- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 06 February 2015 12:44
- Hits: 4000
'บิ๊กต๊อก'ลั่นเอาผิดหมด โพสต์-แชร์ ไล่ล่ามือทำแถลงการณ์เก๊ ยันฟันไม่เว้น-สื่อโดนด้วย เค้น7วันนปช.เพชรบูรณ์ ทหารทนายแดงเข้าพบ กกต.ขอคืนจัดเลือกตั้ง
ขอมีส่วนร่วม - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รับมอบเงิน 1,816 บาท จากตัวแทนนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนา อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ในโอกาสที่เยี่ยมชมรัฐสภา โดยขอมีส่วนร่วมจัดทำจุลสารปฏิรูปประเทศไทย ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์
'บิ๊กต๊อก'ลั่นโพสต์-แชร์แถลงการณ์เก๊ตามเอาผิดหมด กกต.ร่อน จ.ม.ค้านตัดอำนาจ'เทียนฉาย"ดอดถก ป.ป.ช.ยันไม่ยุบ 'อ๋อย'เตือน'บิ๊กตู่' แม่น้ำ 5 สายพาเข้าทางตัน
@ ตร.ไล่ล่ามือทำแถลงการณ์ปลอม
กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมนายกฤษณ์ บุตรดีจีน หรือเนส สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากเป็นผู้โพสต์เผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเครือข่ายที่เผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม ทราบแน่ชัดแล้วว่าจัดทำขึ้นในประเทศไทย ขณะนี้ตำรวจอยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางการส่งข้อมูล เพื่อย้อนกลับไปให้ถึงต้นทางที่มีการเผยแพร่ คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ส่วนมูลเหตุของการกระทำลักษณะดังกล่าว พบว่าส่วนใหญ่มาจากประเด็นทางการเมือง แต่หากได้ตัวผู้จัดทำอาจมีความชัดเจนมากขึ้น
พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวว่า สำหรับนายกฤษณ์ บุตรดีจีน ผู้ต้องหาเผยแพร่แถลงการณ์ที่ถูกจับกุม ยังอยู่ในการควบคุมตัวของทหาร และอยู่ระหว่างการสอบสวนที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ยังไม่สามารถประกันตัวได้ พร้อมยืนยันว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอีก หากมีเจตนาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความเสียหาย แต่ส่วนใหญ่เมื่อทราบว่าเป็นเรื่องเท็จก็หยุดส่งต่อหรือเผยแพร่ทันที
@ ยันดำเนินคดีเว็บข่าวด้วย
พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวถึงการดำเนินคดีกับเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ หรือ www.manager.co.th ที่มีการเผยแพร่แถลงการณ์ว่า ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลตรวจสอบรายละเอียดของการเผยแพร่แถลงการณ์นี้อย่างละเอียดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ ทั้งนี้แม้ผู้รับผิดชอบเว็บไซต์จะเข้าพบตำรวจ สน.ชนะสงคราม เพื่อลงบันทึกประจำวันแล้ว แต่หากการเผยแพร่ดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว และพบมีความผิดก็ต้องดำเนินคดีเช่นเดียวกับนายกฤษณ์ที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันฯและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยืนยันว่าดำเนินการด้วยมาตรฐานเดียวกันหากผู้ใดผิดต้องดำเนินการไม่ละเว้น
@ ทบ.เผยทหารควบคุม7วัน
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนการสอบสวนซักถาม อาจใช้เวลาระยะหนึ่งไม่เกิน 7 วัน เนื่องจากเป็นคดีที่ละเอียดอ่อน มีผลกระทบต่อจิตใจคนไทย ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ได้ตัวผู้ที่กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องมาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย
@ 'ตู่'ส่งทนายช่วย'กฤษณ์'
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า "ผมได้ประเมินสถานการณ์ในรายการที่จัดว่ากลุ่มที่วางระเบิดสร้างสถานการณ์ที่พารากอนกับกลุ่มคนที่ทำแถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมนั้นคือกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ปรากฏว่าช่วงบ่ายมีข่าวว่าไปจับคนเสื้อแดงที่ จ.เพชรบูรณ์ ทั้งๆ ที่ตอนแรกตำรวจและหน่วยงานต่างๆ บอกว่ามือที่ทำแถลงการณ์นี้อยู่ต่างประเทศ และช่วงข่าวเช้า ที่รายการข่าวเช้าต่างๆ ได้นำเสนอนั้นคือ 'เว็บไซต์ผู้จัดการ' ซึ่งลงแถลงการณ์ปลอมนี้เหมือนกันได้เดินทางไปแจ้งกับ สน.ชนะสงคราม ว่าได้ทำการลดเงินเดือนผู้ที่รับผิดชอบเว็บไซต์นี้ครึ่งหนึ่ง และกำลังพิจารณาให้ออกและแถลงขอโทษ ทุกอย่างจบข่าว เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น"
