- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 20 January 2015 18:52
- Hits: 4151
ปปช.ถกชี้มูลข้าว'จีทูจี' ฟัน'บุญทรง' สนช.คึกเสียงถอดปูล้น ฟุ้งโหวตฉลุยเกิน 132 พอใจ'อดีต 2 ปธ.'ตอบ 'บิ๊กตู่'ไม่สงสารคนผิด สมลักษณ์คาดซ้ำปี 49 เปายื่นปฏิรูป'ศาลปค.'
มติชนออนไลน์ :
ป.ป.ช.ถกลงมติฟัน'บุญทรง'พร้อมพวก 11 คนวันนี้ 'บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม'ประสานเสียงปัดส่งสัญญาณถอดถอน'ปู' สนช.คึกมั่นใจเสียงเกิน 132 พอใจ'นิคม-สมศักดิ์'แจง ทนายยิ่งลักษณ์เชื่อได้รับความเป็นธรรม 105 ตุลาการยื่น กมธ.ยกร่าง รธน.ปฏิรูปศาล ปค.
@ "บิ๊กตู่"ปัดส่งซิกถอดถอน"ปู"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าไม่มีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลหรือ คสช.ถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีละเลยปล่อยให้มีการทุจริตโครงการจำนำข้าว ที่จะลงมติถอดถอนวันที่ 23 มกราคม ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด
โดย พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มกราคม ถึงกรณีดังกล่าว ว่า "ให้ไปถามหมอดูสิ" เมื่อถามว่าจะชี้แจงให้มีความชัดเจนจะได้หายสงสัย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า "ใครสั่งล่ะ ใครสั่ง ก็ไม่มีไม่เห็นมีใครไปสั่ง ใครพูดก็ไปถามคนนั้น อย่ามาถามอะไรงี่เง่า"
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแต่ฝ่ายการเมืองก็ออกมาวิจารณ์ว่า คสช.ส่งสัญญาณไป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ไปถามนักการเมืองสิ ไม่มีการส่งสัญญาณอะไรทั้งนั้น ใครพูดก็ให้ไปถามคนนั้น ไม่มีอะไรทั้งสิ้น
"ใครอยากวิจารณ์ก็วิจารณ์ไป เป็นเรื่องของ สนช.ที่ทำงาน ต้องเข้าใจว่า สนช.ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อไปลงโทษใครเป็นหลัก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขู่ว่าจะฟ้อง สนช.หากถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขู่ไป ฟ้องได้ก็ฟ้องมา เมื่อถามว่าการพูดเช่นนี้เป็นการข่มขู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่กลัว
@ ลั่นคดีทุจริตนิรโทษไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าวันลงมติถอดถอนในวันที่ 23 มกราคม ห่วงว่าจะมีเหตุการณ์วุ่นวายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีไม่ได้ จะมีด้วยเหตุผลอะไร ถ้าแบบนั้นไม่ต้องเคารพกฎกติกา กฎหมายบ้านเมืองกันเลยหรืออย่างไร ถ้าประชาชนส่วนใหญ่อยากทำอย่างนั้นก็โอเค แต่ตนไม่ให้ทำ ถ้าทุกคนจะทำตามใจชอบก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ทุกอย่างต้องว่ากันด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริง จะไม่เคารพกันเลยหรืออย่างไร
เมื่อถามว่าหากถอดถอนจะทำให้เกิดความขัดแย้งตามมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ รอให้เขาตัดสินมาก่อน ส่วนที่นำไปโยงกับการปรองดองนั้น พูดมาหลายรอบแล้ว การทำผิดกฎหมายจะปรองดองได้หรือไม่ ทุกคนก็รู้ดี ถ้าอย่างนั้นคนฆ่าคนตาย คดโกง ทุจริต ก็ต้องปรองดองหมดอย่างนั้นหรือ ลองไปคิดดูว่าจะเอาความรุนแรงมาต่อต้านการทำงานของรัฐบาลได้ไหม จะเอามวลชน เอาอาวุธออกมา หรือจะใช้การเรียกร้องต่างชาติเข้ามาแก้ไขปัญหาในประเทศ อย่างนี้สมควรไหม สื่อเห็นด้วยหรือไม่ ผิดหรือถูกทุกคนรู้ดี
"การสร้างความปรองดองรัฐบาลทำมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีแนวคิด ทุกคนต้องเข้าใจว่าปรองดองคืออะไร ต้องทำให้เกิดความปรองดองก่อน ซึ่งก็คือการคุยกัน ไม่ทะเลาะกัน กฎหมายต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถ้ารับโทษทางกฎหมายแล้ว ติดคุกแล้ว มาสู่ขั้นตอนการขออภัยโทษ หรือการนิรโทษ แต่ต้องเข้าใจว่าการนิรโทษในเรื่องที่ทุจริตเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะคดีการเมือง เพราะถือเป็นคดีอาญา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ย้อนสื่อ"ปู"ทำผิดควรสงสารไหม
เมื่อถามว่า กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เข้าข่ายการขออภัยโทษใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ เมื่อถามว่า กรณีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความสงสารส่วนตัวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สงสารใคร สงสารได้ไหมคนทำความผิด ถ้าทำผิดแล้วสงสารได้ไหม ซึ่งหมายรวมถึงทุกคน ไม่ได้เจาะจงใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าทำผิดก็สงสาร แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย อย่าไปทำผิดกฎหมายแล้วกัน
เมื่อถามว่า ถ้า สนช.มีมติออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นบรรทัดฐานในกระบวนการกฎหมายต่อไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนละเรื่อง คนละประเด็น กฎหมายเขาพิจารณาโดยนักกฎหมาย ผู้พิพากษา ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาหลายกระบวนการ ซึ่งการตัดสินจะถูกหรือผิดอยู่ที่ สนช.ในฐานะที่ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อถามว่า ไม่ได้โยงไปถึงคดีอาญาที่อัยการสูงสุดกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนละกระบวนการ การถอดถอนของ สนช.เป็นกระบวนการในสภา แต่อีกเรื่องที่แจ้งความในคดีอาญาหรือแพ่ง ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีการเมือง
@ กราบนมัสการปีใหม่"พระสุเทพ"
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พระสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. แนะนำให้นายกฯใช้อำนาจให้เด็ดขาด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอนมัสการ เมื่อถามว่าจะฝากอะไรถึงพระสุเทพไหม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กราบนมัสการปีใหม่ คิดว่าทุกคนเป็นคนไทยก็ต้องให้กำลังใจกัน แม้แต่สื่อมวลชนก็อาจจะหงุดหงิดไปบ้าง แต่เป็นเรื่องธรรมดาเพราะคุ้นเคยกัน ไม่มีอะไรหรอก
เมื่อถามว่า ที่หงุดหงิดนี่เป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ปกติหรอก เพราะปกติเป็นคนอารมณ์ดี แต่เรื่องมันเยอะ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกำไลข้อมือที่ใส่เป็นเคล็ดอะไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "กำไลหินสี ลูกสาวซื้อให้ใส่ เขาเชื่อว่าหินมันเย็น ใส่แล้วอารมณ์จะเย็นลง แต่ไม่เห็นจะเย็น อารมณ์เสียแต่เช้า"
@ "บิ๊กป้อม"ย้ำไร้ล็อบบี้ถอด"ปู"
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า การประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. ในวันที่ 20 มกราคม ไม่มีการหารือประเด็นการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากการถอดถอนเป็นเรื่องของ สนช.ที่จะต้องดำเนินการกันไปเอง ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
"สื่อถามแบบนี้ถามให้คนทะเลาะกัน ไม่มีประโยชน์ สื่อเข้าใจหรือเปล่าว่าทหารก็คือทหาร สนช.ก็คือ สนช. ไม่มีเรื่องของการล็อบบี้ แต่หาก สนช.เขาจะล็อบบี้กันเอง เป็นเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับทหาร" พล.อ.ประวิตรกล่าว และว่า ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายในวันที่ 23 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ สนช.นัดลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ไม่กังวล เพราะฝ่ายความมั่นคงติดตามและดูแลสถานการณ์อยู่ รวมทั้งมีกฎอัยการศึกดูแลอยู่แล้ว
@ 20มกราฯถก"ครม.-คสช."
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 มกราคม จะมีการประชุมร่วมระหว่าง ครม.กับ คสช. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันนัดแรกของปี 2558 ที่ประชุมจะรายงานความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และการออกกฎหมาย รวมถึงการติดตามการทำงานแต่ละภาคส่วนตามโรดแมปของ คสช. โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่นายกฯได้กำชับให้เร่งรัดดำเนินการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้คาดว่าจะหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองด้วย
@ สปช.ตั้งวงถกถอดถอนชี้เสียของ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาประชุมปฏิบัติการวิสัยทัศน์ประเทศไทย ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 250 คน ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ สปช. หลายคนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภา ในวันที่ 23 มกราคม ต่างเชื่อว่าจะเป็นการชี้ชะตาของประเทศ โดยเฉพาะกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนในเรื่องความเสียหายในงบประมาณแผ่นดินกว่า 6 แสนล้านบาท ในโครงการรับจำนำข้าว หากไม่สำเร็จจะกระทบต่อการปฏิรูปประเทศและความน่าเชื่อถือของ คสช. รัฐบาล สนช.และ สปช. ที่ไม่สามารถปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ และหลักคุณธรรมและจริยธรรมของประเทศจะหมดความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนมองว่า คสช.เกี้ยเซี้ยกับระบอบทักษิณ และการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม เสียของ
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช. กล่าวว่า วง สปช.มีการหารือถึงกรณีการถอดถอนในวันที่ 23 มกราคม แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคม และนายสมศักดิ์ ได้สำเร็จ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในบ้านเมืองที่ต้องการบรรยากาศสร้างความปรองดอง และยังเห็นว่ากระบวนการถอดถอนเป็นเรื่องทางการเมือง ส่วนการเอาผิดควรไปว่ากันในคดีอาญา
@ ประสารย้ำสนช.ถอดสำเร็จ
นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. และกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ไม่ทราบว่า สปช.คุยกันเรื่องถอดถอนหรือไม่ แต่ในส่วนตัวเชื่อว่า สนช.จะสามารถถอดถอนได้สำเร็จ ทุกกรณีด้วยคะแนนเสียง 132 เสียงขึ้นไป แต่หากไม่สำเร็จจะทำให้สังคมไทยตั้งคำถามกับ สนช.ว่าใช้มาตรฐานอะไรในการลงมติเนื่องจากทั้ง 3 คน มีความผิดชัดเจน อาจมองว่ามีความเกรงใจ และมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ถูกร้องหรือไม่ ที่ไม่สามารถแยกเรื่องถูกเรื่องผิดได้
"อาจจะทำให้ภาคประชาชนไม่สามารถฝากความหวังให้ สนช.ได้ และอาจทำให้มีความชอบธรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวร้องถามหาความถูกต้องในเรื่องจัดการคนผิด ขณะที่ คสช.จะรับผิดชอบไปเต็มๆ เพราะเป็นคนแต่งตั้ง สนช.ขึ้นมา และอาจถูกมองด้วยความหวาดระแวง ซึ่งจะถูกสังคมมองว่าใช้อำนาจไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่" นายประสารกล่าว
@ เล็งเขียนในรธน.ให้ถอดถอนได้
นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช. กล่าวว่า เชื่อว่าหาก สนช.ถอดถอนไม่สำเร็จ จะเกิดคำถามขึ้นในสังคมแน่นอน และคงเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องรีบทำความเข้าใจ ขณะที่การปฏิรูปประเทศต้องเดินหน้าต่อไปในอนาคต โดยอย่าเอาบางเหตุการณ์มาเป็นเครื่องตัดสิน
นายวันชัย สอนศิริ สปช. กล่าวว่า หากการถอดถอนในวันที่ 23 มกราคม ไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย คงเป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯจะต้องไปคิดและออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้ขั้นตอนการถอดถอนสามารถเอาผิดได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการทำงานของ สปช. เพราะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การถอดถอนเป็นเรื่องของ สนช.
@ แกน40ส.ว.ชี้ความผิดอยู่ที่ตีความ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า การลงมติว่าจะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ คิดว่าขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช.ทั้งหมด แต่หากที่ประชุมเสียงข้างมากเกิน 132 เสียงเห็นว่ามีความผิด ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่จริง ผลคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจะไปสอดคล้องกับกรอบที่เป็นบทบัญญัติไว้ในมาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ป้องกันมิให้ผู้ที่ประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความต่อไปว่า หากที่ประชุม สนช.มีมติให้ถอดถอนจริงจะมีผลย้อนหลังหรือไม่อย่างไร
"ขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของที่ กมธ.ยกร่างฯแล้ว ส่วนจะมีผลกระทบต่อการสร้างบรรยากาศความปรองดองของ คสช. ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าความปรองดองทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกับความผิดทางกฎหมาย ผมตอบแทนคนอื่นทั้งสภาไม่ได้ว่ามีใบสั่งหรือไม่ แต่ส่วนตัวยืนยันว่าไม่มีใบสั่ง และไม่เคยได้ยินว่ามีใบสั่งด้วย" นพ.เจตน์กล่าว
@ ทวีศักดิ์ฟุ้งมีข้อมูลถอด"ปู"99%
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. กล่าวว่า กรณีที่ สนช.ไม่ให้ตัวแทนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบข้อซักถามโครงการจำนำข้าวแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ถือเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ยื่นญัตติคำถามที่ต้องการถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว ดังนั้นที่ประชุมจะดำเนินการเป็นอย่างอื่นไม่ได้ อีกทั้งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เคยแจ้งให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายทราบว่า ผู้แถลงเปิดคดี หากไม่มาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง โดยให้คนอื่นมาแทน จะทำให้ข้อมูลขาดน้ำหนัก เป็นหลักการในศาลปกติ
"ขณะนี้ถือว่าข้อมูลข้อเท็จจริงในคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงพอในการตัดสินใจของ สนช.แล้วถึง 99.99% เว้นแต่วันแถลงปิดสำนวนจะมีข้อมูลอย่างอื่น ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการล็อบบี้การลงมติแต่อย่างใด" นายทวีศักดิ์กล่าว
@ สนช.พอใจ"นิคม-สมศักดิ์"แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า คะแนนเสียงไม่เห็นชอบให้ถอดถอนในสำนวนของ นายสมศักดิ์และนายนิคมดีขึ้นจากช่วงแรกมาก เนื่องจากทั้งสองสามารถตอบข้อซักถามกระบวนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่แก้รัฐธรรมนูญโดยเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ได้ละเอียดครบถ้วน โดยเฉพาะสำนวนของนายสมศักดิ์ ประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร ก็สามารถชี้แจงให้ สนช.ที่เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ซึ่งรู้ระเบียบการจัดทำเอกสารราชการดีว่าต้องเป็นอย่างไรจึงจะเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ฐานปลอมเอกสารราชการ พอใจได้
ส่วนสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในระดับสุ่มเสี่ยงแม้ต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 ในการถอดถอน เนื่องจากพฤติกรรมของทีมทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ สนช.ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ สนช.ที่กำลังทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน รอรับฟังคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหาอยู่ เช่น การที่ สนช.ต่อรองให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาชี้แจงตอบ กมธ.ซักถามภายในเวลา 18.00 น. แต่ทีมทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หันมาตอบโต้ทันควันว่า ไม่มา ติดต่อไม่ได้ อย่างไรก็ตามยังมี สนช.อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะลงมติอย่างไร แต่ขอฟังการแถลงปิดคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อีกครั้งในวันที่ 22 มกราคม ก่อนจะตัดสินใจลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่
@ "นิคม"ยันมาแถลงปิดคดี
นายนิคมเปิดเผยว่า ในวันที่ 21 มกราคม จะแถลงปิดคดีต่อ สนช.ด้วยตนเอง ในฐานะผู้ถูกกล่าวหากรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหตุแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งได้ส่งหนังสือคำแถลงปิดคดีส่งไปยัง สนช.แล้ว โดยระบุว่าประสงค์จะเดินทางมาด้วยตนเอง ทั้งนี้ การแถลงปิดคดีได้ประเมินจากข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงการหักล้างข้อกล่าวหาในวันที่ตอบข้อซักถามของ สนช.ด้วย
"ซึ่งสังเกตได้ว่าการซักถามของ กมธ.ซักถาม ในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นไม่มีมูล ผมไม่อยู่ในประเด็นดังกล่าวเลย ทั้งนี้ ไม่รู้สึกกังวล เพราะมั่นใจในพยานหลักฐาน ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ที่ได้นำมาหักล้างหมดแล้ว ส่วนการลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช. ผมเชื่อว่าความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมยังมีอยู่ และเชื่อมั่นว่าจะไม่ใช้ความรู้สึกโกรธแค้นมาใช้ตัดสิน" นายนิคมกล่าว
@ พท.จี้ยกเลิกคดีถอดถอน"ปู"
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงประธาน สนช.เรื่อง คำร้องขอถอดถอนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพวก กรณีใช้สถานะ ส.ส.เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 ข้อ 148 เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 61 ระบุว่าการร้องขอให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 59 และ 60 ต้องทำเป็นหนังสือระบุชื่อ อายุ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ และลงลายมือชื่อของผู้ร้องขอ
@ เหตุผู้ลงชื่อ6คนเป็นอดีตส.ส.
"แต่คำร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้รวมอยู่ในเอกสารที่ สนช.กำลังพิจารณาอยู่นั้น เป็นคำร้องของนายอภิสิทธิ์กับพวก ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำร้องดังกล่าวมีลายมือชื่อของผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.อยู่ด้วยจำนวน 6 คนจาก 152 คน คือลำดับที่ 24 นายถาวร เสนเนียม ลำดับที่ 44 นายวิทยา แก้ว
ภราดัย ลำดับที่ 47 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ลำดับที่ 51 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ลำดับที่ 93 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และลำดับที่ 94 นายชุมพล จุลใส เพราะทั้ง 6 คนได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.ไปก่อนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ดังนั้น คำร้องของนายอภิสิทธิ์จึงอาจเข้าข่ายการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อประธานวุฒิสภาด้วย และมีผลทำให้คำร้องดังกล่าวไม่ชอบ ป.ป.ช.ไม่อาจนำไปพิจารณาต่อได้" นายเรืองไกรกล่าว
นายเรืองไกกล่าวว่า ผู้ลงนามทั้ง 146 คนไม่ได้ลงนามในคำร้องให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 61 จึงเรียนมาเพื่อขอให้ประธาน สนช.แจ้งหนังสือนี้ต่อให้ สนช.รับทราบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าคำร้องขอถอดถอนของนายอภิสิทธิ์กับพวกไม่ชอบด้วยกฎหมาย สนช.จึงต้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณายกเลิกการดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งโดยทันที
@ "ชูศักดิ์"ฝากสนช.คิด3ข้อ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวว่า สนช.ส่วนหนึ่งนั้นมาจากอดีต ส.ว.และกลุ่ม กปปส. อีกส่วนหนึ่งเป็นนักธุรกิจและข้าราชการ ดังนั้น ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปตอบข้อซักถามเองหรือไม่ ชี้แจงได้ดีมากน้อยเพียงใด สนช.ในส่วนแรกจะโหวตถอดถอนแน่นอน เพราะดูจากประวัติความเป็นมาก็รู้ เหลือแต่ สนช.ในส่วนหลังที่ไม่สังกัดฝ่ายไหนและมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง
"ซึ่งในส่วนนี้จะต้องคิดหนักแน่นอนว่า 1.อำนาจถอดถอนถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ รัฐธรรมนูญ 50 ยกเลิกไปแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ให้อำนาจในการถอดถอน 2.เดิมวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา แต่วันนี้เอาอำนาจมาให้ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดแล้วมาถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ตรงนี้ชอบธรรมหรือไม่ และ 3.กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องทุจริต ป.ป.ช.รับว่าไม่ใช่เรื่องทุจริต" นายชูศักดิ์กล่าว ดังนั้น ทั้ง 3 ข้อนี้ฝ่ายที่มีความเป็นธรรมคงต้องคิดหนัก และถ้าถอดถอน ต้องคิดถึงอนาคตของประเทศด้วยว่าจะเป็นอย่างไร
@ "ทนายปู"เชื่อสนช.เป็นธรรม
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ที่ปรึกษากฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการประชุมทีมทนายในคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ที่ประชุมได้รวบรวมข้อมูลจากวันแถลงเปิดคดีและวันตอบข้อซักถามของ สนช. เพื่อเตรียมจัดทำคำชี้แจงในวันแถลงปิดคดีให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ ไม่ได้มีความกังวลอะไร ในฐานะทนายมีหน้าที่เตรียมข้อมูล
"ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะหยิบยกประเด็นไปพูดก็ขึ้นอยู่กับท่าน ซึ่งก็มีความพร้อมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงยืนยันที่จะไปเป็นผู้แถลงปิดคดีด้วยตัวเอง สำหรับการจัดทำคำแถลงปิดคดี ทีมทนายความได้ดำเนินการตามกรอบสำนวนของ ป.ป.ช.และคำถามของ กมธ.ซักถาม" นายนรวิชญ์กล่าว และว่า การลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 23 มกราคมนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงในการแถลงเปิดคดีและรับฟังคำถามของ ป.ป.ช. ทีมกฎหมายยังเชื่อว่าอดีตนายกฯจะคงได้รับความเป็นธรรมจากสมาชิก สนช.
@ "ขุนค้อน"ทำใจมีธงสั่งเชือด
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ อดีตโฆษกนายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 21 มกราคม นายสมศักดิ์ไม่มาร่วมแถลงปิดคดีถอดถอนต่อที่ประชุม สนช. เนื่องจากได้ชี้แจงเป็นเอกสารไปหมดแล้ว และจะไม่ส่งเอกสารแถลงปิดคดีเพิ่มเติมด้วย เพราะได้มาตอบข้อซักถามที่ สนช.สงสัยต่อที่ประชุมแล้ว ซึ่งมีการบันทึกการประชุมไว้หมดแล้ว ในวันที่ 23 มกราคม ที่เป็นวันลงมตินั้น นายสมศักดิ์จะไม่เดินทางมาเช่นกัน
เมื่อถามว่า หลังจากได้ตอบข้อซักถามแล้ว นายสมศักดิ์มีความกังวลอะไรหรือไม่ นายวัฒนากล่าวว่า นายสมศักดิ์บอกว่าไม่มีความกังวล ถ้าที่ประชุม สนช.ไม่มีธง ไม่มีทางโดนอยู่แล้ว เพราะทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งผิดกับกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เป็นเรื่องข้อเท็จจริง มีความซับซ้อนกว่า อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์กังวลว่า สนช.อาจจะมีธง และได้ทำใจไว้แล้ว หากโดนก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะช่วงนี้ทุกคนรู้ว่าเป็นช่วงปฏิวัติ จะไปหวังเหตุผลคงยาก และฝ่ายการเมืองเข้าใจอยู่แล้ว หากจะออกประกาศยึดทรัพย์เลยก็ทำได้ แต่เขาอาศัย สนช.สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง
@ ชี้เสี่ยงถอด"ปู"หากไม่ผิด
นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ป.ป.ช. กล่าวถึงกระบวนการถอดถอนของ สนช.ว่า ต้องย้ำอีกครั้งว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอน เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดไปแล้ว อีกทั้งในขณะนี้อัยการสูงสุด (อสส.) ก็ยังไม่สรุปสำนวนที่ ป.ป.ช.ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ส่อทุจริตโครงการรับจำนำข้าวฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในกรณีนี้จะไม่มีปัญหาทางกฎหมาย แต่ในแง่ความรู้สึกของประชาชนแล้วจะมีมาก เพราะถ้าหาก อสส.ไม่สั่งฟ้อง หรือสั่งฟ้องศาลแล้วศาลชี้ว่าไม่พบการทุจริต แต่ สนช.มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นตลอดชีวิตหรือไม่
"จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนขึ้นทันทีว่า นี่คือการประหารชีวิตทางการเมือง ความหวาดระแวงจะมีมากขึ้น การสร้างความปรองดองก็จะเป็นไปได้ยาก" นางสมลักษณ์กล่าว และว่า สนช.ก็จะถูกมองว่ามีปัญหาทางจริยธรรม นอกจากไม่มีอำนาจถอดถอนแล้ว ตัวเองที่มาจากการสรรหาก็ดันไปลงมติถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไม่ชอบธรรม ยังเสี่ยงที่จะต้องถูกฟ้องร้อง เหมือนอย่างที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการจากกรณี 7 ตุลาคม 2551 ฟ้องกลับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากอีก ทั้งยังต้องคำนึงด้วยว่าจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองอย่างไรด้วยถ้ากระบวนการยุติธรรมชี้ว่าเขาไม่ผิด
@ ติงระวังซ้ำรอยเหมือนปี49
นางสมลักษณ์กล่าวว่า การอ้างว่า คสช.คือพ่อและ สนช.คือลูก ก็คืออีกหนึ่งสาเหตุที่กระทบความรู้สึกของประชาชน หาก สนช.มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ คสช.ก็ไม่ต่างจาก คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ที่รัฐประหารเมื่อปี 49 แล้วก็ตั้ง คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ขึ้นมาสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ประชาชนจะรู้สึกว่า พ่อลูกที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการยึดอำนาจนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กำลังเล่นงานขั้วตรงข้ามทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม "หากพ่ออ้างว่าไม่ได้ทำ แต่ลูกทำแล้วเกิดผลเสียขึ้น พ่อก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับลูกอยู่ดี" นางสมลักษณ์กล่าว
@ ป.ป.ช.พร้อมลงมติฟัน"บุญทรง"
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ว่าจะพิจารณาวาระที่คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยเจ้าหน้าที่จะนำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้ความเห็น หากที่ประชุมเห็นว่ามีข้อมูลและข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะสามารถลงมติได้ก็จะดำเนินการทันที และส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการพิจารณาฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติ
นายสรรเสริญกล่าวว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะมีขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งในวันที่ 20 มกราคม จะไม่ถือว่าเป็นการสร้างแรงกดดันไปยัง สนช. ซึ่งเตรียมลงมติว่าจะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 23 มกราคม เพราะคดีการระบายข้าวและการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองเป็นคนละกรณีกัน
"การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 20 มกราคม นัดหมายเอาไว้ล่วงหน้านานแล้ว จึงไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับ สนช.แต่อย่างใด ขอให้เข้าใจว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่ที่ต้องพิจารณาไปตามกระบวนการ" นายสรรเสริญกล่าว
@ "ปานเทพ"เล็งแถลงผลคดีบุญทรง
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงวาระการประชุมคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่าพิจารณาสำนวนตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนมีการเสนอเข้ามา เพื่อพิจารณาว่าพยานหลักฐานต่างๆ นั้นเพียงพอต่อการพิจารณาหรือไม่ ถ้าหลักฐานเพียงพอ สามารถพิจารณาชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาได้เลย แต่หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้สอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็ต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ
"ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้เช่นกันที่การพิจารณาของคณะกรรมการอาจไม่เห็นด้วยกับสำนวนของทางคณะอนุฯไต่สวนที่วินิจฉัยออกมาทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้น จะแถลงผลการประชุมของคณะกรรมการ ไม่ว่าคดีดังกล่าวจะมีมติออกมาอย่างไร" นายปานเทพกล่าว
@ จ่อฟัน"บุญทรง-พวก"11ราย
แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 มกราคม จะพิจารณาวาระที่คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนายบุญทรงกับพวกทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ รายงานความคืบหน้าการไต่สวนให้ที่ประชุมทราบ เพื่อให้พิจารณาชี้มูลความผิดในทันที สำหรับข้อมูลบางส่วนที่สามารถชี้มูลความผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาบางกลุ่มได้ก่อน และให้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการไต่สวนบางประเด็นต่อไป เนื่องจากในคดีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นภาคเอกชนกว่า 100 รายด้วยกัน
"คณะอนุกรรมการเตรียมสรุปคดีให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา เพื่อชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในส่วนของนักการเมืองและข้าราชการ เจ้าหน้าที่ 11 ราย มีชื่อของ นายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายบุญทรง) และมีข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ อาทิ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นายฑิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว กระทรวงพาณิชย์ นายอัครพงษ์ ทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมอยู่ด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
@ สปช.วาง6เป้าหมายปฏิรูป
เวลา 09.30 น.วันเดียวกัน ที่ห้องราชเทวีบอลรูม โรงแรมเอเชีย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดสัมมนา "ประชุมเชิงปฏิบัติการวิสัยทัศน์ประเทศไทย (Vision Workshop)"
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การบ้านที่ สปช.ได้ทำคือเน้นการทำข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมา สปช.ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ทันเวลาที่จะต้องส่งข้อเสนอก่อนวันที่ 19 ธันวาคม และก็ทำได้ทัน จากนั้นเป็นการเน้นงานปฏิรูป
"ขอย้ำว่า สปช.มีเป้าหมาย 6 ประการ คือ 1.การปฏิรูปต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพราะเหมาะกับสภาพสังคมไทย 2.ปฏิรูปแล้วต้องเลือกตั้งที่สุจริตเป็นธรรม 3.ปฏิรูปเพื่อมีกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น 4.ปฏิรูปเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 5.ปฏิรูปเพื่อสร้างกลไกรัฐที่ให้บริการประชาชนต้องทั่วถึง และ 6.ปฏิรูปเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดเป็นธรรม" นายเทียนฉายกล่าวและว่า ไม่ว่าจะปฏิรูประยะสั้นหรือระยะยาวต้องมีสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการเชื่อมโยงจากการสัมมนาครั้งที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลและต่อยอดนำไปสู่การมองอนาคตในอีก 20ปีข้างหน้าได้
@ หวั่นทำปฏิรูปไม่ทัน31ธ.ค.
นายเทียนฉายกล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นจนเก็บอาการตื่นเต้นไว้ในใจไม่อยู่ เพราะอยู่ในวงวิชาการมา 40 ปี ยังไม่เคยเห็นวิสัยทัศน์อะไรที่ชัดเจนเท่าครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่ของใหม่ก็ตามแต่ก็ยังน่าตื่นเต้น ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่เด่นชัด เชื่อว่ากลับจากการสัมมนาครั้งนี้จะช่วยร้อยเรียงในรายละเอียด ถึงขั้นที่บอกได้ว่า กมธ.ปฏิรูปอาจจะเหลือไม่ถึง 18 คณะ เพราะเริ่มมีประเด็นที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หรืออาจจะเกิด กมธ.คณะใหม่ก็ได้
"ในเดือนเมษายน คณะ กมธ.ร่างฯคงจะยกร่าง รัฐธรรมนูญมาให้ดู เราคงวุ่นวายกับการพิจารณารับร่างแรก ต่อมาเดือนพฤษภาคมต้องกลับมาทำประเด็นปฏิรูปใหม่ และเดือนกันยายนก็เข้าสู่การปฏิรูปเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น ต้องมีสมาธิกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ซึ่งจะพบว่าปีนี้จะมีเวลาไม่กี่เดือนที่จะทำเรื่องปฏิรูป ถ้ายังคงวิธีทำงานอย่างที่เป็นอยู่น่ากลัวจะเหนื่อยมาก เพราะวันสุดท้ายของการปฏิรูปคือวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งเกรงว่าจะทำไม่ทัน" นายเทียนฉายกล่าว
@ คุยสปช.ฟังเสียงปชช.มาตลอด
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ต้นปฏิรูปเป็นคนละต้นกับต้นปรองดอง สมมุติชื่อว่าต้นการศึกษาจะมีกิ่งปฏิรูปอะไรบ้างก็ต้องออกมาได้แล้ว อย่างน้อยต้น กิ่ง แขนงก็ต้องออกมาให้ชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดการปฏิรูปว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนที่เริ่มมีความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจ สปช.ไม่มีหน้าที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
'นักวิชาการ'จับสัญญาณ 'ธงสนช.'ถอด-ไม่ถอด 'ปู'
(จากซ้าย) พนัส ทัศนียานนท์, สุขุม นวลสกุล, อัษฎางค์ ปาณิกบุตร, วีระ เลิศสมพร
มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - นักวิชาการให้ความเห็นถึงกระแสข่าวที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งสัญญาณบางอย่างให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในวันที่ 23 มกราคม ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถ้าไม่ถอดถอนแสดงว่า รัฐบาลและ คสช.ต้องการปรองดอง ทั้งนี้ทั้งนั้นผมคิดว่า หากปล่อยฟรีโหวตกันทั้งหมด ไม่มีการล็อกหรือตั้งธง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดหรือฝ่ายไหน การที่คะแนนจะถึง 3 ใน 5 ก็ยาก ทางฝ่ายรัฐบาลและ คสช. มองเห็นจุดนี้อยู่แล้วว่าทำอย่างไรก็น่าจะถึง 3 ใน 5 ยาก รัฐบาลจึงปล่อยมือ ประกาศไม่ยุ่งด้วยไม่เข้าแทรกแซง ปล่อยให้เป็นการพิจารณาของ สนช.ไป
ถ้าหากจะแทรกแซง อาจทำได้ในระดับหนึ่ง เพราะ สนช.ที่เป็นทหารก็เป็นกลุ่มใหญ่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่า เขาเห็นแล้วว่าถึงอย่างไรก็ไม่ถึง 132 คะแนน
แต่ถ้าถอดถอน สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นความประสงค์ที่จะถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ อดีตนายกฯและนักการเมืองฝ่ายนี้ให้หมดสิ้นไปจากเวทีการเมืองไทย อย่างที่เป็นความต้องการของบางกลุ่ม เช่น กปปส. และพันธมิตรเดิม ที่เห็นว่าระบอบทักษิณควรถูกกวาดล้างให้สิ้นซาก นักการเมืองทางพรรคเพื่อไทยไม่ควรที่จะมีที่ยืนอยู่ในเวทีการเมืองไทยอีกต่อไป ต้องกวาดทิ้งไปให้หมด
หากเป็นเช่นนี้ แสดงว่าทางฝ่ายรัฐบาล และ คสช.ต้องเห็นเอนไปในทางนั้นด้วยเพราะใน สนช. นั้นจะว่าไปแล้ว ถ้าจะสั่งให้ผลออกมาเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าสามารถทำได้อยู่แล้ว
สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
เรื่องสัญญาณทางการเมืองนั้น แล้วแต่คนจะตีความกันเอง แต่ผมยังไม่เห็นสัญญาณพิเศษอะไร อย่างไรก็ตาม คนจำนวนไม่น้อยจะมองว่าถ้าถอดถอน แสดงถึงความต้องการกวาดล้างระบอบทักษิณและพรรคเพื่อไทย เพราะองค์กรที่ถอด คือ สนช. เป็นองค์กรจัดตั้ง ไม่ใช่องค์กรแบบธรรมดา เหมือนเป็นการใช้พวกเดียวกัน
ส่วนที่ว่าถ้าไม่ถอด เป็นความพยายามในการปรองดองนั้น ผมคิดว่าคงไม่เกี่ยว แต่อาจจะมีส่วนทำให้บรรยากาศปรองดองดีขึ้น ถ้าไม่ถอนก็คือไม่ถอน บางคนอาจจะเห็นว่าเรื่องนี้อย่างไรก็ถึงศาลอยู่แล้ว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของศาลสถิตยุติธรรมดีกว่า
สำหรับเรื่องของอคตินั้น ก็อย่างที่เห็นกันอยู่ ว่ามีบางกลุ่มที่จะถอดถอนให้ได้ ก็ต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งผมคิดว่าท่านอดีตนายกฯ (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เสียคะแนนไปนิดหน่อยตอนที่ไม่มาตอบคำถามด้วยตนเอง ทำให้ดูเหมือนไม่กล้า และขาดความจริงใจ ถือว่าเสียมากกว่าได้
อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ประเด็นหลัก ก็คือ เอาอำนาจอะไรมาถอดถอน สนช.ต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ที่ถูกเผด็จการตั้งขึ้นมา เป็นรัฐบาลเผด็จการซึ่งยึดอำนาจมาจากระบอบประชาธิปไตย เรียกว่ามาตั้งเป็นชั่วคราว แม้ว่าคุณจะมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่มาจากระบอบประชาธิปไตย
ประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มี ฉีกไปแล้ว คุณเอาบทบัญญัติใดมาอ้างอำนาจ สนช.ในการถอดถอน เพราะฉะนั้นเรายังไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ก็รอได้ไหม คุณฟ้องสิ แจ้งความว่าคุณ
ยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างไรแล้วสอบสวนไปเลย ถ้าคิดว่าเขาทุจริต มีคดีอาญาได้หลายเรื่อง ถ้าเขาผิดจริงค่อยนำไปสู่ประเด็นนี้เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว และมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว
ผมเห็นว่า การที่มีบางคนให้สัมภาษณ์บอกว่าสังคมต้องยอมรับ ถ้า สนช.ตัดสินใจ จะให้ผมยอมรับได้อย่างไร ในเมื่อคุณไม่ได้เป็นตัวแทนของผม ฟันกันตรงๆ เลยว่า ผมยอมรับไม่ได้ ไม่ใช่เอาใจช่วยใคร แต่ว่าไม่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย
แต่ถ้าคุณทำไปเพราะว่าเป็นเผด็จการก็เชิญ เรื่องของคุณ อันนี้ก็ยอมรับอยู่แล้วว่าเราอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ใต้อำนาจกระบอกปืน เราก็ไม่ว่ากัน คุณทำของคุณไป แต่ว่าผลที่เกิดจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ารังแกคนอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องตาม กระบวนการก็เป็นปัญหาขัดแย้งในอนาคต ซึ่งไม่ควรกระทำ เพราะว่าคนรัฐประหารมาบอกว่าจะปรองดอง แต่นี่คือการสร้างความขัดแย้ง ปฏิเสธไม่ได้หรอก ต้องให้ความเป็นธรรมในการตัดสินคดี ในการพิจารณาทุกเรื่อง ถ้าเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง จะหาความยุติธรรมได้อย่างไร ให้ความเชื่อใจไม่ได้ เขาไม่มีความชอบธรรม
คุณยิ่งลักษณ์ อาจมองการเมืองถูกว่าจะมาถูกรุมต้มยำในที่ประชุม สนช.ทำไม ถามว่าทำไมต้องตอบเองในเมื่อมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ เขาก็บอกแล้วว่าเขาให้คนอื่นทำ คนที่รับผิดชอบก็ต้องมีโอกาสตอบ ถ้าแฟร์เพลย์ แล้วยังโหวตลับอีก กลัวอะไร อยากจะคว่ำเขาก็เปิดไปเลย คนจะได้รู้กันว่าคุณคิดอะไร เพราะฉะนั้นผมว่ากระบวนการอย่างนี้ขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง
ผมไม่ได้เอาใจช่วยหรือเข้าข้าง แต่กล้าสอบสวนแต่ต้นไหมว่ากระบวนการจำนำมันผิดหมด ผมยินดีลงไปเป็นกรรมการสอบให้ คุณตั้งผมมาสิ ผมศึกษามาว่ากระบวนการพวกนี้มาจากไหน ใครบ้าง ไม่งั้นผมจะค้านได้อย่างไรว่าผมไม่เห็นด้วยทั้งจำนำข้าวและประกันรายได้
ผมพูดตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) แล้วว่ามีช่องทางในการโกงได้ ผู้มีอำนาจไม่ฟังก็แล้วแต่ เพียงแต่ว่าเราแป็นราษฎรคนหนึ่ง ในทางวิชาการเราให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้ ชาวนามีวิธีช่วยเยอะแยะ ในการบริหารราชการแผ่นดินถ้าเอาวิธีผมไปใช้แก้ได้เยอะแยะ ผมอยู่ในวงการมา 40 ปี เรื่องนี้ศึกษาได้ไม่ว่าเป็นราชการหรือองค์กรอิสระ เพียงแต่ว่าเรากลัวความจริงเท่านั้นเอง
ก็อยู่ที่ธงเขาแล้ว เราอาจจะได้เห็นอะไรแปลกๆ ในวันพิจารณาก็ได้ แต่ผมเห็นด้วยถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ไป เชื่อว่าน่าจะอ่านเกมออกถึงไม่ไป น่าจะรู้ผล อะไรต่ออะไร คงเดาถูก ผมเองก็มีธงในใจแล้วว่าจะออกอย่างไรแต่ยังไม่พูด เดี๋ยวหาว่าชี้นำ
ทางการเมืองก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่า "รัฐประหารต้องการอะไรถึงไม่เสียของ" คำพูดตัวนี้มองให้ดี ความหมายมันลึกซึ้ง
เมื่อผลออกมาจะวิเคราะห์ได้หลายอย่าง ต้องรอดู แต่ถ้าแน่จริงก็เปิดเผยแบไต๋กันเลยว่าใครเป็นใคร วิเคราะห์ได้มากกว่านี้ ต้องรอดูผลเพราะระดับคะแนนก็สำคัญ คนไม่มาประชุมมีไหม คนที่ไม่ออกเสียงเท่าไร ผมไม่รู้ธงเขา ไว้ให้เสร็จก่อนดีกว่า การทำรัฐประหารเป็นเครื่องวัด หนีไม่พ้น เพียงแต่ว่ากล้ามานั่งเผชิญหน้ากันไหมเท่านั้นเอง
วีระ เลิศสมพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
อย่างที่ติดตามข่าวมีการวิเคราะห์ว่า น่าจะรู้ทิศทางแนวโน้มว่าจะออกมาอย่างไร มีคนไปถามท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ว่ามีใบสั่งหรือส่งสัญญาณไปยัง สนช.ไหม แน่นอนท่านก็ตอบว่าไม่มี เป็นปมของความรู้สึกว่าทางฝ่ายพรรคเพื่อไทยหรือทางคุณยิ่งลักษณ์ มองว่าน่าจะมีการส่งสัญญาณไปยัง สนช. เพราะว่า สนช.คล้ายว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของ คสช.
แน่นอนว่าสัญญาณนั้นไม่มีใครบอกหรอกว่าผมส่งไปหรือใครส่งไป แต่เป็นความรู้สึกและการตีความของคนที่ติดตามข่าวสาร ทางฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์ต้องตีความว่ามีสัญญาณบางอย่างออกมาแล้ว
ที่คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ไปชี้แจงด้วยตัวเองอาจเพิ่มความเสี่ยง แต่ต่อให้ไปชี้แจงด้วยตนเอง ถ้ามองไปในทางลบว่ามีการส่งสัญญาณบางอย่าง สุดท้ายวันลงมติถอดถอน 23 มกราคมก็ไม่น่าจะรอด แต่การไม่ไปจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้คุณยิ่งลักษณ์
เป็นไปได้ว่าสมาชิก สนช.บางท่านที่มีใจเป็นกลางและมีความเป็นธรรมอาจจะอยากฟังเหตุผล แต่คุณยิ่งลักษณ์ไม่ไปอาจขาดโอกาสตรงนั้นในบางส่วน บวกกับที่ทาง สนช.เองไม่เปิดโอกาสให้กับ 4 รัฐมนตรีที่จะอธิบาย คล้ายว่าช่องทางก็ปิดไปโดยปริยาย
ในการวิเคราะห์ทางการเมืองเป็นไปได้ว่ากระบวนการที่เราเห็นอยู่นี้เป็นเกมการเมือง หลีกหนีไม่พ้น เป็นเกมการเมืองของผู้ที่เข้ามาทำรัฐประหาร ดูแลประเทศขณะนี้ แน่นอนถ้าไปสัมภาษณ์ท่านต้องตอบว่าไม่ได้เกี่ยว เป็นดุลพินิจของ สนช.ล้วนๆ สุดท้ายก็อยู่ที่ความเชื่อมั่นใน สนช. ว่าแต่ละท่านมีวิจารณญาณของตนเองและไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ สนช. ถ้าเราไม่เชื่อว่า สนช.เป็นอย่างนั้นผลก็ออกมาอย่างที่เราเชื่อ แต่ถ้าเราเชื่อว่า สนช.มีวิจารณญาณของตนเอง แล้ววันที่ 23 มกราคมนี้ การพิจารณาน่าจะเป็นอิสระภายใต้ดุลพินิจส่วนตนของ สนช.
ถ้ามองว่า สนช.อยู่ภายใต้อิทธิพลของ คสช.ไปแล้ว แนวโน้มเป็นไปได้ว่ามากกว่า 132 เสียงจะยกมือถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์
ส่วนตัววิเคราะห์ในตอนนี้ที่ยังไม่รู้ผล มองว่ามีความน่าจะเป็นสูงมากพอควรว่าคะแนนเสียงอาจมากกว่า 132 เสียง