WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บุญทรงโวยปปช.ฟันจีทูจี ซัดซ่อนเร้น โยงสนช.ถอดถอนคดี'ปู' 'วิชา'เอาผิดอาญา-แพ่ง ฟ้อง 21 คน-ชดใช้ 6 แสนล. ตู่ชี้ตามคาด-ขอ'นปช.'นิ่ง นิคมแถลงปิด-ขุนค้อนชิ่ง กมธ.ห้ามอัยการนั่ง'รสก.'

ติชนออนไลน์ :

ฟัน"บุญทรง" - นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกในคดีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 มกราคม


ลงมติลับ - นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิก สนช.ในฐานะวิป สนช. แถลงว่าจะลงมติลับในการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 20 มกราคม ให้เป็นการลงคะแนนลับ



       ป.ป.ช.ฟัน'บุญทรง'และพวก คดีจำนำข้าว 'บุญทรง'โวยมีวาระแอบแฝงโยงคดียิ่งลักษณ์ 'นิคม'มา-'ขุนค้อน'เบี้ยวแถลงปิดคดี 'บิ๊กตู่'ฉุนหลุด'เป็นนายกฯทำไมวะ' 'วิษณุ'ปัด ครม.-คสช.ถกถอดถอน'ปู' โฆษก ทบ.ยันถอดปูไร้เหตุวุ่นวาย

@ "บิ๊กตู่"ประธานถกร่วมครม.-คสช.

    เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 มกราคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 1/2558 โดยนายกรัฐมนตรีสวมชุดไทยพระราชทานแขนยาวสีเขียวอมเหลือง ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหยอกล้อกับผู้สื่อข่าวเมื่อถามกระเซ้าว่าวันนี้อารมณ์ดีหรือไม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "อารมณ์ดีทุกวัน" 

@ "วิษณุ"ปัดถกปมถอดถอน"ปู"

     ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมว่า มีการพิจารณา 2 เรื่องใหญ่ คือการรายงานสถานการณ์ที่ผ่านมาและภาพรวมเศรษฐกิจและในที่ประชุมไม่มีใครหยิบยกประเด็นที่ สนช.จะพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 มกราคม เพราะว่าไม่เกี่ยวกับเวทีนี้ เมื่อถามถึงกระแสข่าวการล็อบบี้คะแนนเสียงให้มากพอ ที่จะถอดถอน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูกเหมือนกัน และไม่ทราบว่า คสช.และรัฐบาลเตรียมการเรื่องนี้ไว้อย่างไร เมื่อถามว่า กังวลว่าจะมีการเคลื่อนไหวของมวลชน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีใครพูดถึงทั้งในส่วนของ ครม.และ คสช. แต่เท่าที่ได้พูดคุยส่วนตัวกับหลายๆ คนก็ไม่มีความกังวลอะไร เชื่อว่าจะไม่มีกลุ่มมวลชนออกมาเคลื่อนไหว เพราะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดต่อเนื่องมาหลายวัน ทุกคนก็คงเข้าใจว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร 

      เมื่อถามว่า การถอดถอนของ สนช.ในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "เมื่อเขาได้ทำเพราะเชื่อว่ามีความจำเป็นก็สามารถทำได้ เพราะเมื่อเริ่มต้นด้วยความเข้าใจว่ามีอำนาจก็ทำต่อไปได้ จะเรียกว่าบรรทัดฐานก็ได้ ส่วนสุดท้ายจะได้ถอดถอนหรือไม่ ก็แล้วแต่รูปคดีในแต่ละเรื่อง ข้อหาก็ไม่เหมือนกันตรงนี้ คงไม่ได้เป็นบรรทัดฐานอะไรกันในเรื่องนี้เพราะคงแล้วแต่รายกรณีไป"

@ คสช.ไม่ได้ทำลายล้างใคร 

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าพล.อ.ประยุทธ์สั่งว่าให้ คสช.และ ครม.ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองในอดีตที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่ ครั้งนี้จึงเป็นการตรวจสอบภาวะผู้นำจริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลของทุกฝ่ายให้ สนช.รับทราบ ว่าทางฝ่าย ป.ป.ช.ตั้งข้อสังเกตเรื่องอะไรบ้าง เรื่องของการมีภาวะผู้นำที่รับรู้รับทราบถึงนโยบายการบริหารราชการที่ผ่านมาว่ามีความเสียหายแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ใช้ภาวะผู้นำ ภาวะเป็นผู้นำกำหนดนโยบายของรัฐได้ระงับยับยั้งความเสียหายเหล่านั้นหรือเปล่า ส่วนการตอบข้อสงสัยหรือข้อสงสัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้มาตอบคำถามด้วยตนเอง มีการมอบหมายให้ทีมมาตอบผ่านยูทูบซึ่งตรงนี้สังคมต้องลองพิจารณาดูว่าเรื่องของการตรวจสอบจริยธรรมคุณธรรมสามารถมอบหมายให้ใครตอบแทนได้หรือไม่ ขอยืนยันให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่ารัฐบาล คสช. และหน่วยงานแม่น้ำ 5 สายได้ดำเนินการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเป็นระบบ โดยยึดถือข้อกฎหมายและคุณธรรมจริยธรรม ไม่ได้มุ่งหมายที่จะทำลายล้างใคร 

@ ยันไร้วุ่นวายถอดถอน"ปู"

    พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. และโฆษกกองทัพบก กล่าวผลการประชุมร่วมระหว่าง คสช.และ ครม. ว่ามีวาระที่ คสช.จะต้องรายงานสถานการณ์ความมั่นคงในภาพรวมในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับ ครม.ได้รับทราบ ขณะนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะยังไม่มีสิ่งบอกเหตุและยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงกลุ่มที่มาสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 23 มกราคมนั้น ยังไม่มีการรายงานสถานการณ์ความรุนแรง ไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดความวุ่นวาย แต่จะต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไป

@ "บิ๊กตู่"ฉุนสื่อซักกม.ส่องไซเบอร์

     ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วม นายกฯได้เป็นประธานการประชุม ครม.ประจำสัปดาห์ต่อ จากนั้นให้สัมภาษณ์เรื่องต่างๆ 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการจัดซื้อเรือท้องแบนของกองทัพบกเป็นเงิน 39 ล้านบาท บริษัทที่ชนะการประกวดราคาและบริษัทที่เสนอราคา มีผู้ถือหุ้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พล.อ.ประยุทธ์ตอบโดยไม่หันไปมองคนถาม กล่าวห้วนๆ ว่า ไปแจ้งความมา เมื่อมีเสียงยืนยันผู้สื่อข่าวไม่มีหน้าที่ฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้ ทุกคนแจ้งได้ไปหามา ผู้สื่อข่าวคนเดิมพยายามถามกรณี ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. มีความจำเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เป็นการเข้าไปหา กมธ. เพราะเราเป็นผู้เริ่มต้นแล้ว กมธ.เข้ามาเสนอต่อ ครม. ทุกคนต้องรู้จักกติกาบ้าง รู้ว่าทำงานกันอย่างไร สิ่งที่ผมกลัวและเป็นห่วง ทุกคนมัวแต่มองอย่างเดียวว่า จะถูกจำกัดสิทธิ วันนี้จำกัดสิทธิอะไรบ้างหรือยัง"

เมื่อถามว่า แต่มีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลทุกรูปแบบ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า แล้วเขาจบหรือยัง กฎหมายออกมาหรือยัง เมื่อถามว่าทำไมถึงผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวน้ำเสียงขึงขังด้วยสีหน้าแดงก่ำว่า "ไม่ต้องมาทำไม จะผ่านทำไม แล้วจะเป็นทำไมวะ นายกฯ จะเป็นทำไม"

