- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 03 January 2015 22:13
- Hits: 4747
วันที่ 02 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8801 ข่าวสดรายวัน
3 พล.อ.ยันไม่ออก ควบรมต. ฉัตรชัย-ต๊อก-น้อย ลั่นเป็นทหารต่อ กสม.รับความจริง กก.โลกลดเกรด
ถวายพระพร - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา และคณะรัฐมนตรี ลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2558 ที่ศาลาว่าการพระราชวัง เมื่อวันที่ 1 ม.ค. |
พล.อ. 3 รมต.'ฉัตรชัย-ไพบูลย์-สุรเชษฐ์'โต้ลาออกจากกองทัพก่อนเกษียณ ยันนั่งควบไม่มีปัญหา ถามหาคนปล่อยข่าว 2 ผู้ช่วยผบ.ทบ.ปัดตอบศึกชิงเก้าอี้ผู้นำทัพบก 'อนุพงษ์'ยอมรับงานของคสช.-รัฐบาลยังมีปัญหา แต่เชื่อประชาชนยังพอใจในตัว"บิ๊กตู่" สื่อทำเนียบ-รัฐสภางดตั้งฉายารัฐบาล-ฝ่ายนิติบัญญัติ เหตุอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ กมธ.ยกร่างฯแจงข้อเสนอยังแก้ไขได้อีก แค่สรุปเบื้องต้น เตรียมนัดสื่อติวเข้มสัปดาห์หน้า ก่อนร่วมฟังการพิจารณารายมาตราเริ่ม 12 ม.ค. สปช.ชงตั้งสมัชชาคุณธรรม 6 ม.ค.นี้ คุมจริยธรรมนักการเมือง กสม.ยอมรับสภาพถูกไอซีซีลดเหลือเกรดบี ชี้ปัญหาเกิดจากรธน. ปี 50 และกฎหมายลูกยังไม่ผ่านสภา
'บิ๊กนมชง'โต้ไม่ออกก่อนเกษียณ
วันที่ 1 ม.ค. "บิ๊กนมชง"พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ และรองผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสข่าวจะลาออกจากตำแหน่งรองผบ.ทบ. ก่อนเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารงานกองทัพ และจะได้ทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับรัฐบาลอย่างเต็มที่ว่า ไม่มี ยังไม่มีแนวคิดจะลาออกเพราะตอนนี้ทำงานทั้ง 2 ตำแหน่งได้ ไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่าหมายความว่าจะไม่ลาออก จาก รองผบ.ทบ.ก่อนเกษียณใช่หรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ไม่รู้ข่าวมาจากไหน อยากรู้เหมือนกันว่าทำไมถึงมีการปล่อยข่าวลักษณะนี้ออกมา
บิ๊กต๊อกลั่นไม่มีใครกดดันให้ลาออก
"บิ๊กต๊อก"พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองผบ.สส. ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวจะลาออกจากรองผบ.สส.ก่อนเกษียณว่า ไม่เป็นความจริง และไม่เคยได้ยินใครพูดว่านายทหารมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้งานกองทัพหยุดชะงัก จึงไม่รู้จะตอบอย่างไร และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูล ใครเป็น ผู้พูด กระแสข่าวนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ตนไม่ทราบเพราะไม่มีใครมาพูดให้ได้ยินตนยังไม่ได้ลาออก เพราะอยากเป็นทหาร หากจะลาออกก็ควรลาออกจากรัฐมนตรีมาก กว่า ซึ่งอยู่ที่นายกฯเป็นผู้พิจารณาปรับย้าย
"ที่บอกว่าผมชอบที่จะเป็นทหารและชอบชีวิตทหาร เพราะรับราชการมานานจนจะเกษียณแล้วก็ต้องอยากเป็นทหารมากที่สุดเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมไม่เคยได้ยินข่าวนี้ ส่วนที่มองว่ามีคนกดดันให้ลาออกก่อนเกษียณนั้น ไม่มีใครกดดันผม และผมไม่ขอตอบเพราะไม่อยากทำให้เกิดปัญหาที่ไม่จบ" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจ ที่อยู่ดีๆ ก็มีข่าวดังกล่าว แต่เชื่อว่าสามารถหาคนปล่อยข่าวนี้ได้อย่างแน่นอน
บิ๊กน้อยก็ไม่ออกเช่นกัน
ขณะที่"บิ๊กน้อย"พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา และรมช.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 นายพลที่เป็นข่าว ก็ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวเช่นกัน
'น้องบิ๊กตู่'ชี้เป็นแค่ข่าวลือ
พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ. และเป็นน้องชายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเป็นหนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งรองผบ.ทบ. เพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งผบ.ทบ. หากพล.อ.ฉัตรชัยลาออกจากรองผบ.ทบ.ก่อนเกษียณในเดือนก.ย.นี้ว่า เป็นเพียงข่าวลือและข่าวปล่อย ตนไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหนและไม่ทราบที่มาของข่าวจึงขอไม่พูดถึงเรื่องนี้
ด้านพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้รองผบ.ทบ. เพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งผบ.ทบ.อีกคน กล่าวว่า ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ทุกคนก็ต้องมีความพร้อมที่จะเป็นหากได้รับการคัดเลือก ขอให้ถึงเวลานั้นก่อน
อนุพงษ์ ยอมรับงานคสช.ยังมีปัญหา
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการทำงาน 6 เดือนของ คสช.และ 3 เดือนของรัฐบาลว่า มีปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุงหลายเรื่อง เช่น การให้บริการประชาชนด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว การแก้ปัญหายาเสพติดที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง ปัญหาขยะ ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการจัดระเบียบพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่จังหวัดต่างๆ การดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งเชื่อว่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมร่วมมือทำงานอย่างเต็มที่ มีการติดตามงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองนั้น รมว.มหาดไทยกล่าวว่า เชื่อว่าประชาชนยังมั่นใจในตัวนายกฯ เป็นลำดับแรก ถัดมาคือยอมรับการทำงานของครม.ชุดนี้ได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ลำบาก เศรษฐกิจไม่ดี ราคาข้าวราคายางลง การส่งออกชะลอลง แต่ทุกคนยังให้โอกาสรัฐบาลทำงาน ยิ่งเป็นแรงกดดันที่รัฐบาลต้องขยันทำงานให้มากและหวังว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น ทำให้เราส่งออกได้มากขึ้น ถ้าปีหน้า เราเปิดอาเซียนแล้วเราทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นได้ทุกภาคส่วนคงเป็นสิ่งดีกับประชาชน
'สุวพันธุ์'เร่งขันนอตขรก.
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงนายกฯระบุให้หน่วยงานราชการต่างๆ กระตุ้นการทำงานในปี 2558 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ซึ่งตนเป็นประธาน จะปรับรูปแบบวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกฯ โดยให้น้ำหนักกับการเร่งขับเคลื่อนงานต่างๆ มากขึ้น หลังจากแต่ละกระทรวงส่งรายงานผลการทำงานมาแล้ว เราจะพิจารณาว่าในแต่ละเดือนเรื่องที่เป็นนโยบายสำคัญ มีแผนงานหรือโครงการใดที่จำเป็นหรือมีผลต่อประชาชนและสังคม นอกจากนี้จะกำชับกับส่วนราชการต่างๆ ว่าสิ่งที่เป็นข้อสั่งการของนายกฯหรือครม. หน่วยงานนั้นดำเนินการอย่างไรบ้าง มีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน ใช้งบอย่างไร เพื่อให้แนวทางการทำงานเข้มข้นขึ้น
สื่อทำเนียบแจงงดตั้งฉายาครม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ออกแถลงการณ์กรณีการตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีว่า ตามที่เคยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนประจำทำเนียบต่อ การทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี แต่ปีนี้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีพิเศษและไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้น ตามหลักปฏิบัติที่กำหนดว่ากรณีรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติจะไม่มีการตั้งฉายา ในปีนี้จึงมีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้ การงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 จนมีรัฐบาลรักษาการหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังเกิดปฏิวัติปี 2549 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในปี 2550 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2551
สภางดเช่นกัน-ลั่นตรวจสอบเข้มข้น
ขณะที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ออกแถลงการณ์งดการตั้งฉายารัฐสภาประจำปี 2557 มีเนื้อหาระบุว่า เป็นประจำทุกปีที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจะตั้งฉายาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อสะท้อนถึงการทำงานของผู้แทนปวงชนชาวไทยตลอดปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2557 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ คือมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะงดการตั้งฉายา ซึ่งยึดถือตามธรรม เนียมปฏิบัติคือ ถ้าเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยน แปลงทางการเมืองในปีใด จะงดตั้งฉายา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติในปีนั้น เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดนำฉายารัฐสภาที่ตั้งขึ้นด้วยความสุจริตไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง เหมือนที่เคยงดการตั้งฉายารัฐสภาเมื่อปี 2549 หลังเกิดรัฐประหาร และปี 2556 หลังรัฐบาลขณะนั้นประกาศยุบสภา
สื่อมวลชนประจำรัฐสภายังยืนยันจะทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบจรรยาบรรณของสื่อมวลชนต่อไป
กมธ.ยันข้อเสนอร่างรธน.ยังปรับได้
นายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ กล่าวกรณีสมาชิกสปช.จังหวัดบางคนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกมธ.ยกร่างฯที่เสนอให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งและส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองว่า ต้องชี้แจงว่าข้อเสนอบางประเด็นที่ออกมานั้น กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เห็นเหมือนกันหมดทุกคน เพียงแต่เสียงส่วนใหญ่เห็นไปในทางนี้ก็สรุปไปก่อน เป็นความเห็นเบื้องต้น เพราะกระบวนการรับฟังของประชาชนยังคงมีต่อไป ขณะเดียวกันนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ระบุว่าทุกเรื่องยังปรับปรุงแก้ไขได้ ฉะนั้น ระหว่างนี้ข้อเสนอของกมธ.ยกร่างฯจะเป็นตุ๊กตาเพื่อนำไปเขียนลงรายละเอียดแบบมาตรา
นายวุฒิสาร กล่าวว่า ทั้งนี้ในแต่ละประเด็น เมื่อกระบวนการรับฟังมากขึ้น นำเอาเหตุและผลมาเปรียบเทียบว่าคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีเหตุผลอย่างไร ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการก็จะเลือกแนวทางที่เหมาะกับสังคมไทย เพื่อช่วยให้การแก้ปัญหาประเทศเดินหน้าไปได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นหลักการที่กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณา ดังนั้น ข้อเสนอ ที่ออกมานั้นไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขไม่ได้เลย
บวรศักดิ์ นัดติวเข้ม-แจงกฎเหล็กสื่อ
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะนัดสื่อมวลชน อาทิ คอลัมนิสต์ ผู้จัดรายการทางสถานีโทรทัศน์-สถานีวิทยุ ผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การเชิญสื่อเข้าฟังการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของ กมธ.ยกร่างฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.นี้ โดยมีหลักเกณฑ์ 1.สื่อทั้งไทยและต่างประเทศที่เข้าฟังต้องไม่รบกวนการทำงานของกมธ.
2.สื่อถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพื่อนำไปประกอบการเสนอข่าว โดยให้ถ่ายภาพในวาระเริ่มแรกการประชุมในแต่ละวันด้วยเวลาพอสมควร 3.การให้สื่อเข้าฟังการพิจารณาเป็นรายมาตรานั้น จะเว้นการรับฟังในการพิจารณาบางมาตรา บางหมวด หรือบางภาคที่เป็นความละเอียดอ่อน และมีข้อถกเถียงของกมธ.อยู่มาก และ4.กมธ.ยกร่างฯไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดทั้งภาพและเสียงหรือถ่ายภาพนิ่งหรือความเคลื่อนไหวระหว่างการอภิปรายของกมธ.
เล็งเคาะงบพีอาร์รธน.ฉบับปฏิรูป
นายมานิจ ในฐานะคณะทำงานสื่อสารกับสังคม กล่าวถึงการทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปว่า ภายในสัปดาห์หน้า น.ส.อ่อนอุษา ลำเลียงพล ประธาน กมธ.วิสามัญประชา สัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป สปช. ที่เข้ามาช่วยทำแผนประชาสัมพันธ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำแผนประชาสัม พันธ์มาเสนอคณะทำงานฯ เบื้องต้นจะใช้พื้นที่สื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคม ขณะที่งบประมาณยังไม่สรุป เพราะต้องรอพิจารณาแผนประชาสัมพันธ์ที่จะเสนอก่อน
สนช.ตั้งกก.วิชาการกลั่นกรองกม.
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 กล่าวว่า การทำงานของสนช.ตลอด 5 เดือนในปี 2557 มีกฎหมายผ่านการพิจารณาวาระ 3 ทั้งสิ้น 72 ฉบับ ค้างการพิจารณาในวาระ 2 เพียง 9 ฉบับ เชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ได้ทั้งหมดในช่วงต้นปีนี้ ล่าสุดรัฐบาลเสนอกฎหมายให้สนช.พิจารณาถึง 163 ฉบับ เบื้องต้น สนช.หารือถึงการทำงานที่จะครบกำหนดตามโรดแม็ประยะที่ 2 ของ คสช.ในปีนี้ จึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือสมาชิกสนช.พิจารณากฎหมายให้ละเอียดรอบคอบ โดยตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นมาช่วยศึกษา แบ่งกฎหมายเป็นประเภทต่างๆ เช่น กฎหมายนโยบาย กฎหมายที่มีความต่อเนื่องและข้อตกลงระหว่างประเทศ และช่วยดูว่าสมาชิกควรอภิปรายประเด็นไหน ใครจะมีส่วนร่วมในกมธ.บ้าง จึงคาดว่าจะพิจารณากฎหมายทั้งหมดได้ภายในเดือน ต.ค.
ย้ำให้ความสำคัญพ.ร.บ.ภาษีมรดก
นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่หนักใจในการพิจารณากฎหมายทั้งหมด จะดำเนินการอย่างรัดกุมตามนโยบายที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ต้องการให้กฎหมายมีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี ส่วนกฎหมายที่สนช.มอบให้ประชาชนในวันปีใหม่ จะเป็นประเภทลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ประกาศใช้ไปแล้ว ได้แก่ กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกฎหมายติดตามการทวงหนี้ ส่วนที่มีสมาชิกสนช.เป็นทหารจำนวนมากนั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหา บางคนเก่งกว่านักกฎหมาย จึงไม่อยากให้แยกว่าเป็นทหาร ตำรวจ นักกฎหมาย ทุกคนเข้าใจบทบาทของตัวเองดี แต่อาจมีกฎหมายบางฉบับที่ต้องใช้เวลาศึกษามาก เช่น กฎหมายการรับภาษีมรดก และกฎหมายภาษีที่ดิน
"สนช.ให้ความสำคัญกับกฎหมายการรับภาษีมรดกมาก เราขอเวลาพิจารณาในชั้นกมธ.นานถึง 90 วัน จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจการพิจารณาของเรา ซึ่งจะเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในชั้นแปรญัตติ และพิจารณาในวาระ 2 ให้มากขึ้น" นายพีระศักดิ์กล่าว
สปช.เตรียมตั้งสมัชชาคุณธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ระบุถึงแนวทางการตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้น เว็บไซต์ สปช.เผยแพร่วาระการประชุมสปช. ในวันที่ 6 ม.ค. มีเรื่องสำคัญคือรายงานศึกษาเรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติกับการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน ศึกษาโดย กมธ.ปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ที่มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน
มีรายละเอียด ดังนี้ 1.การจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานคุณ ธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง กรรมการในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นักการเมืองท้องถิ่น องค์กรธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ
2.ทำพ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ....โดยยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2550 และยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 เพื่อทำหน้าที่รณรงค์สังคมในการฟื้นฟู แก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลให้เกิดผลต่อการปฏิรูปก่อนมีรัฐบาลปกติ โดยมี 3 กลไกหลัก คือ 1.คณะกรรมการ ประกอบด้วยประธาน 1 คน และกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มีหน้าที่สำคัญคือกำหนดมาตรฐานจริยธรรม คุณ ธรรม ธรรมาภิบาล และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กรณีมีผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดตามมาตรฐาน โดยกรรมการชุดนี้จะได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เฉพาะเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยไม่มีค่าตอบแทนรายเดือน
มีไม่เกิน 55 คน-ไม่มีเงินเดือน
2.ที่ประชุมสมัชชาฯ ประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายของภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 55 คน ต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีหน้าที่เหมือนกรรมการสมัชชาคุณ ธรรมฯ และไม่มีค่าตอบแทนรายเดือน จะได้รับค่าตอบแทนเฉพาะเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้น และ 3.จัดตั้งสำนักงานคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบงานธุรการ โดยให้ศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) มาเป็นสำนักงานคุณธรรมจริยธรรมฯ ตามพ.ร.บ.นี้ ขณะที่ทุน รายได้ ทรัพย์สินตามพ.ร.บ.นี้จะได้มาจากเงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากศูนย์คุณธรรม รัฐบาลอุดหนุนเป็นรายปี และเงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นทั้งต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หรือเงิน และทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค
ส่วนข้อเสนอประกอบการพิจารณา คือหากที่ประชุม สปช.เห็นชอบแล้ว ให้เสนอเรื่องไปยัง ครม.พิจารณาและมีมติยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมฯ โดยทันที และออกพ.ร.ฎ.ยกเลิกพ.ร.ฎ.จัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) พ.ศ.2554 เพื่อมีพ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ..... แล้ว เสนอให้ สนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และให้ ครม.สนับสนุนการรณรงค์ การรวมพลังของเครือข่ายทางสังคมเพื่อฟื้นฟู แก้ปัญหาและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน
พท.โวยนายกฯคนนอก-อคติปชต.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากเห็นการร่างที่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ส่วนแนวคิดของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมาจากคนนอกได้นั้น เป็นแนวคิดที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วเหมือนดูถูกประชาชน ข้ออ้างที่ระบุนายกฯ มาจากเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ในภาวะวิกฤตนั้น ต้องดูสาเหตุว่าทำงานไม่ได้เพราะอะไร มีการสั่งการให้หน่วยงานต่างๆเกียร์ว่าง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ใช่หรือไม่ และกลุ่มบุคคลที่ทำปฏิวัติมี การเตรียมการมาเป็นปีแล้วใช่หรือไม่ หากกองทัพขณะนั้นทำงานยังแข็งขันเหมือนกับหลังปฏิวัติ ก็คงไม่จำเป็นต้องปฏิวัติ
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ไม่อยากให้เบี่ยงเบนประเด็นว่าต้องมีนายกฯ คนนอก ความจริงหากปล่อยให้ระบบทำงานและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ครบเทอม ประเทศไทย จะพัฒนาได้ดีกว่านี้ หากรัฐบาลทำไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือก จะหันไปเลือกพรรคฝ่ายค้านมาบริหารแทน ซึ่งเป็นระบบสากลที่ประชาคมโลกยอมรับ การจะมีนายกฯ คนนอกที่เกิดจากการแทรกแซงให้รัฐบาลทำงานไม่ได้จึงไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง การมีทัศนคติที่เป็นลบกับนักการเมือง พรรค การเมือง ถือว่าหนักแล้ว แต่ถึงขั้นมีอคติกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงถือว่าเข้าขั้นวิกฤต
จี้กมธ.อย่าฝืนความจริง
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการปฏิรูปว่า ต้องถามสมาชิก สนช.และ สปช.ว่าคำนึงถึงความหมายของการปฏิรูปที่แปลว่าทำใหม่ให้ดีกว่าเดิมหรือไม่ และต้องถาม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการนำระบบต่างประเทศมาใช้ในไทยนั้น เอามาใช้ทั้งหมดหรือเอามาเฉพาะส่วนที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ ส่วนที่จะปฏิรูปนักการเมืองและด่าว่านักการเมืองนั้น ต้องย้อนถามว่าใครดีกว่าใคร ถามว่าวันนี้มีคนที่จะสร้างความเป็นธรรมได้หรือยัง และจะยุติการด่าอีกฝ่ายอย่างสาดเสียเทเสียอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้จะถูกถามในปีนี้
นายสมคิดกล่าวว่า ดังนั้น อย่าสร้างวิกฤตรัฐธรรมนูญ และอยากให้ กมธ.ยกร่างฯ คิดอย่างเป็นธรรม อย่าฝืนความจริง อย่าฝืนความรู้สึกของคนหมู่มาก ที่สำคัญอย่าฝืนความเป็นประชาธิปไตยและต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมส.ส.ต้องมี 250 คน และทำไมส.ว.ต้องสรรหา 200 คน ทำไมต้องมีส.ส.บัญชีรายชื่อต้องมี 200 คน ทำไมจึงให้อำนาจส.ว.และลดอำนาจส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ขอย้ำอีกครั้ง กมธ.ยกร่างฯ ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญและคำนึงถึงประโยคที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนในรัฐธรรมนูญ
"บัญญัติ"ชี้ 3ตัวแปรทำการเมืองร้อน
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภา ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความพยายามแก้ปัญหาขัดแย้งของคนในชาติด้วยการบัญญัติเรื่องความปรองดองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ทุกคนอยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเลิกแล้วต่อกันทั้งหมด สิ่งแรกคือต้องแยกเรื่องความผิดที่ควรได้รับการปรองดองก่อนว่าควรเป็นความผิดประเภทไหนอย่างไร เท่าที่ฟังจากบุคคลที่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้บอกว่าจะกำหนดความผิด 3 ประเภทที่จะไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ คือ 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
2.ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น และ 3.ความผิดอาญาที่ทำให้คนตาย ซึ่งพอรับฟังได้ แต่ยังมีฐานความผิดอีกอย่างที่ควรคิดคือการวางเพลิงเผาทรัพย์ทั้งสถานที่ราชการและอาคารบ้านเรือนเอกชน ที่เป็นความผิดร้ายแรง เพราะการนิรโทษกรรมจะทำเฉพาะความผิดทางการเมืองหรือเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางการเมือง เช่น ชุมนุมแล้วได้รับความกดดันมากทำลายข้าวของในบริเวณที่ชุมนุมอย่างนี้ถือว่ามีเหตุผล แต่บางกรณี เช่น มีการประกาศให้เตรียมอุปกรณ์มาจากบ้าน ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องแต่เตรียมการเอาไว้ก่อนยิ่งมีโทษร้ายแรง เพราะเป็นความผิดที่ไตร่ตรองไว้ก่อน
ย้ำนิรโทษกรรมต้องรอบคอบ
นายบัญญัติกล่าวว่า หวังว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นจะทำให้ระมัดระวังมากขึ้น นับตั้งแต่การกำหนดฐานความผิดที่ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งนักวิชาการมีการตั้งโจทย์มากกว่านี้ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ควรมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ก่อนนิรโทษกรรมต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และเปิดเผยให้สังคมรับรู้เพื่อเป็นบทเรียนจะได้ไม่เกิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องสำนึกผิดด้วยถึงจะนิรโทษกรรมให้ และต้องไม่ทำลายหลักการกระบวนการยุติธรรมคือคนทำผิดต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ของนายคณิต ณ นคร เน้นว่าต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ตึงเหมือนกรณีธรรมดา โดยใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวมากขึ้น และเคารพสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง
นายบัญญัติกล่าวว่า ไม่น่ากังวลว่าสังคมจะรับเรื่องนี้ไม่ได้ ถ้าเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับรู้ที่มาต่างๆ และกำลังทำอะไร แต่ถ้าอยู่ๆ เกิดมานิรโทษกรรมแบบไม่จำกัดความผิดหรือทำแบบเลิกแล้วกันไปเลย หรือลืมกันเสียเถอะ สังคมรับไม่ได้แน่นอน แทนที่มันจะปรองดองแต่กลับเกิดความขัดแย้งรอบใหม่อีกครั้ง ทุกฝ่ายได้รับบทเรียนมามากแล้ว คสช.และรัฐบาลต้องระวังเป็นพิเศษ ตอนนี้ยังไม่คิดว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือจะเกิดความขัดแย้งใหม่ และมันไม่ควรเกิดขึ้น
จี้รัฐบาลแยกกลุ่มคลื่นใต้น้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มที่สมควรได้รับ คิดว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นตามที่ทุกฝ่ายเรียกหาหรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า แน่นอน อย่างน้อยทำให้เขารู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน การปรองดองเป็นเรื่องดีแต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ สังคมพอใจ การตั้งคณะกรรมการปรองดองเป็นสิ่งที่ดีไม่น่ามีปัญหา อะไรที่ลดความ ขัดแย้งได้จริง ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งใหม่ก็ควรสนับสนุนทั้งสิ้น
"ต้องยอมรับว่าคลื่นใต้น้ำมีหลายระดับ ระดับหนึ่งคือพวกหัวเด็ดตีนขาดก็จะเป็นคลื่นใต้น้ำ ตรงนี้จะไม่ปลี่ยนแปลง แต่อีกระดับที่สำคัญต่อการเมืองอย่างมากคือกลุ่มที่เข้าไปผสมโรงเพราะหลงผิด รู้สึกว่าพรรคพวกหรือตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเข้าใจผิดหรือได้รับข้อมูลข่าวสารด้านเดียว รัฐบาลต้องมีความละเอียดอ่อนที่จะดึงคนกลุ่มนี้ออกไป ถ้าทำให้พวกเขาเข้าใจและถอยห่างออกมา จะทำให้กลุ่มใต้น้ำลดกำลังลงไปพอสมควร" นายบัญญัติกล่าว
กสม.ยอมรับถูกไอซีซีลดเกรด
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ไอซีซี) มีมติให้ลดระดับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย จากเกรดเอ ลงมาเกรดบีว่า กสม.ได้รับหนังสือจากไอซีซีแล้ว สาเหตุเกิดจากปัญหาระบบโครงสร้างและกระบวนการ สรรหากสม. เนื่องจากกสม.ชุดปัจจุบันซึ่งเป็นชุดที่สอง ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตุลาการตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนด ซึ่งแตกต่างจากชุดแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยคณะกรรมการสรรหาจะประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาสังคม ดังนั้น การสรรหากสม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ค่อนข้างขัดกับหลักการปารีสที่ระบุว่าการสรรหากสม.ต้องยึดโยงกับภาคประชาสังคม อีกทั้งยังลดจำนวนกสม.ลงจาก 11 คน เหลือ 7 คน ทำให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอาจไม่ครอบคลุมและทันต่อเหตุการณ์
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า รวมทั้งกรณีกฎหมายของกสม.ยังไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากยังค้างอยู่ในสภา ทำให้การทำงานไม่คล่องตัว แตกต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ นอกจากนี้เรายังถูกประเมินถึงการทำงานในช่วงชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2551, 2553 จนมาถึงปี 2556 ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากระบบการทำงานภายในสำนักงานกสม.เอง อย่างรายงานกสม.ที่เกี่ยวกับการชุมนุมปี 2553 ที่ออกมาล่าช้า เรายอมรับว่าต้องปรับปรุงการทำงาน หากแต่เราไม่ได้ทำงานเฉพาะเขียนรายงาน เรามีส่วนร่วมตรวจสอบการคุ้มครองสิทธิของประชาชน
ยันไม่กระทบการทำงาน
"เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข แต่คงไม่กระทบต่อการทำงานของ กสม.มากนัก และไม่วิตกกังวลหรือท้อแท้ แต่เราต้องนำประเด็นที่ถูกประเมินนี้มาปรับปรุงแก้ไขทำให้องค์กรเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากเรื่องสิทธิเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่การปรับปรุงจำเป็นต้องใช้เวลา" นพ.นิรันดร์กล่าว
ด้านนายปริญญา ศิริสารการ กสม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม.ยังไม่มีพ.ร.บ.เป็นของตัวเอง ระบบการคัดสรรก็ถูกมองว่ามีปัญหา ไอซีซีเลยมองว่ากสม.ไม่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อไอซีซีมีมติแนะนำให้ลดเกรดกสม.ลงเช่นนี้ ถือว่าไม่ดีต่อภาพลักษณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในไทย อย่างประเด็นที่ถูกประเมินเกี่ยวกับการทำรายงานในช่วงชุมนุมทางการเมืองปี 2553 นั้น เราต้องยอมรับว่าการทำงานล่าช้า ข้อมูลเป็นลักษณะเชิงบอกเล่า กสม.จึงถูกมองว่ามีความลังเล แต่การชุมนุมภายหลัง อย่างตอนกปปส.เราถือว่ามีประสบการณ์มากขึ้นและการทำงานก็รวดเร็วขึ้น เพียงแต่มีการยึดอำนาจก่อนจึงต้องเลื่อนการแถลงสรุปรายงาน แต่เมื่อไอซีซีประเมินมาเช่นนี้เราต้องยอมรับและนำมาปรับปรุงแก้ไข หากประเด็นนี้เป็นปัจจัยทำให้ถูกยุบองค์กร เราจะไม่ปกป้องตัวเอง แต่ขอให้งานสิทธิมนุษยชนต่างๆ ไม่ว่าขององค์กรใดไม่ควรหายไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นานาชาติจับตาดูอยู่
นายกฯนำครม.ถวายพระพรปีใหม่
วันที่ 1 ม.ค. ที่ศาลาว่าการพระราชวัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา และคณะรัฐมนตรี ถวายแจกันดอกไม้หน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2558
นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ประธานศาล ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวง องค์กรอิสระ อดีตนักการเมืองและภาคเอกชน มาร่วมลงนามถวายพระพรอย่างต่อเนื่อง เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. รวมถึงนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
สำหรับบรรยากาศที่ศาลาสหทัยสมาคม และสนามหญ้าข้างศาลาลูกขุน ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน มาร่วมลงนามอย่างเนืองแน่น โดยผู้มาร่วมลงนามจะได้รับปฏิทินหลวง พ.ศ.2558 เป็นที่ระลึก ทั้งนี้ สำนักพระราชวังจะเปิดให้ลงนามถวายพระพร จนถึงเวลา 17.00 น.