WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

2 เต็งผบ.ทบ.ชี้ข่าวปล่อย บีบ'3 รมต.'พ้นกองทัพ-หลีกให้น้อง ธีรชัย-ปรีชาไม่ขอเม้นต์ แต่พร้อมถ้าได้รับเลือก สื่อแถลงงดตั้งฉายารบ. เหตุมาจากรัฐประหาร กสม.แจงวุ่นถูกลดเกรด

มติชนออนไลน์ :  


     สื่อทำเนียบฯ-รัฐสภาแจงงดตั้งฉายา'ครม.บิ๊กตู่'ชี้เหตุไม่ใช่รัฐบาลเลือกตั้ง กมธ.ยกร่างฯชี้ที่มานายกฯ-ส.ส.ยังไม่ยุติ แค่ตุ๊กตาใช้รับฟังความคิดเห็น 'บวรศักดิ์'นัดสื่อแจงข้อปฏิบัติฟังยกร่าง รธน. 2 รัฐมนตรีไม่ตอบปมไขก๊อกพ้นกองทัพ'บิ๊กต๊อก'ลั่นไม่มีใครกดดัน'หมอนิรันดร์'ไม่กังวลไอซีซีลดเกรด

'บวรศักดิ์'นัดสื่อแจงยกร่างฯ

      เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะนัดสื่อมวลชน อาทิ คอลัมนิสต์ ผู้จัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ ผู้จัดรายการสถานีวิทยุ ผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและสรุปในหลักการสาระสำคัญมาบ้างแล้ว 

     นายมานิจ กล่าวว่า คาดว่าจะมีการชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การเชิญสื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคมนี้ โดยมีหลักเกณฑ์คือ 1.สื่อมวลชนที่เข้าฟังต้องไม่รบกวนการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ 2.สามารถถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในวาระเริ่มแรกของการประชุมในแต่ละวันด้วยเวลาพอสมควร 3.การให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น จะเว้นการรับฟังในการพิจารณาบางมาตรา บางหมวด หรือบางภาคที่เป็นความละเอียดอ่อน และมีข้อถกเถียงของ กมธ.อยู่มาก และ 4.ไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสด ทั้งภาพและเสียง หรือถ่ายภาพนิ่งหรือความเคลื่อนไหวในระหว่างการอภิปรายของ กมธ.ยกร่างฯ 

'วุฒิสาร'แจงปม'นายก'ยังไม่ยุติ

     นายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จ.นนทบุรี ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เสนอให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ว่า ต้องชี้แจงว่าข้อเสนอบางประเด็นที่เสนอออกมานั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เห็นเหมือนกันหมดทุกคน เพียงแต่มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งข้อเสนอนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นเท่านั้น กระบวนการรับฟังของประชาชนก็ยังคงต้องมีต่อไป ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ก็ระบุด้วยว่าทุกเรื่องยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นระหว่างนี้ข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯจะเป็นตุ๊กตาเพื่อนำไปเขียนลงรายละเอียดแบบมาตรา 

     "มองว่า ในแต่ละประเด็น เมื่อกระบวนการรับฟังมากขึ้น มีการนำเอาเหตุและผลมาเปรียบเทียบว่าคนที่เห็นด้วยมีเหตุผลอย่างไร คนที่ไม่เห็นด้วยมีเหตุผลอย่างไร ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการก็คงจะไปเลือกแนวทางที่เหมาะกับสังคมไทย ที่ช่วยทำให้การแก้ปัญหาประเทศเดินหน้าไปได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นหลักการที่ กมธ.ยกร่างฯจะไปพิจารณา" นายวุฒิสารกล่าว 

พท.ค้านนายกฯคนนอก

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากเห็นการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากลและยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด อยากเห็นนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง โดยข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก ถือเป็นแนวความคิดที่ต่างกันราวกับฟ้ากับเหว ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วเหมือนการดูถูกประชาชน 

นายอนุสรณ์กล่าวว่า ข้อกล่าวอ้างว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ในสภาวะวิกฤตนั้น ต้องดูสาเหตุว่าทำงานไม่ได้เพราะอะไร มีกระบวนการจงใจสร้างให้ทำงานไม่ได้อย่างเป็นกระบวนการหรือไม่ มีการสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ให้เกียร์ว่าง เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใช่หรือไม่ 

"ลำพังการมีทัศนคติที่เป็นลบกับนักการเมืองและพรรคการเมืองก็ถือว่าหนักแล้ว นี่ไปไกลถึงขั้นมีอคติกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงถือว่าเข้าขั้นวิกฤต" นายอนุสรณ์กล่าว 

เตือนอย่าฝืนความเป็นปชต.

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พท. กล่าวว่า คำว่าปฏิรูป แปลว่า ทำให้ดีกว่าเดิม วันนี้ขอย้อนถามผู้ที่คิดปฏิรูป ทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าได้คำนึงหรือไม่ สุดท้ายขอถาม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า การอ้างเอารูปแบบต่างประเทศมาใช้นั้น เอามาทั้งหมดหรือเอามาเฉพาะส่วนที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ ดังนั้น อย่าสร้างวิกฤตรัฐธรรมนูญ ขอให้ กมธ.ยกร่างฯคิดอย่างง่ายๆ และเป็นธรรม อย่าฝืนความเป็นจริง อย่าฝืนความรู้สึกของคนหมู่มาก ที่สำคัญอย่าฝืนความเป็นประชาธิปไตย 

นายสมคิดกล่าวว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องตอบคำถามให้ได้ ว่าทำไม ส.ส.ต้อง 250 คน ทำไม ส.ว.ต้องสรรหา 200 คน ทำไม ส.ส.บัญชีรายชื่อต้อง 200 คน และทำไมจึงให้อำนาจ ส.ว.มากมาย แล้วลดอำนาจ ส.ส.ที่เขามาจากการเลือกตั้ง 

"บัญญัติ"ห่วงปมนิรโทษกรรม 

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการบัญญัติเรื่องความปรองดองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าความปรองดองไม่ใช่หมายความว่าเลิกแล้วต่อกันไป ต้องแยกประเภทความผิดที่ควรได้รับการปรองดองก่อนว่าควรเป็นความผิดประเภทไหน นอกจากนี้ การนิรโทษกรรมควรมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1.ก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรมต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเปิดเผยให้สังคมรับรู้เพื่อเป็นบทเรียน 2.ผู้กระทำต้องสำนึกผิดด้วยถึงจะมีการนิรโทษกรรมให้ และ 3.ต้องไม่ทำลายหลักการกระบวนการยุติธรรม คือคนทำผิดต้องถูกดำเนินคดี 

นายบัญญัติกล่าวว่า ถ้านิรโทษกรรมแบบไม่จำกัดความผิด คิดว่าสังคมรับไม่ได้แน่นอน มิเช่นนั้นแทนที่จะเกิดความปรองดอง แต่กลับจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่อีกครั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

สื่อแจงงดตั้งฉายา"ครม.ตู่"

ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ กรณีงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีว่า หลักปฏิบัติที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลกำหนดไว้สืบเนื่องตลอดมาคือ กรณีรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติจะไม่มีการตั้งฉายา ในปีนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แบบพิเศษและไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจึงมีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด 

ทั้งนี้ การงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556, รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2549, รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในปี 2550, รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองปี 2551

ขณะที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงการงดตั้งฉายารัฐบาลและ ครม.เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า เป็นการยึดถือตามธรรมเนียมปฏิบัติที่จะไม่ตั้งฉายาในกรณีที่เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 

"บิ๊กป๊อก"แจงผลงาน3เดือน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการทำงานของ คสช.ครบ 6 เดือน และ 3 เดือนของการทำงานของรัฐบาลว่า มีปัญหามากมายในประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริการประชาชนด้วยความโปร่งใส การทำงานด้วยความรวดเร็ว ด้วยความเต็มใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนของเรื่องงานนโยบายมีหลายเรื่อง เช่น ยาเสพติดที่เป็นปัญหาค้างคามานาน กระทรวงมหาดไทยมีส่วนที่ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขในส่วนนี้ ส่วนเรื่องของปัญหาขยะนั้น ได้มีการเริ่มดำเนินการแก้ไขไปบ้างแล้ว แต่ต้องใช้เวลาในการช่วยกันแก้ไขปัญหา รวมถึงเรื่องของการค้ามนุษย์ ปัญหาการจัดระเบียบพื้นที่ของ กทม. และพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในพื้นที่เขตชุมชน การดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินว่าปีหน้าสถานการณ์เมืองจะแรงขึ้นหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า 

"ถ้าให้ผมประเมินอย่างไม่เข้าข้างนะ ประชาชนยังมีความมั่นใจในตัวนายกฯ เป็นอันดับแรกที่ผมมอง ประชาชนเขารักนายกฯ เวลาไปไหนมาไหน ผมรู้ เรื่องที่ 2 เขายังรับการทำงานของ ครม.ชุดนี้ได้ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เศรษฐกิจไม่ดี ราคาข้าว ราคายางลง เศรษฐกิจความเติบโตชะลอลง การส่งออกชะลอลง ภัยพิบัติขณะนี้มีทั้งหนาว แล้ง อุทกภัยพร้อมกัน แต่ทุกคนยังให้โอกาสรัฐบาลทำงาน" 

"บิ๊กฉัตร-บิ๊กต๊อก"รูดซิปไขก๊อก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่าเป็น 1 ใน 3 รัฐมนตรีซึ่งเป็นทหาร จะลาออกจากตำแหน่งในกองทัพก่อนเกษียณในปี 2558 เพื่่อไม่ให้มีปัญหาการบริหารงานกองทัพ โดยจะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว ว่าไม่มี ไม่ทราบเหมือนกัน เพิ่งทราบจากข่าว และไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนให้ข่าว

ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) กล่าวว่า ไม่ขอวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว เพราะไม่ทราบว่าข่าวดังกล่าวใครเป็นผู้ให้ข้อมูลและใครเป็นผู้พูด อีกทั้งยังไม่รู้ว่าข่าวจริงหรือไม่จริง 

"ไม่ขอให้สัมภาษณ์จนกว่าจะทราบว่าข่าวมาจากไหน และไม่ตอบว่าจะลาออกจากตำแหน่งรอง ผบ.สส.หรือไม่ ส่วนที่บอกว่า ผมชอบที่จะเป็นทหารและชอบชีวิตทหาร เพราะผมรับราชการมานานจนจะเกษียณแล้ว ก็ต้องอยากเป็นทหารมากที่สุด ส่วนที่มองว่ามีคนกดดันให้ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการหรือไม่นั้น ไม่มีใครกดดัน ผมไม่ขอตอบ เพราะไม่อยากจะทำให้เกิดปัญหาที่ไม่จบ" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

"2บิ๊กทหาร"ไม่ตอบข่าวลือ

พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ. กล่าวถึงกระแสข่าวว่าเป็นหนึ่งแคนดิเดตตำแหน่งรอง ผบ.ทบ. หาก พล.อ.ฉัตรชัยลาออกจากตำแหน่งรอง ผบ.ทบ. และมีโอกาสขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและ ผบ.ทบ. ว่า ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ทุกคนก็ต้องมีความพร้อมที่จะเป็น หากได้รับการคัดเลือก ดังนั้นขอให้ถึงเวลานั้นก่อน

ด้าน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดตตำแหน่งรอง ผบ.ทบ.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแค่ข่าวลือและข่าวปล่อย ไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหนและไม่ทราบที่มาของข่าวจึงขอไม่พูดถึงเรื่องนี้ 

นักวิชาการชี้เก้าอี้เดียวดีกว่า

นายตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว การทำงานควบ 2 ตำแหน่งเป็นภาระที่ต้องเสียไปด้านใดด้านหนึ่ง จะทำให้ดีทั้ง 2 อย่างคงเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นการให้รัฐมนตรีนั่งตำแหน่งเดียวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ทุ่มเทงานให้แก่งานในฐานะรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ 

นายไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า การนั่งตำแหน่งเดียวนั้น หากมองในแง่ดีถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะตามหลักการบริหารงานทั่วไป การทำหน้าที่และความรับผิดชอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเลยย่อมดีกว่าการทำอะไรหลายอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนดีคนเก่งเข้าสู่ตำแหน่งมากขึ้น และยังทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่่ดีแก่รัฐบาลเอง เป็นการลดเเรงเสียดทาน สร้างการยอมรับและความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ มากขึ้น

เชื่อเปิดเก้าอี้ให้รุ่นน้องนั่ง

ขณะที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่เห็นถึงประเด็นที่ 3 รัฐมนตรีจะลาออกจากทหารเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว เนื่องจากปัจจุบันภารกิจงานด้านการทหารไม่ได้มีมากมาย และประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามที่ทหารจะมีหน้าที่รับผิดชอบมาก

"ปัจจุบัน ทหารยศนายพลมีมากกว่าตำแหน่งภารกิจที่รับผิดชอบด้วยซ้ำ จึงมองว่า หากลาออกจริงจะเป็นเพียงการผลักดันรุ่นน้องให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนมากกว่า" นายสุธาชัยกล่าว 

สนช.เตรียมตั้งกก.วิชาการ

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวถึงทิศทางการทำงานของ สนช. ในปี 2558 ว่า ผลการทำงานของ สนช.ตลอด 5 เดือนในปี 2557 มีกฎหมายผ่านการพิจารณาของ สนช.วาระ 3 ทั้งสิ้น 72 ฉบับ ค้างการพิจารณาในวาระ 2 เพียง 9 ฉบับ ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ได้ทั้งหมดในช่วงต้นปีนี้ 

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ล่าสุดทางรัฐบาลได้มีการเสนอกฎหมายให้ สนช.พิจารณาถึง 163 ฉบับ เบื้องต้น สนช.ได้มีการหารือกันถึงการทำงานที่จะครบกำหนดตามโรดแมประยะที่ 2 ของ คสช.ในปีนี้ จึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือสมาชิก สนช.พิจารณากฎหมายให้มีความละเอียดรอบคอบ ด้วยการตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นมาช่วยทำหน้าที่ศึกษา แบ่งกฎหมายออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น กฎหมายนโยบาย กฎหมายที่ต้องมีความต่อเนื่องและข้อตกลงระหว่างประเทศ ทั้งยังคอยทำหน้าที่ช่วยดูว่าสมาชิกควรจะอภิปรายประเด็นไหน ใครจะเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการบ้าง จึงคาดว่าจะสามารถพิจารณากฎหมายทั้งหมดได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

ให้ความสำคัญ"ภาษีมรดก"

ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาชิก สนช.มีทหารมากกว่านักกฎหมาย จะทำให้การพิจารณามีปัญหาหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า สมาชิก สนช.ที่เป็นทหารบางคนอาจจะเก่งกว่านักกฎหมายก็ได้ ที่ผ่านมาสมาชิก สนช.ที่เป็นทหารได้ศึกษากฎหมายและขออภิปรายกฎหมายที่มีความสำคัญมาแล้ว ทั้งนี้ ไม่อยากให้แยกสมาชิก สนช.ออกเป็นทหาร ตำรวจ นักกฎหมาย เพราะทุกคนต่างเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอาจมีกฎหมายบางฉบับที่ต้องใช้เวลาศึกษามาก เช่น กฎหมายการรับภาษีมรดกและกฎหมายภาษีที่ดิน 

"สนช.ให้ความสำคัญกับกฎหมายการรับภาษีมรดกมาก เพราะเราได้ขอเวลาการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการนานถึง 90 วัน จึงอยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจการพิจารณาของเรา" นายพีระศักดิ์กล่าว

"หมอนิรันดร์"รับกสม.มีปัญหา

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวกรณีคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ไอซีซี) เตรียมลดระดับ กสม.ของไทยจากเกรดเอลงมาเป็นเกรดบีว่า นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ได้แจ้งให้ กสม.ทุกคนได้รับทราบแล้ว โดยทางไอซีซีได้มีข้อท้วงติงหลายประเด็นเกี่ยวกับการทำงานของ กสม.ไทย โดยเฉพาะระบบโครงสร้างและการจัดการภายในของ กสม.

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ปัญหาระบบโครงสร้างเป็นสิ่งที่ กสม.ได้รับรู้และพยายามแก้ไขมาโดยตลอดนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2552 แต่ปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาที่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 กสม.จะมาจากตัวแทนจากทุกภาคส่วนจำนวน 25 คน แต่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้สรรหาเหลือเพียง 7 คนเท่านั้น ทำให้มีความหลากหลายน้อยกว่า 

ชี้ไม่มีกม.-ทำงานไม่คล่องตัว

"เมื่อกฎหมายในส่วนของ กสม.ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยยังค้างอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กสม.เลยถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชการ ทั้งที่ กสม.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ จึงทำให้การทำงานยังไม่คล่องตัวหรือมีความยืดหยุ่น แตกต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ ผ่านมาแล้ว 7 ปี กฎหมายก็ยังไม่ผ่านรัฐสภา ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติค่อนข้างล่าช้า และยิ่งในช่วงภายใต้การรัฐประหารก็น่ากังวลว่าร่างกฎหมาย กสม.จะผ่านสภาหรือไม่ เพราะต้องรอดูรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะออกมาแบบไหน และจะกำหนดประเด็นที่เกี่ยวกับ กสม.อย่างไรบ้าง" นพ.นิรันดร์กล่าว

ทำหนังสือแจง-ไม่หวั่นลดเกรด 

"ข้อท้วงติงว่า กสม.ทำรายงานเหตุการณ์สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 ล่าช้าใช้เวลาถึง 2-3 ปีนั้น ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในปี 2552 ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยมีปัญหาทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งระบบการทำงานของ กสม.ยังไม่ลงตัว เพราะพนักงานมีอายุงานเพียง 12 ปีเท่านั้น จึงส่งผลให้การทำรายงานเพื่อเสนอต่อสาธารณะต้องล่าช้าไป" 

นพ.นิรันดร์กล่าว และว่า กสม.พร้อมรับฟังข้อท้วงติงของไอซีซีและยินดีนำความเห็นต่างๆ ไปปรับปรุง 

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า กสม.ได้ทำหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการทำงานนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ว่าตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ทำสิ่งใดไปบ้าง รวมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมไปจากที่ไอซีซีประเมินไว้ด้วย แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแก้ตัวแต่อย่างใด ไม่ได้มีความกังวลว่า หลังจากนี้จะถูกลดเกรดลงจากเดิม กสม.พยายามทำงานในฐานะองค์กรตรวจสอบเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด ทั้งในเชิงโครงสร้างและพัฒนาการขององค์กรที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมด้านสิทธิมนุษยชน

"ปริญญา"ยอมรับหากโดนยุบ

นายปริญญา ศิริสารการ กสม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม.ยังไม่มีกฎหมาย พ.ร.บ.เป็นของตัวเอง ระบบการคัดสรรก็ถูกมองว่ามีปัญหา ไอซีซีเลยมองว่า กสม.ไม่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อไอซีซีมีมติแนะนำให้ลดเกรด กสม.ลงเช่นนี้ ก็ถือว่าไม่ดีต่อภาพลักษณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อย่างประเด็นที่ถูกประเมินเกี่ยวกับการทำรายงานในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 นั้น ต้องยอมรับว่าการทำงานมีความล่าช้า ข้อมูลก็เป็นลักษณะเชิงบอกเล่า กสม.จึงถูกมองว่ามีความลังเล แต่การชุมนุมทางการเมืองก่อนการรัฐประหาร กสม.ถือว่ามีประสบการณ์มากขึ้นและการทำงานก็รวดเร็วขึ้น เพียงแต่มีการยึดอำนาจก่อนจึงต้องเลื่อนการแถลงสรุปรายงาน 

"เมื่อไอซีซีประเมินมาเช่นนี้เราก็ต้องยอมรับ และเป็นสิ่งที่ต้องนำมาปรับปรุงแก้ไข หากประเด็นนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสม. เราไม่ปฏิเสธการถูกยุบองค์กรและไม่ต้องการปกป้องตัวเอง เพียงแต่ขอให้งานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการขององค์กรใด ไม่ควรจะหายไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นานาชาติกำลังจับตาดูอยู่" นายปริญญากล่าว 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!