- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 15 January 2015 15:32
- Hits: 3975
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8814 ข่าวสดรายวัน
โต้งจวก'พรเพชร'ขวางแจงแทนปู กมธ.พูดยืดเยื้อ ยกร่างฯเริ่มวุ่น
ถก"คตช." - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือคตช. นัดแรก เพื่อกำหนดแนวทางทำงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 ม.ค. |
'นิคม'ขอตอบเอง ลั่นลุยศึกถอดถอน ป้องศักดิ์ศรีฝ่ายนิติบัญญัติ ด้าน 38 อดีตส.ว. ยัน ขอชี้แจงทุกคน ถือโอกาสแก้ข้อครหาล้มล้างการปกครอง "กิตติรัตน์"จี้ปธ.สนช.ขอโทษ ชี้เรียกผู้แทนคดีเป็นมือปืนรับจ้างไม่เหมาะสม ลั่นพร้อมแจงแทน"ปู" ด้านป.ป.ช.ยันพร้อมตอบทุกคำถาม วิษณุชี้สนช.เชื่อว่ามีอำนาจถอดถอนก็ต้องปล่อยไป กมธ.ส่อวุ่น เหตุสมาชิกอภิปรายยืดเยื้อ
บิ๊กตู่ถก"คตช."นัดแรก
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.)นัดแรก เพื่อกำหนด องค์ประกอบ แนวทางการทำงาน และกรอบอำนาจหน้า ที่ รวมทั้งรับฟังสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่น จากนายบรรยง พงษ์พานิช แนวร่วมขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย
จากนั้นเวลา 12.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯด้านกฎหมายแถลงผลการประชุมคตช.ว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่มีหน้าที่ลงไปจับผิดใคร แต่เป็นศูนย์กลางทำงานเชิงบูรณาการ ติดตามความคืบหน้าและเร่งรัด จี้ลงไปว่ามีจุดอ่อนและจุดโหว่อยู่ตรงไหนในเรื่องทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ ตัวบุคคล หรือผู้มีอิทธิพล
วางแนวทางจัดการคนทุจริต
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า โดยมีแนวทางการทำงานคือ 1.การจัดกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องทุจริตเพื่อแยกดำเนินการ การทุจริตที่ผ่านมาส่วนใหญ่จับได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย แต่ผู้สั่งการ ผู้มีอำนาจ บางครั้งเป็นนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลุดไปได้ ซึ่งจะจัดแบ่งเป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ และอื่นๆ เพื่อจัดการแต่ละกลุ่มได้ถูกต้องและเล่นงานได้ถูกตัว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า 2.การจัดกลุ่มกิจการหรือเรื่องที่มีการทุจริตบ่อย แบ่งเป็นการแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง การขออนุญาตและอนุมัติ การขอรับประโยชน์จากรัฐและการใช้ทรัพย์สินของรัฐ และ 3.วิธีการแก้ปัญหา จะเริ่มด้วยมาตรการป้องปราม การปลูกจิตสำนึก การปราบปราม และการประชาสัมพันธ์ หรือ "4 ป."
ให้เซ็นสัญญาคุณธรรมควบด้วย
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติให้การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรายใหญ่และรายสำคัญ ควรทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับผู้รับจ้าง เรียกว่า "ข้อตกลงว่าด้วยคุณธรรม" ซึ่งจะเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่งแนบในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่คู่สัญญาต้องลงนาม เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่โกง และสร้างความโปร่งใสทุกขั้นตอน ใน ข้อตกลงฉบับนี้ระบุให้มีทีมจากภาคเอกชนและสาธารณชนที่คัดเลือกกัน มาเป็นตัวแทนประชาชน 4-5 คน เป็น ผู้สังเกตการณ์และติดตาม ถ้าข้าราชการและ เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้สังเกตการณ์จะถือว่ามีความผิดทางวินัย และมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้าย โดยจะนำร่องใน 2 โครงการคือ 1.โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี และ 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หากตรวจพบว่าผิดจริงมีโทษทางวินัยและโทษอาญา ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการแล้วแต่ฐานความผิด
รองนายกฯกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมให้ใช้ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน โดยให้เปิดแผนกรับเรื่องร้องเรียนเฉพาะเรื่องทุจริตขึ้น ทั้งนี้จะนำผลการประชุมครั้งนี้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.วันที่ 20 ม.ค. เพื่อให้มีมติออกมารองรับมาตรการทั้งหมด
กำหนดโทษ'จัดซื้อจัดจ้าง'
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวว่า ในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) จะเป็นกลไกหลักให้คตช. เพื่อขับเคลื่อนให้ส่วนราชการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะใช้หนังสือร้องเรียนของประชาชนเป็นเครื่องชี้นำ หากตรวจสอบว่าเกิดจากความละเลยหรือละเว้นจากเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการทางวินัย การทำงานจะเน้นการป้องปรามเพื่อแก้ปัญหาในทันที ส่วนการปราบปรามนั้นนายกฯมอบนโยบายให้ยึดกฎหมายเป็นหลัก และนำมาตรการทางวินัยมาใช้
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างเป็นช่องทางหนึ่งที่เกิดทุจริต ที่ประชุมหารือกันว่าระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุที่ใช้อยู่ ยังไม่มีการกำหนดโทษ ดังนั้นกรมบัญชีกลางจะปรับปรุงให้เป็นพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดโทษกรณีเกิดการกระทำผิดตั้งแต่เจ้าหน้าที่ถึงผู้สั่งการซึ่งอาจเป็นฝ่ายการเมืองด้วยก็ได้ นอกจากนี้จะมีข้อตกลงคุณธรรมบรรจุไว้ด้วย โดยจะเสนอหลักการเรื่องข้อตกลงคุณธรรมเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 20 ม.ค.นี้
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผอ.สำนักงบประมาณกล่าวว่า นายกฯให้จัดทำงบประมาณปี 2558 เป็นปีแรกที่ให้มีแผนบูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติ มิชอบในภาครัฐ เป็นเงิน 2,106 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2559 เสนอมาแล้ว 4,650 ล้านบาทเศษ มี 104 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช. และกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ แยกเป็น 3 ภารกิจคือ สร้างกลไกป้องกันการทุจริตให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ สร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปราบปรามการทุจริต
วิษณุแจงให้อำนาจศาลรธน.
วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไขมาตรา 68 ให้ประชาชนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นการล้มล้างการปกครองได้ว่า เรื่องนี้ต่างจากมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่เขียนแล้วทำให้เกิดการตีความ แต่วันนี้เขียนชัดเจนว่าประชาชนยื่นได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีเวลาเตรียมมาตรการรับมือกรณีประชาชนจะยื่นเรื่องจำนวนมาก อีกทั้งในอนาคตจะมีพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดรายละเอียดว่าหากยื่นตามมาตรา 68 จะต้องทำอย่างไร
"ยกตัวอย่างที่กมธ.ไปเติมวรรคสอง ของมาตรา 7 วันนี้ใส่ลงไปแล้วว่าถ้ามีปัญหาสงสัยอะไรคือประเพณีการปกครอง ให้ถามศาลรัฐธรรมนูญก่อนได้ และเพื่อไม่ให้ถามกันเลอะเทอะ จึงกำหนดว่าประชาชนไม่สามารถส่งเรื่องไปถามได้ แต่ผู้ที่ส่งเรื่องได้ เฉพาะครม. รัฐสภา ศาลฎีกาที่ผ่านที่ประชุมใหญ่ ศาลปกครองสูงสุดที่ผ่านที่ประชุมตุลาการ เพื่อบล็อกเรื่องที่จะส่งไปศาลเพียงไม่กี่เรื่อง" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์มาตลอดจะเกิดข้อกังขาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า พูดเรื่องอนาคตดีกว่า อย่าไปพูดเรื่องที่แล้ว มา และตอนนี้พูดเรื่องการเพิ่มอำนาจของประชาชน ยังไม่ถึงการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรม นูญ ซึ่งการเพิ่มอำนาจศาลนั้นต้องดูที่มา หากที่มาเหมาะสม อาจวางใจกว่าที่ผ่านมา และจำนวนตุลาการตนเห็นว่า 9 คนยังน้อยเกินไป เพราะเวลาโหวต บางคนงดออกเสียง สุดท้ายอำนาจหน้าที่ทั้งหมดต้องพิจารณาไปด้วยกัน ที่สำคัญจะไว้ใจให้อำนาจหน้าที่ต่อเมื่อที่มาและจำนวนเหมาะสม และคนยกร่างต้องดู บทเรียนในอดีตด้วย
ชี้สนช.เชื่อว่ามีอำนาจถอดถอน
เมื่อถามถึงข้อสงสัยสนช.ใช้อำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงนาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้สนช.เข้าใจไปแล้วว่ามีอำนาจก็เป็นเรื่องของเขา ตนจะพูดอย่างอื่นก็คงยาก
เมื่อถามว่าเกรงจะเป็นปัญหาหรือไม่หากมีการฟ้องร้องสนช.เกิดขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ว่าผลออกมาอย่างไรก็ฟ้องร้องได้ทั้งนั้น แม้จะมีคนเห็นว่าไม่มีอำนาจรับไว้ ก็มีคนฟ้องอยู่ดีว่าสภาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าเหตุที่เกิดเป็นคนละสภากับสนช.นั้น ก็มองได้แต่ต้องดูข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ เมื่อสนช.เชื่อว่ามีอำนาจทำได้ ต้องปล่อยเขา รัฐบาลไปยุ่งไม่ได้
รอฟังปปช.ตอบขอบเขตอำนาจ
เมื่อถามว่ามีสนช.บางคนตั้งคำถามกับ ป.ป.ช.ถึงขอบเขตอำนาจการเสนอพิจารณาถอดถอน นายวิษณุกล่าวว่าถูกต้องแล้ว เมื่อสงสัยก็ถาม อยู่ที่ป.ป.ช.จะตอบอย่างไร
เมื่อถามถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 พ้นสภาพไปแล้ว แต่อ้างถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเหตุผลเอาผิดนั้นจะทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ตอบเพราะจะเป็นการชี้นำ วันนี้ป.ป.ช.เขาถือว่าใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ต้องไปดูกฎหมายป.ป.ช. และเมื่อสภารับเรื่องเข้าสู่กระบวนการแล้ว คงไม่กลับมาโหวตอีกว่ามีอำนาจหรือไม่ หากใครคิดว่าไม่มีอำนาจก็ไปโหวตไม่ถอดถอน แต่จะมาเปลี่ยนใจบอกว่าไม่รับแล้วไม่ได้ เพราะจะตั้งคำถามซักถามกันอยู่แล้ว
วิถีไทย - นักท่องเที่ยวและประชาชนแห่ชมขบวนพาเหรดและบูธกิจกรรม ภายในงาน ท่องเที่ยววิถีไทย 2558 บริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันที่ 14 ม.ค. |
อ้างไม่ใช่รธน.ของคสช.
นายวิษณุกล่าวถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญระบุถึงการทำประชามติว่า ตอนนี้ยังทำไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ หากจะทำก็เสนอมาและไปแก้รัฐธรรมนูญ มองว่าประชามติจะมีได้เฉพาะรายประเด็น หากถามเรื่องใหญ่ที่เดียว 200-300 มาตรา จะกลายเป็นเหมาเข่ง การทำประชามติแบบบังคับนั้นทำยาก และทั่วโลกเขาถามเป็นประเด็น เพื่อไม่ให้ตัวเลือกมากแล้วตัดสินใจได้ยาก แต่หากเห็นว่าสมควรทำก็ไม่ขัดข้อง หากคิดว่าจะทำประชามติแล้วยกร่างไปแบบลวกๆ ก็ไม่ควร จึงควรปล่อยให้ร่างไปก่อน หากส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าดีโดยไม่ต้องลงประชามติ ก็จะประหยัดเงินและเวลาที่ต้องทำประชามติ
เมื่อถามว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น ประชามติโหวตไม่รับจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่าต้องตั้งกมธ.ใหม่ สปช.ใหม่ เริ่มใหม่หมด แต่อาจตั้งไม่กี่คนแล้วรีบๆ ร่างออกมา
เมื่อถามว่าหากเป็นเช่นนั้นแปลว่าประชาชนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร นายวิษณุกล่าวว่า "บางคนอาจคิดเช่นนั้น แต่คงต้องตอบว่าไม่ยอมรับรัฐธรรม นูญที่กมธ.ยกร่างฯร่างขึ้น เพราะกระบวนการคือเดือนเม.ย. ต้องร่างเสร็จและส่งให้ทุกคนดู ส่วนใครอยากให้แก้อะไรก็บอกมา ทั้งสปช. แม้แต่ครม.ก็มีสิทธิทำได้ หากกมธ.ยกร่างฯไม่แก้ตามที่บอกก็เป็นสิทธิ์ จากนั้นจึงให้โหวตโดยสปช.ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน หากผ่านก็ไปเจอกันในประชามติ หากโหวตไม่รับ ลึกๆ แล้วแปลว่าไม่พอใจร่างของกมธ. สปช.อาจจะสะใจที่ขอให้แก้แล้วไม่แก้ให้ จะมาบอกว่า ไม่พอใจรัฐธรรมนูญของคสช.ก็คงพูดได้เพราะมันก็ใช่ แต่จริงๆ คสช.อาจไม่พอใจร่างนั้นก็ได้"
กมธ.คุ้มครองสิทธิทุกเพศสภาพ
ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่ากมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล มาตรา 7 ที่ระบุว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้"
"ซึ่งถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีการเพิ่มคำใหม่ คือคำว่า "เพศสภาพ"เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด" นายคำนูณกล่าว
วางม.14 ป้อง"เฮตสปีช"
นายคำนูณกล่าวว่า ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "บุคคลย่อ มมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" ซึ่งคำว่าการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น จะครอบคลุมไปถึงสื่อในโลกออนไลน์ต่างๆ ด้วย ส่วนวรรคสองระบุว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน"
นายคำนูณกล่าวด้วยว่า มาตรา 14 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นมาจากรากฐานวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดการเกลียดชัง หรือที่ เรียกกันว่า Hate Speech (เฮตสปีช) อีกทั้งยังเป็นการเขียนให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของการที่ประเทศไทยเข้า เป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ไอซีซีพีอาร์) ข้อ 20(2) รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นการบัญญัติเรื่องเฮตสปีชไว้แต่ยังไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องมีความผิดทางอาญา อยู่ที่ผู้เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาต่อไป
เสนอแก้ไขกันทุกมาตรา
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการประชุมกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ในวันที่ 3 ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม โดยในช่วงเช้าได้พิจารณา หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิเสรีภาพของพลเมืองเสร็จแล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นชอบตามที่กมธ.ยกร่างฯเสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากนั้นช่วงบ่ายถึงเข้าสู่การพิจารณาในส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง โดยพิจารณาในมาตราที่สำคัญ ได้แก่ มาตรา (1/2/2) 20 ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพสื่อ ซึ่งมีเนื้อหาทั้งสิ้น 7 วรรค จึงทำให้กมธ. ยกร่างฯใช้เวลาอภิปรายค่อนข้างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กมธ.ยกร่างฯ ตั้งใจจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราให้ได้วันละ 18 มาตรา เพื่อให้เสร็จทันตาม กรอบเวลาการยกร่างฯ อย่างเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯสามารถพิจารณาในภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิเสรีภาพของพลเมือง ได้เพียง 9 มาตรา ทำให้ต้องพิจารณาใน 9 มาตรา ที่ค้างไว้ ในวันที่ 14 ม.ค. ที่รวมแล้วต้องพิจารณาทั้งสิ้น 27 มาตรา แต่ปรากฏว่าสมาชิกพยายามเสนอปรับแก้เนื้อหา ทำให้ต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ในการพิจารณาแต่ละมาตรา
จี้ฉุนกมธ.เลิกอภิปรายยืดเยื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในการประชุมกมธ.ยกร่างฯ เมื่อสมาชิกอภิปรายกันมาก ฝ่ายเลขานุการคณะกมธ.ยกร่างฯ แจ้งต่อที่ประชุมว่า หากกมธ.ยังอภิปรายกันยืดยาว จะทำให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราต้องยืดออก อาจต้องใช้เวลาถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน จึง ขอแจ้งว่าขณะนี้ทีมร่างยังร่างหมวดศาลไม่เสร็จ หมวดองค์กรตรวจสอบก็ยังอยู่ในอากาศ ไม่มีข้อมูลแม้แต่น้อย สภาตรวจสอบภาคประชาชนจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ เราไม่มีเวลาแล้ว ทีนี้พอเข้าช่วงท้ายๆ ก็จะสุกเอาเผากินกัน ที่น่ากลัวคือเป็นเรื่องของการปฏิรูปที่ยังไม่เห็นเนื้อหาเหมือนกัน ที่ว่ากันว่ากมธ.ยกร่างฯ มีพิมพ์เขียว พิมพ์ชมพู ก็อยากให้รู้ไว้เลยว่า ยังเขียนไม่เสร็จ
สนช.อุบข้อมูลถาม"ปู"
วันเดียวกันนี้ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ซักถามสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยก่อนการประชุมว่า ได้เชิญสมาชิกที่ยื่นญัตติคำถามในสำนวนคดีถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์มาหารือเพื่อจัดหมวดหมู่คำถาม รวมถึงประเด็นที่ซ้ำซ้อน หรือไม่กระจ่างชัด หากการจัดหมวดหมู่ประเด็นเข้าใจถูกต้องตรงกันก็ไม่มีปัญหา คาดว่าวันนี้คงได้ข้อสรุปว่าจะเหลือจำนวนคำถามต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และฝ่ายน.ส.ยิ่งลักษณ์เท่าใด แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของคำถามว่ามีเนื้อหาอย่างไร เพราะถือเป็นความลับและจะผิด ข้อบังคับการประชุม
เมื่อถามถึงกระแสข่าวคสช.มีคำสั่งในการพิจารณาสำนวนคดีถอดถอน พล.อ.สิงห์ศึกกล่าวว่าสมาชิกยึดถือหลักการและกฎหมาย ดำเนินการตามข้อมูลด้วยเหตุและผลตามสำนวน เป็นเรื่องที่สมาชิกจะใช้ดุลยพินิจ ยืนยันไม่มีคำสั่งแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปตามหลักปฏิบัติและกฎหมายจะต้องใช้บังคับได้อย่างแท้จริง ดังนั้นกระแสข่าวที่เกิดขึ้น อาจเป็นความคิดในอดีต แต่รัฐบาลโดย นายกฯขณะนี้กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่
พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานกมธ.ซักถามสำนวนคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่าล่าสุดนายนิคมแสดงความจำนงจะมาตอบข้อซักถามดัวยตัวเองในวันที่ 15 ม.ค. ส่วนนายสมศักดิ์ทางกมธ.ซักถามยังไม่ได้รับการแจ้ง
ปปช.ลั่นพร้อมตอบทุกคำถาม
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงการตอบข้อซักถามของกมธ.ซักถามฯ ของสนช.ในคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคม และนายสมศักดิ์ ว่า ในส่วนของ ป.ป.ช.มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. นำทีมไปตอบข้อซักถามเช่นเดิม
"โดยวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา นายวิชา รายงานให้ที่ประชุมป.ป.ช.ทราบว่าคณะทำงานได้เตรียมพร้อมตอบข้อซักถามพอสมควร เนื่องจากวันที่ 15 และ 16 ม.ค.นั้น ประเด็นแตกต่างกัน ต้องเตรียมข้อกฎหมาย และสำนวนคดี ซึ่งนายวิชา ยืนยันว่ามีความพร้อมและมั่นใจในการตอบข้อซักถามทุกคำถาม" นายปานเทพกล่าว
นิคมลั่นลุยตอบป้อง"นิติบัญญัติ"
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 15 ม.ค. จะเดินทางมาตอบคำถามต่อกมธ.ซักถามแน่นอน เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และปกป้องศักดิ์ศรีฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ต้องได้รับการยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. และส.ว.ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มิเช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่สามารถแก้ไขรัฐ ธรรรมนูญได้อีก ซึ่งจากคำถามที่สมาชิก สนช. ยื่นถามต่อ ป.ป.ช. ตามที่ปรากฏในข่าว เช่น รัฐธรรมนูญ 2550 หมดไปแล้ว จะทำการถอดถอนตามกฎหมายใด หรือถามถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังการถอดถอนโดยเฉพาะความปรองดองนั้น สะท้อนชัดว่า สมาชิกสนช.พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ตน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยกเลิกไปแล้ว ทั้งยังห่วงบ้านเมืองที่กำลังต้องการความสามัคคี
เมื่อถามถึงกระแสข่าวลือจาก สนช. กลุ่ม 40 ส.ว. ที่ว่า คสช.ไฟเขียวให้ลงมติถอดถอนทุกสำนวนนั้น นายนิคมกล่าวว่า เป็นวิธีการเดิมๆ ที่อดีตส.ว.กลุ่มนี้ใช้ มีทั้งการให้สมาชิกสปช.ที่เป็นอดีตส.ว.กลุ่มเดียวกัน ไปอภิปรายในช่วงหารือของการประชุมสปช.ชี้นำให้ถอดถอน ทั้งที่สปช.มีหน้าที่ปฏิรูปประเทศ ไม่ได้เกี่ยวข้องต่อกระบวนการถอดถอนเลย แต่เชื่อว่า ที่สุดแล้วสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่จะให้ความเป็นธรรมแก่ตน
เตือนสนช.ชี้นำผิดจริยธรรม
"จากประสบการณ์การทำงานวุฒิสภาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ส.ว.ไม่เคยแสดงความคิดเห็นหรือให้ข่าวชี้นำเพื่อนสมาชิกในสำนวนถอดถอนเลยสักครั้ง เพราะทุกคนรู้ดีว่า มีความผิดตามข้อบังคับการประชุมที่ 161 เกี่ยวข้องกับการละเมิดคุณธรรมจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งหากมีผู้ฟ้องไปยังคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่ามีมูลก็จะนำไปสู่การลงมติถอดถอนสมาชิกผู้นั้น ให้พ้นสมาชิกภาพต่อไป ซึ่งแนวทาง ดังกล่าวนี้บังคับใช้กับสนช.เช่นกันในข้อ 161" นายนิคมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 หมวด 10 การถอดถอนและให้บุคคลพ้นตำจากตำแหน่ง ข้อที่ 161 ระบุว่า นับจากประธานมีคำสั่งจนเสร็จสิ้นการออกเสียงลงมติถอดถอน สมาชิก จักต้องวางตนเป็นกลางและเที่ยงธรรม ไม่กล่าวหรือแสดงไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันจะทำให้การพิจารณาและการวินิจฉัยของที่ประชุมสภาต้องเสียความยุติธรรมไป เช่น ให้ความเห็นในหมู่สมาชิกอันเป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งการพิจารณา หรือเป็นการวิพากษ์โดยไม่เที่ยงธรรม ยังผลกระทบความน่าเชื่อถือของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
38 ส.ว.ขอชี้แจงทุกคน
วันเดียวกัน นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี 1 ใน 38 ส.ว. ที่จะถูกสนช.พิจารณาถอดถอนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบ กล่าวว่า ในวันนี้ ตนและอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ได้พูดคุยถึงแนวทางชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อสนช. เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะขอชี้แจงแก้ข้อกล่าวทุกคน แม้ทั้ง 38 คนจะถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในประเด็นเดียวกัน แต่การขอชี้แจงทุกคนเนื่องจากต้องการพูดถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเจตนารมณ์ใน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอุดมการณ์ และการกล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น มันทำให้เกิดความเสียหายมาก พวกตนต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจว่าทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราสามารถทำได้ ไม่มีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ จึงต้องใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงเจตนารมณ์ว่าการกระทำของพวกตนไม่ได้ล้มล้างการปกครอง แต่ต้องรอดูสนช.ว่าจะเห็นชอบให้ชี้แจงทุกคนหรือไม่
ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. 1 ใน 38 ส.ว.ที่จะถูกพิจารณาถอดถอนกล่าวว่า พวกตนจะชี้แจงอย่างนิ่มนวล ไม่ได้ตอบโต้ แต่จะพูดตามหลักฐานทางกฎหมายและเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนที่ถูกชี้มูลความผิดตกลงกันว่าจะขอใช้สิทธิชี้แจงทุกคน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าคสช. มีใบสั่งให้สนช.ดำเนินการถอดถอนนั้น อย่าไปฟัง เพราะเชื่อว่า คสช.ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง จึงไม่น่ามีใบสั่ง
"กิตติรัตน์"จวกคำพูด"พรเพชร"
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและอดีตรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ระบุถ้าเอามือปืนรับจ้างมาตอบแทนในกรณีโครงการรับจำนำข้าว จะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร จะมาทำไม ใครจะอยากฟัง จะไปรู้เรื่องอะไรและไม่มีความน่าเชื่อถือว่า การที่ประธานสนช.พูดพาดพิงถึง ผู้แทนคดีฯที่ได้รับความเห็นชอบจากสนช.และมีสิทธิตามกฎหมายและข้อบังคับการประชุมของสนช.โดยใช้ศัพท์เรียกขานว่ามือปืนรับจ้าง เป็นเรื่องไม่สมควร ไม่สมกับเป็นนักกฎหมายที่มีหน้าที่เป็นประธานสภา หากพูดจริงควรออกมากล่าวคำขอโทษ
"นายพรเพชร ควรออกมาขอโทษที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมเรียกขานผู้แทนคดีฯ ว่ามือปืนรับจ้าง หากเป็นความหวังดีของประธานที่ให้คำแนะนำว่าควรเป็นอย่างไรจะได้ไม่เสียเปรียบผู้กล่าวหา ผมก็ซาบซึ้ง และขอแค่เป็น กลางก็ขอบคุณแล้ว" นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์กล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็น ผู้แทนคดีฯและเคยรับผิดชอบบริหารงานเศรษฐกิจของประเทศ มีหน้าที่ดูแลโครงการรับจำนำข้าวด้วย เป็นผู้รู้เรื่องในประเด็นที่มีการกล่าวหาเพียงพอจะทำหน้าที่ตอบข้อซักถาม มีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำหน้าที่ชี้แจงแทนผู้ถูกกล่าวหา
ทนายปูรอหนังสือตอบ"สนช."
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า ได้รับทราบกระบวนการที่ใช้ซักถามเรียบร้อยแล้ว วันนี้จะประชุมทีมทนายเพื่อเตรียมข้อมูลตอบข้อซักถามต่อสมาชิกในกระบวนการซักถามของสนช.วันที่ 16 ม.ค.นี้ ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเองหรือไม่ ทีมทนาย ความยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากยังไม่ได้รับคำตอบถึงวิธีการซักถาม ตามที่ได้มีหนังสือที่ได้สอบถามไปยัง สนช. ที่ประชุมจึงขอหารือกันอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค. และต้องรอการยืนยันจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนวันประชุม
นายนรวิชญ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสนช.ได้ตอบหนังสือมาว่ากมธ.จะซักถามฝ่ายผู้กล่าวหาให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงจะซักถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา โดยจะยึดคำถามตามที่ได้เรียบเรียงและจัดกลุ่มจากญัตติของสมาชิกที่ได้เสนอต่อที่ประชุมเท่านั้น และจะไม่ทำการซักถามเพิ่มเติมต่อเนื่องแต่อย่างใด ยกเว้นในระหว่างการซักถามเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น ยังมีความไม่ชัดเจน กมธ.อาจซักถามเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนได้
วรชัยชงถอดพวกลุแก่อำนาจ
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวล็อบบี้ สนช.ให้ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ขณะนี้คนที่เคลื่อนไหวและชี้นำในประเด็นนี้ก็มีแต่กลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งเป็นพวกหน้าเดิมๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกไปแล้ว ยืนยันว่าสนช.ไม่สามารถถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ หากมองเรื่องความผิดนั้น ชัดเจนว่าในวันแถลงเปิดคดี นายวิชาพูดชัดว่าอาจมีทุจริตเกิดขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีเหตุเกิดขึ้น เป็นการตั้งข้อกล่าวหาทั้งที่ความผิดยังไม่เกิด หากสนช.ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด รวมทั้งนาย สมศักดิ์และนายนิคม กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมอาจมองว่าสนช.เป็นเพียงเสือกระดาษ ทำตามใบสั่งใครหรือไม่ ดังนั้น สนช.ต้องทำให้สังคมเห็นว่าเป็นเสือตัวจริง ไม่ทำตามที่ใครล็อบบี้หรือชี้นำ
"ผมมองว่างานนี้ต้องถอดถอน ป.ป.ช. มากกว่า เพราะลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเกินขอบเขต ผิดมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตั้งข้อกล่าวหาผู้อื่นโดยที่ยังไม่กระทำผิด ถือว่าไร้ความยุติธรรม จึงขอฝากพล.อ. ประยุทธ์ เข้ามาดูแล ขอให้เห็นหัวประชาชนบ้าง อย่าทำลายหัวใจของคนรักประชาธิปไตยมากไปกว่านี้เลย ขอให้เข้ามาถอดชนวนความขัดแย้งนี้ให้ได้ หากปล่อยให้พวก 40 ส.ว.กำหนดชะตาประเทศแบบนี้ เชื่อว่าจะเกิดวิกฤตขัดแย้งรอบใหม่ซึ่งจะรุนแรงกว่าเดิมแน่นอน" นายวรชัยกล่าว
"พิชิต"ตั้ง 12 ข้อถามปปช.
นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษากฎหมายของคณะทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทีมทนายเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการพิจารณาคดีถอดถอน สนช.ควรซักถามนายวิชาเจ้าของสำนวนผู้ไต่สวนคดี ใน 12 ข้อ ดังนี้ 1.ทำไมไม่สอบโครงการช่วยชาวนาในอดีตทั้งหมด และเลือกเชื่อแต่รายงานของทีดีอาร์ไอในอดีต ที่ป.ป.ช.จ้างทำ และกรณีมีคำสั่งให้ยุติโครงการรับจำนำข้าวที่ดำเนินการได้เพียง 2 วันใช่หรือไม่, 2.นายวิชาเคยไปกล่าวปาฐกถาว่า ข้าวในโกดังหายไป 2 ล้านตัน มีหลักฐานใดยืนยันคำกล่าวหานั้น, 3.ทำไมไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เผชิญสืบข้าว 2 ล้านตันไม่ได้หาย, 4.ภายหลังป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก็ไม่พบว่าข้าว 2 ล้านตันหาย แต่ข้าวจำนวนดังกล่าวกลับถูกอ้างในรายงานและสำนวน ป.ป.ช. เป็นมูลค่าความเสียหายและผลขาดทุนใช่หรือไม่
นายพิชิตกล่าวอีกว่า 5.ก่อนความชี้มูลน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โต้แย้งตัวเลขทางบัญชีของคณะอนุฯ ว่าไม่ถูกต้องทั้ง 3 ครั้ง แต่ป.ป.ช.ไม่ยอมให้นำพยานบุคคลเข้าหักล้างใช่หรือไม่, 6.ก่อนการชี้มูล ป.ป.ช.ไม่ใช้อำนาจของไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงการคลัง ว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้เสียวินัยการเงินการคลังและสร้างปัญหาหนี้สาธารณะ และเป็นภาระงบประมาณเกินสมควรจริงหรือไม่ แต่กลับสรุปรายงานและสำนวนพร้อมความเห็นของป.ป.ช. โดยปราศจากพยานหลักฐานใช่หรือไม่, 7.ก่อนการชี้มูลความผิด ป.ป.ช. มิได้ไต่สวนในข้อเท็จจริง ว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเท่าใด ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใดใช่หรือไม่
ชี้คดีใหญ่สอบพยานแค่ 7 ปาก
นายพิชิตกล่าวต่อว่า 8.ในชั้นไต่สวนก่อนชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์จะนำพยานบุคคลที่มีอาชีพทำนา และจะนำพยานบุคคลที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก และซื้อขายข้าวอิสระมาหักล้างข้อกล่าวหา แต่ได้ตัดพยานของน.ส. ยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่, 9.ข้อกล่าวหาว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์มิได้ระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริต และระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนั้น พยานหลักฐานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาถึงข้อเท็จจริงที่รัฐบาลมิได้ละเว้นป้องกันการทุจริตทำไมไม่อยู่ในสำนวนของป.ป.ช. นอกจากนี้ประเด็นข้าวหายหรือข้าวเสื่อมสภาพ รัฐบาลมีสัญญาความรับผิดเอากับผู้ที่ทำข้าวหายหรือข้าวเสื่อมสภาพด้วยความบกพร่องไว้แล้ว แต่ป.ป.ช. ไม่ไต่สวนในเรื่องดังกล่าวใช่หรือไม่
นายพิชิตกล่าวต่อว่า 10.สำนวน ป.ป.ช. ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่ และเกี่ยวข้องกับชาวนาจำนวนหลายล้านคน แต่ ป.ป.ช.กลับสอบพยานบุคคลเพียง 7 ปากเท่านั้นใช่หรือไม่, 11.คดีนี้นับตั้งแต่ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะผู้ไต่สวนจนถึงวันชี้มูลความผิด ใช้ระยะเวลาเพียง 101 วัน ถือว่ามีเจตนาเร่งรีบ รวบรัดใช่หรือไม่ และ 12.รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากการดำเนินคดีอาญาไว้อย่างชัดแจ้ง แต่คดีนี้กลับรวมทั้ง 2 คดี และผู้ถูกกล่าวหาได้คัดค้านห้ามป.ป.ช. รวมคดีใช่หรือไม่
ปชป.ติงมาตรา 68
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปรับแก้มาตรา 68 ว่า มีการตัดข้อความในวรรคสามและวรรคสี่ เกี่ยวกับการสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรคแล้วเพิ่มคำว่า "กลุ่มบุคคล" เข้ามาแทน ซึ่งยังคงฐานความผิดทางคดีอาญาไว้อยู่ ซึ่งตนมองว่าการลงโทษที่ตัวบุคคล เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดและทำได้ยาก และเปิดช่องทางทุจริตมากขึ้น การให้มีโทษทางอาญาก็เหมือนไม่มี และเชื่อว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นกมธ.ยกร่างฯ ต้องมีบทลงโทษที่มากกว่าทางอาญาเข้ามาทดแทน
"สปช.-รบ."นัดถกทำงานร่วมกัน
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวว่า ในวันที่ 16 ม.ค. เวลา 14.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย พร้อมด้วยนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ จะเข้าพบนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อหารือแนวทางการทำงาน และการประสานงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับสปช.
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ สปช.มีมติให้ยกเลิกการให้สัมปทานครั้งที่ 21 ว่า ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายและมีเวลาให้พิจารณาได้ เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซในโลกมีราคาลดต่ำลงมามาก โดยหลักคิดเดิมเห็นว่า การให้สัมปทานครั้งที่ 21 เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขุดได้ในประเทศที่จะหมดลง แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกมีราคาต่ำมากและอาจมีราคาต่ำอีกเป็นระยะเวลานานพอสมควร ดังนั้นประเทศไทยยังสามารถนำเข้าน้ำมันและก๊าซได้ในราคาต่ำไปอีกนาน
"การที่จะคาดหวังให้บริษัทที่ได้สัมปทาน เสนอให้ผลประโยชน์แก่รัฐเพิ่มขึ้นนั้นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากราคาพลังงานโลกมีราคาลดลงมาก เนื่องจากแหล่งพลังงานของไทยเป็นแหล่งแล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ต้นทุนในการนำพลังงานขึ้นมาจะมีราคาสูง เมื่อราคาพลังงานมีราคาถูกลง ก็อาจจะไม่คุ้มกับการนำขึ้นมาใช้ ทั้งนี้หากให้สัมปทานไปได้ก่อนหน้านี้หลายปี ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ไปมากแล้ว ดังนั้นจึงอยากฝากให้เป็นข้อคิดว่าปัจจุบัน สิ่งต่างๆ ในโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากประเทศไทยไม่ปรับตัวให้ทันก็อาจจะล้าหลังได้" นายพิชัยกล่าว
ปนัดดาชงให้ร้องทุกข์ผ่านแอพ
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ แถลงผลการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์กับการคืนความสุขให้ประชาชนว่า การรับเรื่องร้องทุกข์โดยศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 - 9 ม.ค. 2558 ผ่าน 4 ช่องทาง คือ สายด่วนรัฐบาล 1111 ตู้ป.ณ. 1111 เว็บไซต์ 1111.go.th และที่จุดบริการประชาชน ที่ทำการชั่วคราวสำนักงานก.พ.เดิม โดยมีตัวแทนจาก 20 กระทรวง มาร่วมรับเรื่องเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปแก้ไข มีการร้องเรียน 158,286 ครั้ง รวม 115,538 เรื่อง ซึ่งมากขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2556
ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า แก้ไขปัญหาได้สำเร็จ 91 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือยังเร่งแก้ไข เนื่องจากเกี่ยวกับข้อกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ และทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องแชร์ลูกโซ่ และขอให้ทำงานร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด ยึดรูปแบบส่วนกลางคือให้มีตัวแทนของแต่ละกระทรวงมาร่วมรับฟังปัญหาเพื่อให้การแก้ไขครบวงจร ลดการเข้ามาร้องเรียนที่ส่วนกลาง ทั้งนี้ นายกฯ ระบุจะหาโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมในต่างจังหวัดด้วย
ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ขณะนี้มีแนวคิดรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อความสะดวกในร้องทุกข์ อยู่ระหว่างการออกแบบจัดทำระบบ นอกจากนั้นจะประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลไทย 9 ในประชาคมอาเซียน เพื่อให้การช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ในประเทศอาเซียน ขณะเดียวกันจะรับเรื่องของเพื่อนบ้านที่เข้ามาในไทยไปพร้อมกันด้วย
"บิ๊กตู่"เปิดงานเที่ยววิถีไทย"58
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 14 ม.ค. ที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานเปิดงานปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 โดยมีนางกอบกาญน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายกลินท์ สารสิน ประธานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ คณะผู้บริหาร ผู้แทนกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมงาน โดยมีทหาร ตำรวจมารักษาความปลอดภัยจำนวนมาก และตรวจเข้มพื้นที่ภายในและโดยรอบ ห้ามประชาชนใช้สะพานลอยหน้าสยามดิสคัฟเวอรี่
โดยในงานจัดแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีไทยทั้ง 5 ภูมิภาค แบ่งเป็น 5 โซน คือหมู่บ้านท่องเที่ยว 5 ภูมิภาค กิจกรรมนิทรรศการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว กิจกรรมบันเทิงเวทีกลาง กิจกรรมพิเศษย้อนยุค 90 ปี สวนลุมพินีและการออกร้านของดีของเด่นของดัง 50 เขต กทม. และกิจกรรมการออกบูธนิทรรศการของหน่วยงานจังหวัดพันธมิตร 12 จังหวัด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานว่า นโยบายรัฐบาลต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีการรับรู้อย่างกว้างขวาง เตรียมการเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวไทยเพราะมีหลายอย่างให้เลือก ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยวป่าเขา ทะเล ประเด็นสำคัญคนไทยน่ารัก เสน่ห์ของคนไทยเพราะมีรอยยิ้ม วันนี้ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์การจัดงานท่องเที่ยววิถีไทยซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับนักท่องเที่ยว รัฐบาลเตรียมแผนงานไว้ทุกอย่าง รัฐบาลจะสร้างเศรษฐกิจคนไทยด้วยการ ท่องเที่ยว ซึ่งทำได้ง่ายและเร็วที่สุด อย่าลืมรอยยิ้มของคนไทยให้อยู่กับทุกคน จากนั้นนายกฯตีฆ้องเปิดงาน พร้อมชมขบวนท่องเที่ยววิถีไทย