- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 23 January 2015 22:16
- Hits: 4264
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8822 ข่าวสดรายวัน
ปู ชี้วาระซ่อนเร้น ถอดชัวร์ สนช.ล็อก 160 เสียง ส่วน'นิคม-สมศักดิ์'มีสิทธิ์รอดทั้งคู่ โหวตลับ 10 โมงวันนี้-ใช้วิธีกา 3 บัตร อัยการนัดแถลง-จ่อฟ้องซ้ำอาญา
ปิดคดี - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ แถลงปิดคดีหักล้างข้อกล่าวหาของป.ป.ช. ต่อที่ประชุมสนช. ยืนยันไม่เคยทุจริตโครงการจำนำข้าว ขอให้สนช.ใช้ดุล พินิจถอดถอนอย่างเที่ยงธรรม เมื่อ 22 ม.ค. |
สนช.ลงมติลับถอด ถอน คาด'นิคม-สมศักดิ์'ฉลุย แต่'ยิ่งลักษณ์' ไม่รอด กว่า 160 เสียงรอเชือดป.ป.ช.ปิดคดีโชว์ใบเสร็จมัด หาประโยชน์ให้พวกพ้อง 'ปู'ลุกโต้ไม่เคยปล่อยให้ทุจริต โวยป.ป.ช.มีวาระซ่อนเร้นการเมือง เผยเกาะติดหน้าจอทีวี ลุ้นผลที่บ้าน ทีมทนายวิ่งสู้ฟัดบี้ตรวจหลักฐานเพิ่ม เด็กเพื่อไทยชักแถวขอความเป็นธรรม จี้สนช.อย่าทำตามใบสั่ง'บิ๊กป้อม' ยืนยันไม่ไล่ล่าแก้แค้นใคร อัยการนัดแถลงฟันซ้ำ ฟ้องคดีอาญาอดีตนายกฯ ป.ป.ช.ย้ำฟ้องเองถ้าอัยการไม่ทำ
'ปู'ลุยชี้แจงปิดคดีถอดถอน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กรณีไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยเป็นขั้นตอนการรับฟังคำแถลงปิดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา โดยมีสมาชิกสนช.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาถึงรัฐสภาเวลา 09.20 น. ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีอดีตส.ส.และสมาชิกพรรคเพื่อไทยกว่า 10 คนมาให้กำลังใจ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ตั้งใจเต็มที่ในการชี้แจงรายละเอียด ต้องให้ผู้รับฟังพิจารณาตัดสิน หวังว่าให้ความเป็นธรรมกับตนด้วย ส่วนที่ไม่มาตอบข้อซักถามต่อสนช.เมื่อวันที่ 16 ม.ค.นั้น เพราะได้ชี้แจงประเด็นส่วนตัวไปทั้งหมดเเล้ว จึงมอบรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาพูดในรายละเอียด ซึ่งข้อบังคับก็อนุญาตให้ผู้แทนมาชี้แจงได้ ยืนยันว่าไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นจริงๆ
ตำรวจ-ทหารตรึงกำลังเข้ม
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับบรรยากาศหน้ารัฐสภามีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้า และถนนอู่ทองใน หน้ารัฐสภา เป็นชุดของกองบัญชาการตำรวจ นครบาล(บช.น.) 4 รวม 2 กองร้อย ส่วนบริเวณแยกขัตติยาณี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 กองร้อยจากกองกำกับการควบคุมฝูงชน ร่วมกับกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ทหาร 3 กองร้อย ดูแลรอบพื้นที่รัฐสภา พร้อมตรวจบุคคลเข้าออกอาคารรัฐสภาอย่าง เข้มงวด แต่ไม่ปรากฏมีกลุ่มใดมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
พล.ต.ต.พงษ์พันธุ์ วรรณภักตร์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 กล่าวว่า หากมีมวลชนมามากกว่า 6 คน ต้องประเมินว่าเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ อาทิ การชูป้ายหรือปราศรัย โดยจะใช้มาตรการเริ่มด้วยพูดคุยทำความเข้าใจก่อน แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่จะให้กำลังใจในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างนำโดยนายยันต์ ตันมิ่ง เกษตรกรจ.พิจิตร พร้อมตัวแทน 10 คน ได้ยื่นช่อรวงข้าวพร้อมกระเช้ารวงข้าว ให้กำลังใจสนช.ใช้ความ กล้าหาญตัดสินคดีนี้ โดยมีนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เป็นตัวแทนรับมอบ พร้อมกล่าวว่า ในวันที่ 23 ม.ค. สนช.จะลง คะแนนลับ เชื่อว่าทุกคนจะลงมติตามพยานหลักฐาน และไม่อยากให้กลุ่มต่างๆ เดินทางมาที่รัฐสภา ขอให้ติดตามดูผลที่บ้านดีกว่า
'วิชา'ลั่นมีผู้ชักใย-ไม่กลัวขู่
ต่อมาเวลา 10.15 น. ที่ประชุมสนช.เข้าสู่การแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของป.ป.ช. โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.แถลงว่า ยืนยันว่ากระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ดำเนินการถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวกำหนดราคาไว้สูงกว่าราคาตลาด โดยรัฐบาลยืนยันจะช่วยเหลือชาวนาทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ดำเนินโครงการประกันรายได้ ซึ่งไม่มีตัวเลขขาดทุนเท่าโครงการรับจำนำข้าวป.ป.ช.แนะนำให้ยกเลิก แต่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังยืนยันจะดำเนินการ และเมื่อดำเนินโครงการไปแล้วเกิดความเสียหาย ป.ป.ช.ก็ส่งหนังสือไปอีกเป็นครั้งที่ 2 ให้ทบทวนการยกเลิกโครงการ แต่รัฐบาล ไม่สนใจ
นายวิชา กล่าวว่า รัฐบาลใช้โครงการนี้เพื่อซื้อใจชาวนาให้เลือกพรรครัฐบาลและไม่ให้ถูกมองว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกลไก ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ จากการ ไต่สวนของป.ป.ช.ในทุกระดับ พบว่ามีกระบวนการที่มีวาระซ่อนเร้น เนื่องจากมี ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง อาศัยผลประโยชน์ให้พวกพ้อง เล่นแร่แปรธาตุไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยป.ป.ช.พบว่ารัฐบาลได้ระบายข้าวของรัฐในราคาถูก เพื่อนำไปขายให้พวกพ้อง อ้างว่าขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ในที่สุดป.ป.ช.จับได้ไล่ทันในสมัยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ แต่จะไม่นำมาพูดในที่นี้เพราะมีการข่มขู่ว่า ถ้านำเรื่องที่ไม่ใช่การขายข้าว จีทูจีมาแถลงปิดคดีจะเล่นงานตน ซึ่งตนไม่กลัวเพราะถือว่ามีจิตใจสุจริต กระทำตามภารกิจและหน้าที่
งัดใบเสร็จจับทุจริต
นายวิชากล่าวว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันจะดำเนินการโครงการนี้ ทั้งที่ป.ป.ช.ทำหนังสือเตือนแล้ว รวมถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ยังมีหนังสือเตือนด้วยความเป็นห่วงกับการใช้เงินที่สูญเสียอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีการจำนำข้าวยังพบว่ามีความผิดปกติ และมีข้อเสนอแนะว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงมาก แต่ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้องยังดำเนินการ ต่อไป เหมือนท่องบทจนขึ้นใจ ตอบเหมือนกันว่าเป็นนโยบายรัฐบาล แม้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เลิกนโยบายนี้ แต่ก็ท่องเหมือนเดิมว่าเลิกไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลที่หาเสียงไว้
นายวิชา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการจับทุจริตเชิงนโยบายที่ชัดเจนที่สุดของ ป.ป.ช. เท่าที่ประเทศนี้มีการจับทุจริตมา มีการกล่าว อ้างว่าโครงการนี้จะทำให้ชาวนาได้ลืมตา อ้าปาก มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบมาก แต่นั่นเป็นเพียงเครื่องบังหน้า ว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่รู้ ไม่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปได้ และอ้างว่ามีการตรวจสอบแก้ไขไปแล้ว และโครงการนี้เป็นประโยชน์ ซึ่งป.ป.ช.เวลาจะกล่าวหาใครต้องมีหลักฐานชัดเจน บัดนี้ป.ป.ช.มาพร้อมใบเสร็จเรียบร้อย คือเอกสารรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ มีผลขาดทุนเสียหายจากการระบายข้าวถึง 5.8 แสนล้านบาท และยังมีความเสียหายในเรื่องการจัดเก็บข้าว ที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์แจ้งความดำเนินคดีกับ คู่สัญญาจำนำข้าว ในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ และฉ้อโกง โดยไม่นำข้าวมาเข้าโครงการรวม 3.6 ล้านตัน มีมูลค่าเสียหาย 6.5 หมื่นล้านบาท
ลั่นขอสร้างประวัติศาสตร์ใหม่
นายวิชากล่าวต่อว่า ความเสียหายจากการจัดเก็บข้าวส่งผลต่อประชาชนชาวไทย ซึ่งรมว.คลังเผยว่าภาระการใช้หนี้ขาดทุนโครงการนี้จากรัฐบาลที่แล้วสูงถึง 7 แสนล้านบาท และต้องใช้หนี้นานถึง 30 ปี หากคณะอนุกรรมการชุดนี้มีเจตนาจะปิดบัญชีไม่ถูกต้อง ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการทางอาญากับคณะอนุกรรมการ ชุดนี้ แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ดำเนินการ เพราะรู้อยู่แล้วว่าการปิดบัญชีครั้งนี้ถูกต้องทุกประการ นับตั้งแต่มีโครงการนี้สร้างความทุกข์ให้ชาวนา มีชาวนาหลายรายที่ไม่สามารถรอเงินจำนำข้าวได้จึงฆ่าตัวตาย
"แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะมีคำสั่งให้จ่ายเงินให้ชาวนาจนเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังมีภาพมายาหลอกหลอนชาวนาต่อ และไม่เคยมีผู้ใดออกมารับผิดชอบ รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาไม่ออกมาขออภัยชาวนา บอกเพียงว่าโครงการนี้เป็นที่ชื่นชอบ ซึ่งเหมือนกับรัฐบาลจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต ประเทศชาติจำนำหนี้ ดังนั้น ป.ป.ช.ยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหารับทราบมาตลอด การดำเนินการทุกขั้นตอนได้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อประเทศ ดังนั้น เราต้องดำเนินการเพื่อจารึกไว้ในแผ่นดินนี้ว่าผู้ที่บริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีคุณธรรม จริยธรรมสูงสุดกว่าบุคคลอื่น เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นและลูกหลาน จึงขอคารวะทุกคนที่อยู่เบื้องหน้า ว่าจะร่วมกันทำประวัติศาสตร์ในการถอดถอนครั้งนี้ให้ปรากฏผลเป็นจริง" นายวิชากล่าว
'ยิ่งลักษณ์'โวยมีวาระซ่อนเร้น
ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญปี"50 สิ้นสุดแล้ว การใช้พ.ร.บ.ป.ป.ช. ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจไว้มาถอดถอนจึงไม่สามารถทำได้ ยืนยันตนไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนอีกแล้ว ขณะเดียวกันยังมีการเร่งรัดการดำเนินคดี หลายประเด็นก็ไม่ได้อยู่ในสำนวน มีการตัดพยานเพื่อปิดกั้นโอกาสที่จะนำพยานบุคคลเข้าสู่สำนวนการไต่สวน และป.ป.ช.ใช้พยานที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ขณะที่โครงการดำเนินการรูปแบบคณะบุคคลแต่เหตุใดตนจึงถูกดำเนินคดีโดยลำพัง เป็นวาระซ่อนเร้นทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตนไม่เคยคิดโกง ไม่ปล่อยปละละเลยหรือมีพฤติกรรมใดที่ส่อไปในทางทุจริต (อ่านรายละเอียด น.3)
ก่อนโหวต - สนช.จัดงานเลี้ยงสัง สรรค์ ที่สโมสรทหารบก เมื่อค่ำวันที่ 22 ม.ค. มีสมาชิกร่วมกันคึกคัก โดยในวันที่ 23 ม.ค. เวลา 10.00 น. จะลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช |
หลังการแถลงปิดคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกสบายใจที่ได้ชี้แจงไปแล้ว มีความมั่นใจมากขึ้น แต่ไม่ขอพูดถึงผลการพิจารณาถอดถอน ขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช. ซึ่งขอความเป็นธรรมด้วยเพราะได้ชี้แจงทุกอย่างไปหมดแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่าจะตั้งวอร์รูมติดตามผลการลงมติถอดถอนในวันที่ 23 ม.ค. หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่มี แต่จะติดตามทางโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน เมื่อถามว่าการมาสภาครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
'พรเพชร'เผยโหวตลับ-กา 3 บัตร
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. แถลงถึงการลงมติถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 23 ม.ค.ว่า จะเริ่มต้นในเวลา 10.00 น. โดยการลงมติลับในการถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ขานชื่อสมาชิกเรียงตามตัวอักษรให้เข้าคูหา ซึ่งบัตรลงมติจะเป็นคนละสีและมีช่องให้กาว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน และนับคะแนนโดยเปิดเผย คาดว่าจะใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นจะลงมติลับกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำเนินการขั้นตอนเดียวกัน
นายพรเพชร กล่าวว่า จากนั้นต้องแจ้งมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เช่น ป.ป.ช.และรัฐบาล โดยการถอดถอนนั้น สนช.ระมัดระวังมาก ถือเป็นสิทธิของสมาชิกและเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีใครมาสั่งหรือแทรกแซงได้ ที่ผ่านมาตนไปร่วมงานที่ไหนหรือพบกับใครก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้ ยืนยันว่างานเลี้ยงของสนช.ในเย็นวันที่ 22 ม.ค. อย่าคิดว่าไปล็อบบี้กันเพราะล็อบบี้ไม่ได้อยู่แล้ว อีกทั้งเป็นงานที่นัดล่วงหน้านานแล้วเพื่อเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ และคงไม่มีการพูดล็อบบี้ถอดถอน เพราะสมาชิกเครียดมากพอแล้ว
ชี้ถ้าตัดสิทธิ 5 ปี-นับจากวันลงมติ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้วิปสนช.เสนอวิธีการโหวตลงมติถอดถอนคดีนายนิคม นายสมศักดิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยแยกการลงคะแนน 2 ครั้ง คือ ลงคะแนนคดีนายนิคมและนายสมศักดิ์พร้อมกัน ส่วนคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้แยกลงคะแนนอีกครั้ง ล่าสุดจากการหารือกับสนช.หลายคนเห็นว่า หากแยกลงคะแนนตามวิธีดังกล่าว ผลการลงคะแนนครั้งแรกอาจส่งผลต่อการลงคะแนนในครั้งที่สองได้
"ดังนั้น จะเสนอต่อที่ประชุมในวันที่ 23 ม.ค. ให้ลงคะแนนทั้ง 3 คนในครั้งเดียว โดยแยกบัตรลงคะแนนเป็น 3 ใบ ขึ้นอยู่กับที่ ประชุมสนช.จะเห็นชอบวิธีดังกล่าวหรือไม่ เพราะจะไม่สามารถชี้นำการลงคะแนนได้ ส่วนกรณีที่ประชุมสนช.มีมติให้ถอดถอนบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงมติเป็นวันที่หนึ่ง" นพ.เจตน์กล่าว
ปาร์ตี้ปีใหม่-ไร้สมคบคิด
เวลา 18.00 น. ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ สนช. จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ภายใต้ชื่องาน "ราตรีคนช่างฝัน สังสรรค์สนช." บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก สมาชิกสนช.มาร่วมงานจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสข่าวจะมีการล็อบบี้การลงมติถอดถอนในวันที่ 23 ม.ค.
นายพรเพชร กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ไม่มีการคุยเรื่องการเมืองหรือถอดถอน ไม่มีทฤษฎีสมคบคิด เรื่องการถอดถอนจบแล้วในที่ประชุม และวันที่ 23 ม.ค.ค่อยว่ากันอีกครั้ง
ด้านพล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ สมาชิก สนช. นายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวว่า เป็นงานเลี้ยงที่นัดหมายนานแล้ว ไม่มีการพูดคุยเรื่องถอดถอน ส่วนตนจะโหวตอย่างไรก็ไม่ขอเปิดเผย
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า เชื่อว่าขณะนี้ทุกคนที่ฟังคำแถลงปิดคดีสามารถตัดสินใจกันได้แล้ว ส่วนตัวจะเสนอให้ลงมติพร้อมกันทั้ง 3 สำนวน แจกบัตรลงคะแนนลับ 3 ใบคนละสี แต่ตั้งคณะกรรมการนับคะแนน 3 ชุด เพื่อนับคะแนน
หึ่ง!ขุนค้อน-นิคมรอด-สอยปู
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า การลงมติถอดถอนสำนวนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่า เสียงเห็นชอบให้ถอดถอนจะไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง โดยมีเสียงยืนพื้นหลักให้ถอดถอนจากกลุ่ม 40 ส.ว. ประกอบกับเสียงสายนักธุรกิจ นักวิชาการ และนายทหารนอกราชการ รวมแล้วประมาณ 90-110 เสียง ส่วนที่เหลืออีก 100 เสียงเศษ จะกระจายอยู่ในส่วนไม่เห็นชอบและงดออกเสียง
สำหรับ สำนวนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ค่อนข้างนิ่งว่า สนช.จะมีมติเห็นชอบให้ถอดถอนเกิน 132 เสียง แยกเป็นจากกลุ่ม 40 ส.ว. ข้าราชการและนักธุรกิจรวมกันประมาณ 50 เสียง นายทหารนอกราชการประมาณ 45 เสียง ตำรวจนอกราชการ 4 เสียง กลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) 7 เสียง และ นายทหารที่ยังอยู่ในราชการอีก 57 เสียง รวมทั้งหมดกว่า 160 เสียง ส่วนอีกกว่า 60 เสียงที่เหลือ เป็นของนายตำรวจที่ยังอยู่ในราชการ ข้าราชการและนักธุรกิจบางส่วนที่กระจายอยู่ในช่องไม่เห็นด้วยและงดออกเสียง
ทนายฉุนกล่าวหาคนเดียว
นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษากฎหมายและผู้แทนคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า พอใจการแถลงปิดคดี การแถลงของผู้ร้องมีลักษณะเป็นพรรณนาโวหารเพื่อโน้มน้าว ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงพยานหลักฐานที่ชัดเจน ทำหน้าที่ได้สมบรูณ์ ส่วนการลงมตินั้นไม่ขอก้าวล่วง แต่คิดว่าเมื่อได้ฟังสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อธิบายซึ่งอยู่ในระบบการบริหารราชการเป็นหลัก สมาชิกซึ่งอยู่ในระบบราชการน่าจะเข้าใจดีว่าเป็นอย่างไร โครงการใหญ่ขนาดนี้มากล่าวหาคน คนเดียวเป็นธรรมหรือไม่ แต่ขอเรียกร้องให้สนช.กลับไปดูพยานหลักฐานที่มี 3,000 หน้า เท่าที่ทราบมีสนช.เพียง 2 คนที่ไปตรวจพยานหลักฐาน ทำให้ไม่มีโอกาสเห็นข้อมูลหลักฐาน
เมื่อถามว่า หากสนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะกระทบความปรองดอง หรือไม่ นายพิชิตกล่าวว่า ถ้าความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีไม่เกิด ไม่ได้หมายความว่าหากปรองดองแล้วการดำเนินคดีต่างๆ จะหยุดไป ซึ่งในพื้นฐานของความเป็นธรรม อยากให้สนช.กลับมาอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง
ข้องใจป.ป.ช.-อสส.พิจารณาคดี
ส่วนนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด(อสส.)กับ ป.ป.ช. ในคดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ระงับทุจริตรับจำนำข้าวว่า ได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ด้วยความชอบธรรมหรือไม่ อสส.ฟ้องคดีโดยไม่รับฟังข้อยุติจากคณะทำงานที่มีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานที่แต่งตั้งมาเองได้อย่างไร ซึ่งนายวุฒิพงศ์ ได้ยืนยันว่าข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่ได้รับการพิจารณาไต่สวนให้คดีมีความสมบูรณ์
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ทำไมตนจึงไม่ทราบว่ามีการประชุมเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา หากข่าวที่นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันเป็นจริงว่าที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าขณะนี้ข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีการสอบพยานบุคคลและหาพยานหลักฐานต่างๆ จนครบถ้วน สามารถฟ้องคดีได้ จึงมีคำถามว่า อัยการ 3 คน ที่ร่วมประชุมกับ ป.ป.ช.ถือเป็นตัวแทนอสส.หรือไม่ และมติที่นายสรรเสริญ อ้างนั้นเป็นมติที่ชอบของคณะทำงานชุดใหญ่ที่อสส.แต่งตั้งหรือไม่ ดังนั้นจะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออสส.ในวันที่ 23 ม.ค.
นายสรรเสริญ กล่าวว่า การประชุมของคณะทำงานร่วมป.ป.ช.และอสส. เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ไม่ได้มีมติว่าให้สั่งฟ้อง แต่มีมติว่าได้รวบรวบพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ไม่มีกรณีที่ต้องรวบรวมเพิ่มเติมอีก และตามกฎหมายให้ส่งอสส.เพื่อฟ้องคดีต่อไป
จับตาอสส.สั่งฟ้องคดีอาญา'ปู'
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานฝ่ายอสส. กำลังทำความเห็นเพื่อเสนอนายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. โดยคณะทำงาน อสส.ทำความเห็นไปแล้วบางส่วน แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ขณะเดียวกันนายตระกูล อยู่ระหว่างไปปฏิบัติราชการที่ต่างจังหวัด ต้องรอให้อสส.พิจารณาอีกครั้งว่าจะมีความเห็นอย่างไร ก่อนจะนำความเห็นของอสส.มาแถลงความคืบหน้าในวันที่ 23 ม.ค.เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานอสส. ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ
รายงานข่าวจากสำนักงานอสส. เปิดเผยว่า เช้าวันที่ 22 ม.ค. คณะทำงานฝ่ายอสส.ได้ส่งมอบสำนวนคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวให้กับอสส. เพื่อพิจารณาแล้ว โดยคาดว่าอสส.อาจสั่งฟ้องคดีอาญา โดยจะทำคำสั่งให้เสร็จเพื่อแถลงความชัดเจนในวันที่ 23 ม.ค. ซึ่ง ผู้แถลงคาดว่าเป็นนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล 1 ใน 3 ตัวแทนคณะทำงานฝ่ายอสส. 3 คน จากทั้งหมด 10 คน ที่ไปประชุมร่วมกับป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
เซลฟี่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถ่ายเซลฟี่กับรัฐมนตรีไอซีที 10 ชาติอาเซียน ในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กทม. เมื่อวันที่ 22 ม.ค. |
ป.ป.ช.เล็งฟ้องเอง-ถ้าอสส.ยื้อ
อย่างไรก็ตาม มีกระแสวิจารณ์ในกลุ่มอัยการว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ เพราะเป็นการรวบรัดข้ามขั้นตอน แต่สุดท้ายเป็นอำนาจของอสส. จะพิจารณา ถ้าอสส.เห็นว่าสำนวนคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์ อาจให้สอบสวนในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมอีกครั้ง แต่หากเห็นว่าสำนวนคดีมีความสมบูรณ์แล้ว อาจสั่งคดีได้ทันที ซึ่งเชื่อว่าร้อยละ 95 อสส.จะมีคำสั่งฟ้องให้ดำเนินคดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่สนช.นัดลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ถ้าอสส.ไม่ส่งฟ้องก็ต้องทำหนังสือมายัง ป.ป.ช.พร้อมเหตุผล จาก นั้นป.ป.ช.จะมาพิจารณาว่าฟ้องเองหรือไม่ แต่มีแนวโน้มว่าถ้าอสส.ไม่ฟ้อง ป.ปช.คงฟ้องเอง ข้อมูลสมบูรณ์ครบหมดแล้ว ให้อสส.พิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง เรื่องนี้มันนานแล้ว ต้องทำให้ชัดเจน เพราะประชาชนรอฟังอยู่
จี้สนช.อย่าทำตามใบสั่ง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงเคลียร์ทุกประเด็น ขณะที่กระบวนการพิจารณาของป.ป.ช.เร่งรีบ รวบรัด กล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้อดีตนายกฯ ได้รับความเป็นธรรมไม่เพียงพอ ตนไม่เชื่อกระแสข่าวที่ว่าสนช.จะลงมติถอดถอนเพื่อตัดตอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากเส้นทางการเมือง ไม่ควรมีใครมาตัดสินว่าใครควรอยู่หรือไปแทนประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หากประชาชนเห็นว่านโยบายจำนำข้าวไม่ดี ก็จะเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะให้โอกาสคนๆ นั้นอีกหรือไม่ เราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนกำลังจับตา สนช.ว่ากำลังจะตัดสินตามใบสั่งหรือตามข้อเท็จจริง จะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือจะทำให้กฎหมายกลายเป็นเรื่องสองมาตรฐาน หากสนช.ยังดื้อแพ่งทำตามใบสั่งของใคร เชื่อว่าอำนาจที่มีอยู่จะเสื่อมลง และขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้จับตาดูการทำหน้าที่ของ สนช.ว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ หากปล่อยให้มีการถอดถอนอดีต นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เชื่อว่าประชาชนจะมองหน้าท่านไม่สนิทใจ
'ต้น'ฉะรัฐประหารเสียของ
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์ เขียนข้อความแสดงความเห็นทาง เฟซบุ๊กว่า ตนเคยพูดว่าหากลงมติถอดถอนจริงวันไหน รัฐประหารของคสช.เสียของตั้งแต่วันนั้น ขอยืนยันคำเดิมแม้ใครจะอ้างว่าเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่มีความยุติธรรมใดเกิดขึ้นโดยไร้อำนาจตามกฎหมายและให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นกรรมการตัดสิน แบบนี้ไม่ใช่กฎหมาย มันคือ กดหัว ไม่ได้หมายความว่าไม่ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการปรองดอง แต่กำลังบอกว่าภายใต้อำนาจพิเศษเช่นนี้ ทุกคนต้องได้รับความยุติธรรม หาไม่แล้วจะคาดหวังการปรองดองจากที่ใด
นายณัฐวุฒิ ระบุว่า อย่ากังวลว่าพวกตนจะเคลื่อนไหว เราจะนิ่งเพราะไม่อยากรบกวนสมาธิคนไทยในการใช้ความคิดและเข้าใจสถานการณ์ คิดว่าให้คนบนเรือแป๊ะ เล่นกันไปแบบนี้มีประโยชน์มากกว่าการที่พวกตนออกมาอธิบายอะไรเสียด้วยซ้ำ วาระนี้ไม่ใช่คำถามของคนเสื้อแดง หรือนปช.เท่านั้นว่าคิดอย่างไร แต่เป็นคำถามถึงคนไทยทั้งประเทศว่าจะฝากอนาคตไว้กับอำนาจแบบนี้ กระบวน การแบบนี้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่นี้ หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่ทั้งโลกสนใจคำตอบมากขึ้นเรื่อยๆ
'บิ๊กป้อม'ลั่นไม่ไล่ล่าใคร
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดงระบุว่าหากสนช.ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะทำให้เกิดความปรองดองได้ยาก เพราะไม่มีความยุติธรรมและจะนำไปสู่การนองเลือดหรือการจลาจลว่า พูดแบบนั้นทำไม และเกิดประโยชน์อะไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับการบริหารประเทศ สิ่งที่ทำมาในอดีตก็ต้องว่ากันไป รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ไปไล่ล่า เราไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างความเกลียดชัง แก้แค้นใคร และไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร สิ่งที่ต้องการคือทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าและเกิดความสุข ความสงบให้ได้ ขอให้เข้าใจตามนี้
"ผมจะไม่ปราม เขาจะต้องคิดว่าเราพูดอย่างนี้ มันชัดเจน ไม่ใช่นำปัญหาต่างๆ ในอดีตมาว่ากันในปัจจุบัน อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องดูกันต่อไปว่ามีเหตุผลอย่างไร ไม่ใช่นำเรื่องนี้มาทำให้เกิดความปั่นป่วนกับประเทศเพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน ขอให้เข้าใจตามนี้ และผมไม่รู้สึกกังวลว่าจะนำเรื่องนี้มาจุดกระแสเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ต้องช่วยกันไม่ว่าใครจะอยู่ฝ่ายไหน เราเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาและทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าต่อไปให้ได้ เราทำทุกอย่างอยู่แล้วในเวลานี้" พล.อ.ประวิตรกล่าว
'ไก่อู'เผยนายกฯเกาะติดข่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามการแถลงปิดคดีถอดถอนนักการเมืองของสนช.หรือไม่ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของ ทุกคน จะบอกว่าไม่สนใจ ไม่เป็นห่วงคง ไม่ได้ นายกฯเป็นห่วง แต่ไม่ถึงกับกังวล บางครั้งหากติดประชุมก็จะให้เจ้าหน้าที่ติดตามแล้วรายงานให้ทราบ
"พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า การทำอย่างนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสชี้แจงเรื่องนี้ต่อสังคมแบบเปิดเผย ประชาชนได้มีโอกาสฟังข้อมูลทั้งสองทางแบบที่ไม่ใช่โต้กันไปมา ทางสื่อ จึงน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกส่วน น่าจะทำให้สังคมวิเคราะห์ได้ว่าแท้จริงแล้วสังคมคิดอะไรอย่างไร แต่ที่มีกลุ่มการเมืองบางส่วนยังมีสื่ออยู่ในมือ แล้วพยายามพูดทำนองว่ารัฐบาล คสช.กำลังไล่ล่าอยู่ ขอให้พี่น้องสีเสื้อนั้นสีเสื้อนี้ ใจเย็นๆ พวกนี้ต้องระมัดระวัง จึงต้องให้คนไปทำความเข้าใจว่าสื่ออย่าแบ่งสีคนไทยอีกเลย อย่าไปกระตุ้นสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาอีก หากเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาอีกมันจะเป็นเรื่องที่แก้ไขลำบาก"พล.ต.สรรเสริญกล่าว
เชื่อไม่มีคืนหมาหอน
ผู้สื่อข่าวถามว่าในคืนวันที่ 22 ม.ค. ฝ่ายความมั่นคงต้องจับตาการเคลื่อนไหวใต้น้ำเพราะถือเป็นคืนหมาหอนหรือไม่ พล.ต. สรรเสริญกล่าวว่า โดยปกติฝ่ายความมั่นคงดูแลอยู่แล้ว แต่คงไม่ถึงกับจะเพ่งเล็งพิเศษ เพราะสัญญาณทั่วไปขณะนี้ความคิดเห็นประชาชนไม่ได้กระพือไปตามสิ่งที่กลุ่มการเมืองจะให้เกิด ความเคลื่อนไหว หมาหอน อย่าเอาไปเทียบกัน เพราะสนช.เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถรับฟังเรื่องแล้วใช้ดุลพินิจตกลง เขาไม่ได้เป็นคนที่ชี้นำ หรือสั่งการ หรือซื้อได้ ฉะนั้นไม่น่าจะมีคืน หมาหอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายการเมืองไม่คิดอย่างนั้น พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า "งั้นฝ่ายการเมืองก็หอนไป ทางด้านฝ่ายความมั่นคง ผู้ที่รับผิดชอบภายใต้นโยบาย นายกฯก็กำชับแล้วว่าทำทุกอย่างให้เกิดความแนบเนียน ให้สังคมสบายใจ ต่อข้อถามว่า แกนนำคนเสื้อแดงระบุว่าหากนักการเมืองทั้ง 3 คนถูกถอดถอน ให้เก็บการปรองดองใส่ลิ้นชักไปทันที พล.ต. สรรเสริญกล่าวว่า ใช่หรือ การปรองดองคือการไม่ทำความจริงให้ปรากฏอย่างนั้นหรือ คงไม่ใช่ ฝั่งของรัฐบาลเดิมก็เรียกหาความยุติธรรม ซึ่งความยุติธรรมจะเกิดขึ้นก็เมื่อเราทำความจริงให้ปรากฏ ให้ได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ และแล้วแต่สนช.จะใช้ดุลพินิจ
เด็กปชป.เย้ยปูไม่รอด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เชื่อว่าการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่รอดแน่ เพราะหัวใจคือเรื่องความเสียหายที่เกิดจากการทุจริต เช่น เรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพ ก็พยายามพูดแก้ต่างกับสิ่งที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแจ้งความ พยายามเอาความดีความชอบใส่ตัว แต่สิ่งที่พูดทั้งหมดเป็นการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต และยังพยายามพูดพาดพิงว่า ป.ป.ช.เอาตนและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นพยาน ถือว่าได้สอบฝ่ายตรงข้ามแล้ว ทั้งที่จริงตนต้องเป็นพยานอยู่แล้ว เพราะเป็นต้นเรื่องในการตรวจสอบการทุจริตโครงการจำนำข้าว หรือน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการให้เชิญเสี่ยเปี๋ยง มาเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง และการพยายามอ้างว่าคดีจีทูจีเป็นคนละสำนวนกับของตนเองนั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำการปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายจากการทุจริต
"การแถลงปิดคดีในช่วงท้าย น.ส. ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าโครงการนี้ต้องการช่วยชาวนา ก็เป็นเพียงความพยายามหาเสียงกับชาวนา โดยเอาชาวนามาอ้าง เพราะไม่รู้ว่าจะแก้ตัวอย่างไร จึงเห็นว่าคำแถลงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นหวังว่า สนช.คงไม่ปรองดองกับผู้กระทำผิด ที่สำคัญคือผิดแล้วยังไม่สำนึก" นพ.วรงค์กล่าว
'วิษณุ'ห่วงปฏิรูปแค่ปะผุ
ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง'ภาพรวมในการปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปการกีฬา'ในเวทีรับฟังความเห็นประชาชนของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปกีฬา ว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาปฏิรูป แต่กลัวเหมือนกันว่าสุดท้ายจะออกมาแค่การ ปะผุ ยังไม่ใช่การยกเครื่อง ไม่ได้ปฏิรูปจริงๆ แปลว่าเสียของ ซึ่งการอยู่ในประเทศที่มีการปฏิรูปย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ การจมปลักดักดานอยู่ในสังคมที่ไม่รู้จักคิดใหม่ทำใหม่ ทำแบบซ้ำซาก ถือว่าไม่เป็นมงคล พูดกันตรงๆ คือความซวยอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การปฏิรูป ประกอบด้วย 1.วัตถุประสงค์ รัฐบาลตั้งเป้าไว้แล้วทั้ง 11 ด้าน 2.องค์กรหรือผู้ขับเคลื่อนหลักที่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ใครอยากทำก็ทำ 3.กระบวนการ ต้องรู้ว่าสิ่งใดต้องทำ ก่อนหลัง
"นายกฯจึงเตือนเสมอว่าให้แบ่งขั้นตอนการทำให้ดี ไม่เช่นนั้นจะผิดฝาผิดตัว คนที่ทำการปฏิรูปจะเสียคนเพราะถูกต่อสู้ขัดขวาง เนื่องจากไปสวนกระแสของความเคยชิน แต่เมื่อใดที่ปฏิรูปสำเร็จ คนที่ทำปฏิรูปจะเป็นฮีโร่หรือวีรบุรุษ เพราะจะได้เสวยผลของการปฏิรูป สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการปฏิรูปในสิ่งที่ประชาชนควรได้ประโยชน์ และกมธ.ปฏิรูปทั้ง 11 ด้านต้องดูเวลาและกาลเทศะด้วย เพราะทำไปทำมาวันนี้ทั้ง 11 ด้านเหมือนจะให้ตั้งกระทรวงใหม่ 11 กระทรวง" นายวิษณุกล่าว
ชี้ต้องเดินหน้าต่ออีก 10 ปี
รองนายกฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่น่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนก.ย.นี้ หากทำประชามติก็อาจยืดไปอีก 2-3 เดือน ซึ่งไม่ช้าจนเกินไป แต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว อย่าคิดว่าการปฏิรูปทุกอย่างจะปิดฉากในเดือนก.ย.เช่นกัน เพราะการปฏิรูปต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เชื่อว่าจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปต่อไปทิ้งไว้ด้วย เพียงแต่จะอยู่ในมือของ สปช.หรือเกิดสภาใหม่ โดยมีสมาชิกและกมธ.หน้าใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องไปคิด และที่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อรัฐบาลใหม่จะได้สานต่อ ดังนั้นการปฏิรูปยังต้องทำต่อไปอีกนับ 10 ปี
นายวิษณุ กล่าวว่า สังคมไทยที่ผ่านมามีแต่การขับเคี่ยวของเสื้อสี ทำอย่างไรที่จะเอาเสื้อสีทั้ง 2 มาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ หลังจากตนร่วมหารือกับสปช. ได้ขอให้มีข้อเสนอที่ทำได้ทันทีออกมาอย่างน้อย 1 เรื่อง ภายใน 3 เดือนนี้ เพราะรัฐบาลเชื่อว่าหากทิ้งไปจนถึงเดือนเม.ย. จะไม่มีเวลามาคิด เนื่องจากเป็นช่วงที่ กมธ.ยกร่างฯได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ใจจะไม่อยู่กับการปฏิรูป ซึ่งคนเราย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเสมอ จึงต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ ผู้เดินหน้าและผู้ถอยหลัง ในที่สุดจะเหลือส่วนหนึ่งเอาไว้ปฏิบัติ ส่วนอื่นที่ถูกปฏิเสธก็ตกไป รอวันที่คนเขายอมรับจึงจะผุดขึ้นมาใหม่
กมธ.ยกร่างฯแก้เฮตสปีช
ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า กมธ.ยกร่างฯพิจารณาทบทวนการกำหนดถ้อยคำ "วาจาที่สร้างความเกลียดชัง" (Hate Speech) ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่นี้ ซึ่งมีการป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน อยู่ไม่น้อยกว่า 3 มาตรา คือ มาตรา (1/2/1) 1 และมาตรา (1/2/2) 4 ซึ่งเป็นบททั่วไป และมาตรา (1/2/2) 20 ในส่วนเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย
โดยเฉพาะมาตรา (1/2/2) 20 ในวรรคสอง ได้แก้ไขว่า การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชน เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ ส่วนวรรคสาม แก้ไขว่าการห้ามสื่อฯเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
ถกทูตนิวซีแลนด์จับ'ตั้ง อาชีวะ'
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีการติดตามตัวนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ในสัปดาห์หน้าได้เชิญผู้ช่วยทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย มาหารือเกี่ยวกับการติดตามจับกุมตัวนายเอกภพ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลว่าหลบหนีอยู่นิวซีแลนด์ มาดำเนินคดีในไทย แม้ไทยกับนิวซีแลนด์จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่ใช้ช่องทางการทูตได้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในการหารือจะสอบถามว่านายเอกภพได้สิทธิเป็นพลเมืองของประเทศตามที่มีข่าวหรือไม่ รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำตัวมาดำเนินคดี ขั้นตอนทางกฎหมายต่างๆ
พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กองการต่างประเทศ นำหมายจับของนายเอกภพ ในคดีหมิ่นเบื้องสูงส่งให้องค์กรตำรวจสากล ออกหมายแดง หรือ เรดโนติส เพื่อแจ้งประเทศสมาชิกทั้ง 190 ประเทศ ให้ช่วยติดตามจับกุมนายเอกภพ อีกทางหนึ่งด้วย ยืนยันตร. จะพยายามอย่างเต็มที่และจะใช้ทุกช่องทางติดตามตัวนายเอกภพ มาดำเนินคดี
'บูรณ์'นั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันที่ 22 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการประชุมเพื่อพิจารณาเลือกผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน จากรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งหลังการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครพบว่า มีผู้สมัคร 1 คน ที่มีลักษณะต้องห้าม จึงเหลือผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม 8 คน
ทั้งนี้ หลังจากพิจารณาแล้ว ที่ประชุมได้เลือกนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง 4 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯจะนำรายชื่อเสนอต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินการต่อไป
'บิ๊กตู่'หนุนเชื่อมไอซีทีอาเซียน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 ม.ค. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 19-23 ม.ค. โดยมีคณะรัฐมนตรีและผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 98 ล้านเลขหมาย และจะเป็น 100 ล้านเลขหมายในเวลาไม่ช้า มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 26 ล้านคน มีสถิติการใช้โปรแกรมไลน์ 33 ล้านบัญชี มีการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นสมาร์ตโฟนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ใช่การนำมาใช้ในเชิงต่อยอดทางธุรกิจ ดังนั้น จะต้องกระตุ้นให้นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังผลักดันผ่านนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล แต่ต้องอาศัยการใช้ไอซีที เป็นกลไกสำคัญปฏิรูปการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า และบริการการศึกษา การสาธารณสุข บริหารราชการ ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
นายกฯ กล่าวว่า ความร่วมมือด้านไอซีทีเชื่อว่าจะเป็นส่วนเติมเต็มความเป็นประชาคมอาเซียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยของธนาคารโลกให้ข้อมูลไว้ว่า ทุกๆ การเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ จะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ร้อยละ 1.38 สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง และอยากฝากเรื่องอาเซียนแชนแนล เป็นการเปิดช่องทางทางไอซีทีไว้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ ทุกประเทศในอาเซียนคุยกันว่าจะส่งข่าวกันอย่างไร เหมือนส่งความห่วงใยให้กันในทุกระดับทั้งประชาชน และระดับผู้นำ หากมีอะไรเกิดขึ้นสามารถช่วยเหลือกันได้ทันที ทั้งภัยพิบัติหรือโรคระบาด
ปูปิดคดีดุสวนหมัดวิชา โหวตวันนี้ นัด 10 โมงม้วนเดียวจบ ชง'กาบัตร'3 ใบชี้ชะตา 'อัยการ'แถลงฟ้อง 9 น. 'ขุนค้อน-นิคม'ลุ้นหลุด สนช.เลี้ยงโชว์เอกภาพ
ตำรวจ-ทหารระดมกำลังคุมเข้มรอบสภา 'พรเพชร'ยันไม่มีใบสั่ง-แทรกแซง 'ภูมิธรรม'อ้างมติ สนช.ชี้อนาคตประเทศ
@ ตำรวจ-ทหารคุมเข้มรอบสภา
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 22 มกราคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณหน้ารัฐสภาตั้งแต่เช้าการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระเร่งด่วนในการพิจารณาเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา โดยมีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นชุดของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 4 จำนวน 1 กองร้อย และบริเวณถนนอู่ทองใน หน้ารัฐสภา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 กองร้อยจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 รวมทั้งบริเวณแยกขัตติยานี มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 กองร้อยจากกองกำกับการควบคุมฝูงชน ร่วมกับกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 3 กองร้อยดูแลความเรียบร้อยบริเวณรอบพื้นที่รัฐสภา พร้อมตรวจบุคคลเข้าออกบริเวณอาคารรัฐสภาอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ไม่พบว่ามีกลุ่มคนรวมตัวชุมนุมแต่อย่างใด
@ 'ปู'ยิ้มแย้มพร้อมแถลงปิดคดี
จากนั้นเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงรัฐสภาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยมีบรรดาอดีต ส.ส.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กว่า 10 คน อาทิ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรค พท. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. และนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี เป็นต้น มารอต้อนรับและให้กำลังใจ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า มีความพร้อมที่จะแถลงปิดคดี จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดตั้งแต่ต้นให้ประชาชนและสมาชิก สนช.รับทราบ เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่เพราะเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาไม่ได้มาตอบข้อซักถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น เพราะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้มาตอบแทนจะรู้รายละเอียดและข้อบังคับเปิดให้ ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นจริงๆ
"วันนี้พร้อมและตั้งใจอย่างเต็มที่ในการชี้แจง รายละเอียดต้องให้ผู้รับฟังพิจารณาตัดสิน หวังว่าคงให้ความเป็นธรรมด้วย" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
@ 'วิชา'แถลงให้ความเป็นธรรม
เมื่อเวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานในการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนในการพิจารณาเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมอบหมายให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาว่า ป.ป.ช.ดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกต้องทุกประการและมีความเป็นธรรม ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด รัฐบาลใช้โครงการรับจำนำข้าวเพื่อเป็นการใช้กลทางการเมือง ซื้อใจชาวนาเพื่อให้เลือกพรรครัฐบาลและเพื่อไม่ให้ถูกมองว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกลไก การทำโครงการรับจำนำข้าวทำให้รัฐบาลได้กลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ จากการไต่สวนของ ป.ป.ช.ในทุกระดับพบว่ามีกระบวนการที่มีวาระซ่อนเร้น เนื่องจากมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง อาศัยผลประโยชน์ให้พวกพ้อง เล่นแร่แปรธาตุไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง
@ อ้างกลางสภาถูกขู่เล่นงาน
นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลและโครงการใหญ่ๆ ในการทุจริตเชิงนโยบาย พบว่ารัฐบาลได้มีการระบายข้าวของรัฐในราคาถูกเพื่อนำไปขายให้พวกพ้อง อ้างว่าเป็นขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ จนในที่สุด ป.ป.ช.จับได้ไล่ทันในสมัยที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ แต่จะไม่นำมาพูดในที่นี้เพราะมีการข่มขู่ว่าถ้านำเรื่องการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐมาแถลงปิดคดี จะเล่นงาน ตนไม่เกรงกลัวเพราะถือว่ามีจิตใจที่สุจริต กระทำตามภารกิจและหน้าที่
@ 'ปู'วอนสนช.ใช้ดุลพินิจ
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีตอนหนึ่งว่า เข้าใจดีถึงดุลพินิจที่เอกสิทธิ์และเป็นอิสระของสมาชิก แต่เพียงหวังว่าสมาชิกทุกคนจะใช้ดุลพินิจ โดยถูกต้องเที่ยงธรรม เป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน โดยไม่จำยอมต่อการชี้นำของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง วันที่ได้แถลงเปิดคดีได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดครบถ้วน ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีพิรุธกระทั่งนำมาสู่เหตุในการถอดถอนในคดีนี้ คือ 1.รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ยกเลิกไปแล้ว เหลือแต่เพียง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ซึ่งไม่อาจอาศัยมาเป็นเหตุในการถอดถอนได้ 2.เป็นการถอดถอนซ้ำซ้อน ยืนยันว่า ไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนอีกแล้ว 3.การกล่าวที่บิดเบือนในเรื่องระยะเวลาในการดำเนิคดี 4.คำกล่าวของนายวิชาที่ชี้นำให้สภาเพื่อให้ไขว้เขว และเข้าใจว่าดิฉันได้กระทำความผิด
@ ใช้พยานปฏิปักษ์การเมือง
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า 5.การตัดพยานของผู้ถูกกล่าวหา ได้เสนอพยานบุคคล 18 ราย แต่ ป.ป.ช ตัดเหลือ 6 ราย ซึ่งพยานที่ถูกตัดล้วนเกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญ และ 6.ป.ป.ช.ใช้พยานที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล พยานของ ป.ป.ช.มีเพียง 7 ปาก และมีพยานบุคคลถึง 4 ปาก ที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองโดยตรง เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ปชป. สมควรหรือไม่ที่บุคคลดังกล่าวจะมาเป็นพยานในคดีนี้
@ นัดลงมติ'ขุนค้อน-นิคม-ปู'
จากนั้นนายพรเพชร ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 23 มกราคมนี้ เวลา 10.00 น. โดยเริ่มต้นจากสำนวนถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จากนั้นจะเป็นลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้การลงคะแนนจะใช้วิธีลงคะแนนลับ จึงขอให้สมาชิก สนช.ทุกคน มาประชุมอย่างพร้อมเพรียง
@ แจงขั้นตอนการลงมติลับ
นายพรเพชรให้สัมภาษณ์ว่า การลงมติถอดถอนนายนิคม นายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเริ่มต้นในเวลา 10.00 น. โดยการลงมติถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ด้วยการลงมติลับ โดยขานชื่อสมาชิกเรียงตามตัวอักษรให้เข้าคูหา ซึ่งบัตรลงมติจะเป็นคนละสีและมีช่องให้กาว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน และนับคะแนนโดยเปิดเผย คาดว่าจะใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นจะเป็นการลงมติลับถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ให้มีการลงมติแบบเปิดเผย เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า สมาชิกคนไหนลงมติแบบใดนั้น จากการตรวจสอบรัฐธรรมนูญทั้งปี 40 และ 50 รวมทั้ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุให้เป็นการลงมติลับ ไม่สามารถยกเว้นข้อบังคับการประชุมได้
@ ยันไม่มีใบสั่ง-แทรกแซง
เมื่อถามว่า ถ้าสมาชิกมีมติถอดถอนขั้นตอนต่อไปจะต้องดำเนินการอย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เช่น ป.ป.ช.และรัฐบาล การลงมติถือเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะใช้ดุลพินิจ และเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีใครจะมาสั่งหรือแทรกแซงได้ ที่ผ่านมาแม้ตนจะไปร่วมงานที่ไหน หรือพบกับใครไม่เคยมีการพูดเรื่องเหล่านี้ ยืนยันว่างานเลี้ยงของ สนช.ในเย็นวันนี้ (22 ม.ค.)นั้น อย่าคิดว่าเป็นการไปล็อบบี้กัน เพราะล็อบบี้ไม่ได้อยู่แล้ว อีกทั้งเป็นงานที่มีการนัดล่วงหน้านานแล้วเพื่อเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ให้กับสมาชิก และคงไม่มีการพูดคุยเรื่องล็อบบี้ถอดถอน เพราะสมาชิกเครียดกันมามากพอแล้ว คงเป็นการสังสรรค์กันมากกว่า
@ วิปชงโหวต3คนรวดเดียว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. เปิดเผยว่า วิป สนช.เสนอต่อที่ประชุมให้มีการลงคะแนนทั้ง 3 คนในครั้งเดียว โดยแยกบัตรลงคะแนนเป็น 3 บัตร ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.จะเห็นชอบวิธีดังกล่าวหรือไม่ เพราะจะไม่สามารถชี้นำการลงคะแนนได้
@ 'ปู'สบายใจ-วอนเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงปิดคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางกลับทันที โดยให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ว่า " รู้สึกสบายใจที่ได้ชี้แจงไปแล้ว มีความมั่นใจมากขึ้น ยังไม่ขอพูดถึงผลการพิจารณาถอดถอนในตอนนี้ เพราะคงตอบอะไรไม่ได้ คงขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช.ขอความเป็นธรรมด้วย เพราะได้ชี้แจงทุกอย่างไปหมดแล้ว"
เมื่อถามว่า จะมีการตั้งวอร์รูมติดตามการลงมติถอดถอนหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "ไม่มีค่ะ แต่จะติดตามทางโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน" เมื่อถามว่า การมาสภาครั้งนี้จะถือเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังขึ้นรถยนต์เดินทางออกจากรัฐสภา นางเรือนแก้ว ศรีหาคิม อดีตข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการนายกฯและพวก 4-5 คน ได้นำช่อดอกกุหลาบมามอบให้กำลังใจด้วย
@ 'วิชา'ชี้สร้างมาตรฐานใหม่
นายวิชา ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมสำหรับผู้บริหารราชการแผ่นดินที่ต้องได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริงจากประชาชน เมื่อถามว่า ถ้า สนช.มีมติไม่ถอดถอน สังคมจะก้าวไม่พ้นปัญหาทุจริตหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ไม่สำคัญว่าจะถอดถอนหรือไม่ ถือว่าได้สร้างมาตรฐานใหม่เพื่อการปฏิรูปประเทศต่อไปแล้ว
@ 'พิชิต'ให้สนช.ตรวจหลักฐาน
นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 23 มกราคม จะมีการโหวตลงมติ ในส่วนของทนายขอเรียกร้องว่า สนช.ท่านใดที่ยังไม่ได้ไปตรวจพยานหลักฐานเลยขอให้ไปตรวจพยานหลักฐานก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นการพิจารณาคดี ไม่อยากให้มีกระแสอย่างหนึ่งอย่างใด จึงขอเรียกร้องให้ สนช.ที่ยังไม่ได้ไปตรวจหลักฐานไปตรวจหลักฐาน เพราะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ในเรื่องของตัวเลขการขาดทุนทางบัญชี และอยากให้สื่อช่วยกันดูด้วยว่ามี สนช.คนใดบ้างไม่ไปตรวจพยานหลักฐาน เพราะตอนนี้มีการกดดันว่าอัยการดำเนินการฟ้องแล้ว หรือปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแจ้งความแล้ว หลายเรื่องเป็นเรื่องนอกสำนวน เท่าที่ทราบมี สนช.ไปดูพยานหลักฐานไม่กี่คนเท่านั้น
@ พอใจ'ปู'แถลงครบถ้วน
นายพิชิตให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ฐานะผู้แทนคดีพอใจกับการแถลงปิดคดี โดยอดีตนายกรัฐมนตรี สามารถแก้ข้อกล่าวหาของผู้ร้องได้ทุกกรณี การแถลงของผู้ร้องมีลักษณะเป็นพรรณาโวหารเพื่อโน้มน้าว ส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แสดงพยานหลักฐานที่ชัดเจนรวม ขณะที่ผู้ร้องได้แต่เพียงการหยิบยกองค์ประกอบของคณะกรรมการขึ้นมาแต่ไม่กล้าเถียงใน 3 ประเด็นคือ ข้าวไม่ได้หายไป 3 ล้านตัน การคิดมูลค่าข้าวที่มีปัญหาว่ามูลค่าสต๊อกข้าวคิดอย่างไร ค่าเสื่อมราคาข้าวที่อยู่ในโกดังคิดอย่างไร เมื่อประเมินแล้วอดีตนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
@ 'อ้วน'อ้างมติสนช.ชี้อนาคตปท.
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า อดีตนายกฯได้ชี้แจงเคลียร์ทุกประเด็น ขณะที่นายวิชาไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องต่อสู้อย่างยุติธรรม โดยเฉพาะการตัดพยานปากสำคัญที่จะช่วยลบข้อกล่าวหาออก และนำพยานที่เป็นปฏิปักษ์มาให้ข้อมูลแบบปรักปรำและไม่เป็นธรรม กระบวนการพิจารณาเร่งรีบ รวบรัด กล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้อดีตนายกฯ ได้รับความเป็นธรรมไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือชาวนาอย่างแท้จริง เรื่องกำไรหรือขาดทุนคงวัดกันไม่ได้ หากต้องให้ผู้บริหารรับผิดชอบ คงต้องย้อนกลับไปดูกันในอดีตอย่างเช่น โครงการทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทนของรัฐบาล ปชป. หากแบบนี้คงต้องย้อนไปจัดการให้หมดหรือไม่ ดังนั้น คงต้องหวังพึ่งความเป็นธรรมจาก สนช. ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นเช่นไร จะเป็นเครื่องบ่งชี้อนาคตทางการเมืองของประเทศว่าจะเดินไปได้อย่างดีหรือไม่
"ผมเชื่อว่า สนช.ทุกท่านมีอิสระไตร่ตรองในการลงมติตามที่รัฐบาลระบุ ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงมติของ สนช.ซึ่งเราจะเฝ้าดูผลการตัดสิน และเชื่อว่าเรื่องนี้จะอยู่ในสายตาของคนทั้งโลก ผมไม่เชื่อกระแสข่าวที่ว่า สนช.จะลงมติถอดถอนเพียงเพื่อตัดตอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากเส้นทางการเมือง ไม่มีใครควรจะมาตัดสินว่าใครควรอยู่หรือไปแทนประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย" นายภูมิธรรมกล่าว
@ 'สมคิด'ลั่นพท.กลับมาแน่
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พท. กล่าวว่า หากผลการลงมติเห็นควรถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งเมื่อใด พรรค พท.จะได้คะแนนมากขึ้น พท.ไม่ถึงกับล้มหายตายจากไป ในพรรคยังมีคนรู้ความสามารถอีกมาก เรื่องนั้นค่อยไปว่ากันตอนนั้น แต่อย่าลืมว่าการกระทำอะไรจะได้รับจากจับตามองจากประชาชน ยิ่งถูกกระทำมากก็มองดูว่าผู้ถูกกระทำนั้นได้รับความยุติธรรมหรือไม่
@ 'บิ๊กป้อม'ไม่หวั่นแดงขู่นองเลือด
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายขวัญชัย ไพรพนา และนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำคนเสื้อแดงออกมาระบุว่ามติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะนำไปสู่การนองเลือด ว่า "เขาพูดแบบนั้นทำไม เกิดประโยชน์อะไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับการบริหารประเทศ ซึ่งก็จะต้องดำเนินการต่อไป และขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่าไปพูดแบบนี้ เพราะไม่ดี จะต้องใช้สมองมากกว่านี้"
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ไปแก้แค้น ไม่ได้ไปไล่ล่า และไม่ได้ไปดำเนินการเพื่อสร้างความเกลียดชัง ไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างความเกลียดชัง แก้แค้นกับใคร และไม่ได้เป็นศัตรูกับใครทั้งนั้น
"ผมจะไม่ปราม เขาต้องคิดว่าเราพูดอย่างนี้แล้วมันชัดเจน ไม่ใช่ว่านำปัญหาต่างๆ ในอดีตมาว่ากันในปัจจุบันเพราะเรื่องของอดีตจะต้องดำเนินการตามกระบวนการ อะไรจะเกิดขึ้นก็จะต้องดูกันต่อไปว่ามีเหตุผลอย่างไร ไม่ใช่นำเรื่องนี้มาทำให้เกิดความปั่นป่วนกับประเทศ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ผมก็ไม่ได้รู้สึกกังวลว่าจะนำเรื่องนี้มาจุดกระแสเคลื่อนไหวทางการเมือง" พล.อ.ประวิตรกล่าว
@ 'วิษณุ'ยันผลคดีไม่กระทบรบ.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า การถอนถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลเองไม่ได้มีความเป็นกังวลหรือห่วงอะไรด้วย เมื่อถามว่า รัฐบาลมองไปถึงการนิรโทษกรรมแล้วหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า "ยังไม่มีการพูดถึงเพราะเรื่องนี้ยังถือว่าเร็วไป"
@ 'ไก่อู'เผย'บิ๊กตู่'ห่วงปมถอดถอน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯเป็นห่วงในกรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคม และนายสมศักดิ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นกังวล ขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ความจริงปรากฏ และนายกฯมั่นใจว่า ในช่วงระยะนี้ประเทศเรามีความสงบมากขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจต้องช่วยกันไป มีข้อแนะนำจากภาคส่วนทั้งหลาย รับมาปรับปรุง แต่มีส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มการเมือง ยังมีสื่อที่อิงการเมือง หรือเป็นกระบอกเสียงที่พยายามทำให้สังคมเข้าใจผิด โดยพูดถึงพี่น้องสีเสื้อต่างๆ จึงอยากจะบอกว่า อย่าแบ่งสีเสื้อคนไทยอีกเลย เมื่อบ้านเรากำลังเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น
@ 'ขุนค้อน-นิคม'ส่อรอด-'ปู'เสี่ยง
แหล่งข่าวจาก สนช.สายทหารเปิดเผยว่า สำนวนถอดถอนของนายสมศักดิ์และนายนิคมค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า เสียงให้ถอดถอนจะไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง เนื่องจากทั้ง 2 อดีตประธานสามารถตอบข้อซักถามได้อย่างชัดเจน และรัฐธรรมนูญ 2550 ได้สิ้นสุดไปแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีสัญญาณบ่งชี้คือกระแสข่าวจากทำเนียบรัฐบาลต่อกรณีโครงการจำนำข้าวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าชัดเจนมาก ส่วนกระแสที่ว่า สนช.สายทหารไม่พอใจพฤติกรรมของทีมทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงทำให้คะแนนถอดถอนพุ่งสูงขึ้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากกระแสของกลุ่ม 40 ส.ว. หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาตอบตำถามด้วยตัวเอง นอกจากนี้ คสช.ได้ประเมินในแง่ความมั่นคงไว้ว่าคนเสื้อแดงหมดเรี่ยวแรงแล้ว ไม่เกิดกระแสต่อต้านแน่
@ สนช.จ่อเท 150 เสียงสอย'ปู'
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. กลุ่มนักวิชาการ นักธุรกิจบางส่วน อดีตข้าราชการพลเรือน และนายทหารนอกราชการ และนายทหารที่ยังอยู่ในราชการ ถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ เกิน 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงค่อนข้างแน่นอน โดยจะมีเสียงรวมกันไม่ต่ำกว่า 150 เสียงจะโหวตถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ สำหรับการลงมติถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์นั้น กลุ่มที่จะลงมติถอดถอนจะมีเสียงจาก สนช.กลุ่ม 40 ส.ว. นักธุรกิจ นักวิชาการบางส่วน และนายทหารนอกราชการ รวมแล้วประมาณ 90-110 เสียง โดยที่ สนช.สายทหารและตำรวจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมกันแล้วมีจำนวนมากจะกระจายลงมติไม่เห็นชอบและงดออกเสียง ทำให้เสียงถอดถอนคดีนายสมศักดิ์ กับนายนิคม มีไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง
@ อัยการนัดแถลงคดีข้าว23มค.
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกรณีคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า คณะทำงานฝ่ายอัยการกำลังอยู่ระหว่างทำความเห็นเพื่อเสนอไปยังนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด โดยคณะทำงานอัยการได้ทำความเห็นไปแล้วบางส่วน แต่ยังไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อยดี ขณะเดียวกันอัยการสูงสุดกำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ต่างจังหวัด คงจะต้องรอให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร ก่อนจะนำความเห็นของอัยการสูงสุดมาแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในวันที่ 23 มกราคม
นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 มกราคม สำนักงานอัยการสูงสุดจะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว ที่ห้องประชุม 303 ชั้น 3 สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เวลาประมาณ 09.00 น. เมื่อถามว่า ทางอัยการสูงสุดมีความเห็นเป็นอย่างไร นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ขอให้รอดูความชัดเจนในพรุ่งนี้
@ 'วิษณุ'ชี้ไม่ปฏิรูปคือความซวย
ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ภาพรวมในการปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปการกีฬา" ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิรูป ไทยเดินมาจนถึงจุดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง จะทำอะไรแบบเดิมไม่ได้ รัฐบาลกำลังสร้างกระแสการปฏิรูป แต่นึกกลัวอยู่เหมือนกันว่าสุดท้ายจะออกมาได้แค่เพียงการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นการปฏิรูปจริงๆ หมายถึงปะผุโดยไม่ใช่เป็นการยกเครื่อง จึงแปลว่าเสียของ การอยู่ในประเทศที่มีการปฏิรูปย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ การจมปลักดักดานอยู่ในสังคมที่ไม่รู้จักคิดใหม่ทำใหม่ ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ซ้ำๆ ซากๆ ถือว่าไม่เป็นมงคล พูดกันตรงๆ คือความซวยอย่างยิ่ง
@ อ้างทำสำเร็จเป็นฮีโร่
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเตือนเสมอว่าให้แบ่งขั้นตอนในการทำให้ดีเพราะไม่ฉะนั้นจะผิดฝาผิดตัว คนที่ทำการปฏิรูปเสียคนทั้งนั้น เพราะจะถูกต่อสู้ขัดขวาง เนื่องจากไปสวนกระแสของความเคยชิน แต่เมื่อไหร่ที่ปฏิรูปสำเร็จคนที่ทำปฏิรูปจะเป็นอีโร่หรือวีรบุรุษ เพราะจะได้เสวยผลของการปฏิรูป" นายวิษณุกล่าว และว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนกันยายน หากจะต้องมีการทำประชามติอาจจะยืดไปอีก 2-3 เดือน ซึ่งไม่ได้ช้าจนเกินไป
@ กมธ.ยกร่างตัด'เฮทสปีช'ออก
ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า กมธ.ยกร่างได้มีการพิจารณาทบทวนการกำหนดถ้อยคำ "วาจาที่สร้างความเกลียดชัง" (Hate Speech) ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะ กมธ.ยกร่างกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เมื่อได้สำรวจดูแล้วปรากฏว่ามีการป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน เรียกว่า เฮทสปีช อยู่ไม่น้อยกว่า 3 มาตราคือ มาตรา (1/2/1) 1 และมาตรา (1/2/2) 4 ซึ่งเป็นบททั่วไป กมธ.ยกร่างเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมาบัญญัติไว้ในมาตรา (1/2/2) 20 ในส่วนเสรีภาพของสื่อมวลชนอีกและบทจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนย่อมอยู่ในบังคับของบททั่วไปทั้งสองมาตราดังกล่าวแล้ว กมธ.ยกร่างจึงมีมติทบทวนปรับแก้มาตรา (1/2/2) 20 ว่ามาตรา (1/2/2) 20 เสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ย่อมได้รับการคุ้มครอง
@ ห้ามปิดกิจการสื่อมวลชน
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า มาตราเดียวกันในวรรคสองได้มีการแก้ไขว่า การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชน เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ ส่วนวรรคสาม แก้ไขว่า การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน