WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'ปู'โต้ปมถอดถอนทุกเม็ด ยันไร้โกง ย้ำจำนำข้าวช่วยชาวนา 16 มค.สนช.นัดซัก 2 ฝ่าย 'บวรศักดิ์'ชงเพิ่มตัดสิทธิ ห้ามเล่นการเมืองทั้งชีวิต

โต้ถอดถอน - นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงข้อกล่าวหาเปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีรับจำนำข้าว ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นโต้แย้งข้อกล่าวหา ยืนยันว่าดำเนินการอย่างถูกต้อง รัดกุม ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม

     เปิดคดีถอดถอน'ยิ่งลักษณ์'ปมปล่อยให้มีทุจริตจำนำข้าว 'ปู'โต้ทุกเม็ด ยันติดตามโครงการตลอด ตั้ง กก.ตรวจสอบแล้วไม่เจอโกง ชี้พ้นตำแหน่งมา 3 รอบ ไม่มีเก้าอี้ให้ถอดถอนแล้ว

'ปู'ลั่นพร้อมแจงทุกข้อหา

     เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 มกราคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางเข้าแถลงเปิดคดีคัดค้านข้อกล่าวหาในคดีปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกระบวนการถอดถอน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีท่าทีสงบและสีหน้านิ่งเรียบ เพียงแต่ยิ้มทักทายให้สื่อมวลชน พร้อมให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า "พร้อมชี้แจงทุกรายละเอียดที่ ป.ป.ช.กล่าวหาค่ะ"

    ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำพยานที่ขอเพิ่มเติมมาด้วย คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว โดยมีทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 4 คน เข้าร่วมด้วย

สื่อไทย-เทศแห่ทำข่าว"ปู"

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศบริเวณอาคารรัฐสภาเป็นไปอย่างคึกคัก มีสื่อมวลชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศนับร้อยรายเข้าร่วมสังเกตการณ์และรายงานความเคลื่อนไหว พร้อมกันนี้ก็มีประชาชนบางส่วน และสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) อาทิ นายพิชิต ชื่นบาน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และนายสิงห์ทอง บัวชุม มาคอยให้การต้อนรับนำดอกไม้มอบให้เป็นกำลังใจแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่มาตรการการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ชาย 1 กองร้อย และหญิง 2 หมู่ พร้อมตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น 1.) 1 กองร้อย ดูแลความปลอดภัยโดยรอบรัฐสภา หลังมีกระแสข่าวว่าจะมีมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมาก แต่ปรากฏว่ามีเพียงประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประมาณ 20 คน

ด้านมวลชนคนหนึ่งที่มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เหตุที่มารวมตัวกันไม่มาก เนื่องจากหลายคนเกรงว่าอาจจะถูกคุมตัว เพราะยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึก 

"บิ๊กป้อม-บิ๊กโด่ง"เชื่อไม่วุ่น

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการมอบนโยบายกระทรวงมหาดไทยถึงกรณีที่มีมวลชนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ถ้าอยากมาให้กำลังใจโทรศัพท์ไปก็ได้ ไม่อยากให้มาเฮโลกันจนรัฐบาลทำงานไม่ได้ ต้องมาคอยแก้ไขปัญหา แต่เชื่อว่าไม่มีเรื่องวุ่นวายอะไร 

ที่ฝูงเครื่องบินกองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในขณะที่ สนช.พิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า การดูแลความเรียบร้อยตนกำชับกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ทุกอย่างยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนกฎอัยการศึกจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ใช้ 

"วิชา"แจงจำนำข้าวเจ๊งยับ

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม สนช. โดยมีการพิจารณาวาระเร่งด่วนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 

จากนั้นนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงเปิดคดีว่า โครงการรับจำนำข้าวส่อว่ามีการทุจริตในทุกขั้นตอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กลับเพิกเฉยละเลยปล่อยให้มีการทุจริต จากรายงานผลโครงการรับจำนำข้าวของ กขช. ข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 มีผลขาดทุนเบื้องต้น 32,100 ล้านบาท ใช้เงินในการจำนำ 111,700 ล้านบาท ข้าวเปลือกนาปรัง 2555 และ 2555/2556 รอบที่ 1 มีหนี้สินรวม 220,000 ล้านบาท ใช้เงินไป 400,000 ล้านบาท สรุปโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกนาปีและนาปรัง 2554-2556 ขาดทุนสะสม 322,000 ล้านบาท ใช้เงินในโครงการไปแล้ว 565,000 ล้านบาท และมีภาระหนี้โครงการนี้รวม 470,000 ล้านบาท

เคยเตือนให้เลิกแต่"ปู"ไม่สนใจ

นายวิชากล่าวว่า ป.ป.ช.เคยมีหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 ครั้ง ให้แก้ไขการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เพื่อป้องกันการนำไปสู่ความเสียหายมหาศาล และ ป.ป.ช.ติดตามโครงการรับจำนำข้าวเห็นว่า ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการทุจริตในส่วนของนโยบายและกระบวนการดำเนินโครงการ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์รับทราบการทุจริตจากฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร และการตั้งกระทู้ถามเรื่องผลการตรวจสอบการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นอกจากนี้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ก็รายงานผลการปิดบัญชีให้รับทราบตลอดมา รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็มีหนังสือท้วงติง 

แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ดำเนินการแก้ไขความเสียหายใดๆ รวมถึงรัฐมนตรีทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันจะดำเนินการต่อไปจนเกิดความเสียหายมากขึ้น

ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีส่วนร่วมให้เกิดการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริตขึ้นด้วยก็ตาม แต่การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงว่าจะป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง โดยยุติโครงการรับจำนำข้าว จึงถือได้ว่าเป็นสภาพความเสียหายของโครงการที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ละเลยไม่ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความทุจริต และความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี 2534 เป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

"ปู"แจงไม่มีเก้าอี้ให้ถอดแล้ว

ต่อมาเวลา 11.35 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงคัดค้านสำนวนถอดถอนและขอปฏิเสธทุกข้อ กล่าวหามาขอความเป็นธรรมและขอโอกาสจากประธาน สนช.และสมาชิก สนช. พร้อมกับขอโต้แย้งและชี้แจงข้อกล่าวหาว่า ประเด็นที่สภากำลังจะพิจารณาอยู่นี้มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริหารเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและกว้างขวางใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ 1.เกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมและความจำเป็นในการถอดถอน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตนได้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเสมือนถูกถอดถอนมาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกโดยผลของการยุบสภา ครั้งที่ 2 โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และครั้งที่ 3 โดยประกาศของ คสช. ทั้งหมดมีผลสมบูรณ์แล้ว 

"วันนี้ดิฉันไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนแล้ว หากจะดำเนินการต่อไปก็จะเป็นการถอดถอนที่ซ้ำซ้อน เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อไปในอนาคต และ 2.การพิจารณาของ สนช.จะมีผลกระทบ ไม่เพียงต่อตัวดิฉันหรือนักการเมืองทั่วไปเท่านั้น แต่จะกระทบต่อพี่น้องชาวนาที่มีฐานะยากจน และมีความหวังอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล ดังนั้น การพิจารณาถอดถอนจะมีผลต่อการจัดทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนาในอนาคต และเท่ากับว่าเป็นการตัดความหวังและอนาคตของชาวนาไทยไปอีกนาน" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว 

ชี้ข้อกล่าวหามีวาระซ่อนเร้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตทุกขั้นตอนนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง รัฐบาลไม่เคยละเลยข้อแนะนำต่างๆ และจัดกิจกรรมจำนวนมากกับหัวหน้าส่วนราชการเพื่อป้องกันการทุจริต มีแผนป้องกันการทุจริต เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชี เพื่อป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และมีการประสานกับ ป.ป.ช.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกับโครงการต่างๆ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เพิกเฉยการทุจริต ส่วนข้อกล่าวหาว่าข้าวไม่ได้คุณภาพและข้าวหายนั้น กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ในสัญญาชัดเจนว่าผู้รับผิดชอบต้องชดใช้ให้รัฐบาลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ 

อดีตนายกฯกล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาว่าส่อทุจริต ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.จึงไม่ขอก้าวล่วง แต่ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าไม่มีการทุจริต พยายามทำทุกอย่างสุดความสามารถ และตลอดเวลาที่ดำเนินการรับฟังทุกความเห็น ส่วนที่ไม่ยกเลิกโครงการเพราะการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฯจะยกเลิกนโยบายโดยพลการไม่ได้ เพราะเป็นรูปแบบของคณะกรรมการที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพิจารณา ส่วนที่ สตง.ส่งข้อท้วงติงมายังรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการนั้น ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากส่งมาหลังจากยุบสภาไปแล้ว

ถอดถอนไม่แฟร์-ปรองดองยาก

"ดิฉันกังวลการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม การเร่งรีบรวบรัด โดย ป.ป.ช.มีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นองค์คณะไต่สวน โดยไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนก่อน เป็นการข้ามขั้นตอน ส่อเจตนาเร่งรัดผิดปกติไม่เหมือนกรณีอื่น นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีมติชี้มูลความผิดดิฉันวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ถัดจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ดิฉันพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเพียงวันเดียว น่าแปลกใจว่า เหตุใดยังให้มีการถอดถอนซ้ำคนที่ไม่มีตำแหน่งแล้วได้อีก" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

"ดิฉันมีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ จึงอยากขอความเป็นธรรมจาก สนช.ว่า ป.ป.ช.ดำเนินการไม่ปกติ ยินดีให้ตรวจสอบ แต่ขอให้เป็น

กระบวนการที่เป็นธรรม ตามหลักนิติธรรม ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยทุจริต หวังว่า สนช.จะพิจารณาโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ไม่อยากเห็นกระบวนการถอดถอนเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ยกเลิกไปแล้ว การถอดถอนต้องยุติไปด้วย หากดำเนินการโดยไม่มีหลักนิติธรรม การปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว 

กมธ.นัดซักถามคู่กรณี16ม.ค.

จากนั้น นายพรเพชรแจ้งต่อที่ประชุมว่า ในวันที่ 15 มกราคม จะครบกำหนดที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยื่นคำแถลงปิดคดี จะยื่นเป็นหนังสือหรือจะแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาก็ได้ โดยที่ประชุมมีมติให้ตั้งกรรมาธิการซักถามจำนวน 9 คน ประกอบด้วย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ.ดนัย มีชูเวท นายสมชาย แสวงการ พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายสุธรรม พันธุศักดิ์ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นายพรศักดิ์ เจียรณัย และ พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต โดยสมาชิกสามารถยื่นญัตติคำถามได้ภายในวันที่ 13 มกราคม ก่อนเวลา 12.00 น. พร้อมนัดประชุม สนช.วันที่ 16 มกราคม เพื่อให้กรรมาธิการซักถามคู่กรณี

"ปู"สบายใจได้ชี้แจงทุกข้อหา 

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวภายหลังแถลงคัดค้านข้อกล่าวหาว่า ส่วนตัวมีความสบายใจที่ได้ชี้แจงข้อมูลทั้งหมดให้สมาชิก สนช.รับทราบ ตนทำดีที่สุดแล้ว ส่วนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช. แต่ได้ตอบครบทุกประเด็นที่ ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหา เชื่อว่าประชาชนคงได้รับฟังข้อเท็จจริง ไม่ได้เครียดกับเรื่องดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงคัดค้านเสร็จสิ้นนั้น ได้นั่งพักในห้องรับรองชั้น 2 ของรัฐสภาก่อนลงมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน โดยมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าให้กำลังใจ อาทิ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.กทม. นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

"วิชา"เหน็บ"ปู"โต้ตามโพย

ต่อมาเวลา 13.15 น. นายวิชาให้สัมภาษณ์ถึงคำโต้แย้งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ท่านก็อ่านตามโพย ก็เรียกร้องความเห็นใจ คำโต้แย้งส่วนใหญ่ก็เดิมๆ เท่ากับว่าท่านยอมรับแล้วว่าเก็บข้าวเอาไว้เพื่อให้ราคาสูงขึ้น ส่วนที่อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. ก็ได้แถลงชี้แจงตั้งแต่แรกว่าให้ความเป็นธรรมทุกอย่าง โดยเฉพาะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุดนั้นให้ความเป็นธรรมที่สุด เพราะเรามีกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าหากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นผู้ดำเนินการ ถือเป็นการให้เกียรติสูงสุด

เมื่อถามว่า การถอดถอนครั้งนี้จะเป็นการซ้ำซ้อนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ น.ส.

ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้วหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า เป็นคนละเรื่อง การถอดถอนของสภาต้องดำเนินการ เพราะยังมีโทษที่เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ให้มีการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ 5 ปี มันยังติดอยู่ตรงนี้ ส่วนสมาชิก สนช.มีความเห็นอย่างไรก็คงต้องดูในขั้นตอนของการซักถาม 

ให้รอดูชี้มูลคดีจีทูจี"บุญทรง"

นายวิชากล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์โต้แย้งว่าหากยุติโครงการรับจำนำข้าวถือเป็นการตัดความหวังชาวนาว่า ก็ตายไปแล้วหลายคนฟื้นได้หรือไม่ เราพยายามเตือนแล้วว่าโครงการนี้จะเกิดปัญหาอย่างไร และไม่ได้บอกว่าโครงการนี้ไม่ดีทั้งหมด แต่จุดที่ไม่ดีคือมันบิดเบือนตลาด การรับจำนำเหมือนการซื้อขาด เพราะเมื่อราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด เรื่องอะไรชาวนาจะต้องไปเอาข้าวคืน ทำให้ข้าวตกอยู่ในมือของรัฐทั้งหมด 

"อีกไม่นาน คอยดูที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะมีรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมดว่าเป็นกระบวนการในระดับสากล ระดับโลก คดีการระบายข้าวแบบจีทูจีจะเสร็จภายในเดือนมกราคม ตอนนี้เหลือเพียงนำสำนวนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จะสามารถชี้มูลได้เลยหากคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นว่าไม่ต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก" นายวิชากล่าว

"วรงค์"ชี้"ปู"ยกปรองดองขู่

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถชี้แจงประเด็นสำคัญที่ ป.ป.ช.กล่าวหาว่าไม่ยับยั้งความเสียหายได้ สิ่งที่แถลงต่อ สนช.เป็นเรื่องเก่าคือ การเอาชาวนามาอ้าง เป็นความพยายามหาเสียงกับชาวนาเพื่อปกป้องตัวเอง และโยนความผิดให้กับคนที่ทักท้วงว่าขัดขวางการช่วยเหลือชาวนา ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีใครปฏิเสธการช่วยเหลือชาวนา แต่ประเด็นที่เป็นความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการไม่ระงับความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าว

"ตอนจบของคำชี้แจงยังนำประเด็นการเมืองเรื่องความปรองดองมาอ้างเหมือนขู่สังคมไทย โดยที่คนทำผิดยังไม่ยอมรับความผิดตัวเองกลับใช้วิธีข่มขู่ ดังนั้น สนช.ต้องตัดสินใจให้รอบคอบ หวังว่า สนช.จะลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะถ้า สนช.เกี้ยเซี้ยะไม่ถอดถอน คนเสียหายคือ สนช.และอาจลามไปถึงรัฐบาลด้วย จึงหวังว่า สนช.จะไม่ปล่อยคนทำผิด เนื่องจากคำชี้แจงฟังไม่ขึ้น ไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ได้เลย จะอ้างปรองดองเพื่อให้คนทำผิดอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ ถ้า สนช.ต้องการปฏิรูปการเมืองจริง ต้องใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างเอาคนมีอำนาจที่ทำผิดมาลงโทษ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่จะเลวร้ายลงเพราะคนทำผิดจะข่มขู่เพื่อให้พ้นผิด" นพ.วรงค์กล่าว

"บวรศักดิ์"เล็งให้ปชช.ถอดถอน

ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภานั้น จะกระทบกับการปรองดองหรือไม่นั้น ถ้ามองว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายก็จะไม่กระทบ แต่ถ้ามองเป็นการดำเนินการทางการเมือง บางฝ่ายอาจไม่พอใจ

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญอาจกำหนดเรื่องการถอดถอน จากเดิมเป็นอำนาจของ ส.ว.เพียงฝ่ายเดียว ขณะนี้มีข้อเสนอจากประชาชนที่ส่งมายังตนและทางกรรมาธิการยกร่างฯ สิ่งที่สนใจจะเขียนคือ จะให้มีการถอดถอนร่วมกันของ 2 สภา ระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้หลักการและระเบียบเดิม แต่หากสภาฯถอดถอนไม่สำเร็จ จะให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจเป็นผู้ลงมติในการถอดถอน ซึ่งจะมีผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เพราะถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่จะเข้าไปสู่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ 

นายบวรศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าของกระบวนการปรองดองว่า ขณะนี้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างฯ กำลังดำเนินการ แต่เห็นว่าความปรองดองถ้าเกิดจากประชาชนก็ทำได้ แต่ถ้าเกิดจากคู่ขัดแย้งก็จำเป็นต้องพูดคุยเป็นการภายใน จึงขอสนับสนุนนายเอนก เพราะเห็นว่านายเอนกเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ดังนั้นคู่ขัดแย้งควรจะให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดความปรองดอง

สื่อนอกชี้อำนาจเก่าหวังเขี่ย"ปู"

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าชี้แจงกรณีถูกยื่นถอดถอนโดยอ้างความเห็นนักวิเคราะห์ ระบุว่า การถอดถอนเป็นความพยายามล่าสุดของกลุ่มอำนาจเก่าเพื่อที่จะตัดตอนอิทธิพลทางการเมืองของตระกูลชินวัตร ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งนับ

ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงจะถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 5 ปี ทว่าอาจเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มผู้สนับสนุนเสื้อแดงออกมาประท้วงได้หลังจากหยุดการเคลื่อนไหวไปหลายเดือนภายใต้กฎอัยการศึก 

รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ สร้าง "สถานการณ์ยากลำบาก" ให้กับรัฐบาลและ คสช. โดยทางหนึ่งรัฐบาลและ คสช.ต้องการเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิจากการเมืองไทย แต่หากพวกเขาต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยผลักดันให้มีการตัดสิทธิหรือแจ้งข้อหาความผิดทางอาญา ก็เสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยเลวร้ายยิ่งขึ้น จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจจากฝ่ายที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!