@ จี้เอาผิดเว็บหมิ่นเหมือนกัน
นายจตุพร ระบุว่า "แต่การจับกุมนาย กฤษณ์ เมื่อเห็นหน้าน้อง ผมถึงนึกออกว่าเป็นใคร เพราะเคยเจอกันที่งานศพของพี่เปีย (พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร) น้องเนสเป็นคนเสื้อแดงจริงๆ วันนี้ผมก็ได้มอบหมายให้ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. ไปช่วยเหลือในการต่อสู้คดี สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดกัน นายกฤษณ์ไม่ได้ปฏิบัติและแชร์อะไรไป ที่ต่างกับเว็บไซต์ผู้จัดการ ซึ่งแน่นอนว่าน้องคนนี้ไม่ใช่คนเขียนแถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมนี้ ตำรวจและแม่ทัพ นายกฯปฏิบัติถึงขนาดนายกฤษณ์เป็นอาชญากรสำคัญ ดูเสมือนหนึ่งว่าผลักคนเสื้อแดง เหมือนตอนทำผังล้มเจ้า เมื่อปี 2553 เหมือนใช้กฎหมายคนละฉบับกันหรืออย่างไร ทำไมจึงไม่ไปดำเนินการสอบสวนกับเว็บไซต์ผู้จัดการเหมือนที่ทำกับน้องเนส ที่มัดมือจับเข้าไปสอบสวน สร้างข่าวตื่นเต้นกันไปทุกฉบับ ถ้านายกฤษณ์ถูกดำเนินคดีอย่างไรในเรื่องแถลงการณ์ปลอม เว็บไซต์ผู้จัดการก็ควรต้องโดนแบบเดียวกัน"
@ 'บิ๊กต๊อก'ไล่บี้คดีมาตรา112
ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานเพื่อดำเนินการติดตามผู้กระทำผิดมาตรา 112 กำลังดำเนินให้กระทรวงการต่างประเทศทำข้อมูลชี้แจงไปยังประเทศที่มีผู้ต้องหาคดี 112 พำนักอยู่ ให้ประเทศดังกล่าวได้ทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น และกลุ่มคนเหล่านั้นยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด จะได้รู้ว่าคนในประเทศไทยรู้สึกอย่างไรในเรื่องดังกล่าว โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ปราบปรามต้องไปสืบสวนหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้นว่าอยู่ประเทศดังกล่าวแน่นอน มีหลักฐานยืนยันชัดเจน พร้อมทั้งรายละเอียดเคลื่อนไหวผ่านระบบโซเชียลมีเดียว่ามีไอพีแอดเดรสอยู่ในประเทศนั้นๆ และช่วงเวลาใดบ้าง
"เบื้องต้นได้ออกหมายจับบุคคลที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ 40 คน ต้องดำเนินการหาข้อมูลและชี้แจงไปประเทศที่กลุ่มผู้ต้องหาพำนักอยู่ แต่คาดหวังจะนำคนทั้ง 40 คน ตามหมายจับมาดำเนินการโดยเร็วคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องกฎหมาย หรือส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่คาดหวังให้ประเทศเหล่านี้ตระหนักว่าต้องควบคุมคนเหล่านี้ไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ได้อีก" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
@ ลั่นใครโพสต์-แชร์โดนหมด
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวถึงการดำเนินคดีการเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมว่า ยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินการด้วยความยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด จะใช่หรือไม่ใช่ นปช.ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยหลังจากมีการเผยแพร่ได้ตรวจสอบพบไอพีแอดเดรสอยู่ที่คอมพิวเตอร์บ้านผู้ต้องหา
"กฎหมายไม่ได้เลือกลงโทษว่าใครเป็นฝ่ายใด ไม่อยากให้เอาตัวองค์กร นปช.เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องตัวบุคคล และเท่าที่ทราบจากข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชายคนดังกล่าวมาสอบสวน เพราะการโพสต์แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเป็นการรับข้อมูลมาในระดับต้นๆ เป็นคนโพสต์หรือแชร์ต่อ ยังไม่ใช่คนที่ผลิตหรือทำเอกสารปลอม จึงนำตัวผู้ต้องหามาสอบ หาความเชื่อมโยงว่าได้ข้อมูลมาจากไหน เพื่อสาวต่อไปหาคนทำ และต้นตอทำข้อมูลหากกฎหมายระบุว่าใครโพสต์ใครแชร์ก็ต้องรับผิดทุกฝ่าย ไม่ว่าสื่อที่นำมาเผยแพร่ก็ตาม แต่บทลงโทษต้องดูเจตนาที่กระทำทุกอย่างก็ว่าไปตามกระบวนการ"พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
@ ไอซีทีสอบวินัยเจ้าหน้าที่เอี่ยว
