- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 04 January 2015 10:50
- Hits: 3912
สนช.เปิดขั้นตอนถอด'ปู' โหวตต้นก.พ. 'บิ๊กตู่'เก็บตัวพักฟื้นหวัด โอ๊คตั้งฉายารบ.แทนสื่อ
ทีมทนายเพื่อไทยนัด 5 ม.ค. ถกแนวทางสู้ปมถอดถอน'ปู-ขุนค้อน' 'ชัยเกษม'ชี้หวังขวาง'ยิ่งลักษณ์'ลงเลือกตั้ง
@ 'พรเพชร'ห่วงเวลาปมถอดถอน
เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง จำนวน 4 เรื่องคือ การถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา การถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ประเด็นที่มา ส.ว. การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานละเลยให้มีการทุจริตโครงการจำนำข้าว และถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ประเด็นที่มา ส.ว.ว่า มีความกังวลใจมากที่สุดคือ เวลาทำงานของ สนช.ที่จะต้องใช้ไปมากขึ้น คือเวลานี้มีเข้ามาใหม่อีก 1 คำร้อง คือคำร้องขอถอดถอน 38 อดีต ส.ว. ดังนั้น จะรบกวนเวลาการทำงานของสมาชิก อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชน ทราบว่ากำลังจะมีอีก 1 เรื่องที่เข้ามาใหม่ คือคำร้องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีถอดถอน ส.ส.อีกกว่า 200 คน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การถอดถอนจะกระทบต่อการปฏิรูปการเมืองหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า แน่นอน เพราะเมื่อมีความขัดแย้ง ฟ้องร้องจนถึงขั้นที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต้องยุติลงในทางใดทางหนึ่ง เหมือนกับที่มีความขัดแย้งในสังคมก็ไปยุติที่ศาล แต่เป็นเรื่องทางการเมืองต้องยุติที่สภา
"สิ่งที่ สนช.ทำได้ดีที่สุด คือพิจารณาโดยยึดหลักความเป็นธรรม ความยุติธรรม ยึดหลักกฎหมาย เป็นคำตอบ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งที่ สนช.ทำไปนั้น มีความยุติธรรม เป็นธรรม โดยความเป็นธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ถูกใจหรือไม่ถูกใจ แน่นอนว่าความถูกใจไม่ถูกใจเป็นอารมณ์ของบุคคล เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ เขาอาจจะทำความเข้าใจได้ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของระบบกฎหมายที่สร้างขึ้นมา และกระบวนการก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ สนช.ต้องระวัง" นายพรเพชรกล่าว และว่า สนช.ต้องเป็นกลาง ไม่ทำหรือไม่แสดงให้เห็นว่าจะไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือไม่มีอคติต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตรงนี้จะเป็นเกราะป้องกัน สนช. ถ้า สนช.ผู้ตัดสินไม่มีความเป็นธรรมมันก็จบ ทำให้สิ่งที่จะตามมาขาดความน่าเชื่อถือ
@ แจงกระบวนการถอดถอน'ปู'
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช. กล่าวถึงกระบวนการและขั้นตอนการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาถอดถอน ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว วันที่ 9 มกราคม ว่าการประชุมจะพิจารณาเพื่อฟังคำแถลงเปิดสำนวนจาก ป.ป.ช.ถึงข้อกล่าวหาต่างๆ และผู้ถูกกล่าวหาก็จะแถลงคำคัดค้าน จากนั้นที่ประชุมก็จะมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมา 1 คณะ ประกอบด้วยสมาชิก 21 คน โดยคณะกรรมาธิการซักถามจะทำหน้าที่รวบรวมข้อซักถามต่างๆ และจะนัดประชุมอีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากวันแถลงเปิดสำนวนเพื่อให้คณะกรรมาธิการซักถามได้ซักถามคู่กรณี
"หลังเสร็จจากกระบวนการซักถามก็จะนัดประชุมใหม่ภายในไม่เกิน 7 วันอีกเช่นกัน เพื่อพิจารณารับฟังคำแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวจะต้องลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนภายใน 3 วัน นับจากวันแถลงปิดสำนวน" นพ.เจตน์กล่าว
@ เผย'ปู'ส่งทนายแจงแทนได้
นพ.เจตน์กล่าวว่า กระบวนการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาด้วยตัวเองหรือจะส่งทนายมาชี้แจงแทนก็ได้ แต่โดยปกติที่ผ่านมาผู้ถูกกล่าวหาจะเดินทางมาร่วมพิจารณาและชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาภายใน 30 วันนับจากวันแถลงเปิดสำนวน หรือคาดว่าภายในไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์
"การออกเสียงลงมติจะให้ลงคะแนนลับในคูหา โดยให้สมาชิกกากบาทในบัตรลงคะแนนว่าถอดถอนหรือไม่ถอดถอน มติในการถอดถอนจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่คือ 132 เสียง ขณะที่สำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์กับนายนิคม จากสำนวนชี้มูลความผิดกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ในวันที่ 8 มกราคม จะมีกรอบและขั้นตอนเช่นเดียวกันกับสำนวนการถอดถอนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์" นพ.เจตน์กล่าว และว่า สำนวนถอดถอน ส.ว.จำนวน 38 คนจากกรณีร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ได้มาถึง สนช.แล้ว และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมวิป สนช.ในวันที่ 6 มกราคม เพื่อจัดเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมต่อไป
@ ชัยเกษม ชี้หวังขวาง'ปู'ลงเลือกตั้ง
นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ทีมทนายความพรรคเพื่อไทยเตรียมคำชี้แจงไว้แล้ว ตนอยากให้ไปถามทีมทนายความพรรคดีกว่าเพราะสามารถชี้แจงรายละเอียดได้ดีกว่า เนื่องจากตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับทีมทนายครบทุกนัดและเพียงแต่ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
"ขอตั้งข้อสังเกตถึงกรณี ป.ป.ช.มีมติสุดท้ายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ได้อธิบายไว้ว่าจะปราบปรามการทุจริตโดยการละเลย เพิกเฉยไม่ให้มีการดำเนินการยุติโครงการรับจำนำข้าวนั้น อยากชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายทั้งหมดของรัฐบาลเรื่องการปราบปรามการทุจริตรวมถึงโครงการรับจำนำข้าวซึ่งในความเป็นจริงหากยุติโครงการก็เท่ากับไม่ทำตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา" นายชัยเกษมกล่าว และว่า ป.ป.ช.ไม่คำนึงว่าการดำเนินการปราบปรามทุจริตกับการดำเนินนโยบายนั้นเป็นคนละเรื่องกัน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินนโยบายเรื่องปราบปรามทุจริตมาโดยตลอดที่ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จึงดูเหมือนว่า ป.ป.ช.มีธงในใจก่อนตัดสินคดีนี้ไปแล้ว สิ่งสำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ควรออกมาเจ้าคิดเจ้าแค้นถอดถอนกันไม่จบสิ้น จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการขวางไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้าหรือไม่
@ 'ทีมทนาย'เตรียมถกสู้คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการต่อสู้คดีของนายนิคม นายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะเข้าที่ประชุมสภา สนช.ในวันที่ 8-9 มกราคม ทางทีมกฎหมายพรรค พท.และทีมทนายคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้ประชุมหารือกันในวันที่ 5 มกราคม เพื่อวางกรอบแนวทางการต่อสู้คดี รวมถึงการเตรียมการชี้แจงในประเด็นต่างๆ โดยวันที่ 8 มกราคม สนช.พิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ส่วนวันที่ 9 มกราคม พิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์
@ 'บิ๊กป๊อก'พร้อมจัดเลือกตั้ง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้ลดอำนาจและบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และให้หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทน ว่า ถ้าให้กระทรวงมหาดไทยทำ คือถ้ายุติแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ ต้องทำโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม ถ้าไม่ทำแบบบริสุทธิ์ ยุติธรรม เราเป็นกรรมการ คนก็ตีกัน ท่านเห็นแล้วว่าเวลาเขาเล่นบอล ถ้าเขาเล่นบอลแพ้ชนะด้วยฝีมือก็พอทน แต่อีกฝ่ายจะลุแก่อารมณ์ แล้วทำอะไรที่ไม่ควรทำ กรรมการไม่เป็นกลาง จะเกิดเหตุขึ้น
"กระทรวงมหาดไทยต้องทำให้ดีที่สุดของการเลือกตั้ง คือ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีพรรค ไม่มีพวก ทำตามกฎหมาย ทำให้คนเขาไม่ระแวงว่าไม่ยุติธรรม เข้าข้าง บ้านเมืองก็จะสงบ เมื่อผลออกมาแบบนี้ ฝ่ายที่เขาไม่ได้ตามใจเขายังรับได้ แต่ถ้าทำแล้วออกมารู้กันเลย เข้าข้าง มีเล่นพวก สังคมอยู่ไม่ได้ หน้าที่กระทรวงมหาดไทยคงไม่ใช่เช่นนั้น" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
@ สมบัติชี้ปมที่มาส.ว.แค่ความเห็น
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวกรณีมี สปช.บางคนแสดงท่าทีคัดค้านข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ที่ให้มาจากการสรรหาทั้งหมดจำนวน 200 คน ว่าน่าจะเป็นการแสดงความเห็นโดยทั่วไปมากกว่า เพราะสมาชิก สปช.ยังไม่ได้มีมติใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเลย เนื่องจากตามกระบวนการทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องอภิปรายและต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับมาให้ สปช.ได้พิจารณา ถ้า สปช.พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยก็สามารถมีความเห็นไปให้ทาง กมธ.ได้ปรับแก้ไขได้
"โดยปกติที่มาของ ส.ว.ที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่อำนาจที่จะให้ ส.ว.ดำเนินการ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ จึงให้มีอำนาจแค่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น ส่วนฝรั่งเศสมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จึงกำหนดให้มีอำนาจสูงกว่า ส.ว.ประเทศอังกฤษแต่น้อยกว่า ส.ส. ขณะที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ จึงให้มีอำนาจสูงกว่า ส.ส. เพราะฉะนั้นเรื่องของการกำหนดที่มาของ ส.ว.จะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่ว่าจะให้มีอำนาจทำสิ่งใดด้วย" นายสมบัติกล่าว
@ ให้อำนาจส.ว.ยึดหลักสากล
นายสมบัติ กล่าวว่า ถ้า ส.ว.มาจากการสรรหาและกำหนดให้มีอำนาจน้อยกว่า ส.ส.ก็ไม่เป็นไร ถือว่าไม่ขัดกับหลักสากล แต่จะให้มีอำนาจเท่ากับ ส.ส.หรือมีอำนาจมากกว่า ส.ส.ตามหลักการสากลก็จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
"แต่ถ้าจะให้ ส.ว.มีอำนาจเสนอร่างกฎหมาย ถอดถอนนักการเมืองได้ ถือว่ามีอำนาจมากกว่า ส.ส. หลักสากลจะให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแต่ให้มีอำนาจน้อยถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักสากล ดังนั้นการออกแบบที่มา ส.ว.ให้เหมาะสมนั้นต้องดูด้วยว่าจะให้อำนาจ ส.ว.ทำสิ่งใดได้บ้างแต่ต้องไม่ให้ขัดกับหลักสากล" นายสมบัติกล่าว
@ 'มาร์ค'ไม่สนจำนวน-ที่มาส.ส.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงการเตรียมตัวของพรรค กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า พรรคการเมืองมีข้อจำกัดคือไม่สามารถจัดการประชุมได้ เคลื่อนไหวทำกิจกรรมไม่ได้ แต่สามารถติดต่อพูดคุยกันตามปกติ จึงได้เน้นย้ำไปว่าหน้าที่ของเราคือช่วยกันดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะฉะนั้นบรรดาอดีต ส.ส.ของพรรค ยังต้องทำงาน ติดตามปัญหาความเดือดร้อนเพื่อประชาชน ต้องสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายหรือคำสั่งต่างๆ ดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม
"ผมพูดเท่าที่พูดได้ว่าอะไรที่เป็นปัญหาของนักการเมือง เขตจะเล็กหรือใหญ่ ส.ส.จะมากหรือน้อย กลัวว่าจะจัดการเรื่องตรงนั้นตรงนี้ไม่ได้ เรื่องภายในนักการเมืองต้องพร้อมที่จะยอมรับกติกา ถ้ากติกาเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ควรสะท้อนความคิดเห็นให้มาก คือโครงสร้างที่จะต้องเป็นประชาธิปไตย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และแก้ปัญหาในอดีต คือทำให้คนที่มาจากประชาชนต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซื่อสัตย์โปร่งใส ยึดประโยชน์ประชาชนจริงๆ ดังนั้นรายละเอียดเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส.ต่างๆ นั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่ามีส่วนไหนของกติกาที่บอกว่าจะเป็นปัญหาหรือแก้ปัญหาในอดีตมากกว่า ขณะนี้กรอบเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น" นายอภิสิทธิ์กล่าว
@ อดีตส.ว.ซัดร่างรธน.เอื้อพวก
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เป็นไปในลักษณะของกลุ่มผู้ที่มีอำนาจ ร่างเพื่อให้เอื้อประโยชน์กับพวกตัวเอง ถ้าคิดว่าจะทำให้เป็นอำนาจของประชาชนนั้น เลิกคิดไปได้เลย กลุ่มคนที่มีอำนาจยังมองที่ปลายเหตุ พวกเขาคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนและขาดความรู้ ดังนั้นจะฝากอนาคตของประเทศไว้กับประชาชนไม่ได้
"พวกเขายังไม่เชื่อพลังของประชาชนในการขับเคลื่อนประเทศ แต่พวกเขาจะออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้อำนาจยังอยู่กับพวกเขาต่อไปอย่างเช่นหลายปีที่ผ่านมาได้ ต้องเนียนคือให้ทั่วโลกยอมรับ อย่าไปสนใจในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ต้องดูที่เป้าหมายของการร่างมากกว่า วันนี้เป้าหมายมี 2 ก้อน คือ 1.กลุ่มคนที่มีอำนาจยังต้องการมีอำนาจต่อไป 2.กลุ่มที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการบริหารประเทศ ตามแบบฉบับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" นายสิงห์ชัย กล่าว
@ จี้'รบ.-คสช.'เร่งแก้ปากท้อง
นายสิงห์ชัย กล่าวว่า รัฐบาลและ คสช.ควรเน้นเรื่องกายภาพ เช่น การจัดการน้ำ การบุกรุกพื้นที่ป่า การขนส่งระบบราง และปัญหาทางสังคม ควรรีบจัดการให้เรียบร้อยในช่วงนี้ที่รัฐบาลและ คสช.ยังมีอำนาจอยู่ในมือ เพราะในสถานการณ์ที่บ้านเมืองปกติ เรื่องเหล่านี้จัดการได้ยากมากและไม่ค่อยที่จะเกิดขึ้นได้เลย
"อีกอย่างที่รัฐบาลควรเร่งรีบทำคือเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน การจัดการด้านเกษตรชุมชน ให้ประชาชนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง เพราะความมั่นคงในท้องถิ่นจะส่งต่อความมั่นคงของชาติด้วย ปัจจุบันกลุ่มทุนใหญ่ๆ ในประเทศเริ่มมีอำนาจมากขึ้น โลกทุนใหม่เริ่มมีความชัดเจนซึ่งเรื่องนี้อันตรายต่อประชาชน จะทำให้ประชาชนตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน ร้านค้าชุมชนหรือกลุ่มเกษตรชุมชนอาจจะโดนครอบงำจากกลุ่มนายทุนใหญ่ ชาวบ้านจะเป็นได้แค่ลูกจ้าง ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนความมั่นคงในท้องถิ่นด้วย" นายสิงห์ชัยกล่าว
@ 'เอกชัย'วางกรอบปรองดอง3มิติ
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สปช. ในฐานะคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง เปิดเผยถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง ว่า ต้องมองแนวทางเป็น 3 มิติ คือ 1.มิติป้องกันความขัดแย้ง 2.มิติการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ภาคส่วนแสดงความเห็น และ 3.การเยียวยา ในการทำงานของคณะทำงานตามที่ได้หารือกับนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. ในฐานะประธานคณะทำงานฯ มองว่าต้องมุ่งทำในมิติที่ 3 โดยเริ่มตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกาใหม่ แต่จากการสรุปสาระและหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา ตนมองว่าไม่ได้สร้างให้เกิดโอกาสการอยู่ร่วมกัน
"ดังนั้น ส่วนที่ทางคณะทำงานจะเดินหน้าได้คือ การทำงานในมิติที่ 2 คือ เปิดพื้นที่สาธารณะให้ภาคส่วนที่ขัดแย้งแสดงความเห็น เพราะจากการทำเวทีของผมในฐานะผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พบว่ากลุ่มการเมืองระดับพื้นที่ ยกเว้นแกนนำระดับบน หรือแกนนำพรรคการเมือง สามารถร่วมวงพูดคุยในรูปแบบของการปรึกษาหารือในมุมมองที่มีความเห็นร่วมกัน" พล.อ.เอกชัยกล่าว
@ เปิดพื้นที่คู่ขัดแย้งเสนอความเห็น
พล.อ.เอกชัย กล่าวต่อว่า การสร้างความปรองดองในมิติที่ 1 นั้นจากประสบการณ์ตนเห็นว่าต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถประชุมพรรคเพื่อหารือในแนวทางปฏิรูปหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ได้ นอกจากนั้นแล้วในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดมาตรการที่ลดการแข่งขันเพื่อเอาชนะ เช่น การให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งลำดับที่ 1 และ 2 ร่วมตั้งรัฐบาลได้ เพราะที่ผ่านมา เห็นชัดว่าแม้พรรคการเมืองที่เหมือนเป็นคู่ขัดแย้ง เช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ยังสามารถร่วมมือตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้
@ 'ไพบูลย์'ชงผลกระทบชุมนุม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.ในคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง กล่าวถึงกรอบการทำงานว่ายังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้เวลาศึกษาหรือพิจารณามากน้อยเท่าไร แต่ได้ยึดหลักคือทำโดยเร็ว ไม่เร่งรีบ และไม่เร่งรัด เพื่อให้ผลการทำงานที่เป็นประโยชน์ ในการประชุมนัดแรกนั้น ตนมีข้อเสนอให้ทางคณะทำงานสำรวจเกี่ยวกับข้อมูลประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ผ่านคณะทำงานที่เคยมีผลการศึกษาไว้แล้ว เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) นอกจากนั้นจะต้องเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนภาคประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มแกนนำซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมาแลกเปลี่ยนความเห็นหรือกำหนดแนวทางการรับฟังความเห็นอย่างไร รวมถึงให้ตัวแทนของกลุ่มประชาชนเป็นผู้ประสานงานในการทำงานด้วย
@ กกต.ชี้จ่ายเงินให้พรรคอยู่ที่คสช.
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์ที่อยากให้ทบทวนมติการตัดเงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองในปี 2558 ว่า กรณีดังกล่าว กกต.ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ยุติการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นการชั่วคราว แต่ถ้าจะให้ทบทวนพรรคการเมืองก็ต้องเสนอเรื่องมายัง กกต.เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาทบทวน แต่มติ กกต.เสียงส่วนใหญ่จะว่าอย่างไร คงต้องดูอีกที
"ทั้งนี้ก็เห็นใจพรรคการเมืองที่ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจจะต้องสำรองเงินไปก่อน เพราะคำสั่ง คสช.ก็บอกว่าเพียงชั่วคราวเท่านั้น" นายศุภชัยกล่าว
@ ลั่นเดินตามประกาศคสช.
รายงานข่าวจาก กกต.แจ้งว่า กกต.ได้พิจารณาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ที่กำหนดว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ในทางการเมือง และการดำเนินการเพื่อการจัดตั้ง หรือจดทะเบียนพรรคการเมือง ให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราวด้วย โดยก่อนที่ กกต.จะมีมติ ได้หารือกับที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. รวมถึงได้นำเข้าหารือกับที่ประชุมกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ที่มีตัวแทนพรรคการเมืองเป็นกรรมการแล้วด้วย ซึ่งในที่ประชุมตัวแทนพรรคการเมืองก็ได้โต้แย้งขึ้นมาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แต่ทางสำนักงาน กกต.เห็นว่า ประกาศ คสช.ถือเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม กกต.เห็นใจพรรคการเมืองที่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ กกต.ก็ไม่สามารถจ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองได้ เพราะประกาศ คสช.ยังคงห้ามพรรคการเมืองดำเนินการทางการเมืองอยู่ ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองทำหนังสือโต้แย้งมาจริง กกต.อาจจะมีการทบทวนอีกครั้งว่าจะสามารถช่วยเหลือเยียวยาอะไรได้มากน้อยอย่างไร ถ้าหากประกาศ คสช.ฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว จะมีการจ่ายเงินย้อนหลังได้หรือไม่นั้น คงต้องปรึกษาหารือกันในที่ประชุม กกต.ก่อนด้วย
@ ปนัดดาหนุนตั้ง'สมัชชาคุณธรรม'
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ สปช.เตรียมจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติว่า หาก สปช.คิดจะให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติขึ้นจริงเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและเป็นบรรทัดฐานในบริบทของหลักธรรมาภิบาลประเทศไทยทางการบริหารจัดการ คิดว่าดีมาก เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง จะช่วยพัฒนาแนวคิดทางการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยให้สามารถก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างมีความหวังใหม่ๆ เกิดขึ้นและบ้านเมืองอยู่ในครรลองคลองธรรม
"ขอชื่นชมแนวคิดนี้เพราะไม่มีประเทศใดหรือสังคมใดจะประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากหลักคิดหรือยุทธศาสตร์ทางคุณธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งในประเทศไทย ที่ผ่านมาหลายปี เราละเลยอย่างมากจนกลายเป็นว่ามองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติน่าจะเปรียบเหมือนกับฐานแห่งความถูกต้อง คุณความดี และความซื่อตรงได้ในทุกบริบท" ม.ล.ปนัดดากล่าว
@ ไก่อูชี้นิรโทษอยู่ที่นายกฯตัดสิน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอการนิรโทษกรรม ที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ระบุว่า หากพิจารณาเห็นว่าการนิรโทษกรรมมีความจำเป็นเร่งด่วนก็จะเสนอให้รัฐบาลและ คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 นิรโทษกรรมได้ ว่ารัฐบาลและ คสช.จะรับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เคยปรารภเรื่องนี้กับที่ประชุม ครม.แต่เชื่อว่าจะปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นประเด็นที่อ่อนไหวของสังคม
"ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ชี้แจงต่อสังคมมาโดยตลอดว่าเวลานี้ยังไม่ใช่จุดที่ท่านจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก ต้องรอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตกผลึกในเรื่องดังกล่าวก่อน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ ย้ำยังไม่ถึงเวลาเลิก'อัยการศึก'
พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ออกมาแสดงความคิดเห็นให้รัฐบาลทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการ ว่า ถือเป็นวิสัยทัศน์ของนายอภิสิทธิ์ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องรับฟังจากทุกภาคส่วน แต่ในขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้า คสช.ได้เคยชี้แจงไปหลายครั้งว่า ขณะนี้ยังมีความจำเป็นที่ต้องคงไว้ ซึ่งกฎอัยการศึกอยู่ เราจึงต้องเลือกระหว่างภาพลักษณ์ที่หลายคนมองว่า มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวกับความสงบที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ เพราะหากมีความสงบจะส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ได้เอง
"ซึ่งในเวทีนานาประเทศนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงความจำเป็นนี้ และทุกประเทศก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดี เวลานี้ความจำเป็นยังมีอยู่ เราจึงต้องเลือกเรื่องที่เร่งด่วนและสำคัญที่สุดก่อน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ ปีใหม่'บิ๊กตู่'พักผ่อนที่บ้าน
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค ทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ว่า นายกรัฐมนตรีพักผ่อนกับครอบครัวที่บ้านพักในกรุงเทพฯ ไม่ได้พาครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีถือโอกาสพักฟื้นจากอาการเป็นหวัดหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ จ.นราธิวาสและพังงา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเข้าทำงานได้เต็มที่
"ทั้งนี้ นายกฯจะเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลวันแรกในวันที่ 5 มกราคม โดยนายสมาน โอภาสวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจะนำคณะกรรมการเข้าพบเพื่อมอบของขวัญวันเด็ก ประจำปี 2558 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ช่วงบ่าย นายไบ๊ ชุนหลี่ ประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เข้าเยี่ยมคารวะที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล" พล.ต.วีรชนกล่าว
@ ทีมงาน'โอ๊ค'ตั้งฉายารบ.แทนสื่อ 'บิ๊กตู่'วิสัยทัศน์ยอดเยี่ยมแห่งปี
เมื่อวันที่ 3 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความโดยระบุว่าเป็นทีมงานเพื่อนโอ๊ค ตั้งฉายาให้บุคคลสำคัญ เนื่องจากสื่อมวลชนไม่กล้าตั้งฉายาให้กับรัฐบาล ให้ตรงกับค่านิยม 12 ประการ 1.นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ฉายาผิวหน้าแข็งแกร่งแห่งปี 2.หลวงลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ฉายาพระดีแห่งปี
3.กรวยแห่งหลวงปู่พุทธะอิสระ ฉายา วัตถุศักดิ์สิทธิ์แห่งปี 4.นางอมรา พงศาพิชญ์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ฉายาคนหายแห่งปี 5.ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี ฉายาผู้ทรงคุณธรรมแห่งปี 6.นายเสรี วงษ์มณฑา ฉายาเหยียดมนุษยชนยอดเยี่ยมแห่งปี 7.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฉายา พระเอกลิเกแห่งปี 8.นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ฉายาสองมาตรฐานแห่งปี 9.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ เศรษฐกิจ ฉายา งานก๊อบเกรดเอแห่งปี 10.คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฉายา คนขยันแห่งปี 11.ชาวสวนยางภาคใต้ ฉายา เจ็บปวดแห่งปี และ 12.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉายาวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยมแห่งปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ละชื่อจะมีความหมายที่มาของชื่อนั้นๆ อาทิ นายสมชัย ฉายาผิวหน้าแข็งแกร่งแห่งปี ทีมงานเพื่อนโอ๊คให้เหตุผลว่า ขยันให้สัมภาษณ์สื่อรายวัน เป็นกรรมการกลางฯ แต่เข้าข้างพรรคการเมืองหนึ่งอย่างเปิดเผย แต่งกลอนแสดงความไม่เป็นกลางอย่างไม่แคร์สื่อ มีความสนใจในการดูงานต่างประเทศ มากกว่าการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ เรียกได้ว่าขยันทำทุกเรื่องยกเว้นงานในหน้าที่ ปัจจุบันยังกินเงินภาษีประชาชนอยู่ทุกเดือน ในตำแหน่ง กกต.
พระสุเทพที่ได้ฉายาพระดีแห่งปี ทีมงานให้เหตุผลว่าเป็นแกนนำป่วนประเทศจนถึงทางตัน แอบอ้างความรักชาติ รักสถาบันฯ จนประเทศเสียหายหลายแสนล้าน หลังรัฐประหารดันยื่นใบเสร็จพันล้าน โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ อ้างว่าวางแผนกับ พล.อ.ประยุทธ์ในการโค่นล้มรัฐบาล จนต้องหนีไปบวช ปัจจุบันตั้งตนเป็นแกนนำพรรคพระพุทธเจ้า เดินสายเทศนาราวกับบวชมาหลายพรรษา แต่เทศเรื่องการเมืองอย่างเดียว ถือเป็นพระดีแห่งปี ที่มุ่งเน้นเอาชนะทางการเมือง
สำหรับ นางอมราฉายาคนหายแห่งปี ทีมงานมองว่า ออกแอ๊กชั่นดีเด่นช่วงต้นปีในการปกป้องม็อบ กปปส. แต่พอรัฐประหาร กลับหายเงียบ ไม่สนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป นักข่าวท่านใดต้องการสัมภาษณ์ ลองติดต่อศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา อาจพอจะเจอตัวอยู่บ้าง ม.ล.ปนัดดา ฉายาผู้ทรงคุณธรรมแห่งปี เพราะมีผลงานชิ้นโบดำให้กับรัฐบาลที่พยายามโชว์จุดยืนด้านความโปร่งใส ด้วยไมค์ทำเนียบฯ ที่ราคาแพงราวกับทองคำเป็นเจ้าของวาทกรรม "ไม่ได้โกง แค่ส่วนต่างเยอะ" มุขแป้กกับการถ่ายรูปตัวเองยืนเข้าคิวออกสื่อ หวังโปรโมตความเป็นคนดีของตนให้สังคมประจักษ์ แต่ไม่เนียนเลยไม่มีคนสนใจ
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ฉายางานก๊อบเกรดเอแห่งปี เพราะอ้างว่าเกลียดนโยบายประชานิยม แต่ลอกการบ้านเพื่อไทยแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ เรียกได้ว่า "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ หม่อมอุ๋ยก๊อบ" แล้วแก้ชื่อนโยบายใหม่ไปส่งครู และ พล.อ.ประยุทธ์ รับฉายา วิสัยทัศน์ยอดเยี่ยมแห่งปี เพราะเป็นผู้ที่มีไอเดียแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ แบบที่ไอน์สไตน์ยังคิดไม่ออก "อยากให้ยางราคาดี ให้ขนไปขายที่ดาวอังคาร" เป็นนักประพันธ์เจ้าของเพลงสุดฮิตแห่งปี คืนความสุข ซึ่งเด็ก 3 ขวบยังร้องได้คล่อง เพราะเปิดเช้าเปิดเย็นเปิดทุกช่อง แถมด้วยไอเดีย "ค่านิยม 12 ประการ" ที่ขนมาทั้งเพลง ทั้งหนัง ทั้งสติ๊กเกอร์ LINE อัดโปรโมตกันสุดฤทธิ์ มีวิสัยทัศน์ล้ำเลิศ คิดจะทำอะไรมักจะตรงกับทัศนคติของคนทั้งประเทศ ส่วนคนที่คิดต่าง ถูกเชิญไปปรับทัศนคติกันถ้วนหน้า ถือเป็นวิสัยทัศน์ทางการเมืองการปกครองที่ยอดเยี่ยมคลาสสิกเป็นที่สุด