- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 17 January 2015 21:18
- Hits: 3940
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8816 ข่าวสดรายวัน
ถาม-แต่ไม่ให้ตอบ สนช.ยื้อ บีบ'ปู'ต้องมาเอง ทนายโวยละเมิดสิทธิ อสส.โต้'วชา'คดีข้าว ยันยังไม่มีคำสั่งฟ้อง บิ๊กตู่โอดคนแจวเรือ ให้คอยฟัง'แป๊ะ'บ้าง
แจงสนช.- นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง พร้อมอดีตรมต.ที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนำข้าว เดินทางมาเพื่อตอบข้อซักถามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในกรณีการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. |
'ปู'ส่งตัวแทนตอบซักถามคดีถอดถอน เจอสนช.ยื้ออ้างมติห้ามตอบแทน ก่อนลุยถามฝ่ายเดียว ทีมตัวแทนชี้กำลังละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ตามรธน.ชั่วคราว ม.4 ด้าน'พรเพชร'แจงวุ่น อ้างเป็นสิทธิ์ของคนถาม เลือกฟังใครตอบ ยันไม่ละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน 'บิ๊กตู่'โอดคนแจวเรือแป๊ะ ให้ฟังแป๊ะบ้างซิ ลั่นห้ามม็อบชุมนุม ห้ามใช้ความรุนแรง
มอบ 5 รมต.ตอบถอดถอนแทน
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่รัฐสภา นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย พร้อมทีมทนาย เดินทางมายังรัฐสภาเพื่อเตรียมตอบข้อซักถามของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามในคดีออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
นายพิชิตเปิดเผยว่า ทีมทนายความได้ข้อสรุปว่าจะไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบข้อซักถาม โดยมอบให้ทีมทนายความและอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว 9 คน เป็นผู้มาตอบแทน ได้แก่ ทีมทนายความ 4 คน และอดีตรัฐมนตรี 5 คนคือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรมช.คลัง
"ปู"รอแถลงปิดเอง
นายพิชิตกล่าวว่า ยืนยันเป็นการเสนอของทีมทนายเองที่ต้องการใช้สิทธิตามข้อบังคับการประชุม สนช.ข้อ 154 ที่ระบุให้ที่ประชุมซักถามประเด็นปัญหากับผู้เกี่ยวข้องได้ ซึ่งหมายถึงผู้แทนคดี กรณีนี้ทีมทนายความและอดีตรัฐมนตรีถือเป็นผู้แทนคดี จึงมีสิทธิตอบข้อซักถามแทนได้ ซึ่งอดีตรัฐมนตรีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวอยู่แล้ว ทั้งการบริหาร กำกับ ควบคุม ดูแลโครงการดังกล่าว จึงชี้แจงแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ ทีมทนายจึงขอใช้สิทธิตามข้อบังคับอย่างเต็มที่
นายพิชิตกล่าวต่อว่า ส่วนที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. พยายามใช้แท็กติกขอยกเว้นข้อบังคับการประชุมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบข้อซักถามเอง โดยบอกว่าโดยหลักการแล้ว ใครที่มาแถลงเปิดคดีควรมาตอบข้อซักถามเองด้วย ทีมทนายความจับไต๋ได้ว่าการพยายามยกเว้นข้อบังคับดังกล่าว เป็นการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ เพื่อให้การซักถามอยู่มือของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะ กมธ.ซักถาม จะทำให้เกิดความไม่เป็นกลางเกิดขึ้น ดังนั้นทีมทนายจึงต้องขอใช้สิทธิตามข้อบังคับอย่างเต็มที่ อย่ามองว่าเป็นเรื่องมือปืนรับจ้างเลย ส่วนการแถลงปิดคดีในวันที่ 22 ม.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาชี้แจงต่อ สนช.ด้วยตัวเอง
ชี้ผู้ปฏิบัติตอบเองเหมาะที่สุด
เมื่อถามถึงการไม่ตอบข้อซักถามของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แสดงความบริสุทธิ์ใจ นายพิชิตกล่าวว่า ถ้าพูดเรื่องความบริสุทธิ์ใจ ต้องถามกลับไปยังสนช.ว่า สนช.ได้ยกเว้นข้อบังคับมีความบริสุทธิ์ใจแค่ไหน
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราใช้สิทธิตามข้อบังคับ ข้อ 154 ให้ผู้แทนคดีตอบข้อซักถามแทนจนกว่าจะเสร็จ อีกทั้งที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงคัดค้านและชี้แจงในทุกประเด็นจนครบถ้วนแล้ว คณะทนายจึงเห็นว่ารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสามารถตอบข้อซักถามเพราะเป็นผู้ปฏิบัติงานในโครงการรับจำนำข้าวโดยตรงอยู่แล้ว ประกอบกับขั้นตอนการพิจารณาคดียังไม่เสร็จสิ้น ยังเหลือวาระการแถลงปิดคดีอยู่อีก ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแถลงปิดคดีในวันที่ 22 ม.ค.ด้วยตนเอง
นายนรวิชญ์กล่าวว่า ขอความเป็นธรรมต่อ สนช.ให้วางตัวเป็นกลาง ไม่มีอคติ และขอให้ฟังข้อมูลข้อเท็จจริงที่อดีตรัฐมนตรีทุกคนชี้แจง จะได้ทราบว่าอดีตนายกฯ ไม่เคยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย อีกทั้งขอให้สมาชิก สนช.ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม ไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองเพื่อล้มล้าง ครม.ที่มาจากระบอบประชาธิปไตยและมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางตอบคำถามด้วยตัวเองโดยมอบตัวแทนเป็นทีมทนายความและอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในโครงการมาแทน ล่าสุดกมธ.ซักถามได้คัดเลือกคำถามที่ซ้ำซ้อนและสรุปเหลือคำถามในคดีนี้ โดยถาม ป.ป.ช.เหลือ 11 ข้อจากที่ส่งมา 23 ข้อ และถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ เหลือ 35 ข้อ จากที่ส่งมา 60 คำถาม ขณะที่สื่อมวลชนฝ้าติดตามทำข่าวจำนวนมาก บรรยากาศที่หน้ารัฐสภาเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารมาดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยไม่มีผู้สนับสนุนฝ่ายใดมาให้กำลังใจ
"ทวีศักดิ์"โวย"ปู"ไม่มาตอบ
จากนั้นเวลา 10.20 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เปิดประชุมสนช. ครั้งที่ 4/2558 เพื่อพิจารณาดำเนินในขั้นตอนซักถามตามที่ที่ประชุมสนช.กำหนดตามญัตติของสมาชิกสนช. โดยกรรมาธิการ(กมธ.)ซักถาม ซึ่งจะถามคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายคือ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.เป็นตัวแทนฝ่ายป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และทีมทนายความและอดีตรัฐมนตรีรวม 9 คน เป็นตัวแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา
โดยนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสนช. ทักท้วงว่า ก่อนหน้านี้คู่กรณีทราบขั้นตอนว่าต้องมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง แต่น.ส. ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมมา จึงไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้ ขอให้สมาชิกหารือประเด็นนี้ก่อน และการให้คนอื่นมาตอบเหมือนมาล้วงข้อสอบแล้วเอาไปทำรายละเอียดแถลงปิดคดีอีกครั้ง หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาก็ควรถามผู้แทนป.ป.ช.เพียงฝ่ายเดียว ถือเป็นการสละสิทธิเองในการทราบคำถาม ต้องไปทำคำตอบจากการคาดเดาเอาเอง เพื่อมาแถลงปิดคดี จะเกิดความเป็นธรรมมากกว่า
นายพรเพชรชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ในวันแถลงเปิดคดี เคยบอกคู่กรณีไว้ว่าใครที่มาพูดในวันแถลงเปิดคดีก็ควรมาตอบคำถามเองด้วย วันนี้แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มา แต่เมื่อเปิดดูข้อบังคับการประชุมไม่มีการบังคับว่าจะต้องมาด้วยตัวเอง การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาคงไม่มีผลประการใด ซึ่งต้องทำตามข้อบังคับ การที่ใครจะทำหรือไม่ทำสิ่งใดคงพูดอะไรมากไปไม่ได้เพราะตามกฎหมาย กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา คงพูดอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้
สนช."กลุ่ม40ส.ว."ค้านตอบแทน
ด้านน.ส.นิสดารภ์ เวชยานนท์ สมาชิกสนช. ถามว่า อยากทราบเหตุผลที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มาตอบข้อซักถามครั้งนี้ ขณะที่นายสมชาย แสวงการ กมธ.ซักถาม กล่าวเสริมว่า คำถามที่สนช.อยากถาม เป็นคำถามที่ต้องการถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ตัวแทนที่มาจะตอบคำถามเหล่านี้ที่สนช.ต้องการถามผู้ถูกกล่าวหาได้อย่างไร
โดยนายพรเพชร ยืนยันว่า เมื่อน.ส. ยิ่งลักษณ์ไม่มา ผลก็เป็นไปตามกลไกการพิจารณา แต่ข้อบังคับไม่ได้ห้ามไว้ จึงต้องให้ผู้แทนเข้ามาเพื่อมาตอบข้อซักถาม ก่อนจะอนุญาตให้ทีมทนายชี้แจงเหตุผลที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ไม่มาตอบข้อซักถาม
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนาย ชี้แจงเหตุผลว่า ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมข้อ 154 ที่ระบุให้ผู้เกี่ยวข้องมาตอบข้อซักถามได้ แต่ไม่ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาตอบคำถาม เป็นการทำตามข้อบังคับ ไม่ใช่ขอยกเว้นข้อบังคับ และการหารือวันที่ 9 ม.ค. ก่อนแถลงเปิดคดีก็ไม่มีข้อตกลงว่า จะให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มาชี้แจงข้อซักถามด้วยตัวเอง
ขอประชุมลับ-จะถามไม่ถาม
อย่างไรก็ตามนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และนายสมชาย แสวงการ ยังคงคัดค้าน ไม่ควรซักถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาตอบด้วยตัวเอง
ขณะที่นายพรเพชร พยายามตัดบทให้เริ่มเข้าสู่กระบวนการซักถามโดยย้ำว่า ไม่มีข้อห้ามว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง และหากเห็นว่าคำถามใดที่จะถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มา ก็เป็นดุลพินิจของกมธ.ซักถาม จะไม่ถามก็ได้
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกมธ.ซักถามคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า กมธ.ไม่มีสิทธิตัดสินเองว่าจะถามหรือไม่ถามคำถามใด ดังนั้นขอเสนอให้คู่กรณีสองฝ่ายออกจากห้องประชุมไปก่อน เพื่อให้สนช.ประชุมลับว่าคำถามใดควรจะถามหรือไม่ควรถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้นายพรเพชร เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายออกจากห้องประชุม
นายพรเพชรกล่าวว่า กฎหมายไม่สามารถบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาตอบคำถามเอง สามารถส่งตัวแทนมาได้ และหากส่งมา 9 คน ต้องไปตกลงว่าใครเป็นตัวแทนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่ให้ตอบทั้ง 9 คน จากนั้นนายสมชาย แสวงการ เสนอให้ที่ประชุมมมีมติประชุมลับเพื่อหารือว่ากับสนช.ที่ยื่นญัตติคำถามทั้ง 13 คน ว่ากรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่มาตอบคำถามเองจะถามหรือไม่ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประชุมลับด้วยคะแนน 153 ต่อ 1 งดออกเสียง 21 เสียง จากนั้นจึงเริ่มประชุมลับในเวลา 11.09 น.
สนช.มีมติลุยถามต่อ
จากนั้นเวลา 11.50 น. การประชุมสนช.กลับมาประชุมโดยเปิดเผยอีกครั้ง หลังประชุมลับไป 40 นาที โดยนายพรเพชร ให้กมธ.ซักถามดำเนินการซักถามคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อป.ป.ช. ซึ่งมีทั้งหมด 11 ข้อ และถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ 35 ข้อ โดยพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกมธ.ซักถาม อ่านรายงานข้อสรุปของกมธ.และถามป.ป.ช.ว่า ได้ติดตามการทุจริตของโครงการรับจำนำข้าวอย่างไรบ้าง ทราบหรือไม่ว่าโครงการมีการทุจริตเมื่อใด มีพยานหลักฐานอย่างไร เมื่อได้ทราบว่ามีการทุจริตแล้วได้ดำเนินการอย่างไร
นายวิชาชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวถ้าเปิดช่องโหว่ให้ทุจริตในขั้นตอนต่างๆ เราจึงขอให้ทีดีอาร์ไอวิจัยการแทรกแซงพืชผลทางการเกษตร จะพบว่ามีการบิดเบือนกลไกทางการตลาด รับจำนำสูงถึง 1,5000 บาท สูงกว่าตลาด ป.ป.ช.ทำหนังสือเตือนให้รัฐบาลระงับโครงการนี้ถึง 2 ครั้ง แต่รัฐบาลยังยืนยันจะดำเนินการต่อ
นายวิชากล่าวต่อว่า ป.ป.ช. มิได้นิ่งเฉย และเมื่อมีการร้องเรียนขึ้นมาจริงๆ ในกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศในการระบายข้าวแบบจีทูจี มีผู้เข้าร่วมกระบวนการทุจริตทุกระดับชั้น กระทั่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินคดีกับคู่สัญญารัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกและโกงข้าวมูลค่า 3.6 ล้านตัน คิดเป็นความเสียหายมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาท จึงถึงเวลาสิ้นสุดในโครงการนี้เพราะสร้างความเสียหายมาก
วิชาย้ำป.ป.ช.เห็นว่าส่อว่าทุจริต
นายวิชากล่าวว่า ประเด็นที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าพ้นจากนายกฯไปแล้ว เหตุใด ป.ป.ช. ยังคงชี้มูลความผิด ใช้กฎหมายและพ.ร.บ.ใดมาถอดถอน นั้นแม้น.ส.ยิ่งลักษณ์จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เป็นคนละกรณีกัน และเรื่องนี้ไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ผิด ซึ่งไม่ได้เกิดจากการถอดถอน
"ป.ป.ช.เห็นว่า ส่อว่าทุจริต และมีข้อสงสัยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยสนช.ถอดถอน เพื่อให้มีผลตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการฟ้องร้องให้ถอดถอนมักลาออกก่อน" นายวิชากล่าว
โต้ถอดถอนซ้ำซ้อน-เร่งรีบ
นายวิชากล่าวต่อว่า ส่วนที่อ้างว่า ป.ป.ช.ไม่ยอมรับข้อมูลและปฏิเสธการนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิเสธข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อมูลทั้งหมดจะนำมาสืบพยาน และป.ป.ช.ก็รับไปอยู่ในสำนวนไต่สวน รวมทั้งให้ทีมทนายตรวจเอกสารเป็นกรณีพิเศษ ทั้งที่ไม่เคยมีการอนุญาตให้ผู้แทนมาตรวจหลักฐาน เพราะเจ้าตัวต้องมาเอง
นายวิชายังกล่าวถึงข้อกล่าวหาว่า การถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ป.ป.ช.ดำเนินการไม่เป็นธรรมและเร่งรีบ การไต่สวนของป.ป.ช.นับตั้งแต่ดำเนินการ จนให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มารับทราบข้อกล่าวหา ใช้เวลา 1 ปี 10 เดือน ไม่ใช่แค่ 21 วัน เราให้โอกาสอย่างที่สุด แม้ขณะนั้นจะมีการก่อความรุนแรงกับ ป.ป.ช.ก็ตาม
อ้างอัยการโอเคให้ส่งฟ้องแล้ว
นายวิชากล่าวต่อว่า นอกจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีแล้ว จะมีความผิดทางอาญาซึ่งมีการไต่สวนควบคู่กันไป ซึ่งป.ป.ช.กับอัยการสูงสุดได้ทำงานร่วมกัน ได้พิจารณาแล้วให้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ดำเนินการต่อไป
นายวิชากล่าวว่า ป.ป.ช. ใช้มาตรการพิจารณา และมีแนวทางสร้างมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคตต่อไป การที่รัฐบาลตั้งนโยบายที่ผิด และจะต้องยับยั้งตั้งแต่แรก ไม่ควรปล่อยให้ลุกลาม การแก้ไขจึงต้องแก้ด้วยระบบคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงกว่าระบบปกติ ระบบตรวจสอบจึงต้องมีความเข้มแข็ง ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด อย่าเอาผลประโยชน์ตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้อง
"ยืนยันว่ากระบวนการปรองดองกับการลงโทษต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้านำมารวมกัน จะทำให้การปรองดองผิดเพี้ยนไป ดังนั้น การถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์จึงไม่ใช่อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศอีกต่อไป เราจะยุติเรื่องปรองดองด้วยการเลิกแล้วต่อกัน มาเป็นวิธีการทำประชาชนเห็นความจริงให้กระจ่างชัด และทำให้ราษฎรเห็นว่าเราเอาจริงกับการตรวจสอบโดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งของ ผู้บริหารระดับสูง" นายวิชา กล่าว
คนถามเรียกร้อง"ปู"ตอบเท่านั้น
จากนั้นเวลา 13.50 น. พล.อ.สิงห์ศึก แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการหารือกับกมธ.ซักถามและเจ้าของญัตติคำถาม เห็นควรว่าให้ซักถามผู้ถูกกล่าวหาต่อไป โดยประสงค์ให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ตอบคำถามเท่านั้น ซึ่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าให้กมธ.ซักถาม ถามโดยไม่ต้องการคำตอบจากผู้แทนผู้ถูกกล่าวหา
นายพิชิต ชื่นบาน ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ลุกขึ้นเพื่อขอให้บันทึกในที่ประชุมว่า รายงานการพิจารณาคดีระบุชัดแจ้งว่าการนัดผู้เกี่ยวข้องนั้น หมายถึงผู้แทนคดีหรือผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 ระบุว่าการที่มีข้อซักถามแล้วไม่เปิดให้ผู้แทนชี้แจง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ จึงขอให้ที่ประชุมบันทึกไว้ ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะกมธ.ซักถาม กล่าวว่า การถามคำถามยังถือว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกกล่าวหา ที่นำไปเขียนในสำนวนวันแถลงปิดคดีได้ด้วย จึงถือเป็นการให้ความเป็นธรรม ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว
ตัวแทนย้ำละเมิดสิทธิ์พื้นฐาน
จากนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง ชี้แจงว่า ผู้แทนคดีที่มาในวันนี้มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ตอบคำถาม ซึ่งมั่นใจว่าพวกเรามีความสามารถ พร้อมตอบทุกคำถาม แม้จะไม่ทราบคำถามดังกล่าวล่วงหน้า แต่มั่นใจว่าจะให้ข้อมูลแก่กมธ.ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สมาชิกสนช.จะใช้ดุลพินิจ โดยเราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะส่วนที่ป.ป.ช.เข้าใจคลาดเคลื่อน
ต่อมานายพิชิตกล่าวยืนยันว่า การชี้แจงถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญต้องให้การคุ้มครอง ตามมาตรา 4 ดังนั้นเราเพียงต้องการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาพึงจะได้รับ จึงยืนยันที่จะรักษาสิทธิไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกละเมิด และขอให้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
นิวัฒน์ธำรงเสนอตัวตอบแทน
จากนั้นเข้าสู่กระบวนการซักถาม นายสุธรรม พันธุศักดิ์ สมาชิก สนช.ในฐานะกมธ. ซักถาม ถามตามแนวคำถามของ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายประมุข สูตะบุตร พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และพล.อ.ดนัย มีชูเวช ที่ยื่นญัตติให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง โดยไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นตอบ ซึ่งถามว่าหน่วยงานต่างๆ มีหนังสือทักท้วงการดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการ ในตัวเลขความเสียหาย พร้อมเสนอให้รัฐบาลทวบทวน และยุติโครงการ แต่รัฐบาลไม่ฟัง จึงขอถามให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบเป็นรายข้อย่อยดังนี้ 1.ในฐานะนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กนข.) ทราบเรื่องในความเสี่ยง ข้อทักท้วง และตัวเลขความเสียหายของโครงการเหล่านั้นหรือไม่ 2.หากความเสียหายต่อเนื่องจะส่งผล กระทบต่อสถานะทางการเงินของประเทศ แล้วทำไมถึงไม่ระงับหรือชะลอ แต่กลับปล่อยให้ดำเนินการ 3.ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างไร
นายนิวัฒน์ธำรงได้ยืนยันขอใช้สิทธิตอบคำถาม เพราะเป็นคำถามเชิงปฏิบัติที่ผู้แทนคดี ให้คำตอบได้ การให้พวกเราได้ตอบคำถามน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสภา อีกทั้งยังทำความเข้าใจต่อป.ป.ช.ด้วย
"สุรชัย"อ้างมติสนช.ห้ามแจงแทน
นายสุรชัยจึงชี้แจงว่า ช่วงเช้าสภาหารือเพื่อกำหนดแนวทางในเรื่องนี้ ซึ่งสนช.ก็หนักใจที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหนังสือมายังประธานสนช. โดยไม่ได้แจ้งเหตุความจำเป็นใดที่ไม่มาสภาได้ เพียงแต่มอบให้ผู้แทนคดีมาตอบคำถาม อย่างน้อยที่สุดในหนังสือที่มาถึงประธานสนช. ควรแจ้งว่ามีเหตุความจำเป็นใดขัดข้อง จะเป็นประโยชน์ต่อสนช.จะพิจารณาในแนวทางที่จะอนุญาตให้ผู้แทนตอบคำถามแทนได้ อีกทั้งสนช.พิจารณามีมติไปแล้วว่าเห็นควรมอบหมายให้กมธ.ซักถาม ไปตกลงกับเจ้าของคำถาม ซึ่งเป็นสิทธิของเจ้าของญัตติ ทั้งนี้ในการแถลงเปิดคดีไม่ได้แจ้งว่าใครจะมาตอบคำถามบ้าง ซึ่งจะได้ตั้งคำถามได้ตรงตัวว่าจะถามใครหรือผู้แทนคนใด จึงขอความเห็นใจสภาด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นปัญหาและเป็นอุปสรรค ถ้าวันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเองแล้วขออนุญาตให้ผู้แทนตอบคำถามแทน จะง่ายกว่า แต่เมื่อไม่มาก็เป็นอุปสรรค การถามคำถามไม่ได้กีดกัน แต่นำไปร่างคำแถลงปิดคดีได้
นายพิชิตจึงชี้แจงว่า ข้อบังคับกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น ในข้อบังคับไม่ได้บัญญัติอย่างที่ประธานในที่ประชุมแถลง จึงขอให้บันทึกไว้ ส่วนเรื่องเอกสิทธิ์ของผู้ตั้งคำถามไม่ขอโต้แย้ง แต่ยืนยันว่ามาตรา 4 เป็นสิทธิที่ผู้เกี่ยวข้องที่จะชี้แจง จึงอยากให้ประธานวินิจฉัยเลยว่าผู้เกี่ยวข้องคือผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ไม่เช่นนั้นยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ
ยื้อตาม"ปู"ตอบ-สุดท้ายถามฝ่ายเดียว
จากนั้น นายสุรชัย จึงขอให้ผู้แทนผู้ถูกกล่าวหาประสานให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มายังสภา ซึ่งนายนิวัฒน์ธำรงกล่าวยืนยันว่าพร้อมที่จะตอบแทน เพราะถ้าให้ประสานตอนนี้ไม่ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน และไม่มั่นใจว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร นายสุรชัย ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายต่อสู้คดีได้เต็มที่ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน จึงขอพักการประชุม 10 นาที โดยเชิญคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ไปหารือกันข้างห้องประชุม
จากนั้นเวลา 14.30 น. ประธานได้เรียกประชุม และได้สรุปผลการหารือระหว่าง ผู้แทนคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับกมธ.ซักถามว่า ผู้แทนคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นชอบให้ดำเนินการกระบวนการพิจารณาต่อไปตามมติของกมธ.ซักถาม
ปล่อยลุยถามฝ่ายเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น กมธ.ซักถามโดยทุกคำถามกมธ.จะระบุว่า ถามน.ส. ยิ่งลักษณ์ และต้องการให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบเท่านั้น โดยคำถามที่ 2 ระบุว่า ได้ตระหนักหรือไม่ว่าการไม่ตัดสินใจสั่งระงับหรือชะลอ จะก่อให้เกิดความเสียหาย 3.ที่ระบุนโยบายนี้มีมาตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทราบหรือไม่สมัยนั้นรับจำนำราคาต่ำกว่าตลาดเพื่อให้ไถ่ถอนไปขายเมื่อราคาตลาดสูงขึ้น แต่ที่รัฐบาลตั้งราคาสูงกว่าตลาดจึงส่งผล กระทบต่อธุรกิจส่งออก ทำลายกลไกการค้าข้าวหรือไม่ 4.โครงการนี้เป็นโครงการตามนโยบาย "ทักษิณคิดและเพื่อไทยทำ" ซึ่งใช้หาเสียงเลือกตั้งใช่หรือไม่ 5.ขอทราบความหมายของการรับจำนำและผลประโยชน์สุดท้ายที่ต้องการ
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากนั้นพล.อ.ชาลี จันทรเรือง ในฐานะกมธ.ซักถาม ได้ซักข้อที่ 6 ว่า นายกฯจะแสดงความรับผิดชอบความเสียหายต่อสภาอย่างไร 7.ทราบหรือไม่ว่า การนำตัวเลขการสูญเสียในกรณีองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันทางการเมือง (ปรส.) มาอ้างอิง เป็นกรณีที่เทียบกันไม่ได้ 8.หากกลับมาเป็นรัฐบาลจะดำเนินนโยบายนี้หรือไม่ 9.ที่อ้างว่า ยกระดับรายได้ประชาชน ถามว่าจะทำได้ทั่วถึงได้อย่างไร เพราะมีโรงสีเข้าร่วมเพียง 700 โรง 10.เหตุใดจึงหาเสียงว่ารับจำนำข้าวแทนที่จะบอกว่าเป็นนโยบายซื้อข้าวจากเกษตรกร 11.โกดังเก็บข้าวเป็นของรัฐบาลหรือเอกชน และมีมาตรการป้องกันความเสียหายไว้อย่างไร
ทนายย้ำพร้อมแจงแต่สนช.ไม่ให้
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ลุกขึ้นทักท้วงที่นายสุรชัยระบุว่า หลังจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายหารือกัน ฝ่ายผู้แทนผู้ถูกกล่าวหาเห็นสมควรให้ดำเนินการต่อตามข้อเสนอของกมธ.ซักถาม ในฐานะตัวแทนผู้ถูกกล่าวหายังยืนยันจะขอชี้แจง แต่ไม่อาจเห็นแย้งกับมติของสภา จึงขอให้ที่ประชุมบันทึกไว้
นายสุรชัยแสดงทีท่าหงุดหงิดพร้อมชี้แจงตอบโต้ว่า สิ่งที่ตัวแทนผู้ถูกกล่าวหาพูด ทำให้สภาเสียหาย จึงจำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดที่หารือกันระหว่างพักประชุม โดยตนและประธานสนช.พยายามเปิดให้ตัวแทนผู้ถูกกล่าวหาแจ้งต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าสภายินดีเลื่อนการประชุมไปถึงเวลา 18.00 น. เพื่อรอให้ติดต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์มาชี้แจงด้วยตัวเอง ในคำถามที่เป็นรายละเอียดก็สามารถขออนุญาตให้ตัวแทนชี้แจงแทนได้ แต่ตัวแทนแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้และขอให้สภาดำเนินการตามเดิม
สงสัยไม่เรียก"รับซื้อข้าว"
จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการซักถามต่อ โดยนายมหรรณพ เดชพิทักษ์ กมธ.ซักถาม เริ่มซักถามคำถามข้อที่ 12 ถามว่าเมื่อไม่มีประชาชนมาซื้อข้าวคืนเป็นการทำลายกลไกตลาด เกิดความเสียหาย ซึ่งมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร 13.การกำหนดราคาตันละ 15,000 บาท มีเกษตรกรมาไถ่ถอนหรือไม่ กล่าวได้หรือไม่ว่าแท้จริงเป็นโครงการรับซื้อข้าวจากเกษตรกร 14.ความเสียหายที่เป็นตัวเลขจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ มีผลประโยชน์ใดบ้างเกิดขึ้นกับชาวนาอย่างยั่งยืน 15.รัฐบาลทราบปัญหาสวมสิทธิการรับจำนำข้าวและการเวียนเทียนข้าวหรือไม่ และสอบสวนและลงโทษหรือไม่
16.รัฐบาลคำนึงถึงผลเสียจากการเก็บข้าวไว้นานจนเสื่อมคุณภาพหรือไม่ และมีแนวทางป้องกับแก้ไขเพียงใด 17.รัฐบาลทราบตัวเลขการขาดทุน แต่ยังปล่อยให้นโยบายนี้ดำเนินต่อ ถามว่าอดีตนายกฯได้แก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของเงินคงคลัง เพื่อนำไปชำระหนี้อย่างไร 18.ตั้งแต่ทำโครงการรับจำนำข้าว มีเงินกลับสู่ประชาชนเท่าไร อย่างไร และมีความเสียหายในโครงการนี้เท่าใด ตอนที่คิดและดำเนินโครงการวางแผนติดตามควบคุมและแก้ไขปัญหาอย่างไร
ถามจำนวนชาวนาได้ประโยชน์
19.ยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่มีเจตนาทุจริตเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน 20.ทราบหรือไม่จะมีการทุจริต และวางมาตรการป้องกันหรือไม่ 21.ทราบถึงการรั่วไหลและการทุจริตในขั้นตอนต่างๆ หรือไม่ และจัดการป้องกัน ควบคุมการทุจริตทั้งระบบหรือไม่ 22.เมื่อมีการอภิปรายในสภา บ่งบอกว่าผู้มาซื้อข้าวคือผู้ช่วยส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นภรรยาของนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย ถามว่าได้สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร 23.ที่บอกว่าโครงการนี้ช่วยเหลือชาวนา 4 ล้านครอบครัว แต่ทีดีอาร์ไอสำรวจมีเพียง 1 ใน 4 ของชาวนาที่ได้ประโยชน์ 24.ช่วงดำเนินโครงการ 2 ปีเศษ มีปริมาณข้าวเก็บสะสมเพิ่มขึ้น ทำไมไม่เร่งระบายข้าว 25.เหตุใดไม่ระงับยับยั้ง หรือหารือครม.หรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขโครงการ
26.ช่วงดำเนินโครงการต้องการให้ราคาข้าวสูงกว่าท้องตลาด แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ราคาข้าวตกลงและสะสมมากขึ้น ได้กำหนดแนวทางแก้ไขอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของอดีต นายกฯ หรือผู้ใด 27.เมื่อทราบเรื่องทุจริตในโครงการและความเสียหายมาตลอด ได้สั่งการตรวจสอบและแก้ไขอย่างไร ขอให้อธิบายอย่างละเอียด
ถามวนทำไมไม่ยับยั้ง
28.ในฐานะนายกฯ รับทราบปัญหาของอนุกรรมการปิดบัญชีมาตลอด เหตุใดจึงไม่ระงับยับยั้ง 29.มีข้อกังวลใจกับการขายข้าวไม่ได้หรือไม่ 30.ในการจำหน่ายข้าวเปลือกจากโครงการ รัฐได้ขายให้ประเทศใดบ้าง มีกี่สัญญา มีการส่งออกราคาเท่าไหร่ ยืนยันได้หรือไม่ว่าขายให้ใคร 31.เหตุใดยังยืนยันว่าเป็นการตัดสิทธิซ้ำซ้อน 32.ระบุได้หรือไม่ว่าข้อมูลวิจัยของทีดีอาร์ไอข้อใดเป็นข้อมูลเก่าที่ป.ป.ช.ยกมาอ้าง 33.ขอให้ขยายความคำว่ารัฐบาลต่างประเทศที่สนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร มีประเทศใดบ้าง การดำเนินการของประเทศนั้นๆ ส่งผลขาดทุนเหมือนโครงการนี้หรือไม่ และประเทศดังกล่าวมีการทำวิจัยหรือไม่
34.ทำไมไม่ทำโครงการลดราคาน้ำมันตามสัญญาประชาคม และคิดว่านโยบายพรรคกับความรับผิดชอบต่อประเทศสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน และ 35.เหตุใดจึงไม่ใช้อำนาจหน้าที่ป้องกันและระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่อว่าเป็นการแสดงเจตนาหรือไม่
จากนั้น นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แจ้งต่อสมาชิกว่า กำหนดวันแถลงปิดคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 22 ม.ค.นี้
พรเพชรแถลงแจงไม่ให้ตอบ
นายพรเพชรแถลงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาตอบข้อซักถามของสนช. โดยได้ส่งตัวแทนมาชี้แจงแทนว่า ในช่วงประชุมลับสมาชิกที่ได้ยื่นญัตติและกมธ.ซักถามได้หารือ โดยมีความเห็นว่าการตอบข้อซักถามไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเดินทางมาตอบข้อซักถามสามารถส่งตัวแทนมาชี้แจงแทนได้ แต่เมื่อหารือกันแล้วผู้ตั้งคำถามยืนยันความเห็นว่าการตอบข้อซักถามควรเป็นการตอบของน.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มา สมาชิกก็ไม่ประสงค์จะถาม แต่เมื่อมีคำถามที่ตั้งไว้ แล้วกมธ.ซักถามเห็นว่าควรเปิดเผยคำถามเพื่อความเป็นธรรม เพื่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบว่ามีข้อซักถามอย่างไร ที่ประชุมจึงได้ดำเนินการถามคำถามโดยไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง
"ในฐานะประธาน สนช.ได้ดำเนินการประชุมไปตามกฎหมายและข้อบังคับ สิ่งใดที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ยืนยันว่าการพิจารณาจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบ และเป็นไปตามกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ โดยให้เปิดเผยคำถาม โดยข้อมูลที่ครบถ้วนอยู่ในสำนวนคดีทั้งหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะตอบหรือไม่ตอบ" นายพรเพชรกล่าว
พัลวันไม่ได้ปิดกั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่ากระบวนการวันนี้เป็นการปิดกั้นผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้ปิดกั้น แต่เมื่อผู้ถามไม่ประสงค์จะถามและเห็นว่าควรให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจง ส่วนที่ข้อบังคับกำหนดว่าผู้เกี่ยวข้องสามารถชี้แจงได้นั้นก็จริง แต่เมื่อผู้ถามประสงค์ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ต้องการคำตอบ สำหรับการแถลงปิดคดีจะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงอย่างเต็มที่แต่ยังไม่กำหนดเวลา
เมื่อถามว่าการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาชี้แจงจะมีผลต่อการลงมติของสนช.หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถาม สนช.เอง อย่างไรก็ตาม ตามหลักกฎหมายผู้ถูกกล่าวหาสามารถตั้งผู้แทนมาชี้แจงได้ แต่โดยส่วนตัวมองว่าผู้ถูกซักถามควรมาชี้แจงด้วยตัวเอง
"นิวัฒน์ธำรง"พ้อต้องยึดมติสนช.
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชี้แจงในขั้นตอนการแถลงเปิดคดี โดยให้ข้อมูลครอบคลุมคำถามที่ซักถามในวันนี้หมดแล้ว ประกอบกับติดภารกิจสำคัญ จึงไม่สามารถมาตอบด้วยตนเองได้ และยืนยันว่าในการแถลงปิดคดีวันที่ 22 ม.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาแถลงปิดคดีด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การไม่มาตอบข้อซักถาม เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการลงมติถอดถอน และไม่มีผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือเพราะประธานสนช.บอกแล้วว่าไม่มีผลต่อรูปคดี และตัวแทนที่มาชี้แจงล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลและปฏิบัติตามนโยบายซึ่งทราบข้อมูลอย่างดี แต่เมื่อไม่มีโอกาสได้ชี้แจงก็ต้องยอมรับตามมติของ สนช.
อสส.สวน"วิชา"-ยันยังไม่มีมติฟ้อง
ด้านนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยความคืบหน้ากรณีคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่ายป.ป.ช.ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานอัยการกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาสำนวนคดี หลังจากที่ได้หารือร่วมกับฝ่ายป.ป.ช.แล้ว โดยตามขั้นตอนแล้วก็จะเสนอความเห็นไปยังนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาต่อไป
เมื่อถามกรณีนายวิชาระบุคณะทำงานจะสรุปสำนวนเร็วๆ นี้ โดยอัยการจะเป็นคนส่งฟ้องเอง นางสันทนีกล่าวว่า คณะทำงานยังไม่มีมติเรื่องนี้
อดีตอนุปปช.ค้านถอดถอน
ที่รัฐสภา พ.ต.อ.บรรจบ สุดใจ ประธานชมรมผู้พิทักษ์กฎหมายและความยุติธรรม อดีตอนุกรรมการป.ป.ช. ทำหนังสือถึงสมาชิกสนช. ผ่านสื่อมวลชน เนื่องจากกรณีป.ป.ช. ส่งเอกสารสำนวนถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งสำนวนจากคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรณีโครงการรับจำนำข้าว ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช.นั้น ทางชมรมผู้พิทักษ์กฎหมายฯ ประกอบด้วยนักกฎหมายจำนวนมาก ต่างไม่เห็นด้วยกับองค์กรต่างๆ ที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่ และได้ยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมเสนอความเห็นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า เมื่อผู้ที่จะถูกถอดถอนตามสำนวนได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คือไม่มีตำแหน่งใดๆ แล้วจะถูกถอด ถอนได้อย่างไรอีก
พ.ต.อ.บรรจบกล่าวย้ำว่า ความเห็นดังกล่าวไม่มีส่วนเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงอยากให้พิจารณาโดยถือเอาความถูกต้องและยุติธรรม ตามเจตนารมณ์ของคสช.ด้วย
"บิ๊กตู่"ยันต้องสร้างเสถียรภาพ
ที่คุรุสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวช่วงหนึ่งในงานวันครูประจำปี 2558 ว่า เราต้องสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในประเทศนั่นคือการสร้างเสถียรภาพ เพื่อไม่ให้คนมารบกัน ทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต้องมีความมั่นคง วันนี้รัฐบาลจะทำทุกอย่างเพียงลำพังไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างนำมาสู่ความขัดแย้ง จึงต้องใช้เวลาเพราะบางเรื่องต้องวางพื้นฐานซึ่งอาจไม่ทันใจบ้าง รัฐบาลต้องไม่คิดแบบคนรวยหรือมีการศึกษาคิดอย่างเดียว จะต้องคิดแบบคนจนคิดด้วย ไม่ใช่นั้นก็จะไม่เข้าใจแล้วก็จะตีกันไปเรื่อย วันนี้มันไม่ง่ายต้องทำทุกอย่างให้เชื่อมโยง วันนี้สังคมไทยต้องสอนให้มีความร่วมมือ มีความคิดเห็นและโต้แย้งได้แต่อย่าขัดแย้ง เราจะได้ไม่ติดคำว่ากับดักประชาธิปไตย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เวลาเลือกใครมา ถามว่าคนที่เลือกมามีความพร้อมเพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน ทุกคนก็อยากจะเป็น อยากถามว่าใครที่จะเข้ามา มีความพร้อมอย่างที่ตนพูดหรือไม่ ต้องไปช่วยกันคิดเพราะเหลือเวลาอีกไม่มาก คนที่จะเข้ามาสู่กระบวนการมีใครบ้างรู้กันหรือไม่ ไม่กล้าพูด ไม่รู้จัก มาจากต่างประเทศหรืออย่างไร จะให้ฝรั่งเข้ามาเป็นนายกฯ หรือ ไม่มี คนไทยทั้งนั้น ก็ต้องช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไร
โอดคนแจวต้องฟัง"แป๊ะ"บ้าง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า เขียนรัฐธรรมนูญทะเลาะกันเถียงกันไปมา แต่หลักการบอกอย่างเดียวคิดอย่างเดียวคือประชาชนและประเทศได้อะไร ทุกอย่างก็จะเดินไปตามกระบวนการ และก็จะมาถึงขั้นตอนว่าใคร แล้วมาอย่างไร มีคุณสมบัติเป็นมาอย่างไร จะใช้จ่ายงบประมาณประเทศอย่างไร จะเอาเงินมาจากไหน มีนโยบายอย่างไร ใครจะเป็นคนได้และถ้ามีปัญหาใครจะรับผิดชอบ ต้องแถลงนโยบายให้ชัดเจนแบบนี้ ต้องมีขบวนการตรวจสอบ ไม่ใช่บอกแต่เพียงว่าจะเกิดทุจริตอย่างเดียวเรื่องแบบนี้ก็ต้องเห็นใจ แต่ผู้ที่จะเข้ามาต้องมีอำนาจในการบริหารโดยมีกรอบที่ชัดเจน ต้องมีคนตัดสินไม่ใช่ปล่อยจนรวนไปหมด เข้าสู่กระบวนการตัดสินก็ตัดสินไม่ได้ เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ ถึงวันนี้ มีสนช. มี สปช. เดี๋ยวก็เอาอีก วันนี้ทุกคนทำงานแบบกลัวกันไปหมดทั้งที่มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว
"งานสำคัญของประเทศคืองานทรัพยากรมนุษย์ ผู้มีสิทธิ์ต้องเข้าใจว่าการเมืองเป็นอย่างไร การบริหารราชการแผ่นดินต้องรู้หลายเรื่อง ผมไม่ได้เรียนอะไรมาเลยแต่ก็ต้องรู้ ดังนั้นใครที่จะเข้ามาบริหารเมืองต่อไปต้องรู้มากกว่าผมจะได้บริหารราชการแผ่นดินได้ อย่าไปเลือกที่มันเคยเลือกมา ตอนนี้ก็เห็นว่าจะเลือกตามแบบประเทศนั้นประเทศนี้ แล้วใครจะมาให้เลือก คนถูกเลือก กรรมการก็งงไปหมด วันนี้อยากให้ประชาชนเป็นผู้เริ่มต้นว่าต้องการนักการเมืองอย่างไร ดูแลคน ดูแลชาติบ้านเมืองอย่างไร อย่าไปเลือกญาติพี่น้องกลุ่มเก่า ไม่ใช่ว่าเลือกแต่คนรู้จักดีกว่า วันนี้เราต้องให้นักการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ออกมาให้ได้ว่าจะบริหารประเทศอย่างไร" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่าครูคือเรือจ้าง ไม่ใช่เรือแป๊ะ ที่ผ่านมาพูดกันจนมีปัญหาไปหมด แป๊ะนั่งบนเรือจ้าง แต่คนแจวก็ต้องฟังแป๊ะบ้างเหมือนกันไม่เช่นนั้นก็จะแจวไม่ได้ ก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกันทั้งคู่
ลั่นห้ามใช้ความรุนแรง
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาถอดถอนว่า ไปถามสนช. เขาตัดสินในวันที่ 23 ม.ค. ส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาตอบข้อซักถามด้วยตัวเองนั้น รู้แล้วว่าที่ตัวแทนผู้ถูกกล่าวหาตอบไม่ได้เพราะเขาไม่ให้ตอบ ตนไม่รู้กฎหมายว่าอย่างไร แต่ผู้ถูกกล่าวหายังมาชี้แจงได้อีกครั้งในวันที่แถลงปิดคดี
เมื่อถามว่าเป็นห่วงจะเกิดการเคลื่อนไหวหลังการถอดถอนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เกิดไม่ได้ ประชาชนต้องไปเรียนรู้เองว่าจะต้องอยู่อย่างไร ถ้าจะเกิดอะไรขึ้นตนไม่ยอมให้ใช้ความรุนแรง ตนจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ไม่กลัวกฎหมายกันหรือถ้าจะใช้ความรุนแรงกัน
"ได้ประโยชน์อะไรกับตัวเองและครอบครัว ลูกเมียเดือดร้อน ซึ่งไม่ได้เลย ฟังกันหรือเปล่าวันนี้เขากล่าวหาว่าอย่างไร ต้องไปรอดูว่าเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นก็ต้องรู้ว่าไม่ได้ จบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ไม่ให้ม็อบต้านพลังงานชุมนุม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงที่ประชุม สปช.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ให้เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ตามกฎหมายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแลจัดหาแหล่งพลังงาน ซึ่งไม่ต้องขอตนด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ได้บอกว่าให้ไปหารือชี้แจงทำความเข้าใจสปช. อย่างไรก็ต้องเดินแต่ไม่ใช่เดินในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะจะเปิดสัมปทานในเดือนก.พ. ส่วนบางกลุ่มที่จะออกมาเรียกร้องนั้นยืนยันว่าออกมาไม่ได้ ไม่ให้ออก อย่าหาเรื่องออกมาเดินขบวนกันอีก
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มที่เคยออกมาร้องเรียนก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกกลุ่ม รวมถึงไม่ให้จัดเวทีระดมความเห็นด้วย ไม่เอา ไปทำอย่างอื่น เรื่องนี้จบก็จบ หากไม่เห็นด้วยเมื่อเสนอมาเราก็รับทราบ กฎหมายเขียนว่าอย่างไรต้องว่าตามนั้น สมมติว่าทำสัมปทานนี้ไม่ได้ อีก 6 ปีข้างหน้ามันไม่มีน้ำมันขึ้นมา คนพวกนี้รับผิดชอบไหม
บิ๊กตู่ให้เชื่อมั่นคุณสมบัติสนช.
เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ในช่วงหนึ่งว่า อยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ขอให้มีเหตุมีผล ถ้าไม่เห็นด้วยขอให้มีการเสนอทางออกหรือทางเลือกอื่นๆ ให้เราได้พิจารณา ไม่ใช่ต่อต้านทุกวัน เดินหน้าต่อไปไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่เป็นเรื่องถกเถียงคือเรื่องการถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ผิดหรือไม่ผิด ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสนช. ขอทำความเข้าใจว่า การทำผิดกฎหมายต้องแยกแยะ ปนกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ผิดถูกอย่างไร ถูกจริยธรรมหรือไม่ถูกอย่างไร ผิดกฎหมายอย่างไร ก็ว่ากันมา สังคมต้องแยกแยะ อย่าให้ใครมาปลุกระดมให้เกิดความไม่เข้าใจกันอีก ต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน
"บางครั้งกฎหมายอาจมีช่องทางที่ทำให้เกิดการต่อสู้กัน ทั้งถูกและผิด เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเชื่อมั่นในความสามารถหรือคุณสมบัติของ สนช. สปช. อะไรต่างๆ ที่เราเข้าไปทำงานในเวลานี้ สังคมต้องพยายามเข้าใจ"
"บิ๊กป้อม"เตือนอย่าสร้างขัดแย้ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการทำงานของกรรมการชุดดังกล่าว ว่า จุดประสงค์เพื่อติดตามงานที่คสช.และรัฐบาลสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ไปดำเนินการ รวมถึงการติดตามงานยุทธศาสตร์ที่แต่ละกระทรวงได้ดำเนินการอยู่ว่าไปถึงไหนแล้ว และหากมีขั้นตอนใดที่ติดขัดคณะกรรมการชุดนี้จะเข้าไปช่วยดูแลให้การดำเนินนโยบายราบรื่นขึ้น ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อไปจับผิดใคร เพราะรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงทำงานดีอยู่แล้ว โดยจะเรียกประชุมให้เร็วที่สุด เพื่อเข้าไปช่วยให้การขับเคลื่อนงานที่ติดขัดให้ราบรื่นขึ้น โดยที่กรรมการแต่ละคนจะเข้าไปเป็นอนุกรรมการของแต่ละกระทรวงด้วย
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงการลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 23 มค. ว่า ถือเป็นเรื่องของสนช.ที่จะลงมติ ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ส่วนจะมีมวลชนมาให้กำลังใจนั้นคิดว่าไม่มีแน่นอน เพราะได้บอกไปแล้วว่าการที่จะให้กำลังใจใครก็เพียงแต่โทรศัพท์มาเท่านั้นพอ ขอว่าใครจะทำอะไรที่สร้างความขัดแย้งอย่าทำเพราะวันนี้รัฐบาลกำลังช่วยพาประเทศก้าวผ่านความขัดแย้งอยู่
กมธ.ยกร่างแล้ว 92 มาตรา
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่เสนอโดยอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติฯ เริ่มพิจารณาในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวดสอง แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ มาตรา (2/2/-) 1 ถึง (2/2/-) 5 โดยทั้ง 5 มาตรา ผ่านการพิจารณาทั้งหมด แต่มีการปรับปรุงถ้อยคำบางส่วนเพื่อความเหมาะสม
ต่อมาเวลา 20.30 น. นายบวรศักดิ์ ในฐานะประธาน จึงสั่งปิดประชุม พร้อมทั้งนัดประชุมครั้งต่อไปวันที่ 19 ม.ค. ภาค 3 ศาล หมวดทั่วไป และศาลรัฐธรรมนูญ สรุปการพิจารณาในวันนี้ 20 มาตรา รวมทั้งสัปดาห์ 92 มาตรา
"วิชา"ลั่น20มค.-ชี้คดีข้าวบุญทรง
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ในวันอังคารที่ 20 ม.ค.นี้ ได้บรรจุวาระที่คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ รายงานความคืบหน้าการไต่สวนให้ที่ประชุมทราบ เพื่อให้พิจารณาว่าจะมีแนวทางการไต่สวนในประเด็นใดต่อไป หรือหากมีข้อมูลส่วนใดที่สามารถสรุปและพิจารณาชี้มูลความผิดได้ก็อาจจะพิจารณาชี้มูลทันที
รายงานข่าวจากคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า คณะอนุกรรมการเตรียมสรุปคดีดังกล่าวให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาเพื่อชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในส่วนของนักการเมืองและข้าราชการ เจ้าหน้าที่ 11 ราย แต่ในส่วนที่เป็นภาคเอกชนที่ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกันนี้ยังต้องดำเนินการไต่สวนในคดีต่อไป ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว คือนายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ด้วย
ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ได้กล่าวระหว่างการตอบชี้แจงข้อซักถามในสภาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ว่า ในวันที่ 20 ม.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.จะพิจารณาชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกระบวนการจำนำข้าวเปลือกที่ใช้ระบบจีทูจี
กสม.โต้สถานะยังเป็นเกรดเอ
วันที่ 16 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแก่งชาติ (กสม.) เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานะของ กสม.ของไทย (กสม.) โดยคณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เอสซีเอ) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ไอซีซี) กรณีเอสซีเอทำข้อเสนอให้ลดระดับของ กสม.จากสถานะ เอ เป็น บี ต่อไอซีซี เมื่อเดือนต.ค. 2557 นั้น ขอชี้แจงว่าไอซีซีได้เลื่อนการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวไปอีก 1 ปี โดยจะเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า กสม. ดำเนินการสนองตอบหรือมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใดต่อข้อห่วงกังวลของไอซีซี-เอสซีเอ ดังนั้น กสม.ยังคงอยู่ในสถานะ เอ และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของไอซีซีและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคได้ตามปกติ และจะเร่งปรับปรุงตามข้อห่วงใยของไอซีซีและเอสซีเอ ที่จะส่งผลต่อการพิจารณาลดสถานะ กสม.
สำนักงาน กสม. ขอเรียนว่า ในร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว จะมีบทบัญญัติคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.ว่าหากได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตแล้ว ย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่งและทางปกครองใดๆ กสม.หวังว่า สนช. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลจะพิจารณาดำเนินการตามข้อห่วงใยของไอซีซีและเอสซีเอในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ไทยเร่งทำทิปรีพอร์ตส่งสหรัฐ
เมื่อวันที่16 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลและประมง ว่า เป็นการทำงานที่มีคณะกรรมการระดับชาติเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นเพื่อแก้ปัญหา เพราะแต่ละหน่วยงานจะมีกฎหมายของตัวเองและเชื่อมโยงกันยากและทำงานเรื่องของตัวเอง แต่คณะกรรมการชุดนี้จะทำทุกเรื่องเพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ "ทิปรีพอร์ต" ทั้งเรื่องประมง สตรี กฎหมาย ที่ต้องมีคณะกรรมการมาผลักดัน
นายปณิธานกล่าวว่า สำหรับ 21 เรื่อง ที่สหรัฐตั้งข้อสังเกตไทยนั้นบางครั้งเราดำเนินการแต่หน่วยงานไม่ได้ทำรายงานเป็นทิปรีพอร์ต และไม่ประสานงานไปที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) การมีคณะกรรมการระดับชาติและตั้งคณะอนุกรรมการฯจะมาช่วยผลักดันงานบางอย่างที่ต้องผลักดันเพื่อจัดทำทิปรีพอร์ตภาพรวม และต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการทำงานจริง ช่วงพ.ค.-มิ.ย. ประธานาธิบดีสหรัฐจะตัดสินใจว่าจะพิจารณาอย่างไร โดยเรียกหน่วยงานอื่นมาให้ข้อมูลเพิ่มว่าจะดำเนินการอย่างไร ดังนั้นเรามีเวลาอีก 3 เดือน ที่จะส่งข้อมูลให้สหรัฐ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้ตนมาชี้แจงยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายนำตัวผู้ต้องโทษไปทำงานในธุรกิจการประมง ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวความคิดของบางคนเท่านั้น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงและกลัวว่าจะเข้าใจผิด เพราะมันขัดต่อสิทธิมนุษยชน