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงไอซีทีตรวจพบเจ้าหน้าที่กระทรวง ไอซีที 1 ราย เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่เอกสารปลอมของสำนักพระราชวัง ถือว่ามีความผิดและอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการ โดยจากการสอบสวนเบื้องต้น เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ชี้แจงว่าได้รับข้อความดังกล่าวมาจากบุคคลภายนอก จึงดำเนินการส่งต่อให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ภายในกระทรวงไอซีที ผลการสอบสวนคาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้
@ ทนายแดงวืดเยี่ยม'กฤษณ์'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ในฐานะทนาย นปช. ที่ได้รับมอบหมายมาจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เพื่อให้การช่วยเหลือทางด้านคดีแก่นายกฤษณ์ เดินทางมาที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) โดยนายวิญญัติกล่าวว่า ได้รับการประสานจากญาติของนายกฤษณ์ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้ประสานนายทหารพระธรรมนูญติดต่อพบนายกฤษณ์ แต่ว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้พบพูดคุย เพราะถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกได้ 7 วัน พร้อมย้ำด้วยว่าอยู่ในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก จึงถือเป็นกฎหมายหลักที่บังคับใช้ ขอเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่าแม้จะบังคับใช้กฎอัยการศึก แต่ผู้ต้องหาต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนและตามรัฐธรรมนูญกำหนด
นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. กล่าวว่า ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ด้วยว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะเป็นการโพสต์จากการแชร์ต่อกันมา แต่กลับเลือกจับกุมตัวเฉพาะผู้ที่เป็นเครือข่าย นปช. มีเจตนากลั่นแกล้งทางการเมืองกับคนเสื้อแดงหรือไม่
@ สอบสวน'กฤษณ์'ไม่เสร็จ
ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. ได้รับการประสานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำตัวนายกฤษณ์ออกจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มาขออำนาจศาลทหารฝากขัง จึงมารอขอพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเเละให้การช่วยเหลือคดี หลังจากรอเกือบ 2 ชั่วโมง ก็ได้รับเเจ้งว่าตำรวจยังสอบสวนไม่เสร็จ จึงไม่สามารถนำตัวมาขอศาลฝากขังได้ภายใน 1 ถึง 2 วันนี้
@ เผย'พ่อ-แม่'รับผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านพ่อและแม่ของนายกฤษณ์ แจ้งต่อผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปสอบถามข้อมูลที่บ้านใน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยของดที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะหลังมีสื่อทีวีนำภาพและเสียงไปเผยแพร่ ทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจที่ทำอยู่เนื่องจากแทบจะไม่มีลูกค้ามาอุดหนุน เกรงว่าอาจจะกระทบไปถึงหน้าที่การงานของญาติพี่น้องอีกด้วย
โดยแม่ของนายกฤษณ์กล่าวว่า ลูกชายทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงจริง แต่ความคิดหรือความเห็นก็ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย คนเราความเห็นต่างย่อมต่างกันได้ ขณะที่พ่อของนายกฤษณ์ยืนยันว่า สิ่งที่ลูกชายกระทำไปนั้น แค่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น หลังได้รับเอกสารดังกล่าวก็เผยแพร่ออกไปและเมื่อพบเห็นความผิดปกติก็รีบลบทิ้งโดยทันที ส่วนการจะเดินทางไปเยี่ยมลูกชายหรือไม่ตอนนี้คงขอหากินก่อน เพราะไม่ใช่คนมีฐานะร่ำรวยแต่อย่างใด นอกจากนี้ พ่อนายกฤษณ์ยังขอความร่วมมือจากสื่องดการถ่ายภาพ โดยระบุว่าแค่นี้ก็มีผลกระทบค่อนข้างมากแล้ว
@ ปชป.อ้างเนื้อเดียวกัน
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นายกฤษณ์ไม่ใช่คนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุมธรรมดาทั่วไป แต่เป็นบุคคลสำคัญที่เป็นเนื้อแท้กับแกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทย ไม่เช่นนั้น นปช.คงไม่ออกมายอมรับพร้อมส่งทนายเข้าช่วยเหลือ ที่ผ่านมาถ้าไม่ใช่คนสำคัญจริงๆ จะไม่ยอมออกหน้า คิดว่ามีเหตุผลที่ นปช.ส่งทนายเข้าช่วยอยู่ 2 ประการ คือ 1.อยากขอร่วมรับฟังการสอบสวน เพื่อป้องกันการซัดทอดขยายผลมาถึงตัว และ 2.เพื่อไม่ให้เกิดภาพการลอยแพ หรือตัดหางปล่อยวัด ทิ้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์
@ 'บวรศักดิ์'ปัดกดดันเร่งรธน.
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุทำนองเร่งให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อนกำหนดว่า เรื่องนี้ไม่กดดัน อาจจะเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดยังเร็วที่จะพูดถึงในตอนนี้ เพราะยังต้องดูกฎหมายลูกและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด และขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างโดยเฉพาะการทำประชามติ เพราะหากจะทำต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งผู้มีอำนาจในการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นถ้าจะทำประชามติ คสช.และ ครม.จะต้องทำเรื่องมายังสภานิติบัญญัติ (สนช.) เพื่อให้ สนช.เป็นผู้ลงมติก่อนวันที่ 6 สิงหาคมนี้
@ ชี้ตั้ง7อรหันต์ป้องการเมือง
เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจคณะกรรมการ 7 คนมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็นการให้อำนาจข้าราชการเกินไปหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ในอดีตใช้ระบบการแต่งตั้งแบบครึ่งทางของสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งสหรัฐให้อำนาจฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แต่ในอังกฤษไม่ให้อำนาจนักการเมือง แต่เมื่อใช้แล้วพบว่ามีปัญหา เช่น กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงต้องมาคิดกันใหม่ ซึ่งระบบแบบสหรัฐไม่เอาด้วยแน่นอน จึงเห็นว่าต้องใช้ระบบของอังกฤษ เมื่อถามย้ำว่า เป็นการป้องกันนักการเมืองเข้าไปล้วงลูกข้าราชการใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวตอบสั้นๆ ว่า "ใช่"
@ 'อ๋อย'เตือน'บิ๊กตู่'เข้าทางตัน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทราบหรือไม่ว่า สิ่งที่แม่น้ำหลายสายกำลังทำกันอยู่นี้ อาจจะนำสังคมไทยไปสู่ทางตัน เนื่องจากกฎกติกาที่กำลังสร้างกันขึ้นนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม กฎกติกาที่กำลังเขียนกันนี้อาจจะไม่ได้มุ่งกีดกันใครเป็นการเฉพาะ แต่กำลังปิดโอกาสประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ให้มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดอนาคตและความเป็นไปของบ้านเมือง ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเป็นการเสียเวลาเปล่าจริงๆ แม่น้ำทั้งห้าสายจำเป็นต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลายไปพร้อมกันด้วย นี่เป็นความเห็นต่างที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์
@ @ กกต.ร่อนจ.ม.ค้านตัดอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ รวม 3 ประเด็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีมติลดทอนอำนาจของ กกต.โดยมีเนื้อหาระบุว่า การจัดการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งควรมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว ร้อยละ 90 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำหนดให้ กกต.เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั้งระบบ การให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของฝ่ายการเมืองที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการประจำได้มาทำหน้าที่เป็น กจต.อาจส่งผลให้ขาดความเป็นอิสระ เกิดความสงสัยในความเป็นกลางทางการเมืองของผู้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง (อ่านรายละเอียด น.8)
@ 'เทียนฉาย'ดอดถกป.ป.ช.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มาร่วมประชุมหารือกับนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ร่วมกับเลขาธิการ ป.ป.ช.และผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. หารือเพื่อวางกรอบแนวทางการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ ป.ป.ช.ว่าจะเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปอย่างไร โดยใช้เวลาและร่วมรับประทานอาหารกลางวันนานกว่า 4 ชั่วโมง
