- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 18 January 2015 09:52
- Hits: 5309
วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8817 ข่าวสดรายวัน
5 อดีตรมต.ตอบสนช. ผ่านยูทูบ ปปช.นัดชี้ 20 มค. จีทูจี-ขายข้าวจีน'วิษณุ'สะกิดอีก 'แม่น้ำ'บางสาย อย่าไหลเชี่ยว!
เสวนา - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาในงานเสวนาหาทางออก สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ที่ จ.สุพรรณบุรี มีประชาชนมาร่วมรับฟังประมาณ 300 คน เมื่อวันที่ 17 ม.ค. |
5 อดีตรมต.ตอบคำ ถาม 35 ข้อเผยแพร่ผ่านยูทูบ หลังสนช.ไม่ให้ชี้ แจงแทน'ยิ่งลักษณ์'ยกสำนวนป.ป.ช.ย้ำไม่มีหลักฐาน การทุจริตระบายข้าว เผยโครงการจำนำข้าวทำจีดีพีโตร้อยละ 2.7 มีหนี้สาธารณะแค่ ร้อยละ 30 เหตุต้องเทียบคดีปรส. ให้เห็นภาพช่วยชาวนาได้ถึง 15 ล้านคน ชี้ประกันราคาข้าวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ เสี่ยงทุจริตสูงแต่ตรวจสอบยาก ย้ำรธน.ปี 50 สิ้นสุด ป.ป.ช.-สนช.จึงไม่มีสิทธิ์ถอดถอน แจงนโยบายนี้ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ ไม่ใช่ [ทักษิณ[คิดคนเดียว ภูมิธรรมอัดอดีต 40 ส.ว.สร้างบรรทัดฐานขัดหลักประชาธิปไตย[ณัฐวุฒิ[จวกสนช.ทำตัวเด็ก จ้องไล่ล่าฝ่ายตรงข้าม 'วิษณุ[ยันรัฐบาลไม่มีใบสั่งคดีถอด ถอน[ปู[เตือนเเม่น้ำบางสายอย่าไหลเชี่ยวเกินไป ป.ป.ช.เผย 20 ม.ค.นี้ชี้ขาดคดี "บุญทรง" ขายข้าวจีทูจี
ชี้ตั้งสมัชชาคุณธรรมเปลืองงบ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ม.ค. ที่โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ โคฟ เกาะช้าง จ.ตราด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจัดเสวนาวิชาการผู้ตรวจการแผ่นดินสัญจรพบสื่อมวลชน มีนางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายศรีราชา วงศารยางกูร และพล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน : บทบาทก้าวสู่ความท้าทายในอนาคต"
นายศรีราชา กล่าวว่า เรารู้ว่าการทำงานยังไม่เข้าตาของประชาชน ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมือง ซึ่งการพิจารณาบางคำร้อง ผู้ตรวจฯ อาจต้องเริ่มต้นใหม่ คลำทางไม่ถูกและอาจหายไป ทั้งนี้ เท่าที่ทราบน่าจะเป็นข้อยุติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐ ธรรมนูญ ที่จะตั้งสมัชชาคุณธรรมจริยธรรมเพื่อมาตรวจสอบ ดึงอำนาจของเราส่วนนี้ให้เป็นอำนาจของสภาและเกรงจะทำให้เสียเวลางบประมาณ ซึ่งการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นหน้าที่ของทุกองค์กร อำนาจส่วนนี้อย่าจองกฐินไว้คนเดียว ควรให้เป็นกฐินสามัคคี ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมสังฆกรรมปฏิรูปคุณธรรมจริยธรรมในระดับชาติ ไม่เช่นนั้นจะเดินหน้าต่อไม่ได้
แนะเพิ่มยาแรงกรองนักการเมือง
"ถ้าไม่ปฏิรูปประชาชนก็ไปไม่รอด วัฒนธรรมการเมืองไม่ได้ส่งเสริมให้คนมีประชาธิปไตย รัฐบาลควรปฏิรูป 2 สิ่ง คือคุณธรรมจริยธรรมและเรื่องการศึกษา การเป็นประชาธิปไตยต้องมาจากเบื้องลึกจิตวิญญาณของคน ตนนั่งอ่านการยกร่างรัฐ ธรรมนูญเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ กำลังเอาของเก่ามาวิเคราะห์และแก้เป็นจุดๆ เหมือนปะผุรถ แต่จริงๆ แล้วควรออกแบบใหม่ตั้งแต่รากฐาน" นายศรีราชากล่าว และว่า เราเคยคิดว่าการแก้ปัญหาการเมืองคือการเข้ายากแล้วออกง่าย ดังนั้น หากพบว่านักการเมืองทุจริตต้องถูกถอดถอนและต้องจ่ายค่าเลือกตั้งเพราะเป็นคนที่ทำให้การเลือกตั้งเสียหาย ตัดสิทธิเลือกตั้ง ตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งทั้งตัวนักการเมืองและครอบครัว อาจจะเป็นยาแรง แต่เชื่อว่าจะทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ได้คนดีมาบริหารบ้านเมืองและคิดว่าเป็นหนทางเดียวที่ทำได้
ด้านพล.อ.วิทวัสกล่าวว่า บางครั้งการทำงานของผู้ตรวจฯ อาจไม่รวดเร็วทันใจต่อความรู้สึกประชาชน บางเรื่องอาจทำให้ประชาชนพอใจ แต่ขณะเดียวกันเมื่อผู้ตรวจฯ เข้ามาดำเนินการในข้อขัดแย้งนั้นๆ อาจทำให้หน่วยงานราชการผู้ถูกร้องรู้สึกไม่พอใจผู้ตรวจฯ เช่นกัน เปรียบผู้ตรวจฯ เป็นทอง เราทำงานไม่ได้โฆษณา แต่เมื่อมีเรื่องเข้ามากระทบหรือเอาไฟมาลนอย่างไรเราก็ยังเป็นทอง ดังนั้น ข้อเสนอจัดตั้งองค์กรใหม่จึงต้องทบทวนด้วยว่าของใหม่จะทำดีเท่ากับของเก่าหรือไม่ เพราะสิ่งที่ผู้ตรวจฯ ทำมาก็มีผลงานเป็นรูปร่างและกำลังจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากเริ่มใหม่อาจจะไม่คุ้ม
วิษณุเชื่อมีคนลองของหลังใช้รธน.
จากนั้นเวลา 13.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บรรยายพิเศษหัวข้อ "องค์กรตรวจสอบ ความหวังหลังการปฏิรูป" ตอนหนึ่งว่า หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเชื่อว่าการเมืองจะแหลมคมขึ้น จะมีความดุเดือด ต้องมีคนอยากลองของว่าสิ่งที่ทำจะเสียของหรือไม่ มันจะมีการลองวิชาในบทบัญญัติแต่ละมาตราว่าที่เขียนมาจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ทั้งหมดนี่เป็นภาระของประเทศ แต่คงมีมาตรการรองรับ อย่างที่รัฐธรรมนูญจะเข้มงวดกับการชุมนุมหรือเฮทสปีช ซึ่งจะมีภยันตราย มดปลวกมอด จึงดูว่าจะรับมือได้ขนาดไหน ผู้เกี่ยวข้องก็รู้และคิดอยู่ว่าจะรับมือได้ขนาดไหน ถ้าปฏิรูปดีก็เป็นเกราะป้องกันได้ โดยให้ระดับการเมืองที่แบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่ 1.อำนาจหน้าที่บทบาทของตัวละครใหญ่อย่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ทั้งหมดคือองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย จริงๆ แล้วระดับนี้เราคงฝากความหวังไม่ได้สักเท่าไหร่ อย่างมากก็ฝากได้เท่าที่เคยฝาก
นายวิษณุ กล่าวว่า ข้ามไปที่ระดับ 3 ก่อน คือการเมืองภาคประชาชน ระยะหลังกระแสการสิ้นความหวังของการเมืองระดับ 1 จึงต้องสร้างระดับ 3 ขึ้นมา ประชาชนไม่ได้มีหน้าที่ 4 ปีหนในการเลือกตั้ง ต้องสร้างอำนาจต่อรองให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น ระดับนี้น่าจะฝากความหวังไว้ได้ แต่จะหวังฝากผีฝากไข้ที่ภาคประชาชนทั้งหมดคงไม่ได้ ความสำคัญจะตกอยู่ที่ระดับ 2 คือองค์กรตรวจสอบ แม้ไม่หวือหวาเท่ากับระดับ 1 อำนาจหน้าที่น้อยกว่า แต่องค์กรตรวจสอบต้องเป็นองค์กรภาครัฐ
หวั่นทำประชามติ-ชนวนขัดแย้ง
นายวิษณุ กล่าวว่า ความหวังหลังรัฐ ธรรมนูญคือหวังว่าการเมืองทั้ง 3 ระดับนี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ อยากเห็นองค์กรตรวจสอบเดินทางสายกลาง แต่ขึ้นอยู่กับ 6 ปัจจัย 1.ที่มาขององค์กรตรวจสอบ 2.จำนวนคนและองค์กรตรวจสอบที่เหมาะสม 3.วาระการดำรงตำแหน่ง 4.อำนาจหน้าที่ 5.คุณธรรมความน่าเชื่อถือและศรัทธา และ 6.บทบาทในการทำหน้าที่
"ส่วนเรื่องทำประชามติหลังได้รัฐธรรมนูญใหม่นั้น ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ว่าสามารถแก้ไขให้มีการทำประชามติ ถ้ายอมขยายเวลาออกไปและใช้งบประมาณจัดทำโดยคิดว่าคุ้มค่าก็ควรทำ แต่ปัญหาอาจเกิดตอนที่รณรงค์ ฝ่ายหนึ่งอาจสนับสนุน ฝ่ายหนึ่งอาจล้มรัฐธรรมนูญ มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง นี่จึงเป็นเหตุที่ไม่เขียนให้ทำประชามติตั้งแต่แรก จึงขอให้รอดูเหตุการณ์ต่อไป" นายวิษณุกล่าว
โต้ไม่มีใบสั่งคดีถอดถอน'ปู'
จากนั้นนายวิษณุให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีและคสช. ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ว่า ทั้งคสช. และรัฐบาล จะรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงผลการทำงาน รวมทั้งการทำงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การออกกฎหมายและการแก้ปัญหาต่างๆ เบื้องต้นทั้งหมดยังเป็นไปตามแผนโรดแม็ปที่ คสช.ตั้งไว้ แต่อาจมีบางเรื่องต้องเร่งรัดให้รวดเร็วมากขึ้นโดยเฉพาะการออกกฎหมายสำคัญ ที่รัฐบาลอยากเร่งรัดให้เสร็จภายใน 3 เดือนแรก จึงขอความร่วมมือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งพิจารณา อาทิ กฎหมายชุมนุมสาธารณะ และกฎหมายว่าด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5-6 ฉบับ และยังขอความร่วมมือ สปช.เร่งปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด
นายวิษณุ กล่าวว่า การขอความร่วมมือกับ สนช.และ สปช.นั้นยืนยันว่าไม่ได้ไปแทรกแซงการทำงาน อย่างกรณีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีจำนำข้าว รัฐบาลไม่เคยไปคุยหรือส่งสัญญาณถึงสนช. เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เคยพูดไว้แล้วว่าให้ดำเนินการไปตามที่กฎหมายเอื้ออำนวย "กรณีมีข่าวว่าผมไปพบ สปช.เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นการส่งสัญญาณถึง สนช.ในเรื่องการถอดถอนนั้น ยืนยันว่าไม่มี ผมไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะพูด และมันไม่ได้อยู่ในความสนใจของผม การไปรัฐสภาก็ไปพบ สปช.เท่านั้น ไม่เคยหารือหรือพูดคุยอะไรกับ สนช.เลย"
เตือนแม่น้ำบางสายอย่าไหลเชี่ยว
เมื่อถามถึงการเพิ่มข้อความวรรคสอง ในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ รองนายกฯ กล่าวว่า เราไม่ได้ให้ศาลเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาด แต่มาตีความอำนาจตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่จวนจะเกิดแต่ยังไม่ได้เกิด แต่องค์กรที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยต้องไม่ใช่ใครก็ได้ ยกเว้นถึงที่สุดแล้วจริงๆ ที่จริงควรจะเขียนต่อด้วยว่าบางเรื่องบางกรณีศาลฯ อาจไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยก็ได้ ซึ่งบทบัญญัติในวรรคสองนี้ลอกเอาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เขียนไว้แล้วให้ศาลฯ เป็นผู้วินิจฉัย ถ้าสงสัยอะไรว่าเป็นประเพณีหรือไม่ให้ถามศาลฯ
เมื่อถามว่า รัฐบาลยังไม่จำเป็นต้องไปพูดคุยกับแม่น้ำบางสายเพื่อเตือนว่าไม่ต้องไหลเชี่ยวเกินไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีความจำเป็นแต่ต้องดู ว่าจะคุยประเด็นใด ถ้าพูดกลางๆ เคยเตือนแล้วว่าอย่าเหาะเกินลงกา เมื่อถามย้ำว่าต้องเตือนแม่น้ำบางสายว่าอย่าไหลเชี่ยวเกินไปเพราะจะทำให้เรือแป๊ะล่มหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า บางทีเราอาจจะเตือนให้ไหลเชี่ยวก็ได้ อย่างเช่นการปฏิรูปประเทศ
สนช.เหน็บ'ปู'ไม่มาเพราะไม่มีโพย
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ในฐานะ กมธ.ซักถามคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการตัดสิทธิไม่ให้ทีมผู้แทนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบข้อซักถามว่า ที่ผ่านมานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้หลักการคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้วว่า หากใครเป็นผู้มาแถลงเปิดคดีก็ควรมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง เป็นหลักการที่ทั้งสองฝ่ายทราบดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการยื่นญัตติคำถามของผู้ยื่นคำถามทั้ง 13 ราย ยืนยันว่าต้องการให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ตอบเพียงคนเดียว ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นตอบคำถามแทน ดังนั้น กมธ.ซักถามจึงไม่สามารถให้ผู้อื่นมาตอบคำถามแทนได้ ถือว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ให้เกียรติสมาชิกที่ตั้งคำถาม เพราะคำถามทั้งหมดเกี่ยวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์โดยตรง ให้คนอื่นมาตอบไม่ได้
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีทีมทนายระบุข้อบังคับการประชุมสนช. ข้อ 154 เปิดช่องให้ผู้เกี่ยวข้องมาตอบคำถามแทนได้นั้น เป็นกรณีที่หมายถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องมาตอบคำถามเอง แต่หากมีคำถามข้อใดที่เป็นรายละเอียดในทางปฏิบัติ อาจให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยตอบคำถามแทนได้ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องมาชี้แจงร่วมด้วย ทั้งนี้ สาเหตุที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมมาเพราะข้อสอบไม่รั่ว ไม่สามารถเขียนโพยมาอ่านคำตอบได้ ยืนยันว่า สนช.ให้ความเป็นธรรมน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างถึงที่สุดแล้ว ถึงขนาดจะรอให้มาตอบคำถามจนถึงเวลา 18.00 น. วันที่ 16 ม.ค. แต่น.ส. ยิ่งลักษณ์ก็ไม่มา เรื่องคอขาดบาดตายที่มีความสำคัญกับตัวเองขนาดนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่สนใจ ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณตัดสินว่าเป็นอย่างไร
5 อดีตรมต.ตอบ 35 ข้อผ่านคลิป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้แทนที่เข้าชี้แจงแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ที่ประชุม สนช.ไม่อนุญาต กรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านยูทูบ ตอบข้อซักถามทั้ง 35 ข้อ ให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง ชี้แจงคำถามในประเด็นเศรษฐกิจ การเงิน การคลังว่า โครงการจำนำข้าวช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ ทำจีดีพีโตร้อยละ 2.7 หากนับทุกโครงการจะมีหนี้สาธารณะแค่ร้อยละ 30 จากเพดานร้อยละ 60 ส่วนตัวเลขขาดทุนที่ผู้กล่าวหาอ้างนั้นแค่เอามาทบกันหวังทำให้เสียหาย ยืนยันต้องเทียบคดีปรส. ให้เห็นภาพโครงการนี้ช่วยดูแลชาวนาถึง 15 ล้านคน และทุกรัฐบาลต้องช่วยชาวนา ซึ่งราคารับจำนำ 15,000 บาทไม่แพงหากเทียบรายได้สังคมเมือง นอกจากนี้การประกันข้าวเสี่ยงมีการทุจริตมากแต่ตรวจสอบยาก
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงในประเด็นการทุจริตว่า โครงการรับจำนำข้าวพรรคเพื่อไทยหวังแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจเสรีแต่ไม่เป็นธรรม จึงขอให้เข้าใจ ทั้งนี้ ต้องแยกแยะนโยบายกับทุจริต รัฐบาลทำเต็มที่ตั้งอนุ กรรมการปราบปราม ซึ่งฟ้องแล้วกว่า 270 คดี
ยันทักษิณไม่ได้คิดคนเดียว
นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ตอบคำถามเรื่องกระบวนการของโครงการรับจำนำข้าว โดยชี้แจงขั้นตอนเก็บรักษาข้าว ยืนยันไม่มีสวมสิทธิ์ ส่วนการระบายใช้ตามวิธีปกติ โดยยกสำนวนป.ป.ช.ย้ำ "ไม่มีหลักฐานการทุจริตระบายข้าว"
ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ตอบในประเด็นข้อกล่าวหาทางการเมือง โดยยืนยันนโยบายรับจำนำข้าว ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ ไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดเพียงคนเดียว และรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดแล้ว ป.ป.ช.กับ สนช.จึงไม่มีสิทธิถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์
ส่วนนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีต รมช.คลัง และอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยืนยันรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการให้ข้าวราคาดี และคนที่เป็นกรรมการคือป.ป.ช.และสนช. ต้องมองผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ก่อน ไม่ใช่มองว่าทุจริตแล้วซ้ำให้หนักกว่าเดิม (อ่านรายละเอียด น.3)
'เต้น'จวกสนช.ทำตัวเด็ก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ตัวแทนเข้าตอบข้อซักถามของ สนช.แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากที่ประชุมให้ตอบคำถาม โดยระบุว่า การเข้าชี้แจงต่อ สนช.หรือไม่ อย่างไร เป็นสิทธิ์โดยชอบของผู้ถูกกล่าวหา การที่รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องไปพร้อมกันเพื่อตอบข้อซักถามเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม สนช.ให้ทำได้ จึงไม่มีเหตุผลที่ สนช.ต้องโวยวาย ตั้งแง่ ประเภทถามแต่ไม่ให้ตอบ แบบนี้เด็กเขาทำกัน จริงๆ ต้องมองว่ารัฐมนตรียกคณะกันมา ถือเป็นการให้ความร่วมมือกับสนช.อย่างยิ่งในการให้ข้อมูลจากผู้รับผิดชอบโดยตรง
รุมถ่ายรูป - ประชาชนจำนวนมาก พากันรุมถ่ายรูปกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ห้างโลตัส ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระหว่างพาน้องไปป์-ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ลูกชาย ไปเที่ยวชมธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ |
นายณัฐวุฒิ ระบุว่า แต่บางคนหมายมั่นปั้นมือว่า จะใช้เวทีนี้รุมกระหน่ำน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สาแก่ใจ พอเขาไม่เล่นด้วยก็ฟาดงวงฟาดงา เอาเข้าจริงคนที่ลุกขึ้นทักท้วงก็ไม่มีใจรับฟังคำตอบอยู่แล้วเพราะตั้งธงจะถอดถอนตั้งแต่ต้น และคนกลุ่มเดียวกันนี้ยังไล่ล็อบบี้ สนช.ให้ลงมติถอดถอนตามพวกตัวด้วย เรื่องแบบนี้ไม่มีความลับ แต่อยากให้มีความอายกันบ้าง ซึ่งเข้ามานั่งกินเงินเดือน รับสวัสดิการในสภาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งแล้วยังไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามเอาเป็นเอาตาย ผลจากการกระทำจะเป็นอย่างไรไม่สน เพราะถึงทำเสียของก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ขอให้เพลาๆกันบ้าง ประชาชนเขาดูออก
ภูมิธรรมทวีตป้อง'ปู'ยึดมั่นสัญญา
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เท่าที่ติดตามการแถลงเปิดคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ครบถ้วน รอบด้าน ถ้าไม่มีอคติมากเกินไป ต้องยอมรับว่าอดีตนายกฯ แถลงครอบคลุมทุกประเด็น เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาของคนทั้งประเทศ
นายภูมิธรรมกล่าวว่า การที่มีกลุ่มบุคคลบางส่วนหรือบางกลุ่มการเมืองตั้งคำถามเรื่องกำไร-ขาดทุนในโครงการจำนำข้าว จึงเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด แสดงถึงความไม่เข้าใจในบทบาทของรัฐที่พึงดูแลประชาชนที่ยากลำบากโดยไม่ได้หวังผลกำไรหรือขาดทุน นอกจากนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ซื่อสัตย์ต่อคำมั่นที่มีต่อผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง นำนโยบายที่แถลงไว้มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด วิถีปฏิบัติที่น.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยทำนั้นรัฐบาลประชาธิปไตยทั่วโลกเขายอมรับและกระทำกัน และมิใช่เพิ่งนำเรื่องจำนำข้าวมาผลักดันเป็นนโยบายรัฐบาลเป็นครั้งแรก ในอดีตเราก็ทำเช่นนี้ ไม่ว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท
ย้ำให้อดีตรมต.ตอบ-ทำตามข้อบังคับ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่บางกลุ่มการเมืองพยายามทำถ้าสำเร็จอย่างที่พวกเขามุ่งหวัง จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ คือ การผลักดันนโยบายที่เป็นสัญญาประชาคมที่พรรคให้พันธะกับประชาชนไว้เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องทำ หากเราไม่ยอมรับ สิ่งที่ต้องทบทวนคือข้อคิดเห็นของป.ป.ช.ที่อาจมีข้อสงสัยต่อโครงการใดๆ ไม่ว่าจะเข้าใจปรัชญาของโครงการนั้นหรือไม่ก็ตาม จะนำมาระงับ ยับยั้งสัญญาประชาคมหรือพันธะที่รัฐบาลให้ไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่
"ข้อสงสัยของผมคือ ข้อสงสัยของป.ป.ช. กับสัญญาประชาคมที่รัฐบาลแถลงต่อสภา เราควรยึดถือประเด็นของใครเป็นบรรทัดฐานนำไปปฏิบัติ หรือความคิดเห็นของป.ป.ช. เพียงบางคน สามารถหักล้างสัญญาประชาคมที่รัฐบาลแถลงต่อสภาได้ ถ้าฟังคำแถลงเปิดคดีของอดีตนายกฯ พร้อมเอกสารประกอบเกือบ 140 หน้า ที่มอบให้แก่สนช. จะพบว่าครบถ้วนและสมบูรณ์แล้ว การมอบผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอดีต รมต.ที่เกี่ยวข้องกับจำนำข้าวโดยตรงไปตอบข้อซักถามจึงชอบด้วยหลักกฎหมายตามข้อบังคับปกติของสภาทุกประการ" นายภูมิธรรมระบุ
จวก 40 ส.ว.ทำวิถีการเมืองเพี้ยน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจกลุ่ม 40 ส.ว.ที่พยายามผลักดันให้ยกเลิกข้อบังคับบางประการเป็นกรณีพิเศษ ทำให้คิดว่าการถอดถอนเป็นเรื่องเจตนาพิเศษ ตนเชื่อในเจตนาบริสุทธิ์ของสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ และไม่คิดว่า สนช.ส่วนใหญ่จะเห็นดีงามไปกับผู้มีเจตจำนงพิเศษบางคนที่พยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้
นายภูมิธรรม กล่าวว่า เห็นว่าการกระทำที่ผ่านมาของอดีต 40 ส.ว.ที่ผลักดันเรื่องต่างๆ นั้น มีผลกระทบทำให้หลายครั้งการเมืองได้ผิดเพี้ยนไปจากวิถีที่ควรจะเป็น ซึ่งตนสนับ สนุนทีมที่ปรึกษาและคณะของอดีตนายกฯ ที่ยืนยันความถูกต้อง ยึดถือกฎกติกาและกระบวนการตามข้อบังคับปกติของสภา ผลที่จะเกิดขึ้นอยู่ในดุลยพินิจของประชาชนที่เฝ้าดูอยู่ เราในฐานะนักการเมืองที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยได้ทำทุกอย่างที่สมควรอย่างดีที่สุดแล้ว
'ปู-ไปป์'พักผ่อนเขาใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ได้พาด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชายไปพักผ่อนที่เขาใหญ่ โดยระหว่างทางแวะซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีประชาชนเข้ามาทักทายพร้อมให้กำลังใจ และขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
ปปช.ชี้ขาดคดี'บุญทรง'อังคารนี้
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก ทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่า มีการบรรจุวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่แล้ว ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยขณะนี้มีข้อมูลบางส่วนสามารถสรุปและพิจารณาชี้มูลความผิดได้แล้ว ซึ่งได้ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการประสานงานกับประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมจะพิจารณาผู้ถูกกล่าวหาในส่วนของนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ส่วนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องยังต้องไต่สวนต่อไป เพราะในคดีนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 100 กว่าราย
นายปานเทพ กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่ายป.ป.ช.ว่า ขณะนี้ป.ป.ช ได้สอบเพิ่มเติมพยาน 1 รายและขอเอกสารเพิ่มเติมในคดีครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ส่วนการนัดหารือกันครั้งต่อไปยังไม่ได้กำหนด โดยคณะทำงานร่วมต้องพิจารณาและทราบว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งไม่เกินเดือนม.ค.นี้
กมธ.พอใจภาพรวมถกรายมาตรา
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยว่า สัปดาห์หน้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มทยอยพิจารณาในภาค 3 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นจะกลับมาพิจารณาในภาคที่ 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมืองในหมวดที่เหลืออยู่ให้เสร็จ ทั้งนี้ ภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างดี กมธ.ยกร่างฯ ทุกคนร่วมมืออย่างดี มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางและรอบคอบทุกมาตรา โดยบทบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาส่วนใหญ่เป็นการเขียนขึ้นใหม่ ซึ่งเราดูจากวิวัฒนาการของบ้านเมือง และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ส่งเข้ามาด้วย แต่มีบางส่วนที่นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเดิมมาผสม ทำให้ร่างมีความเป็นสากล มีของใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน อาทิ การพิจารณางบประมาณ ความเสมอภาคทางเพศ จึงมั่นใจว่าร่างรัฐ ธรรมนูญในส่วนผ่านการพิจารณาไปแล้วจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ปชป.โวย'บวรศักดิ์'ไม่มั่นใจร่างรธน.
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการทีมประสานงานมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พูดในรายการเดินหน้าประเทศไทย ระบุเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นในวันที่ 6 ส.ค. และอาจต้องทำประชาพิจารณ์ ถ้าไม่ผ่านก็จะยุบสปช. และกมธ.ยกร่างฯ แล้วเริ่มต้นใหม่ว่า ตนไม่สบายใจที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแสดงความไม่มั่นใจและอาจล้มเหลวจนต้องเริ่มต้นใหม่ สิ่งสำคัญควรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมมากกว่านี้และให้คำนึงถึงการนำไปใช้และปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่ยึดระบบต่างประเทศแล้วยกมาทั้งหมด ถ้าคนร่างไม่เข้าใจวัฒนธรรมและประเพณีการปกครองไทยต้องรีบเปลี่ยนวิธีคิดหรือเปลี่ยนคนร่างทันที อย่ารอให้ล้มเหลวแล้วถึงเปลี่ยน
นายภูมิสรรค์ กล่าวอีกว่า การออกแบบวิธีและกรอบการเลือกตั้งเริ่มส่อถอยหลังในหลายประเด็น จึงอยากวอน กมธ.ยกร่างฯ คิดให้ทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง มิเช่นนั้นจะเข้าทางคนพวกนั้นอีก พรรคได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนีอย่างละเอียด ซึ่งนักการเมืองของเยอรมนีกล่าวถึงนักการเมืองไทยบางพวกว่าคิดแบบศรีธนญชัย ดังนั้น ถ้าใช้ระบบเยอรมนีโดยไม่คิดถึงบริบทไทยพรรคการเมืองจะแบ่งเป็นพรรคย่อยๆ และส่งระบบบัญชีกับเขตแยกกัน สุดท้ายประเทศจะกลับสู่ความขัดแย้งอีกครั้งด้วยวิธีเลือกตั้งแบบนี้ และบางระบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาล้มเหลวเพราะระบบตรวจสอบ องค์กรอิสระถูกแทรกแซงแบบเบ็ดเสร็จทั้งสภา ฉะนั้นอย่าคิดแค่เปลี่ยนระบบเดิม ควรให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบมากกว่า
ไก่อูยันตั้งวิปไม่ได้แทรกแซงสปช.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลและ สปช.ว่า เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเวลารัฐบาลมีน้อย การคุยเพื่อหาข้อยุติในแต่ละเรื่องต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน รัฐบาลอาจเข้าไปเสนอในเชิงมุมมองของรัฐบาล ขึ้นอยู่กับ สนช.จะเอาหรือไม่ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าไปควบคุมหรือแทรกแซง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการทำงานของ สนช.และ สปช.จะไม่ทำให้การทำงานของรัฐบาลและ คสช.ล่าช้า
ชี้'ตั้ง อาชีวะ'โดนอาญาไม่ใช่การเมือง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงกรณีนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ให้ลี้ภัยไปประเทศนิวซีแลนด์จนได้เป็นพลเมืองนิวซีแลนด์แล้วว่า ไม่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ถึงไหนอย่างไร แต่ทั้งสองประเทศต่างโตๆ กันแล้ว ควรรู้ว่าต้องทำอย่างไร อย่างน้อยผลที่ตามมาคือทำให้เขารู้ว่าคนที่หนีคดีไปบ้านเขามันไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีอาญา ไม่ต้องไปพูดว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะบางประเทศปกครองคนละระบอบกับเรา เขาอาจไม่เข้าใจ แต่เราต้องบอกว่าคนที่หนีไปนั้นทำร้ายหัวใจคนไทยอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีคนของเขาทำร้ายคนของเขาแล้วหนีมาอยู่ประเทศเราแล้วเราเพิกเฉย เขาจะเป็นอย่างไรบ้าง
'ตู่'ตั้งกก.ขับเคลื่อนนโยบาย
วันที่ 17 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 18/2558 เรื่องแต่งตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล" โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.นายกฯ เป็นประธาน 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นรองประธาน คนที่หนึ่ง 3.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ เป็นรองประธาน คนที่สอง 4.นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ เป็นรองประธาน คนที่สาม 5.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ เป็นรองประธาน คนที่สี่ 6.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นรองประธาน คนที่ห้า
กรรมการประกอบด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เลขาธิการนายกฯ เลขาธิการครม. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผอ.สำนักงบประมาณ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เปิดตลาดกล้วยไม้ในทำเนียบ
วันที่ 17 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีนโยบายช่วยเหลือชาวสวนกล้วยไม้ โดยให้จัดตลาดกล้วยไม้ขึ้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยจำหน่ายวันที่ 19-21 ม.ค.นั้น ตลอดทั้งวันนี้มีเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาเตรียมสถานที่บริเวณถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษมตั้งแต่เชิงสะพานอรทัย จนถึงประตู 8 ทำเนียบ ระยะทาง 100 เมตร เพื่อเป็นตลาดนัดกล้วยไม้ ตามโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพ จะจำหน่ายทุกสัปดาห์ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพุธ เวลา 09.00-18.00 น. เริ่มวันแรกในวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งจะมีพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานเปิดงาน
แหล่งข่าวทำเนียบ ซึ่งรับผิดชอบงานด้านรักษาความปลอดภัยเผยว่า ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ประชาชนที่สนใจเข้ามาเลือกซื้อกล้วยไม้ไม่ต้องแลกบัตรผ่านเข้าทำเนียบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประเมินว่าจะมีประชาชนสนใจเข้ามาจำนวนมาก โดยเข้ามาทางประตู 2 เชิงสะพานอรทัย ตรงข้ามวัดโสมนัส และประตู 6 หรือประตูน้ำพุ เชิงสะพานมัฆวานฯ โดยเจ้าหน้าที่เตรียมมาตรการตรวจค้นวัตถุต้องสงสัย อาทิ ขอค้นตัว กระเป๋า เพื่อป้องกันการนำวัตถุอันตรายเข้ามา โดยไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวผ่านเข้ามาในทำเนียบ เพราะจะปิดเป็นถนนคนเดิน ทั้งนี้ บริเวณที่จัดตลาดนัดกล้วยไม้อยู่ติดกับตึกบัญชาการ 1 ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมครม.ในวันที่ 20 ม.ค.อีกด้วย
สนช.ซัด'ยิ่งลักษณ์'ไม่ให้เกียรติ! เหน็บ ไม่มาเพราะข้อสอบไม่รั่ว เลยทำโพยไม่ได้
มติชนออนไลน์ : 'กิตติศักดิ์' แจงเหตุกมธ.ซักถาม ปิดปากตัวแทน 'ยิ่งลักษณ์' จวก 'ปู'ไม่กล้ามาเองเพราะข้อสอบไม่รั่ว
เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะคณะกรรมาธิการซักถามคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการตัดสิทธิไม่ให้ทีมผู้แทนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบข้อซักถามแทนในกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว ว่า ที่ผ่านมานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ให้หลักการบอกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไปแล้วว่า หากใครเป็นผู้มาแถลงเปิดคดี ก็ควรมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง เป็นหลักการที่ทั้งสองฝ่ายทราบดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในการยื่นญัตติคำถามของผู้ยื่นคำถามทั้ง 13 ราย ยืนยันว่า ต้องการให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ตอบคำถามเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นเป็นผู้ตอบคำถามแทน ดังนั้นคณะกรรมาธิการซักถามจึงไม่สามารถให้ผู้อื่นมาตอบคำถามแทนได้ ถือว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ให้เกียรติสมาชิกที่ตั้งคำถาม เพราะคำถามทั้งหมดเกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์โดยตรง ไม่สามารถให้คนอื่นมาตอบได้
"ทีมทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ข้อบังคับการประชุมสนช. ข้อ 154 เปิดช่องให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถมาตอบคำถามแทนได้นั้น เป็นกรณีที่หมายถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องเดินทางมาตอบคำถามเอง แต่หากมีคำถามข้อใดที่เป็นรายละเอียดในทางปฏิบัติ ก็อาจจะพิจารณาให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยตอบคำถามแทนได้ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องมาชี้แจงร่วมด้วย มองว่าสาเหตุที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมเดินทางมาตอบคำถามด้วยตัวเอง เพราะข้อสอบไม่รั่ว เลยไม่สามารถเขียนโพยมาอ่านคำตอบได้ ยืนยันว่า สนช.ให้ความเป็นธรรมน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างถึงที่สุดแล้ว ถึงขนาดเปิดโอกาสว่า จะรอน.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบคำถามจนถึงเวลา 18.00 น. วันที่ 16 มกราคม แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่มา เรื่องคอขาดบาดตายที่มีความสำคัญกับตัวเองขนาดนี้ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่สนใจ ก็ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณตัดสินเองว่าเป็นอย่างไร" นายกิตติศักดิ์ กล่าว