- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 01 February 2015 14:09
- Hits: 5299
บิ๊กตู่ เล็งเลิกอัยการศึก สั่ง'กุนซือ'หาอำนาจใหม่ใช้แทน ชี้ต่างชาติต้าน-กดดัน เรียกทูตมะกันเข้าสนช. 11 กพ.แจงปมจุ้นไทย'ป๊อก'เบรกถล่มสหรัฐ
'บิ๊กตู่'เล็งยกเลิกอัยการศึก เหตุต่างชาติไม่ยอมรับให้กุนซือหาอำนาจใหม่ใช้แทน สนช.เรียกอุปทูตมะกันแจง กมธ.ต่างประเทศ 11 ก.พ.
@ คสช.รับเลิกอัยการศึก-ตปท.ค้าน
กรณีที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้ คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 ออกระเบียบที่คล้ายกับกฎอัยการศึกแทนเนื่องจากส่งผลกระทบในด้านต่างๆ นั้นล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม แหล่งข่าวระดับสูงใน คสช.เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่าแนวคิดนี้เกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในที่ประชุม คสช.ว่า "ถ้าไม่มีกฎอัยการศึกจะให้ผมใช้อำนาจอะไร ท่านลองหาอำนาจมาให้ผมใหม่สิแต่ไม่ใช่การบังคับใช้ตามมาตรา 44"
"ขณะนี้ฝ่ายกฎหมาย คสช.กำลังหาแนวทางที่เหมาะสมอยู่ โดยจะมีแนวทางลักษณะให้ผู้ที่กระทำผิดในคดีความมั่นคงไม่ต้องขึ้นศาลทหารแต่ให้ขึ้นศาลพลเรือนแทน แต่ยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจให้สามารถปฏิบัติการได้ ซึ่งเหตุผลในการออกแบบแนวคิดนี้ คือ ต่างชาติไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับกับกฎอัยการศึกของไทย ทาง คสช.จึงมีแนวคิดในการใช้อำนาจอื่นในการบริหารแทน แต่มีหลักปฏิบัติคล้ายกับกฎอัยการศึกเพียงแต่ไม่เรียกชื่อนี้ และมีความเข้มข้นน้อยลง" แหล่งข่าวระบุ
@ ยันไม่เกี่ยวท่าที'มะกัน'ค้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นเพราะอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหรือไม่ แหล่งข่าว คสช. กล่าวว่า "ไม่เกี่ยว คสช.คุยมาก่อนที่สหรัฐจะเข้ามา แนวคิดนี้เกิดจากท่านนายกฯเองที่อยากใช้อำนาจบริหารที่ไม่ใช่กฎอัยการศึกเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข และขณะนี้แนวคิดนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างแต่อย่างใด"
เมื่อถามว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ต่างชาติไม่ยอมรับหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากต่างชาติไม่เข้าใจ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่มีประกันชีวิต แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปไม่ได้รับผลกระทบจากกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีกฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
@ 'ไก่อู'เผยยังไม่ถึงเวลาใช้ยาแรง
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะที่ปรึกษา คสช.เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกกฎหรือระเบียบอื่นมาใช้แทนกฎอัยการศึกว่า ยังไม่ทราบเรื่อง แต่จากประเมินสถานการณ์ขณะนี้ มองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะใช้ยาแรง เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังไม่มีแรงกระเพื่อมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น คสช.จะพิจารณาเพื่อเชิญตัวมาพูดคุยแล้วคิดว่าทุกฝ่ายคงเข้าใจกัน
"ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมีนโยบายชัดเจน เช่นกรณีของสหรัฐ นายกรัฐมนตรีบอกว่า เราทำได้เพียงแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง และแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนสหรัฐจะทำอะไร เป็นเรื่องที่สังคมพิจารณาถึงมารยาทของเขา แต่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เพราะทั้งไทยและสหรัฐ ต่างฝ่ายต่างอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ทุกคนต้องมีสังคม เพราะฉะนั้นจึงไม่น่ามีอะไรที่หนักหน่วงรุนแรง สิ่งที่สหรัฐต้องการจะทำก็ให้ทำไป ส่วนเราต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี คงไปห้ามเขาไม่ได้ แต่รัฐบาลเอาประชาชนเป็นหลักว่าสังคมเข้าใจเรา" พล.ต.สรรเสิรญกล่าว
@ สวน'พท.'ยัน'บิ๊กตู่'ใจกว้าง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวถึงกรณีที่นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ออกมาแนะให้รัฐบาลและนายกฯ เปิดใจให้กว้างกับท่าทีของ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกว่านายกรัฐมนตรีใจกว้างอยู่
แล้ว ผู้ที่พูดเรื่องนี้ก็ควรจะใจกว้างด้วยเหมือนกัน
"นายกรัฐมนตรีควบคุมอำนาจการปกครองมาเพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่มีอำนาจ ทุกอย่างหยุดชะงักหมด ทำให้ประชาชนเดือดร้อน หากปล่อยไว้จะเกิดภาวะที่หนักกว่านี้ และอย่างกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทุกอย่างก็เปิดให้เข้าสู่กระบวนการ ทุกคนเรียกร้องความยุติธรรม ทั้งสองฝ่ายคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มาได้เปิดข้อมูลให้สังคมรับรู้แบบมีกฎกติกา นี่คือความใจกว้างของนายกฯ แล้วคนที่พูดเปิดใจกว้างแล้วหรือยัง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ เอกชนหนุนให้เลิกบางพื้นที่
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า หากรัฐบาลยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก ถือเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นว่าบรรยากาศการเมืองไทยมีแนวโน้มสงบมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องประเมินสถานการณ์การเมืองไทยให้ดีก่อน เพราะหากยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก แต่สถานการณ์การเมืองกลับมาปะทุอีกครั้ง นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาเช่นกัน เพราะเรื่องความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญลำดับแรก ที่นักท่องเที่ยวจะตัดสินใจมาเที่ยวไทยหรือไม่
"สมาคมเห็นว่าจะยกเลิกคำประกาศดังกล่าวหรือไม่ ถือว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน เพราะตอนนี้มีประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวไทยหรือไม่ โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงิน จนส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยปีนี้ไม่สูงโดดเด่นเหมือนทุกปี หากจะยกเลิกประกาศจริง อาจพิจารณาเป็นรายพื้นที่ก่อน พื้นที่ท่องเที่ยวใดที่ไม่มีความเสี่ยงทางการเมืองก็นำร่องก่อนน่าจะดีกว่า" นายศิษฎิวัชรกล่าว และว่า สมาคมมองว่าภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้อย่างมากอยู่ที่ 27-28 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2557 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 24.7 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่ไม่หวือหวาเท่ากับเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งไว้ที่ 29.5 ล้านคน" นายศิษฎิวัชรกล่าว
นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า อยากให้ยกเลิกบางพื้นที่ที่สำคัญและดูแลได้ อย่างภูเก็ตและ อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องพิจารณาให้ดีว่าหากยกเลิกแล้วจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งนั่นจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวเริ่มเคยชินกับสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันแล้ว
@ 'บิ๊กป๊อก'ไม่หวั่นทูตมะกันคุยแดง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยมีกำหนดการจะลงพื้นที่เสื้อแดงเพื่อรับทราบความจริงของสถานการณ์ในไทยว่า ยังไม่มีรายงานเข้ามา อย่างไรก็ตามอุปทูตสหรัฐมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือเราคนไทยทราบดีว่าขณะนี้สถานการณ์การเมืองบ้านเราเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา รวมถึงนายกรัฐมนตรีไม่ได้เจตนาเข้ามาใช้อำนาจอย่างเดียว ส่วนประชาชนทุกคนก็ต้องช่วยกัน
ทำตามโรดแมปเพื่อที่จะให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดและเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย นี่คือสิ่งที่เราต้องทำให้ขณะนี้ สิ่งต่างๆ ที่ต่างชาติไม่เข้าใจ คนไทยทุกคนก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์การปรองดองหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า อยากให้เรื่องกิจการภายในของไทยเป็นเรื่องที่คนไทยต้องจัดการ หากอุปทูตสหรัฐมีความต้องการข้อมูลใดๆ ก็เป็นเรื่องที่เขาสามารถทำได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ของเขา แต่เราคนไทยด้วยกันต้องช่วยทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ในส่วนการดำเนินการทางกฎหมายของผู้กระทำความผิดเราก็ต้องดำเนินการต่อไปเพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม
@ หวังคนไทยเข้าใจทำบ้านเมืองสงบ
