- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 02 February 2015 12:37
- Hits: 3949
วันที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8832 ข่าวสดรายวัน
ล่าชื่อทางไลน์ สปช.ต้านมะกัน 'แดง'โคราชยัน ไม่ชู 3 นิ้วรับบิ๊กตู่
ผู้ว่าฯ โคราชซ้อมใหญ่ต้อนรับ'บิ๊กตู่'อารักขาเข้มตั้งแต่ลงจากเครื่อง ระดมตำรวจพื้นที่ ชุดปราบฝูงชนตรึงพื้นที่กิจกรรม คุมเข้มสถานที่สำคัญ เสื้อแดงยันไม่ไปชู 3 นิ้วต้านนายกฯ สปช.ร่วมลงชื่อต้านสหรัฐผ่านไลน์ พล.ท.นาวินรับเป็นคนเขียนบทความลงไลน์ ปัดล่าชื่อแค่แลกเปลี่ยนความเห็น 'เสรี'ชี้ไม่ควรทำในนามองค์กร นายกฯ เตรียมประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย 4 ก.พ.
'บิ๊กตู่'พบเกษตรกรโคราช
วันที่ 1 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการเดินทางตรวจราชการที่ จ.นคร ราชสีมา ในวันจันทร์ที่ 2 ก.พ. โดยในเวลา 08.00 น. จะเดินทางออกจากฝูงเครื่องบิน กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก ดอน เมือง (ขส.ทบ.) โดยเครื่องบิน แอมแบร์ บ.ท.135 ของกองทัพบก และเดินทางถึงสนามบิน กองบิน 1 อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในเวลา 08.45 น. จากนั้นจะเดินทางต่อไปยัง อ.พิมาย
ในเวลา 09.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2558 ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรพิมาย ชั้น 2 และร่วมรับประธานอาหารกลางวันที่ห้องประชุมสหกรณ์การ เกษตร ชั้น 3 ก่อนที่เวลา 13.30 น. นายกฯจะพบปะและรับฟังการบรรยายสรุปจากตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และสินค้าโอท็อป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสการเดินทางตรวจราชการครั้งนี้นายกฯจะกล่าวปราศรัยถึงนโยบายข้าวและมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมมอบของที่ระลึกให้ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรด้วย และถือโอกาสพบปะประชาชนและเยี่ยมชมนิทรรศการสินค้าการเกษตรและ สินค้าโอท็อป จากนั้นจะเดินทางออกจากสหกรณ์การเกษตรพิมาย ไปยังสนามบินกองบิน 1 อ.เมือง จ.นครราชสีมา และเดินทาง ออกจาก จ.นครราชสีมาในเวลา 16.40 น. ถึงกรุงเทพฯ ในเวลา 17.25 น.
ไม่ห่วงลงพื้นที่หลังถอด"ปู"
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯต้องการติดตามสิ่งที่ได้สั่งการไปแล้ว ทั้งด้านนโยบายว่าเมื่อไปถึงขั้นตอนของการปฏิบัติแล้วเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เพื่อจะได้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางในรายละเอียดได้อย่างถูกต้องในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ นายกฯยังต้อง การรับฟังปัญหาของประชาชนและเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนาว่ามีอะไรที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขปรับปรุง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯไม่ได้เน้นอะไรเกี่ยวกับเรื่องของการรักษาความปลอดภัยในการลงพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูแลและรับผิดชอบ ซึ่งต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ คสช.ฝ่ายเดียว อย่าง ไรก็ตาม นายกฯมีความประสงค์ให้ผู้ว่าฯ ได้พิจารณาสถานการณ์โดยรวมในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าฯทุกจังหวัดต่างก็เป็นรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ดังนั้น จึงต้องบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ดี
"การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะเป็นช่วงหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติ ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ไม่ได้เป็นห่วงอะไร เพราะนายกฯจะไปดูเนื้องานเป็นหลักมากกว่า ไม่ได้มีกังวลเรื่องของการรักษาความปลอดภัยอะไรมาก เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่ที่ต้องดูแลกันไป" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว
ตำรวจคุมเข้มสถานที่สำคัญ
พล.ต.ต.ฐากูร นัทธีศรี ผบก.ภ.จ.นครราช สีมา สั่งการให้หัวหน้าสถานีตำรวจภูธร 51 แห่ง และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) จัดกำลังหาข้อมูลทางลับ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มบุคคลเป้าหมายที่มีพฤติ การณ์เกี่ยวข้องกับการเมือง รวมทั้งสนธิกำลังผลัดเปลี่ยนเวรยามดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เช่น หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สำนัก งาน ป.ป.ช.จ.นครราชสีมา บ้านแม่ทัพ ซึ่งเป็นสถานที่พักชั่วคราวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐ บุรุษ และแหล่งสาธารณูปโภค รวมทั้งสถานที่ราชการในเขต อ.พิมาย อย่างเข้มงวด ป้องปรามการสร้างสถานการณ์ไม่สงบ
ระดมจนท.ตรึงถนน-พื้นที่งาน
ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา กล่าวว่า มาตรการรักษาความปลอดภัย กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ได้ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ จ.ขอนแก่น โมเดล ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน 2 กองร้อยกว่า 300 นาย กระจายกำลังอยู่ในพื้นที่จัดกิจกรรม โดยการเดินทางของนายกฯ พร้อมคณะ ใช้เครื่องบินแอมแบร์มาลงที่กองบิน 1 นครราชสีมา จากนั้นใช้รถยนต์ตู้โดยสารยี่ห้อโตโยต้า รุ่นแลมพาร์ด เดินทางไปที่ อ.พิมาย
พล.ต.ต.ฐากูร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ระดมกรวยยางมาวางปิดกั้นตามทางแยก ทางร่วมและจุดกลับรถ ซึ่งต้องใช้กว่า 500 อัน พร้อมใช้เจ้าหน้าที่ในแต่ละสถานีวางกำลังตามเส้นทางระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร นอกจากนี้ ได้เตรียมกำลังชุดปราบจลาจลพร้อมอุปกรณ์การสลายฝูงชน ประจำอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรม สำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 เพื่อรอรับคำสั่ง หากมีสถานการณ์ต้องใช้กำลัง สามารถเดินทางมาปฏิบัติภารกิจได้ทันทีไม่เกิน 30 นาที
โคราชซ้อมรับนายกฯ
ที่สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ.นคร ราชสีมา สถานที่การประชุม นบข. และพบปะกับกลุ่มเกษตรกร ทาง จ.นครราชสีมา ได้ตั้งเวทีและกางเต็นท์รวมถึงซักซ้อมประชาชนหลายร้อยคนเพื่อเตรียมการต้อนรับ นายกฯ โดยนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวระหว่างการซักซ้อมว่า ขอให้คนพิมายเป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกฯ หากจะนำเสนอปัญหาอะไรขอให้เป็นไปอย่างอ่อนน้อม สุภาพเรียบร้อยเพราะผลประโยชน์ที่ได้จะตกถึงคนทั้งจังหวัดและภาคอีสานไม่ใช่เฉพาะ อ.พิมาย
ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวว่า ขอให้ทุกคนร่วมเป็นหูเป็นตา เพราะเวทีนี้เป็นเวทีเกษตรกรที่จะนำเสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐบาลไม่ใช่เวทีการเมือง ที่ใครจะทำอะไรก็ทำได้และไม่ใช่เวทีที่จะเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าเอาเรื่องการเมืองมาปน เพราะไม่เกิดประโยชน์ เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลก็ช่วยกันเตือน และวันที่ 2 ก.พ. ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรทั้งข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และกลุ่มโอท็อป กลุ่มละ 5 คน จะร่วมพูดคุยกับนายกฯ โดยตรง
อารักขานายกฯ ตั้งแต่ลงเครื่อง
นายธงชัยให้สัมภาษณ์ ถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยว่า เตรียมการให้ความปลอดภัยนายกฯ ตามมาตรการปกติสำหรับผู้นำประเทศ ไม่ตึงเครียดอะไรเป็นพิเศษ การใช้สหกรณ์การเกษตรพิมายฯ เป็นสถานที่ประชุม นบข. เพื่อที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เห็นบรรยากาศที่แท้จริงและรับฟังปัญหาจากเกษตรกร ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ เชื่อว่าจะไม่มีผู้ก่อความวุ่นวาย เพราะตอนที่เป็นประชาธิปไตยก็มียิงกัน แต่ตอนนี้บ้านเมืองก็สงบดี เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนที่ขอนแก่น ผู้ว่าฯ นครราชสีมากล่าวว่า คราวนั้นนายกฯ ไปเรื่องปัญหาภัยแล้ง แต่ก็มีการแสดงกระตั้วแทงเสือทำให้เสียบรรยากาศ วันนี้มาเรื่องการเกษตรก็ไม่น่ามีเหตุการณ์เช่นนั้น และเราไม่ได้คุยกับกลุ่มสีเสื้อใดๆ เพราะเชื่อว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยจะมีการบูรณาการระหว่างทหารและตำรวจ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ลงจากเครื่องบินจนถึงสหกรณ์ โดยบริเวณหน้าสหกรณ์จะมีการติดตั้งเครื่องสแกนโลหะ และสาธารณสุขจังหวัดจะตรวจสุขภาพของประชาชนและติดสติ๊กเกอร์ก่อนเข้าบริเวณสหกรณ์ ขณะเดียวกัน หัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัยของนายกฯพร้อมทีมรักษาความปลอดภัยของกองพันทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้มาตรวจและซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ร่วมกับตำรวจและทหารในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวายด้วย
แดงยันไม่ไปชู 3 นิ้วรับนายกฯ
นายอนุวัฒน์ ทินราช อดีตประธาน นปช.นครราชสีมา เผยว่า ในห้วง 2-3 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองหวาดกลัวเกรงพวกเราจะออกมาต่อต้าน จึงพยายามติดตามความเคลื่อนไหวตนและบรรดาอดีตแกนนำแบบเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีทั้งมาเฝ้าอยู่ในพื้นที่และสอบถามคนใกล้ชิด รวมทั้งโทรศัพท์ถามตนโดยตรงซึ่งตอบโดยไม่ลังเลว่าพวกเรายุติการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว ยืนยันในส่วนของสมาชิกที่เป็นอดีตแนวร่วม นปช.และคนเสื้อแดงโคราชต่างแยกย้ายทำมาหากิน ไม่ได้นัดพบปะพูดคุยปัญหาการ เมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะฉะนั้น พล.อ. ประยุทธ์สบายใจได้ รับรองไม่มีพวกเราแฝงตัวไปป่วน ชูสามนิ้วอย่างแน่นอน
นายอนุวัฒน์ กล่าวว่า ฝากถึงนายกฯจะอยู่อีกกี่ปีพวกเราไม่คิดจะต่อต้าน พร้อมให้กำลังใจสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างเต็มที่ แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาราคาผล ผลิตเกษตรที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของชาวโคราช หากเขาปากท้องอิ่มก็ไม่ออกมาเคลื่อนไหว นอกจากนี้ การกระจายงบพัฒนาแหล่งสาธารณูปโภคซึ่งมีหลายพื้นที่ยังขาดแคลนต้องให้ความสำคัญ และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ยังมีสองมาตรฐาน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกไม่สู้ดีนัก
เด็กพท.ยันไม่วุ่นวายนายกฯ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง อดีต รมช.คมนาคม และอดีตส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีพล.อ.ประยุทธ์เดินทางลงพื้นที่ อ.พิมาย วันที่ 2 ก.พ.เพื่อพบปะเกษตรกรและประชุม นบข. เชื่อว่าคงไม่มีการต่อต้านอะไร เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์มางานเกษตรซึ่งเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในภาพรวม และเท่าที่ทราบไม่เห็นมีใครจะออกมาแสดงการต่อต้านเพราะมีกฎอัยการศึกห้ามไว้อยู่ คงแสดงความเห็นได้ไม่เต็มที่
เมื่อถามว่า หากในวันงานมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ กังวลว่าจะถูกหลายฝ่ายมองว่าพรรคเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยอยากเห็นประเทศเดินหน้า ฉะนั้นการสร้างความวุ่นวายในฝั่งของคนเพื่อไทยและคนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคอีสานไม่มีแน่นอน ตนมั่นใจอย่างนั้น ส่วนนอกเหนือจากนี้ไม่ทราบ เพราะต้องยอมรับว่าสังคมเรามีคนหลากหลาย
สหรัฐเดินสายพบสปช.อีสานด้วย
แหล่งข่าวจากแกนนำเสื้อแดงกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐลงพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อพบปะแกนนำเสื้อแดงว่า เป็นเรื่องปกติที่แต่ละประเทศจะส่งตัวแทนลงพื้นที่เข้ามาทำกิจกรรม โดยจะมีข้ออ้างหลากหลาย เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชนหรืออะไรต่างๆ เพียงแต่บางช่วงไม่เป็นข่าว จนกระทั่งตัวแทนสหรัฐมาเลยเป็นประเด็น ทำให้ คสช.พยายามสั่งห้ามไม่ให้อดีตส.ส. เพื่อไทยหรือแกนนำเสื้อแดงไปพบปะพูดคุย
แหล่งข่าวระบุส่วนสาเหตุที่สหรัฐพยายาม รุกคืบเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ในไทยถี่ขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งคงมาจากผู้นำรัฐบาลของเราอิงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากไป เขาอ่านออกว่าช่วงหลังเราไปคบกับจีนมากเกินไป จึงพยายามส่งสัญญาณเตือน อีกทั้งสหรัฐพยายามจะฟื้นอิทธิพลในแถบเอเชียจึงต้องป้องกันการแผ่อิทธิพลของจีน ในด้านความมั่นคงมองว่าไทยก็เหมาะเป็นรัฐกันชน เพราะประเทศส่วนใหญ่แถบเอเชียเป็นหมู่เกาะ หากมองในยุทธศาสตร์อื่นๆ ประเทศที่เป็นภาคพื้นดินเป็นรัฐกันชนที่ดีคงไม่มีที่ไหนเหมาะไปกว่าประเทศไทย
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ตัวแทนสถานทูตสหรัฐพยายามติดต่อขอพบกับอดีตส.ส.เพื่อไทยที่เป็นแกนนำเสื้อแดงหลายคน อ้างว่าต้องการมาพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่อดีตส.ส.บางคนที่ถูก คสช.จับตาได้ตอบปฏิเสธ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและกลัวถูกขยายผลไปมากกว่าเรื่องการเมือง โดยตัวแทนสหรัฐไม่เพียงขอพบปะอดีตส.ส.เพื่อไทยที่เป็นแกนนำเสื้อแดงเท่านั้น อีกส่วนยังพบกับสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ในภาคอีสานบางคนมาแล้ว
สปช.ส่งไลน์-บทความต้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความเคลื่อนไหวในการแสดงท่าทีคัดค้านนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยังคงมีต่อเนื่อง นอกเหนือจากที่กรรมาธิการการต่างประเทศ สนช. ทำหนังสือเชิญนาย แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มาสอบถามและให้ความเห็นในวันที่ 11 ก.พ.แล้ว ยังมีกระแสข่าวว่ามีการส่งข้อความผ่านไลน์กลุ่มของสมาชิก สปช. ให้ร่วมลงชื่อคัดค้านนายแดเนียล ด้วย
ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิก สปช. กล่าวว่า มีการพูดคุยกันในไลน์กลุ่มสปช.โดยมี สปช.บางคนรู้สึกว่าการกระทำของสหรัฐ ค่อนข้างละเมิดล้วงลึกกิจการภายในของประเทศไทย สปช.บางคนที่อยู่เมืองนอกมานานก็เขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ ในลักษณะคับข้องใจกับการกระทำของสหรัฐ แต่เป็นการให้ความคิดเห็นส่วนบุคคล สปช.หลายคนเมื่ออ่านบทความนี้แล้ว ก็เห็นตรงกันว่ามันช่างโดนใจเหลือเกิน บางคนให้เห็นว่าควรยกระดับแถลงข่าวเลยดีหรือไม่ แต่บางคนเห็นว่า สปช.เป็นสภาปฏิรูป อาจไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง
นายธรณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่สปช.ทั้งหมดที่มีความเห็นอย่างนี้ และในเมื่อเป็นความเห็นส่วนบุคคลก็มีการเสนอว่า สปช.คนใดเห็นด้วยกับบทความนี้ก็ให้ลงชื่อท้ายบทความว่าเป็นบทความที่ดี ควรเปิดเผยสู่สาธารณะ โดย ส่งไปตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ต่อไป
นาวินรับเขียนบทความเอง
พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สมาชิกสปช. ยอมรับว่าเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว เพียงเพราะต้องการแสดงความรู้สึกหงุดหงิดต่อท่าทีของอเมริกา มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ ใจความสรุปย่อว่าตนรู้จักอเมริกาเพราะเคยอยู่ประเทศนี้มานาน และแนวความคิดของตะวันออกกับตะวันตกมันต่างกัน ฝ่ายเราเป็นความจำยาวคือเรื่องบุญคุณจะใช้หนี้กันไม่หมด เมื่อเขาช่วยเราครั้งหนึ่งก็ต้องมี หน้าที่ตอบแทนกันไป ไม่ใช่จ่ายครั้งเดียวแล้วจบ และยังมีความเป็นเพื่อนที่อยู่ยาว นาน แต่สำหรับตะวันตกเขาจะมองอีกอย่างคือตรงไหนมีประโยชน์ก็คบกัน คนไหนไม่มีประโยชน์ก็ลืมกันไปชั่วคราว พอมี ผลประโยชน์ก็มาคบกันอีกครั้ง และมีการพูดถึงว่าหากเขาไปว่าเราแล้วเราไปว่าเขาในกรอบเดียว กันเขาจะรับได้หรือไม่ ซึ่งตนไม่ขอลงรายละเอียดว่าเขียนอะไรไปบ้าง แต่ก็พูดไปในลักษณะของผู้ดีและไม่แทรกแซงกิจการอะไร แต่ก็พูดชัดเจนว่าการกระทำอะไรในฐานะองค์กร จะต้องเกิดจากความเห็นร่วม จะเกิดจากคนใดคนหนึ่งแหกคอกไม่ได้
"มีสมาชิกในกลุ่มได้แสดงความเห็นหลากหลายบางท่านก็บอกว่าให้มีสติและรอบคอบ ผมก็ตอบกลับไปว่าทุกอย่างทำอะไรก็ต้องคิด เวลาทำทำง่าย แต่ทุกกิริยามันจะมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับตามมา หากผลนั้นทำให้งานของสปช.ขาดตกบกพร่องไปมันก็ไม่ใช่ที่ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่เราจะทำในนามสปช.จะเหมาะหรือไม่เหมาะ การทำงานต้องทำเป็นทีมคือคนในทีมต้องมีส่วนรู้เห็นก่อน ไม่ใช่ใครคนใดจะกระโดดไปทำเองจะทำให้เสียองค์กร"
ชี้แค่แลกเปลี่ยนความเห็น
พล.ท.นาวิน กล่าวว่า ตนเขียนบทบาทนี้ด้วยอารมณ์ ไม่ชอบก็เขียนไป แต่ไม่ใช่เป็นมติขององค์กร และในกลุ่มไลน์ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ตนเองก็ติงตัวเองเช่นกันว่าจะทำอะไรก็ต้องคิด อยากถามว่าคนไทย 60 ล้านคนมีคนไหนชอบให้อเมริกาเข้ามาพูดเรื่องภายในของประเทศหรือไม่ ที่ผ่านมาก็มีการแสดงท่าทีแบบนี้แต่ก็เงียบหายไป แต่คำถามคือเป็นหน้าที่ของ สปช.ที่จะต้องพูดเรื่องนี้หรือไม่ ส่วนที่สนช.พูดเพราะเขาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ สปช.มีหน้าที่เพียงปฏิรูปก็ต้องมองว่าเรื่องนี้มันเกี่ยว ข้องกับการปฏิรูปประเทศหรือจุดยืนอย่างไรหรือไม่ เรื่องนี้ทั้งประธานและวิป รวมถึงสปช.ทั้งหมดยังไม่ได้คุยกัน และเป็นเรื่องภายในที่โพสต์กันเพื่อสื่อสารพูดคุยกันให้ตกผลึกความคิด ดังนั้น จึงไม่ควรไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นแค่การแลกเปลี่ยนความคิดกัน
ปัดล่าชื่อต้านมะกัน
เมื่อถามว่า หากมีสมาชิกนำเรื่องนี้มาเสนอในที่ประชุมสปช.จะแสดงท่าทีอย่างไร พล.ท.นาวินกล่าวว่า ก็แล้วแต่ประธานและที่ประชุม ตนยึดตามมติเสียงส่วนใหญ่ ไม่แหกกฎหรือเล่นนอกเกม เราไม่เห็นด้วยกับการเมืองในอดีตที่ต่างคนต่างเล่นวาระของตนเองโดยไม่เห็นประโยชน์ประเทศชาติเป็นตัวตั้ง เราพยายามปฏิรูปให้มันดีขึ้น แต่ก็ต้องเคารพสิทธิของคนอื่น ไม่ใช่เสียงส่วนน้อยหรือเสียงส่วนมากจะคุมทุกอย่าง ทั้งหมด ต้องพูดคุยให้เกิดการตกผลึกทางความคิด และเดินด้วยสติไม่ใช่ด้วยอารมณ์ เพราะบางคนก็ต้องการแค่ระบายอารมณ์เท่านั้น
พล.ท.นาวิน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการ พูดคุยกันในกลุ่มไลน์ไม่ทราบออกมาได้อย่างไรเพราะเป็นการคุยภายในสปช.250 คน ไม่น่าหลุดออกไป แต่ถ้าหลุดออกไปแล้ว ขอย้ำว่าตนไม่ทำอะไรที่องค์กรยังไม่ได้ลงมติหรือยังไม่ได้พูดคุย เมื่อประธานยังไม่มีมติก็ไม่ควรไปพูด ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม ไม่ควรเล่นนอกเกม อะไรที่เป็นงานปฏิรูปควรทำ อะไรที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปก็ไม่ควรทำ ดังนั้นเราต้องคุยกันก่อนว่าจะไปทางไหน ถ้าประธานบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับงานของเราก็จบ หรือจะเปิดให้มีการพูดคุยแสดงความเห็น หรือหารือกับวิปแล้วเห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่อง ยืนยันว่าไม่มีการเสนอให้ล่ารายชื่อตามที่เป็นข่าว
