- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 14 January 2015 14:44
- Hits: 3946
วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8813 ข่าวสดรายวัน
คดีล้มปชต.-เลิกโทษ ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ก็ไม่มี สนช.ถามบี้'ปู' จัดหนัก 60 ข้อ สายทหารโต้ ใบสั่งงดเสียง
ลุงตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อารมณ์ดีต้อนรับคณะเด็กและเยาวชน ตัวแทนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ที่เข้าพบเพื่อขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายปกป้องเด็กจากควันบุหรี่ ที่หน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ม.ค. |
กมธ.ยกร่างฯ ถกหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชน เปิดให้ร้องตรงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างระบอบประชาธิปไตย แต่ตัดบทบัญญัติยุบพรรค-ตัดสิทธิ์กก.บห. กลุ่ม '40 ส.ว.' ปูดข่าว คสช.ไฟเขียวลงมติถอดถอน'ปู-ขุนค้อน-นิคม''บิ๊กกี่'ยันไม่มีใบสั่ง สนช.สายทหารปัดโดนล็อบบี้งดออกเสียง สนช.จัดหนัก 60 คำถาม จี้ 'ยิ่งลักษณ์'ตอบปมจำนำข้าว'บิ๊กตู่'ตั้ง'ประวิตร'นั่งประธานกก.ยุทธศาสตร์ขันนอตข้าราชการเกียร์ว่าง ลั่นตั้งผบ.ทบ.ไม่ดูนามสกุล
นายกฯร่วมวันสถาปนาภาค 1
เวลา 07.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีในงานวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ครบรอบ 105 ปี จากนั้น เวลา 09.00 น. นายกฯ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมประชุมครม.
ก่อนประชุม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ นำคณะนักเรียน นักศึกษา เข้าพบนายกฯ และครม. เพื่อมอบดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำวันครู พร้อมเชิญนายกฯเป็นประธานในพิธีวันครูแห่งชาติ วันที่ 16 ม.ค. และนางกอบกาญจน์ วัฒน วรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นำศิลปินดารา ติดเข็มกลัดตราสัญลักษณ์ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 มอบนายกฯ และครม. เผยแพร่การท่องเที่ยววิถีไทย
จากนั้นคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยาพุทธมณฑล และนักเรียนอนุบาล 2-3 จากโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า สาขาเพชรเกษม (บางแค) พร้อมตัวแทนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เข้าพบนายกฯ ที่เป็นต้นแบบที่ดี ไม่สูบบุหรี่ และขอให้รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายควบคุมบุหรี่ฉบับใหม่ ก่อนที่เด็กๆ จะร่วมร้องเพลง "วันพรุ่งนี้" ให้พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนายกฯ ร่วมร้องคลอและยิ้มแย้มตลอดเวลา และร่วมถ่ายภาพกับเด็กๆ โดยช่วงหนึ่งน้องภีม ถามเสียงดังว่า "นี่นายกฯ ตัวเป็นๆ หรือเปล่า" พล.อ.ประยุทธ์ หัวเราะพร้อมเรียกเข้ามาสวมกอดและให้จับตัวดูว่าเป็นตัวจริง ซึ่งบรรยากาศเป็นกันเอง
ตั้ง"ประวิตร"ปธ.ยุทธศาสตร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งคสช.ที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 9 ม.ค. เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช. ระบุตามที่คสช.แถลงยุทธศาสตร์สำคัญ 9 ด้าน เพื่อใช้เป็นหลักหรือแนวทางปฏิรูปและพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการ สอดคล้องและรองรับกับยุทธศาสตร์ คสช.จึงมีคำสั่ง 1.ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช. ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิกคสช. เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. ผบ.ทร. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์ นายอำพน กิตติอำพน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหัวหน้า คสช.เป็นผู้แต่งตั้งอีกไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ และพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
2.คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐในการดำเนินยุทธศาสตร์ของคสช. รายงานผล ความเห็นหรือข้อเสนอแนะแนวทางปรับปรุง แก้ไขต่อหัวหน้าคสช. กำหนดแนวทางและมาตรการหรือกลไกประสานความร่วมมือของส่วนราชการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน เชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริงหรือขอความเห็น ข้อเสนอแนะ หรือเรียกเอกสาร หลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น และดำเนินการตามที่หัวหน้า คสช.มอบหมาย 3.ให้สำนักงานเลขาธิการคสช. ปฏิบัติงานและรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามคำสั่งนี้ และให้การเบิกจ่ายเบี้ยประชุมเป็นไปตามพ.ร.ฎ.ว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ และการเบิกจ่ายเงินที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบราชการ
ทำงานควบคู่รัฐบาล
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่าได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน และมีทหารเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหา ทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายในฝั่งของรัฐบาลที่มีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและหัวหน้าคสช.ดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว มีเรื่องใดติดขัดจะได้แก้ไขได้ทันที
