WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 09 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8808 ข่าวสดรายวัน


ตร.ตรึงม็อบเชียร์ คิวปูวันนี้ แจงสนช.-ถอดถอน 
นิคมแถลงโต้ยิบ สปช.จี้สอบปปช. ปมจ้างสภาทนาย ผงะทุจริตใหญ่! โยงบิ๊กสธ.-มท. ผู้ว่าฯโดนระนาว


เปิดคดี - นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา แถลงเปิดคดีต่อที่ประชุมสนช. กรณีถูกป.ป.ช.ร้องถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 โดยยืนยันทำตามข้อบังคับการประชุมทุกอย่าง ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ม.ค.

       'ปู'แถลงสู้คดีถอด ถอนวันนี้ แจงข้อหาละเลยทุจริตจำนำข้าว มั่นใจทำหน้าที่ไม่บกพร่อง 'บิ๊กป้อม' ขอร้องม็อบเชียร์อยู่บ้าน อย่ามาสภา บช.น.ตรึงกำลังเต็มที่ สนช.คาดลงมติถอดถอน 2 คดีวันที่ 22-23 ม.ค. 'นิคม' ยันยึดหลักกฎหมายแก้รธน. ด้าน"ขุนค้อน"เมินชี้แจง สนช.นัดเปิดซักถาม 15 ม.ค. เกือบ 30 คน สปช. จี้สอบป.ป.ช.จ้างสภาทนายความทำคดี 'บวรศักดิ์' เดินหน้ารธน.ฉบับปฏิรูปควบปรองดอง ตีกรอบกระบวนการปรองดองไม่เกิน 4 ปี สตง.ส่งเรื่องป.ป.ช. สอบทุจริตจัดซื้อปุ๋ย-ยาฆ่าแมลงแพงเกินจริง พบข้าราชการ"มท.-สธ." พัวพันนับร้อยคน มีทั้งผู้ว่าฯ-อดีตผู้ว่าฯ

สนช.นัด 21 ม.ค.เชือด 38 สว.

     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งว่าได้รับสำนวนชี้มูลความผิด 38 ส.ว.ตามข้อกล่าวหาว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มาของส.ว.โดยมิชอบ จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แล้ว จึงขอนัดประชุมในวันที่ 21 ม.ค. เพื่อให้ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาและขออนุญาตที่ประชุมเพิ่มเติมเอกสารพยานหลักฐาน และให้สมาชิก สนช.มารับสำเนารายงานและการไต่สวนของป.ป.ช.ได้ 

    ต่อมาเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร โดยพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า จำเป็นต้องปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องต่อสภาพการณ์ในปัจจุบัน และสมควรให้ตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มให้สมเกียรติ ก่อนที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 187 ต่อ 1 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ 15 คนเพื่อพิจารณาภายใน 7 วัน 

เปิดคดีถอด"นิคม-สมศักดิ์"

     ต่อมาเวลา 12.20 น. เข้าสู่วาระการพิจารณากระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 68 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 ในข้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.โดยมิชอบ โดยนายนิคมมาชี้แจงด้วยตัวเองและมีอดีตส.ว.ได้รับอนุญาตเข้าร่วมชี้แจงในฐานะพยาน 4 คนคือ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง นายเจริญ ภักดีวานิช นายประวัติ ทองสมบูรณ์ นายกฤช อาทิตย์แก้ว พล.ท.พงษ์เอก อภิรักษ์โยธิน ส่วนนายสมศักดิ์ไม่มาชี้แจงและไม่ได้ส่งตัวแทนมาแต่อย่างใด ขณะที่บรรยากาศโดยรอบรัฐสภาก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีมวลชนฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายต้านมาให้กำลังใจแต่อย่างใด 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนแถลงเปิดคดีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสนช. ได้เสนอญัตติให้พิจารณาสำนวนถอดถอนในคดีนี้และคดีต่อไปเป็นการประชุมลับ เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ยังไม่สงบ แต่ละฝ่ายยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ยังมีคลื่นใต้น้ำแม้จะดูเหมือนสงบก็ตาม เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ 

เสนอประชุมลับแต่ญัตติตก

     อย่างไรก็ตาม สมาชิกสนช.หลายรายไม่เห็นด้วย อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายสมชาย แสวงการ นายตวง อันทะไชย โดยอ้างว่าข้อประชุม 152 บังคับให้การประชุมถอดถอนต้องทำโดยเปิดเผย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีเคยประชุมลับ เพราะอาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ขณะที่นายพรเพชรได้ขอร้องให้พล.ต.อ.ชัชวาลย์ถอนญัตติประชุมลับเช่นกัน แต่พล.ต.อ.ชัชวาลย์ยืนยันไม่ถอนญัตติ อีกทั้งยังมีสมาชิกสนช.ร่วมสนับสนุนได้แก่นายธานี อ่อนละเอียด ในที่สุดที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้ประชุมลับด้วยคะแนน 107 ต่อ 70 เสียง และงดออกเสียง 19 เสียง หลังอภิปรายคัดค้านกว่า 1 

      จากนั้นจึงเข้าสู่การแถลงเปิดคดี เริ่มจากนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. แถลงว่า แม้นายสมศักดิ์และนายนิคมจะพ้นจากตำแหน่งแล้ว แต่การถอดถอนมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. จึงต้องป้องกันไม่ให้ผู้นั้นกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2557 จะไม่ระบุถึงการถอดถอนไว้โดยตรง แต่ในมาตรา 5 เปิดให้มีการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองได้ และมาตรา 11 ให้อำนาจสนช.เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยไว้ กระบวนการถอดถอนจึงต้องเดินตามหลักการเมืองการปกครองที่เคยมี 

ป.ป.ช.ชี้หลักไมล์แรกปฏิรูป

      "ข้อกังวลที่ว่ากระบวนการถอดถอนอาจมีผลให้กระทบต่อการปฏิรูปและการปรองดองของคสช. ผมมองว่าตรงกันข้าม เพราะกระบวนการถอดถอนนี้จะทำให้สังคมได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธา วางใจให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปด้วยดีและเรียบร้อย จากการถูกปกครองโดยผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมระดับสูงเหนือกว่าคนอื่น นี่จึงเป็นหลักไมล์แรกที่จะเริ่มต้นทำประเทศใสสะอาดปราศจากสิ่งที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ" นายวิชากล่าว 

      นายวิชา กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2556 เป็นจุดเริ่มต้นของการวุ่นวายทางการเมือง นำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคำวินิจฉัยที่สำคัญออกมา ซึ่งศาลหยิบยกการคุ้มครองเสียงข้างน้อยขึ้นมาอธิบายที่กลายเป็นรากฐานการตรวจสอบของป.ป.ช. ในสำนวนชี้มูลความผิดของนายนิคมคือ สั่งปิดการอภิปรายก่อนครบกำหนดเวลา และตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติกว่า 47 คน ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญปี2550 และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. 

"นิคม"ยันยึดหลักกฎหมาย

      ด้านายนิคมแถลงชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า หากฝ่ายนิติบัญญัติถูกลบหลู่ก็ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองห้ามฟ้องร้องการทำหน้าที่ก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีแล้ว ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.จะตกไปโดยปริยาย ส่วนประเด็นที่ตนถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด คือ กรณีที่รับญัตติปิดประชุม โดยที่สมาชิกหลายคนยังไม่ได้อภิปราย แต่ถ้าไปดูในเอกสารรายงานการประชุมจะเข้าใจว่า ทำไมตนจึงดำเนินการ ดังกล่าว และให้ดูว่าทำไมการพิจารณาเพียงมาตราเดียวได้ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงกว่าทั้งที่มีผู้อภิปราย 13 คนเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ยื่นแปรญัตติส่วนใหญ่ล้วนยื่นแบบผิดหลักการ จึงไม่สามารถให้อภิปรายได้ เพราะการยื่นญัตติเช่นนี้เป็นเทคนิคและลูกเล่นของคนเล่นการเมืองมานาน พยายามตีรวนในทุกเรื่อง เป็นความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายอย่างเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ 

     "สิ่งที่ผมกระทำได้ยึดหลักของกฎหมายทุกประการ จึงขอให้สนช.ใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผล ไม่ให้ใครมาย่ำยี อะไรเป็นจริงก็เป็นจริง อะไรที่ไม่เป็นจริงก็จะปรากฎกับผู้ที่กล่าวโทษผมไม่ช้าก็เร็ว แม้ว่าผมจะมาจากวุฒิสภา พวกท่านเป็นสนช. แต่เราอาชีพเดียวกันคือทำหน้าที่ออกกฎหมาย ดังนั้นเราต้องพิทักษ์สถาบันแห่งนี้ ถามว่าชีวิตพวกท่านจะมีความปลอดภัยในอนาคตหรือไม่ วันดีคืนดีท่านอาจจะมายืนแบบผมก็ได้" นายนิคมกล่าว 

คาดลงมติเร็ว 22 - 23 ม.ค.

     นายนิคม กล่าวว่า ตนพร้อมรับผลการลงมติที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร กระบวนการต่อจากนี้จะต้องมาตอบข้อซักถามของกรรมาธิการซักถาม ภายใน 7 วัน ซึ่งวันที่กรรมาธิการจะซักถามข้อเท็จจริง จะมาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง และอีก 7 วันจะแถลงปิดคดี จากนั้นอีก 3 วันจะเข้าสู่การลงมติ แต่ติดวันประชุมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงคาดว่าจะลงมติได้ในวันที่ 22-23 ม.ค. นี้ ซึ่งการลงมติเร็วก็ดี จะได้จบเรื่องที่รัฐสภาเสียที เพราะเคยบอกหลายครั้งแล้วว่าไม่ได้อยากมาทำงานการเมือง ที่มาทำงานหวังว่าอยากมีเพื่อนแต่ไม่ได้ต้องการให้ใครมาด่าทอ

       จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งกมธ. เพื่อทำหน้าที่รวบรวมประเด็นซักถามจากสนช.จำนวน 9 คน โดยกำหนดให้สมาชิกสนช.เสนอประเด็นซักถามได้ถึงวันที่ 12 ม.ค. ก่อนเวลา 12.00 น. ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ตัวแทนจากป.ป.ช.และนายนิคมยื่นคำแถลงปิดสำนวนต่อสนช.ภายในวันที่ 20 ม.ค. 

"สมศักดิ์"เมินแจงข้อกล่าวหา

     ต่อมาเวลา 15.15 น. เข้าสู่การแถลงเปิดสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ แต่เนื่องจาก นายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางมาหรือมอบหมายตัวแทนมาชี้แจง จึงถือว่าไม่ประสงค์ที่จะแถลงคัดค้านข้อกล่าวหา จึงให้นายวิชาแถลงเปิดคดีฝ่ายเดียวว่า นายสมศักดิ์มีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 ทั้งสิ้น 2 ส่วน คือ การนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาโดยแก้ไขหลักการเพิ่มเติมไปจากร่างฉบับเดิม แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่าเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถกระทำได้ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัด ต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และยังมีพฤติการณ์ใช้อำนาจไม่ชอบ โดยร่วมกับนายนิคม สลับกันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ใช้ดุลพินิจตัดสิทธิการทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างน้อย

     จากนั้น นายพรเพชรแจ้งต่อที่ประชุมว่า ให้ตั้งกมธ.เพื่อทำหน้าที่รวบรวมประเด็น ซักถามจากสนช. จำนวน 9 คน โดยใช้ชุดเดียวกันกับคดีนายนิคม สมาชิกที่สามารถยื่นญัตติประเด็นข้อซักถามได้ถึงวันที่ 12 ม.ค. พร้อมนัดประชุมสนช.เพื่อให้มีการซักถามทั้ง 2 คดีในวันที่ 15 ม.ค. เวลา 10.00 น. และกำหนดให้ตัวแทน ป.ป.ช.และนายสมศักดิ์ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อสนช.ภายในวันที่ 20 ม.ค. 

     สำหรับกมธ.ซักถามทั้ง 2 คดีดังกล่าวประกอบด้วย พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร นายทวีศักดิ์ สูทวาทิน นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร นายกิตติ วะสีนนท์ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง คุณ พรทิพย์ จาละ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ นายยุทธนา ทัพเจริญ 

"ปู"แถลงค้านคดีจำนำข้าว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมสนช.ในวันที่ 9 ม.ค. เวลา 10.00 น. จะพิจารณาวาระด่วนที่สำคัญคือ เรื่องการดำเนินการกระบวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กล่าวหามีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่า จะมาชี้แถลงเปิดคดีคัดค้านโต้แย้งสำนวน ของป.ป.ช.ด้วยตัวเอง ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้จัดเตรียมเอกสารประกอบคำแถลง รวม 139 หน้า (อ่านรายละเอียดหน้า3) 

      รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไปถึงรัฐสภาเวลา 09.00 น. พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ และฝ่ายกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลาชี้แจงต่อสนช.ประมาณ 1 ชั่วโมง

จับตาอดีตกลุ่ม 40 สว.ไล่บี้

      สำหรับเนื้อหาคำโต้แย้งนั้น จะไล่เรียงตั้งแต่การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวของทุกรัฐบาล เริ่มตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จากนั้นที่ประชุมสนช.จะตั้งกมธ. ซักถาม 9 คน คาดว่าประกอบด้วย พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ.ดนัย มีชูเวท นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด นางสุวรรณี สิริเวชพันธ์ พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ นางเสาวณี สุวรรณชีพ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช.อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. พร้อมทั้งกำหนดวันซักถามและวันแถลงปิดคดี 

     รายงานข่าวจากสนช. เปิดเผยว่า ตามข้อบังคับการประชุมกำหนดว่าหลังแถลงปิดคดีถอดถอนแล้ว จะต้องกำหนดวันลงมติไม่เกิน 3 วันหลังวันแถลง ซึ่งวันแถลงปิดคดีของนายนิคมและนายสมศักดิ์เป็นวันที่ 21 ม.ค. ถ้านับ 3 วันจะตรงกับวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเสาร์ จึงมีแนวโน้มจะกำหนดวันลงมติถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์วันที่ 22 ม.ค. และลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 23 ม.ค. 

"บิ๊กป้อม"วอนเชียร์อยู่ที่บ้าน

     เมื่อเวลา 08.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหมและรองหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสปลุกระดมประชาชนผ่านโซเชี่ยลมีเดียเพื่อมาให้กำลังใจน.ส. ยิ่งลักษณ์ ว่า ขอร้องว่าอย่ามาเลย จะมาทำไม เราเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้ามัวแต่ยกขบวนไปสนับสนุนก็ไม่ได้อะไร เพราะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร เรื่องนี้สนช.จะต้องดำเนินการตามกระบวนการและกฎหมาย ส่วนการให้กำลังใจให้ได้อยู่ที่บ้านหรือโทรศัพท์มาก็ได้ แต่ เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานว่าจะมีผู้มาให้ กำลังใจเท่าใด 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากที่ประชุมสนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คิดว่าไม่วุ่นวาย ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของสนช. ตนเป็นฝ่ายบริหารคงไปล่วงล้ำอำนาจไม่ได้ แต่ได้เตรียมป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เมื่อถามว่าหากถอดถอนจริง คสช. เอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "คสช.เอาอยู่ ผมทำทุกอย่างเต็มที่ตามกฎหมายและตามขั้นตอนอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความสงบและเกิดความปรองดอง เนื่องจากเป็นความตั้งใจของรัฐบาลและคสช."

มั่นใจไม่มีคลื่นใต้น้ำ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ได้บอกเขาแล้วว่าอย่ามาเลย เพราะเป็นแค่การสอบถาม ยังไม่ได้ตัดสิน จึงไม่ห่วง และมั่นใจว่าไม่มีเรื่องคลื่นใต้น้ำ และไม่จำเป็นต้องไปคุยกับแกนนำเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าทำอะไร เราคุยกันเข้าใจและนายกฯ พูดตลอดทุกสัปดาห์ว่าทำอะไรอยู่ ถ้าใครได้ฟัง น่าจะชัดเจนว่าเวลานี้รัฐบาลไม่ได้อยู่นิ่ง รัฐมนตรีทุกคนตั้งใจทำงานให้กับประชาชนและประเทศ เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ว่าจะมีบางคนต้องการลองของและออกมาเคลื่อนไหว พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีลองของ

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการติดตามผู้หลบคดีและเคลื่อนไหวอยู่ใน 8 ประเทศว่า เราดำเนินการให้ประเทศนั้นๆ รับทราบว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่เคลื่อนไหวการเมือง แต่เป็น ผู้หลบหนีคดี หากประเทศใดที่มีสนธิสัญญาร่วมกับไทย คงดูแลและประสานกลับมา ขณะที่นายกฯ คิดไปทำงานไปว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความเรียบร้อยขึ้น ก็จะทำทั้งนั้นและทำทุกเรื่องอยู่แล้ว 

บช.น.จัดกำลังเฝ้าระวัง

รายงานข่าวจากกองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 ม.ค. บน.ช.ได้จัดกำลังตำรวจ บก.อคฝ. 2 กองร้อย (300 คน) และตำรวจหญิง 1 หมู่ (15 คน) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ดูแลความปลอดภัยรอบรัฐสภา ในการข่าวด้านความมั่นคงของ บช.น.ยังไม่พบว่าจะมีผู้เข้ามาชุมนุมบริเวณรัฐสภา แต่อาจมีผู้มาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ คาดว่ามีจำนวนไม่มาก และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณสภาในวันที่ 9 ม.ค. ว่า มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากบช.น. เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งด้านการลง พื้นที่หาข่าว และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีข่าวว่าจะมีประชาชนมาให้ กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวนมาก

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร. กล่าวว่า อยากขอความร่วมมือผู้ที่จะเดินทางมา แค่มาให้กำลังใจเท่านั้น ไม่ควรแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์หรือก่อเหตุใดๆ เนื่องจากขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในช่วงบังคับใช้กฎอัยการศึก หากกระทำความรุนแรงจะเข้าข่ายผิดต่อกฎหมายได้ จากข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นในวัน ดังกล่าว

"อำนวย"ว้ากสนช.ดันทุรัง

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ สนช.สร้างความสุขให้กับประชาชนทั้งประเทศ ให้เกิดความปรองดอง สมานฉันท์รับปีใหม่ ให้อภัยซึ่งกันและกัน ความจริงแล้วพวกเขารู้ดีว่ากรณีนายสมศักดิ์และนายนิคมไม่ผิด ไม่สมควรจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ด้วยซ้ำ เพราะเป็นเรื่องเก่าและรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกแล้ว ยังดันทุรังเอาเข้า สนช.อีก จึงอยากให้ สนช.ทบทวน

"ผมเป็นหนึ่งใน 302 ส.ส.ที่ลงชื่อแก้ไขที่มา ส.ว. แต่ไม่กลัว และยืนยันว่าจะไม่ไปชี้แจงแม้แต่คำเดียวเพราะไม่ยอมรับ และผมมีเอกสิทธิ์ตามมาตรา 130 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และตอนนี้ไม่ได้เป็นส.ส.แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปชี้แจง" นายอำนวย กล่าว

"บวรศักดิ์"ลุยรธน.ฉบับปฏิรูป

เมื่อเวลา 12.15 น. ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ร่วมแถลงข่าวการสร้างความปรองดองควบคู่กับการปฏิรูป ภายหลังการประชุมนัดแรกของคณะกรรม การศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ซึ่งมีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 นางนิชา ธุวธรรม ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า และนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุม ปี 2553 ซึ่งเป็นคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกมาร่วมประชุมด้วย

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ความขัดแย้งในประเทศมีมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องแก้ปัญหาใหญ่ 3 ประการคือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องพยายามสร้างความปรองดอง 2.การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และ3.การแก้ปัญหาทางการเมือง ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำขึ้นต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปปรองดอง เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาเหมือนหลังการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทันที เพื่อไม่ให้สังคมไทยถอยหลัง ซึ่งเราต้องแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าให้เกิดปรองดองเร็วที่สุด 

ทำควบคู่ปรองดองใน 4 ปี

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญ จะไม่เขียนบังคับให้คนไปปรองดองกัน กฎหมายทำได้เพียงการสร้างองค์กรที่เป็น เจ้าภาพ และกระบวนการที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความปรองดอง เริ่มจากการมีสำนึก รับผิด การเยียวยา การไม่กระทำซ้ำและการให้อภัย ซึ่งไม่ใช่การนิรโทษกรรมทันที แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยกระบวนการปรองดองไม่ควรดำเนินการเกิน 4 ปี เมื่อถามว่าจะนำผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาใช้ด้วยหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า คอป.ควรอยู่ต่อ เพื่อทำให้สังคมมีส่วนร่วมในการปรองดองและหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งส่วนนี้ คอป.ยังไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นจะมีการเขียนในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ คอป.เดิม

ด้านนายเอนกกล่าวว่า เรามีความฝันจะสมานใจ สมานรู้และสมานฉันท์ และไม่ได้มีแต่เรื่องนิรโทษกรรม แต่จะหาข้อเท็จจริง มีกระบวนการให้คนรู้ผิดรู้ถูก และการนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมคดีทุจริต คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคดีที่มีการสั่งการทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และไม่ปล่อยให้การปรองดองถูกลอยแพ ถ้าจำเป็นอาจต้องเจรจากับพรรคหรือกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่เรื่องสำคัญที่สุดซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าคือการเยียวยาทุกด้าน ถ้าพูดถึงในแง่รัฐธรรมนูญ เราจะต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายมาร่วมกัน เราต้องกล้าคิดถึงรัฐบาลผสม ถ้าไม่คิดอะไรเลย มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ในส่วนนี้เป็นเรื่องรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง

เดินหน้ายกร่างรายมาตรา

นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เปิดเผยว่า นายบวรศักดิ์ นัดประชุมนัดพิเศษในวันที่ 9 ม.ค. เวลา 15.00 น. เพื่อหารือถึงวิธีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนที่ยกร่างเป็นรายมาตราเสร็จเบื้องต้น ให้กมธ.ยกร่างฯศึกษา พร้อมจัดทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร

ส่วนพล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเด็นการจัดทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หลังจาก คณะอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน ได้เขียนเป็นรายมาตราเสร็จแล้วบางส่วน เบื้องต้น กมธ.ยกร่างฯได้วางแนวทางคือให้รับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไปศึกษาและพิจารณาเป็นการส่วนตัวในวันที่ 10-11 ม.ค. หากพบถ้อยคำหรือบทบัญญัติใดที่ต้องการแก้ไข ให้เขียนถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน จากนั้นนำเข้าที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯช่วงวันที่ 12-16 ม.ค.นี้

กสม.ชงเลิกกฎอัยการศึก

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจรัฐมากกว่ากฎหมายปกติ 

พร้อมเสนอให้ครม.พิจารณาประกาศยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ และพิจารณาประกาศใช้ใหม่เฉพาะบางพื้นที่ที่จำเป็น และประกาศยกเลิกทันทีที่สิ้นสุดความจำเป็น ให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและความรุนแรงของสงครามหรือการจลาจล รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยวาระดังกล่าว ครม.เพียงแต่รับทราบแต่ไม่มีการมอบหมายให้ดำเนินการใดๆ รวมทั้งไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด 

ป.ป.ช.คุ้ยทุจริตซื้อปุ๋ย

รายงานข่าวจากป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการพบความผิดปกติในการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ที่แพงเกินจริงในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องที่ส่งมาโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบ เนื่องจากสตง.ตรวจสอบพบว่า ในการดำเนินโครงการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศมีความผิดปกติ เกิดการจัดซื้อแพงกว่าราคาปกติสูงถึง 3 เท่าตัว โดยสตง.ได้ทยอยส่งเรื่องที่พบความผิดปกติมาให้ป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้รวบรวมได้ประมาณ 20-30 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ คณะทำงานของป.ป.ช.ได้แสวงหาข้อเท็จจริงมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้อยู่ใน ขั้นเตรียมสรุปข้อเท็จจริงเพื่อรายงานต่อที่ ประชุมป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการตรวจสอบการทุจริต พบว่ามีข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่า 100 รายเกี่ยวข้อง และหากมีการทุจริตจริงจะถือเป็นการสอบทุจริตข้าราชการครั้งใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้มีข้าราชการระดับ 8 9 และ 10 จำนวนมาก และเป็นผู้ว่าฯ อดีต ผู้ว่าฯ ถึงกว่า 20 คน 

"ชวรัตน์"โต้เรื่องไม่มีมูล

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวที่มีการอ้างว่าการจัดซื้อดังกล่าวเกิดขึ้นสมัยที่ตนเป็นรมว.มหาดไทยว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีมูลอะไรเลย น่าจะเป็นข่าวโคมลอยมากกว่า ซึ่งป.ป.ช.ไม่เคยเรียกตนเข้าไปชี้แจง และหากมีการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชจริงคงไม่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น คงให้ความกระจ่างไม่ได้ เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่ากระทรวงมหาด ไทยไม่เคยมีการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชใช่หรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า "เท่าที่ผม ทำหน้าที่อยู่ไม่เคยมีอะไรผ่านผมเลย ถ้ามีป.ป.ช.ต้องเรียกผมไปสอบถามแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเรียกไปสอบถาม" เมื่อถามว่ามีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า กังวลอย่างเดียวว่าเป็นข่าวโคมลอย อย่างอื่นไม่มีอะไรกังวล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!