WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8795 ข่าวสดรายวัน


คสช.คืนเก้าอี้ อปท. อยู่ยาว! กมธ.ริบใบแดงกกต. 
ให้ปปช.ฟ้องคดีผ่าน'อสส.'ปื๊ดแจงวุ่นเปิดนายกคนนอก พท.อัด-ย้อนยุคปชต.ครึ่งใบ


โชว์ฝีมือ- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม ต.นานาค อ.ตาก ใบ จ.นราธิวาส พร้อมทั้งโชว์ฝีมือทอดไข่เจียว แจกจ่ายให้แก่ประชาชน ที่ประสบอุทกภัยด้วย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 

       อปท.ทั่วประเทศเฮ คสช.ออกคำสั่งคืนเก้าอี้สมาชิก-ผู้บริหารที่หมดวาระไปแล้ว พร้อมต่ออายุให้ชุดที่จะหมดวาระในปีหน้าด้วย ให้อยู่ยาวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่วนที่ได้รับการสรรหามาทำหน้าที่ให้หยุดไปโดยปริยาย ยกเว้นเมืองพัทยากับกรุงเทพมหานคร กมธ.ยกร่างได้ข้อสรุปอำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้มี 5 คนเท่าเดิมอยู่วาระ 6 ปี แจกได้แค่ใบเหลือง เพื่อไทยดาหน้าจวกรธน.ใหม่เปิดทางนายกฯคนนอก ระบุ ริบสิทธิและเสียงของประชาชน "จาตุรนต์" อัดรธน.ใหม่เป็นส่วนผสมของความไม่เป็นประชาธิปไตยในรธน.ปี 2521 กับปี 2550

อจ.ปื๊ดชี้ถ้ารธน.ไม่ผ่านก็ถูกยุบ

     เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ธ.ค. ที่รัฐสภา คณะอนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดสัมมนาหัวข้อ "สานพลังเจ้าหน้าที่ของรัฐในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ"

     นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าถ้าสปช.ไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรธน.ฉบับที่กมธ.ยกร่างจัดทำขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้ยุบทั้งกมธ.ยกร่างฯและสปช. และห้ามคนที่เป็น กลับมาดำรงตำแหน่งใหม่อีก แปลว่าอินจันคู่แฝดนี้ต้องตายตกตามกัน แต่ถ้าสปช.ให้ความเห็นชอบ จะต้องให้เวลาแก่สำนักอาลักษณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)ชุบหมึกเขียนลงบนสมุดไทยแบบโบราณเล่มใหญ่ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมในวันที่ 4 ก.ย. 2558 โดยธรรมเนียมและโดยรัฐธรรมนูญ ทรงมีพระราชอำนาจพิจารณาถึง 90 วัน

     "ถ้าครม.และคสช. เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้สมควรได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการลงประชามติ ก็จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งก่อนลงประชามติจะต้องเปิดให้ชี้แจงและอภิปรายเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาอีก 3-4 เดือนกว่าจะผ่านประชามติ" นายบวรศักดิ์กล่าว

ชี้เลือกตั้งครม.โดยตรงสุ่มเสี่ยง

      ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีข้อจำกัดหลายประการและต้องครอบคลุมเนื้อหาถึง 10 ประการ เช่น การมีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ทุจริตและทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต กลับคืนสู่ระบบการเมืองได้อีกเป็นอันขาด ซึ่งเป็นกรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราววางไว้ เรื่องอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กมธ.ยกร่างฯจะหลีกเลี่ยง เช่น ข้อเสนอให้เลือกตั้งครม.โดยตรงนั้นมีความเสี่ยง เพราะยังไม่มีประเทศไหนเคยใช้ เสี่ยงต่อการที่รัฐบาลจะเข้มแข็งมากจนกลายเป็นรัฐบาลเผด็จการ และไม่สามารถควบคุมตรวจสอบได้ เป็นความเสี่ยงที่เราไม่ควรลงไปเสี่ยง

     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องทำให้รัฐธรรมนูญนี้มีภูมิคุ้มกัน แก้ปัญหาบ้านเมืองในอดีตได้ โดยเฉพาะผู้มีเงินมหาศาล ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคที่ควบคุมและสั่งให้สมาชิกพรรคลงมติตามที่ต้องการได้ทั้งที่สวนกระแสประชาชน ตรงนี้กมธ.ยกร่างฯจึงนำระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผสมสัดส่วนที่เอาคะแนนเสียงของประชาชนทุกคะแนนมานับ และการไม่บังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค น่าจะพอแก้ปัญหาได้ ส่วนการให้นายกฯไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.นั้น ได้พิจารณาเรื่องนี้ย้อนไปในอดีตพบว่าเคยมีปัญหา รัฐธรรมนูญปี 2521-2534 บัญญัติให้ประธานวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งเป็นประธานรัฐสภา และบัญญัติว่าให้ประธานรัฐสภาเป็นคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกฯ และไม่บัญญัติให้การเลือกนายกฯทำโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตรงนี้เป็นที่มาให้ในปี 2535 มีการไปสนับสนุนให้คนที่ไม่ได้เป็นส.ส.เป็นนายกฯและก่อให้เกิดการชุมนุมในปี 2535 จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เขียนในรัฐธรรมนูญเลยว่าผู้ที่เป็นนายกฯต้องเป็นส.ส.

แจงเหตุเปิดให้คนนอกนายกฯ

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ประธานสภาเป็นประธานรัฐสภา และเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลแต่งตั้งนายกฯ พร้อมให้ลงมติเลือกนายกฯในสภา ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยทำมาก่อนและให้นายกฯต้องเป็นส.ส. ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังคงหลักการนี้ไว้ กระทั่งเกิดวิกฤตในปีที่ผ่านมา และเสียงเรียกร้องว่าวิกฤตนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยรัฐบาลและฝ่ายค้านในเวลานั้น

       "หลายคนบอกว่าให้ใช้มาตรา 7 ซึ่งเขียนสั้นๆ ว่าเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแก่กรณีใดก็ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พูดง่ายๆ คือ ขอพระบารมีพระมหากษัตริย์ลงมาแก้ปัญหา ซึ่งก็สวนพระราชดำรัสที่พระราชทานกับตุลาการไว้ในปี 2549 ว่ามาตรา 7 ไม่ได้ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ แต่คนไทยยังเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 เพราะวันนั้นเกิดวิกฤต ท้ายที่สุดทหารต้องประกาศใช้อัยการศึกและทำรัฐประหาร สรุป คือการไปบัญญัติให้ส.ส.เท่านั้นที่จะเป็นนายกฯได้ จึงเป็นการปิดประตูตายในเวลาวิกฤต" นายบวรศักดิ์กล่าว

โต้ไม่มีวาระซ่อนเร้นประเคนใคร

    นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯเถียงเรื่องนี้มากว่าถ้าเป็นสถานการณ์ปกติเลือกตั้งเข้ามา รัฐธรรมนูญเขียนอยู่แล้วว่า 1.ประธานสภาเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกฯ 2.การลงมติเลือกนายกฯต้องทำในสภา แน่นอนว่าไม่มีพรรคไหนจะเอาคนนอกเป็นนายกฯ ก็ต้องเอาคนที่เป็นสมาชิกพรรคและเป็นส.ส.เข้ามาเป็นนายกฯตามธรรมชาติ แต่สาเหตุที่ไม่เขียนให้นายกฯต้องเป็นส.ส.อีก เพราะถ้าเราเขียนไว้เหมือนเมื่อปี 2540-2550 และถ้ามันเกิดวิกฤตอีกครั้ง รัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางออกให้ และต้องใช้วิธีทางนอกรัฐธรรมนูญอีก

    "ขอเรียนว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นที่จะเอาใครมาเป็นอะไรทั้งสิ้น รัฐประหารครั้งนี้เกิดจากการเขียนรัฐธรรมนูญผูกมัดรัดตึงเกินไป ทั้งที่ต้องการให้คนกลางมาเป็นก็ทำอะไรไม่ได้ จึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญ เหลียวไปดูต่างประเทศก็มี 26 ประเทศเท่านั้นที่เขียนให้นายกฯต้องเป็นส.ส. กมธ.ยกร่างฯ จึงต้องตัดสินใจหาทางตรงกลาง คือมีหลักประกันแน่ชัดว่าประธานสภา จะเป็นคนนำความกราบบังคมทูลให้ตั้งนายกฯและส.ส.จากการเลือกตั้งจะเป็นคนลงมติเลือกนายกฯ" นายบวรศักดิ์กล่าว

พท.อัดย้อนยุคป๋า-ปชต.ครึ่งใบ

     วันเดียวกัน นายพนัส ทัศนียานนท์ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.แต่มาจากสภา ว่า วิธีดังกล่าวเป็นการกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เหมือนในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะระบบดังกล่าวทำให้เกิดการต่อสู้คัดค้านที่มาของนายกฯ จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่สูญเสียชีวิตผู้คนไปมากมาย บ้านเมืองจะกลับไปสู่ยุคเก่าที่อุตส่าห์สู้กันมา เอาชีวิตคนไปสังเวยแล้วก็ไม่เห็นความหมาย เชื่อว่านักการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ จะรับไม่ได้กับวิธีการแบบนี้ 

     "แนวคิดทั้งหมดที่พูดกันมาตั้งแต่สมัยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ต้องการให้นักการเมืองเก่าสูญหายไปให้หมด ฐานเสียงของพรรคเสียงข้างมากจะถูกทำลาย ขอให้จับตาดูการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. ทั้งระบบเขตเลือกตั้งและระบบสัดส่วน จะมีการกำหนดขีดเส้นให้ทำลายฐานเสียงของพรรคที่เคยมีเสียงข้างมาก ส่วนพรรคฝ่ายค้านจะมีวิธีการแบ่งเขตที่ไม่ทำให้พรรคฝ่ายค้านเดิมเสียประโยชน์" นายพนัสกล่าว 

       ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อยุติของสปช.เป็นแค่ความเห็นของอนุกรรมาธิการฯ เชื่อว่าจะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีก แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นการถอยหลังเข้าคลอง และที่มาของนายกฯ ก็ไม่ยึดโยงกับประชาชน อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเรื่องนี้เป็นการโยนหินถามทาง เหมือนกับการเสนอให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงที่มีการโยนหินถามทางมาแล้ว จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องรับฟังความเห็นเรื่องนี้จากทุกภาคส่วน จะได้กำหนดทิศทางที่เหมาะสม 

"วรชัย"ลั่นต้าน-นายกฯต้องส.ส.

      นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านจนถึงที่สุดกับข้อเสนอเรื่องที่มาของนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค ถือเป็นการเปิดประตูให้กลุ่มทุนใหญ่ที่มีต่างชาติหนุนหลังเข้ามาบริหารประเทศผ่านคนไทยที่มีหน้ามีตาในสังคม เปิดช่องให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาครอบงำประเทศ แค่มีเงินก็เอามาซื้อส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคและรวบรวมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จึงเปิดช่องให้ใครก็ได้เข้ามาโดยไม่ผ่านการคัดสรรจากประชาชน เท่ากับไม่เห็นหัวประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่สำคัญจะเกิดคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร ประเทศจะเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุด ดังนั้น นายกฯ ต้องมาจากการเป็นส.ส. มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น

       "เรื่องนี้มีการโยนหินถามทางกันเป็นระยะ มีการวางแผนและแบ่งบทกันเล่น คนหนึ่งเสนออย่างหนึ่ง อีกคนคัดค้าน นี่แค่ประเด็นที่มานายกฯ ยังถกเถียงกันขนาดนี้ แล้วมาตราอื่นๆจะเป็นอย่างไร จะใช้เวลานานขนาดไหน ดังนั้น ขอให้นายกฯ ติดตามและตรวจสอบด้วย ต้องเข้ามาดูแลให้รัฐธรรมนูญเดินไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ อย่าปากว่าตาขยิบ อดคิดไม่ได้ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีปัญหามากขณะนี้ จะเป็นต้นเหตุช่วยต่ออายุรัฐบาลนี้ออกไปอีกหรือไม่ หากนายกฯ จริงใจต้องติดตามสถานการณ์ ดูแลให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จโดยเร็วนำไปสู่การเลือกตั้ง เชื่อว่าจะได้ใจอย่างมากจากประชาชน ที่สำคัญจะกลายเป็นปัจจัยบวกในสายตาต่างชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง" นายวรชัยกล่าว

"ดร.ปึ้ง"ย้ำ 3 ปปช.ขาดคุณสมบัติ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตรวจสอบพบว่ากรรมการ ป.ป.ช. 3 คนขาดคุณสมบัติความเป็นป.ป.ช.ตั้งแต่ต้น เช้าวันนี้ตนได้เซ็นหนังสือมอบให้คนไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ลงเลขรับที่ 25863 ให้ตรวจสอบกรณีการแต่งตั้งพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เป็นกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 55 แทนที่นายเมธี ครองแก้ว ที่เกษียณอายุ ซึ่งขัดต่อประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 ข้อ 4 ที่ยังมีผลสืบเนื่องเป็นกฎหมายใช้อยู่จนถึงวันนี้ โดยประกาศระบุชัดว่ามีข้อห้ามแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม ถ้ายังเหลือกรรมการป.ป.ช.ตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป ให้ทำงานต่อไปได้ จึงยื่นเรื่องนี้ให้ป.ป.ช. พิจารณาว่า พล.ต.อ.สถาพรไม่ได้เป็นป.ป.ช. ตั้งแต่ต้นหรือไม่ การไปร่วมประชุมหรือมีมติใดๆ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งเซ็นชื่อโดยน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ลงเลขรับที่ 25864 ในเรื่องทำนองเดียวกัน เนื่องจากการแต่งตั้งนายณรงค์ รัฐอมฤต เป็นกรรมการป.ป.ช.แทนที่นายกล้าณรงค์ จันทิก เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 56 ขณะเดียวกันทราบว่าอีก 1-2 วันนี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ จะไปยื่นให้ตรวจสอบถึงการแต่งตั้งนายปรีชา เลิศกมลมาศ เป็นกรรมการป.ป.ช.แทนที่น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 53 ตนบอกเลยว่าเรื่องนี้เป็นจุดตายของป.ป.ช.

คสช.ต่ออายุผู้บริหารอปท.

       วันเดียวกัน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า ตามที่มีประกาศ คสช.ที่ 85/2557 วันที่ 10 ก.ค.2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยให้งดจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระจนกว่าจะมีเปลี่ยนแปลง โดยให้ใช้วิธีสรรหาเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ไปพลางก่อน ส่วน ผู้บริหารที่ครบวาระให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท.นั้น ปัจจุบัน คสช.เห็นว่าประชาชนในท้องถิ่น และอปท.ให้ความร่วมมือแก้ปัญหาของประเทศอย่างดี และเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิรูป ส่งเสริมสามัคคีสมานฉันท์ของประชาชนให้มากขึ้น จึงสมควรให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่เดิม มีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์ที่ยังไม่อาจจัดเลือกตั้งได้ สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน

    พ.อ.วินธัย กล่าวว่า หัวหน้าคสช.จึงมีคำสั่งที่ 1/2557 ซึ่งมีผลต่อสมาชิกสภาท้องถิ่น 126 แห่ง และผู้บริหารท้องถิ่น 213 แห่ง ที่ครบวาระและพ้นจากตำแหน่งในช่วงวันที่ 22 พ.ค. ถึง 31 ธ.ค.2557 จะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และสมาชิกสภาท้องถิ่น 648 แห่ง ผู้บริหารอปท. 806 แห่ง ที่จะครบวาระตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 ถึง 31 ธ.ค. 2558 จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งคำสั่งนี้ไม่มีผลใช้บังคับกับกรุงเทพ มหานครและเมืองพัทยา และให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.)ตามประกาศคสช. ที่ 86/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งส.ก.และส.ข. เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 ก.ค. 2557 ซึ่งยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ให้อยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่

     พ.อ.วินธัย กล่าวว่า สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นชุดสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2558 และประสงค์จะกลับเข้าดำรงตำแหน่ง ให้มารายงานตัวต่อประธานกรรมการสรรหา ตามประกาศ คสช. ที่ 85/2557 ภายในวันที่ 11 ม.ค. 2558 และให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนับแต่วันที่ประกาศแต่งตั้ง และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่เคยได้รับแต่งตั้งตามประกาศ คสช. ที่ 85/2557 พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นขึ้นใหม่ 

     พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2558 และประสงค์จะกลับเข้าดำรงตำแหน่ง มารายงานตัวต่อประธานกรรมการสรรหา ภายในวันที่ 11 ม.ค.2558 และให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้ปลัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นยุติการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่น

      โฆษกคสช. กล่าวว่า วาระให้ดำรงตำแหน่ง จนกว่ากกต.จะมีประกาศให้มีการเลือกตั้ง ในกรณีที่คสช.ยังอยู่ในตำแหน่ง การประกาศให้มีการเลือกตั้งต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคสช.และกกต. สิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนจะได้รับตามกฎหมายและระเบียบ กระทรวงมหาดไทย กรณีผู้ใดทุจริตต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หัวหน้า คสช. มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ กรณีสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากแหน่ง หัวหน้า คสช. จะแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแทน หรือสั่งให้ดำเนินการตามข้อ 11 ของประกาศ คสช. ที่ 85/2557

"อ๋อย"อัดตัดสิทธิ์เสียงประชาชน

      วันเดียวกัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็น การตอกย้ำว่าเป้าหมายสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการหาทางป้องกันไม่ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าใครควรเป็น ผู้บริหารประเทศ ไม่ให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในหลายครั้งที่ผ่านมาได้เป็นรัฐบาลอีก ลดบทบาทความสำคัญของพรรคการเมืองทั้งระบบลงไป โดยรวมแล้วเท่ากับจะทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่มีความหมายอะไร ซึ่งข้อสรุปของกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญทำให้เห็นได้ชัดว่าความคิดที่ว่าใครจะทำอะไรก็ให้เขาทำไป ไม่ต้องสนใจอะไร มีเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้คงใช้ไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนอกจากจะไม่แก้ปัญหาอะไรแล้ว ยังจะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

      ส่วนที่มีข่าวการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นเดือน ก.พ.59 นั้น ต่างประเทศกำลังให้ความสนใจ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา จนถึงวันนี้ระบบที่กำลังออกแบบอยู่นี้ได้กำหนดว่านายกฯจะไม่มาจากการเลือกตั้ง แต่จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำและอำนาจนอกระบบเท่านั้น ซึ่งการเลือกตั้งที่ประชาชนกำหนดไปตัดสินอะไรไม่ได้เท่ากับว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์มีเสียง จึงไม่มีประโยชน์และจะสร้างปัญหาวิกฤตไม่สิ้นสุด จะเป็นการเลือกตั้งลวงโลกที่ไม่มีความหมายหรือคุณค่าใดๆ

ผสมกันระหว่างรธน.ที่ไม่เป็นปชต.

     "เป็นการย้อนยุคไปถึงปี 21 เป็นอย่างน้อย เป็นการเอาส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญปี 2521 กับปี 2550 มาผสมกัน คำว่าอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยที่จะบัญญัติไว้ จะไม่มีความหมาย และยังเอาสีข้างเข้าถูเฉไฉไปว่าระบบที่กำลังจะสร้างขึ้นนี้มีไว้เผื่อเวลามีวิกฤต หากบอกว่ามีวิกฤตเมื่อไหร่ก็จะให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ถ้าคนนอกไม่ได้เป็นนายกฯตั้งแต่ต้น อย่างช้าที่สุดภายใน 3 เดือนคนนอกก็จะได้เป็นนายกฯ เพราะนายกฯที่มาจากส.ส.ตั้งครม.ไม่สำเร็จ เนื่องจากส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหลายไม่เห็นชอบ ระหว่างนั้นก็จะเกิดการชุมนุมยึดโน่นยึดนี่สารพัด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะบอกว่าการยึดเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลอื่นก็เอาตาม ทำให้รัฐบาลใช้กฎหมายก็ไม่ได้ และอาจมีคนไปร้องให้วุฒิสภาถอดถอนนายกฯ เมื่อรัฐบาลบริหารปกครองไม่ได้ก็ถือว่าเป็นวิกฤตและต้องไปเชิญคนนอกมาเป็นนายกฯ ถึงเวลานั้นนายกฯคนนอกทำอะไรก็จะได้รับการสนับสนุนจากส.ว.ในทุกเรื่อง ประชาชนออกมาชุมนุมก็จะเป็นการผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดก็จะเกิดขึ้น และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีบางส่วนที่คุ้นเคยอยู่ใช่หรือไม่" นายจาตุรนต์กล่าว


แอ่วเหนือ- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และน้องไปป์ บุตรชาย ถ่ายรูปคู่กลางทุ่ง ดอกคำแผ้แหล้ หรือดอกดาวกระจายฝรั่งเศส ระหว่างไปร่วมงานหนาวนี้ที่เมืองแกน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 

ให้กกต.อยู่ 6 ปี-แจกแค่ใบเหลือง

     ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมพิจารณาในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังให้คงองค์ประกอบเดิม 5 คน มีวาระ 6 ปี เป็นได้เพียงวาระเดียว ส่วนคุณสมบัติกกต.จะต้องซื่อสัตย์ สุจริต และมีประสบการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ที่สรรหา ส่วนหน้าที่กำหนดให้แยกอำนาจการจัดเลือกตั้งและอำนาจควบคุมการเลือกตั้งออกจากกัน คือ ให้ กกต.ทำหน้าที่เฉพาะควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริตและเป็นธรรม และไม่ให้เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งจะมีอำนาจวินิจฉัยให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ หรือให้ใบเหลือง หากเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่สุจริต หรือผู้สมัครกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 

    พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนการดำเนินคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกับผู้กระทำความผิด หรือให้ใบแดง ที่ประชุมสรุปให้เป็นอำนาจของศาลที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จะออกแบบให้มีกระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ขณะที่อำนาจการจัดการเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สาเหตุที่ต้องแยกอำนาจดังกล่าวเพื่อให้ กกต.ไม่ต้องมาทำงานด้านธุรการเกินความจำเป็น แต่กกต.ยังมีหน้าที่รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ได้ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ จากส.ส.ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นองค์ประชุมสำหรับการเปิดประชุมครั้งแรก เพื่อตั้งนายกฯ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

ป.ป.ช.ต้องฟ้องคดีผ่านอัยการสูงสุด

    พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังคงองค์ประกอบเดิมไว้ คือ 9 คน แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ดำรงตำแหน่ง 6 ปี หรือ 9 ปี ส่วนข้อเสนอให้ป.ป.ช.ฟ้องตรงไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ยังให้คงกำหนดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. คือต้องฟ้องผ่านอัยการสูงสุด(อสส.) เว้นเสียแต่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็ให้ป.ป.ช.ฟ้องโดยตรงเองได้ เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า สำนักงานอสส.เป็นหน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐ จึงควรมีส่วนร่วมในการเพิ่มความเข้มข้นของน้ำหนักในข้อกฎหมายของคดี นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังเห็นว่า ควรให้คดีทุจริตมีอายุความต่อไป แต่จะยกเว้นการนับอายุคดีในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ซึ่งแนวทางนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ต้องการมาสู่คดีตามกระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นก็ต้องหนีตลอดชีวิต

     วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวนกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯกับพวกว่า ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าขณะนี้ได้รวบรวมสำนวนเรียบร้อยแล้ว เป็นส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและนักการเมือง ซึ่งจะสรุปเรื่องเข้าที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ ในวันที่ 20 ม.ค.2558 

บิ๊กตู่วอนผู้คัดค้านรบ.มาคุยกัน

     เมื่อเวลา 08.00 น. ที่กรมการขนส่งทหารบก ดอนเมือง (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจตรวจเยี่ยมสถานการณ์ อุทกภัยในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่ง ถือเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง นายกฯลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมร่วมงานครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์สึนามิ ที่อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

     นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เราเรียนรู้มามากแล้ว ทุกอย่างของประเทศมีสาเหตุจากหลายอย่างด้วยกัน ถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุได้ ปลายเหตุเราสามารถระวังป้องกัน เมื่อทุกส่วนราชการร่วมมือกันช่วยกันแก้ปัญหาก็จะจบ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังไม่ช่วยกันก็ไม่ได้ วันนี้ข้าราชการและรัฐบาลพยายามทำเต็มที่ นโยบายสั่งการไปละเอียดทุกเรื่อง ปัญหาอยู่ที่ต้องร่วมมือกัน ถ้าจะวิจารณ์การทำงาน ตนไม่ว่าแต่ให้สร้างสรรค์แนะนำ ขณะเดียวกันต้องบอกให้ประชาชนหรือภาคเอกชนร่วมมือกับรัฐบาลด้วย และขอร้องให้ผู้ที่คัดค้านมาพูดในช่องทางที่คุยกันรู้เรื่องเพื่อแก้ปัญหากันได้ตรงจุด หากรัฐบาลทำไม่ถูกต้องก็ตำหนิรัฐบาล ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือก็ต้องเตือนประชาชนให้ความร่วมมือ หรือใครที่ขัดขวาง ขัดแย้งอยู่ก็มาร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถแก้อะไรได้ สั่งการไปก็ทำไม่ได้ ต้องช่วยตนด้วย

     เมื่อถามถึงอาการป่วยว่าหายดีหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า "ถ้าคนไทยยังไม่มีความสุข ก็ป่วยอยู่อย่างนี้ หายพร้อมกับคนไทย ซึ่งยังไหวอยู่"

ปลื้ม-รัฐบาลทั่วโลกดีกับคสช.

    จากนั้น เวลา 10.40 น. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลนานาค จ.นราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนที่มาต้อนรับ ตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียดีขึ้น ทุกประเทศทั่วโลกความสัมพันธ์ดีทั้งหมด ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมเขาดีกับตน คงเพราะความชัดเจน อีกทั้งเราถือว่าความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญที่สุด รัฐบาลเอาปัญหาทั้งหมดมาเป็นโจทย์ ตนไม่ได้ทำเพราะการเมือง เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง ตนไม่ได้มีต้นทุน ไม่ต้องเสียค่าสมัคร จึงพร้อมทำงานเต็มที่

    "ที่ผ่านมาบ้านเมืองหยุดชะงักมานานด้วยปัญหาการเมือง ปัญหาขัดแย้ง ความเห็นต่างในพื้นที่ แต่วันนี้ทุกอย่างต้องเดินหน้า รัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ 3 อย่าง 1.การรักษาความสงบเรียบร้อย แก้ปัญหาภาคใต้ให้ได้ ลดความรุนแรงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะกทม.ก็มีอาวุธสงคราม มีภัยต่างๆ มีนักการเมืองเลวๆ ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ วันนี้ต้องแก้ให้ได้เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งในวันข้างหน้า ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์เลือกรัฐบาลเอง ตนไม่ได้เป็นคนเลือก ฉะนั้นขอให้เลือกให้ดี เลือกคนพูดแบบผมและทำแบบผมเข้ามา อย่าไปเลือกคนที่ไม่ทำ บอกว่าจะทำแล้วทำหรือไม่ ปัญหาหมักหมมสั่งสมมาถึงผม ไม่รู้ว่าที่ผ่านมาเอาเงินไปทำอะไรกันหมด เรื่องการเมืองความมั่นคงพันกันไปหมด" นายกฯ กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 2.การเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งต่อไปจะต้องมีกติการวมและการเชื่อมโยงกัน จะเริ่มทุกอย่างให้ได้ในรัฐบาลนี้ แต่เวลามีค่อนข้างจำกัด และ 3.การสร้างเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งได้สั่งการทุกกระทรวงแล้วทั้งมหาดไทยและพาณิชย์ว่าทุกพื้นที่ต้องมีตลาดจำหน่ายสินค้าในชุมชน 

โชว์ทำไข่เจียวแจกชาวนราฯ

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนปัญหาราคายางตกต่ำ รัฐบาลพยายามเร่งแก้ไข ขอให้ประชาชนอย่าเคลื่อนไหวชุมนุมเลย ร้อนเปล่าๆ อีกทั้งอาจมีความผิดเพราะยังประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือจะช่วยทั้งผู้ปลูกและผู้กรีดยาง โดยตั้งโรงงานขนาดใหญ่ 6-7 โรงงาน แปรรูปเพิ่มมูลค่ายาง พร้อมตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ มีศูนย์กระจายสินค้า ขอให้ทุกคนช่วยกันร่วมมือกับรัฐบาลด้วย เพราะตนทำงานไม่ต้องการอะไร มีหัวใจให้ทุกคน จึงขอเวลาให้รัฐบาลได้ทำงานบ้าง 

      จากนั้น นายกฯ พบปะทักทายประชาชนที่มาต้อนรับ โดยสอบถามราคายางและเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลมอบให้ ซึ่งชาวบ้านหลายคนบอกว่ายังไม่ได้รับ นายกฯ อธิบายว่าได้อนุมัติงบประมาณไปแล้ว แต่ติดขัดเรื่องของระเบียบ แต่จากนี้ไปจะเร่งดำเนินการให้

      นอกจากนี้ นายกฯยังเยี่ยมชมโรงครัวเคลื่อนที่ของกองทัพบก และได้ลงมือทอดไข่เจียวแจกจ่ายชาวบ้านพร้อมกล่าวหยอกล้อว่า เมื่อสมัยเด็กก็ทำกับข้าวกินกับครอบครัว และเป็นทหารทอดไข่เจียวไม่เป็นก็บ้าแล้ว เมื่อก่อนนึกอะไรไม่ออกก็กินแต่ข้าวกะเพราไก่ เขาเรียกอาหารสิ้นคิด 

     เมื่อผู้สื่อข่าวขอให้นายกฯชิมไข่เจียวที่ลงมือทำเอง พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธโดยกล่าวว่า ไม่ชิม เพราะไม่ได้ปรุงเอง แต่ถ้าปรุงเองก็ไม่รู้ว่าจะกินได้หรือเปล่า กลัวไม่อร่อย วันนี้มาแค่ทอดโชว์

"บิ๊กป้อม"หนุน"บิ๊กตู่"สั่งปิดสื่อ

      ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ จะใช้กฎอัยการศึกจัดการบุคคลที่นำเอาอาวุธสงครามมาสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมืองว่า เรื่องนี้หน่วยความมั่นคงดูแลอยู่แล้ว ซึ่งนายกฯเป็นห่วง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งไม่เฉพาะอาวุธสงคราม ทั้งนี้ เรื่องอาวุธสงครามได้ติดตามมาตลอด ตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศแล้วก็ตรวจค้นบุคคลที่มีอาวุธสงคราม ตนสั่งให้ทุกหน่วยงานทั่วประเทศกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น ไม่ต้องห่วง ตนดูแลเต็มที่และขอให้มั่นใจว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตนจะทำให้ประชาชนเกิดความสุขมีความปลอดภัย และประเทศชาติสงบสุข

       พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กรณีนายกฯแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือน และระบุจะใช้มาตรา 44 ปิดสื่อที่สร้างความขัดแย้งนั้น ตนคิดว่าดีแล้ว เพราะรัฐบาลต้องการสร้างบ้านเมืองให้ปรองดอง แต่สื่อบางสำนักเขียนหรือนำเสนอที่มีความแตกแยกและชอบถามเรื่องที่มีความแตกแยก ชอบกันจริงๆ ไม่เคยมีคำถามอย่างสร้างสรรค์เลย ชอบมีคำถามที่ชวนทะเลาะ 

พาบิ๊กเหล่าทัพ-ตร.อวยพรป๋าเปรม

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันจันทร์ที่ 29 ธ.ค. เวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร พร้อมด้วยพล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. พล.ร.อ. ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. และนายทหารระดับสูง จะไปอวยพรในเทศกาลปีใหม่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษด้วย

       เวลา 10.30 น.ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน การประชุมศูนย์แก้ปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พร้อมผู้ว่าฯ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล โดยพล.อ.ประวิตร ได้รับฟังแผนและมาตรการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่กทม.และจังหวัดที่สำคัญของภูมิภาค และสั่งการให้ทุกส่วนราชการเตรียมแผนงานเพื่อปฏิบัติงานร่วมกัน โดยเฉพาะการเตรียมมาตรการป้องกันและการเข้มงวดบังคับ ใช้กฎหมาย ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและสถานที่ต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และขอให้ประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและร่วมแก้ปัญหาด้วย

บิ๊กตู่เป็นห่วงสวัสดิภาพปีใหม่

     เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ"ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ ไทย ตอนหนึ่งว่า ปีใหม่นี้เข้าใจดีว่าข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการท้องถิ่น อาสาสมัคร ต้องเสียสละทำหน้าที่คอยปฏิบัติงานช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา ขอขอบคุณอย่างสูง ซึ่งการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนนั้นในหลายๆ เรื่อง มีปัญหาอุปสรรค ทั้งใน กฎเกณฑ์ ความพร้อมของเครื่องมือ กฎระเบียบที่ต้องแก้ไข ขอให้ทุกคนทุ่มเททำด้วยใจ ด้วยความเสียสละ ให้ทุกคนตระหนักว่าข้าราชการ อาสาสมัคร เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละเพื่อให้การบริการแก่ประชาชน ให้มีความสุขและปลอดภัยในช่วงวันหยุดราชการหลายวัน อย่างเช่นในช่วงวันปีใหม่

      นายกฯ กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ รัฐบาลเป็นห่วงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะเยาวชน เด็ก ผู้หญิง จึงกำหนดมาตรการ แผนอำนวยความสะดวกป้องกันอันตรายต่างๆ ในทุกมิติไว้แล้ว ซึ่งมาตรการป้องกันการลดอุบัติเหตุทางถนน จะเน้นการบูรณาการการป้องกันร่วมกันในลักษณะยึดพื้นที่เป็นหลัก

ระมัดระวังเดินทาง-ดื่มสุรา 

       นายกฯ กล่าวว่า ขอความร่วมมือให้ระมัดระวังการเดินทาง การเลี้ยงสังสรรค์ การดื่มสุรา ทุกคนต้องช่วยกันระมัดระวังตนเองและรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นด้วย ทั้งนี้ ตนได้สั่งการแล้วว่าในช่วงปีใหม่จะต้องมีผู้รับผิดชอบในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ขอให้ทุกคนได้มีสติ คำนึงถึงความพอดี ช่วยกันดูแลคนที่เรารัก อย่าให้ความสนุกของเรากลายเป็นความทุกข์ของคนอื่น ตัวเองปลอดภัย คนอื่นก็ต้องปลอดภัยด้วย

       นายกฯ กล่าวว่า ขอให้คนไทยทุกคนร่วมแรงร่วมใจสร้างประเทศไทยให้ร่มเย็น น่าอยู่ มั่นคง แข็งแรง อย่างยั่งยืนในทุกมิติ ตนได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้แล้วว่าในปี 2558-2562 รัฐบาล ประเทศไทยจะต้องมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

"ปู"พาน้องไปป์เรียนรู้ชีวิตชาวนา

       เวลา 11.30 น. วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พา ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปป์ เดินทางไปยังบริเวณที่จัดงาน "หนาวนี้ที่เมืองแกน" ที่สนามกีฬาเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มี นายจรัส ไชยยา นายกเทศมนตรีเมืองเมืองแกนพัฒนา ต้อนรับ ท่ามกลางชาวบ้านอำเภอแม่แตง ที่มารอรับ และตะโกนเรียกนายกฯปูลั่น พร้อมกับเข้าไปถ่ายรูปและชมว่าสวยขึ้นกว่าเดิม และยังเป็นนายกฯ ในดวงใจเสมอ ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ้มแย้มและเข้ากอดทักทายชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง พร้อมทั้งเดินชมถนนคนเดินซื้ออาหารเหนือ ซึ่งในงานมีการทำไส้อั่วที่ยาวที่สุดในโลกถึง 425 เมตร และชมกลองสะบัดชัยใหญ่ที่สุดในโลก

       น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมลูกชายดินทางไปดูวิถีชีวิตชาวบ้าน พร้อมทั้งสอนให้น้องไปป์ เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตชาวนาที่ต้องทำนา ปลูกข้าวไถนา และนำข้าวไปตำเพื่อแยกข้าวออกจากเปลือก ซึ่งน้องไปป์พยายามเรียนรู้ทุกอย่างด้วยความสนใจ จากนั้น เดินทางไปชมทุ่งดอกไม้ดอกคำแผ้แหล้ หรือดอกดาวกระจายฝรั่งเศส หรือดอกคอสมอส ซึ่งปลูกในพื้นที่นับร้อยไร่ สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าไปถ่ายภาพพร้อมชวนน้องไปป์เข้าไปกลางไร่ดอกไม้ ยืนถ่ายรูปในอิริยาบถต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน พร้อมกันนี้ได้ทักทายและอวยพรให้ชาวบ้านที่มาร่วมถ่ายภาพให้มีความสุขในวันปีใหม่ ชาวบ้านก็อวยพรขอให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เพราะชาวบ้านยังรักไม่เสื่อมคลาย 

     จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางต่อไปยังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง เพื่อพักผ่อนส่วนตัว

ก.ตร.ยืดตั้งสารวัตร-รองผู้การฯ 

     เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่าที่ประชุมมีมติขยายเวลาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ระดับสารวัตร ถึงรองผู้บังคับการ ออกไปถึงวันที่ 15 ม.ค.2558 จากเดิมกำหนดกรอบเวลาต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. เพราะต้องพิจารณาปรับตำแหน่งให้เหมาะสม เนื่องจากการแต่งตั้งมีความเชื่อมโยงกันทุกกองบัญชาการ แม้บัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายจะแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 90 แล้ว 

      ผบ.ตรงกล่าวต่อว่า การแต่งตั้งที่ล่าช้าไม่เกี่ยวข้องกับการที่ตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถูกดำเนินคดีและเกี่ยวข้องเชื่องโยงกับเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผบช.ก. อีกทั้งปัญหาเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์จากการติดตั้งป้าย โฆษณาบนตู้ยาม ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายในกองบัญชาการตำรวจนครบาลล่าช้า ย้ำว่าจะให้ความเป็นธรรมกับตำรวจทุกนาย และไม่เปิดโอกาสให้วิ่งเต้นแต่อย่างใด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!