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกฯ มอบหมายให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและตัวเลขที่มีผลกระทบต่อการบริหารงานและเศรษฐกิจในประเทศและรายงานให้ครม.รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า หัวหน้าคสช.ไม่ได้สั่งการให้ดูแลด้านใดเป็นพิเศษ การทำงานในคณะกรรมการดังกล่าวคู่ขนานไปกับครม. เพื่อให้งานทุกด้านเป็นไปตามโรดแม็ป การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไม่ใช่เพราะที่ผ่านมา ผลงานไม่มีความคืบหน้า เพียงแต่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนอาจไม่รับรู้ว่า คสช.และรัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว
นัดประชุมภายใน 2 สัปดาห์
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษา นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุดดังกล่าว คาดจะนัดประชุมไม่เกิน 2 สัปดาห์ กำลังรวบรวมงานที่จะต้องขับเคลื่อน สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าจะต้องเร่งรัด คือ งบประมาณภาครัฐที่ต้องเบิกจ่ายให้รวดเร็ว ทั้งงบประจำปีและงบลงทุน
พล.อ.อนันตพร กล่าวกรณีหน่วยงานราชการบางแห่งอ้างไม่สามารถเบิกจ่ายงบฯ ไปดำเนินโครงการได้ เพราะติดค้างอยู่ที่ การตรวจสอบของ คตร. นั้น ไม่ใช่ ทุกโครงการของภาครัฐไม่จำเป็นต้องผ่าน คตร.ก่อน และคตร.ไม่เคยเรียกให้เข้ามา ไม่เคยไปจับผิดใครก่อน ยืนยันคตร.ไม่ได้ตรวจสอบทุกโครงการและมีโครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบไม่ถึง 10 โครงการ ที่เหลือตรวจสอบเรียบร้อยแล้วและสั่งการให้ลดราคาการดำเนินโครงการลง หากหน่วยงานใดมั่นใจในการเดินหน้าแผนงานหรือโครงการก็ทำได้เลยตามระบบ แต่ถ้าถูกร้องเรียนหรือมีข่าวไม่โปร่งใสจะเชิญหน่วยงานเจ้าของโครงการมาชี้แจง
แก้ปัญหาทุจริตเกียร์ว่าง
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ของคสช.ว่า งานของคสช.ต้องนำทหารมาช่วยกลไกราชการ จึงตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น ให้พล.อ.ประวิตร เป็นประธานซึ่งคุ้นเคยกับทหารทุกเหล่าทัพ จะไปตรวจสอบจากข้างล่างว่ามีทุจริตหรือไม่ ข้าราชการเกียร์ว่าง งบประมาณติดขัด ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันเพราะที่ผ่านมาขาดการบูรณาการ แต่ละกระทรวงมาจากคนละพรรค วันนี้ไม่มีพรรค ทุกกระทรวงต้องทำตามนโยบายกลางนี้ ให้ได้
นายกฯ ถึงข้อเสนอของ สปช.ให้ทหารดูแลจัดการเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมาทหารดูแลโดยรอบทั้งหมด แต่ภายในไม่ได้เข้าไปดูแล เช่นเดียวกับการจัดเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ของทหาร ใครจะเป็นผู้จัดเลือกตั้งก็เหมือนกัน กกต.จัดการเลือกตั้งก็เป็นไปตามหลักสากลอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการเลือกตั้งนั้น ที่ผ่านมามหาดไทยเป็นลูกน้องกกต.อยู่แล้ว ทหาร-ตำรวจประจำคูหาเลือกตั้ง อาสาสมัครส่วนใหญ่มาจากกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ไปพิจารณากันว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดเลือกตั้งและใครเป็น ผู้สนับสนุน ส่วนคนที่มาลงเลือกตั้งดีหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ ที่ผ่านมามีการโกงกันอย่างไร จะให้แก้ทั้งหมดยอมรับว่ามันยาก
ตั้งผบ.ทบ.ไม่ดูนามสกุล
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพูดในที่ประชุมครม.ว่าการแต่งตั้งทั้งหมดอยากให้เป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงานทำขึ้นมา มีทั้งคนได้ และไม่ได้ ซึ่งคนที่ไม่ได้จะไปพูดว่าเป็น คำสั่งนายกฯบ้าง รองนายกฯ บ้าง ไม่ได้สั่งใครสักคนให้ไปตั้งขึ้นมาเองดีกว่า เพราะถ้ารัฐบาลตั้งเองจะเป็นปัญหามากกว่าได้ และถ้าทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้จะเป็นผลดีมากกว่า "ส่วนข้อกังวลว่าใครจะเป็นผบ.ทบ. ผมไม่คิดตรงนั้น เป็นเรื่องบุญทำกรรมแต่ง ถ้าทำงานดี โชคชะตาฟ้าลิขิตมันให้เป็นก็เป็น ไม่ได้เป็นก็ไม่ได้เป็น จะจันทร์โอชาโอแฉะ อะไรก็ไม่รู้ อย่าไปกังวล อาวุโสเขาว่าอย่างไร ใครตั้ง ผบ.ทบ.ก็ตั้งมา คณะกรรมการจะตั้งก็ตั้งมา ไม่จำเป็นต้องดูนามสกุล ใครเป็นก็ได้ กองทัพเป็นระบบอยู่แล้ว"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพูดในครม.ถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับความไว้วางใจว่า สื่อวิจารณ์การโยกย้ายอย่างไร หาว่ามีการเรียกเงินตรงนี้ตรงนั้น ซึ่งได้ชี้แจงในครม.แล้ว ต่อไปการแต่งตั้งไม่ว่าใครจะโดนหมด ซึ่งความไว้วางใจและรู้บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่อส่งต่อ ถามใครจะอยู่ต่อ ไม่มีใครอยู่ต่ออยู่แล้วเพราะรัฐบาลประชาชนเป็นคนเลือก ถ้าเห็นว่างานที่รัฐบาลนี้ทำแล้วดี ต้องไปบังคับให้เขาไปทำต่อด้วย
อย่านำปม"ถอด"โยงการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการมอบให้ตัวแทนรัฐบาลคือนายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ และนายสุวพันธ์ุ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไปพูดคุยกับสปช.และ สนช.ในวันที่ 15 ม.ค.ว่า ไปสอบถามว่าดำเนินการถึงไหนอย่างไร และเมื่อรายงานเข้ามาตนจะรับฟังทั้งเหตุและผล เป็นเรื่องการทบทวนและรายงานความคืบหน้าแต่ทั้งหมดยังไม่ได้ข้อยุติ จะสรุปช่วงปลายปีก็ต้องรอฟังและพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการตามหรือไม่ ถ้าไม่ หรือมีการทะเลาะกันมากก็ตั้งขึ้นใหม่
เมื่อถามว่า บังเอิญวันที่ 15 ม.ค.ใกล้กับวันพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะมาโยงกันทำไม ทุกคนมีแผนงานอยู่แล้ว ขอร้องอย่าเอาไปโยงกัน อย่างวันนี้เดี๋ยวก็นำไปเชื่อมโยงอีกว่าระหว่างที่ สนช.พิจารณาเรื่องถอดถอน กระทรวงพาณิชย์ก็ไปแจ้งความเรื่องรับจำนำข้าว เป็นการไล่ล่า ตามข้อเท็จจริงเตรียมการมานานแล้ว ได้ให้คำแนะนำแล้วว่าให้ทำตามโรดแม็ปที่วางไว้ หากบังเอิญมาเจอกันก็ไม่เป็นไร ขอร้องว่านำมาพันกันจนเกิดความขัดแย้ง
ถอดถอนต้องดูพฤติกรรมด้วย
เมื่อถามว่า วันนี้ความเห็นต่างภายใน สนช.เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดแล้ว กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะถือว่าสิ้นสุดด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "ก่อนหน้านี้กล่าวหาว่าผมตั้งสนช.มาควบคุมได้ทุกอย่าง แล้วมาบอกว่ามีความเห็นต่าง จะให้ทำอย่างไร มาบอกให้ผมตัดสินในฐานะหัวหน้า คสช.ไม่ได้ วันนี้ต้องฟังฝ่ายกฎหมายก่อน แล้วสื่อในฐานะประชาชนมีความคิดว่าอย่างไร"
ครูร้อง - เครือข่ายครูผู้ประสบปัญหาหนี้สินขั้นวิกฤต ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้จัดหาเงินทุนกู้ยืม และหยุดพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. |
เมื่อถามว่าสรุปว่าเรื่องถอดถอนอดีต นายกฯ นายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ยังทำได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ยังพิจารณาอยู่ รอให้ลงมติก่อน สนช.จะบอกเองว่าทำได้หรือทำไม่ได้แล้วค่อยว่ากัน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่อยู่จะใช้อะไรเป็นเครื่องมือถอดถอน ต้องดูว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไร บางครั้งพฤติกรรมกับกฎหมายก็ขัดแย้งกันอยู่ ทุกคนเห็นว่าบางเรื่องผิด แต่กฎหมายก็ปล่อยคนไปจำนวนมากเพราะมีทั้งทนายต่อสู้คดี คดีนี้ก็เหมือนคดีอื่น ต้องดูว่าเป็นอย่างไร บางคนไม่ผิดก็ถูกให้ติดคุก ถ้าเรามองทุกอย่างเป็นธรรมก็ไม่ขัดแย้ง ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนอื่นด้วย ผิดคือผิดต้องถูกลงโทษ แต่ถ้ากฎหมายบอกว่าไม่ผิด ไม่มีการลงโทษ จิตสำนึกต้องรู้ว่าผิดหรือถูก
เมื่อถามว่า คสช.มองว่ากรณีนี้ผิดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอบแล้วว่าให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ถ้ากฎหมายใช้ไม่ได้แล้วควรเอาอะไรมาใช้อย่างมีเหตุและผล วันนี้ต้องถามประชาชนด้วย สิ่งที่ทำให้ประเทศเกิดความเสียหายคือความขัดแย้ง ถ้าไม่มีความขัดแย้งทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ทุกอย่างต้องการความมีเสถียรภาพ
ไล่สื่ออ่านสรุปผลงานรบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวหลังประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ ติติงสื่อมวลชนหลายเรื่อง ตอนหนึ่งระบุว่า สื่อไม่ค่อยทำความเข้าใจการดำเนินงานของรัฐบาลแล้วมาถาม จึงอยากให้ไปอ่านข้อมูลต่างๆ ที่เป็นงานของรัฐบาลก่อน จึงจะสอบถามตอบโต้กันได้อย่างสนุก
"การทำงานของรัฐบาลมีร้อยๆ เรื่อง มีเยอะแยะ ว่างๆ ไปอ่านดู เขาสรุปแจกแล้ว เคยอ่านหรือเปล่า ไม่อ่าน ไม่ชอบอ่านหนังสือ ชอบฟัง ผบ.พูด ฟังนายกฯ พูดอย่างเดียว เอกสารเป็นปึกๆ เขียนกันแทบตายไม่อ่าน ไม่ชอบอ่านหนังสือ ทำความเข้าใจ นิดหนึ่ง พูดยาวยังไม่ฟังเลย" นายกฯ กล่าว
ช่วงท้ายการแถลง พล.อ.ประยุทธ์ เกิดอาการหงุดหงิด เมื่อถูกถามเรื่องจะจัดตลาดนัดจำหน่ายกล้วยไม้ว่าจะจัดวันใด โดยกล่าวว่า "จันทร์ พุธ ศุกร์มั้ง" เมื่อถามว่าต้องประสานหน่วยงานใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ต้องประสานใคร ไอ้นี่ สั่งการไปหมดแล้ว" จากนั้นเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไปทันที
นายกฯยันสนช.ต้องรับถอด
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงในครม.ว่าสังคมให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการเมือง เช่น ปัญหาในสนช. กรณีสื่อถามนายกฯ ว่ามีการตีความเรื่องอำนาจการรับเรื่องถอดถอน ซึ่งนายกฯ ยืนยันว่าแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้เขียนไว้ตรงๆ แต่เขียนไว้ว่าสนช.ปฏิบัติหน้าที่ในนามวุฒิสภา ซึ่งชัดเจนว่าสนช.จำเป็นต้องรับเรื่องที่เสนอเข้ามาโดยป.ป.ช. ถ้าไม่รับถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ อยากให้สังคมให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระที่ป.ป.ช.เสนอเข้ามาว่าคืออะไร ผู้ที่เกี่ยวข้องคือผู้นำรัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นไม่ว่าข้าวเสีย การซื้อข้าว หรือการรับจำนำในราคาที่สูงและบิดเบือนกลไกตลาด และจะไปขายในราคาที่ต่ำกว่าหรือรอว่าวันหนึ่งราคาในตลาดโลกจะสูงเท่าราคาที่รับจำนำ และข้าวยิ่งเก็บไว้นานยิ่งเสื่อมคุณภาพ จะหยุดนโยบายเหล่านั้นเพื่อหยุดความเสียหายได้หรือไม่ นั่นคือเรื่องที่ป.ป.ช.เสนอ ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ชี้แจงว่าตั้งใจทำหน้าที่ดูแลชาวนา ไม่ได้ตั้งใจทุจริต จึงอยากให้สังคมสนใจเนื้อหาสาระ ถ้าตอบตรงคำถาม สนช.ก็เทคะแนนให้ ถ้าตอบไม่ตรงเขาก็เทคะแนนให้ป.ป.ช.
ฝากสื่ออย่าชี้นำ
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ดังนั้นอย่ามองตามที่สื่อบางส่วนพยายามใส่ความคิดเห็นและชี้นำว่าถ้าไม่ถอดถอนก็ไม่ปรองดอง หรือถอดถอนก็จะปรองดอง นายกฯ จึงฝากตนมาบอกกับสื่อว่าช่วงนี้สังคมมีความ เปราะบาง อยากให้ใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ถ้าเราเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมพิจารณาด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ทุกอย่างจะไปได้ จะไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปฏิกิริยาต่อต้าน ถ้าเรามองทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมืองหมด จ้องไล่บี้ ช่วยเหลือซูเอี๋ยฝั่งนั้นฝั่งนี้ สังคมไปไม่รอด จึงขอฝากสื่อด้วย
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า วันที่ 20 ม.ค. จะมีการประชุมร่วมระหว่างคสช. และครม. เพื่อปรับการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล นำงานทั้ง 2 ส่วนมาปรับให้ตรงกันและอาจนำมาเสนอในการประชุมร่วมครั้งต่อๆ ไปด้วย
"ประวิตร"โต้ล็อบบี้ปมถอด
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะซักถามเพื่อพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ต้องถามสนช. เป็นเรื่องของเขา เมื่อถามถึงกระแสข่าวการชี้นำและล็อบบี้ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มี จะชี้นำเรื่องอะไร สนช.ต้องพิจารณากันเอง เมื่อถามว่ามติของสนช.จะเป็นตัว กำหนดให้คสช.ต้องสอดคล้องเห็นตามสนช.และเป็นบรรทัดฐานในกรณีอื่นๆ ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เป็น เป็นเรื่องสนช.อย่าไปก้าวก่าย เขาตั้งสนช.มาดูแลเรื่องกฎหมาย อย่าเอาการเมืองไปเกี่ยวกับกฎหมาย
ปัดสนช.สายทหารงดออกเสียง
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษา นายกฯ ในฐานะสมาชิกสนช. กล่าวถึงกระแสข่าวสนช.สายทหารจะงดออกเสียงลงมติ ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีจำนำข้าวว่า สนช.มีเสรีภาพและความคิดเป็นของตัวเอง สนช.กลุ่มที่ชอบเหมือนกันก็คุยกัน แต่ยังไม่เห็นใครมาบอกว่าให้เป็นแบบนี้แบบนั้น เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสข่าวล็อบบี้การลงมติถอดถอน ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า ไม่มี
เมื่อถามว่า หลังรับฟังการแถลงเปิดคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า ต้องรอให้มีการซักถามก่อน ให้ฟังว่าคนกล่าวหาว่าอย่างไร และคนถูกกล่าวหาชี้แจงอย่างไร ยังไม่มีการดีเบต กัน เมื่อถามว่าส่วนตัวมีคำตอบในใจแล้วหรือยัง พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า ไม่ได้ ในใจบอกได้อย่างไร
ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าหากลงมติถอดถอนอาจส่งผลต่อการสร้างความปรองดอง พล.อ. อนันตพร กล่าวว่า นายกฯ ระบุว่าในข้อเท็จจริงแล้วจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ไม่สำคัญ แต่สำคัญว่ามีการทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะการถอดถอนเป็นแค่เรื่องการเมือง จึงให้ดูเรื่องกฎหมายดีกว่า
"วิชา"ยันปปช.ชี้แจงได้ทุกประเด็น
ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เผยถึงการตอบข้อซักถามของกมธ.ซักถามของสนช.ในคดีถอดถอนว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบข้อซักถามของ กมธ.ซักถามว่ามีเรื่องใดบ้าง ขึ้นอยู่กับ สนช.พิจารณา ต้องรอฟังสนช.ก่อน ให้สนช.ดำเนินการสรุปประเด็นให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ส่วนเราก็เตรียมตัวไปชี้แจง
เมื่อถามว่า เป็นกังวลหรือไม่ที่ สนช. หลายคนอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ไม่สามารถถอดถอนได้ นายวิชากล่าวว่า ไม่มีอะไรที่ป.ป.ช.ชี้แจงไม่ได้ พูดอย่างนั้นก็แล้วกัน ทุกเรื่องเราชี้แจงได้หมด เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายนำข้อมูลมาดิสเครดิต ป.ป.ช. นายวิชากล่าวว่า ไม่มีอะไรที่เราชี้แจงไม่ได้ ทุกเรื่องเราชี้แจงได้หมดแน่นอน
ทนายสอบถามกมธ.วิธีซัก"ปู"
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้ได้รับอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดชอบคดีโครงการรับจำนำข้าว เผยว่า มอบให้เลขาฯ ส่วนตัวไปยื่นหนังสือถึงสนช. สอบถามวิธีและมาตรฐานการซักถามของ กมธ.ซักถาม ตามสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ เนื่องจากตามบังคับการประชุม สนช.ไม่ได้ระบุกระบวนการดังกล่าวไว้ อีกทั้งข่าวที่ออกมาทำให้สับสนถึงวิธีดังกล่าว ทีมทนายจึงเห็นว่า สนช.ควรซักถามตามที่เคยปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภาที่กมธ.ซักถาม เป็นฝ่ายถามก่อนให้เสร็จสิ้น จากนั้นให้คู่กรณีเป็นฝ่ายตอบ จึงถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการโดยไม่มีการตอบโต้กัน แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะตอบข้อซักถามเองหรือจะส่งให้ 5 อดีตรัฐมนตรี เป็นผู้มาตอบ คาดว่าจะชัดเจนในวันที่ 14 ม.ค.นี้
สนช.ซัก 2 ฝ่ายกรณี"2 ปธ."
ที่รัฐสภา นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสนช. ในฐานะโฆษกกมธ.ซักถามคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเลือก พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ เป็นประธาน โดยหน้าที่ของคณะกมธ. ได้สรุปข้อคำถาม หลังเปิดโอกาสให้สมาชิกยื่นประเด็นคำถามต่อฝ่ายป.ป.ช. และฝ่าย ผู้ถูกกล่าวหา คำถามในสำนวนของนาย สมศักดิ์นั้น เป็นคำถามต่อป.ป.ช. 19 ข้อ นาย สมศักดิ์ 9 ข้อ ขณะที่คำถามในสำนวนของนายนิคม เป็นคำถามต่อป.ป.ช. 16 ข้อ ถามนายนิคม 17 ข้อ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการจัดหมวดหมู่คำถามแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มข้อเท็จจริง กลุ่มข้อกฎหมาย และกลุ่มข้อคิดเห็น จากนั้นจะนำคำถามมาเรียงตามลำดับเหตุการณ์เพื่อให้การซักถามในที่ประชุมเกิดความเข้าใจ สามารถให้สมาชิกสนช.นำไปประกอบการพิจารณาว่าจะถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ อีกทั้งเพื่อให้การซักถามเกิดความกระจ่างชัดต่อสังคม เพราะสำนวนคดีทั้งหมดเป็นความลับ
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีนายสมศักดิ์ ไม่ได้มาแถลงเปิดสำนวน หากจะมาตอบข้อซักถามก็เป็นอำนาจของประธานในที่ประชุมว่าจะอนุญาตหรือไม่ แต่ถ้าไม่มาหรือไม่ได้มอบตัวแทนมาตอบข้อซักถามแทน กมธ.จะอ่านสรุปข้อคำถามว่ามีกี่ข้อ ประเด็นอะไรบ้าง โดยผู้ถูกซักถามสามารถนำไปใช้สำหรับการแถลงปิดสำนวนได้ กระบวนการซักถามในที่ประชุม กมธ.จะซักถามคู่กรณีทีละฝ่าย เป็นการถามรวดเดียวจบและให้ผู้ถูกซักถามตอบ ส่วนกรณีผู้ถูกซักถามตอบไม่ตรงประเด็นหรืออาจไม่ตอบ กมธ.จะไม่มีสิทธิซักถามเพิ่มเติม จากนั้นเป็นเรื่องของสนช.ที่จะใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ แต่จะไม่กำหนดเวลาในการตอบข้อซักถามในแต่ละฝ่าย
13 สนช.จี้"ปู"ตอบ 60 คำถาม
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช.ในฐานะโฆษก กมธ.ซักถามคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเลือก พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นประธาน จากการรวบรวบข้อคำถามจากสมาชิกสนช.จำนวน 13 คน แบ่งเป็นคำถามต่อ ป.ป.ช. 23 ข้อ และเป็นคำถามต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 60 คำถาม ซึ่งจะจัดหมวดหมู่คำถามและเรียงลำดับตามเหตุการณ์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ เมื่อกมธ.จัดหมวดหมู่เสร็จ คำถามอาจกระชับมากขึ้น เพราะถ้าคำถามซ้ำกันจะนำมารวม หรือคำถามข้อใดอยู่นอกประเด็นจะตัดทิ้ง ซึ่งกมธ.จะแจ้งให้สมาชิกสนช.ที่ส่งคำถามทราบ
เข้ากรุง - นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำ พร้อมด้วยชาวบ้านปากมูน จ.อุบลราชธานี ขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหารือกับม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชย และให้เปิดเขื่อนฟื้นฟูสภาพแม่น้ำมูน เมื่อวันที่ 13 ม.ค. |
นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับข้อซักถามของสำนวนทั้ง 2 ชุด ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรายละเอียดทั้งหมดของข้อคำถามถือเป็นความลับ ไม่อนุญาตให้นำไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าจะเป็น สมาชิก สนช. ข้าราชการ หรือสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่จะมีความผิด
40 สว.ปล่อยข่าวคสช.ไฟเขียว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ขณะนี้ สมาชิกสนช. โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. เดินสายล็อบบี้ให้สนช.ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยการสร้างกระแสข่าวว่า คสช.ไฟเขียวให้ สนช.ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะขณะนี้มีการดำเนินการฟ้องคดีอาญากับบุคคลที่มีการทำสัญญาในโครงการรับจำนำข้าว แต่ สนช.ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ สนช.สายทหารยืนยันว่าคสช.ไม่ได้มีคำสั่งดังกล่าว ประเด็นนี้อยู่ที่ดุลพินิจของสนช.แต่ละคน ที่ยังมีความเห็นอย่างหลากหลายอยู่ ซึ่งสนช.สายทหารเข้าใจว่าที่มีกระแสข่าวเช่นนี้เป็นความพยายามในการเดินหน้าถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคมและนายสมศักดิ์ ต้องการตัดสิทธิทางการเมือง
นอกจากนี้ สนช.สายทหาร ยังเห็นว่า สิ่งที่คสช.พยายามทำมาตลอดคือการลดความขัดแย้งเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ส่วนความพยายามในการปล่อยข่าวเพื่อให้ถอดถอนคิดว่าเป็นความพยายามของพวกมีความหลัง เพราะกระบวนการถอดถอนเป็นกระบวนที่เปิดเผย จึงอยากให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงตอบข้อซักถาม เพราะสนช.ส่วนใหญ่ต้องการรับฟังก่อนใช้ดุลพินิจลงมติอย่างเป็นธรรม
พล.อ.นพดล อินทปัญญา คนสนิทพล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า "คสช. ไม่ได้มีใบสั่งมาให้สมาชิกสนช.ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใด การลงมติถอดถอนเป็นเอกสิทธิ์ของสนช.แต่ละคน"
กมธ.ยกร่างยันไม่โยนทิ้งข้อเสนอ
เวลา 09.55 น. ที่รัฐสภา ห้องประชุมชั้น 3 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามที่คณะอนุ กมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานอนุ กมธ. ได้ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราเบื้องต้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธาน
นางกาญจนารัตน์ ชี้แจงว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นยึดตามกรอบมติ กมธ.ยกร่างฯ และความคิดเห็นจากสปช. สนช. รวมถึงความเห็นของตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองที่ส่งรายละเอียดข้อเสนอแนะเข้ามา ไม่ได้ยึดแต่ความคิดเห็น กมธ.ยกร่างฯ เหมือนที่วิจารณ์กัน