นายเทียนฉายเปิดเผยว่า เป็นการหารือถึงเรื่องการทำงานของ ป.ป.ช.โดยเฉพาะในยุคที่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะที่จะมีการปฏิรูปองค์กรอิสระ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ในช่วงนี้จึงต้องเตรียมตัวให้เข้ากับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ด้วย เมื่อถามว่า ต้องยุบ ป.ป.ช.หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า ยุบไม่ได้ ถ้ายุบแล้วใครจะดูแลการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เพียงแต่ต้องปรับอำนาจหน้าที่ เนื่องจากการทำงานต้องประสานงานกับหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่จะต้องถูกปรับองค์กรไปและหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ตนได้แจ้งกับ ป.ป.ช.ว่าคงไม่เกินเดือนเมษายนนี้ อย่างน้อยหลักการจะต้องเสร็จเพราะมีเวลาไม่มาก
@ เปลี่ยนปกครองเป็นบริหาร
ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างบทบัญญัติ ที่รัฐสภาว่า ได้เข้าสู่การพิจารณาภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น เนื้อหาส่วนใหญ่จะคงตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 14 ตั้งแต่มาตรา 281-290 โดยสาระสำคัญ กมธ.ยกร่างฯได้เปลี่ยนคำ การปกครองท้องถิ่นมาเป็นการบริหารท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับการบริหารงานตามความเป็นจริง ที่ต้องมีรูปแบบการบริหารที่หลากหลายเหมาะสมตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ เพราะในความเป็นจริงการดูแลส่วนท้องถิ่นไม่ใช่การปกครองแต่เป็นการบริหาร ซึ่งไม่มีนัยยะสำคัญเป็นพิเศษ เพียงแค่ต้องการจะสื่อความหมายให้ชัดเจน ซึ่งการพิจารณาในหมวด 7 มีทั้งสิ้น 6 มาตรา คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จากนั้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมจะเริ่มเข้าการพิจารณารายมาตราในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
@ เชิญ74พรรคร่วมสัมมนา
โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯจัดโครงการสัมมนาเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย กมธ.ยกร่างฯ กมธ.ปฏิรูปการเมืองของ สปช. อนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และองค์กรอื่นๆ สถาบันพระปกเกล้า ตัวแทนพรรคการเมือง และสื่อมวลชน ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 ห้องประชุม 306-307 จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายเข้าร่วม โดยจะทำหนังสือเชิญไปยัง 74 พรรคการเมืองที่จดทะเบียน
@ ถกสัดส่วนหญิงนั่งท้องถิ่น
จากนั้นช่วงบ่ายคณะ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาต่อในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวดที่ 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น ในมาตรา
(2/7/-) 2 วรรคแรก ที่มีการบัญญัติหลักการเกี่ยวกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร หรือสภาท้องถิ่น จะต้องมีสัดส่วนของสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งคณะ กมธ.ยกร่างฯมีการถกเถียง ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงมีมติให้แขวนวรรคนี้ไว้ก่อน
@ 'วิษณุ'แจงร่างกม.เลือกตั้ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวว่า ไม่ทราบว่ากฎหมายลูกที่เร่งด่วนมีทั้งหมดกี่ฉบับ เพราะกฎหมายลูกซึ่งอาจจะมีเป็น 100 ฉบับนั้น ไม่ใช่กฎหมายที่จำเป็นหรือเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งช้าหรือเร็ว จะมีบางฉบับเท่านั้นที่ต้องมีก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่คือกฎหมายลูกที่เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กับกฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วนั้นมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีเพียง 8-9 ฉบับเท่านั้น ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งมีเพียง 2-3 ฉบับเท่านั้น อาทิ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และอาจจะมีกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะครั้งนี้จะมีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เกิดขึ้นมา
ถ้าหากมีการออกเสียงประชามติ ต้องมีกฎหมายว่าด้วยการลงประชามติอีกฉบับหนึ่ง เมื่อถามว่า แปลว่าภายใน 3 เดือนหลังรัฐธรรมนูญร่างเสร็จสิ้นจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ แต่ต้องร่างกฎหมายลูกไว้ก่อนด้วย เพราะ 3 เดือนนั่นคือการนำเข้าสภา นายกรัฐมนตรีก็เคยถามว่าทำไมไม่ร่างไว้ก่อน จะได้เร็ว จึงต้องร่างก่อน คณะ กมธ.ยกร่างฯจึงต้องร่างไว้ก่อน คือเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ กมธ.จะร่างธรรมนูญเสร็จร่างแรก ระหว่างนั้นจะทำกฎหมายลูกไปพลางๆ ทำแล้วเก็บไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีกำหนดประกาศใช้ในเดือนกันยายน กฎหมายลูกเข้าสภาประมาณตุลาคมถึงพฤศจิกายน และธันวาคม รอลงพระปรมาภิไธย และมกราคม 2559 น่าจะประกาศการเลือกตั้งได้
@ พท.ขู่ป.ป.ช.โดนอาญา
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่ ป.ป.ช.เตรียมสรุปคดีถอดถอนอดีต 269 ส.ส.ร่วมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีต ส.ส.ที่ร่วมแก้ไขในเรื่องดังกล่าว ขอยืนยันว่าทำตามหน้าที่โดยสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 291 วรรค 1 และมีเอกสิทธิคุ้มครองตามมาตรา 130 อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกฉีกไปแล้ว ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ หาก ป.ป.ช.ยังคงดึงดันที่จะเสนอให้ สนช.พิจารณาถอดถอน จะใช้สิทธิยื่นเรื่องต่อศาลอาญาฟ้อง ป.ป.ช.กลับตามมาตรา 157 รวมทั้งจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย
โยนหินถามทาง ขยายอำนาจรัฐ'เซ็นเซอร์ข่าว'
วิษณุ เครืองาม - อลงกรณ์ พลบุตร
|
มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - เป็นความเห็นจากฝ่ายรัฐบาล สภาปฏิรูปแห่งชาติ และนักวิชาการด้านสื่อมวลชน กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการกระทรวงกลาโหม เสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์การเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ที่ให้อำนาจรัฐบาลควบคุมได้ใน "ภาวะสงคราม" ให้ขยายขอบเขตรวมไปถึง "เหตุการณ์ความไม่สงบ" โดยหยิบยกตัวอย่างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการสอบถามเข้ามาและปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะตั้งข้อสังเกต ซึ่งตรงนี้ก็มีการมองว่าหากที่เขียนไว้อย่างนี้ (ให้อำนาจเซ็นเซอร์ได้เฉพาะกรณีในภาวะสงคราม) พอถึงวิกฤตชนิดที่ยังไม่เกิดสงคราม เพราะสงครามมันไม่ได้ประกาศกันง่ายๆ ขนาดสู้กันตามชายแดนก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นสงคราม จึงมีข้อสังเกตว่าหากต้องรอถึงขนาดสงคราม ก็คงไม่ใช่ และคำถามคือจะมีวิธีไหนหรือใช้มาตรการใด ก่อนที่จะไปถึงการประกาศสงคราม ก็ลองให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯไปคิดดูเท่านั้นเอง หากมีคำถามว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือไม่ ก็ต้องถือว่าเป็นการลิดรอน แต่ก็มีคำถามว่า ทำไมถึงยอมให้ทำได้ในเวลาเกิดสงคราม ในภาวะสงครามหากเซ็นเซอร์สื่อก็ถือเป็นการลิดรอนเหมือนกัน แสดงว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่เราเรียกว่าวิกฤต ปัญหาอยู่ที่ว่าจำเป็นต้องวิกฤตถึงขั้นสงครามหรือไม่ ถ้าคิดว่าจำเป็นต้องเป็นสงครามก็แล้วไป ก็ปล่อยไปตามนั้น แต่ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสงคราม ก็ต้องไปคิดดูว่าจะมีมาตรการอื่นไหม ผมเข้าใจว่าคำตอบคงพอมีอยู่แล้ว ว่าสำหรับการเซ็นเซอร์คงต้องเก็บเอาไว้ในช่วงที่มีสงคราม แต่อย่างอื่นไม่ต้องมีสงครามรัฐก็ใช้มาตรการได้ เช่น เมื่อรัฐไปตรวจข่าวไม่ได้ แต่สั่งห้ามเผยแพร่ได้ แค่นี้มันก็จบอยู่ตรงนั้นได้ เพราะการห้ามเผยแพร่ไม่จำเป็นต้องรอสงคราม ถ้าคิดว่าเหตุผลตรงนี้เพียงพอก็ไม่ต้องแก้ ก็จบอยู่แค่นี้ อย่างไรก็ตาม คำตอบเรื่องนี้ก็คงจะรู้แล้วว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะบอกว่ามาตรการที่จะใช้กับกรณีของสื่อแรงที่สุดคือการเซ็นเซอร์ หรือการตรวจก่อนจะเผยแพร่ แต่ความจริงถ้าไม่ไปตรวจสอบก็ทำได้ เพราะห้ามได้อยู่แล้วที่จะไม่ให้เผยแพร่ แค่ประกาศกฎอัยการศึกก็ห้ามเผยแพร่ได้อยู่แล้ว ความจริงไม่ต้องถึงกับประกาศกฎอัยการศึก แค่ประกาศภาวะฉุกเฉินก็ห้ามได้ เวลานี้คณะกรรมาธิการยกร่างฯก็ใช้เหตุผลนี้อยู่ เพราะฉะนั้นสำหรับโทษรุนแรงที่สุดในเวลานี้หรือการเซ็นเซอร์ ก็คงเก็บไว้สำหรับสงคราม แต่สำหรับวิกฤตอื่นก็ใช้มาตรการอื่น ส่วนสมาคมสื่อมวลชนจะไปโต้แย้งอะไรก็สามารถทำได้ในชั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าไม่ต้องและหยุดไว้ตามที่ปรากฏในร่างเดิม รัฐบาลก็ไม่ได้ว่าอะไร และไม่เห็นว่ามีใครพูดอะไร จะทำหรือไม่ทำก็เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีที่ประมวลจากสิ่งที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯชี้แจงในการประชุมร่วมกัน เป็นมุมสะท้อนของ พล.อ.ประวิตร ที่มีข้อสังเกตให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าการเขียนหรือแก้ไขเพิ่มข้อความในการบัญญัติการเซ็นเซอร์ข่าวสารในภาวะสงครามหรือภาวะความไม่สงบ จะต้องมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีบ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตหรือฝากคณะกรรมาธิการยกร่างฯไปเป็นการบ้าน ไม่ใช่การสั่งให้ไปดำเนินการหรือยึดถือปฏิบัติ ในส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้วว่า การบัญญัติเซ็นเซอร์ข่าวสารถือเป็นเรื่องมาตรฐานในการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องอื่นนอกจากนี้จะไม่มีการบรรจุไว้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับนายบวรศักดิ์ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอาจทำให้มาตรฐานของรัฐธรรมนูญเกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจถูกมองว่าเป็นรอยด่างของประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ทั้งเรื่องของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชน จึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้เป็นมาตรฐาน อย่างน้อยรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในอนาคตเป็นฉบับที่ประเทศมีการปฏิรูป ต้องให้ออกมาดีกว่าฉบับอื่นๆ ในอดีต ในความเป็นรัฐธรรมนูญ หากเกิดกรณีวิกฤตความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็ตาม รัฐสามารถใช้กฎหมายอื่นดำเนินการได้อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีองค์กรอื่นๆ คอยกำกับควบคุมดูแลภายใต้กฎหมายปกติสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ สื่อเองก็ควรมีวิจารณญาณในการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารบางประเด็นด้วยตนเอง และอาจจะมีการควบคุมจากสภาวิชาชีพของสื่อให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว หรือแสดงความคิดเห็นเป็นพิเศษ ในกรณีบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ สมาคมนักข่าวหรือองค์กรข่าว อาจทำหน้าที่แทนรัฐบาลในการช่วยเซ็นเซอร์ด้วยตัวเอง ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหลักการแล้ว เชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ การปิดกั้นไม่เกิดประโยชน์แน่นอน เพราะอาจจะทำให้คนรู้สึกว่าไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร เช่น กรณีเหตุความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ก็จะทำให้กลายเป็นพื้นที่ดำมืด หรือคนเข้าไม่ถึง ความไม่เข้าใจจะยิ่งขยายวงกว้าง ยิ่งอาจเป็นโทษมากกว่า อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนต้องระวังในการนำเสนอข่าวสาร