WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เริ่มถอด'2 อดีตปธ.'วันนี้ 'ปู'สู้ทุกปม ยื่น 147 หน้าโต้จำนำข้าว

      นิคมมั่นใจเคลียร์ข้อหา บิ๊กปุ้มชี้เลิกรธน.50แล้ว เชื่อมติสนช.ไม่ถึง3ใน5 กกต.ยุติคดี"ยิ่งลักษณ์'20 มค.ฟันชดใช้ล้ม 2 กพ.

     อนุ กมธ.ฯชี้วงรับฟังที่สุพรรณฯ "เติ้ง"หมดสิทธิแสดงความเห็น พท.เตือนอย่าทำเรื่องถอดถอนให้เป็นเรื่องการเมือง จี้ สนช.อย่าเล่นตามบท หวั่นล่มเรือแป๊ะเหมือนตุลา 16 "วิษณุ"ยันปมนายกฯคนนอกต้องให้ข้อมูลมากกว่านี้

@ "บิ๊กตู่"สั่ง3ด.ปฏิรูปเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ติดตามการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีว่า ที่ผ่านมา สปช.มีการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบทุกสัปดาห์ นายกฯเห็นว่าการทำงานของ สปช.ต้องมีความคืบหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่า สปช.ไม่มีความคืบหน้าในการทำงาน เพราะที่ผ่านมาต้องทำข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย แต่วันนี้ สปช.ไม่มีเวลาเสนออะไรต่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อไปต้องเดินหน้าปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน นายกฯอยากให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างน้อยใน 3 เดือนแรก มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ต้องมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมามากขึ้น ดังนั้นจึงมอบหมายให้ไปประสานกับ สปช. และจากนั้นจะขอพบกับ กมธ.ทุกคณะ เพื่อพูดคุยถึงความต้องการของรัฐบาลและข้อเสนอของ สปช. คาดว่าสัปดาห์หน้าจะพูดคุยกัน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในเนื้อหาการปฏิรูป

@ ย้ำรบ.ไม่มีธงร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุกล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณายกร่างเป็นรายมาตรา รวมถึงความเห็นของรัฐบาลที่มีต่อการยกร่างฯว่าต้องมีอยู่แล้ว เมื่อ กมธ.ยกร่างฯ ร่างเสร็จในเดือนเมษายนจะต้องส่งไปให้แม่น้ำแต่ละสาย ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สปช. ฯลฯ รวมทั้งประชาชน เพื่อให้ความเห็น จากนั้นใครอยากจะแก้อะไรก็บอกกลับไปที่ กมธ.ยกร่างฯ แต่จะเอาตามหรือไม่แก้ไขก็ได้ ถ้าหลายส่วนขอแก้ไขในมาตราเดียว โดยที่แต่ละฝ่ายมีความเห็นไปคนละทิศทาง กมธ.ยกร่างฯอาจเอาใจทั้งหมดทุกคนไม่ได้สุดท้ายจะไม่เอาใจความเห็นของใครและยืนตามแบบเดิมของเขาก็ได้ ในส่วนของรัฐบาลต้องมีข้อเสนออยู่แล้ว แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีธง ถ้ามีคงไม่มาแนวทางนี้ เลือกใช้วิธีอื่นไปนานแล้ว ไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินทอง เสียความรู้สึกทำไม

@ ชี้"นายกฯคนนอก"ต้องแจงเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะออกมานี้จะถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้ยังไม่อยากคิดอะไรทั้งนั้น เอาไว้ให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน เป็นธรรมดาของช่วงที่เริ่มต้นแล้วค่อยๆ ตะล่อมกันไป กว่าจะมาถึงวันนี้ให้ย้อนกลับไปเดือนที่แล้วหรือตอนตั้ง กมธ.ยกร่างฯใหม่ๆ จะเห็นว่าตอนนี้มีเรื่องที่ตกผลึกและพัฒนาขึ้นมาก แต่เมื่อเกิดประเด็นใหม่ขึ้นมาก็ชุลมุนขึ้นอีก พอทำไปสักระยะก็จะตกผลึก

เมื่อถามว่า มองว่าข้อเสนอในแต่ละเรื่องของ กมธ.ถือว่ายังสะเปะสะปะอยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้อาจมีลักษณะอย่างนั้นเพราะคน 36 คน ก็มี 36 ความคิด จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หากไปเป็น กมธ.คงจะเป็นเหมือนกัน เพราะกว่าจะจับปูใส่กระด้งร่อนสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหลือเพียงสิ่งที่ต้องการคงต้องใช้เวลาสักระยะ 

เมื่อถามถึงความชัดเจนประเด็นนายกรัฐมนตรีคนนอก นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วคำตอบคืออะไรขอให้ดู และฟังคำชี้แจงต่อไป ขณะนี้เขาชี้แจงแล้ว แต่บางคนเห็นว่ายังฟังไม่ขึ้น หากจะยืนยันความคิดเดิม ต้องชี้แจงให้คนเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นให้มากขึ้นกว่านี้ เว้นแต่จะเปลี่ยนความคิดก็แล้วไป เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง มีระบบพรรคการเมือง แต่บางฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งยังไม่พอใจ นายวิษณุกล่าวว่า ปล่อยไปสักพักแล้วมาดูกันว่าคำตอบคืออะไร 

@ มั่นใจสนช.ถกปมถอดไม่วุ่น

นายวิษณุกล่าวถึงการประชุม สนช. วาระการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากปมประเด็นปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีกครั้งหรือไม่ว่า ไม่ทราบ เมื่อถามว่า สนช.ชุดนี้จะพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ ทำให้ถูกมองว่าแปลกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ สนช.พิจารณาเอง หากเขาแน่ใจว่ามีอำนาจก็เลยข้อกฎหมายไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าหากมีอำนาจแล้วจะถอดถอนหรือไม่ การพิจารณาครั้งนี้คนที่คุมกติกาคือประธาน สนช.

เมื่อถามว่าประธานสภาและ สนช.บางคน อาจไม่แน่ใจว่ามีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวย้อนว่า ประธาน สนช.คงแน่ใจแล้วจึงรับเรื่องและกำหนดนัดวันพิจารณาออกมา คนอื่นที่ไม่เชื่อหรือไม่แน่ใจ ก็ไปหาวิธีร้องเรียนหรือทำอย่างไรให้ได้คำตอบขึ้นมา ส่วนกรณีหากการถอดถอนลามไปถึงอดีต ส.ว. เกรงว่าบุคคลที่เป็นปัญญาชนจะหมดไปหรือไม่นั้น ขณะนี้มีบุคคลถูกพิจารณาแค่นี้ ยังไม่มีความผิดรวมไปถึงคนอื่น ไม่น่าเป็นห่วง สุดท้ายจะมีคำตอบชัดเจน และมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่ส่งผลทำให้สังคมกลับมาวุ่นวายอีก

@ "บิ๊กป๊อก"ชี้ไม่พบมวลชนเคลื่อน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสความเคลื่อนไหวของมวลชนในวันที่ 8-9 มกราคม ที่ประชุม สนช.จะมีการพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า คิดว่าเมื่อมาถึงจุดนี้สังคมคงต้องยึดหลักกฎหมาย เพราะไม่มีทางใดจะไปกันแล้ว ถ้าทุกคนยึดอยู่บนหลักกฎหมาย ลืมเรื่องความพึงพอใจของตนเอง ทุกคนก็จะเกิดการยอมรับ และสังคมก็จะไปได้ แต่ถ้าเอาความต้องการหรือความพึงพอใจของตนเองมาเป็นที่ตั้งก็คงไม่ได้ ส่วนความเคลื่อนไหวของมวลชน เท่าที่ทราบยังไม่มี คิดว่าประชาชนเข้าใจ ตอนนี้ประเทศชาติเสียโอกาสไปเยอะ ทั้งด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ ถ้ามีความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น จะเสียโอกาสไปอีกมาก

เมื่อถามว่าจะขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมคนจะเข้ามาเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ทุกจังหวัดเข้าใจตรงกันแล้วว่าต้องช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะประเทศจะพัฒนาไปได้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดเองคงจะเข้าใจ ทุกคนเห็นต่างกันได้ แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่เอาตามใจของตัวเอง เรื่องนี้จะไม่ทำให้เป็นชนวนความรุนแรง เพราะคนไทยเรียนรู้มาก ถ้าให้ประเมินว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้ดีว่าความขัดแย้งที่มีอยู่ไม่เกิดประโยชน์กับใคร

@ รบ.ไม่ห้ามเสื้อแดงให้กำลังใจปู

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวกลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการรวมตัวให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันเดินทางเข้าแถลงคัดค้านการถอดถอน ในวันที่ 9 มกราคมว่า การไปให้กำลังใจใครนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลทำได้ ไม่ได้ห้ามอยู่แล้ว ถ้ากลุ่มคนเสื้อแดงจะไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไปเป็นเรื่องของเขา แต่จะไปทำอะไรในลักษณะขัดต่อกฎหมายในลักษณะการเคลื่อนไหวคงไม่ได้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ผ่านมา ไม่ได้บังคับใช้ในทุกกรณี แต่ดูเจตนามากกว่า ที่ผ่านมาแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ ได้ หากมีข้อมูลว่าจะเกิดเหตุร้าย แต่กรณีนี้เทียบเคียงได้กับการไปร่วมงานศพที่ผ่านมา แต่จะไปปราศรัยนั้นคงไม่ถูกต้อง เชื่อว่าทุกฝ่ายมีความเข้าใจในสถานการณ์ดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนย่อมรู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้กังวลในเรื่องนี้แต่อย่างใด

@ เผยรมต.ร่วมแจงถอดถอน"ปู"

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงกรณีทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้อดีตรัฐมนตรีเข้าร่วมชี้แจงในการประชุมแถลงเปิดสำนวนถอดถอน วันที่ 9 มกราคมว่า ต้องดูว่าทั้ง 8 คนเข้ามาทำหน้าที่อะไร ถ้ามาให้กำลังใจก็ไม่น่าเป็นปัญหา แต่ถ้าจะมาร่วมแถลงก็ต้องอยู่ที่ประธานในที่ประชุมจะพิจารณาว่า ทั้ง 8 คนมาในฐานะอะไร ถ้ามาในฐานะพยานก็คงไม่ได้ เพราะ สนช.ได้มีมติว่าไม่อนุญาตให้ผู้ถูกร้องเพิ่มพยานหลักฐานไปแล้ว การร่วมชี้แจงต้องอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวกับสำนวน ป.ป.ช.เท่านั้น ในวันประชุม ตนจะควบคุมให้ผู้ร่วมแถลงพูดเฉพาะประเด็นในสำนวนเท่านั้น ห้ามนอกประเด็น มิเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่ ส่วนข้อร้องขอให้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือช่อง 11 นั้น มองว่าที่ผ่านมาการพิจารณาวาระถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่ได้มีการถ่ายทอดทางช่อง 11 แต่อย่างใด กระบวนการพิจารณาของ สนช.ทำอย่างเปิดเผย มีการถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านสถานีวิทยุกระจายและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาอยู่แล้ว กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จภายในเดือนมกราคม

@ "ทวีศักดิ์"รอเปิดคดีก่อนส่งคำถาม

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. กล่าวว่า ได้รับการทาบทามจาก กมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช. ให้ทำหน้าที่กรรมาธิการซักถามในคดีถอดถอนของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภามีสมาชิก สนช. ที่เป็น กมธ.ทั้งหมด 9 คน จะต้องรอที่ประชุมใหญ่ สนช.รับทราบรายงานการแต่งตั้งในวันที่ 8 มกราคมนี้ก่อน ถึงจะพูดคุยกันถึงแนวทางหรือประเด็นข้อซักถาม ส่วนรูปแบบข้อซักถามนั้นต้องรอให้แถลงเปิดคดีก่อนถึงจะกำหนดประเด็นได้ เบื้องต้นต้องยึดตามเอกสารสำนวนเดิม และต้องให้นายนิคมและนายสมศักดิ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเองด้วย

@ "นิคม"มั่นใจหลักฐานสู้ถอดถอน

นายนิคม ไวยรัชพานิช กล่าวว่า วันที่ 8 มกราคม จะเดินทางมาชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ด้วยตนเอง พร้อมด้วยนายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร และนายเจริญ จรรย์โกมล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 มาร่วมชี้แจงด้วย จะนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พร้อมทั้งพยานหลักฐานสำนวนเดียวกับที่ ป.ป.ช.เคยพิจารณาแล้ว ในส่วนของตน ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 จะนำหลักฐานที่มี อาทิ บันทึกการประชุม และรายงานของกรรมาธิการในการแปรญัตติว่ามีเจตนาอย่างไรชี้แจงให้สมาชิก สนช.ประกอบการพิจารณา 

"เหตุผลสำคัญอีกประการที่ผมเดินทางไปชี้แจง สนช.ด้วยตัวเอง เพื่อรักษาบรรทัดฐานของสถาบันนิติบัญญัติ ว่าการพิจารณาของสมาชิกทุกคนมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง เป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ หากองค์กรอื่นก้าวล่วงต่อไปสมาชิกจะทำอะไรไม่ได้เลย" นายนิคมกล่าว และว่า มั่นใจ ไม่มีความกังวล เพราะสิ่งที่เตรียมนำไปชี้แจงต่อ สนช.ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หวังว่าสมาชิก สนช.จะใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ โดยใช้ดุลพินิจที่ถูกต้อง

@ เผยเอกสารปูแจงหนา147หน้า

รายงานข่าวแจ้งว่า เอกสารที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมส่งให้ สนช.ใช้ประกอบการพิจารณาในคำแถลงคัดค้านการถอดถอนนั้นมีความหนา 147 หน้า โดยคำชี้แจงได้เรียงลำดับความเป็นมาของโครงการรับจำนำข้าว โดยอธิบายวิธีคิดของนโยบายว่าทำไมต้องรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท และชี้แจงตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องการบิดเบือนกลไกตลาด การปล่อยให้มีการทุจริต คุณภาพข้าว ข้าวหาย การระบายข้าวแบบจีทูจี และยืนยันว่านโยบายดังกล่าวไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ไม่เสียวินัยการคลัง ไม่ขาดทุน นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่ากระบวนการไต่สวนในคดีรับจำนำข้าวไม่เป็นธรรม เป็นต้น ทั้งนี้เอกสารดังกล่าวจะเป็นแนวทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 9 มกราคม วันเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมยับยั้งนโยบายจำนำข้าว ปล่อยให้มีการทุจริต และประเทศชาติเสียหาย

@ "บิ๊กปุ้ม"เชื่อถอด"ปู-อดีต2ปธ."ยาก

พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สนช. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุมถอดถอนในวันที่ 8-9 มกราคมนี้ว่า ส่วนตัวคิดว่าการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และคดีถอดถอน น.ส.

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงเป็นไปได้ยากจะได้มติ 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง ในการถอดถอน เนื่องจาก สนช.หลายคนเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนคดีความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จึงเห็นว่าไม่น่าจะเข้าข่ายถอดถอนได้ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การสร้างความปรองดอง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยกโทษความผิดให้กับทุกคน ต้องแยกแยะให้ชัดเจน ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ สนช.เดินหน้าเรื่องการถอดถอนหรือไม่นั้น คิดว่าไม่ใช่การส่งสัญญาณอะไร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช.ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร

@ คาดเสียงไม่ถึงเหตุเลิกรธน.50 

รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า สำหรับการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมศักดิ์ และนายนิคมนั้น เมื่อประเมินจากจำนวนเสียงที่สมาชิก สนช.เคยลงมติรับสำนวนถอดถอนอดีต 2 ประธานไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเพียง 87 ต่อ 75 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จึงเชื่อว่าเสียงจากสมาชิก สนช.ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการถอดถอน ต้องใช้ 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง ทั้ง 2 สำนวน โดยสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ที่อยู่ในสายทหารและข้าราชการ ต่างมองว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่สามารถลงมติถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมได้ ขณะที่สำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สนช.ส่วนใหญ่มองว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ยังไม่มีความชัดเจน เพราะ ป.ป.ช.เองยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า บุคคลใดทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวบ้าง สำนักงานอัยการสูงสุดก็ยังไม่ส่งสำนวนฟ้องต่อศาลอาญาและยังไม่ชัดเจนว่าที่สุดแล้วจะส่งฟ้องหรือไม่ ทั้งนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกรณีถอดถอนว่าให้เป็นเรื่องตามกฎหมาย ทำให้ สนช.กลุ่มอดีต 40 ส.ว.และนักวิชาการบางส่วนมองว่า คสช.ไม่ได้ส่งสัญญาณมาว่าต้องถอดถอนหรือไม่ จึงยังมีความพยายามจะเดินสายล็อบบี้ให้ สนช.สายทหารส่วนใหญ่กลับมาเห็นด้วยกับพวกตน เพื่อลงมติถอดถอนในทุกสำนวน หลังจากเคยทำเสร็จมาแล้ว จากการพยายยามอภิปรายโน้มน้าวสมาชิกสายทหารในการประชุมลับเพื่อให้ลงมติรับสำนวนถอดถอนไว้พิจารณาก่อนหน้านี้

@ "วรชัย"เผยนปช.ไม่เคลื่อนไหว 

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีที่ สนช.นัดประชุมแถลงเปิดคดีถอดถอนวันที่ 8-9 มกราคมว่า ขอยืนยันว่า นปช.ไม่มีการจัดตั้งมวลชนคนเสื้อแดง หรือรวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนไหวไปให้กำลังใจนายสมศักดิ์ นายนิคม หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่รัฐสภาอย่างแน่นอน แต่หากจะมีใครไปให้กำลังใจเป็นการส่วนตัวก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เชื่อว่า นปช.จะไม่มีการรวมตัวกันเพื่อไปให้กำลังใจอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ คสช.ยังประกาศใช้กฎอัยการศึก พวกเราเป็นมนุษย์ ฟังรู้เรื่อง ไม่จำเป็นที่ นปช.จะต้องทำการใดๆ ขัดกฎหมาย หากมีใครใส่เสื้อแดงไปรวมตัวกันที่รัฐสภา เพื่อสร้างสถานการณ์จนเกิดความวุ่นวาย ขอยืนยันว่าไม่ใช่ นปช.อย่างแน่นอน เป็นพวกแดงปลอม แดงป่วน หวังใส่ร้ายป้ายสีพวกเรา 

@ พท.หวั่นเรือแป๊ะล่มเหมือนปี16 

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตามที่ฝ่ายทหารกังวลว่าจะมีม็อบมากดดันขณะพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าว เกี่ยวพันไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ดูว่าจะทำตามคำพูดหรือไม่ เพราะก่อนหน้าบอกจะทำประเทศให้เกิดความสมานฉันท์ ปรองดอง รวมทั้งตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว แล้วจะมีการถอดถอนได้อย่างไร จะมาอ้างกฎหมายลูกยังอยู่ ดำเนินการได้ กฎหมายลูกจะเหนือกว่ากฎหมายแม่ได้อย่างไร อย่าทำเรื่องถอดถอนให้เป็นเรื่องการเมือง ถ้าทหารจะปรองดองก็ต้องทำตามกฎหมาย ฝากไปถึง สนช.กรุณาทำเป็นตัวอย่าง อย่าไปเล่นตามบทถอดถอน จะถือเป็นการกลั่นแกล้ง แก้แค้นไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในการเมืองอีก

"ปฏิกิริยามวลชนกลัวว่าถ้าทำไม่ถูกต้อง กลัวว่าจะมีการล่มเรือแป๊ะ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ จะเกิดในอนาคต เป็นความอยุติธรรม เราบอกชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ โครงการรับจำนำข้าว 

น.ส.ยิ่งลักษณ์มาทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ก่อนหน้าไม่มีใครช่วยจริง มีแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาช่วยจริงจัง กลัวว่าถ้าอยุติธรรมจะมีคนลุกขึ้นมาล่มเรือแป๊ะ เหมือนเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ถ้าควบคุม สนช.ไม่ดี ให้ทำตามกฎหมาย คงไม่มีใครประท้วงช่วงพิจารณา ที่พูดไม่ได้ข่มขู่หรือปลุกระดม แต่หลังที่ทำนั่นแหละ อย่าไปดูถูกประชาชน ทุกวันนี้เขาดูไลน์ ดูเฟซบุ๊ก ดูข่าวอะไรเยอะไปหมด ทหารต้องอยู่ในร่องในรอย เคยพูดอะไรไว้ก็ทำตามนั้น ให้ความยุติธรรม ถ้าไม่มีความยุติธรรมบ้านเมืองก็อยู่ไม่ได้" นพ.เชิดชัยกล่าว

@ "สมชัย"เหน็บสปช.ยื่นดาบให้โจร

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯที่สรุปให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งว่า ถ้าอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ แต่จะเหมาะสมหรือไม่ การจัดการเลือกตั้งไม่ใช่แค่ทำให้สำเร็จ แต่ต้องทำให้ดี แนวคิดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาจากคน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มร้อนวิชา อยากลองของใหม่ เห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่มีปัญหา การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องทดลอง กลุ่มสองคือกลุ่มบ้าอำนาจ เป็นพวกนักการเมืองมองว่าหลังการเลือกตั้งถ้าเข้าไปดูมหาดไทยและกระทรวงศึกษาฯก็จะคุมการเลือกตั้งได้ และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่มีอำนาจในปัจจุบัน คิดใช้อำนาจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ได้มองระยะยาว 

"จริงอยู่ว่าคนของกระทรวงมหาดไทยและศึกษาฯเข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง กกต.จะกลายเป็นเพียงผู้กำกับดูแลเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนนิทานจันทโครพ สปช.ท้ายสุดจะเหมือนนางโมรายื่นดาบให้กับโจร"

นายสมชัยกล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องค่าเสียหายจำนวน 3,000 ล้านบาท กับบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ว่า วันที่ 20 มกราคม จะชัดเจนเพราะคณะทำงานของสำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต.จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม กกต.

@ กกต.ไม่รับคำร้องเอาผิด"ปู"

นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.มีมติสั่งไม่รับคำร้องคัดค้านของนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรค ปชป.ขอให้เอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาศัยอำนาจทางการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกประกาศจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มฐานเสียงของตัวเอง และกรณีที่กลุ่มกรีนร้องคัดค้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์กรณีออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว และยกคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรค ปชป. กรณีร้องคัดค้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีดังกล่าวแล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และตอนนี้ผู้ถูกร้องพ้นสมาชิกสภาพไปแล้วเนื่องจากมีการยุบสภาจึงไม่มีประเด็นให้พิจารณาอีก

@ กมธ.ยกร่างฯแจงไม่ให้สื่อฟัง

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการพิจารณารายมาตราของ กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 12 มกราคมว่า ตามที่ระบุว่าสื่อมวลชนสามารถเข้ารับฟังได้นั้น อาจไม่ใช่ทุกครั้งไป ยังสงวนไว้สำหรับบางภาคส่วนที่มีความละเอียดอ่อน ขอหารือเป็นการภายใน การพิจารณารายมาตรา พยายามทำในเวลาราชการ ช่วง 09.30-17.00 น. หรืออาจจะให้จบเป็นส่วนๆ ดูตามความเหมาะสม ส่วนวันที่ 9 มกราคมนี้ จะพูดคุยกันภายในเพื่อเตรียมสำหรับวันที่ 12 มกราคม เรื่องกระบวนการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ หากเห็นควรแก้ไขประการใด แต่ละคนต้องทำเป็นเอกสารส่งถึงประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจตรงกัน หมวดที่เริ่มคือหมวดพระมหากษัตริย์และหมวดสิทธิหน้าที่ของประชาชน

ผู้สื่อข่าวถาม สปช.สามารถแสดงความคิดเห็นในการเข้าฟังการยกร่างรายมาตราได้หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า สปช.เข้าฟังได้ แต่การแสดงความเห็นเป็นเรื่อง กมธ.ยกร่างฯ หรือถ้ามีความจำเป็นกรณี สปช.ผู้นั้นเป็นอนุ กมธ.ในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาจให้แสดงความคิดเห็นได้ แต่ตอนนี้ผ่าน

ขั้นตอน สปช.จะแสดงความคิดเห็นแล้ว ในหมวดที่สังคมถกเถียงกันมาก หากไม่เปิดให้รับฟัง คงจะไม่กระทบการทำงานของ กมธ. เพราะหากไม่ได้เข้าฟังก็มีการแถลงถึงเหตุผล บางครั้งอยากให้ กมธ.ยกร่างฯพูดได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบอะไร หมวดไหนไม่เปิดให้เข้าฟังก็แถลงเต็มที่ เมื่อมีร่าง รธน.ออกมาสมาชิกแก้ไขเพิ่มเติมได้อยู่แล้วและทำตามเกณฑ์รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 การเปิดให้สื่อรับฟังไม่ได้ระบุไว้ แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าทำงานอย่างบริสุทธิ์ เปิดเผย บางกรณีเป็นเรื่องสำคัญคงไม่สามารถเปิดได้ทั้งหมด สภาปกติยังมีประชุมลับกรณีมีความละเอียดอ่อน

@ กมธ.ย้ำรับฟังปชช.ห้ามชี้นำ

ที่กระทรวงมหาดไทย นายประชา เตรัตน์ ประธาน กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. เป็นประธานในการประชุม กมธ. ครั้งที่ 5 เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับคณะที่ปรึกษาฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด และอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประจำจังหวัด โดยกล่าวว่า การจัดตั้งเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่จะต้องตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แก้ไขปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง และการลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ จึงขอให้กำชับการแสดงความคิดเห็น ห้ามชี้นำหรือชี้แนะประชาชน

@ อนุกมธ.ชี้"เติ้ง"ได้แค่ร่วมฟัง

นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานคณะอนุ กมธ. การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าเวทีแรกวันที่ 17-18 มกราคม ที่จังหวัดสุพรรณบุรี สุ่มเลือกประชาชนเข้าร่วม 200 คน จากจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม กำหนดประเด็นรับฟังหัวข้อหลัก คือ 1.คุณลักษณะของนักการเมืองที่ดี 2.การต่อต้านการทุจริต 3.พลเมืองที่ดี 4.การเลือกตั้งที่ดี และ 5.การมีส่วนร่วมทางการเมือง สาระสำคัญคือวิธีทำให้สิ่งที่อยากเห็นให้เป็นจริงได้ และใครควรเข้าร่วมรับผิดชอบในประเด็นที่นำเสนอบ้าง

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่านายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) อาจจะเข้าร่วมเวทีดังกล่าวนั้น นางถวิลวดีกล่าวว่า ถือเป็นสิทธิในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้ สำหรับเวทีนั้นจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ผ่านการคัดเลือกแบบสุ่มเข้าร่วมแสดงความเห็น เมื่อรับฟังแล้วเสร็จจะมีทีมงานสังเคราะห์ความเห็น หากแตกต่างจากข้อเสนอหน่วยงานอื่นหรือหลักการของรัฐธรรมนูญตามที่ กมธ.ยกร่างฯตกผลึก จะนำมาผนวกเข้ากับเนื้อหาและประเด็นสาระของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

พล.ท.นคร สุขประเสริฐ อนุ กมธ.การมีส่วนร่วมฯ กล่าวว่า กรณีนายบรรหารอาจจะเข้าร่วมการรับฟังความเห็นเวทีสุพรรณบุรี ว่าสามารถเข้าร่วมฐานะผู้สังเกตการณ์เพราะเป็นผู้ใหญ่ในพื้นที่ได้ แต่ขอสงวนสิทธิการอภิปรายหรือพูดคุยกับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเคยรับฟังความเห็นของ ชทพ.ไปบ้างแล้ว ดังนั้น เวทีจัดขึ้นนั้นเพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่เคยออกความเห็นใดๆ มาก่อน วันดังกล่าวนั้น คาดว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯจะไปกล่าวปาฐกถาและเปิดเวที

@ พท.เตือนการเมืองอย่าตีกันเอง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีตั้งคำถาม 6 ข้อกับนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าน่าเสียดายที่นายชวนไม่ได้ตอบ แต่กลับมีคนอาศัยลูกมั่วมาตอบแบบมั่วๆ เอาสีข้างเข้าถู เป็นแผ่นเสียงตกร่อง หากพรรค ปชป.ยังคงติดหล่มความคิดว่าที่พรรค ปชป.แพ้เลือกตั้งเพราะมีการซื้อเสียง ทั้งที่คนของพรรค ปชป.เองยอมรับเองว่าพรรค ปชป.ใช้เงินมากกว่าด้วยซ้ำ ปชป.จะไม่มีทางชนะการเลือกตั้งได้อีกเลย คนออกมาตอบก็ลืมสำรวจดูผลงานของพรรคตัวเองว่าได้บริหารประเทศผิดพลาดมาอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ ส.ป.ก.4-01 คดี ปรส. เงินกู้มิยาซาวา ไทยเข้มแข็ง 

4 แสนล้านบาท คนจำไม่ได้ว่าเอาไปทำอะไรนอกจาก 396 โรงพักที่สร้างไม่เสร็จ ทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะ แม้จะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลโดยอำนาจพิเศษแต่ก็ไม่สามารถบริหารประเทศให้ชนะใจประชาชนได้ จนในที่สุดเมื่อหมดทางชนะ จึงบอยคอตการเลือกตั้งเป็นท่าไม้ตาย ออกมาชัตดาวน์ประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติ จนทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่จนถึงปัจจุบัน ขนาดนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ยังออกมาบอกเองว่าในชีวิตนี้จะไม่ได้เห็นพรรค ปชป.ชนะการเลือกตั้งได้อีก เพราะประชาชนจะจำได้ว่าพรรค ปชป.ได้ทำอะไรไว้กับประเทศบ้าง 

นายอนุสรณ์กล่าวว่า การตั้งคำถามก็เพื่อจะขอความชัดเจนจากนายชวน เป็นการถามในเชิงวิชาการ ชาวบ้านบางส่วนอาจไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งเทียบเท่านายชวน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจหลักพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย รู้ว่าประชาชนมีสิทธิจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตัวเอง เลือกคนที่ไว้วางใจให้เข้ามาบริหารประเทศ คัดค้านการวิ่งราวอำนาจ หรือมาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษ จุดยืนแนวความคิดมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ ในยามนี้พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยควรจะยืนอยู่ฝั่งเดียวกัน เพื่อร่วมกันรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ไม่ควรมาจิกตีกันในเข่งเหมือนไก่ตรุษจีน เว้นเสียแต่ว่าจะไปเชื่อมั่นในระบบ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!