- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 31 January 2015 23:15
- Hits: 3948
วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8830 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'เจ็บคอ-งดจ้อ ปล่อยตัว"เต้น-พิชัย"กลับ หลังเข้าพบคสช. ณัฐวุฒิเผยการพูดคุยไม่มีขู่บังคับ พร้อมให้ความร่วมมือไม่เคลื่อนไหว แต่ขอรักษาสิทธิ์แสดงความเห็น ด้าน'บิ๊กโด่'ย้ำ ถ้ายังเห็นต่างอีก ก็เรียกมาปรับทัศนคติอีก รัฐบาลรุมอัด มะกันไม่เลิก ส่วนรายงานค้ามนุษย์เสร็จแล้ว จ่อส่งแจงสหรัฐ กสม.ร่อนแถลงค้านยุบรวม ด้านบวรศักดิ์ยันกมธ.ยกร่างฯศึกษาแล้ว จำเป็นต้องรวมกสม.-ผู้ตรวจฯ 'บิ๊กตู่'เจ็บคองดสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เป็นประธานการจัดงาน สรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2557 โดยหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยโบกมือปฏิเสธพร้อมทำสัญลักษณ์ว่าเจ็บคอ ขอไม่พูด และบอกผู้สื่อข่าวว่า "ให้กลับไปพักผ่อนได้แล้ว" จากนั้นขึ้นรถกลับออกจากทำเนียบฯทันที เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาเดินหน้าประเทศในวันนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน องค์กรมีปัญหาอะไรบ้าง หากองค์กรอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ก็ต้องปรับตัว ปรับวิธีการ รัฐไม่สามารถไปอุ้มดูแลได้ทุกอย่าง ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมกันคิดใหม่ ช่วยกันปรับตัวเองสู่อนาคต ถ้าทุกคนเรียกร้องเอาแต่สิทธิอย่างเดียวก็ล่มจม สหภาพรัฐวิสาหกิจทุกสหภาพต้องช่วยกัน ทำความเข้าใจกันให้ดี เราคงไม่ไปเร่งรัดปลดพนักงาน คงเป็นขั้นตอน หาวิธีลดให้เหมาะสมและยอมรับกันทุกฝ่าย อย่ามาเคลื่อนไหว ขัดแย้งกันทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นก็แก้อะไรไม่ได้ ยันไม่ได้แทรกแซงพิจารณาคดี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการกระทำทุจริตผิดกฎหมาย ยาเสพติด อาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ ทุกเรื่อง รัฐบาลจะเร่งรัดคดีที่มีผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ กระทบต่อชื่อเสียง กระทบต่อสังคม ต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการมากขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาคดี เป็นเรื่องของศาล อัยการ ผู้พิพากษา เป็นไปตามหลักฐานที่พิสูจน์ได้ ทุกคดี ถ้าพิสูจน์ได้ ไม่มีการบิดเบือนก็ดำเนินคดีได้หมด แต่ต้องเข้าใจกัน ต้องยอมรับในกติกา ถ้าเราไม่เคารพกติกากฎหมายแล้วจะทำอย่างไร ประเทศชาติต้องอยู่ด้วยกฎหมาย "ผมไม่คิดว่าจะมีใครอยากให้ใช้อำนาจของนอกประเทศ หรือคนอื่นๆ มาดำเนินการกับคนไทยในประเทศของเรา ถ้าอย่างนั้นผมว่าไม่ใช่คนไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายต้องดำเนินการ เป็นธรรม ไม่เลือกข้าง ผมก็ไม่มีข้าง ผู้ที่ตัดสินก็มีแค่ถูกกับผิด โดยศาล โดยกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ห้ามพูดกระทบความมั่นคง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การพูดของอดีตนักการเมืองที่มีคดีบ้างหรืออยู่ในพรรคบ้าง ขู่ว่าจะใช้การชุมนุม ขู่รัฐบาล ข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐว่าจะใช้ความรุนแรง ว่าจะปรองดองไม่ได้หรือจะทำให้เกิดเหตุร้ายแรงเหมือนภาคใต้ อันนี้อันตราย ถือว่าเป็นการพูดในเชิงก่อการร้าย ถ้าพูดแบบนี้ พวกนี้ถูกบันทึกไว้หมดแล้วจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที ยืนยันไม่ใช่การปิดกั้นเสรีภาพ เป็นการพูดทำให้เกิดความผลกระทบต่อความมั่นคง ประเทศไหนเขาก็รับไม่ได้ ทั้งนี้ ตนสั่งการไปแล้วให้ คสช.ประเมินแล้วดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยทันทีกับผู้ที่กระทำ ดังกล่าว "พูดแล้วทำให้ลูกเมียต้องเดือดร้อน แล้วก็โวยวายว่าเป็นเรื่องการเมือง ต้องการทำลายกัน ผมจะต้องการทำลายใคร ถ้าไม่พูดผิดหรือทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ใครจะทำอะไรได้ แสดงว่าผิด เมื่อผิดก็ต้องดำเนินการ หรือจะปล่อยให้เป็นแบบที่ผ่านมาหรือไม่ต้องดำเนินการอะไร ใครจะยิงกัน ใครจะผิด ใครจะนำอาวุธสงครามออกมาก็ไม่ต้องจับกุมดำเนินคดี หรือไปทำเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง ซึ่งไม่ได้ ดังนั้น อยากให้ทุกคนได้รับฟังข้อเท็จจริง รักประเทศชาติกันบ้าง ทุกคนก็อยากมีความสุข ไม่ใช่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเดือดร้อนแต่กลุ่มเดียว เดือดร้อนทุกคน ผมก็เดือดร้อน ผมไม่ได้มีความสุขมากนักอยู่แล้วในการทำงานในวันนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ลั่นไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ส่วนความคิดเห็นของผู้แทนมิตรประเทศต่างๆ ก็ฟังได้หมดทุกคน แต่จะให้ความสำคัญแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญเอง ตนไม่เคยไปขัดแย้งกับใคร รัฐบาลนี้เข้ามาอย่างไร ตนไม่เคยปฏิเสธที่ไปที่มา แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่าเราทำเพื่อดูแลประเทศ ถ้าดูแลกันไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ ให้ชาติอื่นเขามาดูแลหรือ ไทยเป็นอิสระไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร วันนี้เราทำไมจะต้องให้คนอื่นเขามาเที่ยวไปฟ้องร้องคนโน้นคนนี้ให้ช่วยมาแก้ปัญหาให้เรา ตนคิดว่าน่าอาย "ผมบอกทุกคนในสังคมโลกว่าขอเวลารัฐบาลนี้ ขอเวลาทำให้กับคนไทยบ้าง ไม่อยากให้ใครต้องมาช่วย ให้เราเข้มแข็ง แล้วเราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ใช้กฎกติการะเบียบต่างๆ เหมือนปกติ เหมือนสากล ไม่ได้ใช้อำนาจมากมาย จำเป็นต้องมีอยู่บ้างเท่านั้น ใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่ไปทะเลาะเบาะแว้งด้วย ขอให้ถามคนไทยทั่วประเทศว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ถามกลุ่มนี้กลุ่มนั้นมาแล้วสรุปเอาเอง ให้ความเป็นธรรมกับคนไทย ให้ความเป็นธรรมกับผมบ้าง ในฐานะผู้นำรัฐบาล ซึ่งผมก็ไม่ค่อยสบายใจแต่จำเป็น ปล่อยไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว โวยร้องแรกแหกกระเชอกับตปท. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันนี้ยังไม่หยุด ยังจะต่อสู้กัน ทุกเรื่องมีปัญหาไปหมด จะปฏิรูป จะออกกฎหมายก็ไม่ได้ทั้งที่มันยังไม่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าจะเดือดร้อนอะไรกัน เดือดร้อนแต่เพียงว่าวันหน้าจะเข้ามาใช้อำนาจไม่ได้ ใช้ไม่สะดวกโกงกินไม่ได้หรือไม่ ไม่อยากเปิดศึก แต่ต้องพูด ไม่อยากนั้นถูกพูดอยู่ข้างเดียว "เพราะผมเป็นสุภาพบุรุษ ผมไม่อยากไปกล่าวว่าใคร ไม่อยากไปพูดประเทศไทยเสียหายอย่างไรมาไปโทษคนนั้นคนนี้ ไม่อายเขาหรือไง เที่ยวไปร้องแรกแหกกระเชอกับต่างประเทศเขาทั่วไปหมด ผมว่าต้องเลิกแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว สั่งรบ.หน้าต้องฟังเสียงข้างน้อย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ดังนั้นรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ ดูแลบริหารแผ่นดินให้ถูกต้อง ดูด้วยว่ารัฐบาลมาด้วยระบบที่โปร่งใสหรือไม่ มีธรรมาธิบาลในการบริหารหรือไม่ เสียงส่วนน้อยเขาว่าอย่างไร ถ้าเสียงส่วนน้อยเขาคัดค้าน ก็ต้องยอมรับสภาพ มิใช่ตัวเองทำถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด อธิบายและแก้ปัญหาให้ได้ ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งก็เกิดขึ้น บานปลายไปสู่ความรุนแรง ทุกประเทศในโลกเขาไม่มีแบบนี้ ประชาชนมาสู้กันเอง มันไม่มี ไม่ใช่แบบนี้ก็แล้วกัน" นายกฯกล่าว นายกฯกล่าวว่า เมื่อตนเข้ามาบริหารประเทศก็จะทำต่อไปให้ดีที่สุด อยากให้ทุกคนมีความหวังกับอนาคตของประเทศไทย เหมือนที่ตนมีความหวังกับอนาคตกับประเทศไทย ความหวังของรัฐบาลความหวังของประชาชนต้องเป็นความฝันอันเดียวกัน ว่ามีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ประเทศชาติสุขสงบ ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็ง พัฒนาประเทศมากขึ้น ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างเดียว นั่นคือสิ่งที่ตนอยากฝากนักการเมืองในอดีตและในอนาคตไว้ด้วย ต้องตั้งใจและแถลงให้ได้ว่า เข้ามาแล้วจะทำอะไรให้ละเอียดชัดเจน วันนี้กำลังสร้างตรงนี้แต่ถ้ามาขัดแย้งกับเรา วันหน้าเมื่อเข้ามาก็แย่กว่าเดิมอีก เพราะมีหลายพวกหลายฝ่าย ต้องแก้ให้ได้ ทุกคนขอความร่วมมือ ตนไม่ใช่ศัตรูกับใครทั้งสิ้น "การจะสร้างประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีความร่มเย็น น่าอยู่ น่าอาศัย เป็นที่รักของประชาชนของคนทั้งโลก คนไทยต้องรักกัน สามัคคีกัน และเข้าใจกัน เผื่อแผ่แบ่งปันกันให้ได้" นายกฯกล่าว เด็กปชป.โผล่ให้กำลัง"บิ๊กตู่" นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "ผมอยากให้กำลังใจพล.อ.ประยุทธ์เสียหน่อย แม้จะฝ่าด่านการค่อนแคะของหลายคนไปก็ตามว่า "แนวทาง" ของพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ผิดพลาด แต่นับวันทางเดินของพล.อ.ประยุทธ์ยิ่งยากและโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกวัน รัฐมนตรีทุกคนต่างก็ถนอมเนื้อถนอมตัวเหมือนไข่ในหิน ไม่ออกมาชี้แจงแทนบ้างเลย อย่างไรก็ตามเส้นทางของนายกฯมีทางเดียวคือตรงไปข้างหน้า ไม่มีทางแยก ไม่มีทางเบี่ยง ไม่มีศาลาริมทางให้ได้พักเหนื่อย ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่ลืมง่าย ไม่มีผิดไม่มีถูก ไม่จดจำบทเรียนในอดีต ทางเดินของพล.อ. ประยุทธ์จึงหนักขึ้นเป็นทวีคูณ ขอให้กำลังใจ "ดอน"โวยอีกเรื่องมารยาท ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องในบ้านเรา ผู้ที่มีมารยาทคงอยากเห็นเพื่อนเราเหมือนกับเรา เวลาที่เราไปประเทศอื่น ก็จะไม่ยุ่งเรื่องบ้านเมืองเขา แม้สหรัฐยังไม่เข้าใจเรา แต่จะไม่ส่งผลให้การทำงานสะดุด เพราะเราทำงานแยกส่วนกัน ความร่วมมือยังเดินต่อไป อย่าลืมว่าสัมพันธ์ไทยและสหรัฐมียาวนานถึง 182 ปี ดังนั้นเขาน่าจะเข้าใจเราได้ลึก "หลังจากผมแถลง มีเพื่อนมาบอกว่าทำไมไม่ถามเขาว่ามีอะไรที่ทำให้คนไทยซึ่งเป็นมิตรที่ดี เปลี่ยนทัศนคติในทางที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหรัฐได้มากขนาดนี้ และให้เขาชี้แจงกลับมา ทำให้ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าจะบอกกล่าวให้คนอื่นรับทราบ ถือเป็นโจทย์หนึ่งที่เพื่อนเราต้องนำกลับไปคิดว่าคนไทยที่เป็นเข้าใจคนได้ง่าย ไม่เอาเรื่องกับคนอื่น แต่ตอนนี้กลับมีความเห็นระบาดไปทั่วทั้งเฟซบุ๊กและอื่นๆ อะไรทำให้รู้สึกเช่นนั้น ซึ่งสหรัฐต้องนำไปคิด" นายดอนกล่าว รับเปลี่ยนความคิดสหรัฐไม่ได้ เมื่อถามถึงกรณีนายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ทวีตเรียกร้องให้รัฐบาลคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว นายดอนกล่าวว่า อย่าไปคิดว่าเขาจะเปลี่ยนความคิดและท่าทีทันควัน เขาเพียงแต่รับเรื่องแล้วนำกลับไปพิจารณา "ผมเคยบอกกับพรรคพวกที่ถามคำถามนี้ว่าผมเห็นใจนายกฯมาก นั่งอยู่ตรงนี้เครียดและงานมหาศาล นายกฯเอาจริงเอาจังกับทุกเรื่อง เวลาพูดถึงแต่ละเรื่องเครียดมากและพยายามขอให้ทุกคนไปดำเนินการให้ได้ผลเร็วที่สุด ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องหนักอกของคนที่ดูแลทั้งประเทศ ผมดูไม่กี่เรื่องยังรู้สึกว่าเต็มมือ เวลาไปประชุมกับหัวหน้ารัฐบาลหรือผู้นำอื่นไม่เคยเห็นการเอาจริงเอาจังเหมือนรัฐบาลยุคนี้" นายดอนกล่าว เมื่อถามว่าสถานการณ์ขณะนี้ความปรอง ดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นายดอนกล่าวว่า เราหวังว่าการปฏิรูปจะปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น ขจัดปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน เราตั้งใจทำอย่างแท้จริง แต่จะได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับประชาชน หากไม่ช่วยผลักดันเต็มที่ก็จะได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าช่วยกันเต็มที่ ประเทศไทยจะสง่าผ่าเผย "สุวพันธุ์"ติงควรรู้อะไรไม่ควรพูด ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก วิจารณ์ประเด็นการเมืองของไทยว่า การที่ไทยดำเนินนโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นสิทธิของเรา สหรัฐต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ และควรรู้ว่าเรื่องใดควรพูดมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่สนช. ออกมาตอบโต้สหรัฐนั้น เชื่อว่าคงไม่กระทบกับกรอบความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ทุกคนมีสิทธิคิดได้ สหรัฐมีกรอบของเขา เราก็มีกรอบของเรา "ผมทำงานกับเขามาเป็น 10 ปีแล้ว ส่วนตัวรู้สึกผิดหวัง เพราะเราช่วยเขาเยอะ ในเรื่องความมั่นคงที่เป็นผลประโยชน์ของเขา วันนี้ทราบว่ายังช่วยทำอยู่ เขาต้องมองเราด้วยความเข้าใจเหมือนกัน" นายสุวพันธุ์กล่าว คสช.ทวง"ธรรมเนียมทูต" พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ระบุให้ คสช.ติดตามสถานการณ์กรณีที่อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทยจะเดินทางไปพบปะกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดของการเดินทางไปปฏิบัติงานหรือไปทำกิจกรรมภารกิจอันใด ซึ่งทุกท่านมีสิทธิ์ที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว ถ้าเรื่องนั้นๆ ไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ "เชื่อว่าผู้แทนมิตรประเทศหรือนักการทูตทุกท่านจะให้เกียรติประเทศที่ตนเองพำนักอยู่ และคงไม่ทำอะไรที่จะทำให้กระทบกับความสัมพันธ์ของประเทศนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเมืองหรือการแทรกแซงนโยบาย เพราะอาจจะส่งผลต่อความรู้สึกต่อคนของประเทศที่พำนักได้ นอกจากนี้โดยปกตินักการทูตจะมีธรรมเนียมและมารยาททางการทูตที่เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว และคิดว่าหลายๆ ประเทศได้ให้เกียรติประเทศ ไทย เสมอมาโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็มีความสัมพันธ์กันมานานกว่าร้อยปี" พ.อ.วินธัย กล่าว บิ๊กโด่งสั่งติดตามมะกันพบแดง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงสถานทูตสหรัฐจะเดินสายพบกับแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่ภาคอีสาน ว่า เรื่องนี้พล.อ. ประยุทธ์ให้คอยติดตามสถานการณ์ ต้องให้เกียรติเขาแต่ก็ต้องติดตาม หวังอย่างยิ่งว่าจากการพูดคุยกันในระดับรองนายกฯ และการแสดงออกของส่วนต่างๆ น่าจะมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และหวังว่าคงไม่มีผลกระทบใดๆ "สหรัฐต้องเข้าใจประเทศไทยด้วยว่าเราต้องทำให้ประเทศสงบเรียบร้อย จำเป็นต้องทำเช่นนี้เพื่อให้เกิดความสงบ ต่างชาติต้องทำความเข้าใจและเราพยายามสร้างความเข้าใจให้กับต่างชาติ ส่วนใหญ่ก็มีความเข้าใจ แต่อาจมีประเด็นบางอย่างซึ่งได้ชี้แจงข้อคิดเห็นไปแล้ว" พล.อ.อุดมเดชกล่าว แจงเชิญนักการเมืองปรับทัศนคติ พล.อ.อุดมเดชยังกล่าวถึงกรณีคสช. เรียกตัวอดีตนักการเมืองมาปรับทัศนคติว่า อยากให้ใช้คำว่าเชิญบุคคลต่างๆ มาพูดคุยเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่มีความรุนแรงใดๆ จากสถาน การณ์ปัจจุบันต้องพยายามทำให้เกิดความเข้าใจกัน ขอความร่วมมือในการแสดงออกและการแสดงความเห็น ถ้าอยู่ในกรอบก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดความไม่เข้าใจก็เชิญมาพูดคุย แต่ละคนที่มาพูดคุยและปรับทัศนคตินั้น ได้รับรายงานว่าทุกอย่างเรียบร้อย ทุกคนเข้าใจและคงทำให้เกิดความเรียบร้อยต่อไป เมื่อถามว่าจะเชิญตัวมาเพิ่มเติมและจะยุติความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า คงไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ขณะนี้เป็นเพียงการแสดงออกทางความเห็น ซึ่งมาปรับความเข้าใจกัน ตนเคยพูดและขอร้องแล้วว่าให้อยู่ในกรอบแต่ถ้ายังแสดงออกถึงความไม่เข้าใจก็ต้องพูดคุยกัน ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็ไม่ต้องเรียกเพิ่มเติมมาอีก แต่บางคนที่ไม่เรียบร้อยและไม่เข้าใจ ก็ต้องคุยให้เกิดความเข้าใจ "ณัฐวุฒิ"เข้าพบคสช. เวลา 09.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารายงานตัวต่อคสช.ว่า ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ คสช.เมื่อบ่ายวันที่ 29 ม.ค. ให้มาพูดคุยกันและนัดสถานที่ โดยเจ้าหน้าที่คสช.นัดในเวลา 09.00 น. ยืนยันว่าไม่กังวลว่าจะถูกกักตัวหรือกักบริเวณ เพราะได้แสดงความเห็นชัดเจนมาตลอดว่ามีความคิดที่แตกต่าง พูดด้วยเหตุผล ไม่ได้ปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัฐบาล ส่วนตัวพร้อมรับทุกสถานการณ์ และพร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่พยายามสื่อสารต่อสังคม เชื่อว่ารัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นที่มีเหตุผล เพราะถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออก จากนั้นเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย(กกล.รส.) ได้นำรถตู้มารับตัวนายณัฐวุฒิไปที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ เพื่อพูดคุยกับพ.อ.นวกร สงวนศักดิ์โยธิน ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 หลังพูดคุยทำความเข้าใจ 1 ชั่วโมง ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับได้ "เต้น"สงวนสิทธิ์แสดงความเห็น นายณัฐวุฒิกล่าวภายหลังเข้าพบคสช.ว่า การพูดคุยทำความเข้าใจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยขอความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินการต่างๆ ขณะเดียวกันตนยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางของตนเอง พร้อมรับผิดชอบในคำพูดและการกระทำต่างๆ เพราะทำทุกอย่างด้วยความความปรารถนาดี บริสุทธิ์ใจ และตรงไปตรงมา ซึ่งไม่ได้กังวลที่ถูกเชิญมาพูดคุย เพราะที่ผ่านมาได้แสดงความเห็นชัดเจนว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่ได้มีแนวโน้มปลุกปั่น เพราะไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า จากนั้นนายณัฐวุฒิโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เจ้าหน้าที่นัดตนไปคุยที่สโมสรทบ. การสนทนาเป็นไปด้วยอัธยาศัยไมตรี ไม่มีข่มขู่บีบบังคับ สาระโดยสรุปคืออธิบายเหตุผลการยึดอำนาจ ความมุ่งหมายของคสช. และขอให้งดแสดงความเห็นทางการเมืองพร้อมแจ้งมาตรการต่อไปหากเห็นว่าไม่ให้ความร่วมมือ ตนบอกไปว่ายินดีให้ความร่วมมือ ไม่มีเคลื่อนไหวเผชิญหน้า แต่เรื่องการแสดงความเห็นตนคิดว่าเป็นสิทธิ์และพร้อมรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น ขอให้เข้าใจว่าทุกอย่างที่พูดเพราะคิดและเชื่อเช่นนั้น หวังดีต่อบ้านเมือง ไม่มีเป้าหมายอื่น "สุดท้ายก็จบตรงที่ก็แล้วแต่น้อง ถือว่าเราได้พูดคุยกันแล้ว ผมตอบว่าหากวันข้างหน้ามีเหตุต้องเรียกมา หรือดำเนินการอย่างไรกับผมอีกขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ผมเล่นแง่หรือไม่ไว้หน้าคณะที่พูดคุยกัน แต่ผมเป็นผมแบบนี้จริงๆ" นายณัฐวุฒิระบุ ทหารรับตัว"พิชัย"ถึงบ้าน ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน ถูกทหารจากกองพันทหารม้าที่ 27 รักษาพระองค์ เดินทางมารับตัวที่บ้านพักย่านถนนเพชรบุรี เพื่อไปทำความเข้าใจและปรับทัศนคติ หลังจากก่อนหน้านี้นายพิชัยแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าจะนำตัวนายพิชัยไปที่ใด
นายพิชัยกล่าวก่อนขึ้นรถว่า ไม่กังวลและไม่ได้เตรียมตัวอะไร เหตุผลที่ถูกเชิญตัวเพราะการแสดงความคิดเห็นในทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งพร้อมชี้แจงข้อมูลและความเห็นให้นายกฯทราบด้วยตนเอง โดนปรามห้ามวิจารณ์รัฐบาล จากฉันนายพิชัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ได้รับเชิญไปที่กองทัพภาคที่ 1 โดยแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างสุภาพ ผู้แทนกองทัพขอความร่วมมือไม่ให้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อที่จะไปกระทบการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ใช่การบังคับหรือข่มขู่และไม่ต้องการควบคุมตัว โดยตนได้ชี้แจงว่าอยากให้ผู้แทนทหารได้กลับไปอ่านที่ผมคอมเมนต์ทั้งหมดที่ผ่านมา ว่ามีเจตนาอยากเห็นประเทศก้าวไปได้ โดยอยากให้นำมาพิจารณา และสิ่งที่คาดประมาณว่าเศรษฐกิจจะแย่ก็แย่จริงๆ จะไปพูดให้เศรษฐกิจแย่คงไม่ได้ และอยากให้เปลี่ยนวิธีการคิดมิเช่นนั้นเศรษฐกิจอาจจะแย่กว่านี้ นายพิชัยระบุว่า ส่วนที่นายกฯกล่าวว่า ที่ตนวิจารณ์เรื่องพลังงานทำไมอยู่ในตำแหน่งไม่ทำนั้น ได้ชี้แจงว่าถ้าหากได้ติดตามที่ตนให้ความเห็น บอกชัดเจนว่าเห็นด้วยกับรัฐบาลในแนวทางการปรับราคาพลังงานของรัฐบาล เพราะมีการสนับสนุนราคาก๊าซมาเป็นสิบปีแล้ว หากจำกันได้ในสมัยที่ตนอยู่ในตำแหน่งก็เริ่มดำเนินการลอยตัวราคาก๊าซจนมีผู้ประท้วงปิดถนนวิภาวดีฯกัน เพราะเป็นเรื่องจำเป็นกับประเทศจริงๆ ยอมแพ้พนันให้เศรษฐกิจดี นายพิชัยระบุอีกว่า ส่วนความเห็นที่ให้เพิ่มเติมก็เนื่องจากภาวการณ์ได้เปลี่ยนไป เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันได้ลดต่ำลงมามาก ไม่เหมือนในสมัยตนที่ราคาน้ำมันบาร์เรลละกว่า 100 เหรียญ แต่อย่างไรก็ตามตนยินดีให้ความร่วมมือและจะไม่ออกความเห็นให้กระทบกับรัฐบาลอีก ถ้าเห็นว่าความเห็นผมไม่เกิดประโยชน์ "ผมเข้าไปถึงกองทัพภาคที่ 1 เวลา 10 โมงกว่า กลับออกมาประมาณเที่ยงกว่า การสนทนาเป็นไปด้วยดี สุภาพ และตรงประเด็น โดยผู้แทนกองทัพยังพนันกับผมว่าเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนหน้านี้จะดีแน่นอน ผมเองอยากจะเสียพนันครับ เพราะประชาชนจะได้มีความสุข ขอขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงครับ" นายพิชัยระบุ บวรศักดิ์พร้อมฟังเสียงวิจารณ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่ให้กกต.ทำหน้าที่ควบคุมและกจต.จัดการเลือกตั้ง ว่าพร้อมที่จะพิจารณาข้อวิจารณ์เหล่านั้น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงตัวโครงสร้างหรือรูปแบบการทำงานใหม่ เช่น กกต.จะชี้แจงรายละเอียดและหลักการสำคัญให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป นายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการกำหนดให้มีกจต.โดยมาจากหน่วยงานราชการ แต่ได้แสดงความเห็นว่าควรออกแบบใหม่ถึงที่มาของกรรมการ 7 คน โดยอยากให้เป็นบุคคลภายนอกมากกว่าข้าราชการ ซึ่งเท่าที่ตนติดตามนายวิษณุได้แสดงความเห็นในทางบวกถือเป็นข้อเสนอแนะมากกว่า ยันยุบรวม"กสม.-ผู้ตรวจ" เวลา 17.00 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์แถลงว่า กมธ.ยกร่างและคณะทำงานได้ศึกษาแนวทางควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ตลอดจนศึกษาแถลงการณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างละเอียดแล้ว เห็นว่าจำเป็นต้องควบรวมยกสถานะทั้ง 2 องค์กร ขึ้นเป็นองค์กรเดียวคือ "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน" เพื่อประชาชนจะได้ขอรับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยจากองค์กรนี้ที่เดียว ไม่จำเป็นต้องไปร้อง 2 องค์กรเหมือนในอดีตที่มีอำนาจเหลื่อมกัน นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การยกระดับนี้จะไม่กระทบต่อบุคลากรของ 2 องค์กรที่มีอยู่กว่า 400 คน และไม่กระทบต่ออำนาจหน้าที่เดิมที่มี ส่วนการกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน เบื้องต้นให้มีกรรมการ 11 คนทำหน้าที่ในทุกด้าน อาทิ ด้านสิทธิเด็ก สตรี ด้านคุ้มครองผู้บริโภค มีช่องทางฟ้องศาล 3 ช่องทางคือ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรม ส่วนการมีมติร่วม ขึ้นอยู่กับเรื่องร้องเรียนแต่ละกรณี หากมีการล่วงละเมิดสิทธิมากก็อาจใช้มติร่วมกัน อยู่กับการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการที่มีอำนาจตามกฎหมายลูก 2-4ก.พ.งดถกยกร่างรธน. เมื่อถามว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ดำรงตำแหน่งขณะนี้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า โดยหลักการจะไม่ให้กระทบ ซึ่งอาจเขียนบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล ให้มีสถานะทำหน้าที่อยู่ครบวาระ เป็นการยกสถานะขององค์กรเพื่อประโยชน์ของประชาชน การปฏิรูปจำเป็นต้องยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง ถ้าปฏิรูปแล้วนำองค์กรเป็นตัวตั้ง เชื่อว่าการปฏิรูปไม่มีทางสำเร็จได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะงดประชุมในวันที่ 2-4 ก.พ. และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 ก.พ. เวลา 09.00 น. เพื่อพิจารณาในภาคสอง ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวดที่ 7 ว่าด้วยการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น สำหรับในหมวดที่ 3 ว่าด้วยรัฐสภา และหมวดที่ 4 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ทางกมธ.ยกร่างฯตั้งใจจะพิจารณาเป็นลำดับสุดท้ายเพื่อป้องกันการถูกวิจารณ์ ทั้งนี้ ทางกมธ.การมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสปช. ได้รายงานผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 77 จังหวัด พบว่าประชาชนส่งความเห็นเข้ามา 834 เรื่อง โดยประเด็นการเมือง มีการแสดงความคิดเห็นเข้ามามากสุด รองลงมาคือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การศึกษา และท้องถิ่น กสม.ร่อนแถลงค้านยุบรวม วันเดียวกันนี้ กสม. ออกแถลงการณ์เรื่อง การยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการควบรวมกสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน มีใจความว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมโดยเหตุผลดังนี้ 1.อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกสม. ต่างจากองค์กรอื่นชัดเจน โดยเฉพาะหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่มีองค์กรอื่นตรวจสอบ นอกจากกสม. ทั้งยังเป็นไปตามกลไกของสหประชาชาติ 2.การทำหน้าที่ของกสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความคล้ายคลึงกันในทางสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน แต่มิได้ซ้ำซ้อนกันในเรื่องของอำนาจหน้าที่ตามภารกิจ 3.การบริหารจัดการองค์กร บุคลากร และทรัพยากร กสม.เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหารอย่างรัฐบาล หรือฝ่ายอื่นใด ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานอิสระที่มีพนักงานของรัฐสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนั้น การรวมสำนักงานทั้งสองเข้าด้วยกันอาจมีปัญหาการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นองค์กรคนละรูปแบบ กสม.จึงยินดีส่งผู้แทนไปร่วมเสนอข้อมูลและความเห็น ข้อดีและข้อเสียในการควบรวมองค์กร ต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งกสม.เห็นด้วยว่าควรปรับปรุงองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และประสิทธิภาพการทำหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม บิ๊กตู่กำชับผู้ว่าฯต้องเร็ว-สุจริต เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เป็นประธานการจัดงาน สรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2557 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า เป็นการรับทราบการขับเคลื่อนการดำเนินการกอ.รมน.ซึ่งมีหลายระดับ ทั้งนี้นายกฯได้เน้นย้ำการดำเนินการในชั้นของระดับจังหวัด ซึ่งแกนกลางที่เป็นตัวขับเคลื่อนคือผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องจากสวมหมวกสองใบทั้งเป็นผู้ว่าฯ และเป็นผู้อำนวยการรมน.จังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จะต้องสวมหมวกถึงสามใบ คือในฐานะศปก.จชต.ด้วย ดังนั้นผู้ว่าฯ จะต้องยึดหลักการสำคัญคือทำให้เร็ว ทำให้ทัน และจะต้องทำอย่างโปร่งใส "นายกฯ เน้นย้ำประเด็นสำคัญคือการเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางการทำงานต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยจะต้องมีแผนจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน และเสนอแผนตามความเป็นจริงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการทำงานไม่ใช่ว่าจะฟังเฉพาะตัวแทนของแต่ละหน่วยงาน หรือผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ผู้ว่าฯจะต้องบูรณาการ บริหารจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ได้ ผู้ว่าฯต้องทำให้เร็วและสุจริต โดยถ้ามั่นใจว่าสุจริตไม่ต้องกลัวว่าจะช้า โดยให้คิดแบบคนจนเพื่อจะได้เข้าใจว่าคนจนคิดอย่างไร" พล.