อย่างการนำเสนอในลักษณะการเล่าข่าวหรือเหตุการณ์แบบบอกเล่า โดยเฉพาะความรุนแรง การนำเสนอเพื่อดึงความสนใจ เพื่อสร้างความระทึกใจให้คนมาอ่านอาจไม่เหมาะสม ควรนำเสนอข้อมูลความรู้แก่ผู้อ่าน หรือผู้รับสารว่าสาเหตุคืออะไร แนวทางแก้ไขคืออะไร ต้องวิเคราะห์ที่มาที่ไปและทางออกของปัญหาอย่างจริงจัง ต้องคำนึงว่าสื่อสารอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด กรณีศึกษาในต่างประเทศ กลุ่มเสรีนิยมจะเชื่อในเรื่องการไหลเวียนข่าวสารอย่างเสรี ส่วนกลุ่มสังคมนิยมเชื่อว่าสื่อมีพลังสูง จึงต้องมีความรับผิดชอบสูง แต่ก็ไม่ถึงขนาดปิดกั้น แม้กระทั่งประเทศจีนมีสำนักข่าวจากทางการหรือ State Media ทั้งหมด ก็ไม่ค่อยได้รับข้อมูลว่าถูกปิดกั้นข่าวสารโดยสิ้นเชิง แต่อาจมีการกรองข้อมูลที่มีการประเมินสถานการณ์ก่อน แม้โลกมี 2 ขั้วความคิด แต่ไม่ว่าขั้วใด การปิดกั้นก็ไม่น่าจะอยู่ในกระแสหลักของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสรีภาพและอิสรภาพเป็นหัวใจของสื่อมวลชน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการนำเสนอข่าวสาร ดังนั้น การพิจารณาเซ็นเซอร์ข่าว อาจต้องใช้ความรอบคอบอย่างยิ่ง ต้องดูว่าสถานการณ์ในขณะนั้นมีความรุนแรงหรือมีความขัดแย้งในสังคม ถึงขนาดจำเป็นต้องเซ็นเซอร์หรือไม่ หากยกสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ถือว่าน่าเป็นห่วง แต่ยังไม่ได้เป็นสงครามใหญ่ หรือมีความรุนแรงจนกระทั่งเป็นสงครามระหว่างประเทศ ดังนั้ นการเซ็นเซอร์อาจยังไม่ได้มีความจำเป็นมากนัก ปกติสื่อมวลชนมีแนวทางการควบคุมตรวจสอบตนเองในการทำงานอยู่แล้ว ดังนั้น จะมีความตระหนักถึงปัญหาในสังคม ว่าเหมาะสมต่อการนำเสนอหรือไม่ ในขณะเดียวกันยังมีสมาคมวิชาชีพกำหนดดูแลเรื่องจรรยาบรรณ ที่มักกำหนดไว้ว่าสื่อต้องไม่นำเสนอข่าวสารก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือความไม่สงบในบ้านเมือง รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจใช้วิธีกระตุ้นให้สื่อมวลชนเซ็นเซอร์ตัวเองให้มากขึ้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษอะไร การเซ็นเซอร์ข่าวสารในประเทศที่เจริญแล้ว และมีประชาธิปไตยเข้มแข็ง เช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ถือว่ามีน้อย ส่วนประเทศในโลกที่สามและประเทศที่ยังไม่พัฒนา อย่างหลายประเทศในอาเซียนยังมีการเซ็นเซอร์ค่อนข้างรุนแรง รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเซ็นเซอร์สื่อไม่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยอยู่แล้ว และสื่อน่าจะมีวิจารณญาณในการพินิจ พิเคราะห์ พิจารณาว่าสถานการณ์ใดควรนำเสนอได้มากน้อยแค่ไหน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต้องเป็นสิ่งที่นำเสนอได้เพื่อให้สังคมรับทราบ วิธีการรายงานเพื่อให้รับทราบกับการยั่วยุก็ไม่เหมือนกัน การยั่วยุจะเห็นได้ชัดเจนจากวิธีเขียน แต่การรายงานข้อเท็จจริงเพื่อให้รับทราบ เตรียมการ ตรวจสอบ เป็นคนละประเด็นกัน สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสภาวะของความอ่อนไหว ซึ่งด้วยธรรมชาติของวิชาชีพสื่อมวลชนจะทราบว่าประเด็นอย่างนี้ ยิ่งต้องมีความรอบคอบในการนำเสนอ คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เป็นคุณสมบัติที่สื่อในสังคมประชาธิปไตยต้องมี เรื่องความมั่นคงกับเสรีภาพสื่อ เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงในต่างประเทศอยู่เหมือนกัน ถามว่าจุดลงเอยอยู่ตรงไหน ก็คงแล้วแต่บริบทของแต่ละสังคม อยู่ที่ความตั้งใจหรือจุดประสงค์ กรณีในต่างประเทศ สถานการณ์ที่เป็นภาวะความมั่นคงของชาติจริงๆ ไม่ใช่ความมั่นคงของกลุ่มหรือบุคคลใด เขาจะมีวิธีการพูดจากันว่านำเสนอข่าวสารได้ในระดับไหนแต่จะไม่เซ็นเซอร์ เพราะคำว่าเซ็นเซอร์ไม่มีอยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพอย่างตะวันตก ขณะเดียวกัน เสรีภาพมาต้องพร้อมความรับผิดชอบ ถ้าสื่อมวลชนทำให้เกิดความผิดพลาด ควรเล่นงานสื่อไปตามกฎหมาย |