เสรีไม่เห็นด้วยสปช.ล่าชื่อ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวกรณีสมาชิกสปช.มีการลงชื่อคัดค้านการ กระทำของนายแดเนียล รัสเซล ว่า คงมีการพูดคุยกัน ถือเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ แต่สปช.ไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
"ผมเห็นด้วยหากจะทำในนามส่วนตัว สามารถแสดงจุดยืนได้ แต่ถ้าดำเนินการในนามองค์กรสปช.ไม่สามารถทำได้ เพราะเรามีองค์กรและรัฐบาลที่รับผิดชอบเรื่องระหว่าง ประเทศอยู่แล้ว ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐเข้ามาก้าวก่ายการบริหารงานในประเทศไทย" นายเสรีกล่าว
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. กล่าวถึงข่าวสมาชิกสปช.เตรียมรวบรวมรายชื่อคัดค้านการ กระทำของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แทรกแซงกิจการการเมืองไทยว่า ตนไม่รู้เรื่องนี้เลย ไม่เห็นมีข่าว และในกลุ่มไลน์ของสปช. ก็จะมีการแบ่งเป็นกลุ่มสปช.จังหวัด และสปช.อื่นๆ ซึ่งตนอยู่ในกลุ่มสปช.จังหวัด โดยในไลน์กลุ่มไม่มีเรื่องนี้
ปชป.ปูดฝีมือล็อบบี้ยิสต์
นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีสังคมวิจารณ์ในกรณีนายแดเนียล รัสเซล ที่เข้าแทรกแซงการเมืองไทยว่า ตนได้เคยเข้าร่วมพบปะกับพรรคการเมืองระหว่างประเทศหลายครั้ง บรรดาตัวแทนต่างทราบกันดีว่ามีกระบวน การว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ทั้งในยุโรปและสหรัฐ อเมริกา เพื่อนำเสนอมุมมองอย่างผิดๆ และบิดเบือน แต่จากที่ตนได้พูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมืองทั้งยุโรปและสหรัฐเข้าใจดีว่า สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
นายเกียรติ กล่าวกรณีคสช.เรียกแกนนำพรรคเพื่อไทยที่เห็นต่างเข้าปรับทัศนคติว่า เรื่องนี้เป็นอีกเหตุผลที่รัฐบาลต้องคงกฎอัยการศึกไว้ เพราะประชาชนจับตาอยู่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อเดินไปสู่วันเลือกตั้งโดยไร้ความขัดแย้งเหมือนในอดีต แต่ถามว่าอะไรคือหลักประกัน เพราะปัญหาปากท้องของประชาชนที่รัฐบาลต้องแก้ยังมีอีกมาก และวิธีการทำงานต้องสะท้อนเป้าหมาย ไม่ใช่พวกใครพวกมัน ตนไม่ได้มองว่าฝ่ายใดชักศึกเข้าบ้าน หรือฝ่ายรัฐบาลกำลังบีบจนอีกฝ่ายต้องหันไปเล่นเกมใต้ดินมากขึ้น แต่สิ่งเดียวที่จะยุติความขัดแย้งวันนี้คือรัฐบาลต้องทำงานแบบ ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด
สนช.หนุนคงกฎอัยการศึก
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวถึงกระแสข่าวที่ปรึกษา คสช.เตรียมเสนอหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกระเบียบคล้ายกฎอัยการศึก ว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีการเสนอจริงหรือไม่ ซึ่งอำนาจดังกล่าวเป็นเครื่องมือของคสช.จะใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.ที่จะพิจารณาเหตุผลและความจำเป็น ส่วนตัวเห็นว่ากฎอัยการศึกที่ใช้อยู่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการก่อกวนและเป็นการมุ่งไปสู่การปฏิรูป การสร้างความปรองดอง และเป็นการป้องกันคลื่นใต้น้ำ ดังนั้น การคงกฎอัยการศึกไว้จึงเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศในตอนนี้ ต่างชาติอาจไม่เห็นด้วยเพราะเขาคิดตามรูปแบบตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากบริบทของบ้านเราที่จำเป็นต้องคงไว้จัดการกับคลื่นใต้น้ำ แต่หากต่างชาติกดดันให้ยกเลิกก็เป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ถ้า คสช.เห็นว่าคงกฎอัยการศึกไว้แล้วดีก็ไม่จำเป็นต้องยกเลิก ขณะเดียวกันการจะใช้มาตรา 44 หรือไม่ก็ไม่จำเป็นต้องยกเลิกกฎอัยการศึก ประกาศใช้ได้เป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งไม่ต้องขอ สนช.พิจารณา แต่เป็นดุลย พินิจของหัวหน้าคสช.
เล็งถกแม่น้ำ 5 สาย 4 ก.พ.