เมื่อถามว่าทางส่วนภูมิภาคได้รายงานภาพรวมสถานการณ์หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ทุกส่วนยังถือว่าเรียบร้อย ประชาชนมีความเข้าใจสถานการณ์ว่าเราสองฝ่ายจะขัดแย้งกันไม่ได้เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนทางสหรัฐจะดำเนินมาตรการอะไรกับเรานั้น หากคนไทยเข้าใจถือว่าไม่มีผลอะไร
"เวลานี้ผมถือว่าคนไทยเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น การที่คนคนเดียวพูดแล้วมีผลกระทบกับคนทั้งประเทศ ก็ต้องช่วยกันคิดว่าอะไรเป็นผลประโยชน์กับชาติเรา คนไทยจะมีความสุขและเศรษฐกิจดีได้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยเข้าใจกันมากขึ้นหรือไม่ หากเข้าใจบ้านเมืองก็สงบ" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
@ ปรามอย่าต้านมะกันเกินเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสต่อต้านสหรัฐมากขึ้นในโซเชียลมีเดียจะจัดการอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า "อย่าไปทำอะไรขนาดนั้นเลยนะครับ คนเราต้องรู้จักแยกแยะ ผมว่าไทยกับสหรัฐหากพูดกันในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องพูดกันแบบสร้างสรรค์ อย่าไปคิดในแง่ร้ายทั้งหมด เนื่องจากในสังคมโลกทุกชาติต้องอยู่ร่วมกัน หากเรามองเขาในแง่ดี ก็หวังว่าเขาจะมองเราในแง่ดีเหมือนกัน หากเราไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องภายในเขา ก็หวังว่าเขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของเราเช่นเดียวกัน"
เมื่อถามว่าที่อุปทูตสหรัฐเดินทางไปพบแกนนำเสื้อแดงในภูมิภาคจะเป็นการปลุกกระแสความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่ขอพูดในประเด็นนี้เพราะจะถูกจับให้เป็นประเด็นการเมืองได้
@ มั่นใจ'บิ๊กตู่'ไปโคราชไร้ต้าน
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวถึงการลงพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ว่า จะไปประชุมเรื่องนโยบายข้าวเนื่องจากเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมคือกระทรวงพาณิชย์ ทราบมาว่านายกรัฐมนตรีอยากลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนในภูมิภาคบ้าง ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่เกรงว่าอาจเกิดเหตุเหมือนกับการลงพื้นที่ จ.ขอนแก่นนั้น ได้สอบถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว พบว่าสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเพราะประชาชนในพื้นที่ทราบดีว่านายกรัฐมนตรีลงไปทำงานไปช่วยแก้ไขปัญหา และมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุเหมือน จ.ขอนแก่นแน่นอน
@ 'มทภ.2'มั่นใจระบบรปภ.
พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบรักษาความปลอดภัย พล.อ.ประยุทธ์เพื่อพบปะเกษตรกร ว่า มีความมั่นใจในระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับนายกรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ครั้งนี้ โดยได้ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างทหาร ตำรวจ และพลเรือนในพื้นที่ เชื่อว่าประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจดีว่านายกรัฐมนตรีทำงานเพื่อประชาชน ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่อาจจะออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านนายกรัฐมนตรีนั้น ทางการข่าวยังไม่มีรายงานปรากฏว่าจะมีกลุ่มใดออกมาเคลื่อนไหว แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ดูแลอยู่และไม่ประมาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเกิดเหตุการณ์กลุ่มบุคคลออกมาต่อต้านเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่นหรือไม่ พล.ท.ธวัชกล่าวว่าทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เตรียมความพร้อมและเพิ่มความระมัดระวังพร้อมกับนำเหตุการณ์ที่ขอนแก่นมาทบทวนเพื่อเป็นบทเรียน เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาใดๆ ขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเหตุการณ์ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ที่ จ.ขอนแก่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระหว่างตรวจเยี่ยมเตรียมพร้อมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยมีใบปลิวโจมตีและนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 5 คนประท้วงหน้าเวทีขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังปราศรัยกับชาวบ้าน
@ สนช.เชิญอุปทูตมะกันแจง11ก.พ.
นายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สนช. กล่าวว่า คณะ กมธ.การต่างประเทศทำหนังสือเชิญนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มาสอบถามและให้ความเห็นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ในกรณีที่นายแดเนียล
รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐ แสดงความเห็นทางการเมืองที่กระทบกับประเทศไทย ระหว่างการเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย
"ทางนายแพทริคยังไม่ตอบรับว่า จะเดินทางมาตามคำเชิญในวันดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯจะสอบถามความเห็นของนายแพทริคต่อกรณีที่นายแดเนียล
รัสเซล ได้พูดไป เพราะเรื่องดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจ และเป็นบาดแผลในใจของคนไทยตามที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงการณ์ไป คณะกรรมาธิการฯอยากจะฟังความเห็นจากปากของอุปทูตสหรัฐว่าจะอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร" นายกิตติกล่าว
@ เล็งถามลงพื้นที่พบเสื้อแดง
นายกิตติกล่าวว่า จะสอบถามกรณีนายแพทริคระบุว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐจะเดินทางไปพบแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่ภาคอีสานด้วยว่า เป็นความจริงหรือไม่ มีเหตุผลอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะเปิดเสรี แต่ในช่วงเวลาขณะนี้เป็นสถานการณ์พิเศษของประเทศ หากจะกระทำดังกล่าวจริง อาจนำไปสู่ผลกระทบทางการเมืองได้
"ขอตั้งข้อสังเกตว่าไม่เหมาะสมที่จะไปทำกิจกรรมเช่นนี้ในช่วงนี้ ถ้าเป็นไปได้ ส่วนตัวอยากให้ทบทวนการเดินทางลงพื้นที่ เพราะจะส่งผล กระทบทางการเมืองขัดแนวทางการปรองดองที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามยังมั่นใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เพราะสหรัฐก็ต้องการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศไทย แต่อาจก้าวผิด เอาบางเรื่องไปพูดในที่สาธารณชน" นายกิตติกล่าว
@ 'สพม.'ชงตั้งสภาพลเมืองจว.
เวลา 12.00 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) พร้อมผู้บริหารสภาพัฒนาการเมือง และตัวแทนสภาพัฒนาการเมืองทั่วประเทศ ส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายและข้อเสนอที่ประมวลจากการจัดสมัชชาพัฒนาการเมืองทั้ง 4 ภาคให้กับ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 2
โดยเสนอให้จัดตั้งสภาพลเมืองในระดับจังหวัด เพื่อให้เป็นเวทีของพลเมืองที่สามารถพูดคุย นำเสนอปัญหาและทางออกของบ้านเมืองด้วยตนเอง โดยตัวแทนของคนในพื้นที่ระดับต่างๆ โดยให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้รัฐสนับสนุนสภาพลเมืองให้มีความเข้มแข็งและรัฐบาลควรส่งเสริม โดยไม่มีการแทรกแซงหรือควบคุมจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
ทาง สพม.เสนอนโยบายด้านการศึกษาควรกำหนดให้มีไว้ในหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพลเมือง และเสนอว่าการปฏิรูปประเทศควรให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนมีสิทธิจัดการปัญหาและพัฒนามากขึ้น
นายธีรภัทร์กล่าวว่า หลังจากนี้ สพม.จะรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสภาพลเมือง และรูปแบบของสภาพลเมือง คาดว่าจะสามารถเสนอต่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเชื่อจะเป็นทางออกของการลดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นำไปสู่คำว่าประชาธิปไตยที่กินได้ในท้ายที่สุด
"คิดว่าสิ่งที่เราดำเนินการจะเป็นประโยชน์ต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และป้องกันปัญหาทางการเมืองในอดีตไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต" นายธีรภัทร์กล่าว
@ เป็นสภาฯรองรับกระจายอำนาจ
นายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา "สภาพลเมืองสู่การปฏิรูปประเทศไทย" ว่าแนวคิดในการจัดตั้งสภาพลเมือง เกิดจากข้อเสนอการกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อนำมาสู่การร่างพระราชบัญญัติจังหวัดปกครองตนเองขึ้นควบคุม 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และสภาพลเมือง ซึ่งสภาพลเมืองจึงเป็นองค์ประกอบหลักในการกระจายอำนาจ แก้ปัญหาอำนาจที่กระจุกตัวในส่วนกลางจุดกำเนิดของวิกฤตทางการเมือง "สภาพลเมืองยังเป็นอีกหลักการหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ภายใต้สมัชชาพลเมืองแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมในการบริหารพัฒนาแผ่นดิน เพื่อความเข้มแข็งของพลเมือง ถือเป็นการเปิดทางไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน" นายบรรเจิดกล่าว
@ ห้ามนักการเมืองจุ้น'สภาพลเมือง'
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สภาพลเมืองแต่ละจังหวัดจะต้องไม่ถูกกำหนดให้มีรูปแบบการจัดการที่ตายตัวแบบเดียวกัน แต่ต้องเป็นไปตามการพัฒนาของชุมชน ตามสภาพปัญหาของแต่ละสังคม ผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง และควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และห้ามนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อป้องกันนักการเมืองที่แพ้เลือกตั้งเข้ามาครอบงำสภาพลเมือง สิ่งคัญคือการสร้างคนคุณธรรมเข้ามาสู่สภาพลเมือง ซึ่งจะต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมายลูกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเสวนา ตัวแทนประชาชนจากจังหวัดต่างๆ เรียกร้องให้มีสภาพลเมืองกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้สมัชชาพลเมืองแห่งชาติ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ เป็นการถ่วงดุลอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนด้วย
@ 'สุนี'เหน็บ'บวรศักดิ์'สมใจรวมกสม.
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้ทำการยกสถานะของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดความซ้ำซ้อนว่า ในที่สุด อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมประสงค์เสียที จากการพยายามไม่ให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญและกระแสท่วมท้นจากประชาชนในการตอบแบบสอบถามนับล้านคนทั่วประเทศ และการผลักดันจากภาคประชาสังคม ทำให้เกิดองค์กรนี้ แต่ถูกล็อกไม่ให้คล่องตัวโดยกฎหมาย กสม.จำกัดให้สำนักงานเป็น "ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา"
@ ซัดไม่ฟังปชช.-ชงเองแถลงเอง
นางสุนีระบุด้วยว่า พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 คณะ กมธ.ยกร่างฯยังพยายามยุบให้รวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินอีก แต่ภาคประชาสังคมไม่ยอม มีการเคลื่อนไหว
เต็มที่ ทำให้มี กสม.อยู่ต่อมา และรัฐธรรมนูญต้องเพิ่มอำนาจหน้าที่เชื่อมโยงกับศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม แต่มีความพยายามลดเกรดไม่ให้อยู่หมวดองค์กรอิสระ ให้เป็น "องค์กรตามรัฐธรรมนูญ" และที่สำคัญคือเปลี่ยนที่มาในการสรรหาให้บิดเบี้ยวเสียหายจากการยึดโยงกับประชาชนและภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง กลายเป็นจำกัดที่มาจากศาลกับนักการเมืองเท่านั้น
"ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อ.บวรศักดิ์เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯเอง เห็นชัดว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีจำกัดอย่างที่สุดในการรับฟัง จึงทั้งชงเองแถลงเอง ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคมมากมาย หรือคิดว่ายุคนี้เป็นยุคอำนาจผูกขาดรวบรัดทำอะไรก็ได้ ต้องดูที่เจตนารมณ์ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและประโยชน์ประชาชนด้วย" นางสุนีระบุ
@ ผู้ตรวจการฯเคารพมติ'กมธ.'
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้ทำการยกสถานะของผู้ตรวจการแผ่นดินและ กสม.เป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดความซ้ำซ้อนว่า เคารพในการตัดสินใจของ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งที่ผ่านมา สปช.ขอความเห็น ก็ส่งความเห็นไป
"ก่อนหน้านี้ กมธ.ยกร่างฯก็เดินสายหารือกับหน่วยงานต่างๆ เราก็ให้ความเห็นไปแล้ว แต่ในเมื่อ กมธ.ยกร่างฯมีมติออกมารูปแบบนี้ ก็ต้องเคารพความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ กระบวนการนี้ถือเป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน และอาจแปรญัตติแก้ไขอีก ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร" นาย
รักษเกชากล่าว
@ 'พท.'บ่นกมธ.ยกร่างฯอืด
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็นของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อยากฝากให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการฯ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ส่วนใดที่ดีมีประโยชน์ก็อยากให้หยิบไปปรับใช้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
"ส่วนตัวเห็นว่าการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญมีความล่าช้ามาก ช้าสุดสุด บางทีก็พิจารณาออกนอกกรอบ เหมือนการอ่านหนังสือจากข้างหลังมาข้างหน้า ดังนั้น ขอฝากกรรมาธิการฯว่าหากมีความจริงใจและตั้งใจ ขอให้เร่งพิจารณาให้ทันตามโรดแมป ที่สำคัญต้องเป็นประชาธิปไตย ต่อให้ไม่ต้องมีการทำประชามติ เชื่อว่าประชาชนจะรับได้ และจะไม่เสียของด้วย" นายอำนวยกล่าว
@ 'มาร์ค'ค้านรวม'กสม.-ผู้ตรวจฯ'
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการควบรวมกสม.และผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ว่าไม่เห็นด้วย เพราะภาระหน้าที่ของทั้งสององค์กรมีความแตกต่างกัน จึงยังไม่เข้าใจเหตุผลที่จะควบรวม โดยเฉพาะงานด้านสิทธิมนุษยชนถือว่ามีความสำคัญมากขึ้นและเป็นตัวชี้ที่ต่างประเทศจับตามอง หากมองว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิฯยังมีจุดอ่อนตรงไหน สามารถดำเนินการแก้ไขได้ แต่หากควบรวมเห็นว่ายังไม่เป็นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น
"เป็นเรื่องจำเป็นที่ยังต้องมีองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรอิสระใดมีจุดอ่อน ก็ปรับปรุงได้ไม่เป็นปัญหา แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องมีความชัดเจนว่าบทบาทจะไปอยู่ที่ใคร" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นานาทรรศนะ... ใช้ ม.44 แทน
อนุสรณ์ อุณโณ - ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
|
มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - ความเห็นของนักวิชาการ กรณีที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอความเห็นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แทน อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จากการประชุมของคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาผ่อนปรนหรือยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วหันมาใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ได้เป็นการคืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนเลย แต่ในทางตรงกันข้ามหนักยิ่งกว่าเก่า ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพการณ์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากที่สุดก็ว่าได้ ในเมื่อตัวกฎหมายเอื้อให้ตัวนายกฯทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิด แถมมาตรา 44 ยังรองรับการกระทำไว้อีก ซึ่งไม่ได้แก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเลย มิหนำซ้ำยังทำให้ปัญหาดูแย่เสียยิ่งกว่า ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่าท่าทีการกดดันของนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม ก็ไม่ได้กดดันรุนแรงอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มาเป็นเพียงช่วงๆ เป็นเพียงระยะเท่านั้น เพราะสหรัฐก็ต้องรักษาผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ และต้องรักษาดุลกับประเทศจีนอีกด้วย ส่วนความตึงเครียดและการแสดงออกของประชาชนจะทำอย่างไรได้ ทำอะไรได้ไม่มาก จะเห็นได้ว่ากลุ่มต่างๆ เช่น ประชาชนที่สุดโต่งก็ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ หรือกลุ่มประชาชนที่ต้องอาศัยผู้นำมวลชน ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะบางส่วนไปสมาทานกับแนวทางการปฏิรูป บางส่วนถ้าเคลื่อนไหวก็ต้องถูกเรียกปรับทัศนคติ ดังนั้น สภาพในช่วงนี้ก็ต้องทนๆ ไป ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่แก้ไม่ตก เช่น ปัญหาราคายางพารา ปัญหาพลังงาน ถ้ามีการเคลื่อนไหวก็ต้องถูกบล็อกอีกจากทหาร อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาอะไรต่างๆ ที่รุมเร้าตัวนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้นี้ คงแก้ไขปัญหาประเทศไม่ได้ ปัญหาก็จะถมไปเรื่อยๆ และก็จะปะทุออกมาเอง ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เท่าที่เข้าใจ กฎอัยการศึกและ ม.44 เหมือนทับซ้อนกันอยู่ คือต่อให้ยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่นั้น ม.44 ก็มีอำนาจอยู่แล้วเพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญ การมีหรือไม่มีกฎอัยการศึก ไม่ได้มีผลทำให้ ม.44 มีอำนาจน้อยลงหรือมากขึ้น แต่กฎอัยการศึกต่างจาก ม.44 เล็กน้อยตรงที่ให้อำนาจฝ่ายทหารเต็มที่ ผู้ที่สามารถออกปฏิบัติการ ค้นที่อยู่อาศัย หรือจับกุม ล้อมพื้นที่ คือทหารและไม่จำเป็นต้องได้รับการสั่งการจากนายกฯหรือผู้บัญชาการสูงสุด นี่คือข้อแตกต่างของการมีและไม่มีกฎอัยการศึก หากมีการยกเลิกกฎอัยการศึกหลังจากนี้ หากว่ากันตามกฎหมาย ไม่พูดถึงทางปฏิบัติ คือการเข้าไปจับกุมตัวบุคคลต่างๆ อย่างที่ทำกันอยู่คือ จับเข้าค่ายทหารเพื่อ พูดคุย จะต้องเป็นคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ ตาม ม.44 โดยไม่มีกฎอัยการศึก ส่วนตัวคิดว่าการใช้ ม.44 ไม่ได้ทำให้เสรีภาพถูกปิดกั้นมากขึ้นหรือน้อยลง เพราะตอนนี้ ก็ถูกปิดกั้นมากพอสมควรอยู่แล้ว คงแย่เท่าเดิม แต่อาจเห็นการบุกจับตัวน้อยลง เพราะอำนาจไม่ได้อยู่กับทหารแล้ว ทั้งนี้ แม้จะมี ม.44 แต่ไม่มีการออกคำสั่งใช้อำนาจที่จะก่อให้เกิดสถานการณ์ซึ่งเอื้อต่อความรุนแรง ก็คงไม่มีแรงต้านอะไรจากประชาชน ส่วนที่คนเป็นห่วงว่า ม.44 จะทำให้มีการดำเนินการเหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์ เช่น ยิงเป้า ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ง่ายหรือไม่ เพราะสมัยนี้มีการสื่อสารที่รวดเร็ว การประกาศอะไรออกไปแพร่เร็ว อาจมีผลที่ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านได้ กรณีท่าทีของต่างชาติ แม้ว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึก ภาพลักษณ์ของรัฐบาลก็คงไม่ดีขึ้น แต่จะดูประนีประนอมมากขึ้นในสายตาต่างชาติเท่านั้น โดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะกฎอัยการศึกแทบไม่ส่งผลอะไรต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าต่างชาติจะไม่จับตามอง ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร ทั้งการใช้กฎอัยการศึก และ ม.44 ไม่ส่งผลดีทั้งคู่ ไม่ว่าจะใช้อะไร ดังนั้น ผมคิดว่าควรยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างเดียวพอแล้ว ไม่ต้องใช้มาตรา 44 แทน เพราะตอนนี้คงไม่มีใครออกมาทำอะไร เงียบกันหมด ทั้งกลุ่มการเมืองและทุกกลุ่ม เนื่องจากโดนทัณฑ์บนเรื่องที่เรียกมารายงานตัวและเงื่อนไขการปล่อยตัว กฎอัยการศึกเป็นการโอนอำนาจให้ฝ่ายทหารหมดเลย ถ้ายกเลิกไป ข้าราชการพลเรือนก็ยังพอมีโอกาสหายใจบ้าง อย่างผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ต้องขออนุญาตจากผู้บัญชาการกองทัพในเขตพื้นที่นั้น เช่น ผู้บังคับการกองพัน ส่วน ม.44 คือการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในคราวเดียว เพราะฉะนั้น เกิดวันไหนเฮี้ยนขึ้นมา จะมีการสั่งยิงเป้าใครก็ได้ เหมือนในอดีตในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เคยใช้มาตรานี้ยึดทรัพย์ ยิงเป้าคน แต่ทุกวันนี้ผมมองว่าน่าจะเป็นไปได้ยากมากในการใช้มาตรานี้สำหรับการประหารใคร คงเป็นแค่คำขู่ ไม่ได้ใช้จริง ถ้าใช้คงเป็นภาพลบแก่รัฐบาลชุดนี้มากพอสมควร สำหรับท่าทีของต่างชาติก็คงเหมือนเดิม ไม่ว่าจะใช้กฎอัยการศึก หรือ ม.44 ท่าทีคงเท่าเดิม ไม่รุนแรงขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ปัญหาคือไม่สามารถแทรกแซงได้ เพราะเป็นกิจการภายใน แต่อาจมีมาตรการอื่น เช่น การตอบโต้ทางการค้า เช่น การไม่รับสินค้าจากไทย แต่ตัดความสัมพันธ์กันเลยคงไม่ได้ ปัจจุบัน ผมมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษทั้ง 2 อันนี้ อย่าลืมว่าเรายังมี พ.ร.บ.ความมั่นคง กับพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่อีก สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดก่อนใช้ ม.44 คือ วินาทีที่ตัวเองหมดอำนาจ จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรมากกว่า พัฒนะ เรือนใจดี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง การยกเลิกกฎอัยการศึกนั้นดีอยู่แล้ว เพราะขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ควบคุมอำนาจได้หมดแล้ว จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การเมืองช่วงที่มีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ไม่มีแรงกระเพื่อม หากยกเลิกกฎอัยการศึกได้จะเป็นการดี ส่วนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เป็นเรื่องของอำนาจหัวหน้า คสช. หากมีการใช้จริงต้องกำหนดว่ามีรายละเอียดการใช้อย่างไรบ้าง เพราะกว้างขวางเกินไป ให้อำนาจในการควบคุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถ้าไม่กำหนดอาจส่งผลกระทบแรงกว่ากฎอัยการศึกด้วยซ้ำ ถ้าใช้ ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจริง ต้องคำนึงถึงรายละเอียด เพราะให้อำนาจของหัวหน้า คสช. ซึ่งอาจกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตอนนี้บรรยากาศในบ้านเมืองดีอยู่แล้ว ประชาชนเฝ้ารอการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการร่างเสร็จแล้ว 1 ใน 3 สปช.ก็เดินสายในต่างจังหวัดเพื่อรับทราบความคิดเห็นของประชาชนในการปฏิรูปประเทศ เดินหน้าดีอยู่แล้ว ถ้าวกมาใช้ ม.44 มันสุ่มเสี่ยง ในที่สุดอาจเกิดการท้าทายอำนาจรัฐ หากต้องการบรรยากาศดีแบบนี้ ควรให้รายละเอียดของการใช้ ม.44 ถ้ายังไม่ออกรายละเอียด จะคงกฎอัยการศึกไว้ก็ไม่เสียหาย ส่วนกรณีที่นายแดเนียล รัสเซล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น เพราะมองว่าบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต้องปลอดกฎอัยการศึก เราก็ควรรับฟังเอาไว้เพราะเป็นคู่ค้าสำคัญของเรา ส่วนบริษัทพาร์ตเนอร์กับเราก็มีจำนวนมาก การให้สิทธิพิเศษ ส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้าที่เป็นพาร์ตเนอร์กับเรา จะเห็นผลในระยะยาว แน่นอนว่าประเทศเรามีเอกราช นายกฯเสียใจที่นายแดเนียลเรียกร้องแบบนั้นยังไม่พอ แต่ต้องสร้างความเข้าใจว่านายกฯกำหนดโรดแมปคืนความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ถ่ายทอดธรรมนูญ 57 ให้ทราบ นอกจากนี้ยังควรให้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนทางกฎหมายของไทย เล่าให้ฟังว่าการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ดำเนินการได้ ไม่ใช่บอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วต้องดำเนินการถอดถอน จะกลายเป็นการเมืองไป การมีโรดแมปว่าจะทำงานอย่างไร จะเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศ รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศแบบนี้ต่อไป |