- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 11 January 2015 21:32
- Hits: 3870
กมธ.เรียกซัก'คดีข้าว'จี้ปูตอบเอง 16 มค.เข้าสนช.อีกรอบ เชิญ 2 ปธ.แจง15 มกรา 23 มค.โหวตถอดถอน ปลัดจี้'สมชัย'ขอโทษ รุมค้านตัดสิทธิทั้งชีวิต
สนช.นัดโหวต 23 ม.ค. คดีถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม-ยิ่งลักษณ์' ให้' 2 อดีต ปธ.-ปู'ตอบข้อซักถาม 15-16 ม.ค.
@ สนช.นัดถกปมซักถอดถอน
เมื่อวันที่ 10 มกราคม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ว่าขั้นตอนต่อไปหลังจากมีการแถลงเปิดคดีแล้วคือ ให้สมาชิก สนช.ยื่นคำถามที่ตัวเองคิดว่า เมื่อได้ฟังการแถลงเปิดสำนวนคดีของทุกฝ่ายแล้วมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน หรือมีประเด็นไหนที่ยังสงสัยอยากจะถามเพื่อให้มีความชัดเจน และเพื่อที่จะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยต้องยื่นคำถามไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถาม
"ในส่วนของนายสมศักดิ์และนายนิคม สนช.ต้องยื่นคำถามในวันที่ 12 มกราคมนี้ ก่อน 12.00 น. ส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องยื่น ภายในที่ 13 มกราคม ก่อน 12.00 น. เช่นกัน" นายสุรชัยกล่าว
@ นัดโหวต'เช้า-บ่ายནมค.
นายสุรชัย กล่าวว่า วันที่ 13 มกราคม กมธ.ซักถามที่รับผิดชอบทั้ง 2 สำนวนจะเริ่มประชุมกัน เพื่อเอาคำถามทั้งหมดไปจัดเรียงประเด็นเพื่อให้ประชาชนที่รับฟังการซักถามเกิดความเข้าใจในเนื้อหา ไม่วกไปวนมา จากนั้น กมธ.ซักถามจะตกลงกันว่าในประเด็นของแต่ละกลุ่มคำถาม คณะ กมธ.จะมอบให้ใครเป็นตัวแทนในการซักถาม
"สนช.กำหนดให้นายนิคมและนายสมศักดิ์มาตอบคำถามวันที่ 15 มกราคม ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบวันที่ 16 มกราคม โดยหลังจากสิ้นสุดกระบวนการซักถามแล้วจะเหลืออีก 1 นัด ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายคือ นัดแถลงปิดคดี อันนี้ไม่บังคับ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดว่าไม่มีอะไรที่ตัวเองต้องแถลงเพิ่มเติมก็ไม่ต้องมาก็ได้ แต่ถ้ามีสิ่งที่ตัวเองอยากสรุปให้สมาชิกฟังอีกครั้ง สนช.ได้เปิดโอกาสให้มาแถลงปิดสำนวนได้ ซึ่งจะต้องอยู่ภายใน 7 วันที่กำหนดไว้คือ วันที่ 21 มกราคม เป็นสำนวนของนายสมศักดิ์และนายนิคม วันที่ 22 มกราคม เป็นสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และวันที่ 23 มกราคม จะลงมติโดยแบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย" นายสุรชัยกล่าว
@ เปิดให้'ขุนค้อน'เข้าชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมาตอบข้อซักถามเองหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ต้องมาเอง เพราะเมื่อมีการมาแถลงเปิดคดีด้วยตนเองแล้ว การตอบข้อซักถามก็ต้องมาด้วยตนเอง เลี่ยงไม่ได้ ส่วนกรณีนายสมศักดิ์ที่ไม่ได้เข้าในคดี ระหว่างนี้หากเปลี่ยนใจจะเข้าก็ได้ เพราะไม่มีบทบังคับไว้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า สนช.ทุกคนทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่ลำเอียงแน่นอน แม้แต่เจอกันในห้องอาหารก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่คุยกันในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความอิสระ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช.กล่าวว่า ข้อบังคับไม่ได้เขียนว่าจะต้องให้นายนิคม นายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบซักถามด้วยตัวเอง โดยจะมาเองก็ได้หรือส่งตัวแทนก็ได้ แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายนิคมได้มาแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง ดังนั้นควรที่จะมาตอบข้อซักถามเอง
@ สนช.จี้'ปู'ตอบข้อซักถามเอง
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช.กลุ่มนักวิชาการ กล่าวว่า หลังจากการฟังคำชี้แจงการเปิดสำนวนคดีของนายนิคม นายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะลงมติถอดถอนไปทางไหน โดยต้องรอให้ถึงกระบวนการซักถามคู่กรณีก่อน โดยเฉพาะประเด็นของนายสมศักดิ์ที่ยังติดเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาจเป็นความผิดเรื่องปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งเป็นคดีอาญาหรือไม่ และต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะชี้แจงคำถามได้ชัดเจนหรือไม่ ส่วนของนายนิคมนั้นเชื่อว่าจะมีการถามถึงการทำหน้าที่ในระหว่างเป็นรองประธานรัฐสภา เพื่อให้แน่ใจว่ามีความผิดจริงหรือไม่
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่แถลงเปิดคดี มองว่าเป็นข้อมูลที่เตรียมมาเท่านั้น ดังนั้นในวันที่ 16 มกราคม ที่จะมีการซักถาม ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบคำถามด้วยตัวเอง เพราะคนอื่นๆ ไม่สามารถรู้ทุกเรื่องเท่ากับตัวเองได้
@ 'สิงห์ชัย'ชี้'นิคม-ปู'มีเหตุผล
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี 1 ในอดีต 38 ส.ว. ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า โดยส่วนตัวและจากการฟังเสียงของสังคม เชื่อว่าการชี้แจงของนายนิคมและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาดูดี มีเหตุผล และการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ โดยเฉพาะประเด็นโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่ไม่สามารถวัดในเรื่องตัวเลขขาดทุนกำไรเพียงอย่างเดียว ต้องดูภาพรวมทุกมิติว่าสุดท้ายแล้วใครได้ประโยชน์
"กระบวนการถอดถอนที่ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลความผิดนั้น เป็นเพียงหลักฐานเชื่อได้ว่าส่อแววทุจริตเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอดีตนายกฯมีส่วนกระทำผิด ขณะที่อัยการสูงสุดก็ยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดเพื่อสั่งฟ้องศาล ดังนั้นจึงเชื่อว่า หากไม่มีธงนำ สนช.ส่วนใหญ่จะไม่ดำเนินการถอดถอนทั้งคดีของนายนิคม นายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์"นายสิงห์ชัยกล่าว
@ ทีมทนายพอใจ'ปู'แจงทุกมิติ
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีการแถลงเปิดคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อที่ประชุม สนช.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่าพอใจกับการชี้แจงโต้แย้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. เนื่องจากชี้แจงประเด็นต่างๆ ได้ครอบคลุมทุกมติ และทีมทนายความเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์แก้ข้อกล่าวหาได้อย่างชัดเจน
นายพิชิต กล่าวว่า การแถลงเปิดคดีของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กล่าวหาไม่มีอะไรใหม่ ได้แต่กอดข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวมาใช้เพียงอย่างเดียว ไม่เคยตอบคำถาม 4 ประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทักท้วงในชั้นการไต่สวน ได้แก่ 1.จำนวนข้าวในสต๊อกที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ยืนยันว่าไม่มีข้าวหายไป 2.มูลค่าสินค้าคงเหลือที่แต่ละหน่วยงานให้ข้อมูลไม่เหมือนกัน 3.การคำนวณค่าเสื่อมราคาที่ไม่ตรงกัน และ 4.การขายข้าวให้องค์กรรัฐที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ได้นำมาคำนวณ
"ประเด็นเหล่านี้นายวิชาไม่เคยชี้แจงให้สังคมทราบ ส่วนเรื่องพยานชาวนาที่นำมาอ้างถึงนั้น เป็นพยานแค่รายเดียว และเคยไปขึ้นเวที กปปส. หากเทียบกับข้อมูลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำมาหักล้างโดยการทำโพลสอบถามชาวนาเรื่องความพอใจโครงการจำนำข้าว อะไรจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน" นายพิชิตกล่าว
@ นัดสรุปแนวทางตอบซักถาม
นายพิชิต กล่าวว่า กรณีนายวิชายอมรับว่า ป.ป.ช.ยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดเจน ว่าผู้ถูกกล่าวหาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อคดี ช่วยพิสูจน์ได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมให้ใครทุจริตในโครงการจำนำข้าว การอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ส่อทุจริตนั้น เป็นแค่การกล่าวลอยๆ ใช้โวหารมากกว่าเนื้อหาแห่งคดี ไม่ได้บอกว่ามีพฤติการณ์อย่างไร
นายพิชิตกล่าวว่า วันที่ 12 มกราคมนี้ ทีมทนายความจะประชุมกันเพื่อสรุปประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายวิชาได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. พร้อมกับวางแนวทางการตอบข้อซักถามของ กมธ.ซักถามในวันที่ 16 มกราคมนี้ แต่ยังไม่มีการหารือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปตอบข้อซักถามด้วยตัวเองหรือไม่ โดยตามข้อบังคับสามารถมอบให้บุคคลอื่นไปตอบข้อซักถามแทนได้
@ 'เด็จพี่'จวก'หมอวรงค์'ชี้นำ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษก พท. กล่าวถึงกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาให้สัมภาษณ์กดดัน สนช.ว่า หากไม่กล้าตัดสินใจถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะทำให้ประเทศจมปลักการคอร์รัปชั่นว่าถือเป็นเรื่องผิดมารยาท ขาดวุฒิภาวะ เอาความคิดของตนเองไปตัดสินก่อนทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ ขณะนี้เพิ่งจบขั้นตอนของการแถลงเปิดคดี ยังต้องพิจารณากันอีกมาก สนช.มีวิจารณญาณตัดสินใจเองได้ ไม่ต้องให้ใครมาบอก
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เหตุผลโต้แย้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงนั้น นพ.วรงค์ได้ฟังบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ที่บอกว่าข้าวหายเกือบ 3 ล้านตัน ข้อเท็จจริงหายไปประมาณแค่ 2 แสนตัน การคิดมูลค่าสินค้าก็ไม่ถูกต้อง การหักค่าเสื่อมก็ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังไม่ได้หักมูลค่าสินค้าที่ขายให้กับหน่วยงานของรัฐ เหล่านี้ทำให้ตัวเลขผลการขาดทุนผันแปรที่คิดออกมาไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เป็นเพราะ ป.ป.ช.เร่งรีบทำสำนวนเกินไป จึงไม่ได้ทำการพิสูจน์ให้ถูกต้องเสียก่อน
@ 'ดิเรก'นัดอดีต 38 ส.ว.ถกสู้
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 1 ในอดีต 38 ส.ว.ที่จะถูก สนช.พิจารณาถอดถอนกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.มิชอบ ว่าวันที่ 14 มกราคมนี้ ตนและอดีต ส.ว.ที่ถูกชี้มูลความผิดได้นัดปรึกษาหารือกันถึงแนวทางการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อนที่จะเข้าไปแถลงเปิดสำนวนในที่ประชุม สนช. โดยจากการพูดคุยกันเบื้องต้นคาดว่า การชี้แจงคงเป็นการมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ชี้แจงแทนทั้งกลุ่ม จะไม่แยกกันชี้แจง ส่วนจะให้ใครเป็นตัวแทนนั้นต้องรอให้มีการพูดคุยร่วมกันก่อนซึ่งในวันที่ 14 มกราคมนี้
นายดิเรก กล่าวว่า ส่วนเนื้อหาที่จะชี้แจงนั้น ดูแล้วคงน้อยกว่าเนื้อหาในการชี้แจงของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่ได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากนายนิคมถูกกล่าวหาในหลายประเด็น แต่อดีต 38 ส.ว. ถูกกล่าวหาในทำนองว่าแก้ไขกฎหมายโดยไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่า สิ่งที่ทำนั้นชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนแต่อย่างใด
"เชื่อว่า ในวันแถลงเปิดสำนวน คงเป็นการชี้แจงกันด้วยเหตุผลตามหลักของกฎหมาย คงไม่ใช่การตอบโต้ในลักษณะแข็งกร้าวหรือชวนทะเลาะ พวกผมไม่ใช่คนแบบนั้นอยู่แล้ว" นายดิเรกกล่าว
@ จี้'ปปช.-กกต.'ทบทวนบทบาท
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พท. กล่าวว่า เวลานี้มีองค์กรอิสระ 2 แห่งเป็นอย่างน้อย คือ ป.ป.ช.และคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้นำเสนอข่าวเชิงสร้างความสับสน ใช้ข้อมูลด้านเดียว ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง หรือกรณีที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะสร้างความขัดแย้ง กรณียื่นดาบให้โจร จนต้องออกมาขอโทษ
นายสมคิด กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า 2 องค์กรนี้ น่าจะกระทำการขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 33/2557 หรือไม่ เพราะในคำสั่งบอกว่า "เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และมีความสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี... ดังนั้น คสช.จึงขอความร่วมมือให้สถาบันศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ งดแสดงความเห็น..." เมื่อเป็นแบบนี้ คสช.จะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ขอฝาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้มองปัญหาขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะ กกต.และ ป.ป.ช.ว่าหากยังอยู่จะจำกัดบทบาทหน้าที่อย่างไร นอกจากนี้ ป.ป.ช.และ กกต.ควรคำนึงถึงหน้าที่ให้จงหนัก เรื่องบทบาทของบุคคล
@ กกต.ไม่ขัดให้มท.จัดเลือกตั้ง
นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการเลือกแทน กกต.ว่า หากจะเปลี่ยนแปลงการจัดการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ขอให้ออกกฎหมาย กฎระเบียบให้ชัดเจน เช่น จะให้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งกับ กกต.หรือไม่ เพราะถ้าให้ยื่นกับ กกต.
ทาง กกต.ก็ต้องไปขอข้อมูลต่างๆ จากกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้ง แล้วจะได้มาง่ายหรือไม่ จะทำให้ กกต.กลายเป็นคู่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาจากฝ่ายรัฐบาลแต่งตั้ง
"ผมยังเชื่อมั่นว่า ข้าราชการทุกคนทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุจริต มีความเป็นกลาง มีตำแหน่งระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง นายอำเภอ คงไม่มีใครเอาอนาคตของตัวเองมาเสี่ยงหรือมาทิ้งกับเรื่องพวกนี้ แต่จะทำอย่างไรให้สังคมและประชาชนโดยเฉพาะฝ่ายค้านไม่เกิดความรู้สึกคลางแคลงใจ หรือเกิดข้อสงสัยในความไม่เป็นกลาง"นายบุญส่งกล่าว
@ สหพันธ์ปลัดจี้'สมชัย'ลาออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรวัต เครือบุดดีมหาโชค ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตอบโต้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ที่ระบุว่าเหมือนนางโมรายื่นดาบให้โจรมาเปรียบเทียบกรณีจะให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทนกกต. โดยเรียกร้องให้นายสมชัยรับผิดชอบต่อคำพูดโดยลาออกจาก กกต. และขอโทษคนกระทรวงมหาดไทยที่ใช้วาจาดูหมิ่น
นายเรวัต ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสมาชิกทุกจังหวัด และเป็นดุลพินิจของแต่ละจังหวัดว่าจะเห็นอย่างไร ส่วนตนจะไปยื่นหนังสือที่ กกต. วันที่ 19 มกราคมนี้ และในเรื่องจัดการเลือกตั้ง เห็นว่า แม้ปัจจุบันจะเป็นหน้าที่ของ กกต. แต่ในทางปฏิบัติคนกระทรวงมหาดไทยทำเกือบ 100% แต่โดยขอความร่วมมือจากส่วนราชการอื่น ส่วน กกต.ดูเพียงนโยบายและสั่งการเท่านั้น
"เราทำงานเหนื่อยแทบตาย คุณเอาผลงานไปโชว์ว่าเป็นของตัวเองแล้วมาเหยียบย่ำกันอย่างนี้ แล้วดูหมิ่นกันอย่างนี้ ถามว่าจะมาใช้งานพวกเราทำไม เมื่อมาปรามาสดูหมิ่นกัน ส่วนราชการอื่นใครเขาจะให้ความร่วมมือ" นายเรวัตกล่าว
@ อดีตผู้ว่าฯแนะรีบขอโทษ
นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร โพสต์ข้อความด้วยว่า "คนมหาดไทยรับใช้บ้านเมืองมานาน สถาบันนี้เกิดก่อน กกต.นับร้อยปี ทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหะเพื่อประเทศชาติและประชาชน งานเลือกตั้งในทุกระดับเราเคยรับผิดชอบมาโดยตลอด หนักอย่างไรพวกเราไม่บ่น ทุกคนตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยันปลัดกระทรวง เมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้มี กกต.มารับผิดชอบงานแทน พวกเราไม่เคยต่อต้าน ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราถูกสั่งให้เป็นเครื่องมือของท่านในการช่วยเหลือการเลือกตั้งทุกครั้งจนสำเร็จลุล่วง แม้บางขณะเราก็เหนื่อยสายตัวแทบขาด
"วันนี้ ท่านบอกว่าเราเป็นโจร ไม่ควรให้รับผิดชอบการเลือกตั้ง ท่านสมชัย ท่านไม่มีสิทธิจะประณามพวกเราอย่างนี้ ท่านอาจมีตำแหน่งใหญ่โตในปัจจุบัน แต่ท่านรู้ไหมท่านกำลังทำให้คนมหาดไทยกว่า 3 แสนคนไม่สบายใจอย่างที่สุด ขอแนะนำด้วยความหวังดีว่า รีบออกมาขอโทษพวกเขาโดยเร็วจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แนะนำมาด้วยความไม่เคารพ" นายกฤชระบุ
@ ผู้ว่าฯซัดกกต.แค่ติดแบรนด์
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า การจัดเลือกตั้งหลังจากที่มีการตั้ง กกต.เป็นต้นมา ผู้ปฏิบัติงานจริงคือครู ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ส่วน กกต.มีหน้าที่เป็นผู้มาติดยี่ห้อว่า ทั้งหมดเป็นผลงานของ กกต.เท่านั้น
"เหมือนเราเป็นคนตัดเสื้อ แล้ว กกต.เอาไปติดแบรนด์ ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่อยากรับงานเลือกตั้งมาให้มหาดไทยจัดทั้งหมด เพราะไม่อยากอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและผลประโยชน์ ไม่อยากถูกด่า ไม่อยากถูกมองว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง ถ้าไม่ใช่หน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ถ้าเลือกได้ขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขอทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขตามอุดมการณ์ของมหาดไทยย่างเดียวก็ภาคภูมิใจแล้ว" นายระพีกล่าว
@ 'พนัส'ค้านตัดสิทธิตลอดชีวิต
นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ประชาชนเสนอให้เป็นอำนาจของ 2 สภาคือ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร แต่หากถอดถอนไม่สำเร็จ จะให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจเป็นผู้ลงมติในการถอดถอน ซึ่งจะมีผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ว่าโทษการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต มองว่า ไม่ถูก เพราะหากมีความผิดจริงต้องเอาโทษทางอาญาให้ได้เสียก่อน เมื่อมีโทษทางอาญาก็จะถูกตัดสิทธิไปในตัวอยู่แล้วและมองว่า การตัดสิทธิทางการเมืองเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐาน
@ 'นาวิน'แจงถอดถอนแบบใหม่
พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ กมธ.ยกร่างฯกำลังพิจารณา โดยจะตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ว่า 1.กระบวนการถอดถอนเดิมให้ใช้เสียง 3 ใน 5 ซึ่งที่ผ่านมาสภาไม่เคยถอดถอนใครได้เลย หากลดลงเหลือครึ่งหนึ่งจะทำให้การถอดถอนมีความเป็นไปได้ 2.เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกเสนอมาจากประชาชน โดยถ้า ส.ว. และ ส.ส.พิจารณาแล้วไม่หลุด ให้เก็บชื่อคนที่จะถูกถอดถอนไว้ แล้วเข้าสู่กระบวนการที่ 2 คือเมื่อมีการเลือกตั้งก็ให้นำชื่อคนที่จะถูกถอดถอนมาให้ประชาชนตัดสิน
"ให้ประชาชนลงคะแนนพร้อมกับการเลือกตั้งนั้นๆ โดยประชาชนที่จะลงคะแนนถอดถอนได้ จะต้องเป็นประชาชนในภาคนั้นๆ เช่น เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว. และคนที่จะถูกถอดถอนเป็น ส.ส.ก็ให้ประชาชนในภาคไปลงคะแนนเลือกตั้งและลงคะแนนถอดถอนพร้อมกัน คุณเป็น ส.ส.ภาคไหน ก็ให้ประชาชนภาคนั้นเป็นคนตัดสินคุณ ส่วนจะ 5 ปี หรือตลอดชีวิตนั้น ต้องมาว่ากันอีกทีหนึ่ง" พล.ท.นาวินกล่าว
@ 'นพดล'แนะให้จบในสภา
นายนพดล ปัทมะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวว่า 1.การให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมาตัดสินถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นคงจะไม่ถูกต้อง 2.ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือ ประชาชนเลือก ส.ส. ดังนั้น ถ้าให้ ส.ว. และ ส.ส.พิจารณาถอดถอนแล้ว ทำไมจะต้องโยกกลับไปให้ประชาชนถอดถอนอีกครั้ง ในเมื่อประชาชนเป็นคนเลือก ส.ส.เข้ามาทำหน้าที่แล้ว
"ผมมองว่า ตรงนี้จะทำให้กระบวนการทางการเมืองซับซ้อนเกินไป วันๆ ประชาชนไม่ต้องทำอะไร ห่วงแต่เรื่องถอดถอน ผมคิดว่าให้ประชาชนเขาไปทำมาหากินเถิด แล้วให้เขาเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ ผมไม่เห็นว่ามีประเทศไหนในโลกเขาทำกันอย่างนี้ แต่ถ้าจะทำต้องไปศึกษาให้รอบคอบยิ่งขึ้น สรุปคือ ผมเห็นว่ากระบวนการถอดถอนควรเริ่มต้นและสิ้นสุดเบ็ดเสร็จในสภา แต่ที่ต้องเน้นคือ ควรหาข้อเท็จจริงให้ชัดเจน มีการหาพยานหลักฐานที่ครบถ้วน และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายชี้แจงโต้แย้งอย่างเพียงพอ" นายนพดลกล่าว
ทรรศนะ...โทษถอดถอน 'ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต'
(จากซ้าย) พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์, วีระ เลิศสมพร, พนัส ทัศนียานนท์, วิรัตน์ กัลยาศิริ
หมายเหตุ - ความเห็นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นักวิชาการและฝ่ายการเมือง กรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ประชาชนมีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ต้องถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต
พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์
คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องการถอดถอน 1.กระบวนการถอดถอนเดิมให้เสียง 3 ใน 5 ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยถอดถอนใครได้เลย แต่เมื่อลดลงเหลือครึ่งหนึ่งก็จะทำให้การถอดถอนมีความเป็นไปได้ 2.เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกเสนอมาจากประชาชน โดยถ้า ส.ว.และ ส.ส.พิจารณาแล้วไม่หลุด ก็ให้เก็บชื่อคนที่จะถูกถอดถอนไว้ แล้วเข้าสู่กระบวนการที่ 2 คือ เมื่อมีการเลือกตั้งก็ให้นำชื่อคนที่จะถูกถอดถอนมาให้ประชาชนตัดสิน โดยให้ประชาชนลงคะแนนพร้อมกับการเลือกตั้งนั้นๆ ซึ่งประชาชนที่จะลงคะแนนถอดถอนได้จะต้องเป็นประชาชนในภาคนั้นๆ เช่น เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว. และคนที่จะถูกถอดถอนเป็น ส.ส. ก็ให้ประชาชนในภาคไปลงคะแนนเลือกตั้ง และลงคะแนนถอดถอนพร้อมกัน เป็น ส.ส.ภาคไหน ก็ให้ประชาชนภาคนั้นเป็นคนตัดสินคุณ ทั้งนี้ ผลของการถอดถอน หากเป็นผู้ที่มีตำแหน่งอยู่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้ายังไม่มีตำแหน่งก็จะมีผลต่ออนาคตทางการเมือง ส่วนจะ 5 ปี หรือตลอดชีวิตนั้นต้องมาว่ากันอีกทีหนึ่ง
ส่วนที่ถามว่าจะมีการซื้อเสียงเพื่อไม่ให้ถูกถอดถอนหรือไม่นั้น ถ้าทั้งภาคสมมุติมีคน 40 ล้านคน คุณก็ต้องซื้อทั้งหมด ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคตของชุมชนและลูกหลานของคุณ คนคนหนึ่งสร้างความเสียหายต่อชุมชน ต่อสังคม ถ้าคุณไม่ถอดเขา ลูกหลานของคุณก็ต้องแบกรับต่อไป แลกกับเงินไม่กี่ร้อยเองหรือ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคุณ ผมไม่ได้บอกว่าซื้อเสียงได้หรือไม่ได้นะ
ส่วนพรรคการเมืองจะปกป้องอยู่หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความผิดของแต่ละคน พรรคก็ต้องพิจารณาเอา แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันหมด การเลือกตั้งจะใช้ระบบ MMP คือต้องเลือกคน เลือกพรรค และเลือกปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งปาร์ตี้ลิสต์นี้จะเป็นปาร์ตี้ลิสต์แบบโอเพ่น กล่าวคือพรรคเลือกคนเรียงลำดับมา 1-50 ประชาชนสามารถเลือกใครก็ได้เป็นคนโปรด 1 คน จากนั้นจะเอานำผลจากที่ประชาชนได้ลงคะแนนไว้มาเรียงลำดับที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ ใครได้มากที่สุดก็จะคนที่ 1 ในปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งนี้ เพื่อที่เสียงของประชาชนจะไม่ตกหล่น และถ้าที่นั่งในสภาต้องมีการเติมเต็ม ก็จะเลือกเอาจากตรงนี้ สำหรับที่นั่งในสภาจะมาจากแบบเขต (เลือกคน) และมาจากการเปอร์เซ็นต์จากการเลือกพรรค การเลือกพรรคนี้เราจะนำคะแนนมานับรวมกันทั้งประเทศ แล้วมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ สมมุติได้เขต 40% ได้พรรค 45% เมื่อเทียบแล้วจะต้องเอาไปเติมอีก 5% ซึ่ง 5% นี้ก็มาจากปาร์ตี้ลิสต์ที่ประชาชนได้เลือกไว้นั่นเอง โดยการเติมเราจะไปเติมในจุดที่เหลื่อมที่สุด ดังนั้น ถ้าพรรคกำลังรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคของตน จะคุ้มค่าหรือไม่ที่จะปกป้องคนคนหนึ่งที่มีปัญหา พรรคก็จะต้องพิจารณาให้ดี
วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
เวลาพูดถึงการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 270 ไม่ได้ให้มีการถอดถอนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังรวมถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง อัยการสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าให้ ส.ส.เข้ามาร่วมวงด้วย เกรงว่าจะเกิดช่องโหว่และนำไปสู่ความเสียหายในอนาคต เพราะความสัมพันธ์ของรายชื่อข้างต้นมีกระบวนการของการจัดสรรผลประโยชน์หรือเกมทางการเมืองเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
หากว่านำ ส.ส.เข้ามาร่วมวงพิจารณาถอดถอนด้วย สมมุติมองไปในทางลบว่าเสียงที่ได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายจะมีผล หมายถึงคะแนนเสียงในการยกมือโหวตจะส่งผลเสีย ทำให้ประเด็นในการถอดถอนบิดเบี้ยวไป เป็นการเล่นเกมการเมืองผ่านการยกมือโหวตมากกว่า นี่เป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวัง
ส่วนประเด็นที่ถ้ารัฐสภาถอดถอนไม่สำเร็จจะนำไปสู่แนวทางการให้ประชาชนตัดสินลงมติ ผมค่อนข้างไม่เห็นด้วย การไปให้ประชาชนตัดสินนั้นคำถามมีอยู่ว่า ประชาชนซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่คนคนเดียว เขาได้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอไหม เขามีความปลอดอคติต่อคนที่เขากำลังจะถอดถอนด้วยเสียงของเขาไหม อย่าลืมว่ากระบวนการทางการเมืองในทางลบยังมีอยู่มาก เช่น เรื่องการชี้นำโดยหัวคะแนน ถ้าหากว่าแก้ตรงนี้ไม่ได้แล้วร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจในการถอดถอนอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ มองในเชิงบวกแล้วเห็นว่าถูกต้องที่อำนาจถอดถอนอยู่ในมือประชาชน เพราะการถอดถอนครั้งนี้มีบทลงโทษรุนแรง ห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต ดูสมน้ำสมเนื้อ แต่เป็นห่วงว่าเราต้องดูประเด็นเรื่องของความรู้ การติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างก้าวทันของประชาชน ดูน่ากลัวว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองวกกลับมารอยเดิม
เมื่อประชาชนเลือกนักการเมืองคนนี้ พรรคนี้ แล้วเวลาต่อมาคนคนนี้เข้าสู่กระบวนการที่ต้องถอดถอน กลับมาถามตัวเราและคนที่เชียร์นักการเมืองคนนี้ คำถามสำคัญก็คือว่า ตัวเราเองและกองเชียร์ที่สนับสนุนพรรคการเมืองนี้ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอและเปิดใจกว้าง มีธรรมาภิบาลในจิตใจไหมว่า คนนี้ถ้าหากว่าเขากระทำการขัดธรรมาภิบาล เป็นไปตามบทรัฐธรรมนูญว่าควรถอดถอน เราควรจะถอดถอนเขาโดยที่ต้องตัดอคติในเรื่องความชอบในตัวบุคคลและตัวพรรคให้ออกจากกันตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย
ตราบใดที่การแยกภาวะความนึกคิดกับความรู้สึกอารมณ์ ความชอบส่วนตนไม่ออก ผมก็ยังไม่เห็นด้วยว่าจะต้องมีบทลงโทษตลอดชีวิต เพราะหากทำอย่างนั้นแล้วมีกระบวนการเล่นเกมการเมืองเกิดขึ้น คนคนนั้นก็จะถูกลงโทษโดยกระบวนการที่ไม่พึงประสงค์ อาจมีการล็อบบี้ ใช้เสียงประชาชนตัดสิน ทำให้ถูกติดสิทธิตลอดชีวิต เกิดความบิดเบี้ยวและไม่เป็นธรรมกับคนคนนั้นไป พูดง่ายๆ ว่ามีการเล่นเกมการเมืองผ่านคะแนนเสียงของประชาชน
พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเด็นที่สำคัญในแนวทางนี้อยู่ที่ว่า ส.ว.จะมีที่มาจากอะไรกันแน่ ประเด็นนี้ต้องทำให้ชัดเจนก่อน หาก ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและไม่สังกัดพรรค เหมือนดังรัฐธรรมนูญปี 2540 กรณีนี้ ส.ว.ก็มีความชอบธรรมเต็มที่ในการใช้อำนาจแทนประชาชนในการถอดถอน ใช้แบบเดิมไปก็จบ สภาผู้แทนราษฎรก็มีหน้าที่ออกกฎหมาย แบ่งอำนาจกันซึ่งก็ดีอยู่แล้ว เพราะหากจะให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนมาร่วมถอดถอนนักการเมืองก็เป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะ ส.ส.เองก็ต้องมาจากพรรคการเมือง การลงมติจะเป็นไปอย่างชอบธรรมและเที่ยงธรรมได้อย่างไร
บ้านเมืองที่วุ่นวายเกิดจากการพยายามดัดแปลงระบบ ดัดแปลงรัฐธรรมนูญให้วุ่นวายไปหมด ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ทำไมต้องทำให้ยุ่งยาก ง่ายๆ เลยคือต้องทำให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ต้องมาจากประชาชน และให้มีอำนาจถอดถอนได้เหมือนกับที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ระบุเอาไว้ ซึ่งไม่เห็นว่าจะมีปัญหา การนำ ส.ส.เข้ามาร่วมถอดถอนด้วยจะเป็นการทำให้เรื่องยุ่งยากขึ้น และยิ่งการส่งเรื่องต่อจากสภาไปยังประชาชนนั้นยิ่งเป็นเรื่องที่ซ้ำซ้อน
หากจะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจก็ให้ตัดสินใจถอดถอนเลย ไม่จำเป็นต้องผ่านผู้แทนให้เกิดความซ้ำซ้อนอีก เหมือนอย่างที่เรียกกันว่า "รีคอล" ประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนได้เลย ไม่จำเป็นต้องผ่านสภาให้ซ้ำซ้อน ถ้าจะให้ประชาชนถอดถอนอยู่แล้วก็ให้ประชาชนถอดถอนเลย ไม่จำเป็นต้องผ่านสภา ดังนั้นกลับไปที่รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเป็นทางออกที่ดีกว่า มีการแยกอำนาจที่ดีอยู่แล้ว ไม่ซ้ำซ้อนและยุ่งยาก
ส่วนโทษการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต มองว่าไม่ถูก เพราะหากมีความผิดจริงต้องเอาโทษทางอาญาให้ได้เสียก่อน เมื่อมีโทษทางอาญาก็จะถูกตัดสิทธิไปในตัวอยู่แล้ว ตามปกติก็มีการตัดสิทธิทางการเมืองซึ่งไม่เกิน 5 ปี การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิทางเมืองขั้นพื้นฐาน คนทำผิดทางอาญายังให้โอกาสในการแก้ตัวเลย และหากมีการเขียนอย่างนั้นจริงๆ จะเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะจะมีการสร้างความผิดขึ้นมาเพื่อที่จะให้เอาผิดฝ่ายตรงข้ามให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เป็นกฎหมายที่มีความอันตราย การกลั่นแกล้งอย่างมากมายมหาศาลจะเกิดขึ้นหากมีการระบุในลักษณะนี้ เปรียบเสมือนการติดอาวุธให้คนป่า ฝ่ายตรงข้ามกันจะนำมาใช้ห้ำหั่นกันอย่างอุตลุด โดยมีความหวังว่าถ้าหากทำได้สำเร็จ คู่ต่อสู้ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตทันที
วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าทีมกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์
ส่วนตัวคิดว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นความคิดที่ดี เพราะเป็นไปตามกระบวนการตรวจสอบนักการเมืองตามปกติ ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโดยธรรมชาติของนักการเมืองมีทั้งดีและเลวผสมกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพแล้วล้อมเป็นปัจจัยสนับสนุน บางคนก็ดีมาแต่เกิด แต่บางคนก็เลวเพราะสภาพสังคมในพรรคนั้นเอื้อให้กลายเป็นเช่นนั้นไป
หากแต่ว่าข้อเสนอดังกล่าวที่เพิ่มเติมขึ้นมาในชั้น กมธ.ยกร่างฯ กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่ ส.ส.และ ส.ว.ลงชื่อกันเพื่อจะถอดถอนนักการเมืองคนนั้นๆ แต่ไม่สามารถถอดถอนนักการเมืองได้สำเร็จ ก็จะให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจเป็นผู้ลงมติในการถอดถอน จะมีผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น ก็คิดว่าถูกต้องตามหลักการที่สุดแล้ว ตามหลักการอำนาจเป็นของประชาชน ตรงนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
นายบวรศักดิ์ ต้องชี้แจงให้สาธารณชนรับรู้รับทราบด้วยว่า หลักเกณฑ์ในการให้อำนาจประชาชนถอดถอนนักการเมืองเป็นอย่างไร ที่มาของประชาชนมาอย่างไร มีกติกาเป็นเช่นใด มีหลักการและเหตุผลอย่างใด หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และที่ว่านักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตต้องเข้าข่ายความผิดอย่างใด ตรงนี้นายบวรศักดิ์ต้องระบุให้ชัดเจนด้วย ท้ายที่สุดแล้วข้อเสนอดังกล่าวถ้ามีกระบวนการถกเถียง อภิปรายกันถึงที่สุดแล้ว จนตกผลึกทางความคิด ผมเชื่อว่าหลักการดังกล่าวจะนำมาซึ่งระบบการเมืองที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยอย่างแน่นอน