ต.สรรเสริญกล่าว พล.ต.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า นายกฯได้คาดโทษไว้ว่า อย่าให้รู้ว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบใครที่ชอบแอบอ้างว่าได้มาขอตำแหน่งกับตนแล้วอย่าเชื่อ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อาจจะย้ายออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้นายกฯยังได้เล่าให้ฟังถึงการดำเนินการเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษซึ่งต้องใช้เงินลงเป็นแสนล้าน จึงได้ระบุว่าอะไรที่ทำได้ขอให้ทำไปก่อน เมื่อที่ดินแพงก็ให้ใช้ที่ดินของรัฐไปก่อน และกำชับผู้ว่าฯให้ไปดูแลและเร่งประชาสัมพันธ์ว่าอย่าซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรเพราะจะทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลเพราะเราต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนโดยเร็วและต้องการให้พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเจริญ บิ๊กตู่สมทบกองทุนทหารผ่านศึก เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ประธานมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นำคณะกรรมการฝ่ายจำหน่ายดอกไม้ 5 คน เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อมอบดอกป๊อปปี้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความระลึกถึงและเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก เนื่องใน "วันทหารผ่านศึก" 3 ก.พ.นี้ คุณหญิงแสงเดือนกล่าวรายงานถึงการดำเนินงานของมูลนิธิว่า สืบเนื่องจากในวันอังคารที่ 3 ก.พ.เป็น "วันทหารผ่านศึก" ทางมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้จัดจำหน่ายดอกป๊อปปี้ พร้อมจัดกิจกรรม "สัปดาห์ดอกป๊อปปี้" ระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-3 ก.พ.นี้ รวม 7 วัน โดยจะมีอาสาสมัครเดินสายออกไปจำหน่ายดอกป๊อปปี้ในราคาดอกละ 20 บาท ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำรายได้สมทบเข้ากองทุน โดยสงเคราะห์ครอบครัวทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัคร ตลอดจนสาธารณกุศลอื่นๆ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ผู้คนทั้งหลายจะได้แสดงความระลึกถึง และช่วยเหลือทหารผ่านศึกและครอบครัว ด้วยการซื้อดอกป๊อปปี้ที่เป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก ตลอดจนเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและวีรกรรมของเหล่าทหารหาญ ด้านพล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความชื่นชมและแสดงความเห็นใจในการเสียสละของเหล่าทหารผ่านศึก ที่ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด ในส่วนของรัฐบาลพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือมูลนิธิอย่างเต็มที่ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบเงินสมทบเข้ากองทุนทหารผ่านศึก และมอบของที่ระลึกและดอกกล้วยไม้จากกิจกรรมตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพให้กับทุกคนด้วย แกนนำยาง20จว.งดชุมนุมกดดัน เวลา 13.30 น. วันที่ 30 ม.ค. ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดตรัง จัดประชุมรับฟังปัญหา อุปสรรคและพบแกนนำชาวสวนยาง 20 จังหวัด นำโดยนายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดตรัง นายไพรัตน์ เจ้ยชุม ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง นายวิน ศรีมาลา ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายเพิก เลิศวังพง ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวสวนยางภาคตะวันออก และนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ โดยมีชาวสวนยางจาก 20 จังหวัดเข้าร่วมประมาณ 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง ทหารและตำรวจ ประมาณ 50 นาย มาร่วมสังเกตการประชุม แกนนำภาคีเครือข่ายชาวสวนยาง 20 จังหวัด ระบุว่า การประชุมครั้งนี้มี 4 ประเด็นสำคัญคือ การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำทั้งระบบ ปี 2557/2558 การแก้ไขปัญหาน้ำยางสด เรื่องพ.ร.บ.การยาง และเรื่องการจัดตั้งองค์การสมัชชาชาวสวนยาง โดยจะนำเสนอปัญหาไปยังรัฐบาลให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ อดีตส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมเครือข่ายสวนยางฯพูดคุยถึงปัญหาราคายางพารา แต่ยังไม่มีข้อสรุป ทราบว่าจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล เนื่องจากผวจ.ตรังเรียกแกนนำไปพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว ทั้งนี้อดีตส.ส.ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ หารือกันเตรียมทำจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเรียกร้องกรณีนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซื้อยางพาราใหม่มาเก็บไว้ 5 หมื่นตัน เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาในอนาคต และรัฐบาลมองการแก้ปัญหาที่ผิดจะทำให้กลไกตลาดเสียหายอีก ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางพารา เนื่องจากงบประมาณการลงทุนลดลงเหลือเพียง 7 แสนล้าน ไม่สามารถสนับสนุนอะไรได้มาก วันนี้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ซึ่งมรว.ปรีดิยาธร เทวกุล รอง นายกฯ มีนโยบายแก้ปัญหาเบื้องต้นคือการมูฟวิ่งสต๊อก โดยรัฐบาลเข้าไปซื้อนำตลาด และพยายามขายยางในสต๊อกก่อน จากนั้นค่อยซื้อยางใหม่เข้ามา เพื่อดูแลราคายาง และใน 7 ปีข้างหน้ารัฐบาลได้ตั้งเป้าที่จะลดจำนวนสวนยางให้ได้ 7 แสนไร่ และสนับสนุนให้ปลูกพืชชนิดอื่นเข้ามาเสริม เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ตอนหนึ่งว่า วันนี้รัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาให้ภาคเกษตรกรรม แต่เกษตรกรต้องปรับตัว รวมกลุ่มกันให้ได้ สหกรณ์ยาง สหกรณ์ข้าว สหกรณ์ชาวนา สมาคมต่างๆ รวมกันให้เป็นภาค จะได้ติดต่อดูแลควบคุมกันได้บ้าง ถ้าต่างคนต่างเรียกร้อง รัฐดูแลไม่ไหว ฉะนั้น ทุกคนต้องสร้างความเข้มแข็งของตนเอง "ขอร้องผู้นำที่ออกมาเรียกร้องผิดๆ ที่เข้าใจผิดอยู่ให้ระวังด้วย เดือดร้อนก็ต้องรับผิดชอบด้วย วันนี้เรามีกฎหมาย จึงขอให้ฟังเหตุผลกันและไว้ใจกันบ้าง รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนทุกอย่างให้โปร่งใส ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาลนี้ว่าจะดูแลให้ดีที่สุด และต้องใช้เวลา อย่างเรื่องราคายาง คุยกับหลายประเทศเขาบอกว่าราคาตกเหมือนกัน ซึ่งยังไม่มีทางออก แต่เขาแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น และไม่มีการประท้วง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว รบ.ทำรายงานต้านค้ามนุษย์เสร็จ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แถลงถึงการจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2557 ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้จัดทำรายงานประจำปีฉบับนี้ที่มีเนื้อหา 154 หน้า เพื่อเผยแพร่สถานการณ์การค้ามนุษย์ และความคืบหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยหน่วยงานต่างๆ ในทุกมิติ ได้แก่ 1.การบูรณาการในระดับนโยบาย ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเชื่อมโยงกัน ขึ้นมาบูรณาการการทำงานในทุกมิติ 2.การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กว่า 1.6 ล้านคน 3.การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งเพิ่มการคุ้มครองผู้แจ้งเหตุ พยาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงเพิ่มโทษผู้ทำผิดฐานค้ามนุษย์ 4.การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ 5.ด้านการป้องกัน มีความก้าวหน้าที่สำคัญหลายอย่าง อาทิ การจดทะเบียนแรงงานประมง 46,000 กว่าลำ การจัดบริการโทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 1300 เพื่อรับแจ้งข้อมูลหรือเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งให้บริการล่ามแปลภาษาต่างประเทศด้วย นายดอนกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. จะส่งรายงานดังกล่าวไปยังประเทศสหรัฐ และประเทศอื่นๆ ที่สนใจ กลุ่มเอ็นจีโอ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ให้ได้รับทราบด้วย เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากทุกฝ่ายที่กำลังจับตามอง และเราหวังว่าทุกประเทศที่ได้รับรายงานนี้จะตื่นเต้นกับงานของรัฐบาลไทยว่าเราทำงานอย่างจริงจัง เราปฏิรูปจริงๆ และจะชื่นชมคนไทยที่ได้มาร่วมช่วยกันแก้ปัญหานี้ที่ถือเป็นปัญหาสากล ด้านนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กรณีของผู้อพยพชาวโรฮิงยานั้น ได้คัดแยกว่าส่วนใดที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือเป็นการหลบหนีเข้าเมือง เพื่อนำไปดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนการทำรายงานของไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความก้าวหน้า ไม่ใช่แค่เพื่อตอบคำถามของใคร |