- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 03 January 2015 21:50
- Hits: 6022
ได้กำลังใจแต่ไม่ตัวลอย บิ๊กตู่ปลื้มป๋า ปัดจองเก้าอี้นายกฯต่อ นักวิชการติงหนุนปฏิวัติ ต่างชาติฟังแล้วอันตราย ครม.อวยพร'ประยุทธ์'เด้ง'นริศ'พ้น'ธนารักษ์' ดิเรกชูธงค้าน 4 ปมรธน.
มติชนออนไลน์ :
นัดส่งท้าย -พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวและตอบคำถามสื่อมวลชน ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายของปี 2557 ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม
|
'บิ๊กตู่'ไม่ลอย'ป๋าเปรม'ชม อวยพรปีใหม่ให้ ครม.ทำงานทุ่มเท อจ.ชี้คิดแบบอำนาจนิยม หวั่นต่างชาติได้ยินอันตราย'ดิเรก'ชี้ 4 ปมร้อน รธน. ส่อทำร้าวหนัก ยัน สปช.พร้อมชูธงค้าน 'บิ๊กตู่'หัวโต๊ะถกครม.นัดส่งท้ายปี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี นัดส่งท้ายปี 2557 โดยหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สถานที่จัดประชุมมีการประดับด้วยดอกกล้วยไม้หลากหลายสีและสายพันธุ์จากสวนกล้วยไม้แอร์ออร์คิดส์ จ.นครปฐม เพื่อฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นายพันธพัฒน์ คุ้มวิเชียร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตกล้วยไม้แอร์ออร์คิดส์ กล่าวว่า ได้มอบกล้วยไม้ให้นายกฯด้วยคือกล้วยไม้แคระ สกุลฟาแลนนอปซิส ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดูดอกและใบโดยมอบให้นายกฯเพราะต้องการสื่อถึงการมอบสีสันและความสดใสให้ความสุขกับนายกฯ และนายกฯกล่าวว่า มีความเป็นห่วงกล้วยไม้มาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมและต้องการให้มีตลาดกลางกล้วยไม้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีระบบสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือ และนายกฯอยากให้มีตลาดกล้วยไม้เสาร์-อาทิตย์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เปิดโอกาสให้เกษตรกร ซึ่งนายกฯระบุว่า จะช่วยเหลือดูแลเรื่องราคากลาง นอกจากนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้นำคณะจัดกิจกรรมส่งความสุขเป็นของขวัญปีใหม่ 2558 มารณรงค์กิจกรรมช่วงปีใหม่ เช่น สวดมนต์ข้ามปี เปิดอุทยานประวัติศาสตร์ 9 แห่ง และโบราณสถานต่างๆ ทั่วประเทศให้ประชาชนชมฟรี บิ๊กป้อมนำแฮปปี้นิวเยียร์บิ๊กตู่ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ร่วมร้องเพลง "วันพรุ่งนี้" กับเด็กนักเรียนจากสถาบันสอนดนตรีเคพีเอ็น พร้อมกล่าวกับนักเรียนว่า "พวกลุงทำแบบนี้เพื่ออนาคตของพวกหนู พวกหนูทำดีแล้ว ขอให้ขยันเรียน ตั้งใจเรียน" และยังได้กล่าวกับบรรดาสื่อมวลชนว่า ในโอกาสขึ้นอีกใหม่ หากมีเวลาขอให้ไปสวดมนต์บ้าง นอกจากนี้ นายกฯยังกล่าวด้วยว่า "มีความสุขนะ มีความสุข โชคดีปีหน้าตลอดไป ช่วยกัน" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.สวมเสื้อผ้าฝ้ายสีเหลือง ระหว่างเป็นประธานการประชุมมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายกับ ครม.และสื่อมวลชนอย่างเป็นกันเอง ทั้งนี้ ในการประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำ ครม.อวยพรเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนการประชุม ครม. ซึ่งเป็นการประชุมส่งท้ายปี โดยคณะรัฐมนตรีทยอยเดินทางมายังตึกบัญชาการเพื่อเข้าร่วมประชุม อาทิ พล.อ.ประวิตร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยก่อนขึ้นไปเข้าร่วมการประชุม พล.อ.ประวิตรได้อวยพรปีใหม่แก่สื่อมวลชนที่มารอทำข่าวว่า ขอให้มีความสุขความเจริญ เขียนข่าวดีๆ มีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัยทุกคน "บิ๊กตู่"ไม่ลอย"ป๋าเปรม"ชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. กรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวชื่่นชมถึงความกล้าหาญในการเข้ามารัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ที่ พล.อ.เปรมชมก็รู้สึกสบายใจ เพราะเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เมื่อชมก็ดีใจ แต่ไม่ถึงกับลอย เพราะที่ยืนอยู่ได้วันนี้ เพราะเก็บความชื่นชมเหล่านั้นไว้ แล้วก็ทำงาน คำชมถือเป็นกำลังใจในการทำงาน วันนี้ก็บริหารประเทศต่อไป ใช้อำนาจในทางที่จำเป็น "ถ้าใครทำหน้าที่ได้ดีกว่าผมก็ไปหามา หรืออยากให้เดือดร้อนเหมือนอย่างเดิมก็ไปหามาอีกแล้วกัน ผมได้ทั้งหมด เพราะพวกท่านเป็นคนใช้อำนาจ จะเลือกตั้งหรืออย่างไรก็ไปเลือกกันมา อะไรก็ไม่เอาสักอย่างแล้วจะให้ผมทำอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.เปรมบอกอยู่ได้ไม่มีเกษียณ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมอยู่ได้เท่าที่จะอยู่ได้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ขอบคุณป๋าที่หวังดี" ส่วนกรณีที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแนวคิด นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ เพื่อเปิดช่องแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "กติกาว่าอย่างไรก็ไปหากันมา เท่าที่ได้อ่านดูเขาก็บอกว่าให้คนกลางเข้ามาทำหน้าที่นายกฯในช่วงวิกฤตเพียงเท่านั้น อย่าไปมองว่าเป็นการเขียนกติกาเพื่อปูทางให้ผมเข้ามาเป็น" นายกฯ จะเข้ามาได้อย่างไรด้วยวิธีการแบบนี้ ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้เลือก และเชื่อว่าประชาชนจะไม่เลือกเข้ามาด้วยวิธีแบบนี้" "ปนัดดา"นำขรก.อวยพรนายกฯ จากนั้นในเมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่นำหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงและผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ นำกระเช้าดอกไม้อวยพรปีใหม่ว่า ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจเสมอมา ส่วนตัวยังคิดว่าเป็นข้าราชการเหมือนกันจะทำทุกอย่างให้ข้าราชการมีศักดิ์ศรี เวลาที่ผ่านมามีทั้งดีและไม่ดี ในสายตาคนอื่นอาจมองว่าตัวเองทำผิดบ้างถูกบ้าง เมื่อมีโอกาสแก้ไขจะทำงานเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าและจะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ความขัดแย้งไม่สามารถใช้กำลังทหารแก้ไขปัญหาได้ คนในชาติต้องช่วยกัน "ตอนเด็กไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นนายกฯ แม้แต่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ก็ไม่เคย เพราะตอนนั้นที่เรียนจบนายร้อยมาทุกคนหวังว่าได้เป็นนายพลก็ดีแล้ว ก็ต้องทำงานเรื่อยๆ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว นิรโทษทุกฝ่ายต้องหาข้อสรุป เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นทางออกของความขัดแย้งในประเทศหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นิรโทษใคร ปรองดองคือใจเราปรองดองเลิกทะเลาะกัน อภัยโทษคือเข้าไปติดคุกแล้วรับโทษระยะหนึ่ง การนิรโทษส่วนใหญ่ไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีการเมือง ต้องไปดูว่าใครอยู่กลุ่มได้ อย่างเช่นคนเสื้อแดงตอนนี้มีการประกันตัวออกมาหมดแล้ว เหลือแต่พวกคดีอาญา เช่น เผาศาลากลาง ใช้อาวุธ เรื่องดังกล่าวจะให้ฝ่ายยุติธรรมเข้ามาชี้แจ้งอีกทีว่าอย่างไร ใครที่จะอยู่ในข่ายนิรโทษ เรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละฝ่ายที่มีส่วนได้เสียก็เสนอเข้ามา รัฐบาลเป็นผู้พิจารณา อย่างคราวที่แล้วมีผู้เสนอแล้วก็เกิดปัญหา "บิ๊กป้อม"นำทีมครม.อวยพร ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบรรยากาศการประชุม ครม.ว่า ก่อนเริ่มประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรีนำกระเช้ามอบให้นายกฯพร้อมกับอวยพรปีใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวสวัสดีปีใหม่และให้กำลังใจ ครม.ทุกคน และขอให้ทุกคนทำงานด้วยความทุ่มเทต่อไป และขอให้ทุกคนเที่ยวปีใหม่อย่างมีความสุข แต่ขอให้สแตนด์บายไว้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน เดินหน้า"มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน" พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอบคุณ ครม. และข้าราชการทุกคน ที่ช่วยกันทำให้ผลงาน 3 เดือนของรัฐบาลสัมฤทธิผลตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน และขณะเดียวกันขอให้ ครม.และข้าราชการช่วยกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร การดำเนินงานของรัฐบาลให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนถึงแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำ การดำเนินการปฏิรูปร่วมกันมากขึ้นว่า รัฐบาลได้เดินหน้าจริงและไปถึงขั้นไหนแล้วบ้าง แต่ต้องไม่ใช่ลักษณะของการโฆษณา ส่วนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของรัฐบาลในปี 2558 ก็เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุไว้ว่า ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ประเทศชาติยั่งยืน ยุทธศาสตร์นี้จะใช้ต่อเนื่องไปอีก 5 ปีจนถึงปี 2563 "เจษฎ์"เผยออกกม.ลูก80เรื่อง นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุ กมธ.จัดทำข้อเสนอแนะ ในการตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายลูก ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่า หลังจากที่ได้กรอบแนวคิดในการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะเริ่มพิจารณาในการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม และการตรากฎหมายใหม่ออกมา เบื้องต้นมีราว 80 กว่าเรื่องที่ต้องให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ แต่จะออกมาเป็นกฎหมายกี่ฉบับนั้น ต้องดูในรายละเอียดของแต่ละเรื่องด้วย ซึ่งต้องทำคู่ขนานไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ กม.เร่งด่วน5เรื่องรับเลือกตั้ง นายเจษฎ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน ต้องทำก่อนเพื่อรองรับการเลือกตั้งมีราว 4-5 ฉบับ คือ 1.กฎหมายพรรคการเมือง 2.กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. 3.กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และในกรณีที่จะมีศาลเลือกตั้ง ซึ่งเป็นศาลชำนาญพิเศษเฉพาะด้านก็ต้องมี 4.กฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลเลือกตั้ง เช่นเดียวกัน ถ้าสังคมต้องการให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างนี้ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี"57 ที่กำลังใช้อยู่นี้ เปิดช่องให้มีการทำประชามติ จำเป็นต้องดูกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติว่าต้องปรับปรุง แก้ไขอย่างไรให้สอดคล้องไปด้วย จึงเป็นกฎหมายฉบับที่ 5 ที่ต้องเร่งปรับปรุงเพื่อรองรับทั้งหมด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมารองรับให้ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งหมดต้องใช้เวลาราว 6-9 เดือน ทำควบคู่กันไป "พะจุณณ์"ชงตั้งสภากิจการตร. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปตำรวจว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. ได้ตั้งอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงานของตำรวจเพื่อประโยชน์ประชาชน โดย พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สปช. เป็นประธาน การปฏิรูปต้องเป็นไปตามแนวทาง กมธ.ชุดใหญ่ คือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจในปัจจุบันต้องมีการปฏิรูปรูปแบบการบริหาร เช่น เปลี่ยนเป็นตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยต้องมีสภากิจการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการตำรวจในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เพื่อให้กำกับดูแลเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการปฏิรูปรูปแบบการจัดการ เช่น กองบัญชาการ กองบังคับการ เป็นต้น 2.อำนาจหน้าที่ของตำรวจที่ไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตำรวจหรือไม่ ถ้าอำนาจไหนไม่เกี่ยวข้องก็ต้องเอาออกเพื่อการทำงานของตำรวจที่ตรงตามเป้าหมาย และ 3.การปฏิรูปกระบวนการการทำงานของตำรวจในเรื่องการสอบสวน จับกุม ต้องมีการแบ่งส่วนให้ชัดเจน ว่าจะมีองค์กรใดมาถ่วงดุลหรือไม่ นอกจากนี้ คนที่จะมาเป็นตำรวจควรจะมีการปฏิรูปด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิด้วย เรื่อง กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯจะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 6 มกราคม 2558 ทั้งนี้ ยอมรับว่าองค์กรตำรวจมีปัญหา ปฏิรูปบ้านเมืองในหลายด้าน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปวงการตำรวจประชาชนจะผิดหวัง "ดิเรก"ชี้4ปมส่อขัดแย้ง นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นนทบุรี กล่าวถึงกรอบแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เท่าที่ดูข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญมีข้อห่วงใยอยู่ 4 ประเด็น คือ 1.การที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส. 2.การมี ส.ส. 450 คน เป็น ส.ส.เขต 250 คน สัดส่วน 200 คน 3.การที่ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง 4.การมี ส.ว.สรรหา 200 คน ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้ มุ่งเน้นแต่การแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง แต่ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ อำนาจของประชาชนหายไป และยิ่งเพิ่มความขัดแย้งในสังคม เพราะไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งใหม่ ต้องเข้ามาแก้ไขประเด็นเหล่านี้แน่นอน จนนำไปสู่การต่อต้านและสร้างความขัดแย้งกันอีกรอบ สุดท้ายหนีวงจรการทำรัฐประหารไม่พ้น ลั่นสปช.พร้อมคัดค้านแน่ "ผมอยากฝากถึง กมธ.ยกร่างฯว่าอย่าคิดอะไรพิสดารเกินกว่าที่ควรจะเป็น ขอให้ยึดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องทั้ง 4 เรื่องดังกล่าวคิดมาไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่จะยิ่งเพิ่มปัญหาขึ้นไปอีก ขณะนี้มีการวิจารณ์กันมากว่า ทั้ง 4 แนวทางดังกล่าวคิดขึ้นมาเพื่อต้องการสลายและลดอำนาจของพรรคการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เหมือนกับคนยกร่างยังกลัวผีที่ตามหลอกหลอนอยู่ ไม่อยากให้กลุ่มที่มีอำนาจเดิมกลับมามีอำนาจใหม่ ถ้ายังคิดเช่นนี้อยู่ก็แก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ เชื่อว่าหากทั้ง 4 ข้อนี้เข้ามาใน สปช. ต้องมีคนทักท้วงแน่นอน เพราะตอนนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก และเท่าที่ฟังสมาชิก สปช.คุยกัน หลายคนบอกว่า กมธ.ยกร่างฯมีธงหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการเขียนกว้างๆ ลอยๆ ให้นายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส. เหตุใดจึงไม่เขียนเฉพาะเจาะจงลงไปว่าให้มีนายกฯคนนอกได้ เฉพาะกรณีที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตเท่านั้น แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว" นายดิเรกกล่าว ดักคอกมธ.ยกร่างฯอย่ามีธง นายดิเรกกล่าวอีกว่า แม้ว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ บอกว่าไม่มีธง แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าการที่นายบวรศักดิ์ออกมาทักท้วงข้อเสนอการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง สปช. อย่างทันที แสดงว่ามีธงไว้แล้วหรือไม่ อยากให้ กมธ.ยกร่างฯควรสงบนิ่งมากกว่านี้ โดยรับฟังเหตุผลไปก่อน ไม่ใช่ออกมาตอบโต้ทันที สปช.ถกพิมพ์เขียวปฏิรูป นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า ในวันที่ 5-6 มกราคม 2558 จะมีการประชุม สปช.พิจารณาวาระเรื่องโซลาร์รูฟ การเปลี่ยนแปลงค่าโทรศัพท์เป็นวินาที และการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ รวมถึงการพิจารณาการปฏิรูปใน 1 ปี ที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ สปช.จะจัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กช็อปวิสัยทัศน์ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2558 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดและวิสัยทัศน์ของสมาชิก สปช. 250 คน "บัญญัติ"จี้เลือกตั้งพ่วงใหญ่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือการทำกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความคิดให้มากเป็นพิเศษ เช่น การนำระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ แม้ผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่าเป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้น การร่างรัฐธรรมนูญด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปสู่ความปรองดองในวันข้างหน้า แต่การเลือกตั้งในระบบเขตเดียวคนเดียว หรือมีผู้ชนะคนเดียวจะนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นรุนแรงมากขึ้น เพราะระบบสังคมไทยเป็นสังคมของการประนีประนอม การเลือกตั้งในระบบ 3 คนต่อ 1 เขต ที่ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 น่าจะเป็นจุดแห่งความพอดี เพราะจากประสบการณ์ว่าการต่อสู้ทางการเมืองในระบบนี้ไม่ดุเดือดมาก ผู้สนับสนุนยังสามารถนั่งกินกาแฟโต๊ะเดียวกันได้ แต่ทันทีที่เปลี่ยนมาเป็นแบบเขตเดียวคนเดียว ไม่เคยเห็นภาพทุกคนมานั่งกินกาแฟร่วมโต๊ะกันได้เลย การซื้อเสียงก็หนักขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งว่าค่านิยมสังคมไทยคือ นักการเมืองใหญ่ลงแล้วแพ้ไม่ได้ จึงจะพยายามงัดกลยุทธ์มาสู้กันทุกวิถีทาง หนุนนายทุนอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ นายบัญญัติกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่หาเสียงในปี 2517 พบความจริงที่ว่า สังคมไม่มีความขัดแย้งและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงดี สังคมมีทางเลือกและคนดีมีโอกาส เช่น คนนี้ดีมีชื่อเสียงเป็นหน้าตากับจังหวัด คนนี้มีบุญคุณตัดไม่ได้ ต้องเลือกด้วย แต่พอสังคมมีแค่ทางเลือกเดียว ระบบอุปถัมภ์ การซื้อสิทธิขายเสียงจะมีน้ำหนักมากขึ้น แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเขตใหญ่เป็นหนทางหนึ่งที่ลดการซื้อเสียง เพราะมีความไม่แน่นอน แต่ขณะเดียวกันก็พูดยากว่าตลอดเวลาของการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวในสองครั้งที่ผ่านมา เครือข่ายอุปถัมภ์ได้รับการสร้างไว้ในพื้นที่เพียงพอเหมือนกัน แต่ที่สำคัญสุดและน่ากังวลคือ ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อพรรคที่รัฐธรรมนูญปี"40 ตั้งใจให้เป็นจุดแข็งของพรรคการเมืองจะหายไปเลย ถ้าคะแนนเขตได้เต็มที่อยู่แล้ว ส่วนที่อ้างว่าระบบบัญชีพรรคเปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามาอยู่ในระบบนี้และครอบงำพรรคการเมือง มองว่าให้ทุนมาอยู่ในบัญชีเปิดเผยตนเองยังดีกว่าทุนแอบอยู่ข้างหลัง พอชนะเลือกตั้งแล้วมาเป็นรัฐมนตรี ประกาศชื่อนายกฯคนนอก นายบัญญัติกล่าวว่า สำหรับการเปิดทางให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้น หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ ทำให้สังคมเกิดกระแสต่อต้านและเรียกร้องว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง การเขียนให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งอาจจะทำให้บุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อมจะเป็นนายกฯเสียโอกาสไป ดังนั้น ถ้ามองว่างานการเมืองเป็นงานอาสา ต้องประกาศตัว ถ้าหากนายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าพรรคการเมืองไหนประสงค์จะสนับสนุนใครที่ไม่ลงเลือกตั้ง จะต้องประกาศเลยว่า ถ้าพรรคนี้จะได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาจะเอาคนนี้เป็นนายกฯ ภายใต้หลักการ เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามาเล่นการเมืองต้องกล้าที่จะประกาศตัว แนะเขียนอยู่ในบทยกเว้น "ถือเป็นปัญหาที่ชั่งใจกันมากในความพยายามที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าจะเป็นจุดแข็งให้ประชาชนเห็นความสำคัญตระหนักไว้แต่เบื้องต้นว่า ถ้าไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เท่ากับเหตุผลตรงกันข้ามกับความเห็นแรกโดยสิ้นเชิง ที่กังวลที่สุดคือ ถ้ามีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าหัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. อาจจะทำให้คนในสังคมบางส่วนเกิดระแวงว่า นี่คือความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจด้วย หรือไม่ ไม่เป็นมงคลเลย แต่ถ้าอ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาทางตันในยามเกิดอุบัติเหตุการเมืองก็ควรเขียนในบทยกเว้น ไม่ใช่อยู่ๆ ไปกำหนดไว้เลยแบบนี้ เพราะจะเป็นการชี้ช่องเกินไป คนเขียนต้องชั่งใจระหว่างผลบวกกับผลลบที่จะได้รับด้วย" นายบัญญัติกล่าว พท.เหน็บบิ๊กตู่เครือข่าย"ป๋า" กรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ กล่าวชมและภาคภูมิใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารนั้น นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พล.อ.เปรมกล่าวชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาปฏิวัติว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ ตอบแทนบ้านเมืองนั้น พล.อ.เปรมชมทุกคนที่อยู่ในเครือข่าย อยู่ในโอวาท พล.อ.เปรม เหมือนตอนที่ พล.อ.เปรมชื่นชมว่าคนไทยโชคดีตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนใครออกนอกลู่นอกทาง พล.อ.เปรมจะบอกว่าพอเถอะลูก หยุดเถอะลูก อจ.ชี้คิดแบบอำนาจนิยม นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า เเน่นอนผู้ที่นิยมประชาธิปไตยไม่มีใครชอบประโยคเเบบนี้ คำพูดของ พล.อ.เปรมเเสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของทหารไทยในเรื่องอำนาจนิยม โดยไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตย รวมทั้งการมองวิธีการเเก้ปัญหาเเบบผิดๆ อย่างการยึดอำนาจว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ทั้งที่ความเป็นจริงสิ่งที่ผ่านมาในอดีตก็บ่งบอกได้ดีเเละชัดเจนอยู่เเล้วว่า จะรัฐประหารสักกี่ครั้งก็ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติดีขึ้น "การพูดเเบบนี้เเสดงว่าเขาชอบอำนาจที่มาจากปากกระบอกปืน ไม่ได้ชอบประชาธิปไตย ทั้งที่ประชาธิปไตยเเละการเเก้ปัญเเบบค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ละเลยอำนาจประชาชนคือสิ่งที่ถูกต้อง เเต่บังเอิญบ้านนี้เมืองนี้ปืนอยู่ที่ทหาร การชื่นชมการยึดอำนาจยังเท่ากับเป็นการพยายามชูสิ่งที่ตัวเองทำให้เป็นเรื่องชอบธรรม ทั้งที่ไม่ใช่" นายอัษฎางค์กล่าว ยกย่องในกลุ่ม-ทำลายปชต. นางนันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า พล.อ.เปรมย่อมมีความรู้สึกว่าการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แตกต่างจากสมัยของตัวเอง การที่ชมว่าการทำรัฐประหารเป็นการเสียสละ เป็นการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ อันนี้เป็นมุมมองของนักการทหารที่มองว่าบทบาทของทหารนอกเหนือจากการป้องกันประเทศแล้ว ความมั่นคงทางการเมือง ทหารต้องเข้ามามีบทบาท สิ่งนี้ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตย ที่ผู้มาปกครองบริหารประเทศต้องเป็นผู้ที่มาจากฉันทามติของประชาชน "รับไม่ได้กับคำชมของการทำรัฐประหาร ซึ่งมันเป็นการทำลายประชาธิปไตย เราไม่อาจยอมรับการยึดอำนาจจากประชาชน ตรงนี้ถือว่าเป็นการยอมรับการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การยกย่องนี้ถ้าเกิดยกย่องกันเองในกลุ่มนักการทหารก็โอเค แต่มายกย่องให้ประชาชนคนไทยทั้งหมดยอมรับนั้นรับไม่ได้ เพราะว่าในหลักการประชาธิปไตย การยึดอำนาจทำรัฐประหารเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนลงไป" นางนันทนากล่าว ต่างชาติได้ฟังอันตราย นางนันทนากล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้นานาอารยประเทศก็ไม่ยอมรับประเทศไทยเพราะว่าไม่มีการเลือกตั้ง ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ตรงนี้ไม่ควรออกมาพูดจาหรือสื่อสารให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับการรัฐประหาร แล้วยิ่งสื่อสารออกมาในลักษณะของการสื่อสารสาธารณะแบบนี้ ถ้าเป็นข่าวไปต่างประเทศ เขายิ่งรู้สึกว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย แม้แต่ผู้อาวุโสทางด้านการทหารก็ออกมาชื่นชมการทำรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นว่าไทยเรายังไม่ได้เข้าเขตที่จะใกล้ความเป็นประชาธิปไตยเลย ตรงนี้อาจจะมีปัญหาในมุมมองต่างชาติ ประเทศเราก็จะติดกับดักการรัฐประหารตลอดไป ซึ่งเป็นอันตราย |