WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เมินมะกันจี้เลิกอัยการศึก 'บิ๊กตู่'โต้ลั่น ลั่นพร้อมแจงเวที'ยูเอ็น'เว็บสหรัฐย้ำต้องมีปชต. สัมพันธ์ 2 ชาติคืนสู่ปกติ ทหารสั่งสิงห์ทองงดจ้อ ยื่นสปช.ยุบรวม'อปท.' ให้ 7 บิ๊กขรก.จัดเลือกตั้ง

เมินสหรัฐ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯทักทายสื่อมวลชน ก่อนจะแถลงยืนยันว่ายังไม่เลิกกฎอัยการศึก ตามข้อเรียกร้องของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 มกราคม


ทหารเรียกคุย - นายสิงห์ทอง บัวชุม ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางไปรายงานตัวในกองทัพภาคที่ 1 โดยมีทหารนำรถออกไปรับตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากกรณีโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าทหารห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯแถลงข่าวหลัง สนช.มีมติถอดถอน เมื่อวันที่ 27 มกราคม


       สหรัฐย้ำสัมพันธ์ไทยปกติเมื่อมี ปชต. 'บิ๊กตู่'เมินเลิกกฎอัยการศึก ชี้หากปล่อยแสดงความเห็นจะวุ่นวาย ลั่นพร้อมแจงเวทีใหญ่ยูเอ็นเดือนกันยาฯ บอกเป็นทหารหัวใจประชาธิปไตย 'ดาว์พงษ์'รับเคยตั้ง'จิตภัสร์'เป็นคณะทำงานชี้มีความสามารถ กมธ.ยกร่าง รธน.รื้ออำนาจ กกต.ไม่ให้จัดเลือกตั้ง ชง'กจต.'ทำหน้าที่แทน มอบ'ปลัด 6 กระทรวง-ผบ.ตร.'เฟ้น

@ บิ๊กตู่เผย"บิ๊กเจี๊ยบ"ตอก"มะกัน"

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่ายังจำเป็นต้องคงกฎอัยการศึกไว้ควบคุมสถานการณ์ หลังนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 26 มกราคม เสนอให้ไทยยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อเปิดกว้างให้กลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในการปฏิรูปประเทศ

      โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มกราคม ว่า พล.อ.ธนะศักดิ์เล่ารายละเอียดให้ฟังทั้งหมดแล้ว ฝ่ายรัฐบาลได้ชี้แจงสถานการณ์ให้รับทราบทั้งหมดว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งได้ถามกลับไปว่าถ้าจะจำเป็นต้องลดการใช้กฎอัยการศึกแล้วเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ หรือในประเทศสหรัฐ แล้วจะทำอย่างไร 

     "ซึ่งนายแดเนียลตอบไม่ได้ โดยบอกว่าเดี๋ยวไปหาคำตอบมาก่อน ถือว่ายังติดคำตอบไว้ว่าจะมีวิธีการอะไรหรือไม่ หากเกิดกรณีเช่นนี้หรือหากเราไม่มีกฎอัยการศึก ทุกอย่างจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่และเราใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งผมไม่ได้ใช้กฎอัยการศึกไปรบกวนใครไม่ใช่หรือทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ทุกคนทราบดีว่าถ้าไม่มีกฎหมายดังกล่าว ทุกคนจะออกมาพูดเสนอความคิดเห็นจนเกิดความวุ่นวายไปหมดแล้วจะทำงานอะไรได้

      "ขอเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นยังให้ผมไม่ได้ เพราะถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่เหมือนกับที่อื่นและไม่มีที่ไหนที่ปฏิวัติมาแล้วทำแบบผม ส่วนใหญ่เมื่อปฏิวัติมาแล้วก็ดำเนินการอย่างเต็มที่ไม่มีมานั่งแถลงชี้แจงเหตุผลจะใช้อำนาจกันเต็มที่ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าวันนี้ประเทศไทยมีอำนาจเสรีแค่ไหน บางอย่างก็ต้องอยู่ในกรอบบ้าง บางอย่างต้องให้เกียรติกัน ซึ่งผมรับได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ก็ไม่มีความกังวลอะไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

@ พร้อมแจงยูเอ็นหากถูกเชิญ

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากที่นายแดเนียลมาพบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์แล้ว ยังมีอีก 21 ประเทศที่เป็นเอกอัครราชทูตถาวรประจำสหประชาชาติได้มาพบ ซึ่งตนถือโอกาสชี้แจงเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเกี่ยวกับโรดแมปต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ก็ได้เรียนตรงๆ ว่าไม่สามารถเล่าในรายละเอียดได้ว่าไทยมีปัญหาอะไรบ้าง เพราะตนอายตัวเอง ไม่อยากพูดสิ่งที่ไม่ดีของประเทศไทยมากนัก ขอให้เป็นเรื่องของไทย ซึ่งเขาก็เข้าใจ 

      "ผมมารับผิดชอบตรงนี้ก็ได้เล่าให้ฟังทั้งหมดว่าจะทำอะไรบ้าง ซึ่งก็มีการตอบสรุปกลับมาว่าพอใจในคำชี้แจงของผม คิดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นแบบอย่างและตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนและประชาคมโลก อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเชิญผมไปพูดและชี้แจงสิ่งต่างๆ แต่ทางเอกอัครราชทูตทั้ง 21 ประเทศ ถามว่าทำไมผมไม่ชี้แจงเหมือนกับที่ได้ชี้แจงต่อเอกอัครราชทูตทั้ง 21 ประเทศ ให้กับเวทีประชุมใหญ่ของสหประชาชาติในเดือนกันยายน ซึ่งผมพร้อมที่จะเดินทางไป ถ้าผมอยู่ก็ไปอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ได้อธิบายว่าประเทศไทยจะเข้มแข็งได้ในวันข้างหน้าจะต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คือมีการเลือกตั้งและผู้ที่จะเข้ามาจะต้องมีคุณภาพ มีจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งต้องดูทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ทำอย่างไรจะยกระดับประเทศให้เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้า

@ ยัน"บัวแก้ว"ทำงานเชิงรุก

      ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศจะต้องปรับปรุงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปรับกันมาทั้งหมดแล้ว ทำงานเชิงรุกมาตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธนะศักดิ์เข้าไปดำรงตำแหน่งมีการปรับปรุงการทำงานทั้งหมดซึ่งไม่ใช่ว่าที่ทำมามันไม่ดี เพียงแต่เป็นงานของพลเรือนซึ่งด้านความมั่นคงอาจจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเท่าที่ควร จึงปรับให้เดินทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการเชื่อมต่อด้านต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศได้รับไปทั้งหมด 

     "รวมถึงงานด้านความมั่นคงต้องไปพูดคุยกับประเทศต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินคดีอาญาหรือคดีตามมาตรา 112 และคดีถอดถอน กระทรวงการต่างประเทศทำทั้งหมด อย่าไปมองว่าเขาไม่ทำงานเชิงรุกและได้เช็กปฏิกิริยาและเสียงสะท้อนกลับจากประเทศต่างๆ ตลอดมีการสรุปผลทุกวัน ส่วนใหญ่ต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์ของไทยมากขึ้น ยังมีเพียงอีกไม่กี่ประเทศที่ยังติดคำว่าประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งมีไม่กี่ประเทศ ขอยืนยันว่าทุกประเทศเข้าใจดี แต่ไม่สามารถพูดคำอื่นได้และต้องแสดงบทบาทของตัวเองออกมา เพราะเขาเป็นประเทศมหาอำนาจ"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ แนะสื่ออย่าสนใจ"แดเนียล"พบปู

     เมื่อถามว่า แสดงว่าต่างประเทศที่เคยบีบคั้นประเทศไทยลดลงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เขาบีบตรงไหน ไม่มีใครเคยมาบีบผมหรือมายุ่งอะไรกับผมเลย ทั้งสมาคมพ่อค้า ประชาชน ส่วนใหญ่ที่มาคุยก็ขอให้ดูแลและพอใจมาตรการที่ออกมาในปัจจุบัน ซึ่งบางอย่างดีกว่าในภาวะปกติด้วย เพียงแต่เขาพูดไม่ได้ว่า เห็นชอบกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจแบบนี้ 

       "ที่นายแดเนียลได้พบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบกันก็อย่าไปสนใจ เป็นเรื่องของเขา สื่อจะไปสนใจอะไรหนักหนา ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าหากไม่มีการกระทำความผิดจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นหรือไม่ อย่าลืมว่าการฟ้องร้องเกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้ามายึดอำนาจ แล้วจะให้ยกเลิกคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนการยึดอำนาจทั้งหมดเอาไหมล่ะ ก็ทำไม่ได้ เรื่องที่เข้าสู่กระบวนการของกฎหมายก็ต้องทำไปตามขั้นตอน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ส่วนอะไรจะเกิดก่อนหรือหลังก็อยู่ที่ว่าความเสียหายมีมากหรือน้อย เรื่องไหนที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือประเทศ หรืองบประมาณต้องสอบสวนก่อน ตนเป็นคนสั่งเองว่าคดีไหนที่เป็นคดีอาชญากรรมที่มีความร้ายแรงต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็ว

@ ลั่นห้ามมะกันพบ"ปู"ก็สั่งได้

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การที่ผู้แทนสหรัฐสามารถพบและหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อให้เกิดความชัดเจน ความจริงถ้าตนจะห้ามสามารถทำได้ว่าห้ามพบกับใคร ให้อยู่แต่ภายในบ้านอย่างเดียว ห้ามไปไหน สามารถใช้อำนาจเต็มที่ได้อยู่แล้ว แต่ไม่ทำเพราะถ้าทำก็จะถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเกินเหตุ รัฐประหาร รังแกผู้หญิง โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง 

      "วันนี้พยายามแสดงให้เห็นว่าอะไรที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน ผมไม่เคยสั่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กระบวนการทางกฎหมายก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ก็อยากถามว่าทำไมคดีอื่นจึงไม่มีปัญหาเหมือนคดีถอดถอนนี้ ทั้งๆ เป็นคดีปกติเป็นคดีที่ส่อว่ามีการกระทำผิด โดยความรับผิดชอบถ้าพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมต้องรับผิดชอบมันก็จบ ทางคดีทางอาญาก็ว่ากันไป ถ้าคิดว่าไม่ผิดก็ไปต่อสู้กันในทางอาญา แม้รัฐบาลนี้จะมาจากการยึดอำนาจก็เพราะขณะนั้นไม่มีรัฐบาล มีรัฐบาลก็เหมือนไม่มี คุณยิ่งลักษณ์อยู่ตรงไหน ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ ชี้อย่าเดือดร้อนกับอัยการศึก

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายความมั่นคงประเมินหรือยังว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกจะผ่อนคลายได้เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "มันเดือดร้อนอะไรกันหนักหนากับการใช้กฎอัยการศึก อย่าไปเดือดร้อนกับมันมากนักเลย ซึ่งได้ถามกลับคนที่ตั้งคำถามนี้แล้วถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ด้วยอะไร หากมีคนลุกขึ้นใช้อาวุธสงครามยิงใส่กัน ประชาชนมาชุมนุมเขายังแก้ไขไม่ได้ ต้องไปหาวิธีมาเช่นกันเพราะเหตุการณ์ในบ้านเราไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลก"

       เมื่อถามว่า ได้อ่านคำแถลงการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผ่านเฟซบุ๊กที่ระบุว่าประชาธิปไตยไทยตายแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ยังไม่ได้อ่าน ก็เหมือนเดิม ส่วนที่ว่าประชาธิปไตยตายแล้วนั้นก็อยากถามกลับว่าแล้วมันตายแล้วหรือยัง ผมไม่ได้รู้สึกอะไร ก็ผมไม่ได้ตาย ถามว่าวันนี้ประชาธิปไตยตายแล้วหรือยัง เรายังสร้างประชาธิปไตยอยู่ทุกวัน ทุกกระทรวง ทบวง กรมก็ขับเคลื่อนบูรณาการแผนงานโครงการ ผมไม่ได้ไปยึดอำนาจมาแล้วเอาเงินคนนั้นไปให้คนนี้ หรือยึดเอามาเป็นสมบัติของตัวเองหรือของชาติ ผมอยากจะบอกว่านี่เป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่าปกติอีก" 

@ ลั่นเป็นทหารหัวใจปชต.

       "ขอร้องให้เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ประชาธิปไตยที่ดีต้องดูแลทั้งคนจน คนมีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ผมคิดถึงคนจนมาก่อน ผมฟังทุกเสียงที่ผ่านมา ไม่มีการฟังไม่มีการตอบคำถาม ไม่มีการชี้แจงถึงแนวทางโรดแมป ประชาธิปไตยตายที่ไหน ยังไม่ตาย ประชาธิปไตยไม่มีตายจากแผ่นดินไทยเพราะวันนี้ผมเป็นทหารหัวใจประชาธิปไตย แต่ผมควบคุมอำนาจเพราะต้องการให้ประชาธิปไตยมันอยู่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

       เมื่อถามว่า จำเป็นต้องเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาปรับทัศนคติอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการแสดงความคิดเห็นและปลุกปั่นในสังคมโซเชียล รัฐบาลจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงห้ามใครไม่ได้ แต่มอบหมายให้ คสช.ไปดู ส่วนจะพิจารณาอย่างไรก็เป็นเรื่องของ คสช. ส่วนที่มีข่าวว่ามีการปลุกระดมให้ใส่เสื้อสีแดงวันนั้น วันนี้ก็เป็นเรื่องที่ คสช.ต้องพิจารณา ถ้าออกมาจริง คสช.คงพิจารณาเอง ไม่ต้องกลัวถ้าออกมาแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายก็คงไม่ได้ สื่อไม่ต้องมาถามให้เป็นเรื่อง เหมือนกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าศาลไม่ให้ไปหรือห้ามออกนอกประเทศก็ต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าใครจะหนีกฎหมายออกไปก็คงกลับมาอีกไม่ได้ เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไรหนักหนา

@ วอนอย่าไล่เพิ่งมาแค่ 7-8 เดือน

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "รัฐบาลทำงานหนักในทุกๆ เรื่องและต้องไปไล่ดูงานที่กำลังเกิดขึ้น ขอร้องว่าอย่าเพิ่งมาไล่พวกผมเลยเพิ่งเข้ามาได้ 7-8 เดือน ที่ผ่านมาบริหารมากี่สิบปีทำไมไม่ดูกันบ้าง ผมเข้ามาเพื่อเคลียร์ปัญหาต่างๆ ให้เกิดความเรียบร้อย วันนี้ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นให้ได้ การทำงานลงรายละเอียดในทุกๆ กระทรวง ทำทั้งแผนระยะสั้นภายใน 1 ปี ที่ผมยังอยู่ ส่วนแผนระยะยาวคือการส่งต่อให้รัฐบาลชุดต่อไป 

     ผมไม่ได้ไปเป็นศัตรูไล่ล่าใคร จำคำพูดผมได้หรือไม่ เคยบอกแล้วว่าสิ่งที่ทำวันนี้ ผมขอเวลาทำให้กับคนไทย ขอเวลาให้กับประเทศไทยได้หรือไม่ ประเทศไทยและคนไทยด้วยกันอย่าติติงกันนักเลย ถ้าท่านทำดีกันอยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องเข้ามาทำหรอก จึงขอว่าอย่าให้ใครมาชักจูง มากล่าวหาว่าผมจะไล่ล่า ผมคงไม่ลงทุนขนาดนั้น โดยเอาประเทศมาเป็นเดิมพัน ถ้าจะไล่ล่าจริงก็จับตัววันนี้ พรุ่งนี้ก็ติดคุกไปก็จบแล้วไม่ต้องไปขึ้นศาลให้วุ่นวาย แต่ผมไม่ทำ นั่นคือสิ่งที่ผมให้ความเป็นประชาธิปไตยเขาตัดสินว่าจะทำอย่างไรและเดินหน้าประเทศอย่างไร ซึ่งไม่มีคณะรัฐประหารที่ไหนเขาทำกัน" 

@ ถอดกำไลหินอารมณ์ดีขึ้น

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า เพลงประจำรายการคืนความสุขให้คนในชาติจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นายกฯย้อนถามกลับว่า ทำไมล่ะ มันเป็นอย่างไง ผู้สื่อข่าวจึงตอบว่า เดี๋ยวประชาชนเบื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยืนทำท่านึกอยู่พักหนึ่งและกล่าวว่า โห น่าสงสาร จะเอาเพลงอะไรล่ะ ผู้สื่อข่าวบอกว่า นายกฯจะเสนอเพลงใหม่ๆ ที่เร้าใจมาก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า อืม เดี๋ยวจะรับไว้พิจารณา แหม เดาใจยากเหลือเกิน ขี้เบื่อนะไอ้นี่ มีเมียหรือยัง แต่งงานหรือยัง ผู้สื่อข่าวตอบกลับว่า "ยังครับ" นายกฯแซวว่า ไอ้นี่อย่าไปแต่งกับมันนะ มันเบื่อง่าย ทำเอาผู้สื่อข่าวหัวเราะไปตามกัน ก่อนจะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกำไลหินสีที่สวมใส่ในข้อมือว่าลูกสาวเป็นคนซื้อให้ใส่ เพื่อจะได้อารมณ์เย็นเหมือนกับหิน แต่หลังจากใส่กลับไม่เป็นผล และบอกกับสื่อมวลชนว่าจะถอดแล้ว วันนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ข้อมือนายกฯไม่ได้สวมใส่กำไลหินสีแล้ว และตลอดเวลาที่ให้สัมภาษณ์ไม่เป็นที่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอารมณ์เสียแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามประเด็นทางการเมืองหลายคำถาม

@ "บิ๊กป้อม"ชี้อัยการศึกเรื่องภายใน 

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ที่ทางสหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีกังวลใจกับการใช้กฎอัยการศึกของไทยนั้น ตนคิดว่าแต่ละประเทศมีการปกครองในส่วนของตนเอง รวมทั้งไทยที่มีแนวทางการดำเนินงานภายใน ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์สงบเรียบร้อย จนสามารถเดินหน้าการทำงานได้ทุกด้าน โดยไม่ได้ปิดกั้นใคร ซึ่งหากใครจะเสนอประเด็นใดก็มีช่องทางแสดงความคิดเห็นกว่าสี่พันเวที 

"แม้จะมีกฎอัยการศึกประกาศใช้อยู่ก็ตาม แต่ทางเรายังคงใช้กฎหมายปกติเป็นหลัก ซึ่งต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ในประเทศขณะนี้ว่ายังมีความจำเป็นต้องคงประกาศกฎอัยการศึกไว้ ดังนั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจ เพราะขณะนี้ไม่ใช่รัฐบาลปกติ" พล.อ.ประวิตรกล่าว 

@ ย้ำสัมพันธ์ไทยปกติเมื่อมีปชต.

วันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศสหรัฐรายงานว่า นางเจน ซากี โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ บรรยายสรุปประจำวันให้กับผู้สื่อข่าว กรณีนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเดินทางเยือนประเทศไทยว่า นายรัสเซลเข้าพบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหารือแบบโต๊ะกลมกับผู้นำภาคประชาสังคม พร้อมกล่าวปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนให้สัมภาษณ์กับสื่อไทย

นางซากีกล่าวว่า นายรัสเซลเน้นย้ำว่าสหรัฐให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าการยกเลิกกฎอัยการศึก การคืนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความเห็น ตลอดจนกระบวนการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่โปร่งใสเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ถือเป็นสิ่งสำคัญในการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพในไทยกลับคืนมา 

"นายรัสเซลย้ำระหว่างหารือกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ไทย จะยังไม่กลับคืนสู่สภาวะปกติจนกว่าไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง" นางซากีกล่าว

@ ชี้มะกันหวังคงสัมพันธ์"ชินวัตร"

นายพอล เชมเบอร์ส ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่านัยสำคัญของการหารือระหว่างนายรัสเซลกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการที่รัฐบาลสหรัฐมองตระกูลชินวัตรว่าเป็นตัวละครที่มีความชอบธรรมซึ่งควรจะได้การยอมรับ กล่าวคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์คือนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถูกโค่นอำนาจจากการทำรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรม ขณะเดียวกันอาจมองได้อีกแนวทางหนึ่ง คือรัฐบาลสหรัฐต้องการเปิดทางเลือกนี้ไว้ หากหนึ่งในคนจากตระกูลชินวัตรเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในอนาคต ซึ่งจะทำให้สหรัฐสามารถพูดได้ว่ายังคงรักษาความสัมพันธ์กับตระกูลชินวัตรมาโดยตลอด แม้อยู่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศ 

@ "ปึ้ง"ชี้แดเนียลแนะฟังเสียงปชช.

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่นายแดเนียล รัสเซล สะท้อนมุมมองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจน การคงกฎอัยการศึกไว้เท่ากับปิดกั้นความคิดความเห็นประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย วันนี้ปิดกั้นกันเสียจนประชาชนไม่กล้าแสดงออก การประชุมหารือเพื่อระดมความคิดเห็นทำไม่ได้ แล้วจะปฏิรูปกันอย่างไร ที่ไปร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่โดยอ้างว่าเพื่อการปฏิรูปจึงเป็นไปไม่ได้ 

"คิดกันเขียนกันเฉพาะคนไม่กี่คนที่เลือกกันมาเอง แบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ต้องฟังเสียงประชาชนไม่ใช่คิดกันเอาเอง นายแดเนียลบอกว่า แม้ประเทศไทยจะต้องเผชิญสถานการณ์ที่ขัดแย้งยากลำบากแค่ไหน ทางออกก็คือการฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ นี่คือการยึดหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" นายสุรพงษ์กล่าว

@ บิ๊กตู่ลั่นตั้ง"ตั๊น"เขียนส่งเดช

กรณีมีกระแสข่าวการแต่งตั้ง น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร อดีตแนวร่วมกลุ่ม กปปส. เป็นคณะทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยการแพร่เอกสารคำสั่ง ทส. ที่ 354/2557 วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ลงนามโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในสังคมออนไลน์ รวมทั้งมีหลายคนเห็น น.ส.จิตภัสร์ไปช่วยงานของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี ไปถามมาแล้วว่าไม่มี อย่าไปเชื่อเอกสารที่ปรากฏ บางอันเขียนส่งเดช เพราะยังเคยสะกดชื่อตนผิดมาแล้ว จะปลอมแปลงอะไรก็ให้ถูก ซึ่งแบบนี้เขาเรียกว่าเฮทสปีช เขียนกันไปข้อเท็จจริงก็ไม่ใช่ จริงบ้างไม่จริงบ้าง คนพวกนี้ก็ร้อนใจ ขอยกตัวอย่างที่ดูถูก สนช.ว่าไม่ถอดถอนอดีตนายกฯ ทุกวันนี้มีใครรับผิดชอบไหม วิเคราะห์กันว่าจะไม่ถอดถอน ตนจะไปคุมอะไรได้ ถอดไม่ถอดก็เรื่องของ สนช.

@ "ดาว์พงษ์"รับตั้งเป็นคณะทำงาน

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจริง ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการ ทส. มี น.ส.จิตภัสร์เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย แต่เวลานี้ น.ส.จิตภัสร์ไม่ได้เป็นคณะทำงานแล้ว เพราะภารกิจที่ให้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ตั้ง น.ส.จิตภัสร์เป็นคณะทำงานด้านใด พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า เป็นคณะทำงานในหลายเรื่อง เพราะ น.ส.จิตภัสร์เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในหลายเรื่อง แต่เวลานี้ไม่ได้เป็นแล้ว 

@ ทหารรับสิงห์ทองเข้าพบมทภ.1 

เวลา 10.30 น. วันเดียวกัน ที่กองทัพภาคที่ 1 นายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปเข้าพบ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) สืบเนื่องมาจากนายสิงห์ทองให้สัมภาษณ์และโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า คสช.ขอความร่วมมือไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังจาก สนช.ลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา หากไม่ให้ความร่วมมือ แถลงต่อไปจะเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ารายงานตัวและนายสิงห์ทองยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางทหารให้นายสิงห์ทองไปจอดรถส่วนตัวรอที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นทหารนำรถจี๊ปติดฟิล์มดำทั้งคันของกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ (ช.พัน.1 รอ.) สังกัดกองทัพภาคที่ 1 ป้ายทะเบียนกงจักร 17049 ไปรับ โดยมี พ.ท.อัมพุช พัฒน์ทอง ผบ.ช.พัน.1 รอ. ซึ่งเป็นนายทหารคนเดียวกันกับที่เดินทางไปที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค เมื่อวันที่ 23 มกราคม เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน 

นายสิงห์ทองมีสีหน้าเคร่งเครียด พร้อมกล่าวเพียงสั้นๆ ก่อนขึ้นรถจี๊ปของทหารว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่มาทำข่าว แต่คงไม่สามารถพูดอะไรได้มากในตอนนี้ ขอเข้าไปพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อน

@ "บิ๊กโชย"ยันไม่กักขัง-ข่มขู่ 

พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการ กกล.รส. กล่าวถึงกรณีที่มีการเชิญนายสิงห์ทองมาพูดคุยว่า เชิญมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ได้นำตัวมาข่มขู่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมานายสิงห์ทองคุยกับทหารและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนคนละเรื่องกัน ทำให้ยังมีความไม่เข้าใจ จึงต้องเชิญมาทำความเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาการสัมภาษณ์หรือการแสดงออกด้านความคิดเห็นทำให้เกิดความเสียหาย 

"ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการกักตัวหรือนำไปปรับทัศนคติค้างคืนที่ค่ายทหาร ส่วนทหารที่พูดคุยนั้นก็เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพูดคุย ผมไม่ได้ไปร่วมพูดคุยด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นแรงผลักดันทำให้เสียบรรยากาศการปรองดอง ส่วนจะเชิญตัวบุคคลอื่นมาพูดคุยอีกหรือไม่นั้น ถ้าไม่ถึงขนาดสร้างความปั่นป่วนก็จะไม่เชิญตัวมา" พล.ท.กัมปนาทกล่าว

@ ทหารปล่อย"สิงห์ทอง"งดจ้อสื่อ 

เวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ กกล.รส.ได้อนุญาตให้นายสิงห์ทองเดินทางกลับบ้านได้ ภายหลังจากที่มีการพูดคุยทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือในการงดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อนายสิงห์ทองเพื่อสอบถามความคืบหน้าการพูดคุยครั้งนี้ทางโทรศัพท์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

@ "โต้ง"แจงลำดับเล่นงาน"ปู"

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประชาชนปรารถนากระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม ไม่ได้ขอนิรโทษกรรมให้ใคร สิ่งที่เกิดขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่การเดินขบวนขับไล่รัฐบาล โดยกลุ่ม กปปส. จนนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2556 และเสนอให้เลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ถูกกระบวนการต่างๆ ขัดขวาง จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ มีลำดับเหตุการณ์ที่น่าจับตาดูหลายเหตุการณ์ 

"ลำดับ 1.วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วยรัฐมนตรีจำนวนมาก (ทั้งที่ไม่เคยเป็นผู้ถูกกล่าวหามาก่อน) พ้นจากหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการโยกย้ายอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2.ในวันรุ่งขึ้น ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ประกาศชี้มูลความผิดโครงการรับจำนำข้าว แบบรวมคดีทั้งการยื่นถอดถอนต่อสภา และคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติต่ออดีตนายกรัฐมนตรี 3.ในเวลา 2 สัปดาห์" ตามด้วยการรัฐประหาร ที่นำโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งทำให้มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 แทนฉบับปี 2550 ที่ถูกการรัฐประหารยกเลิกไปแล้ว

@ ยันรบ.ไม่เคยจ่ายเงินชาวนาช้า

นายกิตติรัตน์ระบุอีกว่า 4.กระบวนการของ ป.ป.ช.เพื่อยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในเดือนมกราคม 2558 ที่ปรากฏชัดเจนถึงความรวบรัดเร่งรีบ และอ้างถึงกฎหมายสูงสุด คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว เพื่อหวังตัดสิทธิทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แต่ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และทั้งๆ ที่ ป.ป.ช.ระบุในคำวินิจฉัยของตนเองว่า ไม่พบหลักฐานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำการทุจริต หรือเอื้อให้กระทำการทุจริต แต่พยายามยัดเยียดความคิดที่ว่ามีพฤติกรรมที่ส่อ และกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดความเสียหาย โดยนำเอาตัวเลขการขาดทุนทางบัญชี หรือค่าใช้จ่ายสุทธิของโครงการฯหลายๆ ฤดูกาลผลิต หลายๆ ปีบัญชี ที่ยังไม่มีข้อยุติ มารวมทบๆ กันให้เข้าใจว่าเป็นตัวเลขที่มากและเพิ่มขึ้นๆ มาชี้วัด เป็นความเสียหาย ที่ทำให้อดีตนายกฯมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติ ไม่ยับยั้งโครงการ

"ซึ่งตัวเลขการขาดทุนทางบัญชี ที่นำมากล่าวหาอย่างบิดเบือนว่าเป็นความเสียหาย ยังไม่เป็นข้อยุติเพราะมีหลักฐานที่ขัดกัน ในด้านปริมาณสินค้าคงคลังในปริมาณที่มีนัยสำคัญ" นายกิตติรัตน์ระบุ และว่า โครงการรับจำนำข้าวมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ทั้งในกรณีรายปี และยอดสะสมหลายปีรวมกันอย่างมากมาย การบิดเบือนว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาฆ่าตัวตายเพราะได้รับเงินช้า ทั้งๆ ที่การจ่ายเงินแก่ชาวนาที่จ่ายตรงเข้าบัญชีชาวนาที่ ธ.ก.ส. ใน 4 ฤดูกาลผลิตแรกไม่มีความล่าช้าแต่อย่างใด แต่ที่มาล่าช้าในฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2556/57 ก็เพราะการขัดขวางของกลุ่ม กปปส. ที่มีสมาชิกหลายคนมานั่งอยู่ในสภานิติบัญญัติต่างหาก ขอท้าให้ไปถามชาวนาว่าเขาโกรธอดีตนายกรัฐมนตรี หรือกลุ่ม กปปส.กันแน่

@ ติงผู้มีอำนาจอย่าขาดนิติธรรม

นายกิตติรัตน์ระบุต่อว่า 5.ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์ความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ ที่อัยการสูงสุดแถลงว่าจะส่งฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีในคดีอาญา เพียงหนึ่งชั่วโมงก่อนการลงมติถอดถอนของ สนช. ทั้งที่หัวหน้าคณะทำงานที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นเอง ยังดำเนินการไม่เสร็จและไม่ทราบเรื่อง การสรุปร่วมกับ ป.ป.ช. สิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของประชาชนที่ก่อให้เกิดความแคลงใจ ไปจนถึงความคับใจในความยุติธรรม รวมทั้งอยู่ในสายตาของประชาคมธุรกิจและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในหลักนิติธรรมของประเทศ 

"คำเตือนนี้ไม่มีความประสงค์จะให้เป็นคำขู่ เพราะคงไม่มีใครต้องกลัวผมแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับกีฬาและดนตรีเท่านั้น แต่ขอเตือนสติผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่ ว่าการขาดหลักนิติธรรมจะกลายเป็นชนวนแห่งความสูญเสียของประเทศในทุกด้าน โดยไม่มีใครต้องออกมาประท้วงกันตามท้องถนน แต่ความแคลงใจ ความคับใจ และความไม่มั่นใจ จะส่งผลเสียต่อการลงทุน การสร้างงาน และการบริโภค จนกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างประมาณค่ามิได้" นายกิตติรัตน์ระบุ

@ กมธ.ถกแยกอำนาจกกต.

เวลา 09.30 น.วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธานพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นการพิจารณาต่อเนื่องในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 5 ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนเริ่มการประชุม นายบวรศักดิ์ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า การประชุม กมธ.ยกร่างฯได้ขอให้ทางทีวีรัฐสภามาบันทึกการประชุม เพื่อเป็นการยืนยันว่าการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯได้นำความเห็นที่ได้รับฟังจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สนช. สปช. พรรคการเมือง และประชาชน มาประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน 

จากนั้นได้เริ่มพิจารณามาตรา (3/2/5-1) 8 ว่าด้วย กกต.มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. และควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นการนำบทบัญญัติของมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาปรับปรุงหลักการใหม่ แต่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญเดิมคือแยกอำนาจการจัดการเลือกตั้งออกจาก กกต.

@ ตั้ง7กจต.จัดเลือกตั้งแทนกกต. 

ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตราที่เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ว่า ขณะนี้เข้าสู่การพิจารณา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 

ส่วนที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตอนที่ 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจะเป็นมาตรา 232 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 8 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง ส.ส. ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. และควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

"ในมาตรา 9 เรื่องอำนาจหน้าที่ มีการเพิ่มเติมใน (5) ให้ กกต.มีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐออกจากพื้นที่ชั่วคราว เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม และ (9) ยังระบุว่า การสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือการให้ใบแดง ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว 

@ ให้ปลัด6กระทรวง-ผบ.ตร.เลือก

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า ในมาตรา 10 กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง หรือ กจต. ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นข้าราชการประจำ จำนวน 7 คน ที่แต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงกลาโหม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!