- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 27 January 2015 10:39
- Hits: 7443
ฟังจากปากปมถูกสอย มะกันพบปู ชี้โลกเชื่อคดีการเมือง เป็นห่วง'ผู้นำเลือกตั้ง'บี้ไทยยกเลิกอัยการศึก บิ๊กตู่ย้ำยึดกม.-ไม่ไล่ล่า
นายกฯชี้ถอดถอน"ยิ่งลักษณ์"เป็นไปตามข้อกฎหมาย ปัดการไล่ล่า ผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐ เดินสายหารือ"ปู-มาร์ค"ก่อนพบ"ธนะศักดิ์" ย้ำไม่เลือกข้างใครแต่ขอให้เลิกกฎอัยการศึก
@ "บิ๊กตู่"บอกไม่ได้ไปไล่ล่าใคร
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีหลายฝ่ายเป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ว่า ไม่ห่วง ทุกคนต้องเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกติกาและกฎหมาย อย่าไปเขียนว่าเป็นการไปไล่ล่าใคร อย่าลงทุนกันมากขนาดนั้น ไม่ได้ต้องการไปไล่ล่าใครเป็นกรณีพิเศษแล้วต้องใช้ประเทศทั้งประเทศหรือประชาชนทั้งประเทศมาต่อสู้กันซึ่งไม่ใช่ คงไม่ไปลงทุนขนาดนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย กติกาและกฎหมายว่าอย่างไร ถ้ามันทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้อะไรทำได้ก็ทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ติดต่อมาบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธว่า ไม่มีการติดต่อ จะติดต่อมาเรื่องอะไร ยืนยันว่าไม่มีการโทรศัพท์มาพูดคุยหรือติดต่ออะไรมาทั้งนั้น
@ มติถอดถอนไม่กระทบปรองดอง
เมื่อถามว่า หากช่วงนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขออนุญาต คสช.เดินทางไปต่างประเทศทำได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องถามกระบวนการยุติธรรมก่อนจะว่าอย่างไร ปกติการจะห้ามคนเดินทางไปไหนมาไหนต้องใช้กฎหมายไม่ใช่อะไรก็จะถาม คสช.ฝ่ายเดียว วันนี้ต้องถามฝ่ายกฎหมายว่ามีความผิดแล้วหรือยัง
เมื่อถามต่อว่า หากขั้นตอนของกฎหมายไม่มีข้อห้ามก็มีสิทธิเดินทางไปต่างประเทศใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้ายังไม่มีการห้ามต้องมาดูว่าวันนี้ยังอยู่ในกระบวนการการต่อสู้หรือเปล่า วันนี้ในเรื่องการถอดถอนจากตำแหน่งเป็นเรื่องของคดีทางการเมือง ก็เหมือนทุกครั้ง ในส่วนคดีการถอดถอนไม่ได้มีคดีอาญาไม่ใช่หรือ
"ไม่กระทบเรื่องปรองดอง ให้แยกเรื่องออกจากกันว่าอะไรคือการสร้างความปรองดอง อะไรคือคดีความทางกฎหมาย บอกแล้วไงว่าเราอย่าลงทุนประเทศทั้งประเทศกันเลย บางอย่างขอให้เป็นไปตามกระบวนการต่อสู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ แจงตั้งสนช.คัดมาอย่างเหมาะสม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทุกคนต้องยอมรับในกติกา ถ้าไม่ยอมรับกติกาทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เมื่อตัดสินอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น วันนี้ไม่มีสภามีแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนช.ก็ต้องทำงานแทนสภา ก่อนหน้านี้ใช้สภาเป็นที่ถอดถอนไม่ใช่หรือ ถ้าจะบอกว่าสภานี้ไม่ได้รับการเลือกตั้งมา แต่ สนช.เป็นของรัฐบาลนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลในวาระพิเศษทำหน้าที่แทนรัฐบาลจริง ส่วนสมาชิกที่อยู่ใน สนช.ก็ไม่ใช่พวกตน ไม่ได้คัดมาเพราะพวกตนแต่คัดมาด้วยคุณสมบัติและความเหมาะสม เพียงแต่มีทหารและข้าราชการอื่นๆ เข้ามาด้วย การตัดสินก็เป็นไปตามกระบวนการและวิจารณญาณของเขา ขึ้นอยู่กับการชี้แจงและการตอบคำถาม ผลออกมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
"ถ้ามันไม่ผิดก็คือไม่ผิดจะไปสั่งอะไรเขาได้ ผมไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ไปไล่ล่า ฆ่าฟันใคร เราไม่ได้เข้ามาเพื่อจับใครติดคุกหรือลงโทษ ทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่กระทำความผิดก็ไม่ติดคุก ไม่ถูกดำเนินคดี ประเทศนี้ไม่ใช่จะเอากฎหมายมาไล่ล่าด้วยคดีการเมือง การเมืองก็คือการถอดถอน ความผิดคือการรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบถึงเรียกว่าคดีการเมือง ส่วนคดีอาญาก็ต้องไปดูเรื่องการทุจริตต้องแยกกันให้ออก ถ้าแยกไม่ออกก็ยังเป็นอยู่แบบนี้ ผมไม่ได้ไล่ล่า ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่ได้รักใครพิเศษหรือเกลียดใครพิเศษ ทำทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ" นายกฯกล่าว
@ แจงเหตุตัวแทนรบ.สหรัฐมาไทย
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีการใช้กฎอัยการศึกเข้าดำเนินการ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่แบบนั้น เพียงแต่ไม่ว่าใครจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น วันนี้ต้องการความสงบสุขเรียบร้อย ประชาชนก็เรียกร้องว่าขอให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องคดีการถอดถอนเท่านั้น ทุกคณะจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ว่า เป็นการมาเพื่อเรื่องทั่วๆ ไป เท่าที่ทราบเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยก็จะเดินทางประจำการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เป็นเรื่องธรรมดาอย่าเอาไปพันกันกับคดีการถอดถอนอดีต ผู้แทนสหรัฐเดินทางมาเป็นการติดตามสถานการณ์ต่างๆ รัฐบาลก็จะถือโอกาสได้ชี้แจงว่ามีพัฒนาการไปถึงไหนแล้ว ปัญหาอยู่ที่ไหน สหรัฐไม่ได้มาดูเรื่องการตัดสินคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี
@ ย้ำชัดทำเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
เมื่อถามว่า ทางสหรัฐเลือกจังหวะพอดีกับการถอดถอนอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เป็นเรื่องของเขา สื่ออย่าไปวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา สื่อก็ชอบวิเคราะห์และคิดเอง สหรัฐจะมาช่วงไหนก็เป็นเรื่องของเขา เราจะไปไหนก็เป็นเรื่องของเรา ทำไมต้องเอามาพันกัน"
เมื่อถามว่า มีการติดต่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามว่า "เขาจะมาพบผมทำไม เขาไม่พบผมเพราะรู้อยู่ว่าผมมาอย่างไร การเมืองก็คือการเมือง การเศรษฐกิจเขาก็มีการค้าขายกับเรา การฝึกร่วมรบก็ยังฝึกกับเรา แยกแยะออกจากกัน แต่เรายังเอาหลายเรื่องมารวมกันวันนี้หลายประเทศยังค้าขายอย่างปกติ ประเทศที่ต่อต้านไม่ชอบเรา แต่ก็ยังค้าขายกันได้"
เมื่อถามว่า ผู้แทนสหรัฐมีกำหนดพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เป็นเรื่องของสหรัฐ ก็มีสิทธิที่จะพบ เขาต้องรู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร เราไม่ได้ไปห้ามปรามอะไรเพียงแต่ข้อร้องว่าอย่าไปเขียนว่าสิ่งที่ทำวันนี้เพื่อจะไปไล่ล่าอดีตนายกฯ มันไม่ใช่ ยืนยันอีกครั้งว่า ทำเพื่อขับเคลื่อนประเทศ"
@ นายกฯใส่ชุดขรก.ทุกวันจันทร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สวมใส่ชุดข้าราชการสีกากีเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวว่าที่ผ่านมาได้ขอให้ข้าราชการสวมชุดข้าราชการทุกวันจันทร์ สิ่งไหนที่ทำด้วยได้ก็พร้อมที่จะทำ ใส่ชุดนี้แล้วก็สบายดี ส่วนที่มีคนชมว่าใส่แล้วดูหนุ่มขึ้นก็ต้องขอบคุณ ตั้งใจที่จะแต่งชุดราชการหลายวันแล้ว แต่ติดหลายงาน ถ้าใส่แล้วต้องเปลี่ยนเข้าเปลี่ยนออก เขาตัดมาให้และจะพยายามใส่ในทุกๆ วันจันทร์ ยอมรับว่าพอใส่แล้วก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกันเพราะไม่เคยใส่ ส่วนราคาน่าจะอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท แพงอยู่เหมือนกัน
@ "บิ๊กโด่ง"เชื่อไร้ป่วนหลังถอดถอน
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ภายหลัง สนช.มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่มีสถานการณ์อะไรน่าหนักใจ เป็นไปตามที่เคยดำเนินการกันมา ขณะนี้ถือว่ามีความเรียบร้อยดี ส่วนการพิจารณาถอดถอนของ สนช.เป็นไปตามขั้นตอนที่ผ่านพ้นไปแล้ว ทุกคนมีความเข้าใจ คนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออยู่ในกรอบเพื่อความเรียบร้อย
เมื่อถามต่อว่าการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นความพยายามขจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นการเมือง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นเรื่องของ สนช.ที่พิจารณาและฟังเหตุผล พร้อมทั้งใช้วิจารณญาณตัดสินใจของแต่ละท่าน ผลออกมาก็เป็นไปตามนั้น
@ ปราม"โอ๊ค"โพสต์ให้พอเหมาะ
เมื่อถามว่ามีการแสดงความเห็นตามสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายปลุกระดมทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า อยากให้ระมัดระวังและขอร้องให้ใช้วิจารณญาณในการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะแสดงความคิดเห็นใดๆ ถ้าแสดงความเห็นแล้วไปก่อให้เกิดปัญหาก็ไม่ควรกระทำ ขอให้แสดงความเห็นอย่างพอเหมาะพอควรอยู่ในกรอบ ขอให้ปฏิบัติตามนี้ สิ่งใดที่เราพอรับได้ก็จะไม่ดำเนินการอะไร
@ "แดเนียล"นัดคุยกลุ่มการเมือง
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข่าวสารและภาพของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบปะผู้นำทางการเมืองทุกกลุ่มและตัวแทนรัฐบาล โดยได้นัดหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะ มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองไทยที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ โดยมีดับเบิลยู. แพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมการสนทนา
นายแดเนียลและดับเบิลยู. แพทริคยังเดินทางไปพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ และนายแดเนียล ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ
@ สหรัฐติดตามตลอดถอดถอนปู
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกฯ นายสุรพงษ์ให้สัมภาษณ์หลังการเข้าพบว่า ทางสหรัฐอเมริกาได้พูดคุยสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ทาง สนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้น ทางสหรัฐอเมริกาได้ติดตามข่าวคราวมาตลอด ทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เพียงแต่อยากฟังจากปาก จึงเล่าให้ฟังว่ามันมีที่มาที่ไปและมีขบวนการอย่างไรเพราะเรื่องนี้ยังหาตัวคนผิดไม่ได้ แต่ลงโทษคนกำกับนโยบายไปแล้ว และคาดหมายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คงมีชะตากรรมไม่ต่างจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นพี่ชายซ้ำเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นเหมือนลอกแบบกันมาต่อไปก็จะมีเหตุการณ์ทำนองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบชดใช้อันนั้นอันนี้ตามมา
@ เผยสหรัฐถามเลือกตั้งเมื่อไหร่
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ทางสหรัฐแสดงความเป็นห่วงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะอดีตนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งต้องโดนถอดถอนจากคนที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตย เรื่องนี้จะส่งผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะความเชื่อมั่น การลงทุน ต่างชาติไม่กล้าคบค้าสมาคมด้วย ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ สหรัฐมีหลักยึดที่มั่นคงคือหลักประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชนหลัก ความเท่าเทียมและหลักกฎหมาย และบอกว่าความสัมพันธ์กับประเทศไทยจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นมาตรฐานสากลโลกหรืออินเตอร์เนชั่นแนลสแตนดาร์ด
"นายแดเนียลยังสอบถามว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จึงบอกไปว่าคงต้องรอให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการถึงมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับก็เหนื่อยหน่อย เรื่องรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่ เราก็ให้ความเห็นไปว่า เขียนกันไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ที่ทำกันอยู่ก็ไปรับฟังความเห็น เดินทางไปที่นั่นที่นี่ล้วนเป็นการจัดฉาก เล่นลิเกเท่านั้น" นายสุรพงษ์กล่าว
@ เดินสายคุยกับ"อภิสิทธิ์"ที่ปชป.
เวลา 10.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายแดเนียลและคณะเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. โดยมีนายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรค ปชป. และนายอิสรา สุนทรวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมืองในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เข้าร่วมรับฟัง หลังการหารือนายเกียรติเปิดเผยว่า มีการพูดคุยกันเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองทั่วไป ดูว่าโรดแมปของรัฐบาลพอจะมีแนวทางเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ยังหารือเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ทาง ปชป.ก็มีข้อเสนอที่เป็นทางการอยู่แล้ว เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีการทำประชามติก่อนเพื่อให้เกิดการยอมรับ นอกจากนั้น ยังพูดคุยถึงต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง มี 2 เรื่องหลัก คือ 1.การใช้อำนาจโดยมิชอบ แม้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลก็มีการละเมิดการใช้อำนาจ หวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีรายละเอียดที่ปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ และ 2.เรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งนายแดเนียลได้แสดงท่าที่เป็นมิตรกับประเทศไทย แต่ทางพรรคก็บอกไปว่า ท่าทีของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป ทางสหรัฐก็ควรกำหนดท่าทีที่มองไปข้างหน้ามากกว่า
@ แลกเปลี่ยนทรรศนะกับ"ธนะศักดิ์"
เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก 19 ประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ยืนยันว่าประเทศไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว พร้อมชี้แจงแผนการดำเนินงานของรัฐบาลตามโรดแมป โดยประเทศไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทุกด้านกับสหประชาชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16.00 น. ที่บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ เป็นเวลาเกือบ 10 นาที คาดว่าเป็นการรายงานผลการพบปะพูดคุยกับผู้แทนสหรัฐในวันเดียวกัน
เฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้รายงานข่าวว่า การเข้าพบครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยและกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
@ "มะกัน"กังวลการถูกกีดกัน
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ "บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2015" ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยได้แปลเป็นภาษาไทยลงเว็บไซต์ด้วย นายแดเนียลกล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อเช้าได้พูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและ รมว.การต่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ทุกฝ่ายกล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองและการดำเนินการสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย
"ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความนอบน้อมและความเคารพต่อประชาชนชาวไทย สหรัฐไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย เราเชื่อว่าประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตน ทว่า สหรัฐยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม"
@ ชี้ถอดถอนปูเป็นเรื่องการเมือง
นายแดเนียลกล่าวว่า สหรัฐยังมีความกังวลเป็นพิเศษในกระบวนการทางการเมืองนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย ย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย
"ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญา ในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง"
นายแดเนียลกล่าวอีกว่า นี่คือเหตุผลที่สหรัฐหวังจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อรัฐบาลและสถาบันตุลาการของตน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย
"การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ หวังว่าผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย"
@ ชงองค์กรรธน.แจงทรัพย์สิน
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่เสนอโดยอนุ กมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตรา ที่มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน เป็นการพิจารณาต่อเนื่องในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มาตรา (3/1/1) 2 ว่าด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นการนำบทบัญญัติ มาตรา 259 และ 261 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาพิจารณา
ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้อภิปรายกว้างขวาง โดยเสียงส่วนมากเสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนบัญญัติเพิ่ม โดยให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย เห็นว่ากรรมการในองค์กรเหล่านี้มีหน้าที่ตรวจสอบผู้อื่นก็ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วย อีกทั้งที่ผ่านมากรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญเคยมีข้อครหาว่ากระทำการไม่ถูกต้อง
@ แยกแยะให้ชัดใครต้องแจงบัญชี
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ได้มี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสายผู้พิพากษารายหนึ่งแสดงความเห็นว่า การเขียนกฎหมายต้องเขียนแบบพอเหมาะพอควร ไม่ใช่เขียนแบบกวาดเรียบไปทั้งหมด ถ้าตรวจสอบหมดทุกอย่าง อาจจะทำให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายตามมาได้
ที่ประชุมในส่วนของสมาชิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังอภิปรายขอให้ฝ่ายของเลขาอนุ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญช่วยชี้แจงความชัดเจนของคำว่า "ข้าราชการทาง
การเมือง" และ "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร สำหรับตำแหน่ง "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" และ "เลขานุการรัฐมนตรี" จะเข้าข่ายอยู่ในตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาและการตีความในอนาคต และขอเสนอให้เขียนครอบคลุมไปด้วยว่า นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.แล้ว ควรมีตำแหน่งใดที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินให้สาธารณะรับทราบอีกบ้าง
@ ถกกันยาวปมแจงบัญชีทรัพย์สิน
ในที่ประชุม ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังถกเถียงในเรื่องของคู่สมรสต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย จะรวมไปถึงผู้ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาหรือไม่ และบุตรที่ต้องยื่นเป็นบุตรเช่นไร ที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเห็นว่าคู่สมรสที่ต้องยื่นควรรวมถึงผู้ที่อยู่กินฉันสามีภรรยาและบุตรควรยื่นทั้งหมดไม่ว่าบรรลุนิติภาวะหรือไม่ ให้เหตุผลว่าผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เช่นนี้ควรพร้อมถูกตรวจสอบและมีหลายกรณีที่ผู้ทำผิดโอนย้ายทรัพย์สินให้บุคคลอื่น
อีกกรณีมีข้อคิดเห็นว่า ควรเขียนเพียงแค่ คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพราะหากเขียนเช่นกรณีแรกระบุนั้นจะล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน มองว่ากำลังนำข้อยกเว้นของคนบางคนบางตระกูลมายกร่างรัฐธรรมนูญ จึงมองว่าการเขียน "บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ" ครอบคลุมหมดแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบได้ว่าใครโอนย้ายทรัพย์สินไปไว้ที่ไหน ท้ายสุดที่ประชุมส่วนใหญ่พิจารณาเห็นชอบให้คงข้อความตามที่ฝ่ายอนุ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ และมีการเพิ่มให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเท่านั้น
@ อภิปรายการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ในช่วงบ่ายที่ประชุม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เป็นการพิจารณาในส่วนการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีด้วยกัน 5 มาตรา มาตราสำคัญอยู่ที่มาตรา (3/2/2) 1 ว่าด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นการบัญญัติขึ้นมาใหม่ มีสาระสำคัญด้วยกัน 4 วรรค วรรคที่สำคัญอยู่ในวรรคสอง เป็นการกำหนดไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาใช้ดุลพินิจให้เป็นคุณเป็นโทษ ส่วนวรรคสามเป็นการห้ามไม่ให้ใช้เวลาราชการของหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน สิ่งอำนวยความสะดวกของทางราชการไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนเองหรือผู้อื่น
ในที่ประชุม ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะสายนิติศาสตร์ เห็นด้วยกับการเขียนบัญญัติข้อความดังกล่าวไว้ในมาตรานี้ มองว่าระบบความสัมพันธ์ส่วนตัวของสังคมไทยในอดีตที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาใหญ่โตให้กับประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน เห็นได้ชัดเจนว่าบางคนพยายามเข้าเรียนตามหลักสูตรต่างๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ส่วนการใช้เวลาและทรัพย์สินของทางราชการถือว่าเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการเป็นอย่างมาก
@ เคาะ2สภาร่วมทำหน้าที่ถอดถอน
ต่อมาที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เริ่มพิจารณาในส่วนที่ 3 เกี่ยวกับการถอดถอนออกจากตำแหน่ง มาตรา (3/2/3) 1 ว่าด้วยบุคคลที่จะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นการนำบทบัญญัติของมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาพิจารณาปรับแก้ไข มีการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรที่มีหน้าที่ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้คือรัฐสภา แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญเดิมที่ให้อำนาจเฉพาะวุฒิสภาเพียงอย่างเดียว ส่วนคะแนนเสียงที่จะถอดถอนต้องเป็นคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด รวมทั้งกำหนดชัดเจนว่าเมื่อถูกถอดถอนแล้วจะต้องถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และดำรงตำแหน่งอื่นเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รัฐสภามีมติ
ที่ประชุม กมธ.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน เห็นว่าที่มาของวุฒิสภาไม่ได้มาจากนักการเมือง หากพิจารณาถอดถอนถ้าพบว่าผิดจริง เชื่อว่าเสียงของวุฒิสภาและเสียงของฝ่ายค้านในสภาก็จะได้เสียงมากกว่าฝ่ายเสียงข้างมาก อีกทั้งที่ผ่านมาวุฒิสภาไม่เคยถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งได้เลย เมื่อนำมาเปรียบเทียบในเชิงปริมาณจึงมีความเป็นไปได้มากกว่าในการถอดถอน
@ ถกวุ่นอำนาจปชช.ถอดนักการเมือง
จากนั้นได้พิจารณาในมาตรา (3/2/3) 2 ว่าด้วยการให้ประชาชนลงคะแนนถอดถอน มีบทลงโทษตัดสิทธิห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งอื่นตลอดชีวิต หรือ Impeachment List เป็นการบัญญัติขึ้นมาใหม่ มาตราดังกล่าวทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่อภิปรายไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไป หากเขียนกฎหมายเช่นนี้จะไม่มีใครกล้าเล่นการเมืองอีก อีกทั้งกระบวนการพิจารณาถอดถอนสมาชิกรัฐสภาสามารถเรียกดูข้อมูลจาก ป.ป.ช.ได้ แต่หากให้ประชาชนตัดสินใจเกรงว่าจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ฐานข้อมูลไม่เข้มข้นพอ การถอดถอนไม่ได้รวมแค่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นแต่รวมถึงประธานศาลต่างๆ และกรรมการในองค์กรอิสระด้วย
ทั้งนี้ การอภิปรายใช้เวลานานเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้นายบวรศักดิ์สั่งแขวนมาตราดังกล่าวไว้ก่อนเพราะเป็นหลักการใหม่ ไม่ใช่เป็นการแก้ไขมาตราเดิม
@ โฆษกยกร่างฯแจงแสดงทรัพย์สิน
ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงผลการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 39 พิจารณาร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 1 ไม่มีการแก้ไข มาตรา 2 ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้มีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เพิ่ม (2/1) กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และ (5) ข้าราชการการเมืองอื่นและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ส่วนวรรค 2 "เอกสารที่ต้องยื่นตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบด้วยบัญชีที่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งผู้ซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่งได้มอบหมายให้ครอบครองหรือดูแลทรัพย์สินของตน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมด้วย ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
@ เพิ่มวรรค3รวมถึงองค์กรรธน.
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนวรรค 3 ได้บัญญัติเพิ่มขึ้นใหม่ คือ "บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และได้รับการร้องขอจากศาล หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ"
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ต่อมาคือ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 1 มีการแก้ไข (1) ไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ ตน คู่สมรส หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียอยู่ และ (2) ไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาประกอบการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น มาตรา 2 มีการแก้ไข (5) ไม่กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา (1/2/2) 20 วรรคเจ็ด ก็คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องไม่เป็นเจ้าของสื่อ ไม่มีหุ้น หรือครอบครองสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขวรรคสาม คือ "ให้นำความใน (3) (4) และ (5) มาบังคับใช้กับคู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือและบุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้กระทำการตามมาตรานี้ด้วย"
@ ลั่นใครถือครองต้องแจงหมด
เมื่อถามว่า ในวรรค 2 ของมาตรา 2 ของส่วนที่ 1 มีการตัดถ้อยคำท่อน "ผู้ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา" ในประเด็นของคู่สมรสออก ตรงนี้ถ้าไม่จดทะเบียนหรือหย่ากันแล้ว แต่ยังเป็นสามีกันในทางพฤตินัย การตัดถ้อยคำดังกล่าวออกไปจะทำให้ไม่ครอบคลุมหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า มีกำหนดไว้ในตอนท้ายอยู่แล้วว่า "รวมทั้งผู้ซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่งได้มอบหมายให้ครอบครองหรือดูแลทรัพย์สินของตน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม" หมายถึงไม่ว่าใครก็ตามที่เราได้มอบหมายให้ถือครองทรัพย์สิน ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผู้ยื่นจะต้องยื่น หากไม่ยื่นแล้ว ป.ป.ช.สืบทราบจะถือว่ามีเจตนาปกปิด ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเปิดช่อง
ให้มีการหลบเลี่ยงไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า ในส่วนที่ 2 มาตรา 2 หากเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทเกี่ยวกับสื่อมาก่อนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีผลกระทบหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ถ้าได้มาก่อนไม่เป็นไร แต่ห้ามซื้อเพิ่ม แต่หากเป็นเจ้าของสื่อจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้
@ "วิษณุ"ชี้ปมตัดสิทธิตลอดชีวิต
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติ สนช.ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ถือว่ามีผลตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2558 จากนี้ไปเป็นเรื่องคดีอาญา ส่วนที่มีการมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตตามมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ห้ามผู้ที่ถูกวุฒิสภาถอดถอนเป็น ส.ส.นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าเป็นแบบนี้ คงไม่เขียนในรัฐธรรมนูญใหม่
เมื่อถามว่าโดยปกติกฎหมายจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ความผิดอาญาย้อนหลังไม่ได้เพราะขัดหลักนิติธรรม ยกเว้นเป็นคุณย้อนได้ ทั่วโลกยอ
เปิดแฟ้ม'ปู'และคณะ จ่อฟันซ้ำ 15 คดี
หมายเหตุ - คดีต่างๆ ที่มีผู้ยื่นร้องเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งในศาลปกครอง
คดีที่อยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช.
1.กล่าวหาคณะรัฐมนตรี (ครม.)
1.1.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ในพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 15 โดยมีพฤติการณ์การกระทำที่น่าเชื่อว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติ รวมทั้งยังเป็นประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และทำให้รัฐเสียหายจากงบประมาณ 175 ล้านบาท
1.2.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน
ราชอาณาจักร วันที่ 9 ตุลาคม 2556 และวันที่ 18 ตุลาคม 2556 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 15 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีพฤติการณ์ส่อว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหรือดุลพินิจบิดเบือนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย กระทำการเกินกว่าเหตุ และละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63
ขั้นตอนคดี...เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
2.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.), นายธงทอง จันทรางศุ ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง
2.1.ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท
2.2.ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-5 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดย
ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคาร 4 แห่ง วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ทราบแล้วว่าศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาแล้ว โดยที่ไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องรีบลงนามกู้เงินดังกล่าวมาใช้
ขั้นตอนคดี...เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
3.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์-ครม.และ ส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบ
3.1.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการตรา พ.ร.ก.และลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 350,000 ล้านบาท โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน และบัญญัติให้กระทรวงการคลังสามารถนำไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 169
ขั้นตอนคดี...เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
4.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
4.1.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ประจำปี 2555 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เรียกประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยเสนอ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ให้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม โดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมาย และให้ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อม พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์
เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงขัดต่อกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้รับทราบกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
ขั้นตอนคดี...เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ไต่สวน
ข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน
5.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวกอีก 3 คน
5.1.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียง รายการมวยไทยวอริเออร์ส จัดที่มาเก๊า โดยมีเจตนาแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ขั้นตอนคดี...ไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยาน
หลักฐาน สอบปากคำพยานบุคคล
6.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับอดีตรัฐมนตรี 14 คน
6.1.ขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-15 ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำการโดยทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่ขัดกฎหมาย โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ออกระเบียบสำนัก
นายกฯว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2554 และกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการ โดยมิได้มีการศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ทางเทคนิค และ
สิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนเพียงพอ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรุนแรง ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 และมาตรา 67 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 40 มาตรา 47 และมาตรา 48 ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556
6.2.ไม่เปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ในการดำเนินโครงการจ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารทรัพยากรน้ำ
6.3.ดำเนินการต่างๆ เพื่อมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา
ขั้นตอนคดี...เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
7.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์
7.1.ขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย โดยวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ประธาน ป.ป.ช.ทำหนังสือ ถึงนายกฯ เรื่องการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้ โดยผู้ถูกกล่าวหารวมทั้ง ครม.มีมติไม่รับข้อเสนอของ ป.ป.ช. และไม่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างแต่ประการใด เป็นเหตุให้มีการทุจริตกันหลายโครงการ
ขั้นตอนคดี...ไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยานบุคคล
8.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายธีระ วงศ์สมุทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
8.1.กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในการกักเก็บ ควบคุม ระบาย หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยในปี 2554
ขั้นตอนคดี...กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง
9.กล่าวหา ครม.ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ
9.1.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการจ่ายเงินเยียวยาแก่
ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ตั้งแต่ปลายปี 2548-เดือนพฤษภาคม 2553) รอบแรก 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 ตามมติ ครม.วันที่ 10 มกราคม 2555 และวันที่ 6 มีนาคม 2555 อันเป็นการออกระเบียบและกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับกับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ โดยที่ยังไม่มีกฎหมาย กฎกระทรวง หรือหลักเกณฑ์มาตรฐานรองรับ เพื่อเป็นการตอบแทนผลประโยชน์แก่พวกพ้อง
ขั้นตอนคดี...เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ไต่สวนข้อเท็จจริงและสอบปากคำพยานบุคคล
10.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
10.1.กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรณีคืนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ขั้นตอนคดี...เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบที่ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวน
11.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับอดีตรัฐมนตรีรวม 33 คน
11.1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ให้พ้นจากเลขาธิการสภา
ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกฯ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองในทางการเมือง ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 33 ในฐานะ ครม.มีส่วนร่วมในการลงมติโยกย้ายนายถวิล ถือว่าเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 260 (2) และ (3) ด้วย
ขั้นตอนคดี...อนุกรรมการอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน
12.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอดีต ครม.รวม 35 คน
12.1.ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-35 ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้าง
พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) ต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่ก่อนจะประกาศใช้บังคับมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลัง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึง 35 ย่อมทราบ แต่กลับมีมติเห็นชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ขั้นตอนคดี...ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
คดีที่อยู่ในการพิจารณาของ กกต.
1.คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและพวกรวม 9 คน กรณีใช้บุคลากรและทรัพยากรของรัฐไปเดินสายตรวจราชการในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 (ทัวร์นกขมิ้น) มีความผิดฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(4) มีโทษตามกฎหมายเลือกตั้ง จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ขั้นตอนคดี...อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนและวินิจฉัย
2.กกต.พิจารณาข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ รวมกว่า 3,000 ล้านบาท
ขั้นตอนคดี...คณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ก่อนส่งให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา
คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพวกรวม 5 ราย ร่วมกันยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับพวกรวม 5 รายต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 เรื่องกระทำการโดยมิชอบ กรณีที่ ครม.มีมติให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีภาคครัวเรือน เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 กลับไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และยังไม่เคยรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ขั้นตอนคดี...อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง