- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 10 January 2015 12:20
- Hits: 4897
วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8809 ข่าวสดรายวัน
สวนปปช.คดีข้าว ปูแจงลั่น ถูกถอด 3 หนแล้ว ไม่มีตำแหน่งให้ถอน วอนสนช.เที่ยงธรรม มท.โต้ทุจริตจัดซื้อปุ๋ย อ้างมีสอบแค่ 3 จังหวัด
แถลงสู้-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ แถลงชี้แจงต่อสนช.คัดค้านและตอบโต้ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.เรื่องจำนำข้าว ในการเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอนวันแรกที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 ม.ค. |
'ปู'สับป.ป.ช. ถอดถอนซ้ำซ้อนยัดเยียดคดีข้าว พอใจได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ให้สนช.-ประชาชนทราบ ยันมีแผนดูแลทุจริตเข้มงวด ชี้จำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคม เลิกโดยพลการไม่ได้ ทุกรัฐบาลต้องช่วยชาวนา สมัยป๋าก็เคยรับจำนำข้าว ย้ำตัวเลขขาดทุนป.ป.ช.ไม่ถูกต้อง โต้แย้งแล้วแต่ไม่ฟัง หวังสนช.ให้ความเป็นธรรม'บิ๊กตู่'ลั่นมุ่งลดขัดแย้ง ให้ทุกคนยึดกฎหมาย ขอประชาชนร่วมมือรัฐบาล-คสช. 'ตือ'ถามนายกฯชูปฏิรูป แต่ทำไมร่างรธน.ถอยหลัง
ทหาร-ตร.คุมเข้มรอบรัฐสภา
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะเปิดประชุมพิจาณาวาระการดำเนินการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 และมาตรา 64 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา จะแถลงเปิดคดีและแถลงคัดค้าน
ขณะที่มาตรการการรักษาความปลอดภัย ก็เป็นไปอย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 2 กองร้อย ตั้งด่านตรวจที่ถ.อู่ทองใน บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และกระจายกำลังตรวจตราความเรียบร้อยโดยรอบทั้งภายในและภายนอกอาคารรัฐสภา
'ปู'ลุยแถลงค้านปปช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.00 น. น.ส. ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงรัฐสภาด้วยรถโฟล์กสวาเกน ทะเบียน ฉน 333 กรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าแถลงเปิดคัดค้านข้อกล่าวหาในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยรถของน.ส. ยิ่งลักษณ์มาจอดที่ชั้นล่างของทางเข้าอาคารรัฐสภา ตามการประสานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภาที่ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปจอดที่ชั้นลอย ทันทีที่มาถึงมีเจ้าหน้าที่สภา 2 คนนำดอกกุหลาบสีแดง 5 ดอกและพวงมาลัย 2 พวงมามอบให้กำลังใจ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์มีสีหน้ายิ้มแย้ม ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวก่อนเข้าชี้แจงด้วยท่าทีสงบว่า "ไม่กังวล พร้อมชี้แจงทุกรายละเอียดที่ป.ป.ช.กล่าวหา"
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์นำเอกสาร 30 เล่ม 139 หน้ามาแก้ข้อกล่าวหา เพื่อยืนยันว่ากระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช.ไม่เป็นไปตามหลักสากล เร่งรีบรวบรัดการพิจารณา ไม่รอผลการพิสูจน์เรื่อง สต๊อกข้าวให้เป็นที่สิ้นสุด ทั้งที่ส่งเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ไปร่วมสังเกตการณ์แล้ว
ส่วนบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีสื่อมวลชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศนับร้อยคนเข้าร่วมสังเกตการณ์และรายงานความเคลื่อนไหว พร้อมกันนี้มีทีมกฎหมายและสมาชิกพรรคเพื่อไทย อาทิ นายพิชิต ชื่นบาน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และนายสิงห์ทอง บัวชุม และประชาชนประมาณ 20 คนมาคอยให้การต้อนรับนำดอกไม้มอบให้เป็นกำลังใจแก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย
'วิชา'แถลงเปิดคดีถอดถอน
เวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม โดยให้ป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหา และน.ส. ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วยพยานที่ขอเพิ่มเติม ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.การคลัง นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ และทีมทนายความ 4 คน ได้แถลงเปิดคดีและแถลงคัดค้าน
นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป.ป.ช. แถลงเปิดสำนวนถอดถอนว่า โครงการรับจำนำข้าวส่อมีการทุจริตในทุกขั้นตอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) กลับเพิกเฉยละเลยปล่อยให้มีการทุจริต สืบเนื่องจากรายงานผลโครงการรับจำนำข้าวของกขช. ข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 มีผลขาดทุนเบื้องต้น 32,100 ล้านบาท ใช้เงินจำนำไปแล้ว 111,700 ล้านบาท ข้าวเปลือกนาปรังปีการผลิต 2555 และ 2555/2556 รอบที่ 1 มีหนี้สินรวม 220,000 ล้านบาท ใช้เงินในโครงการไปแล้ว 400,000 ล้านบาท สรุปโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี นาปรัง 2554-56 ขาดทุนสะสม 322,000 ล้านบาท โดยใช้เงินในโครงการไปแล้ว 565,000 ล้านบาท และ มีภาระหนี้ในโครงการนี้รวม 470,000 บาท
ยันไม่ได้ 2 มาตรฐาน
นายวิชา กล่าวอีกว่า หากมีการรับจำนำข้าวทุกเม็ดจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรง มีการทุจริตทุกขั้นตอน ซึ่งป.ป.ช.ได้ศึกษา มาก่อนแล้วพอสมควรและลงลึกเมื่อได้รับการร้องเรียน โดยยึดงานวิจัยที่เชื่อถือได้จากทีดีอาร์ไอ ไม่ได้รวบรัดเร่งรีบดำเนินการสองมาตรฐาน ป.ป.ช.มองว่าเคสนี้สำคัญที่สุด ส่วนกระแสข่าวว่านายกฯไม่ได้ทุจริตจึงไม่สามารถถอดถอนได้นั้น เราตรงไปตรงมา ถ้าไม่ทุจริตก็บอกไม่ทุจริต ซึ่งการกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ส่อว่ามีการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ หมายความว่ามีความชัดเจนว่ามีการทุจริตแต่ไม่ยับยั้ง จนเกิดความเสียหายรุนแรงขึ้น ป.ป.ช.จึงต้องไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายของป.ป.ช. เมื่อได้รับคำร้อง
นายวิชา กล่าวว่า การระบายข้าวด้วยการจำหน่ายข้าวถุง และการส่งออกก็มีข้ออ้างอย่างพิสดารว่าทำแบบจีทูจี ขณะที่รับรู้กันว่ามีผู้รับซื้อข้าวดังกล่าวใกล้ชิดกับบุคคลในรัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลยังขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าเอกชน 10 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2554 ไทยส่งออกข้าวมากที่สุด มีมูลค่าที่ 110,000 บาท แต่พอปี 2555 รายได้จากการส่งออกข้าวลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ เสียแชมป์การส่งออกข้าวจากอันดับ 1 เป็นอันดับ 3 และปรากฏผลชัดเจนว่ารัฐบาลไม่มีเงินรับจำนำข้าวต่อไป อีกทั้งผู้ส่งออกต่างเห็นว่ารัฐบาลต้องยุติการผูกขาดการรับซื้อข้าว ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอีกด้วย
'ปู'แถลงค้านด้วยตัวเอง
จากนั้นเวลา 11.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงโต้แย้งข้อกล่าวหาของป.ป.ช.โดยมีทีมอดีตรัฐมนตรี 4 คน และทีมทนายความ 4 คน เข้าร่วมคณะชี้แจงด้วย โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอความเป็นธรรม และโอกาสต่อสนช.เพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหา ประเด็นที่สนช.กำลังพิจารณามีความสำคัญและกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางใน 2 ประเด็นคือ 1.ความถูกต้องชอบธรรม ตนได้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เสมือนถูกถอดถอนมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกจากการยุบสภา ครั้งที่สองจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่สามจากประกาศคสช. ทุกวันนี้ไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถูกถอดถอนแล้ว หากดำเนินการต่อไปถือเป็นการถอดถอนซ้ำซ้อน สร้างบรรทัดฐานทางการเมือง และกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
น.ส.ยิ่งลัษณ์ กล่าวต่อว่า 2.การพิจารณาของสนช. ไม่ส่งผลกระทบเฉพาะตน แต่จะกระทบถึงชาวนาไทย ที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีความหวังอยู่กับนโยบายรัฐบาล การพิจารณาถอดถอนจึงมีผลต่อการจัดทำนโยบายช่วยเหลือชาวนาในอนาคตด้วย อาจเป็นการตัดความหวังและอนาคตชาวนาไทย
ชี้จำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคม
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของป.ป.ช. และฝ่ายค้านในอดีต ยืนยันว่าได้บริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะนายกฯและรมว.กลาโหมด้วยความซื่อสัตย์ ดำเนินการตามหน้าที่อย่างครบถ้วน ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับราชการ และแนวทางบริหารราชการที่ดี ซึ่งข้อสรุปของป.ป.ช.ยังยอมรับว่าพยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้เจตนารมณ์ของนโยบายรับจำนำข้าว เป็นแนวคิดจากนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย ได้การตอบรับจากประชาชนด้วยเสียงข้างมากในสภา ถือเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐบาลต้องทำ นโยบายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้ชาวนาลืมตาอ้าปาก มีราคาข้าวสูงขึ้น ไม่ถูกกดราคาเอาเปรียบเหมือนที่ผ่านมา จากการศึกษาพบว่านโยบายจำนำข้าวเป็นวิธีแก้ปัญหาดีที่สุด ไม่ใช่นโยบายประกันราคาที่ทีดีอาร์ไอเคยนำเสนอ เพราะนโยบายดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทย์ให้ชาวนาได้อย่างแท้จริง
ย้ำเคยทำมาแล้วสมัย'ป๋าเปรม'
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เกิดขึ้นมาแล้ว 33 ปี ตั้งแต่ปี 2524 สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า การดำเนินการมีปัญหาทางปฏิบัติ ทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร มีปัญหาหลักในอดีตคือ 1.การรับจำนำข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดและรับจำนำในปริมาณที่น้อย จึงไม่มีแรงผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น ทำให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอ 2.ตลาดข้าวเป็นกลไกที่เรียกว่า เสรีแต่ไม่เป็นธรรม เพราะชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองที่แท้จริง วันนี้มีชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือนหรือ 15 ล้านคน คิดเป็น 23% ของคนทั่วประเทศ เทียบกับพ่อค้าคนกลางทีมีอยู่ 1,500 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนชาวนา 4,000 รายต่อพ่อค้า 1 ราย 3.พ่อค้าคนกลางกดราคาได้ตลอด เพราะชาวนายากจน เป็นแรงกดดันให้ชาวนาต้องรีบขายข้าวจึงได้ราคาถูก ไม่เป็นธรรม
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คณะทำงานรัฐบาลตน วิเคราะห์ปัญหาโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย พบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวนาได้ เพราะเป็นระบบการจ่ายเงินชดเชยที่ไม่ต้องนำข้าวมาแสดง จึงเอื้อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย เพราะในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ต้องตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกจริง ยากแก่การตรวจสอบ มีการแจ้งประกันข้าวในจำนวน ที่มาก กว่าความเป็นจริง
ยันทุกรัฐบาลต้องช่วยชาวนา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลของตนนำข้อมูลต่างๆ มาปรับปรุง พัฒนาโครงการจำนำข้าวเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลดภาระหนี้สิน ให้ชาวนามีความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังนี้ 1.กำหนดราคาจำนำข้าวที่ 15,000 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาตลาด เพื่อให้ชาวนามีรายได้ที่เป็นธรรม ใกล้เคียงกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 2.การจำนำข้าวทุกเม็ด เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นทั้งระบบ 3.การปรับปรุงกลไกข้าวให้เสรีและเป็นธรรม มีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยรัฐไม่ผูกขาดตลาดข้าว พ่อค้าคนกลางยังขายข้าวได้ตามปกติ จึงไม่ใช่การบิดเบือนกลไกตลาด 4.มีการวางมาตรการขั้นตอนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ป้องกันการทุจริต
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การช่วยชาวนาตามโครงการจำนำข้าว ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกรัฐบาลในโลกมีการช่วยเหลือสนับสนุนชาวนา ถือเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น เป็นการลงทุนของประเทศที่ไม่คิดกำไรหรือขาดทุน แต่กลับมีบางคนบอกว่าอย่าไปอุดหนุนหรือใช้เงินกับชาวนา จะทำให้ประเทศเสียหาย ซึ่งน่าเสียใจ อยากให้ทุกคนมองประโยชน์ของโครงการเชิงเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่มิติค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งการช่วยชาวนาไม่ใช่เรื่องผิด
ชี้ตัวเลขปปช.ไม่ตรงข้อเท็จจริง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอโต้แย้งการไต่สวนของป.ป.ช. 4 ประเด็น 1.เรื่องข้าวหายที่ไม่มีการบันทึกการมีอยู่จริงของข้าวสาร ที่อยู่ระหว่างสีแปร ทั้งนี้ อ.ต.ก.และอคส.ซึ่งดูแลข้าว ได้ยืนยันการมีอยู่จริงของข้าว การตรวจนับข้าวล่าสุดโดยรัฐบาลปัจจุบันพบว่า มีข้าวหายเพียง 2 แสนตัน ซึ่งไม่ใช่ 2.59 หรือ 2.89 ล้านตัน ดังนั้นความเสียหายที่คณะอนุกรรม การปิดบัญชีระบุจึงไม่ถูกต้อง 2.มูลค่าสินค้าคงเหลือที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต ไม่มีความแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับราคาที่ขายจริงเท่านั้น 3.การคิดค่าเสื่อมราคาไม่ตรงกัน เพราะมีวิธีคิดต่างกันทำให้มูลค่าคลาดเคลื่อน
4.การไม่ได้บันทึกมูลค่าข้าวที่ขายให้องค์กรรัฐ จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้โต้แย้งที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ได้บันทึกมูลค่าข้าวที่แจกให้ประชาชน กรณีภัยธรรมชาติ 6 แสนตัน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท จากข้อโต้แย้งทั้ง 4 ประเด็น หากนำตัวเลขทั้งหมดมาปรับปรุงบัญชีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว ในการปิดบัญชี วันที่ 31 พ.ค.56 ให้ถูกต้องใกล้เคียงความเป็นจริง ตัวเลขการขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว 332,372 ล้านบาท จะเหลือเพียง 257,148 ล้านบาท
โต้แย้งแล้วแต่ไม่รับฟัง
อดีตนายกฯ กล่าวว่า ได้พยายามโต้แย้งทั้ง 4 ประเด็น ให้ป.ป.ช.พิสูจน์ แต่ป.ป.ช.เลือกรับฟังตามรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ทำให้ข้ออ้างเรื่องการขาดทุนไม่ได้รับการพิสูจน์ให้เป็นธรรม ส่วนข้อกล่าวหาว่าโครงการจำนำข้าวทำให้เสียวินัยการเงินการคลังนั้น ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ดำเนินการ ไม่ได้ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง โดยสิ้นปี 56 รัฐบาลรักษาระดับตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 44.71 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ จีดีพีตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหารัฐบาลว่ามีปัญหาจ่ายเงินชาวนาในรอบปี 56-57 ยืนยันไม่ได้เกิดจากนโยบายจำนำข้าว แต่หลังจากยุบสภา กลุ่ม กปปส.นำนโยบาย ดังกล่าวมาเป็นประเด็นขัดขวางการจ่ายเงินชาวนา แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าว นำเงินมาจ่ายชาวนา 7 หมื่นล้านบาท และขออนุมัติครม.ของบกลาง 2 หมื่นล้านบาท มาจ่ายเงินให้ชาวนา รวม 9 หมื่นล้านบาท จนมาถึงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ใช้แนวทางเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนที่วางแนวทางไว้ ขณะที่ข้อกล่าวหาว่านโยบายดังกล่าวทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าว เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะการระบายข้าวสารเป็นการอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ไม่เกี่ยวกับราคารับจำนำข้าว แต่เป็นผลจากการทุ่มตลาดของบางประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว
ยันมีแผนงานป้องทุจริตชัดเจน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลปล่อยให้ทุจริตทุกขั้นตอนนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง รัฐบาลไม่เคยละเลยข้อแนะนำต่างๆ และป้องกันการทุจริต มีแผนงานป้องกันการทุจริต เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชี เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และมอบให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา ประสานกับป.ป.ช.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกับโครงการต่างๆ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เพิกเฉยการทุจริต ส่วนข้อกล่าวหาว่าข้าวไม่ได้คุณภาพและข้าวหายนั้น กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ในสัญญาอย่างชัดเจนว่าหากเกิดความเสียหาย ผู้รับผิดชอบต้องชดใช้ให้รัฐบาลเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ตามสัญญา จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นความเสียหายได้
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนการระบายข้าวแบบจีทูจี ถือเป็นยุทธศาสตร์การระบายข้าวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในส่วนคำจำกัดความของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ โดยป.ป.ช.เห็นว่าหากเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องถือหุ้นโดยรัฐบาลกลางเท่านั้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ถือปฏิบัติในทุกรัฐบาลให้รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลมณฑลหรือรัฐบาลท้องถิ่นทำสัญญารัฐต่อรัฐได้ เมื่อความหมายแตกต่างกัน เพื่อป้องกันความเสียหาย กระทรวงพาณิชย์จึงยกเลิกสัญญาการส่งมอบข้าว ทำให้สัญญาดังกล่าว เมืองหลงเจียง ประเทศจีน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท หรือ 1.2 ล้านตัน จึงถูกยกเลิกไป
กังวลเร่งรัดไต่สวน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีถูกกล่าวหา ส่อทุจริต ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของป.ป.ช.จึงไม่ขอก้าวล่วง แต่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าไม่มีการทุจริต ตนทำทุกอย่างสุดความสามารถ และตลอดเวลาที่ดำเนินการได้รับฟังทุกความเห็น ส่วนที่ไม่ยกเลิกโครงการเพราะการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฯจะยกเลิกนโยบายโดยพลการไม่ได้ เพราะเป็นรูปแบบของคณะกรรมการ ส่วนที่สตง.ส่งข้อท้วงติงมายังรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากส่งมาหลังยุบสภาไปแล้ว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนกังวลการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม การเร่งรีบรวมรัด โดยป.ป.ช.มีมติให้คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นองค์คณะไต่สวน โดยไม่ตั้งคณะอนุกรรม การไต่สวนก่อน เป็นการข้ามขั้นตอน ส่อเจตนาเร่งรัดผิดปกติไม่เหมือนกรณีอื่น นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังมีมติชี้มูลความผิดตนในวันที่ 8 พ.ค. 57 ถัดจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเพียงวันเดียว น่าแปลกใจว่าเหตุใดยังให้ถอดถอนซ้ำคนที่ไม่มีตำแหน่งแล้วได้อีก
ขอความเป็นธรรม'สนช.'
น.ส.ยิ่งกลักษณ์กล่าวต่อว่า ตนเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ จึงอยากขอความเป็นธรรมจากสนช.ว่า ป.ป.ช.ดำเนินการไม่ปกติ ยินดีให้ตรวจสอบ แต่ขอให้เป็นกระบวนการที่เป็นธรรม ตามหลักนิติธรรม ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยทุจริต ประเทศจะเดินหน้าได้ต้องมีความยุติธรรม หวังว่าสนช.จะพิจารณาโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มใด ไม่อยากเห็นกระบวนการถอดถอนเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ยกเลิกไปแล้ว การถอดถอนต้องยุติไปด้วย หากดำเนินการโดยไม่มีหลักนิติธรรมการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรอง ดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
จากนั้นนายพรเพชร แจ้งต่อที่ประชุมว่า วันที่ 15 ม.ค. จะครบกำหนดที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องยื่นคำแถลงปิดคดี ซึ่งจะยื่นเป็นหนังสือหรือจะแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาก็ได้ นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งกรรมาธิการซักถาม 9 คน ประกอบด้วย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ.ดนัย มีชูเวท นายสมชาย แสวงการ พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายสุธรรม พันธุศักดิ์ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นายพรศักดิ์ เจียรณัย และพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต เพื่อเป็นตัวแทนซักถาม โดยสมาชิกยื่นญัตติคำถามได้ภายในวันที่ 13 ม.ค. ก่อนเวลา 12.00 น. พร้อมนัดประชุม สนช. ในวันที่ 16 ม.ค. เพื่อให้กมธ.ได้ซักถามคู่กรณี
'ปู'สบายใจได้แจงข้อเท็จจริง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวภายหลังแถลงชี้แจงว่า ส่วนตัวสบายใจที่ได้ชี้แจงข้อมูลทั้งหมดให้สมาชิกสนช.รับทราบ และได้ทำดีที่สุดแล้ว ส่วนการชี้แจงจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสมาชิกสนช. ตนได้ตอบครบทุกประเด็นที่ป.ป.ช. ชี้แจงไปแล้ว และเชื่อว่าประชาชนคงได้รับฟังข้อเท็จจริง ซึ่งส่วนตัวไม่เครียดกับเรื่องดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ แจงแก้ข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น ได้นั่งพักในห้องรับรองชั้น 2 อาคารรัฐสภา โดยมีอดีตสส.พรรคเพื่อไทย และผู้ที่เคารพนับถือเข้าพูดคุย ให้กำลังใจ อาทิ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตส.ส.กทม. นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรมช.คลัง จากนั้นได้ลงมาให้สัมภาษณ์และเดินทางกลับทันที โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอให้ออกทางประตู 1 ขณะที่ประชาชนมารอให้กำลังใจที่ประตู 3 ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจแนะนำ ทำให้ประชาชนไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่
ทีมทนายห่วงแรงกดดันสนช.
นายพิชิต ชื่นบาน อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย หัวหน้าทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชี้แจงข้อมูลครอบคลุมครบถ้วนในประเด็นโครงการรับจำนำข้าว ทั้งในข้อเท็จจริง และในข้อกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องขาดทุนและสร้างความเสียหายของอนุกรรมการปิดบัญชีที่ยังไม่สิ้นกระแสความ และป.ป.ช.ก็ยังไม่มีข้อยุติและตอบสังคมได้ อาทิ เรื่องการไม่บันทึกบัญชี ในเรื่องการคิดมูลค่าที่ต่างกัน และการคิดค่าเสื่อมที่ต่างกัน ตกลงข้อยุติ อีกทั้งข้าว 3 ล้านตันไม่หายไป แต่ป.ป.ช.ไม่ตัดตัวเลขความเสียหายในบัญชี ถามว่าป.ป.ช.รับผิดชอบต่ออดีตนายกฯอย่างไรเพราะข้าวก็ไม่ได้หายไปไหน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลตอนนี้มีเรื่องเดียวคือการสร้างความกดดันจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับอดีตนายกฯที่จะมีต่อ สนช. เท่านั้น โดยหลังจากนี้ทีมทนายความจะประชุมกันวันที่ 12 ม.ค. เพื่อวางแนวทางการต่อสู้คดีให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อไป
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากได้ฟังการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา แล้ว พูดได้เลยว่าทั้งคู่สอบผ่าน เมื่อดูจากการชี้แจงด้วยท่าทีมั่นใจ ตอบโต้ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ชัดเจน ครบถ้วนแล้ว สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด ขณะที่นายนิคมก็ชี้แจงชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ในฐานะประธานก็ทำตามหน้าที่โดยไม่ได้ไปร่วมแก้รัฐธรรมนูญด้วย เชื่อว่า สนช.มีความคิดมากพอ เมื่อได้รับฟังการชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหาแล้ว จะเข้าใจเลยว่า ป.ป.ช.มีเจตนาแอบแฝง ดังนั้นขอให้สนช.ใช้วิจารณญาณและให้ความเป็นธรรม และหากพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานต่างๆ แล้ว เชื่อว่า สนช.จะลงมติไม่ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคมและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา
'บิ๊กป้อม'ห่วงต้องแก้ปัญหาสนช.
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการถอดถอนอาจเกิดความรุนแรง ว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีความรุนแรง ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนต้องการให้เกิดปรองดอง และรอดูว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เวลานี้รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอยู่ดีกันดี ทำให้ประเทศเดินหน้าไปข้างหน้าได้ตามโรดแม็ป เรื่องสนช.ก็ควรให้ดำเนินการกันไป ไม่อยากให้มาเฮโลกันจนรัฐบาลทำงานไม่ได้ ต้องมาคอยแก้ไขปัญหา
เมื่อถามว่า ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรเมื่อยังมีกฎอัยการศึกอยู่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามา รัฐบาลและคสช.ไม่ได้ใช้กฎอัยการศึกทำอะไรเลย เพียงแต่ประกาศให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสงบ โดยไม่ต้องการให้คนที่คิดต่างออกมาแสดงอะไร ขอให้คิดไว้ในใจแต่ไม่ต้องแสดงออก
'บิ๊กป๊อก-บิ๊กโด่ง'ขอให้ยึดกม.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาของประเทศ เพราะเรามีเวลาไม่มาก งานในอนาคตจะเน้นการบูรณาการมากขึ้น สังคมต้องอยู่ร่วมกันด้วยกฎหมาย กฎเกณฑ์จึงจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ตนไม่เห็นว่าจะมีทางอื่นได้ ถ้าอยู่กันด้วยความชอบความนิยม นั้นให้อยู่ในใจได้ แต่ถ้าเอาความชอบมาทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ได้ เรื่องกฎอัยการศึกคงไว้เพียงเพื่อให้ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ไม่ให้เกิดเหตุความวุ่นวาย เกิดขึ้น
ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. กล่าวว่า ด้านการเมืองก็ดำเนินการตามระบบ ส่วนการพิจารณาและลงมติ ก็มีผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการ
เมื่อถามว่าจะเพิ่มความเข้มงวดจากการใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ตำรวจมีหน้าที่ดูแลโดยตรง กฎอัยการศึกจะใช้ต่อเมื่อจำเป็น หากไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ ถ้าทุกคนเข้าใจดีก็ไม่ใช้ อยากขอความร่วมมือทุกคนหากจะแสดงความคิดเห็นอย่าละเมิดกฎหมายและอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่ควรปฏิบัติ
'บิ๊กตู่'ลั่นมุ่งลดขัดแย้ง
เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่คสช. และรัฐบาลทำอยู่ขณะนี้ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งหรือสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นอีก พยายามให้หน่วยงานปกติซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนกลับมา วันนี้ประเทศ ไทยไม่ได้มีเฉพาะคู่ขัดแย้ง ผู้เห็นต่าง แต่ยังมีคนไทยอีกหลายล้านคนที่ต้องการความสงบสุข ให้มีการพัฒนาประเทศ
พล.อ.ประยุทธ กล่าวต่อว่า การทำงานของรัฐบาลและคสช. จึงมุ่งเน้นลดความขัดแย้ง และเดินหน้าประเทศไปพร้อมกัน กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้อำนวยความยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งต้องเริ่มจากการนำตนเอง จากที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะผิดหรือถูก เข้ามาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการและทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ใครที่เข้ามาย่อมได้รับความเป็นธรรมอย่างชัดเจน ถูกผิดก็ว่าไปตามหลักสากล ตามข้อกฎหมาย อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงนี้ก่อน ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้น ยังต่อสู้ในวิถีทางตามปกติได้ ไม่จำเป็นต้องปลุกระดมมวลชน ซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงมากนักเพราะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดร่วมด้วย ต้องมาเสียเวลา เสียเลือดเนื้อ ต้องทำผิดกฎหมายไปด้วย
ยังไม่สรุปข้อเสนอ'สนช.-สปช.'
"การชี้ผิดชี้ถูกโดย คสช.หรือใช้อำนาจพิเศษนั้น อาจดูง่าย หรือเร็ว ทันใจ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบในภายหน้าด้วยว่าเราจะอยู่กันอย่างไร แต่ถ้าไม่มีเครื่องมือพิเศษหรือ ไม่มี คสช.แล้ว อาจทำให้เราอยู่ร่วมกันยากในอนาคต" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้มี สนช. สปช. มาร่วมปฏิบัติงานด้วย แม้จะมองว่าไม่ทั่วถึงทุกกลุ่ม หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือวิธีการปกติ แต่คล้ายการมีส.ส. หรือส.ว. อยู่แล้ว เพียงแต่มีงานปฏิรูปเพิ่มเข้ามา ซึ่งต้องรอฟังมติสุดท้ายก่อน ในปัจจุบันยังไม่ใช่ข้อสรุป เป็นการเสนอข้อหารือแนวทางเท่านั้น ขณะนี้เราโต้แย้งกันมาก จึงต้องรอผลข้อสรุปมาก่อน อาจจะไม่เป็นไปตามนั้นทั้งหมดก็ได้ เพราะคสช. และครม. ยังไม่ได้พิจารณาเลย ต้องนำมาพิจารณาและสรุปอีกครั้ง อะไรที่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ได้รับความยอมรับจากสากล โดยเฉพาะการได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใส แก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และเกิดผลการปฏิรูปต่อไปในอนาคตอย่างเป็น รูปธรรม
ขอให้ประชาชนร่วมมือปฏิรูป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งเราต้องร่วมมือกัน เข้าใจนโยบาย เข้าใจวิธีการทำงานที่เป็นระบบ การบริหารของรัฐบาลและข้าราชการกำลังไปได้ด้วยดี ถ้าดูจากสรุปการทำงานในห้วง 3 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลหรือ 4 เดือนของ คสช. จะเห็นว่ามีการสรุปมาเป็นเล่มๆ หนาหลายหน้าแล้ว ก็ทุกวัน ทำด้วยการบูรณาการทั้งสิ้น มีทั้งกฎหมาย ระเบียบ วิธีการบริหารจัดการ การตรวจสอบต่างๆ ซึ่งบางอย่างผลออกมายังไม่เป็นรูปธรรม แต่วันหน้าจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม เพราะที่ทำเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม เป็นที่พึงพอใจของประชาชนในภาพรวม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตน รอง นายกฯ รัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วย ข้าราชการทุกกระทรวง พยายามจะทำเพื่อพ่อแม่พี่น้อง เราต้องมาช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ เกษตร กร อาชีพทุกอาชีพ ต้องรู้ว่าเราร่วมมือกันปฏิรูปประเทศซึ่งจะปฏิรูปทุกอย่าง ไม่ว่าอาชีพ รายได้ กฎหมายหรือวิธีปฏิบัติงาน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำข้างเดียว เป็นไปไม่ได้ที่เราจะแก้ไขได้ให้เข้มแข็งในระยะยาว เราควรพิจารณาว่าจะทำตัวอย่างไร จะเชื่อฟังกันอย่างไร อยากให้ทุกคนช่วยกันทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ภาคประชาสังคม สิทธิมนุษยชน สื่อ ช่วยกันสร้างบรรยากาศให้คนไทยมีความสุขบ้าง
วอนสื่อเลิกเสนอขัดแย้ง
"หลายอย่างในขณะนี้ ผมคิดว่ายังไม่พร้อม หลายอย่างยังมีความขัดแย้ง ยังไม่ได้ข้อยุติ ยังวางพื้นฐานไม่ได้ แต่ผมพยายามทำให้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ได้ติดตามความก้าวหน้าในการประชุมครม. ได้สั่งการทุกสัปดาห์ มีความเคลื่อนไหวในทุกด้าน ในสื่อที่เป็นกลางโดยเฉพาะด้านสื่อเศรษฐกิจ เห็นเขาสรุปมาดี มีความก้าวหน้าในหลายเรื่องและทำให้สังคมคลายความตื่นตระหนกไปบ้างหลายประเด็น ส่วนสื่อการเมือง ตนไม่สามารถห้ามได้ พวกนี้จะติดตามเรื่องการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความขัดแย้ง บางครั้งอ่านแล้วไม่สบายใจ ขอให้ลดลงไปบ้าง เป็นหน้าที่ของสมาคมสื่อต้องรับผิดชอบ กรณีเกิดความวุ่นวายหรือความขัดแย้ง หรือรุนแรงเกิดขึ้น ต้องไปว่ากันอีกครั้ง
"ขอให้ทุกคนช่วยกัน ผมไม่โทษใคร ทุกคนต้องมาช่วยกัน ถ้ารัฐ เอกชน ประชาชนร่วมมือกัน ก็ต้องมีเครื่องมือทำให้ทุกอย่างนั้นเดินไปในแนวทางเดียวกัน สร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักรู้อย่างมีสติ เราจะไม่ขัดแย้งกันอีก ขอให้ทุกคนนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องดีกว่า และประชาชนอยู่ในความสงบ อย่าให้ใครมาทำลายบ้าน ชุมชน ครอบครัวของเราได้อีกต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
'ตือ'ชี้ชูปฏิรูปแต่รธน.ถอยหลัง
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เชื่อว่าขณะนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ตกผลึกทางความคิดทั้งสปช. สนช. และคสช. ไม่เช่นนั้นการโยนหินถามทางคงไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยทั้ง 3 องค์กรหลักและรัฐบาลยังคง ฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นหากไม่ตรงเจตนารมณ์ของประชาชนหรือทำให้ประชาชน ผิดหวัง คงส่งผลกระทบในระยะยาวต่อบ้านเมือง สังคมและรัฐบาลเองด้วย ดังนั้น นายกฯคงตระหนักในเรื่องนี้ดีเพราะนายกฯเป็นคนฉลาด เป็นคนเก่ง สิ่งที่พูดคุยกันในกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ สปช. สนช. เป็นการโยนหินถามทาง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งและการมีนายกฯคนนอกนั้น เป็นการโยนหินถามทาง และวันนี้ต้องดูด้วยว่าอารยประเทศเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว จะย้อนกลับไปอย่างนั้นหรือ เพราะนายกฯและคสช.ชูธงเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อนำประเทศเดินสู่อนาคต การเหนี่ยวรั้งประเทศให้ถอยหลัง เชื่อว่าคสช. ซึ่งเป็นโต้โผตัวจริงคงไม่ยอม เราเห็นแล้วว่าไม่ว่าจะเขียนอย่างไร หากคสช.ไม่เห็นด้วย ก็จบ ตนเชื่อว่าคสช.ต้องการปฏิรูปและนำประเทศสู่อนาคตที่ดี หากคนเสนอต้องการเหนี่ยวรั้งให้บ้านเมืองถอยหลังทั้งหมดก็จบ ขอให้กำลังใจรัฐบาลทำงานเพราะรู้ว่าเข้ามาในภาวะไม่ปกติของประเทศ
ศาลยันตัดสินคดีม็อบเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายอธิป จิตต์สำเริง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายโชคชัย รุจินินนาท รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ร่วมแถลงสรุปสถิติคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาประจำปี 2557
โดยนายอธิปกล่าวว่า สถิติคดีของศาลอาญาในปี 2557 แบ่งเป็นคดียาเสพติด และคดีอาญาทั่วไป สำหรับคดียาเสพติดที่ค้างมาจากปีที่แล้ว 960 คดี เป็นคดีรับใหม่ 6,413 คดี พิพากษาคดีเสร็จสิ้น 6,586 คดี คงค้าง 787 คดี คดีความผิดคดียาเสพติดที่เป็นคดีฟอกเงิน 35 คดี คดีมาตรการปราบปรามผู้กระทำความผิด 259 คดี ซึ่งศาลพิพากษาประหารชีวิต 23 คดี และลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต 136 คดี คดีอาญาทั่วไป เป็นคดีค้างจากปีที่แล้ว 1,871 คดี เป็นคดีรับใหม่ 4,343 คดี พิพากษาคดีเสร็จสิ้น 4,654 คดี คงค้าง 1,560 คดี คดีอาญาที่ศาลพิพากษาประหารชีวิต 5 คดี และลดโทษเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต 9 คดี เข้าสู่การประนอมข้อพิพาท 774 คดี ประนอมข้อพิพาทได้ 444 คดี คดีเข้าสู่ระบบสมานฉันท์ 1,397 คดี และสมานฉันท์สำเร็จ 948 คดี
เมื่อถามถึงแนวทางพิจารณาคดีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายอธิปกล่าวว่า การพิจารณาคดีของทุกศาลจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ไม่แยกสีและไม่เป็นเครื่องมือของใคร ผิดก็ว่ากันไปตามผิด การพิจารณาขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และสีเสื้อไม่สามารถเปลี่ยนหลักฐานได้
นายโชคชัย กล่าวว่า การพิจารณาของศาลอาญาไม่ได้ล่าช้า กลุ่มพธม.มีหลายคดีและมีจำเลยกว่า 90 คน ซึ่งอัยการเริ่มทยอยฟ้องเข้ามา ซึ่งมีพยาน 1,000 กว่าปากที่ต้องกลั่นกรอง และคดีดังกล่าวมีอัตราโทษสูง ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ส่วนคดีนปช. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสืบพยานโจทก์แล้ว มีพยานบุคคลกว่า 100 ปาก โดยคดีชุมนุมทั้ง 2 เรื่อง มีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารจำนวนมากเป็นคันรถ จึงประชุมนอกรอบวางกรอบการสืบพยาน พยานอื่นที่ไม่จำเป็นอาจตัดออก ดังนั้นคดีจึงนำกระบวนการปกติมาใช้ไม่ได้ ต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายอัยการและทนายความ ส่วนคดีการเมืองอื่นๆ อย่างคดีของ กปปส. ยังต้องรอดูว่ามีฟ้องเข้ามาอย่างไร
มท.แจงทุจริตปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง
จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และป.ป.ช.ได้ตรวจสอบและพบความผิดปกติในการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ที่แพงเกินจริงในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งมีข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวข้องกว่า 100 คน ในจำนวนนี้มีผู้ว่าฯและอดีตผู้ว่าฯกว่า 20 คนนั้น
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรณีนี้สตง.เข้าไปตรวจสอบว่าในขณะนั้นเกิดภัยพิบัติจริงหรือไม่ จัดซื้อแพงเกินจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่กระทรวงมหาดไทย ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นขั้นตอนการตรวจสอบของ สตง. แต่ละหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเองก่อน อย่างไรก็ตามในส่วนของป.ป.ช. ขณะนี้ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดข้าราชการมหาดไทยแต่อย่างใด ต้องรอให้ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมาสอบสวนก่อน
รายงานข่าวระบุว่า ส่วนที่สตง.และป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตว่าพบความผิดปกติการจัดซื้อแพงเกินจริงถึงกว่า 30 จังหวัดทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เบื้องต้นทราบว่ามีเพียงแค่ 3 จังหวัดที่อยู่ในกระบวนการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย บึงกาฬ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่ยืนยันว่าดำเนินการจัดซื้อตามขั้นตอน ซึ่งต้องพิจารณากันอีกว่า การดำเนินการจัดซื้อดังกล่าวมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการสอบของแต่ละจังหวัด
'บิ๊กตู่'ขอเวลาปรับค่าโทร.มือถือ
เมื่อเวลา 20.15 น.วันที่ 9 ม.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า กรณีการเรียกร้องคิดอัตราค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีนั้น ตนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เรียนกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปแล้ว ได้หารือกับผู้ประกอบการแล้ว สรุปว่าผู้ให้บริการมือถือ ทั้ง 5 ค่าย (AIS, DTAC, TRUE, TOT และ CAT) วันนี้ทั้ง 5 ค่ายเห็นชอบร่วมกัน ยึดถือผลประโยชน์ผู้บริโภค เป็นการแก้ปัญหาระยะแรก เร่งด่วน โดยจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนตามที่มีความเห็นมาจากสปช.ด้วย ผู้ใช้บริการมือถือกว่า 100 ล้านหมายเลขทั่วประเทศ นั้น อยากให้ปรับการคิดค่าบริการเป็นวินาทีตามจริง แทนการปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นนาที
นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลจะเร่งดำเนินการระยะที่ 1 ให้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่จำเป็นต้องทำอย่างนี้ เพราะต้องแก้ไขระบบต่างๆ เพราะเซ็ตไว้หมดแล้วในช่วงที่ผ่านมา ถ้าจะทำใหม่ก็ต้องใช้เวลาเซ็ตเครื่องมืออีก และปรับแก้วิธีการเก็บเงินเก็บทองอีก ไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วพรุ่งนี้ได้ ต้องใช้เวลา ผู้ประกอบการก็จะเริ่มทำ จัดทำเป็นโปรโมชั่น เป็นทางเลือก เพราะที่ผ่านมาเท่าที่ติดตาม มีทางเลือกอยู่หลายทางด้วยกัน บางคนเลือกแบบนี้ แบบนั้น บางแบบถูกดี บางแบบดูได้หลากหลายวิธีการที่จะใช้ ขอให้เป็นเรื่องสมัครใจด้วย ขอให้ร่วมมือกันระหว่างรัฐและผู้ให้บริการ และผู้ใช้ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ถ้าเราต่างฝ่ายต่างมองในทางที่ไม่ดีต่อกัน ก็ไปกันไม่ได้ ทุกอย่างมีการลงทุน มีกฎหมายคุ้มครอง วันนี้ต้องใช้ความร่วมมือไปก่อน ต่อไปเห็นว่าจะต้องแก้ไขเป็นระบบให้ยั่งยืน สปช.มีการพูดคุยหารือเรื่องเหล่านี้ต่อไป
นายกฯกล่าวด้วยว่า ส่วนที่เป็นปัญหาของพี่น้องในภาพรวมนั้น เราไม่นิ่งเฉย ทุกเรื่องทำได้ทำทันที ในส่วนต่อไปจะทำให้เป็นระยะยาวขึ้น ค่าโทรศัพท์ การบริการข้อมูล การใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ จะต้องปรับเป็นวินาทีเช่นเดียวกัน เมื่อสักครู่คือการใช้ค่าบริการโทรศัพท์ ต่อไปต้องไปปรับอื่นๆ ด้วย ขอเวลาเล็กน้อยให้กับผู้ประกอบการด้วย