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จะมีการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 5 สายว่าด้วยโรดแม็ประยะที่ 2 ประกอบด้วย คสช. ครม. สนช. สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในสัปดาห์แรกของเดือนก.พ.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นวันที่ 4 ก.พ. แต่คงจะต้องรอพล.อ.ประยุทธ์แถลงกำหนดวันเวลาและสถานที่ประชุมที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ว่าจะให้มีการประชุมแม่น้ำ 5 สายเดือนละครั้ง สำหรับการประชุมครั้งนี้คงจะพูดคุยกันว่าการดำเนินการของแต่ละองค์กรมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายสุวพันธุ์ ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกับระหว่างรัฐบาลกับ สปช. ซึ่งอาจมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมกันว่า คงต้องรอฟังข้อมูลการประชุมแม่น้ำ 5 สายก่อนว่าการดำเนินงานของ สปช.เป็นอย่างไร เพื่อรัฐบาลจะช่วยพิจารณาว่าต้องปรับส่วนใดหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ เท่าที่ตนทราบ สปช.คงจะปรับรูปแบบ กมธ.กิจการสปช. หรือวิป สปช. ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของรัฐบาลยังคงเป็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และตนเป็นผู้ประสานงานกับสปช. โดยมีพูดคุยหารืออย่างต่อเนื่องกับฝ่ายสปช. และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่า วันที่ 4 ก.พ. เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติจัดประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสร ทบ.วิภาวดี ส่วนรายละเอียดการนัดหารือ นายกฯ ต้องการที่จะรับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินการของแต่ละส่วนปฏิบัติ อีกทั้งอาจมีการพิจารณาทบทวนการดำเนินการบางส่วนที่อาจ ติดขัดหรือส่อแนวว่าอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทบต่อความเชื่อถือของคสช. รัฐบาล และองคาพยพที่เกี่ยวข้องได้
กมธ.ย้ำข้อดีรวมกสม.-ผู้ตรวจฯ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรเดียวกัน ว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เราคิดว่าการควบรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกันจะทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ประชาชนได้รับความสะดวกใช้บริการได้ในจุดเดียว ไม่ต้องไปร้องเรียนถึง 2 ที่ และอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 องค์กรที่เคยมีก็ยังคงอยู่ และอาจเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะ กมธ.ยกร่างฯ ได้วางรูปแบบคร่าวๆ ให้กรรมการทั้ง 11 คนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในแต่ละด้าน อย่างไรก็ตาม การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรานี้ยังเป็นเพียงแค่ร่างที่จะต้องส่งให้ สปช. สนช. คณะรัฐ มนตรี (ครม.) และคสช.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งยังขอแก้ไขให้เหมาะสมได้
นายคำนูณ กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐ ธรรมนูญรายมาตราในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่เสร็จไปแล้วนั้น กมธ.ถือว่าเป็นการพัฒนาจากเดิมได้ดีขึ้น โดยการสรรหากรรมการองค์กรตรวจสอบภาครัฐ ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยจากเดิมที่ไม่ต้องยื่น แสดงให้เห็นว่าการจะตรวจสอบใครแล้วตัวเองก็ต้องถูกตรวจสอบได้ ทำให้ผู้ถูกตรวจสอบสบายใจ ถือเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ส่วนการประชุม กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 2-4 ก.พ.นี้ กมธ.ยกร่างฯ จะงดการประชุม เพื่อให้คณะอนุ กมธ.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำและทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ การกระจายอำนาจและการปฏิรูปให้สมบูรณ์
นักวิชาการหนุนยุบรวม
นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน และ กสม.เป็นองค์กรเดียวกันว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการนี้ เพราะปัจจุบันองค์กรอิสระมีจำนวนมากเกินไป ทำงานซ้ำซ้อน หน้าที่การทำงานคล้ายกัน หากลดลงได้ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ จริงๆ ควรจะลดองค์กรเหล่านี้ อีกด้วยซ้ำแต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะองค์กรเหล่านี้คงไม่ยอมแน่ แค่รวม 2 องค์กรยังมีคนออกมาไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ คงต้องเอาความกล้ามาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย
ปฏิรูปตำรวจไม่ง่าย
นายยุทธพร กล่าวถึงข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปตำรวจว่า การปฏิรูปตำรวจโดยหลักต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นและมีการตรวจสอบโดยภาคประชาชน หลายประเทศตำรวจมีความใกล้ชิดประชาชน เช่น ตำรวจของสหรัฐอเมริกา การปฏิรูปตำรวจของไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการปฏิรูปเชิงโครง สร้าง แต่แก่นจริงๆ ไม่ค่อยมีการพูดถึง ตำรวจของไทยเป็นการจำลองมาจากกองทัพ เป็นอำนาจแบบรวมศูนย์ มีความเข้มแข็ง ตรวจสอบได้ยาก ดังนั้น ต้องทำให้โครง สร้างตำรวจตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของประชาชน การกระจายอำนาจตำรวจไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ต้องแสดงความโปร่งใสด้วย แต่เชื่อว่า การปฏิรูปตำรวจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะผู้มีอำนาจทางการเมืองได้รับประโยชน์จากโครงสร้างปัจจุบันอยู่ ผู้ที่จะปฏิรูปคงต้องใช้ความกล้าให้มาก
สปช.ประชุม 2-3 ก.พ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. มีคำสั่งนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2558 ในวันที่ 2 ก.พ.และครั้งที่ 8/2558 วันที่ 3 ก.พ. เวลา 11.00 น. มีวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และวาระพิจารณาเรื่องด่วน คือ การพิจารณาร่างพ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาเสร็จแล้ว และการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก สปช. เรื่องจะทำอย่างไรให้กลไกของรัฐบาลสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว รวมถึงการพิจารณาตั้ง กมธ.ใน กมธ.ปฏิรูปการแรงงานแทนตำแหน่งที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง เนื่องจากนายประสาร มฤคพิทักษ์ ลาออก ตั้ง กมธ.ใน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนยุติธรรม แทนตำแหน่งที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง เนื่องจากนายเปรื่อง จันดา ลาออก รวมถึงตั้งกมธ.ในกมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา แทนตำแหน่งที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง เนื่องจากนายกิตติ โกสินสกุล ลาออก สำหรับการประชุมในวันที่ 3 ก.พ. มีวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ และเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก สปช. เรื่องจะทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎ หมาย เป็นไปอย่างเคร่งครัด และเป็นธรรม
สนช.ตรวจประวัติกสทช.
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.มีคำสั่งให้นัดประชุมสนช. ครั้งที่ 9/2558 วันที่ 5 ก.พ. และครั้งที่ 10/2558 วันที่ 6 ก.พ. มีวาระเร่งด่วน คือ ตั้ง กมธ.เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคล ผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคาแห่งชาติ (กสทช.) ประเภทผู้ที่มีผลงานหรือความรู้ และความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ทางด้านกฎ หมาย แทนตำแหน่งที่ว่าง รวมถึงพิจารณาร่างพ.ร.บ.สวนป่า (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว และร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่ครม.เป็นผู้เสนอ
นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว คือ รายงานประชุมลับสนช.ครั้งที่ 13-2558 ในวันที่ 2 ต.ค. เรื่องการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงผลการพิจารณารายงานการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโครง การมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัยด้วยการมอบคูปองส่วนลดสินค้าประหยัดพลังงาน มูลค่า 2,000 บาท สำหรับการประชุมสนช.ในวันที่ 6 ก.พ. มีวาระกระทู้ถามทั่วไป โดยนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. ตั้งกระทู้ถามรมว.สาธารณสุข ถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
เสนอประชามติใช้หลัก"อภัย"
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันว่า คนไทยส่วนใหญ่เบื่อหน่ายปัญหาความขัดแย้ง จึงเสนอทางออก ให้ใช้คุณธรรมและอภัยเพื่อเยียวยาปัญหา อย่าใส่ใจเสียงต้านและความคิดสุดโต่งจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองทั้งในประเทศและทั่วโลกประสบความสำเร็จเพราะใช้คุณธรรมอภัย อย่ารอพิสูจน์ความจริงและการสำนึกผิดซึ่งอาจใช้เวลานานหรือหากพิสูจน์ความจริงได้อาจมีการฆ่ากันตายมากขึ้น หากไม่มั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางการใช้คุณธรรมอภัยเยียวยาปัญหาก็ให้ทำประชา มติเพื่อฟังเสียงประชาชน การใช้คุณธรรมอภัยไม่ได้หมายรวมถึงการอภัยให้กับคนทุจริตโกงบ้านโกงเมือง ซึ่งไม่สมควรได้รับการอภัย การดำเนินการควรยึดหลักนิติธรรมในทุกคดี
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ในวันที่ 2 ก.พ. ตนจะพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม เพื่อขอให้อดีตส.ส.ภาคใต้ของพรรค ได้เข้าร่วมประชุม หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ไขปัญหายางพารา
ส่งคดีข้าวจีทูจีให้อสส.สัปดาห์นี้
วันที่ 1 ก.พ. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแถลงเปิดสำนวน 38 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหากำลังหารือกันอยู่ว่า จะแถลงเปิดคดีในรูปแบบใด จะเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มความผิดตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลเอาไว้ แนวโน้มน่าจะเป็นลักษณะให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มความผิดเป็นผู้แถลงเปิดคดี คงไม่แถลงเปิดคดีเป็นรายบุคคล เพราะ สนช.อยากให้กระบวนการดำเนินการไปอย่างรวดรวดเร็ว หากแถลงเปิดคดีเป็นรายบุคคลอาจต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหาจะเป็นการแถลงเปิดคดีเพียงคนเดียว คาดว่าเรื่องดังกล่าว น่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งสำนวนคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ สมัยดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ และพวกให้อัยการ สูงสุด (อสส.) ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า ตามกฎหมายภายหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต้องส่งสำนวนให้อสส.ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้กรรมการป.ป.ช.ทุกคนลงนามรับรองมติชี้มูล คาดปลายสัปดาห์นี้น่าจะส่ง สำนวนของนายบุญทรงและพวกให้อสส.ได้ ส่วนแนวโน้มต้องตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. กับ อสส.เหมือนคดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เป็นเรื่องที่ อสส.จะพิจารณา เพราะบางทีผู้ทำหน้าที่ส่งฟ้องอาจต้องการให้สำนวนมีความละเอียด จึงอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม