WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8825 ข่าวสดรายวัน


ครูหยุยโต้-ปาดคอ ไม่ได้เย้ย แค่ตกใจผลถอดปู 
พิเชษฐติงมาร์ค เชียร์ถอดถอน ทีมสหรัฐถึงไทย ตู่สั่งแจงโรดแม็ป มท.จ่อเด้งผวจ. เซ่นคดีปุ๋ยแพง


แจงวุ่น - ภาพเหตุการณ์ "ครูหยุย" นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ แสดงท่าเชือดคอในที่ประชุม สนช. เมื่อทราบผลคะแนนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่าสุดเจ้าตัวออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นความสะใจเยาะเย้ย แค่ตกใจผลคะแนน

       ผู้แทนสหรัฐมาไทยวันนี้ เข้าพบ"ธนะศักดิ์"และกลุ่มการเมือง 'วีรชน"ยันไม่เกี่ยวเหตุถอดถอน'ปู'เผย'บิ๊กตู่'สั่งกต.ชี้แจงโรดแม็ป โฆษกคสช.ย้ำไม่มีคำสั่งห้ามไปนอก เพื่อไทยซัดมติถอดถอน หวังล้มตระกูลชินวัตร-พท. แต่จะไม่นำมาเป็นชนวนขัดแย้ง พร้อมสู้คดี มั่นใจส.ส.เหนือ กลาง อีสาน ไม่ทิ้งพรรคซ้ำรอยปี"52 น้องชายกมนเกดเหยื่อ 6 ศพวัดปทุมฯ ผวาคดี 99 ศพหลุด หลังสนช.ที่มาจากสรรหาถอดนายกฯจากการเลือกตั้งได้ ปธ.กกต.โต้เร่งคดีเอาผิด'ปู' ปมทัวร์นกขมิ้น ป.ป.ช.เตรียมลงดาบส.ส.เสียบบัตรแทน 'พิเชษฐ'เตือนมาร์ค อย่าลืมอุดมการณ์ปชต. ฉะพวกสอพลอ ทำพรรคเสื่อม มหาดไทยจ่อเด้งผู้ว่าฯเข้ากรุกว่า 10 ตำแหน่ง เซ่นคดีจัดซื้อปุ๋ย-ยาปราบศัตรูพืช-เปิดภัยพิบัติเก๊ หลังสตง.ส่งข้อมูลเอาผิดทางแพ่งในพื้นที่เหนือและอีสาน

คสช.โต้-ห้าม'ปู'ไปต่างประเทศ 

     เมื่อวันที่ 25 ม.ค. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสถานการณ์หลังสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกใดๆ ที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่เหตุวุ่นวาย มีเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไปของผู้เห็นต่างเหมือนที่ผ่านมา ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมและข้อกฎหมาย เป็นคนละส่วนกับงานปรองดองสมานฉันท์ และเชื่อมั่นว่าไม่มีการชี้นำสนช.ให้ลงมติ เพราะสมาชิก สนช.มาจากหลายส่วน และไม่มีความเชื่อมโยงกับคสช. รวมทั้งเชื่อว่า สนช.พิจารณาลงมติตามเหตุผล ข้อเท็จจริง 

     พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าคสช.สั่งห้ามน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศนั้น ไม่เป็นความจริง ปกติหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือบุคคลที่เคยถูกคสช.ให้เข้ารายงานตัว มีเงื่อนไขอยู่แล้วว่าหากจะเดินทางออกนอกประเทศต้องขออนุญาตคสช.ก่อน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้มีการ แจ้งมาทางคสช.เพื่อขอเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้

ย้ำประเมินสถานการณ์ตลอด

      "การดูแลความสงบเรียบร้อยในภาพรวมยังเป็นไปตามปกติ มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ดูแลสถานการณ์ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมทุกด้านและกกล.รส. ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว" โฆษกคสช. กล่าว

     พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ในวันที่ 26 ม.ค. พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ผอ.ศปป.) จะชี้แจงความคืบหน้าการจัดเวทีระดมความคิดเห็นการปฏิรูปภายใต้กลไกของกอ.รมน.สนับสนุนการทำงานของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และการรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ จากทุกภาคส่วนทั่วประเทศเพื่อเสนอต่อคสช.ต่อไป

'บิ๊ก'มะกันเยือนไทยไม่เกี่ยวถอด'ปู'

      พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานนายกฯ เปิดเผยถึงการเยือนประเทศไทยของนายแดเนียล รัสเซล ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งตัวแทนมาเยือนไทย ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญ เป็นแขกพิเศษของไทย หลังจากคสช.เข้ามาควบคุมอำนาจ 

     พล.ต.วีรชน กล่าวอีกว่า นายแดเนียล ยังมีกำหนดเยือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อีก 3 ประเทศ ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น ซึ่งการเยือนครั้งนี้เป็นไปตามกำหนดการที่สหรัฐวางไว้ ไม่เกี่ยวกับการที่สนช.มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง ให้เว้นวรรค ทางการเมือง 5 ปี ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐมีกำหนดการพบกับผู้นำทางการเมืองของไทย และจะเข้าพบพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ โดยไม่มีกำหนดการเข้าพบนายกฯเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด 

'ตู่'สั่งแจงโรดแม็ป-ค้ามนุษย์

     พล.ต.วีรชนกล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.รับทราบกำหนดการเยือนของผู้แทนรัฐบาลสหรัฐ และมองว่าเป็นโอกาสดีและสำคัญที่รัฐบาลจะชี้แจงแผนงาน และยืนยันถึงความบริสุทธิ์ในการเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมืองที่มีความขัดแย้งมานาน พร้อมสั่งการให้พล.อ.ธนะศักดิ์ และกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์ในประเทศทุกด้านให้ชัดเจน โดยเฉพาะโรดแม็ปของรัฐบาล รวมถึงชี้แจงผลการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับแขกคนสำคัญนี้ ตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

สำหรับการเยือนไทยของผู้แทนรัฐบาลสหรัฐมีกำหนดเข้าพบกับพล.อ.ธนะศักดิ์ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 26 ม.ค. เวลา 11.00 น. โดยไม่มีกำหนดการเข้าพบกับพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการส่วนตัว นอกจากนั้นยังมีกำหนดพบกับผู้นำกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ ด้วย 

อ๋อยซัดถอดปูหวังล้ม'ชินวัตร-พท.'

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ แสดงความเห็นกรณีการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ก่อนและหลังการถอดถอน มีเสียงเรียกร้องจากแม่ทัพนายกองให้ยอมรับการถอดถอน ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง ใครที่รักความถูกต้องไม่อาจยอมรับได้ โดยมีวัตถุประสงค์คือกำจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นการเมืองและทำลายศักยภาพของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผลจากการรัฐประหารและตามความมุ่งหมายของผู้ทำรัฐประหารและผู้สนับสนุน หากไม่มีรัฐประหารก็ไม่มีการถอดถอนแบบนี้ แต่อีกมุมหนึ่งมองว่าฝ่ายที่ถูกทำลายล้างได้รับความเห็นใจและพรรคเพื่อไทยจะยิ่งชนะเลือกตั้ง 

      นายจาตุรนต์ ระบุว่า การถอดถอนครั้งนี้ ชัดเจนตามที่คสช.ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และที่พูดถึงการปรองดองอยู่บ่อยครั้ง เป็นเพียงข้ออ้างเพราะเอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญ กระบวนการต่อเนื่องของรัฐประหารยังไม่จบแค่นี้ การถอดถอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ต้องมีหลักประกันว่าเมื่อยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อำนาจบริหารปกครองประเทศยังอยู่ในมือของคนส่วนน้อยที่ไม่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชน

ชี้เป็นโรดแม็ปครองอำนาจ

     อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หากติดตามการนำเสนอแนวคิดของชนชั้นนำและผู้มีอำนาจก่อนรัฐประหาร มาถึงช่วงนี้ จะถอดรหัสได้ไม่ยากว่าการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น มีโรดแม็ปเพื่อให้อยู่ไปอีกนาน โดย 1.กำจัดตระกูลชินวัตรออกจากการเมืองและลดศักยภาพของพรรคเพื่อไทย 2.ลดอำนาจและบทบาทของพรรค นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 3.กำหนดให้คนนอกเป็นนายกฯได้

     4.วุฒิสภาและองค์กรอิสระ หรือองค์กรตรวจสอบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถกำหนดที่มาและการดำรงอยู่ของรัฐบาลได้ 5.นโยบายบริหารประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวถูกกำหนดไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญ แนวทางการปฏิรูปและวิสัยทัศน์ของประเทศ 6.มีกลไกคอยกำกับให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องทำตามสิ่งที่กำหนดไว้และป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

      7.เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อให้ผู้มีอำนาจสามารถเปลี่ยนรัฐบาลและแก้ไขกติกาได้ โดยไม่ต้องทำรัฐประหารให้เหนื่อยแรง ฉะนั้น ความคิดหรือความเชื่อที่ว่าปล่อยให้พวกเขาทำไป เลือกตั้งเมื่อใดก็ดีเองนั้นใช้ไม่ได้แน่นอน หากยังดำเนินต่อไป เป็นไปได้สูงที่จะเกิดความขัดแย้งและความเสียหายอย่างมากสำหรับสังคมไทย

ปลุกผู้รักปชต.ช่วยหยุดยั้ง

    นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาโดยไม่ติดหล่มแห่งความขัดแย้ง ต้องช่วยกันระงับยับยั้งกระบวนการสร้างระบบการปกครองที่ล้าหลังและเป็นอันตรายอย่างยิ่งนี้ ซึ่งการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่แค่ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนอีกจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายประชาธิปไตย การปล้นอำนาจไปจากประชาชนแล้วไม่ยอมคืน และการสร้างระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ต้องการให้คงอยู่อย่างถาวร เราต้องช่วยกันแปรความไม่พอใจ ความอัดอั้นตันใจที่เกิดจากการถอดถอนนี้ ให้เข้าใจต่อความเลวร้ายและหายนะที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง และช่วยกันหาทางป้องกันแก้ไขเท่าที่จะทำได้

      "ผมไม่ได้เสนอให้ใครไปชุมนุมหรือเดินขบวน แต่เสียงของประชาชนยังมีความหมายเสมอ หากเห็นปัญหาร่วมกันมากขึ้นๆ เสียงของประชาชนย่อมมีพลังพอจะช่วยกันหยุดยั้งหายนะที่จะเกิดขึ้นนี้ได้ ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศเขาบอกว่ายินดีรับฟังความเห็นประชาชนไม่ใช่หรือ" นายจาตุรนต์กล่าว

ยันไม่นำปมถอดถอนจุดไฟขัดแย้ง

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่จะไม่นำเรื่องการถูกถอดถอนมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวเพื่อจุดไฟความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก ช่วงนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ต้องแสวงหาความยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ตัวเองผ่านการต่อสู้ตามกระบวน การยุติธรรม

     นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย จะแถลงข่าวถึงตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสดงท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริง บรรยากาศเรื่องประชาธิปไตยในขณะนี้ถูกจับตามองทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเกิดคำถามว่าประชาธิปไตยในไทยตายแล้วจริงหรือ ดังนั้นหากฝ่ายผู้มีอำนาจปล่อยให้มีการไล่ล่า ไม่จบสิ้น ไม่มีระบบนิติธรรม ไม่มีความยุติธรรม ความสามัคคีก็ไม่เกิดและเหตุการณ์อาจเหมือนกับปัญหาในบางพื้นที่ของประเทศที่แก้ปัญหาไม่จบ 

ลั่นรอเวลาแสดงออกในคูหาลต.

      "น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย อยากเห็นประเทศไทยมีความสงบสุขและเดินหน้าต่อไปได้ ลำพังให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็หนักแล้ว จึงไม่ควรมีใครมาเคลื่อนไหวซ้ำเติมปัญหาของประเทศ ส่วนความรู้สึกแต่ละบุคคลคงห้ามกันไม่ได้ และหวังว่าเมื่อประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยจะได้รับความยุติธรรม เราอยากเห็นประชา ธิปไตยกลับมาสู่ประเทศไทยโดยเร็ว และประชาชนเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ไม่จำเป็นต้องมีใครไปขับเคลื่อน ประชาชนไปไกลมากแล้ว ทราบดีว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ต้องเก็บไว้ในใจเพื่อรอเวลาแสดงออกในคูหาเลือกตั้งอย่างเต็มที่" นายอนุสรณ์กล่าว

มั่นใจ'ปู'ไม่เผ่นนอก

      นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะอยู่นิ่ง ไม่ปลุกระดม ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย อยากให้บ้านเมืองสงบ เรารู้ตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ กระบวน การยุติธรรมเสียหายหมด ใครทำผิด ถูก รู้อยู่แก่ใจ คิดว่าผลกรรมจะตอบสนองเอง กฎหมายไม่เป็นกฎหมายบ้านเมืองมันไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่หนีออกนอกประเทศเพราะยืนยันว่าจะสู้ตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ มองว่าสมควรอย่างยิ่งที่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม หากพูดว่าปรองดองแต่ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม มันก็ไม่ปรองดอง ต้องทำควบคู่กันไป อยากฝากให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ดูเรื่องนี้ด้วย 

      "เราเสียใจกับเรื่องถอดถอนมาก เพราะกระบวนการยุติธรรมดูเร่งรีบ รวบรัด ตัดตอน ขาดความรอบคอบในการพิจารณาตัวบทกฎหมาย ทั้งที่เราอยู่ในความสงบ ให้ความร่วมมือทุกอย่าง แต่ท้ายสุดเรื่องก็จบแบบนี้ เราเป็นเด็กว่านอนสอนง่ายมาตลอดและที่เรานิ่ง เพราะอยากให้เป็นประชาธิปไตย กลับไปสู่โหมดการเลือกตั้งโดยเร็ว จึงอยากให้กมธ.ยกร่างฯ เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หากไม่เป็นประชา ธิปไตยก็จะยุ่งไปอีก" นายอำนวยกล่าว

ลั่นพท.-นปช.ไม่ก่อเหตุป่วน

      นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ของป.ป.ช.และการแถลงสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ประชาคมโลกรู้ทันทีว่าองคาพยพที่มีเจตนาไล่ล่าทางการเมืองไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทหารลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนอย่างเต็มตัว มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จึงส่งตัวแทนมารับฟังปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทันที 

      นายสมคิด กล่าวว่า การถอดถอนของ สนช.ถือเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย สร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิดให้กับสังคม ขณะนี้ประชาชนยังคงทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่มีการเลือกตั้งเมื่อไร ประชาชนจะเข้าคูหาทำให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร ยืนยันว่าพรรคและกลุ่ม นปช.จะไม่เคลื่อนไหว เพราะจะกลายเป็นตัวป่วนขาดความชอบธรรม แต่จะรอสัญญาตามโรดแม็ปที่คสช.ให้ไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนต.ค. 2558 เรารอได้ แต่ถ้า คสช.ไม่ทำตามสัญญา เราจะต้องทวงถามสัญญาจากชายชาติทหาร 

ยันอดีตส.ส.ไม่ทิ้งพรรคแน่

      นายสมคิด กล่าวว่า จากกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ไม่ถูกถอดถอนนั้น เชื่อว่าจะเป็นบรรทัด ฐานให้สำนวนถอดถอนของ 38 ส.ว. และส.ส.อีกว่า 200 คน ไม่ถูกถอดถอนด้วยเช่นกัน เนื่องจากมองว่านี่คือเกมการเมืองที่จ้องทำลายตระกูลชินวัตรเพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การยึดอำนาจ แต่คงไม่กล้าเปิดแนวรบกับตัวแทนประชาชนอีก 200 กว่าคน เพราะผลกระทบที่ตามมาจะมีมาก 

      "ยืนยันจะไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปี 2552 ที่พรรคพลังประชาชนเจอปัญหาทางการเมือง แล้วส.ส.หลายรายหนีไปตั้งพรรคใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน จะไม่ทิ้งพรรคอย่างแน่นอน กลุ่มส.ส.อีสานของพวกผมกว่า 20 คน วันนี้ก็ยังไม่มีใครพูดถึงการลาออกเลย" อดีตส.ส. อุบลฯ กล่าว 

ซัดป.ป.ช.ชี้นำศาลออกหมายจับ

       นายไพจิต ศรีวรขาน อดีตส.ส.นครพนม และแกนนำส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเลขาธิการป.ป.ช.ระบุจะขอออกหมายจับหากน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ไปรายงานตัวต่ออสส.ในวันส่งฟ้องคดีอาญาโครงการจำนำข้าวว่า เชื่อมั่นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมต่อสู้คดีตามที่ได้แถลงต่อสังคมว่าจะยืนหยัดสู้ตามกระบวน การในระบอบประชาธิปไตย และที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีท่าทีหลบหนี มีการแจ้งขออนุญาตคสช.เดินทางออกนอกประเทศอย่างถูกต้อง ส่วนประเด็นทางกฎหมายควรปล่อยตามขั้นตอนกระบวน การ ให้ศาลใช้ดุลพินิจ ไม่ควรมีการชี้นำใดๆ

       "การขู่ออกหมายจับเพื่อทำให้สมเจตนาและเหตุผลของการยึดอำนาจ ผมไม่แปลกใจเพราะบทบาทแต่ละคนถูกกำหนดให้แสดงออกแตกต่างกันไป สุดท้ายก็เป็นกลุ่มเดียวกันที่มีจุดประสงค์ขับไล่กลุ่มการเมือง แต่ขอให้คำนึงถึงประเทศชาติด้วยว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไรต่อไป" นายไพจิตกล่าวและว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตนายกฯ ชาวบ้านและสังคมโลกดูอยู่และพิจารณาได้เองว่าใครเป็นอย่างไร เพียงแต่เขาไม่เคลื่อนไหวในช่วงนี้ เชื่อว่าในใจของชาวบ้านรอเวลาแสดงออกเพื่อให้เกิดประชา ธิปไตยและความเป็นธรรม ซึ่งสมาชิกพรรคได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ระวังการเคลื่อนไหว อย่าฝ่าฝืนกฎหมาย 

ญาติ 99 ศพชี้ถอด'ปู'ซ้ำเติมขัดแย้ง

      นายณัฐภัทร อัคฮาด น้องชายของน.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่วัดปทุมฯ เมื่อปี 2553 กล่าวถึงการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ส่วนตัวเห็นว่า นี่เป็น การเล่นเกมการเมืองของคณะรัฐประหารที่ใช้อำนาจผ่านสนช.ถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย หากคนที่ถูกถอดถอนเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ ตนก็เห็นใจเช่นกัน เพราะตนยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ตัวบุคคล ซึ่งการถอดถอนดังกล่าวจะยิ่งส่งผลให้การปรองดองแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ซ้ำเติมให้บรรยากาศการเมืองแย่ลง ส่งผลให้ความขัดแย้งยิ่งร้าวลึก 

       "ผมกังวลว่าเมื่อให้สภาที่มาจากการสรรหาถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ คดีวีรชน 99 ศพ ที่หลายสิบคดี ศาลไต่สวนและชี้ชัดแล้วว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร จะหลุดทั้งหมด ความเป็นธรรมจะไม่เกิดขึ้น เหมือนที่ ป.ป.ช.ใช้เวลาเพียง 1 ปี 6 เดือน ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่คดีเสียชีวิตของวีรชนปี 2553 จะครบรอบ 5 ปี ในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ยังไม่ถึงไหน ในเร็วๆ นี้ผมจะไปยื่นขอความเป็น ธรรมกับป.ป.ช. ต่อกรณี 99 ศพด้วย เพื่อให้หลักนิติธรรมปรากฏ พิสูจน์ว่ามี 2 มาตรฐานหรือไม่" นายณัฐภัทรกล่าว 

เผยสปช.รับช่วยนักโทษการเมือง

       นายณัฐภัทร กล่าวว่า ตั้งแต่การสลายการชุมนุมปี 2553 เป็นต้นมา สะท้อนชัดเจนว่ากองทัพคือ 1 ในคู่ขัดแย้งกับประชาชน จึงอยากให้กองทัพยอมรับในส่วนนี้ เพื่ออย่างน้อยให้เป็นการเยียวยาทางจิตใจของประชาชนว่าทหารก็รู้ตัว ส่วนความผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ให้ต่อสู้กันตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

      นายณัฐภัทรกล่าวว่า จากที่แม่ของตนเข้าร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการปรองดองของ สปช. เบื้องต้นมีการรับปากแล้วว่าจะช่วยเหลือให้นักโทษทางการเมืองทุกคนทุกสีเสื้อที่ยังอยู่ในเรือนจำได้รับการประกันตัวตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรมี แล้วให้สู้กันตามกระบวนการยุติธรรม ภายในเดือน เม.ย.นี้ แต่กรณีนี้ยังไม่รวมถึงนักโทษการเมืองที่ต้องคดี 112 เพราะสปช.ขอนำประเด็นนี้ไปหารือที่ประชุมใหญ่อีกครั้งว่าจะเห็นเป็นอย่างไร 

'ครูหยุย'พัลวันเหตุทำท่าเชือดคอ

     นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวถึงการที่มีภาพหลุดในโซเชี่ยลมีเดียจนถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกรณีทำท่าเชือดที่คอหลังจากสนช.มีมติ ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ว่า ตนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาเยาะเย้ยหรือถากถางใคร ขอชี้แจงว่าท่าทีที่ออกไป อาจเป็นเพราะความประหลาดใจ หลังจากมติออกมา 190 ต่อ 18 เสียงถือว่าเยอะมาก เนื่องจากเท่าที่ตนติตามข่าวและประเมินเสียง คาดการณ์ว่าเสียงถอดถอนน่าจะอยู่ที่ 135 เสียง ขนาดมีข่าวว่าเสียงออกมาจะถึง 150 เสียง ตนยังไม่เชื่อเลย จึงเป็นอาการแปลกใจ

     "แม้ภาพลักษณ์ของผมก่อนหน้านี้ที่เคยขึ้นเวที กปปส.มาก่อน ก็ถูกมองว่า เป็นฝ่ายตรงข้ามกันแล้ว ทั้งที่เรื่องนี้วิปสนช.มีมติให้ผมเป็นกรรมการซักถามคดีคุณยิ่งลักษณ์ ผมก็ปฏิเสธแล้ว ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีอย่างนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เยาะเย้ยถากถางหรือสะใจใครทั้งนั้น แต่ถ้ามีคนเข้าใจผิด ผมต้องขออภัยจริงๆ ผมไม่ได้มีเจตนาทำให้เกิดการวิจารณ์ในเรื่องของจริยธรรมอะไรเลย" นายวัลลภกล่าว

กกต.ปัดฟันดาบสอง-ทัวร์นกขมิ้น

     นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและพวก กรณีลงพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน (ทัวร์นกขมิ้น) โดยใช้ทรัพยากรของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐไปหาเสียงระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. ซึ่งตนยังไม่เห็นสำนวน ส่วนจะพิจารณาเสร็จภายในสิ้นเดือน ม.ค. นี้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอนุกรรมการ ซึ่งกกต.ไม่สามารถก้าวก่ายการทำงานได้

     "ยืนยันว่ากกต.จะไม่พิจารณาตามกระแสสังคมเด็ดขาด การที่มองว่ากกต.จะเป็นดาบที่สองเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อจากสนช.นั้น ไม่เป็นความจริง ทุกสำนวนทุกคดี กกต.พิจารณาด้วยความรอบคอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดก็ต้องว่าไปตามผิด หากไม่ผิดก็คือไม่ผิด เราจะไม่กลั่นแกล้งแน่นอน" นายศุภชัยกล่าว

ป.ป.ช.ขู่งัดหมายจับ'ปู'หากหนีคดี 

      นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงขั้นตอนการประสานงานกับอัยการสูงสุด(อสส.) นำตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ต้องรออสส.ร่างสำนวนคำฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งทราบว่าจะใช้เวลา 1 เดือน เมื่ออสส.ร่างสำนวนเสร็จแล้ว จะประสานป.ป.ช.เพื่อให้ป.ป.ช.ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องทราบ เพื่อให้ไปรายงานตัวต่ออสส.ในวันที่จะส่งฟ้องคดี หากผู้ถูกฟ้องไม่ไปรายงานตัวตามวันเวลาที่กำหนด อสส.จะประสานป.ป.ช.อีกครั้ง เพื่อให้นำตัวมาให้ได้ในการส่งฟ้อง ซึ่งป.ป.ช.อาจติดต่อไปยังผู้ถูกฟ้องโดยตรง หรือหากพบว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จะประสานกับพนักงานสอบสวน เพื่อออกหมายจับต่อไป แต่เชื่อว่าผู้ถูกฟ้องพร้อมสู้คดีในกระบวน การยุติธรรม 

จ่อแจ้งข้อกล่าวหาเสียบบัตรแทน

       นายสรรเสริญ กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ องค์คณะไต่สวนสำนวนคดีอาญากรณีอดีตส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ได้รวบรวมหลักฐานเสร็จแล้ว จะสรุปข้อเท็จจริงเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแก่อดีตส.ส.ที่มีความผิดในการเสียบบัตรแทนกัน ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีการเสียบบัตรแทนกัน นอกจากนี้จะพิจารณาถึงอดีตส.ส.บางส่วนที่อยู่ในคลิปเหตุการณ์ที่เสียบบัตรแทนกันว่า มีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งถือเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่สามารถเหมารวมเอาผิดอดีตส.ส.ทั้งสภาได้ 

      นายสรรเสริญ กล่าวถึงการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีสำนักนายกรัฐมนตรีจัดซื้อไมโครโฟนราคา 1.4 แสนบาท ติดตั้งห้องประชุมครม.ว่า เจ้าหน้าที่จะสรุปข้อมูลเบื้องต้นและเสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ข้อมูลยังไม่ละเอียดมากพอ จึงให้ไปปรับสำนวนใหม่ให้ละเอียดกว่าเดิม เพราะยังมีข้อมูลบางอย่างที่คลุมเครือ ตีโจทย์ไม่แตก จึงให้ไปปรับสำนวนใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุป เร็วๆ นี้

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณีสำนักนายกฯ จัดซื้อไมโครโฟนติดตั้งห้องประชุมครม.มูลค่า 1.4 แสนบาท ซึ่งมองว่ามีราคาที่แพงเกินจริง

ชี้คดีอดีต 38 ส.ว.ไม่เหมือนคดี'นิคม'

      นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าทีมนำคณะไปแถลงเปิดคดีอดีต 38 ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบต่อที่ประชุมสนช. ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ กล่าวว่า ไม่สามารถนำผลการลงมติไม่ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา มาเทียบเป็นบรรทัดฐานในคดี 38 อดีตส.ว.ได้ว่าจะไม่มีความผิดเหมือนกัน แม้มีฐานความผิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกันก็ตาม เพราะอดีต 38 ส.ว. มีพฤติการณ์กระทำผิดที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ผลการลงมติในคดีนี้อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับคดีนายนิคมหรือนายสมศักดิ์ก็ได้ 

     ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. มั่นใจในข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนคดี 38 อดีตส.ว.ที่ส่งให้สนช. แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสนช. ซึ่งคดีนายนิคมและนายสมศักดิ์ กับคดีอดีต 38 ส.ว.มีข้อเท็จจริงต่างกัน เพราะคดีนายนิคมและนายสมศักดิ์ เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานที่ประชุม แต่คดีอดีต 38 ส.ว.เป็นเรื่องการลงมติ ซึ่งใน 38 คนก็มีพฤติการณ์กระทำผิดแตกต่างกัน เช่น บางคนเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว บางคนลงมติโหวตในมาตราที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนให้อดีตส.ว.ลงสมัครเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค หรือบางคนทั้งเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย ดังนั้นฐานความผิดทั้ง 38 คนจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสนช.จะมีมติอย่างไร 

อดีตส.ว.เบาใจ'นิคม-ขุนค้อน'หลุด

      นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. ในฐานะ 1 ใน 38 อดีตส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอนว่า แนวทางการต่อสู้คดีในการแถลงเปิดคดีวันที่ 25 ก.พ.นั้น อดีตส.ว.ทุกคนคงจะมอบให้ตน เป็นผู้แถลงเปิดคดีชี้แจงต่อที่ประชุมสนช.ในวันที่ 25 ก.พ. ซึ่งจะชี้แจงไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาแก้ไขได้ อีกทั้งการลงมติตามในมาตราใดๆ ยังได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีก จึงมั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหา ทุกอย่างทำตามหน้าที่ ส่วนที่สนช.มีมติไม่ถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์นั้น ทำให้อดีต 38 ส.ว.สบายใจขึ้นในระดับหนึ่ง 

       นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี 1 ใน 38 ส.ว. ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลถอดถอน กล่าวว่า จากการลงมติถอดถอนของ สนช. ทำให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดต้องการจัดสมดุลคู่ขัดแย้งทางการเมือง ด้วยการมีผล ออกมาทั้งให้ถอดถอนและไม่ถอดถอนซึ่งในสำนวนถอดถอนนายนิคม และนาย สมศักดิ์ ที่สนช.มีมติไม่ถอดถอนนั้น มีส่วนที่เหมือนกับสำนวนของ 38 ส.ว. คือรัฐ ธรรมนูญ ปี 2550 สิ้นสุดไปแล้ว แต่มีส่วนที่แตกต่างคือสำนวนของ 38 ส.ว.นั้นเบากว่า 2 อดีตประธาน เนื่องจากเป็นเรื่องอุดมการณ์ที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีเจตนากระทำผิดอย่างร้ายแรง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้ว พวกตนต้องได้รับเสียงไว้วางใจจากประชาชนก่อนอยู่ดี จึงเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากสนช. 

พิเชษฐชี้สอพลอทำปชป.เสื่อม

      นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นภาพนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กำลังให้สัมภาษณ์ โดยนายพิเชษฐ เขียนข้อความระบุว่า "ให้สัมภาษณ์เรื่อง สนช. ถอดถอน ส.ส. ส.ว. ผมว่าช่วงนี้ให้สัมภาษณ์น้อยๆ ก็ดี ต้องไม่ลืม พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เราเคยมีอุดมการณ์ต่อสู้เผด็จการทุกรูปแบบ"

      จากนั้นมีคนเข้ามาแสดงความเห็นต่อท้ายว่า อย่าลืมว่านายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ในเมื่อมีคนมาสัมภาษณ์ ก็ต้องตอบ ไม่ได้เป็นใบ้ ในเมื่อเขาถามแบบม้า จะให้ไปตอบเป็ดหรือไง นายพิเชษฐ อคติกับหัวหน้าพรรคเกินไป ไม่พูดก็ว่าพูดก็ว่า เอาไงดี ไม่อย่างนั้นนายชวน หลีกภัย จะเลือกนายอภิสิทธิ์ มาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเห็นแล้วว่านายอภิสิทธิ์เหมาะสมที่สุด แล้วเป็นคนรุ่นใหม่ หรือนายพิเชษฐ ว่ามันไม่จริง

      นายพิเชษฐ ตอบโต้ความคิดเห็นดังกล่าวในทันทีว่า "คุณนั่นแหละเป็นแม่ยกที่สอพลอ จนทำให้คนดีๆ เสียคน พรรคจะหายนะ เพราะคนอย่างพวกคุณเป็นขุยไผ่ ผมไม่จำเป็นต้องไปอคติกับใคร แต่ผมสร้างพรรคนี้มาเหมือนกัน แต่คุณนอกจากคอยสอพลอแล้ว คุณเคยทำประโยชน์อะไรแก่ปชป.บ้าง ปชป.เข้าสู่ยุคเสื่อมเพราะสอพลอ"

กมธ.ยกร่างฯเริ่มถกถอดถอน

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในภาคที่ 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พิจารณาแล้วเสร็จไปเพียง 1 มาตราเท่านั้น สาระสำคัญของหมวดดังกล่าวจะว่าด้วยเรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่ง การตรวจสอบทรัพย์สินและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น 

      นายคำนูณ กล่าวว่า ภาพรวมของการพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ผ่านมา 2 สัปดาห์ พบว่ากมธ.ยกร่างฯพิจารณาเสร็จไป 130 มาตรา ถือว่าน่าพอใจ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ว่าจะต้องพิจารณาให้เสร็จเฉลี่ยวันละ 18 มาตรา ดังนั้น จึงเชื่อว่าน่าจะยกร่างเป็นรายมาตราเสร็จทันภายในเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้ามาตราใดมีสมาชิกกมธ. ยกร่างฯขออภิปรายและแสดงความเห็นกันมาก ก็อาจจะให้แขวนมาตรานั้นไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาพิจารณาในช่วงท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้การยกร่างต้องเสียเวลา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!