวแทนกกต. เดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคสช.
ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 1 น.ส.สุรณี และคณะ ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านเจ้าหน้าที่หน้าห้องประธานสปช. เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกกต. 3 ข้อ และนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป
พท.หนุนกกต.จัดเลือกตั้ง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อสรุปจะให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)ว่า กกต.เกิดจากแนวคิดว่าองค์กรที่จัดเลือกตั้ง ควรมีอิสระและเป็น กลาง รัฐธรรมนูญปี 40 จึงเป็นจุดกำเนิดให้มีกกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทยในอดีต และกำหนดอำนาจให้กกต.ให้ใบเหลือง ใบแดง ซึ่งเป็นหน้าที่ชี้ขาดอาจเรียกว่าใช้อำนาจตุลาการได้ด้วย แต่ที่ผ่านมา กกต.ก็ถูกวิจารณ์ในประเด็นความโปร่งใสความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการใช้อำนาจ
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้น การให้ข้าราชการเป็นผู้จัดเลือกตั้ง โดยให้กกต.ทำหน้าที่ควบคุมเท่านั้น เท่ากับเราเลิกความคิดดั้งเดิมในการมี กกต. กลับมาใช้ข้าราชการเป็นผู้จัดเลือกตั้ง ทั้งที่เดิม กกต.ก็มีอำนาจสั่งการให้ข้าราชการจัดเลือกตั้งได้อยู่แล้ว จึงเห็นว่าควรให้ กกต.จัดการเลือกตั้งและควบคุมกำกับกันทั้งระบบ จะคล่องตัวและเป็นเอกภาพมากกว่า เพียงแต่ กกต. ไม่ควรทำหน้าที่ให้ใบเหลือง ใบแดง แม้ให้ ใบเหลืองก่อนประกาศผลก็ไม่ควรทำ ควรมอบให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งใช้อำนาจนี้ กกต.ควรจัดเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดควรมอบให้ศาลทำ
ยกร่าง'กระจายอำนาจ'
ที่รัฐสภา นายวุฒิสาร ตันไชย คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญในการพิจารณาภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอำนาจ และการบริหารท้องถิ่นว่า กมธ.ยกร่างฯได้เพิ่มมาตรา 2/1 ขึ้นใหม่โดยกำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้มีประมวลกฎหมายท้องถิ่น ให้กระจายอำนาจเพิ่มขึ้น มีหน่วยงานรับผิดชอบการกระจาย อำนาจที่เป็นเอกภาพ ดำเนินการให้กระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ มีการจัดสรรภาษีและ รายได้ระหว่างรัฐกับองค์กรบริหารท้องถิ่นที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละประเภท และมีระบบตรวจสอบ และประเมินผลการกระจายอำนาจ
นายวุฒิสาร กล่าวว่า ส่วนมาตรา 4 กำหนดให้ ประชาชนหรือชุมชนมีสิทธิมีส่วนร่วมบริหารงานกำหนดรูปแบบและการเปลี่ยน แปลงองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การเงินและการคลัง ให้ประชาชนรับทราบ ทั้งต้องส่งเสริมสมัชชาพลเมือง และจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตัดสินใจในการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน
กมธ.โต้มะกัน-ยันปี 59 เลือกตั้ง
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาลดระดับความสัมพันธ์ทางการทหารและเรียกร้องให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็วว่า ยืนยันว่ากมธ.ยกร่างฯกำลังเดินหน้าตามโรดแม็ปทุกอย่าง เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งสภาพปัญหาของไทยก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 บ้านเมืองเดินไปลำบาก ดังนั้น กมธ. ยกร่างฯจะร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสภาพของไทย และไม่ห่วงกับท่าทีของสหรัฐที่แสดงความกังวล ยืนยันว่าการเลือกตั้งของไทยจะเกิดขึ้นใน ต้นปี 2559 ตามแผนโรดแม็ป ส่วนพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกคาดว่าจะเริ่มยกร่างกฎหมายลูกได้ในวันที่ 23 ก.ค.นี้ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายเสร็จสิ้น
เมื่อถามถึงกรณีรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐสภาไทยคืนประชา ธิปไตยและกังวลกับที่กมธ.ยกร่างฯ มีมติ เบื้องต้นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินควบรวมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)นั้น นายคำนูณกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯพร้อมรับฟังทุกความเห็น โดยได้ยืนยันไปแล้วว่าเป็นการยกระดับและผนึกกำลังของ 2 องค์กรเพื่อประสิทธิภาพและพิทักษ์สิทธิของประชาชน ส่วนกกต. ยื่นหนังสือ ขอให้ทบทวนมติของกมธ.ยกร่างฯ ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็น โดยยืนยันว่าจะนำมาทบทวนภายหลังพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จทั้งกระบวนการแล้ว อาจเป็นไปได้ที่จะทบทวนทุกมาตรา แต่ขึ้นอยู่กับกระแสสังคมและความสอดคล้องกับกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
เปิดรับฟังความเห็นสปช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้งดการประชุม วันที่ 9 -10 ก.พ. เพื่อให้การจัดทำร่างรายมาตราในภาค 4 การปฏิรูปและปรองดองให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ส่วนวันที่ 11 ก.พ. ที่ประชุมจะกลับมาพิจารณาในเวลา 09.00 น. แต่งดให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์ และติดตามทำข่าวในห้องประชุมเหมือนปกติ เนื่องจากกมธ. ยกร่างฯ ไม่ได้พิจารณารายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยที่ประชุมมีมติว่าประเด็นในภาค 4 ต้องรับฟังความเห็นของ กมธ.ปฏิรูปคณะต่างๆ ของสปช. ด้วย และมีมติให้นำร่างบทบัญญัติในภาค 4 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกมธ.ปฏิรูปด้านต่างๆ และร่างรัฐธรรมนูญในส่วนสิทธิ เสรีภาพของบุคคล และหมวดแนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐ ส่งให้กมธ.ปฏิรูปทุกคณะ พิจารณาและให้ความเห็นเพิ่มเติม จากนั้นให้ส่งคืนมายังกมธ.ยกร่างฯภายในวันที่ 13 ก.พ.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีคำสั่งนัดประชุมสปช. ครั้งที่ 9/2558 ใน วันที่ 9 ก.พ.และครั้งที่ 10/2558 วันที่ 10 ก.พ. เวลา 11.00 น. มีวาระ เพื่อรับรายงานความคืบหน้าของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณารายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง "วิสาหกิจเพื่อสังคม" ของคณะกรรมการศึกษาและจัดทำรายงาน เรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมพร้อมร่างกฎหมาย ที่กมธ.กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) พิจารณาเสร็จแล้ว ส่วนวันที่ 10 ก.พ. มีวาระเร่งด่วน คือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ของคณะกรรมาธิการศึกษาและจัดทำรายงาน
ทบ.แจงผัดกะเพราจานละ 100
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่บก.ทบ. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีมีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเมนูข้าวผัดกะเพราของสโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีฯ มีราคาแพงว่า พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. มีนโยบายและตั้งใจช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กำลังพลและครอบครัวตามแนวทางของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ซึ่งร้านค้าที่จำหน่ายอาหารภายในหน่วยทหารจะมีราคาถูกกว่าร้านค้าภายนอกเป็นส่วนใหญ่ และมีนโยบายให้ผู้บังคับหน่วยไปหามาตรการดูแลพิเศษมาเสริมอยู่แล้ว
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ นั้น มีมาตรฐานเทียบเท่าภัตตาคารและโรงแรม ซึ่งอัตราค่าบริการเป็นไปตามต้นทุนสินค้าและการบริการที่ใกล้เคียงกับสถานประกอบการลักษณะเดียวกัน อีกทั้งมีวัตถุประสงค์การใช้งาน การให้บริการและมีต้นทุนหลายอย่างจึงต่างจากร้านค้าในหน่วยทหารหรือร้านทั่วไป จากข้อท้วงติงดังกล่าว ผบ.ทบ.ให้ไปปรับอัตราการบริการและราคาเป็นกรณีพิเศษ โดยหน่วยงานที่ดูแลสโมสรจะนำไปพิจารณาและปรับราคา โดยยังคงมาตรฐานที่มีคุณภาพไว้ แม้จะไม่สอดรับกับมุมการบริหารเชิงพาณิชย์หรือหากเปรียบเทียบกับสถานบริการในระดับเดียวกันก็ตาม
รบ.รับเสียงค้าน'พรบ.ไซเบอร์'
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เชิญตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อาทิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ฯ กว่า 30 คน หารือเพื่อให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลที่อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังมีผู้แสดงความกังวลต่อเนื้อหาของกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของเอกชนและการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปและไม่มีการถ่วงดุล โดยใช้เวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง
นายวิษณุ กล่าวในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นห่วงและเคยปรารภว่า น่าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดจา รัฐบาลคงไม่มีอะไรชี้แจงมากแต่ต้องฟังก่อน เพราะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ส่วนกฎหมายรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นกฎหมายที่ยากและมีผลกระทบมาก และยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงถือไว้เป็นลำดับสุดท้ายของกฎหมาย ล็อตนี้ จากที่ฟังความเห็น เป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนบุคคล ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยปราศจากการถ่วงดุลหรือการคานอำนาจ หรือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป โดยปราศจากการเหนี่ยวรั้ง
นายปราเมศวร์ มินศิริ ผู้แทนเว็บไซต์กระปุกดอทคอม เผยหลังการหารือว่า การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เขาดูกฎหมาย ถ้าเห็นกฎหมายเหล่านี้แล้ว นักลงทุนคงเลือกไปลงทุนที่อื่นๆ อย่างไรก็ดีนายวิษณุรับปากว่า เมื่อร่างกฎหมายใกล้เสร็จจะเชิญไปร่วมดูอีกครั้ง ถือว่ารัฐบาลยอมชะลอแต่ยังเดินหน้า ส่วนการเปิดให้มีส่วนร่วมในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับปากให้มีกรรมาธิการมากกว่า 15 คนในชั้นของสนช. ถือว่าน่าพอใจในแง่การมีส่วนร่วม แต่ในแง่ของผลลัพธ์ต้องรอดู
นางวารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้ผลิตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ กล่าวว่า ความเชื่อถือและมั่นใจของเอกชนว่าข้อมูลที่นำไปจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ เราห่วงว่าสิทธิบุคคลและองค์กรเอกชนได้รับการเคารพหรือไม่ เพราะเป็นโอกาสให้รัฐเข้าถึงข้อมูลได้เต็มที่ เราอยากเห็นกฎหมายที่ชัดเจนว่าสิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการเคารพ ต้องมีการถ่วงดุลและตรวจสอบ จึงขอให้ผู้ร่างกฎหมายคำนึงถึงหลักการนี้ และอยากให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฯ มีโอกาสร่างกฎหมายหรือเสนอความเห็นในโอกาสต่อไป
'สมชาย'งงฟื้นคดีสลายม็อบปี 51
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสั่งสลายการชุมนุมปี 2551 จะรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 24 ก.พ. ว่า รู้สึกงง นึกว่าจบไปแล้ว เพราะตอนนั้นอัยการสูงสุด (อสส.) สั่งไม่ฟ้อง และวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอน และที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรที่มีปัญหา
นายสมชาย กล่าวต่อว่า หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล เพราะมั่นใจว่า บริสุทธิ์ ไม่ได้สั่งสลายการชุมนุม แต่ถ้าศาลมีคำสั่งรับฟ้องจริง ก็ต้องไปต่อสู้ วันนี้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ และตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ต้องการให้คนตระกูลชินวัตรกลับมาเล่นการเมือง
"ผมอยากบอกว่า คนตระกูลชินวัตรผูกขาดการเมืองไม่ได้ เพราะล้วนแต่มาจากฉันทามติประชาชน ตามกติกาเลือกตั้ง เห็นว่าผมเป็นลูกเขยชินวัตร แล้วจะมาผูกขาดคงไม่ใช่" นายสมชายกล่าว