- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 05 January 2015 11:15
- Hits: 4864
วันที่ 05 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8804 ข่าวสดรายวัน
สมชัยเอาคืน โต้ฉายาโอ๊ค สวนยางนัดไล่ รมช.'อำนวย'
สวนยางกลับมาฮึ่มๆ นัดไล่รมช.เกษตรฯ'อำนวย ปะติเส' 15 ม.ค. จวกมีวาระซ่อนเร้น ไม่จริงใจแก้ปัญหา อยู่ไปก็เปลืองภาษี ยันต้องได้ก.ก.ละ 80 บาท รัฐบาลเมินโต้ 'โอ๊ค'ตั้งฉายาเหน็บ 'ดิเรก ถึงฝั่ง'1 ใน 38 ส.ว. ลั่นพร้อมชี้แจงปมถูกป.ป.ช.ชี้มูล ไม่กังวลหากถูกถอดถอน เชื่อจะได้รับความเป็นธรรม แต่อาจกระทบงานสปช. 'สิงห์ชัย ทุ่งทอง' เชื่อทุกคดีถอดถอนหลุดหมดเหตุ นายกฯไม่อยากจุดชนวนขัดแย้งรอบใหม่ ป.ป.ช.ใหญ่ 'วิชา'แจงคดีสลายชุมนุมปี "53 ติดปัญหาชันสูตรพลิกศพ-สอบพยาน จนท.รัฐ เลยทำให้ยังไม่คืบเท่าไหร่
รัฐบาลเมินตอบโต้ฉายาโอ๊ค
วันที่ 4 ม.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตั้ง 12 ฉายาให้กับบุคคลการเมืองในลักษณะเสียดสีการทำงาน โดยมีบุคคลในรัฐบาลคือพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ได้ฉายาวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยมแห่งปี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้ฉายาผู้ทรงคุณธรรมแห่งปีและม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ได้ฉายางานก๊อบเกรดเอแห่งปีว่า ไม่เป็นไร ถือเป็นความเห็นและมุมมองส่วนตัวของนายพานทองแท้ ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ รัฐบาลคงไม่ตอบโต้หรือชี้แจง เพราะเชื่อว่าประชาชนรับทราบและเห็นอยู่แล้วว่าที่ผ่านมานายกฯ และรัฐมนตรีต่างตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ฉายาต่างๆ ที่ออกมานั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับการทำงานของรัฐบาล เพราะเรายังต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานตามโรดแม็ปและนโยบายที่นายกฯมอบไว้ให้เกิดผลสำเร็จต่อไป
วอนอย่าตั้งประเด็นให้แตกแยก
เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่านายพานทองแท้ ตั้งฉายาโดยไม่ให้ความเคารพผู้ใหญ่ พล.ต. สรรเสริญกล่าวว่า ไม่อยากมองแบบนั้น เพราะจะกลายเป็นชนวนขัดแย้งขึ้นอีก จะถูกมองว่ารัฐบาลมีความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจทางการเมือง ทั้งนี้ การตั้งฉายาถือเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่วันนี้อยากให้คำนึงว่าสังคมไทยได้ผ่านความขัดแย้งมาแล้วระดับหนึ่ง หากเรายังคิดหรือจับประเด็นต่างๆ มาสร้างความแตกแยกก็ไม่เกิดประโยชน์ ปัญหาก็ไม่จบ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องทำใจให้เย็นแล้วก้าวข้ามไปให้ได้ เวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ต่างฝ่ายต่างลดราวาศอกและหันมาให้กำลังใจรัฐบาลทำงาน
เมื่อถามว่านายกฯได้ทราบฉายาดังกล่าวแล้วหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ปกติ นายกฯ เป็นคนบริโภคข่าวสารตลอดเวลาอยู่แล้ว น่าจะรับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว หากถามว่านายกฯ จะตอบโต้หรือไม่นั้น คิดว่า นายกฯ ไม่น่าเอาเรื่องอย่างนี้มาคิด เพราะรัฐบาลมีงานมากมายให้ทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ล่าสุดนายกฯ สั่งการก่อนปีใหม่ให้นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไปจัดตลาดกลางระหว่างชาวสวนยางกับผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายรับทราบว่าต่างฝ่ายต่างมีความต้องการยางลักษณะใดและขายได้ในราคาเท่าไร รวมถึงรับซื้อได้ในราคาเท่าไร รัฐบาลจึงขอมุ่งมั่นทำงานดีกว่า
สมชัยฉุน-โพสต์กลอนแขวะ"แม้ว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง โพสต์กลอนตอบโต้กรณีนายพานทองแท้โพสต์ข้อความตั้งฉายาคนการเมืองและพาดพิงนายสมชัย โดยระบุว่า แพะกับแป๊ะลงเรือแป๊ะแวะที่ไหน พาลทองแท้กลุ้มใจใคร่ถามหา กลัวบ้านเมืองเรืองโรจน์โชติชวาล เกรงบิดาจะลาลับไม่กลับเมือง ขอขอบคุณบุญคุณต่อประเทศ ทำทั่วเขตขัดแย้งแดงกับเหลือง เคยรักใคร่ให้มาว่าขุ่นเคือง จากเป็นเมืองแห่งยิ้มทิ่มแทงกัน มีเงินทองกองก่ายกลับร้ายคิด สิ่งถูกผิดบิดได้ตามใจฝัน มีปัญญาแค่ลอกสอบเมื่อวานวัน ไม่ว่ากันเพราะวันนี้มีเท่าเดิม
"บิ๊กป๊อก"ยังกั๊กเลือกตั้งต้นปี"59
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ในการจัดเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ว่า การเลือกตั้งนั้นต้องรอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จก่อนจากนั้นก็ออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ภายใน 2-3 เดือน เมื่อถึงตอนนั้นเชื่อว่าประชาชนคงพร้อมเลือกตั้ง ไม่เร็วเกินไป เพราะมีกฎหมายแล้ว โรดแม็ปของ คสช.ก็อยู่ ก็ต้องเร่งออกรัฐธรรมนูญให้ได้ ส่วนหน้าที่จัดการเลือกตั้งจะเป็นของใคร ต้องรอดูกฎกติกา ส่วนการปฏิรูปการเมืองด้านอื่นๆ ก็ต้องทำต่อไป
เมื่อถามว่าแสดงว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต้นปี 2559 พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า หากเป็นไปตามที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประมาณการว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายลูก ก็จะพร้อมทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกลไก หากทำได้โดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนจะพึงพอใจ
สนช.เชื่อลงมติถอดถอน-ไร้รุนแรง
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงการพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา วันที่ 8-9 ม.ค.นี้ว่า กระบวนการคงเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุม โดยวันที่ 8-9 ม.ค.จะเป็นวันแถลงเปิดสำนวน และจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถามขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ซักถามคู่กรณีแทนสมาชิก ทั้งนี้ หากไม่มีเหตุพิเศษ อย่างมีการเลื่อนการประชุมออกไป เชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นและลงมติได้ภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้
นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่บางฝ่ายระบุการถอดถอนเป็นการกันไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาลงเลือกตั้งนั้น ตนมองว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าสู่กระบวนการ ซึ่งเท่ากับยอมรับกติกาดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกัน สนช.ก็ยืนยันมาตลอดว่าเราไม่มีใบสั่งใดๆ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ เพราะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสมาชิก ซึ่งแต่ละคนมีอิสระในการลงคะแนน เชื่อด้วยว่าหากที่สุดผลจะออกมาเป็นอย่างไรสถานการณ์ทางการเมืองจะเรียบร้อยดี
วันชัยหวั่นปปช.แค่เสือกระดาษ
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวถึงการถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาส.ว.ว่า กระบวนการแถลงเปิดคดีทำให้ทุกคนได้รับรู้ข้อมูลจากทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง และยังเปิดให้ สนช.ที่สงสัยในข้อมูลได้ซักถาม นี่คือกระบวนการที่ตรงไปตรงมา โปร่งใส ไม่ปิดบังอำพราง ประชาชนจะได้รับฟังข้อมูลต่างๆ ด้วย ส่วนการตัดสินใจก็เป็นเอกสิทธิ์ของ สนช.แต่ละคน ไม่มีสัญญาณจากฝ่ายใดแน่นอน
นายวันชัยกล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ร่วมยื่นถอดถอนคดีดังกล่าว ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่าเป็นความผิด ขัดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของรัฐสภา ดังนั้น ถ้าตนเป็น สนช.จะโหวตถอดถอนแน่นอน เพราะไม่อยากให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนผิดข้อบังคับ แต่หาก สนช.พิจารณาแล้วไม่ถอดถอนก็เป็นสิทธิ์ อาจทำให้ป.ป.ช. กลายเป็นยิ่งกว่าเสือกระดาษ ไม่มีอำนาจถอดถอนใครได้เลย
ไพบูลย์ชี้ควรจบตั้งแต่ศาลรธน.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. กล่าวว่า มองว่าทั้งนายสมศักดิ์ และนายนิคม ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมจนทำให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไข ซึ่งทั้ง 2 คนคิดว่าตัวเองมีอำนาจ แต่เมื่อเราคิดว่ามันไม่ถูกต้องจึงร้องศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลตัดสินว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้จริงๆ ควรจบตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องยื่นถอดถอนอีก เพราะเป็นความผิดในการตีความกฎหมาย ส่วนการถอดถอนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริตคงต้องเป็นไปตามกระบวนการ
"ดิเรก"ลั่นพร้อมสู้คดีถอดถอน
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. จ.นนทบุรี 1 ใน 38 ส.ว.ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.มิชอบว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกวิตกกังวล พร้อมสู้คดีไปตามกฎหมายและตามข้อเท็จจริงทุกขั้นตอน เพราะข้อเท็จจริงเราทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องเสียบบัตรแทนกันนั้น ยืนยันว่าเราไม่เกี่ยว กรณีนี้เป็นการทุจริตรายบุคคลก็ต้องดำเนินการเอาผิดเป็นรายบุคคลไป เพราะสิ่งที่เราดำเนินการนั้นเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแบบนี้ก็ยังรู้สึกงงๆ กันอยู่ ไม่คิดว่าจะออกมาแบบนี้ อีกทั้งขณะนี้ยังไม่ได้เตรียมแนวทางการสู้คดีอะไรไว้เลย แต่พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงกับสนช.ว่าได้ทำไปตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง
นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนสนช.จะกำหนดให้ไปชี้แจงแถลงเปิดคดีแบบรายบุคคลหรือพร้อมกันทั้ง 38 คนนั้นก็ไม่มีปัญหา เพราะพร้อมไปอธิบายความจริงกับสนช.อยู่แล้ว และหากได้รับหนังสือนัดหมายจากสนช.แล้ว ทางอดีตส.ว.ทั้ง 38 คน คงนัดหารือเพื่อวางแผนร่วมกันว่าจะชี้แจงต่อสนช.อย่างไร
มั่นใจสนช.ให้ความเป็นธรรม
"เมื่อเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองแล้วก็อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าไปได้ด้วยดี ไม่ได้หวั่นไหวในเรื่องเหล่านี้ ถ้าต้องถูกถอดถอนจริงก็ไม่ได้รู้สึกท้อแท้ หากไม่ได้เล่นการเมืองก็ไม่เดือดร้อน คงกลับไปสอนหนังสือตามปกติ" อดีตส.ว.นนทบุรีกล่าว
เมื่อถามว่าถ้าสนช.มีมติถอดถอนจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งสปช.หรือไม่ นายดิเรก กล่าวว่า ถ้าถูกถอดถอนกระทบแน่นอน และคงต้องลาออกจากตำแหน่งสปช.ด้วย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสนช.จำนวนไม่น้อยที่มีอยู่นั้นยังมีความเป็นธรรม มีความเป็นนักกฎหมาย และเข้าใจในแง่กฎหมายเป็นอย่างดี ดังนั้น คงไม่กล้ายุ่งกับคดีหรือโหวตให้ถอดถอน เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
ชี้"ตู่"ไม่อยากให้ใครโดนถอดถอน
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงกรณีการพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งในคดีต่างๆ ว่า จากการสังเกตอาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. คงจะไม่อยากให้มีการถอดถอน เพราะอาจเป็นชนวนของความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการ จากการพูดคุยกับหลายคนหลายฝ่ายแนวโน้มการตัดสินให้ถอดถอนคงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีเหตุผลที่สมควรต้องถอดถอน เชื่อว่าน่าจะหลุดกันหมด แต่เรื่องการทุจริตก็ต้องว่าตามหลักฐาน ไม่เกี่ยวกัน
นายสิงห์ชัยกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศว่า อยากฝากถึงสนช.และสปช. ต้องเน้นการปฏิรูปให้ประชาชนพ้นจากปัญหาปากท้องและกฎหมายใดที่เป็นอุปสรรค ล้าหลัง ก็ควรแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองและโลกปัจจุบัน ประชาธิปไตยต้องเอาเสียงคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาไร้ทิศทางมาหลายปีแล้วเพราะความขัดแย้งทางการเมือง วันนี้ควรเริ่มต้นใหม่ อำนาจต้องเท่าเทียมกัน อย่าฝืนธรรมชาติ
12 ม.ค.แจกเอกสารร่างรธน.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า วันที่ 5-9 ม.ค. กมธ.ยกร่างจะแบ่งการทำงานเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งคณะอนุ กมธ.จะมีเวลาเขียนบทบัญญัติเป็นรายมาตราจนถึงวันที่ 11 ม.ค. และ 2.กลุ่มพิจารณารายละเอียดของหลักการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคณะอนุ กมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 10 คณะจะหารือในรายละเอียดของหลักการที่ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ เช่น ที่มาของกรรมการในองค์กรอิสระ จากนั้นจะส่งกลับไปให้อนุ กมธ.ยกร่างบทบัญญัติฯ เขียนรายละเอียดเป็นรายมาตรา
"ร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่จัดทำนั้น เมื่อเข้าสู่การประชุม กมธ.ชุดใหญ่วันที่ 12 ม.ค.แล้ว กมธ.สามารถอภิปรายเพื่อ ขอแก้ไขหรือทบทวนได้ทุกมาตรา รวมถึง นำความเห็นของภาคส่วนต่างๆ อาทิ พรรคการเมือง มาประกอบการพิจารณาทบทวนได้ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ให้ทำใจด้วยว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะนำไปเปลี่ยนแปลงหลักการได้ เพราะ กมธ.ยกร่างฯ วางหลักคือการปรับเปลี่ยนใดๆ ต้องลดและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า ส่วนการประชาสัมพันธ์หลักการสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เบื้องต้นจะทำเอกสารแจกประชาชน 30,000 เล่ม ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.เป็นต้นไป และเผยแพร่ในเว็บไซต์และอินเตอร์เน็ตในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและส่งความเห็นตอบกลับมายัง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้พิจารณาปรับปรุงและทบทวนร่างบทบัญญัติได้
"มาร์ค"ย้ำทำประชามติรธน.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปีนี้ว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 เป็นต้นมาทุกอย่างดำเนินตามตารางที่ คสช.วางไว้ เชื่อว่าในปีนี้จะมีความพยายามผลักดันให้ทุกอย่างเป็นไปตามตารางเดิมของ คสช. แต่ประเด็นที่ท้าทายการทำงานของ คสช. รัฐบาล สปช. สนช. รวมถึง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่หลายประเด็น ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจ อาจกระทบตารางเวลาบ้าง เช่น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเสียงเรียกร้องรวมทั้งตนด้วยว่าจะต้องจัดทำประชามติ ให้ประชาชนมีทางเลือกที่ชัดเจน รวมทั้งความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาที่จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากมีข้อโต้แย้งมากเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะยิ่งมีแรงกดดัน ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ผ่านสปช. ก็จะกลายเป็นปมขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดี ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่รอการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องว่าจะปรับเปลี่ยนกระบวนการตรงนี้หรือไม่
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ครึ่งปีที่ผ่านมาสิ่งที่ คสช.และรัฐบาลดำเนินการคือการยุติปัญหาการชุมนุม แต่ในแง่การปฏิรูปยังไม่มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรม ซึ่งสังคมคาดหวังว่าการปฏิรูปจะเป็นรูปธรรมและครอบคลุมหลายเรื่อง อาทิ เศรษฐกิจ การศึกษา และพลังงาน ที่ได้รับความสนใจจากประชาชน แต่ติดข้อจำกัดแสดงความคิดเห็นของกฎอัยการศึก จึงอยากให้มีการยกเลิก
แนะเร่งแก้เศรษฐกิจ-ลดขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า มีอีก 2 ประเด็นที่ต้องติดตามว่า คสช.และรัฐบาลจะบริหารงานราบรื่นหรือไม่ คือ 1.การบริหารด้านเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจขณะนี้มีปัญหามาก เป็นผลมาจากราคาพืชผล ราคาสินค้าแพง และนโยบายด้านพลังงาน หากว่าการแก้ไขปัญหาทำได้ดี จะทำให้รัฐบาลและ คสช.ทำงานง่ายขึ้น แต่หากภาวะเศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้น ความอึดอัดในสังคมจะมีมาก ส่งผลกระทบกับการทำงานของรัฐบาลโดยรวม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 2.ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องมีการตัดสินใจและได้ข้อยุติ เช่น กรณีการถอดถอนบุคคลในรัฐบาลที่แล้ว ทั้งอดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานวุฒิสภาที่ค้างอยู่ ซึ่งไม่ว่าการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร จะมีคนจำนวนมากไม่พอใจ เป็นอีกจุดที่เป็นปัจจัยที่ คสช.ต้องตระหนัก เหล่านี้จะเป็นตัวชี้ว่าการทำงานของ คสช.ในปีนี้ว่าจะราบรื่นหรือไม่ หากทุกอย่างเรียบร้อย เชื่อว่าปลายปีนี้ถึงต้นปี 2559 ทุกอย่างจะเข้าสู่กระบวนการ เช่น การเลือกตั้งช่วงต้นปี 2559
สวนยางโวยรัฐเอื้อนายทุน
นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยางพาราว่า หลังจากเครือข่ายฯ ออกมากดดันรัฐบาลหลายครั้ง ทางรัฐบาลก็รับปากว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ จากนั้นประชุมกันในเครือข่ายฯ และรอดูว่ารัฐบาลจะขยับราคายางได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตั้งราคายาง 60 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) นั้นถือป็นการบล็อกราคาให้อยู่แค่นั้น โดยทำสัญญาไว้กับผู้รับซื้อ 10 เดือน หากราคายางขึ้นเกิน 60 บาทแล้วใครเสียผลประโยชน์ เป็นโครงการที่เกษตรกรไม่ได้อะไรเลย และเป็นไปไม่ได้ที่ราคายางจะอยู่ที่ 60 บาท ราคายางพาราต้องก.ก.ละ 80 บาท เกษตรกรถึงจะอยู่ได้ อีกทั้งตอนนี้ภาคใต้ฝนตก ผลผลิตออกน้อย ทำให้ยางในตลาดโลกขาดตลาด นี่บ่งบอกว่ารัฐบาลยังทำงานไม่เป็น
นายทศพลกล่าวว่า โครงการที่รัฐบาลทำขึ้นมานั้นนอกจากเกษตรกรชาวสวนยางจะเสียผลประโยชน์แล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์คือนายทุน ซึ่งเกษตรกรผลิตได้แต่น้ำยางและยางก้อน แต่นายทุนผลิตยางแผ่นรมควัน จึงขอให้รัฐบาลชะลอการจ่ายเงิน 5 พันล้านให้แก่สหกรณ์ยาง ต้องดูว่าสหกรณ์ไหนยังดำเนินการอยู่แล้วค่อยจ่าย เนื่องจากที่ผ่านมาสหกรณ์การยางล้มเกือบหมดแล้ว มีเพียงไม่กี่แห่ง จึงอยากให้ดูตรงนี้ก่อนดำเนินการใดๆ
ยันราคายางต้องกก.ละ 80 บาท
"ที่บอกว่าวันที่ 5 ม.ค.นี้จะมีตลาดยางเข้ามาแทรกแซง 100 กว่าตลาดจะทำให้ราคายางดีขึ้นนั้น เครือข่ายฯ รอดูอยู่ว่าเป็นอย่างไร รัฐบาลขยับได้แค่ไหน แต่ยังยืนยันคำเดิมว่าราคายางต้องอยู่ที่ 80 บาทต่อก.ก. และจะมีการเดินหน้าต่อไปคือการปฏิรูปยางเกี่ยวกับการนำผลผลิตยางมาทำประโยชน์ได้อีกมาก ทั้งการสร้างถนน การทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาราคายางได้ในระยะยาวอีกด้วย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรอคำตอบที่ชัดเจนอยู่" นายทศพลกล่าว
นายทศพลกล่าวว่า ประเทศไทยมีหมู่บ้านกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน ทำถนนหมู่บ้านละ 1 ก.ม.ซึ่งใช้ยางพาราเพียง 21 ตันเท่านั้น และเอา 21 คูณกับ 8 หมื่น ผลคือการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และยังเป็นประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่น นำวัตถุดิบภายในประเทศมาทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมั่นคง อีกทั้งจะมีการเปิดประชาคมอาเซียน เมื่อเรามีตัวอย่างทำถนนยางพาราแล้วประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า เขมร ก็ต้องซื้อยางจากเราไปทำถนน
จี้"อำนวย"ไขก๊อก-นัดแฉ 15 มค.นี้
นายทศพลกล่าวว่า ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ภาคีเครือข่ายฯ จะมีเปิดเวทีเสวนาใหญ่อีกครั้ง เพื่อหาทางออกให้กับเกษตรกร มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องยางพารามาให้ความรู้ในหลายเรื่อง ทั้งสภาพการโกงกินของรัฐบาล นายทุน จะแฉให้หมด รวมทั้งเมื่อเกิดประชาคมอาเซียนแล้วเราได้รับผลกระทบอย่างไร หากยืนอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองไม่ได้ ประเทศไทยเราจะเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ซึ่งความล้มเหลวของประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ขณะนี้เพราะนักการเมืองหลอกประชาชน ที่ผ่านมาไม่มีนักการเมืองคนไหนรับฟังเสียงประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีแต่เอาประชาชนมาอ้างเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้น ขณะที่นายกฯ ฟังแต่คนรอบข้าง ไม่ฟังเกษตรกรเพราะมองเกษตรกรว่าไร้ค่า ด้อยความรู้จึงไม่สนใจ แล้วจะได้อะไรหากไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง
ส่วนการเคลื่อนไหวขับไล่นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์นั้น นายทศพลกล่าวว่า เครือข่ายฯ ยังแสดงจุดยืนเช่นเดิมคือให้นายอำนวยพิจารณาตนเองเพราะมีวาระซ่อนเร้น ไม่โปร่งใส ไม่มีความจริงใจแก้ปัญหาปากท้องเกษตรกร อยู่ไปก็เปลืองภาษี ซึ่งหลังวันที่ 5 ม.ค.จะขับเคลื่อนกันอย่างไรค่อยว่ากันอีกที และหวังว่าต่อไปนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องสต๊อกยางพาราอีก
ปปช.ชี้คดีสลายม็อบปี"53 ยังไม่คืบ
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีสลายการชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 กล่าวถึงความคืบหน้าในการไต่สวนคดีว่า เรื่องดังกล่าวยังคงมีข้อมูลเข้ามาอยู่ เนื่องจากปัญหาการชันสูตรพลิกศพ การชันสูตรบาดแผล มีกลับตาลปัตรมาก มีการเรียกพยานมาเพิ่มในกรณีเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพของศาลและเรียกพยานที่มีการพูดถึงว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตอนนี้ป.ป.ช.เรียกสำนวนทั้งหมดมาดูอีกครั้งว่า มีความครบถ้วนแล้วหรือยัง และช่วงต้นปีนี้ต้องจัดการให้เรียบร้อย
"อนุกรรมการไต่สวนมีการรายงานเรื่องอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใครเลย เพราะที่ทำสำนวนไว้เดิมนั้น บอกว่าไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่พอมาถึงศาลแล้ว ศาลพูดว่าเรื่องนี้เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เราต้องดูว่าใครเป็นคนควบคุม ใครดูแลอยู่ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาเหมือนกัน" นายวิชากล่าว
นายวิชากล่าวว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ปี 2551 นั้น ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว
ยันไม่คิดเพิ่มอำนาจตัวเอง
นายวิชากล่าวว่า ส่วนการทำงานของ ป.ป.ช.ในปี 2558 ยังเป็นปีที่ทำงานหนักเช่นเดิม ยังมีกรณีต้องชี้แจงต่อสนช. สปช.โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายของป.ป.ช. ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ แต่มีสนช.บางคนไม่เห็นด้วยและให้มีการศึกษาก่อน จึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษากฎหมายป.ป.ช. ซึ่งมีตนเป็นที่ปรึกษาและเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.ร่วมเป็นกมธ.ด้วย ขอชี้แจงว่าการขอแก้กฎหมายป.ป.ช.ไม่ได้เพื่อขอเพิ่มอำนาจหรือใช้อำนาจ แต่ทำให้ต่างชาติเห็นและไว้วางใจว่าเราจะปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ดังนั้น หากสภาไม่ยอมรับให้กฎหมายป.ป.ช.ผ่าน เท่ากับเราผิดสัญญาต่อนานาชาติ โดยเฉพาะองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติที่ได้เพิ่มคะแนนให้ไทยมีดัชนีความโปร่งใสที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าไทยจะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต เช่น เรื่องอายุความระหว่างการหลบหนีของผู้ถูกชี้มูลความผิด ป.ป.ช.ก็ขออำนาจในการจับ ให้เหมือนป.ป.ช.ทั่วโลกที่มีอำนาจจับกุมควบคุม การยึดอายัดทรัพย์สินไว้ก่อนชั่วคราวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทั้งนั้น ไม่ใช่เพิ่มเติมอำนาจของป.ป.ช.
รัฐเล็งเปิด"เคาน์เตอร์"ร้องทุกข์
วันที่ 4 ม.ค. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปการทำงานของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาว่า จากการเปิดรับใน 5 ช่องทาง ทั้งสายด่วย 1111 เว็บไซต์ www.1111.go.th ตู้ปณ.1111 จุดบริการประชาชน และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเรื่องร้องเรียน 111,399 เรื่อง แก้ปัญหาได้ ร้อยละ 90.2 และยังมีร้อยละ 9.8 ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ดินทำกินและหนี้สิน ขณะที่เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คือเหตุเดือดร้อนรำคาญ หนี้สินนอกระบบและยาเสพติด
ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า รัฐบาลพอใจการทำงานเพราะเมื่อมีเจ้าหน้าที่ 20 กระทรวงมานั่งทำงานประจำศูนย์แล้ว ได้ทุ่มเทตั้งใจทำให้การทำงานรวดเร็ว การแก้ปัญหาดำเนินการได้มากกว่าถึง 3.2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในปีนี้จะเปิดช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์มากขึ้น มีการติดตามการทำงานผ่านทางแอพพิเคชั่นของโทรศัพท์มือถือ รวมถึงเปิดศูนย์ในท้องถิ่น โดยประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะเปิดเคาน์เตอร์เซอร์วิสร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตามศูนย์การค้า เพื่อให้ง่ายต่อการบริการประชาชนมากขึ้น โดยที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ จะเป็นหน่วยงานหลักในการทำงาน
ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ส่วนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ค่านิยม 12 ประการนั้น ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งสติ๊กเกอร์ไลน์และภาพยนตร์สั้น ซึ่งทางเคเบิลทีวีต่างๆ ขอนำไปเผยแพร่ต่อ และในวันเด็กแห่งชาติ ได้ประสานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ นำมาเผยแพร่ออกอากาศอีกครั้งเพื่อให้เด็กซึมซับค่านิยมที่ดี นำไปเป็นแบบอย่างปฏิบัติ