เลขาฯ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า แต่ที่ไม่ปรากฏความคิดเห็นของฝ่ายอื่นในร่างฯ เนื่องจาก 2 เหตุผล 1.ถ้อยคำที่ปรากฏในแต่ละมาตราครอบคลุมข้อเสนอแนะและความคิดเห็นหมดแล้ว 2.ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นบางประการต้องลงรายละเอียดซึ่งจะปรากฏในกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯจะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้ได้อย่างน้อยวันละ 18 มาตราเพื่อให้ทัน ตามกรอบเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ให้ศาลรธน.ชี้ขาดข้อหากบฏ
จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่วาระการพิจารณารายมาตรา ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งที่ประชุมอภิปรายกว้างขวาง ก่อนเห็นชอบตามที่อนุ กมธ.ยกร่างฯ เสนอ ในมาตรา (1/2/2) 1 ระบุว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" และมาตรา (1/2/2) 2 ที่ระบุว่า "สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับการคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา ครม. ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง"
ต่อมาพิจารณารายมาตราที่ (1/2/2) 3 ซึ่งนำมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้ โดยระบุว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นพระประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือให้ได้มายังอำนาจในการปกครองประเทศ โดยมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ ในกรณีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้ ในการนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำหรือสั่งการอื่นได้ ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและพิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้สิทธิเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนต่อการดำเนินคดีอาญาต่อ ผู้กระทำดังกล่าว"
ตัดโทษยุบพรรค-ตัดสิทธิกก.บห.
กมธ.อภิปรายมาตรานี้อย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ตั้งแต่การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากเป็นห่วงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะล่าสุดให้อำนาจวินิจฉัยตามมาตรา 7 แล้ว การให้อำนาจวินิจฉัยคดีที่มีความผิดฐานกบฏ ซึ่งเป็นคดีอาญาอาจกลายเป็นการสร้างผลกระทบให้ศาลรัฐธรรมนูญได้อีก อีกทั้งการฟ้องร้องจะบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร ประชาชนฟ้องตรงได้หรือไม่ หรือต้องผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) ขณะที่ กมธ.หลายคนเห็นด้วยว่าควรบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกให้ชัดเจนว่าควรส่งคำร้องให้ อสส.วินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนการฟ้องศาล ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดสั่งการอื่นได้
กมธ.ยกร่างฯ ยังพิจารณาในหลักการของการกำหนดบทบัญญัติ เห็นด้วยที่มีการตัดวรรคสาม วรรคสี่ ของมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิ์หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคออกไป เพื่อให้เกิดการสมดุลตามหลักการพื้นฐานในโลกที่คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาและยังเป็นการตัดสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ ที่รุนแรง
นักวิชาการหนุนป้องเผด็จการ
ส่วน กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอให้ตัดมาตรานี้ทิ้งไป เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญของส.ส. และส.ว. ถูกนำไปฟ้องเหมือนที่ผ่านมา จะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ อีกทั้งการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองนั้นจะครอบคลุมกว้างถึงการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสื่อออนไลน์ด้วยหรือไม่ เพราะเกรงว่าขอบเขตจะมากเกินไป
ขณะที่ กมธ.ที่เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เห็นด้วยว่ากฎหมายนี้จะเชื่อมโยงกับประชาชน เป็นเครื่องมือปกป้องตนเอง ทำให้เกิดการคุ้มครองกฎหมายสูงสุดของรัฐได้ทันเวลา โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจใช้มาตรการชั่วคราวยับยั้งการกระทำเหล่านั้น ยกตัวอย่างในปี 1919 ที่เยอรมันยังไม่มีกฎหมายมาตรานี้ทำให้เยอรมันเข้าสู่ระบบเผด็จการ อีกทั้งอันตรายของประชาธิปไตยนั้นมาจากการรับรองสิทธิเสรีภาพที่มากขึ้น เสรีภาพจึงต้องไม่ใช่การ ล้มล้างการปกครอง มาตรานี้จึงตัดไม่ได้ หากตัดจะพาประเทศย้อนหลังกลับไปก่อนปี 2540
ยังไม่ชัดฟ้องผ่านอสส.หรือไม่
ยังมีกมธ.ที่กังวลถึงการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้าในทางปฏิบัติทำไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ จึงอยากให้อภิปรายกันว่าจะทำอย่างไรให้มาตรานี้มีผลบังคับจริงจัง ให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การล้มล้าง เช่น ผู้ขวางการเลือกตั้ง ที่เท่ากับขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ หากศาลวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเข้าข่ายทำลายล้างการปกครอง การบังคับใช้จะทำได้อย่างไร เช่น ศาลบอกให้พวกขวางการเลือกตั้งหยุดขัดขวางแล้วจะทำอย่างไรหากไม่หยุด จึงมองว่าน่าจะนำกฎหมายอาญามาบังคับใช้เพื่อบังคับให้มีการปฏิบัติด้วย
ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า นอกจากให้คงมาตรานี้ไว้ ยังจำเป็นต้องกำหนดมาตรา 69 ว่าด้วยการรับรองเสรีภาพของประชาชน ควบคู่กับมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าต้องมี แต่ยังไม่กำหนดว่าจะระบุไว้ในมาตราใด ส่วนกมธ.คนไหนมีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ ให้ไปเสนอชื่อเป็นคณะอนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ
ยั่วยุจนขัดแย้งถือว่าขัดรธน.
เวลา 15.30 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง มาตรา 1 มีการแก้ไขให้ประชาชนชาวไทยเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพหลักความเสมอภาค ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม มีค่านิยมที่ดี มีวินัย ตระหนักในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม รู้รักสามัคคี มีความเพียรและพึ่งตนเอง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า โดยกมธ.ได้เพิ่มเนื้อหาวรรคสอง ซึ่งมีที่มาจากความไม่สามัคคีของคนในชาติ โดยระบุว่า "พลเมืองต้องไม่กระทำการที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือไม่ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เป็นปฏิปักษ์ หรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน" ซึ่งต่อไปนี้ใครที่กระทำการยั่วยุตามวรรคสอง จะถือว่าบุคคลเหล่านั้นกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญทันที
ตั้งองค์กรพรรคการเมือง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กำหนดหน้าที่พลเมืองมาตรา 3 มีหน้าที่ 4 ข้อ 1.ปกป้องพิทักษ์ รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เสียภาษีอากรโดยสุจริต 3.ใช้สิทธิทางการเมืองโดยสุจริตและมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม และ 4.ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพโดยสุจริต ปกป้อง พิทักษ์ อนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาตรา 4 กำหนดองค์กรภาคประชาชนที่จะตั้งขึ้นมาในอนาคต ทั้งสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และองค์กรอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บุคคลทำหน้าที่พลเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรเหล่านี้ โดยปราศจากอคติและด้วยความเสียสละ ไม่มุ่งหวังเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นๆ
ห้ามฟ้องพรรคการเมือง
ในส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ในเรื่องเกี่ยวกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กมธ.แก้ไขเนื้อหาเดิมจากมาตรา 68 รัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีบุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่พบเห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ได้แก้ไขตัดส่วนของ "พรรคการเมือง" ที่จะมีสิทธิร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับตัดวรรคสาม วรรคสี่เดิม ซึ่งจะทำให้โทษยุบพรรคจากกรณีการล้มล้างการปกครองหมดไป นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ปัญหาในอดีตโดยเปิดช่องให้ประชาชนร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องไปผ่าน อสส.เหมือนในอดีต
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กมธ.ได้รับความกรุณาจากคสช.และกองทัพบก ให้เวลากมธ.ยกร่างฯ จัดรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" ช่วงเวลา 18.00-18.15 น. สัปดาห์ละ 3 วัน คือ อังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสื่อสารไปยังประชาชน ออกอากาศวันแรก 15 ม.ค. นี้ มีนายบวรศักดิ์เป็นแขกรับเชิญคนแรก
'บวรศักดิ์'ย้ำควรทำประชามติ
เวลา 13.15 น. นายบวรศักดิ์ พร้อมนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะอนุทำงานสื่อสารกับสังคม ในกมธ.ยกร่างฯ เป็นตัวแทนกมธ.ยกร่างฯ มอบจุลสาร "รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศเป็นอย่างไร" ให้กับ ผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งสนับสนุนจัดพิมพ์จุลสารเพื่อแจกจ่ายประชาชนให้รับทราบความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงเนื้อหารายละเอียดต่างๆ ซึ่งจะออกประจำทุกเดือน จนกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งนี้ จัดพิมพ์ครั้งแรก 3 หมื่นเล่ม ฉบับแรกแจกเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา และจะพิมพ์เพิ่มในส่วนของบริษัทบางจาก อีก 1 แสนเล่ม เพื่อแจกจ่ายที่ปั๊มน้ำมันบางจาก ทางขึ้นทางด่วน และเวทีรับฟังความเห็นของกมธ.ยกร่างฯ ในต่างจังหวัดทั้ง 10 เวที รวมถึงตามแหล่งชุมชนต่างๆ ด้วยรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การทำจุลสารเป็นแค่การทำความเข้าใจให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงสื่อต่างๆ ส่วนบทบัญญัติที่กมธ.ยกร่างฯ เขียนในร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกรอบที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนการทำประชาพิจารณ์ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะสื่อสารกับประชาชนและเป็นคนละเรื่องกับการทำประชามติ เพราะแค่การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเท่านั้น
"การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คสช.และครม.จะหารือและพิจารณาร่วมกันเพื่อหาข้อยุติว่าจะทำหรือไม่ ตรงนี้จะมีผลทางกฎหมายผูกมัดทันที ผมเห็นว่าควรทำประชามติและเคยบอกกล่าวเรื่องนี้กับนายกฯ ไปแล้ว นายกฯ กล่าวว่าจะรับไว้พิจารณาเมื่อถึงสถานการณ์อันสมควร" นายบวรศักดิ์กล่าว
ผ่าน 9 มาตรา-แขวน 1 มาตรา
จากนั้นช่วงบ่าย กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาต่อ ตั้งแต่ มาตรา (1/2/2) 4 ถึง (1/2/2) 10 มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่พิจารณาเห็นชอบทุกมาตรา ยกเว้นมาตรา (1/2/2) 4 ที่ระบุว่า "บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำการใด และย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อให้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรงในกรณีที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่หากเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้วให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมาย ดังกล่าว บุคคลย่อมใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในส่วนนี้"
ในมาตรานี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังตกลงไม่ได้ในเรื่องวรรคสุดท้ายจะเข้าข่ายอยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงขอกลับไปแก้ไขข้อความให้สอดคล้องกับหมวดนี้
กระทั่งเวลา 19.00 น. นายบวรศักดิ์ สั่งเลื่อนการประชุมเพื่อให้สมาชิก สปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ไปลงมติ รายงานศึกษาการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ตามที่กมธ.ปฏิรูปพลังงานเป็นผู้เสนอ รวมวันนี้พิจารณา 9 มาตรา รอพิจารณาอีก 1 มาตรา ยก 9 มาตราที่ค้างการพิจารณาวันนี้ไปพิจารณารวมกับ 18 มาตรา ในวันถัดไป รวม 27 มาตรา
บวรศักดิ์ชี้เนื้อหารธน.ไม่สั้น
เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช. คนที่ 1 และประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า เสนอว่าจะส่งตัวแทนกมธ.ยกร่างฯ มารายงานความคืบหน้าเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมสปช.ทราบวันละ 10 นาที ทุกวันที่ประชุมสปช. ส่วนสมาชิก สปช.คนใดสนใจอยากรับฟังการประชุม กมธ.ยกร่างฯให้ไปร่วมประชุมได้ ส่วนความตั้งใจให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเนื้อหาสั้นๆ นั้น พอเอาเข้าจริง ไม่รู้จะทำได้หรือไม่ เนื่องจากความเห็นที่กมธ.ยกร่างฯ และสมาชิก สปช.เสนอมา มีเนื้อหามาก
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยโดยให้ตัวแทน ของกมธ.ยกร่างฯ มารายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมสปช.ในทุกวันจันทร์และอังคาร วันละ 10 นาที ในเวลา 10.00 น.
เสวนาปฏิรูปตำรวจ
เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. จัดเสวนาหัวข้อ "การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" วิทยากรสัมมนาประกอบด้วย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองประธานกมธ.การกฎหมายฯ สนช. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวเปิดว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างของตร. ยังเป็นแบบดั้งเดิม เน้นสายบังคับบัญชา และอำนาจหน้าที่การควบคุมบังคับบัญชา รวมถึงการกระจายอำนาจการบริหารงาน และปัญหาการแต่งตั้งตำรวจในระดับต่างๆ ซึ่งถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองโดยตลอด ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ปัญหาของตำรวจไทยคือเรื่องความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม ว่าถ้าทำงานอย่างเต็มที่แล้วจะได้รับการตอบแทนที่เหมาะสมอย่างไร ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้ข้าราชการตำรวจจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง
ยันไม่เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ
นายเสรีกล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้องค์กรตำรวจดีขึ้น ที่มีการเรียกร้องคือการกระจายอำนาจ การสร้างมาตรฐานเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย องค์กรตำรวจยังถูกครหามากโดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส และการมีส่วนเกี่ยวข้องกับอบายมุขและผลประโยชน์ อยากไปอยู่โรงพักเกรดเอที่มีแหล่งอบายมุขและผลประโยชน์ แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์ ส่วนปัญหาทางกฎหมายที่กระทบต่อโครงสร้างตำรวจ คือ พ.ร.บ.ตำรวจ ต้องมีการพิจารณาปัญหาทั้งองค์รวม รวมถึงการถ่ายโอนภารกิจเพื่อลดภาระของตำรวจ ซึ่งจำเป็นต้องทำโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ภารกิจในการทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
พล.ต.ท.ปัญญา กล่าวว่า สิ่งที่สังคมเรียกร้องคือการกระจายภารกิจของตำรวจ เพราะจุดอ่อนของตร.คือภารกิจเยอะมากและซ้ำซ้อนกันเองในหน่วยงาน ไม่ว่าสนช.และสปช.จะคิดอย่างไรต่อการปฏิรูปตำรวจ สุดท้ายก็ต้องไปแก้ไขที่กฎหมาย
นายวันชัย กล่าวว่า ต้องทำให้องค์กรนี้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ การแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรม ปลอดการเมือง ต้องมีการ กระจายอำนาจ ภาคประชาชนจะต้องมีส่วนสำคัญในการเข้ามาดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ การแต่งตั้ง ถอดถอน และคงไม่เหมือนคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ที่มีอยู่ รวมถึงต้องถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนสอบสวนคดีไปยังหน่วยงานที่เหมาะสมตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งหมดเป็นกรอบใหญ่ๆ ที่คุยกันในกรรมาธิการ แต่คงไม่ได้ปรับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ การปรับเปลี่ยนไม่ได้ต้องการทำร้ายหรือทำลายองค์กร
เครือข่ายครูร้อง'บิ๊กตู่'แก้หนี้
เวลา 09.00 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชน มีกลุ่มเครือข่ายครูผู้ประสบปัญหาหนี้สินขั้นวิกฤต 30 คน นำโดยนางกมลพร ขันแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ขอให้คืนความสุขให้กับครู กรณีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบจากภาระหนี้สินขั้นวิกฤต เนื่องจากกองทุนพัฒนาชีวิตครู หลังใช้เวลา 6 เดือนยื่นขอความช่วยเหลือหลายครั้งทั้งจากคสช. ประธานกองทุน เลขานุการรมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาฯ และหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
หนังสือระบุว่า กองทุนพัฒนาชีวิตครูเก็บเงินจากสมาชิกครูทั่วประเทศแต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้มาให้สมาชิกกู้ได้ตามที่แจ้ง ขณะนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเดือดร้อนและรอคอยความช่วยเหลือมานาน บางคนลาออกมาหาเงินใช้หนี้ บางคนผูกคอตาย เส้นเลือดในสมองแตกตาย หมดขวัญกำลังใจทำงาน แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ไม่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จึงขอของขวัญในวันครูวันที่ 16 ม.ค. นี้ ให้นายกฯ ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วยหาเงินทุนให้กู้ยืมเร่งด่วนแบบปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำอย่างน้อยรายละ 2 แสนบาท หยุดพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยเช่นเดียวกับที่ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ส่วนวิธีแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ขอให้จัดแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำโดยปรับกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการกู้