- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 27 January 2015 10:33
- Hits: 4654
วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8826 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ยัน-ไม่เคยสั่ง โต้ไล่ล่า สหรัฐถกยิ่งลักษณ์ เปิดสถานทูตหารือ พบ"ธนะศักดิ์"ด้วย หมอจี้ปลดปลัดสธ. รบ.เพิ่มวันหยุด4พค. เร่งรื้อพรบ.'ไซเบอร์'
หารือ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมคณะ เข้าพบนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองในไทย ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศ ไทย เมื่อ 26 ม.ค. |
'บิ๊กตู่'โต้ลั่น ยันไม่ได้ไล่ล่าใคร ตัวแทนสหรัฐเชิญ'ปู'ถก ตกบ่ายบรรยายน.ศ.ระบุห่วงจำกัดเสรีภาพสื่อ จี้เลิกอัยการศึก ห่วงคนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปลดคนที่มาจากการเลือกตั้ง ด้านสิงห์ทองแฉ โดนทหารเรียกพบ หลังวิจารณ์ห้ามยิ่งลักษณ์แถลง 'วิษณุ'เผยเอง กม.ไซเบอร์เข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ เตรียมเร่งแก้ กมธ.รธน. ยกร่างให้องค์กรอิสระแจงทรัพย์สิน ห้ามนักการเมืองยันขรก. เอื้อประโยชน์ญาติ
พท.ชี้ได้แต่รอกติกาเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากสนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะแสวงหาความยุติธรรมและสู้ต่อ เพราะมีคดีอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทีมกฎหมายพรรคจะช่วยดูแลในเรื่องนี้เต็มที่ ยืนยันว่าอดีตนายกฯ บริสุทธิ์ บุคลากรของพรรคก็มั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะดำเนินการตามนโยบายที่ประกาศต่อสภา ไม่ได้ทำทุจริต ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่การตีความ ดังนั้นอดีตนายกฯ จะต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อให้ได้รับความยุติธรรม
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า พรรคยังคงรอ กติกาที่ชัดเจนจาก คสช. เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ เราคงทำอะไรไม่ได้ไปมากกว่านี้ เมื่อวันที่กติกาเขียนเสร็จเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เชื่อว่าประชาชนจะคืนความยุติธรรมให้กับเราเอง ขณะที่คสช.จะต้องดำเนินการให้เสร็จทันตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้
เรืองไกรอ้างแผนสลายเพื่อไทย
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลงมติถอดถอนของสมาชิกสนช.ว่า สนช.ไม่มีบรรทัดฐาน ไม่ยึดหลักกฎหมายหรือพยานหลักฐาน แต่ลงมติตามธงที่วางไว้ กรณีอดีต 38 ส.ว. ได้ยินมาว่าสนช.มอบให้ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สมาชิกสนช. อดีตส.ว.ชุมพร 1 ใน 38 ส.ว.ที่ถูกชี้มูล ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่วิปประสานอดีต 38 ส.ว. ให้ส่งตัวแทนมาแถลงเปิดคดีเพียงคนเดียวคือ นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี เพื่อให้กระบวนการถอดถอนกระชับขึ้น พร้อมประสาน สนช.ที่เป็นอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. อย่าให้ข่าวตอบโต้จนเป็นประเด็นการเมือง
นายเรืองไกร กล่าวว่า ส่วนสำนวนของ อดีตส.ส.กว่า 200 คนนั้น ยังไม่ทราบว่าจะถูกถอดถอนหรือไม่ แต่วิเคราะห์ว่าจะสอดคล้องต่อการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้คนตระกูลชินวัตร มีชนักทางการเมืองติดหลังไว้ เพื่อเสนอข้อต่อรองให้อดีตส.ส.กว่า 200 คนออกจากพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคอื่นหรือตั้งขึ้นมาใหม่ แลกกับการไม่ถูกถอดถอน ซึ่งตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 57 ทหารเดินเกมส่งตัวแทนทาบทาม ส.ส.พรรคเพื่อไทยมาตลอด หรือกรณีไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา เราไม่รู้ว่ามีการติดต่อทาบทามเสนอข้อแลกเปลี่ยนกันไปแล้วหรือไม่ หากจะเกิดเหตุการณ์ที่ส.ส.ต้องย้ายพรรค ก็คงโทษเขาไม่ได้ เพราะแต่ละคนถูกกดดัน บีบบังคับจากในพื้นที่จนต้องเลือกตัดสินใจ
"นี่คือเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้น ปี 2552 ตอน ที่ส.ส.พรรคพลังประชาชน แตกออกไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่สุดแล้วประชาชนได้สั่งสอนในการเลือกตั้ง ปี 2554 ส่วนฝั่งทหารก็ใช้รูปแบบพรรคสามัคคีธรรม เตรียมไว้หากผู้นำคสช.ต้องการจะสืบทอดอำนาจ เห็นได้จากการทาบทาม ดังกล่าว อีกทั้งยังมีข้อเสนอให้รัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกฯไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้ " นายเรืองไกรกล่าว
สิงห์ทอง แฉถูกทหารเรียกพบ
นายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เผยถึงข่าวถูกเชิญตัวให้เข้าพูดคุยที่กองทัพภาคที่ 1 ในวันที่ 27 ม.ค. ว่า ได้รับโทรศัพท์จากฝ่ายเสธ.ในกองทัพภาคที่ 1 และนายทหารจากพัน. 1 รอ. ให้เข้าไปพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพภาคที่ 1 โดยไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่าจะพูดคุยในเรื่องใด คาดว่าสาเหตุในการเรียกไปพูดคุยน่าจะเป็นผลมาจากการที่ตนโพสต์เฟซบุ๊กเบื้องหลังทหารสั่งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์และทีมทนายงดแถลงข่าวที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค หลังสนช.ลงมติถอดถอน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา
"ผมไม่รู้สึกกังวลอะไร เพราะเป็นการนำข้อเท็จจริงมาพูดให้สังคมได้ทราบว่าถูกกดดันอย่างไร เป็นการพูดและแสดงความเห็นตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อเรียกให้ไปคุยก็พร้อมจะชี้แจงและให้ข้อเท็จจริง" นายสิงห์ทองกล่าว
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ถูกเตือนให้ระวังเรื่องการแสดงความเห็น กังวลหรือไม่ว่าครั้งนี้ทหารจะมีมาตรการเอาจริง นายสิงห์ทองกล่าวว่า ไม่กลัวอะไร อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดและพร้อมจะยอมรับผลที่จะตามมา ตอนนี้เตรียมเสื้อผ้าเอาไว้พร้อม การพูดคุยอยากให้คำนึงถึงเหตุผลและความเป็นธรรม ถ้าต้องการจะสร้างความปรองดองตามที่เคยระบุไว้ แต่หากจะกดดันและใช้กรณีของตนเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูก็ยอม เพราะสังคมเขาจะพิจารณาได้เองว่ามีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน
ตัวแทนสหรัฐถก'ยิ่งลักษณ์'
เมื่อเวลา 08.30 น. ที่บ้านพักรับรองเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศ ไทย นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.การต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก และอุปทูต ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี ต้อนรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมนาย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ ชัยกุล อดีตรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการ นายกฯ ตามคำเชิญของสหรัฐ ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาพูดคุยเกือบ 1 ชั่วโมง เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของไทย
รายงานข่าวเผยว่า ผู้แทนสหรัฐยืนยันการมาครั้งนี้อยากให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในไทย และการพบกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะเห็นด้วยกับการดำเนินการหรือเข้าข้างรัฐบาลไทย จุดยืนของรัฐบาลสหรัฐยังคงเป็นเช่นเดิม คือต้องการเห็นประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด อีกทั้งต้องการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน การดำเนินการใดๆ นั้นองค์กรต่างๆ ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม ถึงจะเกิดความมั่นคงในองค์กร
ชี้องค์กรต่างๆ ต้องเป็นกลาง
รายงานระบุอีกว่า สหรัฐระบุชัดเจนว่าองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้เป็นที่ยอมรับ ต้องเป็น กลาง ไม่เช่นนั้นองค์กรนั้นๆ จะขาดความน่าเชื่อถือและไม่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งกระบวนการการปฏิรูป แม้แต่การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ต้องไม่เป็นการสั่งตรงมา กระบวนการต่างๆ ต้องเกิดขึ้นอย่างอิสระ ประชาชนจึงจะมั่นใจในองค์กรที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติถึงจะเดินต่อไปได้
รายงานระบุด้วยว่า สหรัฐไม่ได้วิจารณ์หรือแสดงความเห็นเรื่องการถอดถอนอดีต นายกฯ ทั้งนี้ ผู้แทนสหรัฐยืนยันในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐว่ามีความมั่นคงยาวนานมา 180 ปี และจะยังคงดำรงต่อไป
'ปู'สงสัยความเท่าเทียม
รายงานข่าวเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอบคุณผู้แทนรัฐบาลสหรัฐที่ให้เกียรติมาพบ และใช้โอกาสนี้ยืนยันว่าเรื่องการถอดถอนนั้นเป็นมติของสนช. สิ่งที่ต้องการคือความยุติธรรมและความเป็นธรรม การดำเนินการต่างๆ ต้องไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ถ้าการลงมติหรือการดำเนินคดีของตนเองเป็นเช่นนี้ คดีอื่นๆ ก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าคดีของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา หรือรัฐบาลอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น อย่างคดีที่เกิดในปี 2553 ทั้งคดีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ก็ควรมีความคืบหน้า หรืออย่างน้อยมีขั้นตอนของกระบวนการบ้าง แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าดำเนินการกับพรรคเพื่อไทยและตนเองเพียงฝ่ายเดียว น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่าไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใสและเท่าเทียม
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯและรมว.ต่างประเทศเปิดเผยว่า การพูดคุยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยผู้แทนสหรัฐพูดคุยถึงสถานการณ์ในไทย และเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งการถอดถอนอดีตนายกฯ สถานการณ์การเมืองรวมทั้งแสดงความเป็นห่วงเรื่องประชาธิปไตยในไทยว่าจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยต่อไป ทั้งนี้สหรัฐระบุว่าไทยถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมานานถึง 180 ปี จึงเป็นห่วงความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และอยากเห็นประชาธิปไตยที่เป็นไปตามหลักสากล เห็นความเสมอภาคของประชาชนตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่เฉพาะในไทยแต่ในทุกประเทศ รวมทั้งคาดหวังว่าการเลือกตั้งของเราจะเป็นไปตามโรดแม็ปที่ระบุไว้ และยืนยันว่าการมาเยือนไทยครั้งนี้ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของเรา
ปึ้งเผยสหรัฐห่วงความเชื่อมั่น
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ผู้แทนสหรัฐยังสอบถามถึงการใช้กฎอัยการศึกในไทยและการขับเคลื่อนงานของพรรคการเมือง ซึ่งเราชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นว่าพรรคต่างๆ ไม่มีการประชุมหารือกัน เพราะยังมีกฎอัยการศึก ห้ามให้พรรคประชุมหารือเกิน 5 คน และยังมีข้อห้ามอื่นๆ อีก โดยสหรัฐเข้าใจเพราะเขาติดตามข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราตลอดเวลา
"เราเล่าถึงการถอดถอนที่เกิดขึ้น ซึ่งสหรัฐรับฟังและเข้าใจเพราะรู้สถานการณ์ในไทยมาตลอด และห่วงว่าหากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกถอดถอนได้โดยบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยได้ และยังเล่าให้ผู้แทนสหรัฐรับทราบว่าที่เขาหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแม็ปนั้น อาจไม่เป็นไปตามที่เขาระบุก็เป็นได้ เพราะยังมีเรื่องถอดถอดส.ส.และส.ว.รออยู่อีก
ปชป.แนะ'มะกัน'มองไปข้างหน้า
จากนั้นเวลา 10.00 น. ที่พรรคประชา ธิปัตย์(ปชป.) นายแดเนียลเข้าเยี่ยมคารวะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรค และนายอิสรา สุนทรวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการนายกฯ ร่วมพูดคุย
นายเกียรติ เปิดเผยหลังการหารือว่า พูดคุยเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองทั่วไปและดูว่าโรดแม็ปของรัฐบาลจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และแนวคิดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เรามีข้อเสนอที่เป็นทางการอยู่แล้ว ซึ่งเห็นว่าควรทำประชามติเพื่อการยอมรับรัฐธรรมนูญ การทำประชามติควรมีทางเลือกที่ชัดเจนว่ารับหรือไม่รับ ถ้ารับแล้วได้อะไร นอกจากนั้นยังพูดคุยถึงต้นตอปัญหาขัดแย้ง ซึ่งมี 2 เรื่องหลัก คือการใช้อำนาจโดยมิชอบ แม้พรรคที่ได้รับเลือกตั้งเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ก็มีการละเมิดการใช้อำนาจ ซึ่งหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีรายละเอียดที่ปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ และเรื่องคอร์รัปชั่น นายแดเนียลยังแสดงท่าทีเป็นมิตรกับไทย ซึ่งบอกนายแดเนียลไปว่าท่าทีของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป เขาควรกำหนดท่าทีที่มองไปข้างหน้ามากกว่า
สหรัฐจี้เลิก'อัยการศึก'
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ว่ามีการหารือความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และแนวทางรับมือความท้าทายในอนาคต ทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ ก่อการร้าย ยาเสพติด ค้ามนุษย์ และการแพร่ระบาดของโรคอีโบลา รวมถึงชี้แจงความมุ่งมั่นของไทยในการเดินตามโรดแม็ปปฏิรูป
นายเสข กล่าวว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ได้ชี้แจงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนการจัดทำรายงานสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์(TIP Report) จะส่งไปยังสหรัฐภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้ตามกำหนด สำหรับท่าทีสหรัฐนั้น เน้นย้ำการปฏิรูปของไทย ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปฏิรูป และให้ไทยยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นท่าทีเดิมของสหรัฐ ทั้งนี้ไม่มีการหยิบประเด็นสนช.ลงมติถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์มาหารือแต่อย่างใด
รัฐบาลปลื้มสัมพันธ์ไทย-มะกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 26 ม.ค. เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่ข่าวการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายแดเนียล โดยระบุว่าเป็นครั้งแรกภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ นายแดเนียลเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. มีกำหนดการพบกับพล.อ.ธนะศักดิ์ การเยือนไทยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเยือน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐส่งผู้แทนระดับสูงมาเยือนประเทศไทยและถือเป็นบุคคลสำคัญเป็นแขกพิเศษของไทย
โดยรัฐบาลใช้โอกาสนี้ย้ำถึงความจำเป็น ที่รัฐบาลต้องเข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนาทางการเมืองที่สำคัญ ตลอดจนการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อปูทางสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต ควบคู่กับการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน อาทิ การปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม การศึกษา และสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลสหรัฐส่งผู้แทนระดับสูงเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐที่จะพัฒนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
สหรัฐชี้ใช้อำนาจปลดไม่ถูกต้อง
เวลา 14.00 น. ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวปราศรัยต่อนิสิตนักศึกษาโครงการ YSEALI ในประเด็นความสัมพันธ์สหรัฐ-ไทย ตอนหนึ่งถึงการเมืองไทยถูกแทรกแซงด้วยการรัฐประหารและปลดคนที่มาจากการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งว่า สหรัฐไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย เราเชื่อมั่นในคนไทยและกระบวนการทางการเมือง แต่เป็นห่วงในประเด็นสิทธิเสรีภาพ การจำกัดการแสดงออกของสื่อ และเป็นห่วงอย่างยิ่งที่ผู้นำของไทยตอนนี้ไม่ได้มาจากความต้องการของคนทั้งประเทศ
"การที่ผู้นำไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และใช้อำนาจปลดคนที่มาจากการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย เราจึงอยากเห็นวิธีการปรองดองที่เสริมสร้างความร่วมมือจากประชาชนและสถาบัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติว่าไทยจะเดินไปอย่างมั่นคงตามวิถีทางประชาธิปไตย และอยากให้ยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศ อยากให้คงไว้ซึ่งการรับฟังความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย สำหรับสหรัฐ-ไทยเป็นเหมือนทั้งเพื่อนและหุ้นส่วนสำคัญ เราห่วงใยในความสัมพันธ์ของเราอย่างมาก และเราเป็นห่วงอย่างยิ่งในความสำเร็จของประเทศไทย" นายรัสเซลกล่าว
ผู้แทนสหประชาชาติพบ'ตู่'
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์นำคณะเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชา ชาติ ณ นครนิวยอร์ก 19 ประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ ในโอกาสมาเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในไทย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยืนยันกับคณะเอกอัครราชทูตว่า ประเทศไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว พร้อมชี้แจงแผนดำเนินงานของรัฐบาลตามโรดแม็ป และไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทุกด้านกับสหประชาชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยกับพล.อ.ธนะศักดิ์เกือบ 10 นาที คาดว่ารายงานผลการพูดคุยกับผู้แทนสหรัฐเมื่อช่วงเช้าวันนี้
'บิ๊กตู่'ใส่สีกากีประชุมวิสาหกิจ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 3/2558 โดยวันนี้พล.อ.ประยุทธ์สวมชุดข้าราชการสีกากีเป็นครั้งแรกหลังจากม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ขอความร่วมมือข้าราชการในสังกัดสำนักนายกฯ แต่งกายเครื่องแบบข้าราชการทุกวันจันทร์ เพื่อความเป็นระเบียบและเป็นเอกภาพของส่วนราชการ
โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการสวมชุดข้าราชการสีกากีว่า ที่ผ่านมาเราขอให้ข้าราชการสวมชุดข้าราชการในทุกวันจันทร์ ดังนั้น สิ่งไหนที่เราทำด้วยได้เราก็พร้อมทำ ใส่ชุดนี้แล้วสบายดี ส่วนที่มีคนชมว่าใส่แล้วหนุ่มก็ต้องขอบคุณ ตั้งใจจะแต่งชุดราชการนี้หลายวันแล้ว แต่บังเอิญติดงานหลายงาน ถ้าใส่แล้วต้องเปลี่ยนเข้าเปลี่ยนออก และจะพยายามใส่ในทุกวันจันทร์ ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่ของทำเนียบใส่กันทุกวันจันทร์อยู่แล้ว บางส่วนที่ยังไม่ใส่คาดว่าอยู่ระหว่างหาเงิน ยอมรับว่าพอใส่แล้วรู้สึกแปลกๆ เพราะไม่เคยใส่ ราคา น่าจะอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท แพงอยู่เหมือนกัน ความจริงรัฐบาลอยากแจกให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ต้องหางบประมาณมาก่อน
เมื่อถามว่ายังใส่กำไลหินสีอยู่หรือไม่ เพราะยิ่งใส่ยิ่งใจร้อน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่างั้นเดี๋ยวถอดออก
พัลวันไม่ได้ไล่ล่าใคร
เมื่อถามถึงหลายฝ่ายเป็นห่วงอาจเกิดความวุ่นวายขึ้น หลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกสนช.ลงมติถอดถอน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ห่วง ทุกคนต้องเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกติกาและกฎหมาย อย่าไปเขียนว่าไล่ล่าใคร อย่าลงทุนกันมากขนาดนั้น ไม่ได้ต้องการไล่ล่าใครเป็นกรณีพิเศษแล้วใช้ประเทศหรือประชาชนทั้งประเทศมาต่อสู้กัน ผมว่ามันไม่ใช่ ผมคงไม่ลงทุนขนาดนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย กติกา และกฎหมายว่าอย่างไร ถ้ามันทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้ อะไรทำได้ก็ทำได้"
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ติดต่อมาบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่มีการติดต่อ เขาจะติดต่อเรื่องอะไร ยืนยันว่าไม่มีการโทรศัพท์มาพูดคุยหรือติดต่อมาทั้งนั้น ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปต่างประเทศ ต้องถามกระบวนการยุติธรรมก่อน ปกติการห้ามคนเดินทางต้องใช้กฎหมาย ไม่ใช่อะไรก็ถามคสช.ฝ่ายเดียว วันนี้ต้องถามฝ่ายกฎหมาย มีความผิดแล้วหรือยัง ถ้ากฎหมายไม่มีข้อบัญญัติห้าม ก็มีสิทธิไปต่างประเทศ ต้องดูว่าวันนี้ยังอยู่ในกระบวนการต่อสู้หรือไม่ การถอดถอนเป็นเรื่องของคดีทางการเมือง ซึ่งเหมือนทุกครั้ง คดีถอดถอนมันไม่มีคดีอาญาไม่ใช่หรือ
ลั่นคัดสนช.มา-แต่ไม่ใช่พวกผม
เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผล กระทบต่อการปรองดองหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่กระทบ บอกแล้วว่าให้แยกเรื่องออกจากกันว่าอะไรคือการสร้างปรองดอง อะไรคือคดีความทางกฎหมาย บอกแล้วว่าเราอย่าลงทุนประเทศทั้งประเทศกันเลย บางอย่างขอให้เป็นไปตามกระบวนการต่อสู้ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับกติกา ถ้าไม่ยอมรับทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม กลับไปที่เก่า ตนเคยบอกแล้วว่าถ้าไม่ได้ทำอะไรให้เกิดปัญหาก็ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการ แต่เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการ เมื่อตัดสินอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้น
"วันนี้ไม่มีสภา มีแต่สนช.และสปช. ซึ่งสนช.ต้องทำงานแทนสภา ก่อนหน้านี้ก็ใช้สภาเป็นที่ถอดถอน ถ้าจะบอกว่าสภานี้ไม่ได้รับการเลือกตั้งมา แต่ สนช.เป็นของรัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลในวาระพิเศษ ทำหน้าที่แทนรัฐบาลจริง เมื่อแต่งตั้งสนช.ขึ้นมา เขาต้องทำงานและสมาชิกที่อยู่ในสนช.ก็ไม่ใช่พวกผม ไม่ได้คัดมาเพราะพวกผม แต่คัดมาด้วยคุณสมบัติและความเหมาะสม เพียงแต่ต้องมีทหารและข้าราชการอื่นๆ เข้ามาด้วย และการตัดสินเป็นไปตามกระบวนการและวิจารณญาณของเขา ขึ้นอยู่กับการชี้แจงและการตอบคำถาม ถ้ามันไม่ผิดก็คือไม่ผิด จะไปสั่งอะไรเขาได้ ผมไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ไปไล่ล่า ฆ่าฟันใคร แต่ตั้งขึ้นเพื่อแทนสภาเพราะยังมีกฎหมายอีกมากที่ต้องผ่านการพิจารณา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ปัดสหรัฐไม่เกี่ยวถอดถอน'ปู'
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการใช้กฎอัยการศึกว่า ไม่ว่าใครจะออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่เฉพาะเรื่องนี้ รัฐบาลต้องการความสงบสุข
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงผู้แทนสหรัฐอเมริกาเข้าพบพล.อ.ธนะศักดิ์ด้วยว่า มาเรื่องทั่วๆ ไปเท่าที่ทราบเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยจะมาประจำในเดือนก.พ. อย่าเอาไปพันกับคดีถอดถอนอดีตนายกฯ การที่ผู้แทนสหรัฐเดินทางมาเพื่อติดตามสถานการณ์ต่างๆ เราถือโอกาสชี้แจงว่าเรามีพัฒนาการถึงไหน ปัญหาอยู่ที่ไหน สหรัฐไม่ได้มาดูเรื่องตัดสินคดีของอดีตนายกฯ
เมื่อถามว่า สหรัฐเลือกจังหวะพอดีกับการถอดถอน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเป็นเรื่องของเขา สื่ออย่าไปวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา สื่อชอบวิเคราะห์และคิดเอง ทำไมต้องเอามาพันกัน
ยันเป็นธรรมทุกคน-ทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่าสหรัฐติดต่อมาพบบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่าเขาจะมาพบตนทำไม เพราะเขารู้อยู่ว่าตนมาอย่างไร การเมืองก็คือการเมือง การเศรษฐกิจเขาก็ค้าขายกับเรา การฝึกร่วมรบก็ยังฝึกกับเรา เขาแยกแยะออกจากกัน แต่เรายังเอาหลายเรื่องมารวมกันอยู่เลย วันนี้หลายประเทศยังค้าขายกับเราอย่างปกติ ประเทศที่ต่อต้านเรา ไม่เห็นชอบกับเราแต่ก็ยังค้าขายกับเราได้
เมื่อถามว่า ผู้แทนสหรัฐเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปพบด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเขามีสิทธิพบ เขารู้ว่าต้องทำอย่างไร เราไม่ได้ไปห้ามปราม เพียงแต่ขอร้องว่าอย่าไปเขียนว่าสิ่งที่ทำวันนี้เพื่อไปไล่ล่าอดีตนายกฯทุกคนมันไม่ใช่ ยืนยันอีกครั้งว่าเราทำเพื่อขับเคลื่อนประเทศ การที่เราออกมาควบคุมอำนาจนั้น เราไม่ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ต้องเข้าใจว่าช่วงนั้นบริหารงานไม่ได้เลย
"ยืนยันไม่ได้ไล่ล่าใคร ถ้าไล่ล่าก็ต้องตั้งคตส. ตั้งอะไรอีกเยอะแยะ ซึ่งมันเร็ว แต่มันจะจบหรือไม่ แต่ขณะนี้ต่อสู้กันไปถ้าอยากจะต่อสู้ก็ต่อสู้ เราให้ความเป็นธรรมกับทุกคนและทุกฝ่าย สื่ออย่าเขียนเอาทุกอย่างมาพันกันหมด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ชี้เป็นกระบวนการยุติธรรม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากจะชี้แจงกับสหรัฐเรื่องความก้าวหน้าต่างๆ ทั้งการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ประมง ส่วนกระบวนการประชาธิปไตยกำลังเดินหน้าอยู่ รวมทั้งการ เตรียมเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องอธิบายเพื่อให้เขารู้ ทุกคนต้องช่วยกันอธิบายว่าอะไรคือเหตุผลและความจำเป็น ถ้าทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ยังมีการประท้วงเหมือน 6 เดือนที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปปี 2553 ถามว่าใครเป็นรัฐบาลถ้าอีกพรรคเป็นรัฐบาลแล้วอีกพรรคจะประท้วงหรือไม่ จะมีการประท้วงกลับไปกลับมาอยู่แบบนี้ ประเทศชาติจะอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่ทำให้ต้องมีรัฐบาลนี้
"เราต้องไปปิดสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้เหมือนหยุดเลือดที่มันไหลอยู่ เพราะประเทศเดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ สร้างความเข้มแข็งก็ไม่ได้ เศรษฐกิจตกต่ำ เราจึงต้องเข้ามา เราไม่ได้เข้ามาจับใครติดคุกหรือลงโทษ ทุกอย่างเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่ทำความผิดก็ไม่ติดคุก ประเทศนี้ไม่ใช่จะเอากฎหมายมาไล่ล่าด้วยคดีการเมือง การเมืองก็คือการถอดถอน ความผิดคือการรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบ ถึงเรียกว่าคดีการเมือง สองคือคดีอาญา ต้องดูเรื่องทุจริต ต้องแยกกันให้ออก ถ้าแยกไม่ออกก็ยังเป็นอยู่แบบนี้ อยากให้เข้าใจกันสักที ผมไม่ได้ไล่ล่า ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่ได้รักใครพิเศษ หรือเกลียดใครพิเศษ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ยันใช้กม.สร้างความน่าเชื่อถือ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ทำทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ทุกอย่างต้องใช้กฎหมาย กระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือ บางอย่างต้องฟื้นฟูและได้รับการยอมรับจากคนภายในองค์กร อย่าเอาอดีตมาตีกัน แต่เอาอดีตที่เป็นปัญหามารวมกับปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ อย่าเอาภาระที่พะรุงพะรังบวกเข้าไปจนเดินไม่ได้ ทุกคนอยากให้สร้างปรองดองแล้วจะให้ยกเลิกทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องรอให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน เพราะไม่มีใครตัดสินได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการระบายข้าวที่ค้างสต๊อกจากโครงการรับจำนำข้าวว่า วันนี้ประมูลไปแล้ว 1 ล้านตัน จุดนี้จะไม่ตีราคาข้าวในตลาด เพราะคนละส่วนกัน ซึ่งข้าวที่ค้างอยู่ ตนสั่งไปแล้วและอยากให้พวกเราช่วยกัน ตนมีนโยบายนำมาขายในประเทศให้มากขึ้น ราคาอาจถูก มีทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว สั่งให้ขายทุกจังหวัด แต่ข้าวที่ขายไปต่างประเทศจะเป็นข้าวใหม่ ถ้าไม่พอจะลำเลียงข้าวเก่าเพิ่มไป ขึ้นอยู่กับสัญญารัฐต่อรัฐว่าต้องการข้าวแบบไหน จริงๆ อยากระบายข้าวทั้งข้างในและข้างนอก แต่ต้องไม่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน
"ถ้าระบายข้าวยกคลังได้ ภาระค่าเช่าคลังเก็บข้าวก็ลดลง ผมต้องหาเงินคืนให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ขายให้ได้ราคาน้อยที่สุดเพื่อเล่นงานรัฐบาลเก่า มันไม่ใช่ แต่ทำอย่างไรให้ข้าวได้ราคามากที่สุดและไม่เสียประโยชน์ นั่นคือความยากง่าย ผมไม่คิดจะขายให้ได้กำไรน้อยๆ เพื่อเล่นงานเขา มันคนละเรื่อง ต้องแยกกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
'บิ๊กโด่ง'ย้ำสนช.ใช้เหตุผล
ที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ว่า ไม่มีอะไรน่าหนักใจ กองทัพบกได้รับมอบให้ติดตามสถานการณ์ ขณะนี้ถือว่าเรียบร้อยดี ส่วนการพิจารณาถอดถอนเป็นไปตามขั้นตอน ประกอบกับด้านการข่าวพบว่าไม่มีผลกระทบ ตนมองว่าทุกคนมีความเข้าใจและคนส่วนใหญ่ต้องให้ความร่วมมือให้อยู่ในกรอบ เพื่อเกิดความเรียบร้อย แต่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
เมื่อถามว่า การลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นความพยายามขจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นทางการเมือง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เป็นเรื่องของสนช.ที่พิจารณาและฟังเหตุผล พร้อมใช้วิจารณญาณตัดสินใจ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ตนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้มากนัก
ขอร้องแสดงความเห็นในกรอบ
เมื่อถามว่ามีการแสดงความเห็นตามสื่อ โซเชี่ยลมีเดีย รวมถึงนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ออกมาแสดงความเห็น พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่าอยากให้ระมัดระวัง และขอร้องให้ใช้วิจารณญาณ ไม่ว่าจะแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็ตาม ถ้าก่อให้เกิดปัญหาก็ไม่ควรทำ ขอให้แสดงความเห็นอย่างพอเหมาะพอควร อยู่ในกรอบ ขอให้ปฏิบัติตามนี้ และสิ่งใดที่เราพอรับได้ก็จะไม่ดำเนินการอะไร
"ถ้าอยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ทุกคนคาดหวังไว้ตามกรอบโรดแม็ปคสช. ผมขอให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นอย่างระมัดระวัง สิ่งต่างๆ ที่ผ่านพ้นมาผมมองว่ายังไม่เกิดปัญหา ขอให้ช่วยกันรักชาติบ้านเมืองให้มากๆ" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
เมื่อถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขออนุญาตออกเดินทางออกนอกประเทศ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่าขั้นตอนยังคงเป็นไปตามเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เผยยื่นสอบจริยธรรม'หยุย'ได้
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. เผยว่า หลังจากตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. จำเป็นต้องเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่เพื่อไปสนับสนุนการทำงาน จึงปรับอัตราสำนักงานเลขาธิการ คสช. โดยปรับเพิ่มรองเลขาธิการ คสช. อีก 3 คน คือ 1.พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก 2.พล.อ.สุชาติ หนองบัว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และ 3.พล.ท. ชาตอุดม ติตถะสิริ รองเสนาธิการทหารบก
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวถึงภาพที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. แสดงท่าทางใช้นิ้วปาดคอตัวเอง ภายหลังสนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2557 กรณีดังกล่าว หากมีบุคคลใดเห็นว่า การกระทำของนายวัลลภเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และประสงค์ที่จะยื่นสอบจริยธรรมก็สามารถทำได้ โดยให้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อยื่นคำร้องต่อประธานสนช.พิจารณา ทั้งนี้จะต้องลงลายมือชื่อผู้ร้องอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และจะต้องระบุพฤติกรรมหรือการกระทำอันเป็น เหตุในการยื่นคำร้องอย่างชัดเจนด้วย
วิษณุ ชี้กม.ไม่ควรมีผลย้อนหลัง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงสนช.มีมติถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ ว่า มีผลตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. จากนี้เป็นคดีอาญา ส่วนที่มองว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตเพราะมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ห้ามผู้ที่ถูกวุฒิสภาถอดถอนเป็นส.ส.นั้น คิดว่าไม่น่าเป็นแบบนี้และคงไม่เขียนในรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนจะนำข้อความ มาตรา 102 มาไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ความผิดอาญาย้อนหลังไม่ได้เพราะขัดหลักนิติธรรม ยกเว้นเป็นคุณถึงย้อนได้ ซึ่งทั่วโลกยอมรับ แต่ถ้าไม่ใช่คดีอาญา เป็นคดีแพ่ง ความผิดทางวินัย คดีทางการปกครองเคยมีผลย้อนหลัง แต่ทางที่ดีไม่ควรย้อนหลัง ไม่สำคัญว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเขียนป้องกันนักการเมืองที่ต้องคดีทุจริตกี่ปี แต่สำคัญว่าเขาจะเขียนว่ามันจะย้อนหลังหรือไม่ วันนี้เขารู้ปัญหาแล้ว เขายังจะเขียนหรือไม่ ซึ่งตนไม่ควรพูด ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่คิดด้วยซ้ำเพราะยังไม่ถึง แต่ถ้าพูดวันนี้ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.คือตัดสิทธิ์ 5 ปี
เมื่อถามว่าเหตุใดจึงมั่นใจว่ากฎหมายย้อนหลังไม่ได้ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มั่นใจ แต่พูดในฐานะที่มองจากความเป็นธรรม และคิดว่าคนอื่นคงคิดอย่างเดียวกัน บนพื้นฐานความเป็นธรรม
ยันยังไม่คิดเรื่องนิรโทษ
เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังพูดถึงการนิรโทษกรรม นายวิษณุกล่าวว่าเขาพูดกันมาก่อนแล้ว โดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดอง ซึ่งบางคนเข้าใจอย่างนั้นก็ได้ แต่รัฐบาลมองว่าการปรองดองอาจเป็นจุดหมายปลายทาง แต่วิธีที่จะไปถึงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการเข้าสู่กระบวนการก็เป็นวิธีหนึ่ง อภัยโทษก็เป็นวิธีหนึ่ง นิรโทษกรรมก็เป็นวิธีหนึ่ง
นายวิษณุ กล่าวว่า การปรองดองที่ยั่งยืนคือการเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งแล้วไม่เกิดปัญหาตามมา แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกใช้วิธีใดที่ไม่เกิดปัญหาตามมา หากรัฐบาลมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเมื่อไรก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี แต่วันนี้ยังไม่มั่นใจ พอคิดเริ่มจะทำก็มีคนต่อต้าน เราจะเสียเวลาไปอธิบายกับพวกที่ต่อต้าน จึงไม่มีประโยชน์ ต้องหยุดไว้ก่อน ซึ่งอาจไม่ได้ ทำก็ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระเสนอครม.พิจารณาในวันที่ 27 ม.ค.นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เสนอให้เพิ่มวันที่ 4 พ.ค. 2558 เป็นวันหยุดพิเศษ เพื่อให้ประชาชนหยุดต่อเนื่อง 5 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 พ.ค. ถึงวันอังคารที่ 5 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล จึงประกาศเพิ่มให้วันจันทร์ที่ 4 พ.ค. เป็นวันหยุดพิเศษ อีกหนึ่งวัน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
อสส.ขอ 1 เดือนร่างคำฟ้อง'ปู'
วันเดียวกัน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจากนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งฟ้องดำเนินคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า นายตระกูล มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานอัยการ 6 คนดำเนินการร่างคำฟ้องคดี ประกอบด้วย นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หนึ่งในคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการ-ป.ป.ช. เป็นรองหัวหน้า และมีรองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและอัยการฝ่ายสำนักงานการสอบสวนรวม 4 คน ร่วมเป็นคณะทำงาน
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า การร่างคำฟ้องนั้นคาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนถึงจะเสร็จ หากไม่มีประเด็นหารือเพิ่มเติม คงเสร็จทันตามกำหนด จากนั้นจะนำเสนออสส.พิจารณาตรวจสอบคำฟ้องอีกครั้ง ก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯต่อไป เมื่อถามว่าป.ป.ช. ได้ประสานมายังอัยการเพื่อนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ารายงานตัวต่ออัยการได้เมื่อใด นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังไม่ได้ประสานมา ซึ่งอัยการมีหน้าที่ร่างคำฟ้อง ถ้าเสร็จเมื่อใดก็พร้อมยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯตามขั้นตอนต่อไป
ปปช.จ่อเชือดคดี'เสียบบัตร'
แหล่งข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติให้กรรมการป.ป.ช.ทั้งองค์คณะรับผิดชอบไต่สวนสำนวนคดีอาญากรณีอดีตส.ส.เสียบบัตรแทนกัน มอบให้คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงไปรวบรวมพยานหลักฐานมาระยะหนึ่งแล้ว และขณะนี้ได้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย พร้อมสรุปเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาว่า พยานหลักฐานเพียงพอจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมในวันที่ 27 ม.ค. นี้ เพื่อพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแก่อดีตส.ส.ที่มีความผิดเสียบบัตรแทนกัน ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยพยานบุคคลยืนยันชัดเจน จากการดูคลิปเหตุการณ์ที่มีการเสียบบัตรแทนกันจริง มีบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ซึ่งในคลิปเห็นชัดว่าใครเป็นคนเสียบบัตร ใครเป็นคนเอาบัตรจำนวนหลายใบมายื่นให้ ต้องรอผลที่ประชุมชุดใหญ่ว่าจะมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่
สปช.รับรายงานยกร่างรธน.
ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระรับทราบความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ยกร่างฯ เป็นตัวแทนรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมสปช.รับทราบ
จากนั้นมีสมาชิกสปช.บางคนลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็น ทำให้นายเทียนฉายเตือนว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ให้สมาชิก สปช.แสดงความเห็นเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ หากสมาชิกมีความเห็นอะไรให้ส่งตรงถึงกมธ.ยกร่างฯ หรือคณะกรรมการประสานงานเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญได้
จากนั้นพิจารณารายงานการจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งกมธ.วิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์นำเสนอต่อที่ประชุม มีสาระสำคัญ 32 ประเด็นปฏิรูป และ 7 หัวข้อพัฒนา อาทิ การป้องกันการทุจริต การปฏิรูประบบพรรคการเมือง กระบวนการยุติธรรม ระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพคน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และปัญหาของประเทศ ส่วนวาระการพัฒนา อาทิ เรื่องแรงงานข้ามชาติ ศูนย์การความเป็นเลิศ การวิจัยนวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ แล้วลงมติเห็นชอบรายงานการจัดทำวิสัยทัศน์ฯ ด้วยคะแนน 197 ต่อ 2 งดออกเสียง 3 คะแนน เพื่อส่งรายงานดังกล่าวให้กมธ.ที่เกี่ยวข้องต่อไป
โวยตร.รับโอวาทนักการเมือง
นายเทียนฉายยังเปิดให้สมาชิกสปช.อภิปรายแสดงความคิดเห็นเรื่องจะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยมีกลไกป้องกันและขจัดความทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ โดยช่วงหนึ่งของการอภิปรายสมาชิกสปช.หลายคนหยิบยกกรณีที่ผบก.ภ.จว.มีหนังสือ คำสั่งให้ระดับรองผบก.-สว. 28 คน ขอรับโอวาทและคำแนะนำในการปฏิบัติราชการจากอดีตนักการเมืองคนหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 27 ม.ค. แม้ล่าสุดจะยกเลิกคำสั่ง ดังกล่าวไปแล้ว ถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เพราะไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้นำผู้ใต้บังคับบัญชาไปแสดงความเคารพนักการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรปล่อยปละเรื่องนี้ให้ผ่านไป เพราะถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่นแล้ว และจะต้องประกาศว่าจะไม่ประนีประนอมกับการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ
หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ เห็นด้วยกับความเห็น ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของสมาชิก ด้วยคะแนน 206 งดออกเสียง 1 เพื่อเสนอให้กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช. และกมธ.ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้นายเทียนฉายได้แจ้งในที่ประชุมทราบว่า จากนี้ไปการประชุมสปช.ในวันจันทร์และอังคาร จะเปลี่ยนเวลาการประชุมจากเวลา 09.30 น. เป็น 11.00 น. เนื่องจากเปิดโอกาสให้กมธ.ชุดต่างๆ ได้ไปประชุมกันในช่วงเช้า
กมธ.ให้องค์กรอิสระเปิดเซฟ
วันเดียวกันที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยเป็นการพิจารณาในส่วนของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส่วนที่ 5 เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดประชุมในเวลา 20.50 น. และสั่งนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 27 ม.ค. เวลา 09.00 น. เพื่อพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรการที่เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ว่า กมธ.ยกร่างฯพิจารณาเสร็จแล้ว 120 มาตรา ขณะนี้เข้าสู่หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คาดว่าจะเสร็จในวันที่ 28-29 ม.ค.นี้ ประเด็นที่สำคัญคือ มาตรา (3/2/1)2 ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หลักฐานที่เกี่ยวข้องที่ต้องยื่นต่อป.ป.ช. หรือองค์กรตรวจสอบอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยกมธ.ยกร่างฯเพิ่มจากเดิม 7 กลุ่ม โดยเพิ่มขึ้นอีก 1 กลุ่ม คือกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อาทิ กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ห้ามขรก.เอื้อประโยชน์ญาติ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า การพิจารณาในส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ในมาตรา (3/2/2)1 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไม่กระทำการที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม อย่างน้อยต้องไม่ดำเนินการดังนี้
(1)ไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดา มารดา มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ (2)ไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาประกอบการใช้ดุลยพินิจ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น (3)ไม่ใช้เวลาราชการหรือหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือข้อมูลภายในของราชการหรือหน่วยงานไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยกฎหมายหรือกฎ (4) ไม่กระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฏิบัติการใด ในฐานะส่วนตัว ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดต่อประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน้าที่ หรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่
เร่งแก้กม."ไซเบอร์"ละเมิดสิทธิ์
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ถูกต่อต้านหนักว่า ตนนัดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจงแล้ว ความจริงไม่มีอะไรมาก ครม.รับหลักการร่วมกับกฎหมายอีก 6-8 ฉบับ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ซึ่งกฤษฎีกากำลังดูและบังเอิญว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่กฎหมายเร่งด่วนเท่ากับ 3-4 ฉบับแรกที่ต้องทำออกมาก่อน ดังนั้น กฤษฎีกาทยอยตรวจทีละฉบับ ยังมีโอกาสแก้ไขในกฤษฎีกา
นายวิษณุกล่าวว่า เข้าใจว่ากฤษฎีกาทราบปัญหามาตรา 35 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายใหม่เข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ติดต่อสื่อสารผ่านไปรษณีย์ โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบทำร่างกฎหมายนี้บอกแล้วว่าตอนเขียนมาตรา 35 ไม่ได้ตั้งใจให้หมายความอย่างนั้น แต่ถ้าออกมาแล้วคนเข้าใจว่ารุกล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพก็ยินดีแก้ไข ตนก็ให้ไปบอกกับกฤษฎีกาด้วย
"ร่างกฎหมายนี้ยังอยู่ในกระบวนการอีกพอสมควรกว่าจะถึงสภา และถึงสภาแล้วก็ยังแก้ได้อีก ดีที่ชี้ประเด็นมา พอโวยกัน ผมก็ไปเปิดดู เห็นว่ามันมีช่องทางให้คิดได้อย่างที่เขาคิดกันจริงๆ ว่ามันอาจจะมีการนำกฎหมายนี้ไปเป็นเครื่องมือรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของคนได้ ซึ่งต้องถามเขาก่อนว่าตั้งใจอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าตั้งใจก็แล้วไป รัฐบาลจะได้ตัดสินใจ ถ้าไม่ตั้งใจและรัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งใจ ก็ต้องแก้ให้เบาลงแล้วเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม กำลังให้คนประสานให้รีบนัดวันกันมาทั้งทีม มาทั้ง 8 ฉบับนั้นเลย" นายวิษณุกล่าว
ศปป.ยันไม่ชี้นำเวทีปรองดอง
วันที่ 26 ม.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) กล่าวถึงการเปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่า ยืนยันทั้ง 4,268 เวทีจะไม่มีการชี้นำหรือมีแกนนำ ซึ่งเวทีดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วน 1.กลุ่มนักศึกษา 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 3.องค์กรวิชาชีพ ส่วนอีก 500 เวที จะเป็นในส่วนของสื่อ และผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง อาทิ แกนนำ นักการเมืองต่างๆ หลังเปิดเวทีแล้วจะรวบรวมข้อมูลส่ง ศปป.ภายใน 3 วัน และจะสรุปข้อมูลอีกครั้งหนึ่งเพื่อเสนอความต้องการจริงๆ ให้นายกฯรับทราบ
พล.ท.บุญธรรม กล่าวว่า ทั้งนี้วางแผนให้เสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้ทันตามกำหนดเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะเก็บตกอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิ.ย.-ก.ย. เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การซื้อสิทธิ์ขายเสียง โดยจะทำต่อเนื่องจนถึงปี 2559 ทั้งนี้ ผลการเปิดเวทีในภาพรวมขณะนี้เราดำเนินการได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ใน 77 จังหวัด แต่หากรวมในส่วนของกระทรวงมหาดไทยด้วย อยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว
รองผอ.ศปป. กล่าวว่า ส่วนการพบปะพูดคุยกับนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ขณะนี้ดำเนินการเกือบทุกสถาบันแล้ว ยกเว้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พบพูดคุยกับคณาจารย์ที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งคณาจารย์รับไปพูดคุยกับนักศึกษาอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางและให้นักศึกษาเสนอมา โดยทหารจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพียงแต่จะช่วยขับเคลื่อนเปิดเวทีให้เป็นรูปธรรมชัดเจน
'บิ๊กป๊อก'รับมี 3 รายเอี่ยวโกง'ปุ๋ย'
วันที่ 26 ม.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบและพบความผิดปกติในการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชที่แพงเกินจริงในพื้นที่หลายจังหวัดว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดแต่มีมานานแล้ว โดย ป.ป.ช.คงจะเร่งสรุปซึ่งผลออกมาเป็นอย่างไรทางกระทรวงจะดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงคงจะมีการสอบเพื่อเอาผิดทางวินัย แต่ต้องดูว่ากฎหมายให้ดำเนินการอย่างไร ถ้ากฎหมายให้ดำเนินการได้เราก็จะทำ เพราะคงปล่อยให้คนผิดอยู่ในตำแหน่งไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นหรือไม่ว่ามีผู้เกี่ยวข้องกี่ราย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้นน่าจะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย ส่วนจะมีคนเกี่ยวข้องทั้งหมดมากเท่าไรนั้นยังไม่ยืนยัน เพราะยังไม่เห็นเรื่อง ถ้าป.ป.ช.ส่งเรื่องมาที่กระทรวงจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ การกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณในการป้องกันภัย ได้กำชับให้ดูแลอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
หมอชนบทยื่น'ตู่'ปลดปลัดสธ.
วันที่ 26 ม.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มแพทย์ชนบท นำโดยนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชนฯ ขอให้พิจารณาย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ้นจากตำแหน่ง เพื่อคืนความปกติสุขให้กับกระทรวงสาธารณสุขและระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ
นพ.เกรียงศักดิ์ ระบุว่า นพ.ณรงค์ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อาจเป็นผู้สร้างความแตกแยก ขัดแย้งในกระทรวง อีกทั้งนำความเจ็บป่วยและชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองอำนาจการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ชอบ และจงใจฝ่าฝืนนโยบายของคสช. ไม่ปฏิบัติตามนโยบายเรื่องเขตสุขภาพ ประชาชนของคสช.และรัฐบาล
เนื้อหาในหนังสือร้องเรียน ระบุว่า รัฐบาลมอบให้นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบายสร้างทีมหมอครอบครัว ทำงานเชิงรุก ดูแลสุขภาพคนไทยทุกครัวเรือน แต่ 3 เดือนที่ผ่านมา มีการท้าทาย ขัดขวาง ปลุกระดมข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับคำสั่ง ไม่สนองนโยบายและทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐมนตรีอย่างชัดเจนและเปิดเผย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีผลงานปรากฏจึงขอให้นายกฯปลดนพ.ณรงค์ พ้นจากตำแหน่งโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในกระทรวง และสร้างความเสียหายให้กับระบบบริการสาธารณสุข