- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 28 December 2014 17:40
- Hits: 3248
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8796 ข่าวสดรายวัน
รธน.เละเป็นโจ๊ก พรรคใหญ่ รุมจวก-ย้อนยุค ถอยหลังมท.จัดเลือกตั้ง 'สดศรี'ยุกกต.ทวงอำนาจ นายกฯคนนอกก็โดนฉะ ชี้ประชาธิปไตยรับไม่ได้ กมธ.เดินหน้ารายมาตรา
พรรคใหญ่รุมต้านคืน อำนาจให้มหาดไทยจัดเลือกตั้ง จวกย้อนยุคถอยหลังลงคลอง รวมทั้งไม่เอานายกฯ คนนอกชี้แวดวงประชาธิปไตยรับไม่ได้ พท.อัดอย่าฝืนกระแส ย้ำนายกฯ ต้องมาจากส.ส. ค้านส.ว.สรรหาร่วมถอดถอนนายกฯ-ครม. หวั่นจับมือฝ่ายค้านล้มรัฐบาลได้ง่าย แนะทำประชามติร่างรธน. หากไม่ผ่านดึงร่างปี 50 กลับมาใช้แทน'ปู่พิชัย'เตือนระวังรธน.เละเป็นโจ๊ก ระบุมีกกต.ก็ดีอยู่แล้ว'สดศรี'โวยหั่นอำนาจกกต.ก็เหมือนยุบทิ้ง พูดให้ชัดไปเลยว่าจะยุบ ปลุก 5 เสือกกต.รุ่นน้องออกโรงสู้ อย่าปล่อยให้ใครมัดมือชก เสธ.อู้โฆษกกมธ.เผยเตรียมยกร่างรธน.รายมาตรา ยันวางกฎเกณฑ์ ไม่ซี้ซั้วดึงนายกฯ คนนอก
กมธ.เตรียมยกร่างรธน.รายมาตรา
วันที่ 27 ธ.ค. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่าหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาหารือจนได้ภาพรวมในหลักการใหม่ในเรื่องระบอบการเมือง นักการเมือง สถาบันการเมืองแล้ว จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีนางกาญจรัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน นำไปยกร่างเป็นรายมาตราจนถึงวันที่ 11 ม.ค. 2558 ก่อนส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อไปในวันที่ 12 ม.ค. เบื้องต้นคาดว่ารัฐธรรมนูญใหม่น่าจะมีเนื้อหาอยู่ระหว่าง 250-300 มาตรา จะไม่มากไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มี 309 มาตรา ตามที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องสั้น กระชับกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม โดยไม่ให้เกิดการตีความได้
ยันวางกฎ-ไม่ซี้ซั้วดึงนายกฯคนนอก
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์กรณีให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากส.ส.ว่า คงเป็นงานเหนื่อยของคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังมีบทเรียนฝังใจกับปมนายกฯคนนอกในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ ยืนยันว่าวัตถุประสงค์ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้คิดเปิดช่องสืบทอดอำนาจให้ใคร แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงคือการเปิดช่องไว้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง อาจต้องใช้นายกฯคนนอกมาแก้ปัญหา ที่ผ่านมามีการเรียกร้องนายกฯมาตรา 7 อยู่เป็นระยะในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯคนนอกจะนำมาใช้กรณีที่ประเทศเกิดวิกฤตเท่านั้น หากภาวะบ้านเมืองปกติ จะนำนายกฯคนนอกมา บริหารประเทศคงไม่ได้ เพราะนักการเมืองจะไปตอบคำถามประชาชนได้อย่างไร
"เรื่องนายกฯคนนอกจะมีการพิจารณาเขียนในตอนยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อวางกลไกให้ชัดเจนว่าให้นำมาใช้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยให้มีอำนาจบริหารเพียงชั่วคราว อาจจะเป็น 6-8 เดือน แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ และตัวนายกฯ คนนอกต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส.มากกว่าปกติ เช่น 3 ใน 4 ของส.ส.ทั้งหมด เรื่องเหล่านี้ต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนกันต่อไป เพื่อสื่อเจตนารมณ์ว่าจะไม่มีการซี้ซั้วเอาคนนอกมาเป็นนายกฯได้" โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าว
แจงหั่นอำนาจกกต.แค่แยกบทบาท
นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรรมาธิการยกร่างฯ เห็นชอบให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเพียง ผู้ควบคุมการเลือกตั้งว่า กรรมาธิการ ยกร่างฯ ต้องการแยกบทบาทของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจนมากขึ้น และต้องการให้กกต.ทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถแยกได้ว่ากกต.เป็นผู้จัดหรือ ผู้ควบคุมการเลือกตั้ง โดยกกต.ยังปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิม ไม่แตกต่างจากปัจจุบัน เพราะยังสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงศึกษาธิการมาทำงานจัดเลือกตั้ง และอยู่ภายใต้การสั่งการควบคุมการดำเนินการโดยกกต. ส่วนเรื่องดังกล่าวเป็นการลดอำนาจกกต.หรือไม่นั้นเห็นว่ากรรมาธิการ ยกร่างฯ ต้องการให้ระบบการเลือกตั้งมี ผู้ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนมากขึ้น
โต้ถอยหลัง-ยันบางเรื่องเดินหน้า
ด้านนายสุจิต บุญบงการ รองประธานกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้พูดกันว่าให้หน่วยงานกระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งเพียงหน่วยงานเดียว เพราะยังมีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมจัดการเลือกตั้ง เช่น หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเพียงแต่เห็นว่าเมื่อกกต. จัดเลือกตั้ง ใช้คนของรัฐดำเนินการอยู่แล้ว และอยากให้กกต. ควบคุมการจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงควบคุมแต่ผู้ซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้ง ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากรรมาธิการยกร่างฯ ถอยหลังไปไกลนั้น บางเรื่องก็เดินหน้าแล้ว และจะถอยหลังหรือไม่นั้นมีช่องทางอะไรบ้าง การทำงานของเราตั้งโจทย์โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ สำหรับการท้วงติงมติเรื่องต่างๆ นั้น ที่ผ่านมาเป็นการออกหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีการแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หลังจากนี้กรรมาธิการจะยกร่างรัฐธรรมนูญและลงมติรายมาตรา โดยจะนำความคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม
ประธานกกต.ปัดตอบหวั่นหวงก้าง
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แยกอำนาจการจัดการเลือกตั้งและอำนาจควบคุมการเลือกตั้งออกจากกัน โดยให้ กกต.ทำหน้าที่เฉพาะการควบคุมการเลือกตั้ง และให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้งว่า เราคงไม่ไปวิจารณ์ให้กรรมาธิการยกร่างไปคิดเอาเอง ออกแบบมาอย่างไรเราก็ทำได้ทั้งนั้น ประการสำคัญคือปฏิรูปแล้วต้องดีขึ้น การพิจารณาของกรรมาธิการยกร่างนี้ยังไม่ถือเป็นข้อยุติ เพียงแต่เป็นความเห็นของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ยังต้องดูในส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ในฐานะผู้ปฏิบัติยังไม่อยากพูด เพราะพูดไปก็จะหาว่าหวงก้าง หวงอำนาจ ส่วนเรื่องโครงสร้างของ กกต. หรืออำนาจในการสอบสวนของ กกต. รวมทั้งอำนาจการให้ใบเหลืองใบแดงต้องรอให้ได้ข้อยุติก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้กระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้งจะเป็นการถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า แล้วแต่กรรมาธิการยกร่างจะคิดกันเอง เราไปบอกว่าดีไม่ดี ไม่ได้ แต่เดิมที่ไม่มีกกต.ก็ให้กระทรวงมหาดไทยจัด แล้วจะย้อนไปให้กระทรวงมหาดไทยจัดก็เรื่องของเขา ส่วนการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอาจทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่สุจริตยุติธรรมก็ให้ไปคิดเอาเอง กรรมาธิการ ยกร่างเขาคิดได้เอง เราคงไม่วิจารณ์
บิ๊กโด่งรอผลสรุปวอนขอกำลังใจ
ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่มานายกฯ ไม่ต้องเป็นส.ส. แต่ต้องผ่านการ คัดเลือกของสภาว่า ไม่ขอออกความคิดเห็น รอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน พูดตอนนี้คงไม่ได้ เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องมีเหตุผลรองรับการตัดสินใจ ตนก็เป็นผู้หนึ่งที่รอฟังข้อสรุปอยู่ ส่วนมติดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีตหรือไม่นั้นไม่ขอออกความเห็น แต่เชื่อว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรงนี้จะทำงานกันเต็มที่ทุกคน ทุกคนมีความตั้งใจ ขอให้ช่วยกันและไว้วางใจพวกเขา ขณะที่นายกฯ ก็พยายามทำตามโรดแม็ป หัวหน้าส่วนราชการก็รับสนองงานกันเต็มที่ ตั้งใจทำงานตามขั้นตอน ดังนั้นขอให้ช่วยกันให้กำลังใจ "ความคิดเห็นไม่ตรงกันก็รับฟังกันได้ แต่เมื่อส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างนี้คนส่วนน้อยต้องรับฟังด้วย ถ้าต่างคนต่างรับฟังและมีเหตุผลมีสติที่จะรอให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องทุกอย่างก็จะเรียบร้อย" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
40 ส.ว.หนุนมท.จัดเลือกตั้ง
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทน เพราะมีความพร้อมทั้งบุคลากรและความเชี่ยวชาญในพื้นที่ ปกติกกต.เองต้องขอความช่วยเหลือจากมหาดไทยในการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว ให้จัดแทนไปเลยก็ดี และยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันด้วย ที่ผ่านมากกต.ทำงานล้มเหลว ควบคุมและจัดการเลือกตั้งไม่สัมฤทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น อีกอย่างคือการให้ใบเหลืองใบแดงพิจารณาได้ช้า อยากให้เร็วกว่านี้ ควรกำหนดระยะเวลาการพิจารณาที่แน่นอน
พท.หนุนอำนาจศาลแจกใบแดง
นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางให้ กกต.ทำหน้าที่เฉพาะควบคุมการเลือกตั้ง แต่การจัดการเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการเลือกตั้ง กกต.ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐ มาช่วยจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว การให้ส่วนราชการใดรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งโดยตรงทำให้จัดการเลือกตั้งได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพมากกว่าให้มาช่วยงาน กกต.เหมือนที่ผ่านมา ส่วนที่ให้ กกต. มีอำนาจวินิจฉัยให้จัดการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ได้ แต่การดำเนินคดีเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง (ใบแดง) กับผู้กระทำความผิดให้เป็นอำนาจของศาลนั้นตนเห็นด้วย เพราะการให้อำนาจศาลให้ใบแดงผู้กระทำผิดการเลือกตั้งน่าจะเป็นธรรมและได้รับการยอมรับมากกว่า กกต.
ค้านส.ว.สรรหาร่วมถอดถอนนายกฯ
อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า ส่วนที่จะให้ส.ว.มาจากการสรรหา และสามารถลงมติร่วมกับส.ส.ในการถอดถอนนายกฯ และรัฐมนตรีนั้น วิธีการดังกล่าวเหมือนกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ไว้ใจเสียงของประชาชนในการเลือกผู้แทนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ส.ว. อีกทั้งการเพิ่มอำนาจให้สามารถลงมติร่วมกับส.ส.ในการถอดถอนฝ่ายบริหารได้นั้น หากส.ว.ที่ได้รับการสรรหาเข้ามาได้รับสัญญาณจากผู้ที่สรรหาให้ไปร่วมมือกับฝ่ายค้านจะสามารถล้มรัฐบาลได้ง่ายดาย คนที่จะถอดถอนผู้ที่ประชาชนเลือกมาได้นั้นต้องเป็นองค์กรที่ประชาชนเลือกมาด้วยเช่นกัน อีกทั้งการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นคณะรัฐมนตรีไม่ควรเป็นหน้าที่ของส.ว. โดยเฉพาะ ส.ว.สรรหา รวมถึงระยะเวลาที่จะพิจารณาคุณสมบัตินานเท่าใดจึงจะสามารถแต่งตั้งฝ่ายบริหารได้ หากมีการปรับ ครม.จะทำให้การบริหารสะดุดไปนานเท่าไรกว่าการพิจารณาคุณสมบัติจะเสร็จสิ้น
ชี้ต่ออายุอปท.มีทั้งข้อดีข้อเสีย
ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส. อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ คสช.ต่ออายุให้ผู้บริหารท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งว่า เรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือช่วยลดแรงเสียดทานและความไม่พอใจของผู้บริหารท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนข้อเสียคือหากประชาชนไม่ชอบผู้บริหารชุดเดิม ไม่ทำงาน ใส่เกียร์ว่าง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนผู้บริหารได้ เพราะไม่มีกำหนดว่าต้องรักษาการเท่าไร ต้องอดทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรอีก ช่วงต้นเดือนม.ค.58 ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นเกือบ 1 พันแห่งกำลังจะหมดวาระลงนั้น ตนสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.มีอำนาจอยู่ในมือ สามารถออกประกาศเพื่อให้มีการเลือกตั้งได้แม้อยู่ในห้วงกฎอัยการศึก โดยให้กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลการเลือกตั้งแทน กกต. เพราะการเลือกตั้งทุกครั้ง กกต.ต้องอาศัยกระทรวงมหาดไทยสนับ สนุนอยู่แล้ว เชื่อว่าไม่มีใครต่อต้านการเลือกตั้งท้องถิ่นแน่นอน
นายกฯ คนนอก-ปชต.รับไม่ได้
นายสมคิด กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องที่มา นายกฯ ไม่ต้องมาจากส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองว่า เชื่อว่าคนที่อยู่ในแวดวงประชาธิปไตยไม่มีใครรับได้แน่นอน ไม่อยากให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฝืนกระแสหรือหนีความจริง พวกคุณจะเอาเงื่อนไขมาร่างเป็นหลักการไม่ได้ ที่สำคัญ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง "การปฏิรูปคือต้องทำอะไรใหม่ๆ แต่นี่กลับถอยหลังลงคลอง อยากให้เขียนรัฐธรรมนูญเกรงใจประชาชน 60 กว่าล้านคนบ้าง ส่วนที่จะเพิ่มอำนาจให้ส.ว.ลงมติร่วมกับส.ส.ในการถอดถอนฝ่ายบริหารได้นั้น ตนจะเห็นด้วยต่อเมื่อส.ว.มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นส.ว.สรรหาและอ้างว่ามาจากหลากหลายสาขาอาชีพนั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะมีแต่คนของพวกคุณทั้งนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ มีแต่คนดี แต่น่าเสียดายที่เนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญเกือบร้อยละ 70 กลับไม่ดีเลย
มาร์ค โวยปมนายกฯถอยลงคลอง
ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องระบุเหตุผลและข้อยกเว้นให้ชัดเจนว่าการเปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ควรจะเข้ามาในช่วงเวลาใดหรือวิกฤตใด หากไม่ให้นายกฯ สังกัดพรรคการเมืองก็จะไม่มีความแน่นอน เมื่อประชาชนไปใช้สิทธิก็จะไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นฝ่ายบริหาร ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลองของระบอบประชาธิปไตย และปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากโครงสร้าง แต่เกิดจากตัวบุคคลและการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่มากเกินไป ประเด็นเหล่านี้เป็นหัวใจที่ต้องเข้าไปแก้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการที่ไม่จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้นั้นเป็นการกระทำที่ผิดต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตย เพราะพรรค การเมืองต้องหาเสียงชูนโยบายให้ประชาชนตัดสินใจ แต่เมื่อมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารแล้วไม่ทำตามคำมั่นที่ให้สัญญาไว้ เท่ากับไม่รับผิดชอบต่อคะแนนของประชาชน อย่างไรก็ตามเมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะส่งร่างมาให้พรรคการเมืองดู พรรคการเมืองต่างๆ จะสะท้อนความเห็นที่แตกต่างกลับไปยังกรรมาธิการฯ เพื่อปรับแก้อีกครั้ง แต่ยังติดปัญหาคำสั่ง คสช. ที่ห้ามจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวหรือประชุมพรรค จึงอยากให้ไปดูตรงนี้ด้วย
หวั่นมท.เอื้อประโยชน์พรรคการเมือง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการได้มาซึ่งส.ว.ที่กรรมาธิการฯ ระบุว่าให้มาจากการสรรหาทั้งหมดว่า ไม่เห็นด้วยเพราะขาดการเชื่อมโยงและยึดโยงกับประชาชน อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ต้องไปดูความเหมาะสมว่าจะใช้วิธีใด หรืออาจเป็นไปในรูปแบบการเลือกตั้งควบคู่ไปกับการสรรหา หรือเลือกตั้งจากสาขาอาชีพ การให้ส.ว.มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ทำหน้าที่บริหารทั้งที่ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เหมาะสม หากเพิ่มอำนาจให้ส.ว.มากเกินไปอาจมีการถอดถอนฝ่ายบริหารได้ ส่วนการลดอำนาจ กกต.และให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษา ธิการจัดการเลือกตั้งนั้น หาก กกต.มีปัญหาเรื่องการเลือกตั้งก็ควรไปแก้ปัญหาที่ กกต. แต่หากให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาจะต้องมีหลักประกันได้ว่าการใช้อำนาจของรัฐจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นในการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองจัดการเลือกตั้ง หรือควรให้อำนาจ กกต.ตัดสินลงโทษข้าราชการของรัฐที่วางตัวไม่เป็นกลาง แต่ส่วนตัวเห็นว่าการกำหนดโครงสร้างที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ควรออกกติกาที่ซับซ้อนเพราะจะยิ่งสับสน
หนุนประชามติ ร่างรธน.ฉบับใหม่
นายอภิสิทธ์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นราวเดือนก.พ.59 ว่า พรรคการเมืองไม่มีปัญหา โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องว่าไปตามกติกาและกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ ทั้งนี้ เห็นควรให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ออกมา เพื่อความเป็นประชาธิปไตยและไม่ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นชนวนขัดแย้งหรือเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดปัญหาโครงสร้างประเทศ แม้จะเสียเวลา 2-3 เดือน หากทำประชามติก็คุ้มค่า สิ่งที่จะเป็นปัญหาคือเมื่อรัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จทันตามเวลาหรือร่างแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบจากสปช. แล้วต้องกลับมายกร่างใหม่ ดังนั้น ควรร่างแล้วทำประชามติโดยให้มีเงื่อนไขว่าหากไม่ผ่านก็ควรเอาฉบับปี "50 มาใช้
นิพิฏฐ์ ซัด"ล้าหลัง-ย้อนยุค"ยุ่งแน่
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งว่า เป็นประเด็นที่ล้าหลัง เดินถอยหลัง ไม่ก้าวหน้าและย้อนยุค เดิมเราใช้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง จึงเห็นปัญหาว่ามีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ เพราะกระทรวงมหาดไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล จึงหาความเป็นกลางได้ยาก
"เราหลุดจากมหาดไทยให้ กกต.จัดการเลือกตั้งมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี "40 ผมยอมรับว่า กกต.จัดการเลือกตั้งดีกว่ามหาดไทย อาจจะไม่เป็นที่พอใจมากนัก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมหาดไทย กกต.จัดเลือกตั้งได้ดีกว่า หาก กกต.จัดการเลือกตั้งแล้วมีปัญหาก็ควรปรับการทำงานให้ดีขึ้นหรือแก้กฎหมาย เพราะถ้าหากย้อนยุคกลับไปมหาดไทยยุ่งแน่ เพราะต้องใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้ามาช่วยตรงนี้ และการซื้อเสียงที่เราออกแบบป้องกันพอเปลี่ยนมาแบบนี้การซื้อเสียงน่าจะง่ายขึ้น" นายนิพิฏฐ์กล่าว
ปู่พิชัย ชี้วุ่นแน่-มีกกต.ดีอยู่แล้ว
นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในเรื่องเดียวกันว่า เป็นเรื่องแปลกมาก ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยดูแลการเลือกตั้งแต่เปลี่ยนให้ กกต.มาดูแลแทน แต่ระยะหลัง กกต.ทำหน้าที่ด้วยความลำเอียง ไม่เสมอภาค อย่างไรก็ตามการให้กระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้งจะทำให้วุ่นวายได้ เพราะเป็นของรัฐบาล จะแก้ปัญหาอย่างไรและทำให้แก้ไขปัญหาไม่ได้ การหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ใช่ใช้วิธีนี้ ข้อเสนอดังกล่าวแสดงว่าไม่ไว้ใจกกต. การมี กกต.อยู่ก็ดีแล้ว แต่ควรลดอำนาจให้ดูแลการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ กกต.ไม่ควรมีอำนาจให้ใบเหลืองใบแดงหรือยุบพรรคการเมือง
ถอยลงคลองระวังรธน.เละเป็นโจ๊ก
ส่วนกรณีที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นส.ส.นั้น นายพิชัยกล่าวว่า ช่วงที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ต่อสู้ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ก็รู้ถึงการต่อสู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว และระบอบประชา ธิปไตยในสภานั้นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. "ยืนยันว่านายกฯ ต้องเป็นส.ส. ส่วนจะได้คนดีหรือไม่ให้ประชาชนตัดสินใจ การระบุว่าเผื่อมีเหตุการณ์ฉุกละหุกนั้น ควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ว่ากรณีนี้ให้เอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ระยะหลังนี้การร่างรัฐธรรมนูญเหมือนถอยหลังลงคลอง กลัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเละเป็นโจ๊ก ความหนาเท่าคัมภีร์ การร่างรัฐธรรมนูญควรเขียนให้สั้นๆ แล้วที่เหลือก็ออกกฎหมายลูกได้" นายพิชัยกล่าว
สดศรี ห่วงนักการเมืองครอบงำ
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ แต่มีเสียงวิจารณ์ออกมาว่าจะยุบกกต. การจัดการเลือกตั้งจะส่งกลับไปให้กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวงเหล่านี้อยู่ในการดูแลของนักการเมืองก็จะต้องฟังเสียงนักการเมืองที่เป็น ผู้บังคับบัญชา ที่สำคัญคือต้องกลับไปอยู่ในการครอบงำของนักการเมืองเหมือนเดิม ก็รู้อยู่ว่านักการเมืองไม่ชอบกกต. เพราะกระทบต่อบทบาทหน้าที่ของนักการเมืองโดยตรง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เหมือนย้อนหลังกลับไปมาก แต่ต้องรอดูว่าการจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะสุจริตและโปร่งใสหรือไม่ เพราะการตั้งกกต.ขึ้นมาเพื่อให้ตรวจสอบนักการเมืองและไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร
อยากยุบกกต.ก็พูดตรงๆ ว่ายุบ
"การลดบทบาท กกต. ก็เหมือนการยุบ กกต.นั้นเอง หากจะยุบก็พูดกันตรงๆ ไปเลยว่ายุบเพราะผลงานใช้ไม่ได้ก็พูดออกมาเลย ที่มีมติออกมาอย่างนี้มันไม่ใช่การลดอำนาจอย่างเดียว แต่จะไปทำงานซ้ำซ้อนกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษา ธิการได้อย่างไร ไม่มีที่ไหนที่จะทำงานซ้ำซ้อนกัน กลายเป็นว่า กกต.เป็นเพียงฝ่ายธุรการให้เท่านั้นเอง แถมการให้ใบเหลืองใบแดงจะแยกได้อย่างไรว่าใบเหลืองอยู่ที่กกต. ใบแดงไปอยู่ที่ศาล เพราะกกต.ต้องสืบสวนสอบสวนในขั้นตอนสุดท้าย หาก กกต.สอบสวนเสร็จแล้วเห็นสมควรให้ใบแดงก็ส่งไปศาล แต่เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าให้ได้เพียงใบเหลืองเรื่องก็จะต้องส่งกลับมายังกกต.อีกหรือไม่ อย่างนี้เท่ากับทำทั้งใบเหลือง-แดง จึงถือว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนมาก" นางสดศรีกล่าว
ปลุกกกต.สู้อย่ายอมถูกมัดมือชก
อดีตกกต.กล่าวอีกว่า เพราะอะไรกรรมาธิการยกร่างฯ จึงไม่ศรัทธาการทำงานของกกต. กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องชี้แจงเหตุผลได้ว่าทำไมถึงไม่ศรัทธากกต. การยก อำนาจกกต.ไปให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบต้องตอบสังคมได้ว่าเพราะอะไร ขณะนี้ เหมือนกกต.ถูกมัดมือชก โดยไม่บอกเหตุผลว่าทำไม เราควรมีเหตุผล ไม่ใช่ว่ามีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ ถ้ากระบวนการทำงานเป็นอย่างนี้ กกต.จะทำงานได้ยาก การให้หน่วยงานอื่นจัดการเลือกตั้งแล้วการทุจริตขายเสียงจะหมดไปหรืออาจมากกว่าเดิมก็ได้ เพราะกระบวนการต่างๆ จะไปอยู่ในการครอบงำของฝ่ายการเมือง "กกต.ต้องประชุมหารือกัน พร้อมทั้งชี้แจงให้บุคคลต่างๆ ฟังว่ากกต.ยังคงมีบทบาทหรือไม่ เพราะการยุบ กกต. ต้องเป็นเรื่องสำคัญและมีเหตุผล กกต.ต้องออกมาพูดกันได้แล้วว่ากกต.สำคัญและมีประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่เหมือนลูกผีลูกคน กกต.ต้องออกมาสู้ ไม่ให้ใครมามัดมือชกได้" อดีตกกต.กล่าว
วอนบิ๊กตู่ผุด"กำนัน-ผญบ.นิยม"
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่โรงแรมมุกดาหาร แกรนด์ จ.มุกดาหาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดโครงการ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน" ครั้งที่ 1 นำโดยนาย พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 พร้อมด้วยสมาชิกสนช.อีก 8 คน อาทิ นายตวง อันทะไชย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เข้าร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังปัญหาอุปสรรค จากประชาชนในพื้นที่ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการค้าชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านและพัฒนาการท่องเที่ยว ท่ามกลางการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยทั้งทหารและตำรวจโดยรอบและภายในห้องประชุม
นายพีระศักดิ์ กล่าวเปิดงานว่า สาเหตุที่เลือก จ.มุกดาหาร เป็นจังหวัดแรก เพราะหวังว่าจะทำความเข้าใจกับพี่น้องในต่างจังหวัดถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เดินไปไม่ได้ จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องยึดอำนาจ นำไปสู่กระบวนการแม่น้ำ 5 สาย ยืนยันว่า คสช. ไม่ได้ต้องการยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจ แต่ที่ต้องทำเพราะเห็นว่าประเทศกำลังจะไปไม่รอด ต้องเข้ามาช่วยเหลือประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ได้ยึดอำนาจเข้ามาเพียงเพื่อบริหารประเทศเหมือนแบบที่ทหารเคยทำ แต่ คสช. มีแนวทางดำเนินการปฏิรูปและการปรองดองเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมาอีก "อย่ากังวลว่า คสช.จะเล่นการเมืองต่อ ที่ คสช.ทำไปทั้งหมดไม่ได้หวังคะแนนนิยม แต่ทำเพื่อต้องการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้สำเร็จก่อน แล้วจะวางมือไป" นายพีระศักดิ์กล่าว
จากนั้นเข้าสู่ช่วงแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ ตั้งคำถามต่อการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีความกังวลต่อปัญหาปากท้อง ด้านเกษตรกรรม ที่ดินทำกิน ค่าครองชีพ ทั้งยังขอให้มีบทบัญญัติให้ชัดเจนว่ากำนันผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองอย่าแตะต้อง ขอให้มีวาระอายุ 60 ปี เหมือนเดิม เพื่อคอยประสานรอยร้าวระหว่างประชาชนในพื้นที่ และขอให้เพิ่มเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้าน และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยืนยันว่าจะไม่ทำประชานิยม ได้ทำกำนันผู้ใหญ่บ้านนิยมด้วย สำหรับกำหนดการสนช.พบประชาชนครั้งที่ 2 จะมีขึ้นที่ จ.บึงกาฬ ในวันที่ 29 ธ.ค. ต่อไป
บิ๊กโด่ง"ย้ำสกัดยาเสพติดทะลัก
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ก่อนลงพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก ว่า เป็นการไปตรวจเยี่ยมมอบของขวัญพร้อมให้กำลังใจกำลังพลในกองทัพภาคที่ 3 จากนั้นจะเดินทางไป จ.เชียงใหม่ ดูการปฏิบัติงานของกำลังพลตามแนวชายแดนที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เน้นย้ำให้เข้มงวดการดูแลแก้ปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาตามแนวชายแดน เพราะเป็นแหล่งต้นทางที่ยาเสพติดจะเข้ามาในประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินสถานการณ์ผู้ที่เห็นต่างในพื้นที่ภาคที่ 3 อย่างไร พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ผู้ที่เห็นต่างมีเพียงเล็กน้อยสามารถดูแลได้ บรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยดี ใครที่เห็นอะไรไม่ถูกต้องจะพูดคุยทำความเข้าใจชี้แจงกันโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยพล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป จะเดินทางลงพื้นที่ไปกับตนเพื่อรับฟังปัญหาและสร้างความเข้าใจในพื้นที่
ต่อข้อถามถึงกรณีที่ คสช.มีคำสั่งให้สภา และผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระแล้วทำหน้าที่ต่อ จะช่วยตอบสนองงานของ คสช.ให้ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นต่างร่วมมือกับ คสช.ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความราบรื่นอยู่แล้ว