@ "นิคม"มา-"ขุนค้อน"เบี้ยว 

ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ พร้อมด้วยนายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษก คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญกิจการ สนช.(วิป สนช.) แถลงถึงขั้นตอนในการพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ในวันที่ 21 มกราคมนี้ ได้กำหนดเป็นวันแถลงปิดสำนวนของนายนิคมและนายสมศักดิ์ โดยนายนิคมยืนยันว่าจะมาแถลงปิดสำนวนด้วยตัวเอง ขณะที่นายสมศักดิ์แจ้งมาแล้วว่าจะไม่มา ส่วนในวันที่ 22 มกราคม ได้กำหนดเป็นวันแถลงปิดสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และในวันที่ 23 มกราคม จะเป็นการลงมติทั้ง 2 สำนวน โดยจะเป็นวาระการลงมติถอดถอนนายนิคมกับนายสมศักดิ์ก่อน ซึ่งขั้นตอนในการลงคะแนนจะเป็นการลงคะแนนโดยกาบัตรในคูหา ซึ่งจะลงคะแนนไปพร้อมๆ กัน โดยสมาชิกจะได้บัตรลงคะแนน 2 ใบ เพื่อให้กากบาทลงในบัตรลงคะแนนว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน หรืองดออกเสียง จากนั้นจะตั้งสมาชิกจำนวน 10 คน เพื่อเป็นกรรมการในการนับคะแนน และเมื่อประกาศผลการลงมติแล้วก็เข้าวาระการลงมติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นลำดับถัดไป ซึ่งการลงมติของทั้ง 3 สำนวน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง

@ ปชป.ชี้คำร้องถอดถูกต้อง 

นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุคำร้องของพรรค ปชป.ในการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า ขอให้นายเรืองไกรอย่าใช้วิธีเถียงแบบข้างๆ คูๆ จับแพะชนแกะโดยไม่มีหลักฐาน อาศัยการกล่าวอ้างลอยๆ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็น การยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์กับวุฒิสภาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 มี ส.ส.ลงลายมือชื่อ 152 คน วุฒิสภาส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่ามี ส.ส.ลาออก 6 คน จึงมีการตัดรายชื่อทั้ง 6 คนออก คงเหลือเพียง 146 คน ถือว่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 และผู้ที่ลงนามว่ามีการตรวจสอบรายชื่อสมบูรณ์แล้ว เรื่องที่นายเรืองไกรพูดจึงเป็นแค่การใส่ร้ายขบวนการตรวจสอบโดยไม่มีเหตุผล ควรเอาเวลาไปแก้ข้อกล่าวหาดีกว่า 

@ "อ๋อย"ฝากถามป.ป.ช.5ข้อ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีมติชี้มูลหรือไม่ชี้มูลอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กับพวก เกี่ยวกับกรณีทุจริตในการซื้อขายข้าว มีข้อสงสัยและอยากถามว่า 1.เหตุใดจึงจะมามีมติกันในวันที่ 20 มกราคม ก่อนการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียง 2 วัน เหตุใดจึงไม่ทำมาก่อนหน้านี้ หรือรอจนกว่าการลงมติถอดถอนผ่านไปก่อน 2.เป็นการพยายามเพิ่มเติมเหตุผลข้ออ้างในการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ 3.หากเป็นเช่นนั้นจะไม่เป็นการโยงเรื่องสองเรื่องเข้าด้วยกันจนขาดความเป็นอิสระหรือไม่ 4.หากมีมติว่ารัฐมนตรีและคณะไม่ผิด การถอดถอนก็จะไม่มีน้ำหนัก ถ้ามีมติว่าอดีตรัฐมนตรีกับพวกผิด ก็เพิ่มน้ำหนักให้กับการถอดถอน การโยงสองเรื่องเข้าด้วยกันเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาในทั้งสองกรณีหรือไม่ และ 5.การทำงานของ ป.ป.ช.ในกรณีนี้ น่าเชื่อถือหรือไม่

@ ป.ป.ช.เชือด"บุญทรง-พวก"

ขณะที่คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาคดีนายบุญทรง พร้อมพวก จากนั้นนายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะซึ่งมีทั้งข้าราชการและเอกชน ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 

@ ส่งรายงานอสส.ฟันต่อ

นายวิชากล่าวว่า ให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัย และให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่เป็นบริษัทค้าข้าวอีก 100 กว่าราย ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป โดยได้กันบริษัทค้าข้าวบางรายเป็นพยานด้วย (อ่านรายละเอียดหน้า 2)

เมื่อถามว่า ค่าเสียหายที่กระทรวงการคลังเสนอให้ฟ้องร้องคือเท่าไหร่ นายวิชากล่าวว่า ตัวเลขยังไม่นิ่ง เพราะที่ได้จากการปิดบัญชีกับที่มีการแถลงก็คิดว่าเกิน 6 แสนล้านบาท ทางกระทรวงการคลังจะได้ทำตัวเลขให้แน่นอนต่อไป และมีมติว่าให้แจ้งนายกรัฐมนตรีและ ครม.รับทราบเรื่องนี้ด้วย

@ ขรก.-เอกชนติดบ่วง21คน 

เมื่อถามว่า จะชี้มูลทั้งหมดกี่คน นายวิชากล่าวว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือนายบุญทรงและพวกรวม 21 ราย ทั้งนี้ สำหรับคดีอาญาได้ส่งให้ทาง อสส.ดำเนินการฟ้องร้องไปยังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนวินัยส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดและขอแจ้งเพิ่มเติม เมื่อถามว่า เอกชนที่กันไว้เป็นพยานมีกี่บริษัท นายวิชากล่าวว่า ประมาณ 4 บริษัท โดยรายละเอียดจะอยู่ในสำนวนที่จะส่งไป เมื่อถามว่าจะมีการยึดทรัพย์หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ยังไม่ได้มีการไต่สวนในเรื่องร่ำรวยผิดปกติ แต่กำลังดูอยู่ เมื่อถามถึงกำหนดเวลาในเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย นายวิชากล่าวว่า จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะทางนายกฯก็ร้อนใจอยู่ ทางกระทรวงการคลังด้วย อย่างน้อยต้องหาคนรับผิดชอบ เพราะความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว นับว่าเป็นคดีที่มีความเสียหายใหญ่ที่สุด และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ละส่วนต้องช่วยกันทำ ป.ป.ช.ชี้มูลเพื่อให้เห็นว่ามีความผิดอะไรเกิดขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.จะทำสรุปส่งให้นายกฯทั้งเรื่องโดยย่อ เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าชี้มูลความผิดช่วงนี้เพราะ สนช.กำลังพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายวิชากล่าวว่า 

"มันบังเอิญ จำได้ไหมว่าผมบอกล่วงหน้ามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนที่เขาจะกำหนดวันถอดถอนอีก เราไม่ได้อยู่ดีๆ ปุบปับมาชี้มูล แต่เรามีขั้นตอนของเราชัดเจน แน่นอน" 

@ อสส.เตรียมส่ง"ปู"ขึ้นเขียง 

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในวันที่ 20 มกราคม ที่ประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับ อสส.ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาหาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยประชุมเป็นนัดสุดท้าย ได้มีการนำข้อไม่สมบูรณ์ที่มีอยู่และพยานหลักฐานที่ ป.ป.ช.ได้สอบเพิ่มเติมมาพิจารณาในที่ประชุม คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ข้อสมบูรณ์ในคดีนี้ ขณะนี้ได้มีพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้คณะทำงานร่วมฯจะส่งเรื่องไปให้ อสส.พิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ฝ่าย อสส.จะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วภายในไม่กี่วันนี้ 

ขอให้ติดตามท่าทีจาก อสส.ว่าจะสั่งฟ้องคดีได้เมื่อใด

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังทีมโฆษกอัยการสูงสุด ได้รับการยืนยันว่า ทีมอัยการได้ประชุมร่วมกับ ป.ป.ช.ในวันเดียวกันนี้ แต่ไม่ได้มีมติร่วมกันว่าจะฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ ต้องรอการประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

@ "พิชิต"โวยอย่าโยง2คดี 

นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษากฎหมายของคณะทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เรื่องคดีของนายบุญทรงจะไม่กระทบกับการแถลงปิดคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลย เพราะเป็นคนละคดีกัน แต่หากนายวิชาพูดถึงคดีของนายบุญทรง แล้วโยงเข้ามาหรือเอาคดีมา

รวมกันในวันแถลงปิดคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 22 มกราคมนี้ ทางทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับนายวิชาทันที เพราะถือว่ากลั่นแกล้งกันในทางการเมือง

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รายงานการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่ส่งให้กับ สนช.ได้ระบุไว้ว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สมยอมหรือมีส่วนร่วมในการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด หวังว่า ป.ป.ช.คงไม่นำเรื่องการชี้มูลในคดีของนายบุญทรงมาโยงกับคดีถอดถอนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 

@ "ตู่"ชี้ตามคาด-เสื้อแดงอดทน 

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ไม่ต่างไปจากที่คิด การกำหนดชี้มูลเพื่อโยงไปที่วันที่ 23 มกราคม ที่ สปช.จะมีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อโน้มนำให้สังคมเกิดความเชื่อ ทั้งที่ไม่มีการทุจริต

"การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.อยู่ในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ เลือกปฏิบัติ ดังนั้นไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปชี้แจงเองหรือให้ผู้แทนไปก็มีค่าเท่ากัน หากไป สปช.ก็บอกว่าตอบไม่ชัด ไม่ไปก็บอกว่าไม่ให้เกียรติ สปช. เพราะไม่ว่าไปหรือไม่ ก็มีการตัดสินใจก่อนหน้านี้แล้วว่าต้องดำเนินการตามแผนที่วางไว้แล้ว ต้องเอาออกไปจากสนามการเมือง เพราะนักการเมืองชุดนี้ชนะการเลือกตั้งเหมือนเดิม" นายจตุพรกล่าว และว่า ในส่วนของ นปช.ขอใช้ความอดทนขั้นสูงสุด เปรียบเหมือนว่าสิ่งที่เกิดมาทั้งหมดเหมือนเราซื้อตั๋วดูหนังในโรง เนื้อเรื่องเดินมาถึงการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอนนี้เนื้อเรื่องแค่กลางเรื่องเท่านั้น ไม่ควรที่จะโกรธแล้วออกจากโรงหนังก่อน ควรใช้ความอดทนอดกลั้น ทนดูหนังอีกครึ่งเรื่อง เพื่อจะรู้ว่าตอนจบเป็นอย่างไร 

@ "บุญทรง"โวยมีวาระแอบแฝง

นายบุญทรงกล่าวว่า ทราบข่าวการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว แต่กระบวนการทางกฎหมายยังไม่ถึงที่สุด ยังมีขั้นตอนที่ต้องส่งสำนวนคดีไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอัยการสูงสุดจะฟ้องหรือไม่นั้น ยังมีขั้นตอน และท้ายที่สุดแม้ว่าอัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาล ตนยังเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล เพราะไม่ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา แต่ที่น่าเสียใจจากการชี้มูลคดีของ ป.ป.ช.ครั้งนี้ มองว่าน่าจะมีวาระซ่อนเร้น เพราะเป็นการชี้มูลคดีก่อนที่จะมีการแถลง

ปิดสำนวนคดี ในคดีถอดถอนอดีต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียง 2 วัน 

"ผมเป็นเพียงเหยื่อทางการเมืองที่หวังจะเอาผลคดีนี้ ไปโยงกับคดีถอดถอนของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ซึ่งความจริงแล้ว คดีเป็นคนละเรื่องกัน" นายบุญทรงกล่าว 

@ กมธ.ยกร่างถก"เฮต สปีช" 

เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่เสนอโดยอนุ กมธ.ยกร่างบทบัญญัติฯ เริ่มพิจารณาในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวดที่ 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนเริ่มการพิจารณาทาง กมธ.ยกร่างมีประเด็นถกเถียงเรื่องเฮต สปีช (Hate speech) หรือการสร้างการเกลียดชัง ที่จะมีการบรรจุหลักการลงในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ในประเด็นนี้ที่ประชุมมีการหยิบยกเรื่องของกฎหมายหมิ่นประมาทขึ้นมาพูดคุยเพราะมีขอบเขตและเชื่อมโยงกับเฮต สปีช ด้วย โดย กมธ.ยกร่างฯ ที่อภิปรายเรื่องดังกล่าว มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการหมิ่นประมาท โดยการถูกฟ้องร้อง และกลุ่มที่ฟ้องร้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท โดยที่ประชุมเห็นว่า การจะบรรจุหรือถกเถียงเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบและการเยียวยาของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าฝ่ายฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้อง ให้ กมธ.ไปคิดเรื่องนี้และอาจจะนำมาพิจารณาในหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 

@ คงอำนาจศาลรธน.ตามม.7 

นายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุ กมธ.พิจารณายกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตรา กล่าวว่า สำหรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการพิจารณาในคราวถัดไปนั้นหลักการจะคงอำนาจเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 รวมถึงอำนาจตามมาตรา 7 วรรคสอง ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยการกระทำหรือบทบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามประเพณีปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนั้น จะให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ ทั้งนี้บทบัญญัติว่าด้วยอำนาจนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงจากข้อเสนอของอนุ กมธ.ฯ หรือไม่ ต้องรอการพิจารณาของที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

@ เพิ่มวรรคสาม"ถวายสัตย์"

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 1 บททั่วไป ในมาตรา 6 อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่มีปัญหา โดยคณะกรรมการคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อย 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ โดยให้หน่วยธุรการของคณะกรรมการมาจากหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง สลับกันทำหน้าที่คราวละ 1 ปี ส่วนในมาตรา 7 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ และให้พ้นจากตำแหน่งหนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอื่นตามกฎหมายหรือเพราะความตาย ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯยังได้เพิ่มเนื้อหาในมาตรา 8 เกี่ยวกับก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ โดยในวรรคสาม มีการเขียนเพิ่มว่า "พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ก็ได้" ซึ่งการเพิ่มในวรรคสามเพื่อเป็นการลดพระราชภาระ

@ กำหนดสเปกผู้ทรงคุณวุฒิก.ต.

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ในมาตรา 9 กำหนด ว่า องค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลใด ต้องประกอบด้วยประธานของศาลนั้นเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งจากผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้นในแต่ละชั้นศาล ในสัดส่วนที่เหมาะสมและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้นเป็นกรรมการ โดยกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่มีผู้พิพากษาหรือตุลาการในชั้นศาลนั้น ซึ่งไม่เคยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาก่อน ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งนั้นดำรงตำแหน่งได้อีกไม่เกิน 1 วาระ และบุคคลที่รับตำแหน่งไม่สามารถไปบริหารในศาลอื่นในเวลาเดียวกันได้

@ ตุลาการต่ออายุถึง70ปี 

โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวอีกว่า ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลนั้น มาตรา 10 ระบุว่า ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลอื่นนอกจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลทหาร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว ในส่วนของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลอื่นนอกจากศาลทหาร ซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว ซึ่งพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ที่ผู้นั้น

มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ แต่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่พ้นจากราชการเพราะเหตุดังกล่าว อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนครบอายุ 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งในเรื่องวาระดังกล่าวตรงตามข้อเสนอของศาลยุติธรรมที่เสนอมายัง กมธ.ยกร่างฯ

@ ห้ามอัยการยุ่งเกี่ยวการเมือง

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า การให้นำบทบัญญัติ มาตรา 10 วรรคสอง มาใช้บังคับกับข้าราชการอัยการด้วยโดยอนุโลม ซึ่งจะส่งผลให้ข้าราชการอัยการดำรงตำแหน่งถึง 65 ปีเท่านั้น แต่จะสามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการอัยการอาวุโสได้จนถึงอายุ 70 ปี และข้าราชการอัยการต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกันหรือในห้างหุ้นส่วนบริษัท ไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในลักษณะเดียวกัน ทั้งต้องไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานอัยการ ซึ่งทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้อัยการคนใดที่เข้าไปเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ ต้องพ้นจากหน้าที่ทันที 

@ ศาลรธน.9 คนเหมือนเดิม 

     พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ในส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯเห็นควรให้คงไว้ตามเดิม โดยในมาตรา 1 ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้ (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน จากเดิม 3 คน (2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 3 คน จากเดิม 2 คน โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนอย่างน้อย 1 คน (4) ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการบริหารภาครัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ จำนวน 2 คน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนี้จะเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอื่นเข้ามา เพื่อให้เกิดความหลากหลาย

@ แขวนที่มาคกก.สรรหา

    ส่วนคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ในเบื้องต้นวางไว้ 5 ประเภท ประกอบด้วย (1) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน และเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน (2) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน เลือกโดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1 คน และฝ่ายค้าน 1 คน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน เลือกโดยคณบดีคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน เลือกโดยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา (5) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เลือกโดยวุฒิสภา สมัชชาพลเมือง ซึ่งในประเด็นนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯขอแขวนไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯยังมีการแก้ไขบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมายังวุฒิสภา หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้ส่งชื่อกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาเพื่อเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่

@ กกต.เลื่อนถกเลือกตั้งโมฆะ

       ที่สถาบันพระปกเกล้า นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การประชุม กกต.วันที่ 20 มกราคม จะยังไม่มีการพิจารณาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 3 พันล้านบาท จากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เนื่องจากทางคณะทำงานของสำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต.ได้ขอเลื่อนการส่งข้อมูลให้ที่ประชุม กกต. เพราะยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 'บุญทรง'และพวก คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี

 

 

      หมายเหตุ - นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกว่า "กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากโครงการรับจำนำข้าว" เมื่อวันที่ 20 มกราคม

วิชา มหาคุณ

กรรมการ ป.ป.ช.

     การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีการกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ มีทั้งข้าราชการและเอกชน ประเด็นในการไต่สวนมีอยู่ 4 ประเด็น คือ 1.บริษัท จีเอสเอสจี ที่มณฑลกวางตุ้ง กับบริษัทไห่หนาน ที่เกาะไหหลำ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนเข้ามาทำสัญญาซื้อขายกับประเทศไทยแบบรัฐต่อรัฐจริงหรือไม่ 2.ได้มีการแบ่งหน้าที่ให้ พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายนิมนต์ รักดี หรือนายโจ นำข้าวไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวหรือไม่ 3.ได้ร่วมกันนำบริษัทจีเอสเอสจี และบริษัทไห่หนานแอบอ้างเข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือไม่ กระทำไปด้วยเหตุผลใด และ 4.การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายประการใดบ้างหรือไม่ 

       สำหรับราย ละเอียดสัญญาการซื้อขายข้าว ปรากฏว่ามีสัญญาซื้อขายข้าวอยู่ 4 ฉบับ ได้ดำเนินการไต่สวน คือ สัญญาที่ 1 เป็นการขายข้าวเก่ากับบริษัทจีเอสเอสจี ปริมาณกว่า 2 ล้านตัน จำนวนเงิน 18,208,156,586 บาท มีผู้รับมอบอำนาจคือ นายสมคิด เอื้อนสุภา กับ นายรัฐนิธ โสจิระกุล 

      สัญญาที่ 2 เป็นข้าวใหม่ กับบริษัทจีเอสเอสจี จำนวนกว่า 2 ล้านตันเช่นกัน จำนวนเงิน 28,988 ล้านบาทเศษ ผู้รับมอบอำนาจคือ นายสมคิดและนายรัฐนิธ 

สัญญาที่ 3 ข้าวนาปรัง ปี 2555 กับบริษัทจีเอสเอสจี ปริมาณ 2.3 ล้านตัน จำนวนเงิน 20,000 กว่าล้านบาท ผู้รับมอบอำนาจคือนายสมคิดและนายรัฐนิธ 

และสัญญาที่ 4 ข้าวนาปี 2554 ต่อ 2555 

ข้าวนาปรัง 2555 กับบริษัทไห่หนาน ปริมาณ 6.5 หมื่นตัน จำนวนเงิน 847 ล้านบาทเศษ ผู้รับมอบอำนาจคือนายลิตร พอใจ 

       ทั้งนี้ มีผู้เจรจาฝ่ายไทยคือ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และรองอธิบดีกรมการค้าข้าวต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการและผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ โดยมีผู้ให้ความเห็นชอบคือ นายบุญทรง นายภูมิ และ พ.ต.วีระวุฒิ 

      ในรายละเอียดของการซื้อขายข้าว เมื่อมีการซื้อขายข้าวที่อ้างว่าเป็นการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐแล้ว ได้มีผู้ประกอบการ 3 กลุ่มเข้ามาร่วมรับซื้อข้าว ใช้แคชเชียร์เช็คจ่ายให้กรมการค้าต่างประเทศ มีผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ต.วีระวุฒิ กับ นายนิมนต์ จากบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อขายครั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่า ผลของการซื้อขายข้าวครั้งสุดท้ายเป็นการรับซื้อต่อภายในประเทศ มิได้มีการส่งออกนอกประเทศแต่อย่างใด เป็นการบริหารจัดการโดยบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มี นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นเจ้าของ โดยมีผู้ถือหุ้นอยู่หลายคน ได้แก่ นางรัตนา แซ่เฮ้ง น.ส.เรืองวัน เลิศศรรักษ์ น.ส.สุธิดา จันทะเอ นายสุธี เชื่อมไธสง น.ส.สุนีย์ จันทร์สกุลพร นายกฤษณะ สุระมนต์ นายสมยศ คุณจักร บริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร 

ผลการไต่สวนรับฟังได้ว่า นายภูมิ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว นายบุญทรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พ.ต.วีระวุฒิ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ และดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชบ์ นายมนัส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการค้าต่างประเทศ และรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 

         นายอัครพงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการและผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ นายสมคิด นายรัฐนิธ นายลิตร ผู้รับมอบอำนาจ ชำระเงินและรับมอบข้าว บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด น.ส.รัตนา น.ส.สุธิดา น.ส.เรืองวัน ในฐานะกรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายสมยศ คุณจักร บริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 

       น.ส.ธัญญภรณ์ ในฐานะกรรมการบริษัท สิราลัย จำกัด และนายอภิชาติ ได้ร่วมกันกระทำความผิดแบ่งหน้าที่กันทำงาน ด้วยการช่วยเหลือ มุ่งหมายและเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. และ Hainan grain and oil industrial trading company ซึ่งมิได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย แต่ให้มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อโดยอ้างว่าเป็นการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายภายในประเทศหรือต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอหรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง 

ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศและประเทศชาติอย่างร้ายแรง 

       คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว มีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัย และให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และ 97 แล้วแต่กรณี 

       สำหรับ ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่เป็นบริษัทค้าข้าวอีก 100 กว่าราย ให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป โดย ป.ป.ช.ได้กันบริษัทค้าข้าวบางรายเป็นพยานด้วย

       พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเพิ่มเติม ดังนี้ 1.ให้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหานี้ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้สำนักงาน ป.ป.ช.ไปดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 19 (12) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 

       2.สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. และ Hainan grain and oil industrial trading company แจ้งให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้เกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้ค่าเสียหาย ตามมาตรา 73/1 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

     3.แจ้งให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน หรือการชำระบัญชีของผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ทำการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 103/7 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

      4.กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า การเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐมี นางปราณี ศิริพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวเป็นผู้เสนอ และมีนายบุญทรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ กับ (1) บริษัท Haikou Liangmao Cereals and oils Trading Co., Ltd. ปริมาณ 3 ล้านตัน (2) บริษัท Haikou Liangyulai Cereals and oils Trading Co., ปริมาณ 2 ล้านตัน (3) บริษัท Hinan Province Land Reclamation Industrial Development ปริมาณ 4 ล้านตัน (4) บริษัท Hainan Land Reclamation Commerce and Trade Group Co., Ltd. ปริมาณ 5 ล้านตัน นั้น บริษัทดังกล่าวมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่กระทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน อันมี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ร่วมเป็นอนุกรรมการไต่ส่วน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 

      5.เนื่องจากได้มีการตรวจพบแคชเชียร์เช็คที่ซื้อขายข้าว มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการซื้อขายมันสำปะหลังร่วมอยู่ด้วย จึงให้สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานว่าในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการซื้อขายมันสำปะหลังในรูปแบบสัญญาซื้อขายรัฐต่อรัฐหรือไม่ อย่างไร แล้วนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

      นอกจากนี้ ยังมีมติว่า ตามที่คณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. ซึ่งกำลังพิจารณาในขั้นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอสำนวนการระบายข้าวของนายบุญทรงเข้าไปร่วมเป็นเอกสารหลักฐานด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบ จะได้ดำเนินการต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!