- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 19 January 2015 10:15
- Hits: 4430
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8818 ข่าวสดรายวัน
'ปู'ไปสภา ยันแถลงปิดคดีเอง เพื่อไทยยังมั่นใจ 'สนช.สายทหาร'ชี้เริ่มปรองดอง เผยวันถอดถอน ลงมติ-โหวตลับ
'ปู'ยืนยันไปสภา แถลง ปิดคดีถอดถอนต่อสนช. 22 ม.ค.นี้เพื่อไทยหวังสายทหาร-ลูกชาวนาเข้าใจหัวอกชาวนา ชี้ผลโหวตจุดเริ่มต้นปรองดองสมานฉันท์'จาตุรนต์'เชื่อคดีถอดถอน-การเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบุกระบวนการผิดมาตั้งแต่ต้น เตือนยิ่งเลือกปฏิบัติยิ่งสกัดปรองดอง 'วรชัย เหมะ'จับสัญญาณ'ปู-นิคม-ขุนค้อน' ไม่น่ารอด เหตุหวังเด็ดหัวฝ่ายตรงข้าม รองประธานสนช.ชี้คดีถอดถอน เข้าสู่ช่วงสุดท้าย นัดเปิดสภาแถลงปิดคดี 21-22 ม.ค.นี้ ก่อนโหวตลับ 23 ม.ค. ตามกำหนดเดิม ผู้ตรวจการฯ เปิดเวทีเสวนาขวางฝ่ายการเมืองร่วมสรรหาองค์กรตรวจสอบ หวั่นเป็นลิเกโรงใหญ่ แนะเปิดทางประชาชนยื่นถอดถอน กรรมาธิการยกร่างฯ เล็งเพิ่มจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปรับแก้ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
ชี้คดีถอดถอนเข้าสู่ช่วงโค้งท้าย
วันที่ 18 ม.ค. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า อย่าไปฟังกระแสข่าวว่ารัฐบาลเข้ามาแทรกแซง สนช.จนเกิดความไขว้เขวหรือขาดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของสนช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ปรามอีกครั้งไม่ให้สมาชิก สนช.ออกมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะชี้นำอีก เรื่องนี้กำลังมาถึงโค้งสุดท้ายแล้วในวันที่ 21-22 ม.ค.จะมีการแถลงปิดคดีสำนวนของทั้งนายนิคม นายสมศักดิ์ และน.ส. ยิ่งลักษณ์ ส่วนวันที่ 23 ม.ค.จะลงมติทั้งสามคน วาระการประชุมแจ้งไปแล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบข้อบังคับที่กำหนดไว้
ยังเปิดโอกาสแจงก่อนลงมติวันศุกร์
"อยู่ที่คู่ความทั้งสองฝ่ายประเมินตัวเอง จากการที่ได้มาแถลงเปิดคดี ตอบข้อซักถาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาตอบก็ยังมีสิทธิ์อีกครั้งที่จะมาสรุปในวันแถลงปิดคดีในสิ่งที่สมาชิก สนช.สงสัย เพื่อแสดงเหตุผลสนับสนุนข้อกล่าวหาหรือข้อถกเถียงของตนเอง เชื่อมั่นว่าสมาชิกทุกคนตั้งใจฟังเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายอีกครั้งก่อนลงมติในวันศุกร์" รองประธาน สนช.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาตอบข้อซักถามที่คณะกรรมาธิการสอบถามทั้ง 35 ข้อหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า เจ้าของคำถามเปิดเผยคำถามไปหมดแล้ว ถ้าจะเอาคำตอบของคำถามเหล่านั้นไปกล่าวในวันปิดแถลงคดีก็เป็นสิทธิ์ของผู้ที่ไม่มาตอบ ข้อซักถาม ที่ผ่านมา สนช.เปิดโอกาสให้ ทั้งสองฝ่ายเต็มที่ กระทั่งยินดีเลื่อนการพิจารณาเพื่อให้อดีตนายกฯ มาตอบคำถามและเรื่องไหนที่ตอบไม่ได้ก็ให้ขออนุญาตประธานให้ผู้อื่นชี้แจงได้ การไม่มาตอบเลยทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ของเจ้าของคำถามที่จะถามกับเจ้าตัว
ไม่หวั่นถูกขู่ฟ้องกลับ-เผยลงมติลับ
ต่อข้อถามว่าประสานกับรัฐบาลที่จะมารักษาความสงบเรียบร้อยในวันลงมติ หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ขอดูสถานการณ์ในสัปดาห์นี้อีกครั้งก่อน เชื่อว่าน่าจะไม่มีสถานการณ์อะไรที่จะเป็นปัญหากระทบการประชุมของสนช. เพราะที่ผ่านมา สนช.ประชุมโดยเปิดเผยถ่ายทอดสดโดย ตลอด การลงมติเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ ถอดถอน ผลจะออกมาอย่างไรต้องวิงวอนสังคมเคารพมติ สนช. ที่ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ส่วนกรณีที่ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์จะฟ้องร้อง สนช.นั้น ใครจะใช้สิทธิ์ฟ้องร้องทางกฎหมายก็ดำเนินการไป แต่ต้องพิจารณาทบทวนว่าการแสดงความคิดเห็นข่มขู่เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้ลงมติลับ ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เพื่อให้การทำงานของ สนช.เป็นอิสระ
ผบ.สส.ยันรบ.-คสช.ไม่ชี้นำ
ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาและพิธีสงฆ์ เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2558 ถึงการพิจารณาลงมติในวาระถอดถอนในส่วนของทหารที่ต้องทำหน้าที่ สนช.ว่า บทบาทของ สนช.ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากเป็นสมาชิก สนช.ต้องพิจารณาจากการรับฟังข้อกล่าวหา ฟังคำชี้แจงและใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคลในการโหวตลงคะแนนเสียงว่าจะมีความเห็นอย่างไร รัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีการชี้นำแต่อย่างใด หรือแม้แต่กองทัพเองก็ไม่ได้ชี้นำ ปล่อยให้เป็นสิทธิและเสรีภาพแต่ละบุคคล
ต่อข้อถามว่าห่วงใยเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการลงมติหรือไม่ ผบ.สส. กล่าวว่า ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะขณะนี้กำลังอยู่ในเฟสที่ 2 ของ คสช.ที่มีรัฐบาลบริหารประเทศโดยมีครม. สนช.และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หากจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นต้องแก้ปัญหา ไปตามกลไกในปัจจุบันที่มีอยู่ คิดว่าประชาชนทุกคนคงอยากเห็นบ้านเมืองสงบ คงจะไม่ทำอะไรให้เกิดปัญหา ไม่ว่าสถานการณ์หรือผลการลงคะแนนจะออกมาอย่างไรทุกคนคงยอมรับได้ โดยเฉพาะประชาชนคงจะเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาลแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้ประเทศชาติสงบและเดินหน้าต่อไป
ทนายยัน'ปู'ไปแถลงปิดคดี 22 ม.ค.
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งข้อความผ่าน ทวิตเตอร์แสดงความเห็นต่อการ ประชุมสนช. เพื่อพิจารณาถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ว่า ในวันที่ 22 ม.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปแถลงปิดคดีด้วยตัวเอง ทีมทนายขอน้อมรับคำวิจารณ์ แต่เราทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว เพียงแต่ สนช.เข้าใจคลาดเคลื่อนในการแสวงหาข้อเท็จจริง การไม่ให้ผู้แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบคำถามแทนใช้หลักเกณฑ์อะไร เพราะข้อบังคับการประชุม สนช.กำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถไปตอบคำถามแทนได้ แม้จะอ้างว่าเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ตั้งคำถาม แต่การเอาเอกสิทธิ์ดังกล่าวมาห้ามผู้ถูกถอดถอนไม่ให้ชี้แจงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ในวันที่ 19 ม.ค.จะมีการประชุมทีมทนายความเพื่อสรุปข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมด
ข้องใจถามวิชาไม่เหมือนถามปู
นายนรวิชญ์ ระบุต่อว่าคำถามที่นำมาใช้ควรให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ช่วยกันพิจารณา ไม่ใช่ให้ สนช.ไม่กี่คนพิจารณา คำถามควรเป็นลักษณะการแสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือตั้งคำถามเพื่อดิสเครดิตฝ่ายใด คำถามทั้ง 35 ข้อที่ถามน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นเท่าที่ดูเนื้อหาแปลกไปจากที่ถามฝั่งป.ป.ช. คำถามที่ถามนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. มุ่งให้อธิบายข้อเท็จจริง แต่คำถามที่ถามน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นการตั้งคำถามในลักษณะเชื่อว่า
แหล่งข่าวระบุว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่กังวลในการแถลงปิดคดี โดยเฉพาะในส่วนการชี้แจงข้อเท็จจริงที่อยู่ในกรอบสำนวนของคณะกรรมการป.ป.ช. เพียงแต่เป็นห่วงท่าทีสมาชิก สนช.บางส่วนโดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.
พท.ระบุปชช.ติดตามข่าวใกล้ชิด
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนติดตามการแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวและเอาใจช่วยอย่างใกล้ชิด เพราะโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่กลับจะส่งผลให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ถูกถอดถอนและถูกดำเนินคดี ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตรกรรมมาก เขาตั้งงบประมาณอุดหนุนเกษตรกรรมกันทั้งนั้นเพื่อให้เกษตรกรอยู่รอด ประเทศไทยยังตั้งงบอุดหนุนน้อยไปด้วยซ้ำ ไหนว่าเกษตรกร เป็นกระดูกสันหลังของชาติ พอรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ตั้งงบประมาณอุดหนุนในโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายที่หาเสียงไว้และแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภา ถือเป็นสัญญาประชาคม ก็เกิดกระบวนการกล่าวหาว่าทุจริต ชาวบ้านอยากรู้ว่าอดีต นายกฯ ทุจริตอย่างไร เพราะอัยการสูงสุดยังสั่งสอบพยานเพิ่มเติม ซึ่งหมายความว่าสำนวนคดีไม่สมบูรณ์ที่จะฟ้องร้อง
นายชวลิต กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ช่วยชาวนาดังกล่าวต้องมีเรื่องของกำไรขาดทุนด้วยหรือ ถ้าอย่างนั้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ดำเนินโครงการมาเป็นสิบปีจนชาวบ้านพอใจ ต่างชาติยกย่อง ไม่เห็นคิดกำไรขาดทุน หรือโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลดูแลประชาชนจะมาคิดกำไรขาดทุนได้อย่างไร ถ้าช่วยกันเสนอ แนะเพื่อพัฒนาปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเป็นกำลังใจแก่ ผู้บริหารโครงการและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม ไม่ใช่ใช้วิธีทำลายกันทางการเมืองแบบนี้
มั่นใจทหารลูกชาวนาเข้าใจหัวอก
รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์มาแถลงเปิดคดีในฐานะผู้กำกับนโยบาย และมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตอบข้อซักถามในรายละเอียด ขั้นตอนต่างๆ ของโครงการ ถือเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับปกติของสภา ซึ่งถูกต้องเหมาะสมแล้ว แต่การที่มีบางกลุ่มบางฝ่ายพยายามผลักดันให้ยกเว้นข้อบังคับสภา ทำให้เห็นเจตนาพิเศษที่คิดแต่จะใช้วาทกรรมทำลายกันทางการเมืองเท่านั้น มั่นใจว่าทหารจำนวนมากก็เป็นลูกหลานชาวนา เข้าใจเห็นใจหัวอกชาวนา เมื่อรัฐบาลในอดีตมาดูแลอุดหนุนชาวนาคงจะพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องรอบด้าน คงไม่หลงไปกับกลเกมของบางกลุ่ม บางฝ่ายที่จ้องทำลายล้างทางการเมืองไม่รู้จบ
ชี้ผลโหวตจุดเริ่มต้นสมานฉันท์
นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่ สนช.ตัดสิทธิไม่ให้ทีมผู้แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบข้อซักถามในคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวในวันที่ 16 ม.ค.นั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาของ สนช.ว่ามีธงอยู่แล้วหรือไม่ ทั้งที่ข้อบังคับระบุชัดว่าสามารถให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงแทนได้ ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงข้อมูลต่างๆ ครอบคลุมและครบถ้วนแล้วในวันแถลงเปิดคดี ซึ่งวันดังกล่าวเป็นเพียงแค่การตอบข้อซักถามเท่านั้น สนช.กำลังทำตัวเป็นเด็ก เอานิสัยเด็กๆ มาใช้ในสภา ผู้ทรงเกียรติ โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.ที่มีเจตนาชัดเจนที่จ้องจะทำลายฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะน.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องนี้ผิดมาตั้งแต่เอากลุ่ม 40 ส.ว.มานั่งเป็น สนช.แล้ว เอาคู่ขัดแย้งมาทำหน้าที่ได้อย่างไร ทำแบบนี้บ้านเมืองคงจะเดินหน้าลำบาก เชื่อว่า การปฏิรูปประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เสียของแน่นอน
"ผมยังยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีแล้ว ถูกฉีกไปหมดแล้ว ต่อให้กระบวนการพิจารณาถอดถอนของ สนช.จะเดินหน้าต่อไป ผมก็เชื่อว่าเสียงของ สนช.จะไม่เพียงพอถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะ สนช.ที่มีใจเป็นธรรมมีอีกมาก เมื่อได้ฟังการแถลงปิดคดีแล้วจะให้ความเป็นธรรมน.ส.ยิ่งลักษณ์แน่นอน อยากให้ทุกฝ่ายยึดบ้านเมืองเป็นหลักไว้ก่อน เดินหน้าปรองดองสมานฉันท์โดยเริ่มจากจุดนี้" นายอำนวยกล่าว
อ๋อยชี้คดีถอดถอนการเมือง 100%
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การถอดถอนกำลังบ่งบอกถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของสังคมไทย เมื่อกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคมและนายสมศักดิ์มาถึงขั้นตอนนี้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าการถอดถอนนี้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการใช้ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอย่างที่ควรจะเป็น แต่เป็นเรื่องการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ไปแล้ว เมื่ออดีต นายกฯ ตัดสินใจไม่ไปชี้แจงด้วยตนเองโดยมอบให้อดีตรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไปชี้แจงซึ่ง สนช.ไม่อนุญาต แต่ยังซักถามกันอยู่อย่างเมามัน เป็นการ ซักถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นการฉวยโอกาสประณามผู้ถูกถอดถอน หว่านล้อมให้ผู้ฟังทั่วประเทศเห็นด้วย การพูดฝ่ายเดียวอย่างนี้ไม่ใช่การซักถาม แต่เป็นการอภิปรายในลักษณะเดียวกันกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่างกันที่การพูดนี้ไม่ยอมให้มีผู้ชี้แจง และการพูดฝ่ายเดียวแบบอภิปรายนี้ไม่มีอยู่ในข้อบังคับซึ่งกำหนดให้ซักถามไม่ใช่อภิปราย สนช.ไม่อนุญาตให้ชี้แจงแทนกันทั้งๆ ที่ข้อบังคับให้ทำได้ อ้างว่าตกลงกันไว้อย่างนั้น แต่เห็นว่าแม้ไม่มี ผู้ชี้แจงก็อนุโลมให้ถามได้ คือเลือกปฏิบัติแบบตามใจฉันนั่นเอง
ชี้กระบวนการผิดตั้งแต่ต้น
นายจาตุรนต์ ระบุต่อว่า ดูจากการกล่าวหา การพูดฝ่ายเดียวและการชี้แจงนอกเวทีของอดีตรัฐมนตรีแล้ว ป.ป.ช.ได้เปรียบตรงที่สามารถพูดเรื่องนี้ได้บ่อยๆ แบบไม่มีขีดจำกัด พูดให้เป็นการเมืองก็ได้ เจือปนด้วยความเห็นทางนโยบายก็ได้ ทั้งๆ ที่โดยหน้าที่ของป.ป.ช.ไม่พึงกระทำอย่างนั้น ป.ป.ช. จึงให้ข้อมูลได้มากกว่า แต่จุดอ่อนของป.ป.ช.คือไม่สามารถแสดงได้ว่ามีใครทุจริตอย่างไร แต่กลับกล่าวหาอดีตนายกฯ ว่าปล่อยให้มีการทุจริต ตนไม่ขอลงในรายละเอียดเพราะเห็นว่าโดยหลักการแล้ว กระบวนการถอดถอนทั้งหมดนั้นผิดมาตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกฉีกไปแล้ว ขณะนี้จึงไม่มีบทบัญญัติใดรองรับหรือให้อำนาจ สนช.ในการถอดถอนนักการเมืองที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรต้องถือว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อ ผู้ถูกถอดถอนทั้งสิ้น
ยิ่งเลือกปฏิบัติยิ่งสกัดปรองดอง
"กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ถูกกล่าวว่าทุจริตคอร์รัปชั่นจะไม่ต้องถูกดำเนินคดี กระบวนการตามกฎหมายที่ไม่ได้อาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี"50 ก็ยังสามารถทำต่อไปได้ เพียงแต่ขอให้เป็นไปอย่างยุติธรรมจริงๆ เท่านั้น เรื่องหนึ่งที่ทางฝ่ายป.ป.ช.และผู้ที่กระเหี้ยนกระหือรือจะจัดการกับอดีตนายกฯ ให้อยู่หมัด มักพูดอยู่บ่อยๆ ก็คือบอกว่าการปรองดองไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่ลงโทษผู้กระทำผิด ผู้ที่พูดอย่างนี้พยายามบ่ายเบี่ยงประเด็นให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผู้ที่กำลังถูกเล่นงานด้วยวิธีต่างๆ อ้างการปรองดองเพื่อให้ตนเองพ้นจากการลงโทษ ทั้งๆ ที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การปรองดองไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่ลงโทษคนผิด เพียงแต่การลงโทษนั้นต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม การให้คุณให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่ยึดหลักนิติธรรมนี่แหละคือต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งและวิกฤตการเมืองในสังคมไทย ยิ่งมีการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมความปรองดองก็ยิ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้" นายจาตุรนต์ระบุ
จับสัญญาณ'ปู-นิคม-ขุนค้อน'ไม่รอด
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จับสัญญาณของ สนช.แล้วคิดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์คงจะไม่รอดการถูกถอดถอนจากคดีปล่อยปละละเลยให้โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริต ที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ขณะที่นายนิคมและนายสมศักดิ์ก็คงจะโดนถอดถอนจากปมแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน "วันนี้ความคิด ขวาจัด สุดโต่งรุนแรงมาก วิธีการหนึ่งคือการเด็ดหัวฝ่ายตรงข้าม เพราะต้องยอมรับว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังมีบารมีสูง และดูเหมือนว่ายังยืนขวางทางอยู่ ดังนั้นสรุปแบบฟันธงไปเลยว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์รอดยาก" อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าว
เปิดเสวนาถกองค์กรตรวจสอบ
ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ โคฟ เกาะช้าง จ.ตราด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจัดเสวนาเรื่อง "ตอบโจทย์: องค์กรตรวจสอบบนเส้นทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีนายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 และนายศรีราชา วงศารยางกูร เป็นวิทยากร
นายพิเชต กล่าวว่าองค์กรตรวจสอบในปัจจุบันเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี"40 และ ปี"50 เมื่อทำงานมานานย่อมมีปัญหา เป็นโอกาสดีที่กำลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้ปรับปรุงแก้ไข โดยเห็นว่า 5 องค์กรตรวจสอบ คือป.ป.ช. สตง. กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกกต. ต้องอยู่ต่อไป แต่ต้องมีการแก้ไขในเรื่องกระบวนการสรรหา ควรขยายฐานคณะกรรมการสรรหาให้มีจำนวนมากกว่า 7 คน มีที่มาหลากหลายเพื่อกลั่นกรองให้ได้บุคคลที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรอิสระแต่ละองค์กรควรเท่ากัน ไม่เกิน 6 ปีและเป็นได้วาระเดียว มีการแก้ไขการกำหนดกรอบหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน และที่สำคัญควรกำหนดนิยามคำว่า "อิสระ" ให้ชัดเจน ว่าหมายถึงอะไร เพราะบางคนมองว่าหมายถึงทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรให้หมายถึงการทำงานที่ปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง
หนุนผู้ตรวจการฯสอบจริยธรรม
นายพิเชต กล่าวต่อว่าส่วนในภารกิจ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าควรเพิ่มอำนาจให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นยักษ์ที่มีกระบองเล็ก เช่น หากผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยให้หน่วยงานนั้นต้องปรับปรุงแก้ไข แล้วภายใน 90 วันหน่วยงานดังกล่าวไม่ดำเนินการเพราะเพิกเฉย ให้ถือเป็นความผิดทางวินัย รวมทั้งควรให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหรือมีส่วนตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองต่อไป เพราะจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมีหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียวทำ ไม่เชื่อว่าสมัชชาคุณธรรมจริยธรรมที่จะตั้งขึ้นเพียงหน่วยงานเดียวจะทำได้
ขวางฝ่ายการเมืองร่วมสรรหา
ด้านนายศรีราชากล่าวว่า จริงอยู่ที่การสรรหากรรมการองค์กรอิสระโดย 7 อรหันต์ไม่เหมาะสม แต่จะเอาองค์กรอื่นเข้ามาต้องคิดให้แตกก่อนว่าจะก่อให้เกิดความดีงาม เป็นธรรม เลือกคนที่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้จริงหรือไม่ ส่วนตัวไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา เพราะทำให้เกิดการ วิ่งเต้นว่าจะเอาไม่เอาได้อยู่ดี เห็นว่าควรกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นกรรมการฯ ให้ชัดเจนว่าต้องไม่มีประวัติด่างพร้อย เมื่อเข้ามาแล้วต้องให้คนคัดค้านได้
นายศรีราชา กล่าวด้วยว่าในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทางผู้ตรวจการฯ มีข้อเสนอขอให้เพิ่มอำนาจการตรวจสอบ โดยนอกจากขอให้มีอำนาจการขอต่อศาลให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นเวลา 30 วันในระหว่างที่ผู้ตรวจการฯ พิจารณาคำร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชนแล้ว ยังเสนอว่าอยากให้ผู้ตรวจการฯ มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาแทนประชาชนได้ การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของรัฐทุกระดับรวมทั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ต่างๆ ที่สำคัญอยากให้กำหนดให้การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างแรงกลายเป็นคุณลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด เพื่อเพิ่มมาตรฐานให้กับสถาบันการเมือง
หวั่นเสมือน"ลิเกโรงใหญ่"
นายสุรชัย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระเพียง 6 ปี และเป็นได้วาระเดียวเพื่อให้ทำหน้าที่อย่างอิสระ ขณะเดียวกันไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมสรรหากรรมการองค์กรอิสระ เพราะเมื่อเราจะสร้างองค์กรอิสระมาตรวจสอบฝ่ายการเมือง หากคนที่จะตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายถูกตรวจสอบก็จะเป็นเหมือน "ลิเกโรงใหญ่" ที่มาเล่นหลอกเขา และที่สุดก็จะไม่พัฒนาเป็นการถ่วงดุลและแบ่งแยกอำนาจอย่างสุจริต องค์กรตรวจสอบจะเข้มแข็งได้ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ 1.ต้องเป็นอิสระแท้จริง 2. สามารถดูแลผลประโยชน์ประชาชนได้อย่างแท้จริง 3.ต้องติดดาบให้ลงโทษผู้ทำผิดได้ เพราะถ้ามีหน้าที่แค่ตรวจสอบก็เข้มแข็งไม่ได้ 4.ผลงานองค์กรต้องเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เอียงไปมา หลายมาตรฐาน ไม่กล้าเป็นผู้นำทางสังคม
แนะเปิดทางปปช.ยื่นถอดถอน
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ปัจจัยใน 3 ข้อแรกนั้นแก้ไขได้โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ในข้อสุดท้ายขึ้นอยู่กับบุคลากรขององค์กรนั้นๆ ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อควบคุมไม่ให้องค์กรอิสระใช้อำนาจตามอำเภอใจ ก่อความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นการป้องกันการเอื้อประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองกับกรรมการองค์กรอิสระ เห็นควรให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระและเสนอแก้ไขกฎหมายองค์กรอิสระได้
ส่วนการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองนั้น นายสุรชัยเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต่อไปไม่เพียงจะกำหนดเฉพาะเรื่องจริยธรรม เท่านั้น แต่จะรวมเรื่องคุณธรรมนักการเมืองเข้าไปด้วย คิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินยังเป็นองค์กรที่เหมาะสม จะทำในเรื่องการตรวจสอบต่อไป และเห็นด้วยกับที่นายศรีราชาเสนอว่าควรกำหนดให้การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างแรงกลายเป็นคุณลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป เพื่อยกระดับนักการเมือง
รองประธาน สนช. กล่าวถึงกรณีสปช.มีข้อเสนอให้ตั้งสมัชชาคุณธรรมจริยธรรมว่า อย่าเพิ่งประเมินว่าผู้ตรวจการฯ ทำเรื่องจริยธรรมไม่ได้ผล เราต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะทำเรื่องจริยธรรมให้ได้ผล เรื่องนี้สำคัญมาก และรัฐธรรมนูญใหม่จะยังคงให้ความสำคัญกับจริยธรรมและคุณธรรมนักการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับใช้ที่เป็นจริง โดยเห็นว่าองค์กร ผู้ตรวจการฯ เหมาะสมที่จะทำเรื่องนี้ต่อไป
เล็งปรับแก้ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมา ธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของมาตราที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมว่า จะมีการพิจารณาในส่วนกรอบกระบวนการยุติธรรมในวันที่ 19 ม.ค.นี้ โดยในช่วงวันที่ 19-21 ม.ค. จะพิจารณาในหัวข้อเรื่องหลักนิติธรรมและศาล ต่อด้วยการพิจารณาตัวบทขององค์กรอิสระซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามที่กรรมาธิการเสนอมา ส่วนการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งในบุคลลในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นน่าจะปรับเปลี่ยนเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง รวมถึงกระบวนการคัดสรรที่จะเขียนให้สามารถคัดสรรอย่างครอบคลุม และทั่วถึงทุกภาคส่วนมากขึ้น ที่สำคัญบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
ถกเพิ่มจำนวนตุลาการศาลรธน.
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การคัดสรรบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรตรวจสอบฯ จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเหมือนกันทุกองค์กร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก คงต้องรอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมาธิการ อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ในบททั่วไปของศาลและกระบวนการ ยุติธรรมจะเขียนระบุชัดเจนในส่วนของหลักนิติธรรมซึ่งจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เขียนเรื่องหลักนิติธรรมไว้ในมาตรา 3 ให้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 รวมถึงทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะระบุให้ชัดเจนในภาคสามว่าอะไรคือหลักนิติธรรม
ส่วนอำนาจหน้าที่และการคัดสรรบุคคล เข้าปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายคำนูณกล่าวว่า อาจปรับเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่เดิมจะอยู่ที่สมัยละ 9 ปี ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในกรรมาธิการด้านกฎหมายบอกว่ามากเกินไป จึงจะปรับให้สั้นลง และจำนวนตุลาการที่แต่เดิมมี 9 คนอาจน้อยเกินไป จึงจะเพิ่มจำนวนตุลาการให้มากขึ้นโดยจะหารือกันอีกครั้ง
ต่อข้อถามถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ในหลักการที่ตกลงกันไว้อาจให้ กกต.กำกับควบคุมการเลือกตั้งให้เต็มที่ โดยเพิ่มอำนาจให้ในเรื่องการกำกับควบคุมการเลือกตั้ง แต่อาจเป็นหน่วยงานอื่นเข้ามาจัดการเลือกตั้ง