- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 25 December 2014 18:17
- Hits: 4349
ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค สภามี 450 เขต 250 สัดส่วน 200
มติชนออนไลน์ :
ร่วมงานเลี้ยง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเลี้ยงปีใหม่และร่วมรับประทานอาหารกับผู้สื่อข่าวประจำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นกันเอง พร้อมมอบพระพุทธเมตตาเสนานาถให้ทุกคน ที่ห้องผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล (รังนกกระจอกเก่า) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม
|
กมธ.ยกร่างฯเคาะสูตร เลื่อนถกสเปก'นายกฯ'รบ.โชว์ผลงาน 3 ด.วันนี้ 'ประยุทธ์'ครวญ'ขอใจ' "บิ๊กตู่"อารมณ์ดีร่วมร้องเพลงสื่อ กมธ.ยกร่างฯเคาะใช้เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม 450 คน ส.ส.แบ่งเขต 250 คน สัดส่วน 200 คน แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ใช้ภูมิภาคเป็นตัวแบ่งเขต ให้นายกฯมีอำนาจเลือก ครม. ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง @ "บิ๊กตู่"ร่วมงานปีใหม่สื่อทำเนียบ เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 24 ธันวาคม ที่ห้องผู้สื่อข่าวประจำเนียบรัฐบาล (รังนกกระจอกเก่า) ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจัดงานเลี้ยงปีใหม่โดยนำอาหารมารับประทานและแลกของขวัญในกลุ่มผู้สื่อข่าว ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้าร่วมงานและร่วมรับประทานอาหารด้วย พร้อมกับพูดจาหยอกล้อผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดี โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้หยิบข้าวเหนียวขึ้นมารับประทาน และบอกว่าถ้าเป็นคนอีสานต้องใช้นิ้วมือสามนิ้วหยิบข้าวเหนียวแล้วต้องจับติ่งหูเพราะข้าวเหนียวร้อน และวันนี้ขอว่าให้เรียกว่าพี่ แต่ขอให้เรียกวันเดียวเท่านั้นนะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวสายทหารรู้จักตนดี แต่เมื่อมาสายทำเนียบก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามมีความปรารถนาดี ตั้งใจทำงาน ไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูกับใคร สิ่งใดก็ตามจะลดความขัดแย้งลงได้ ไม่เคยขัดแย้งสื่อมวลชน แต่บางครั้งอะไรมากเกินไปก็ต้องชี้แจง จะบอกว่าเป็นนายกฯแล้วโมโหไม่ได้ เพราะเวลาทำงานบางครั้งก็ไม่เกิดผลผลิตออกมาทันที ก็ต้องรอ คนเราก็ต้องมีอารมณ์บ้าง จะไม่ให้โมโหเลยคงไม่ได้ "ต้องสร้างมิติใหม่ของพวกเรา เราบอกว่าอยู่กับการเมืองมานานแล้ว เราต้องสร้างมิติใหม่ให้ประเทศชาติมั่นคง ถือเป็นวันปีใหม่ ดังนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้ประเทศชาติไปข้างหน้าก็ยินดีทำ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว จากนั้น นายกฯได้มอบพระพุทธเมตตาเสนานาถให้กับผู้สื่อข่าว @ ร่วมร้องเพลง-ขออโหสิกรรม ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ร้องเพลงขอใจแลกเบอร์โทร ในงานเลี้ยงอาหารค่ำระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ร้องเพลงวันนั้นเพราะผู้นำประเทศลาวขึ้นไปก่อน บอกไปว่าให้มีเพลงของแต่ละประเทศ นึกว่าประเทศไทยไม่ต้องร้อง ทุกคนเขามีความสุขกัน เมื่อเขาร้องเพลงนี้เราก็ฟังบ่อย มีเนื้อมาก็ร้อง และประเทศในภูมิภาคนี้ก็รู้จักกัน จากนั้นผู้สื่อข่าวขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ร้องเพลงขอใจแลกเบอร์โทร พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ร่วมร้องเพลงดังกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วย "ขอให้ทุกคนมีความสุข สิ่งใดก็ตามที่ผมในนามของรัฐบาลที่ล่วงล้ำไปบ้างก็ขออภัย ขออโหสิกรรม ให้ลืมๆ กันไป ปีใหม่เริ่มกันใหม่ ถ้าเราคุยให้สอดคล้องกันว่าคิดอะไรแล้วตรวจสอบทีละขั้นละตอน ไม่ห่วง แต่ถ้ากำลังทำอยู่แล้วมาตำหนิลำบาก บางทีไม่เป็นกำลังใจ ผมก็อยากอธิบายให้ไปกันได้ ถ้าหงุดหงิดกันแล้วไปกันไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมกับเรียกหานางยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับบอกว่าเป็นพี่ที่เคารพ เป็นภรรยารุ่นพี่ @ ขอกำลังใจให้รบ.เหมือนทีมบอล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากนี้ไปประเทศชาติต้องยั่งยืน ตอนนี้ยังเป็นห่วงอยู่ ชีวิตและจิตใจของพวกตนมอบให้กับประเทศไทยและคนไทย ไม่เช่นนั้นไม่ออกมาทำอย่างนี้หรอก เพราะไม่ได้ต้องการอะไรอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงประเทศชาติ นี่คือของขวัญที่อยากจะขอคนไทยทั้งประเทศ คือทำอย่างไรให้ประเทศชาติก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทย แล้วมีความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำความแตกต่าง ให้ทุกคนอยู่พอกินพอใช้ ต้องใช้เวลามากพอสมควร นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เรียกศรัทธาคนไทยให้ได้อย่างที่ "ซิโก้" นายเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยทำได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "แล้วนายเกียรติศักดิ์ทำอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ต้องเรียกร้องให้ทุกคนให้กำลังใจนายเกียรติศักดิ์ และให้กำลังใจพวกผมด้วย ได้ให้เงินอัดฉีดนายเกียรติศักดิ์ไป 5 ล้านบาท และกำลังจะหาคนมาบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก ระหว่างแข่งขันก็ได้โทรศัพท์ให้กำลังใจไป ขอให้ทุกอย่างดี กีฬาเราก็ชนะอะไรก็เหมือนจะดีขึ้น อย่าไปเทียบปีนี้กับปีก่อน ไม่อยากให้ไปเปรียบเทียบใคร เอาวันนี้จะฟันฝ่าอุปสรรคของโลกได้อย่างไร วันนี้โชคดีน้ำมันลง จะให้ลดครึ่งราคาไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีเริ่มต้นแล้วไปจบลงตอนท้าย และการเมืองต้องรู้แพ้รู้ชนะด้วยกฎหมาย พยายามไม่ให้มีข้อขัดแย้งเพิ่มเติม กระบวนการปรองดองก็ว่ากันไป ไม่เข้าไปยุ่ง แต่ตนเป็นคนรับผิดชอบ ก็ต้องฟังว่าเขาว่ากันอย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป" @ อวยพรนักข่าวมีแฟน-มีลูก นายกฯกล่าวว่า "วันนั้นก็ดูฟุตบอลอยู่ ก็เอาใจช่วย และต้องนึกถึงด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรอยู่ และพระองค์ทรงส่งข่าวไปตั้งแต่ตอนพักครึ่งแรกว่าเป็นกำลังใจให้ อย่าท้อแท้ ให้มีสมาธิในการเล่น ไม่ได้รับสั่งว่าต้องชนะ เพราะพระองค์ทรงเป็นนักกีฬา จึงบอกให้ทุกคนมีสติ เล่นด้วยความระมัดระวัง วันนั้นคนมาเลเซียเขาเข้ามาเชียร์จำนวนมาก สุดท้ายปรบมือให้เรา เรียกว่าใจหล่อ เราต้องรักประเทศรอบบ้าน เพราะเศรษฐกิจจะแก้ไกลไม่ได้ ต้องเริ่มที่รอบบ้านก่อน" นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวทีเล่นทีจริงว่า "ใครไม่มีแฟนขอให้มีแฟนปีหน้า แล้วขอให้มีแฟนคนเดียวก็พอ ส่วนใครมีแฟนแล้วขอให้มีลูกในปีนี้" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพูดคุยและร่วมรับประทานอาหาร นายกฯได้กลับขึ้นไปทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ระหว่างทางผู้สื่อข่าวและช่างภาพได้ขอถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก บ้างก็ขอถ่ายเซลฟี่อย่างเป็นกันเอง @ ปัดตอบเลือกตั้งก.พ.59 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า "ไม่รู้ ต้องไปว่ากัน โรดแมปเขียนไว้อย่างไร รัฐธรรมนูญต้องร่างเสร็จในเดือนกันยายน 2558 และต้องออกกฎหมายลูกอีกเวลาเท่าไร ไม่รู้ที่ผ่านมากฎหมายลูกไม่ค่อยได้ออก จึงเอารัฐธรรมนูญมาตีกันเหมือนกับไม่มีการเอากฎหมายมาควบคุมแต่ละฝ่าย ในการทำงาน แต่จะใช้เวลาเท่าไหร่ ผมไม่รู้ จากกฎหมายลูกก็เข้าสู่การเตรียมการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญแล้วจะกาบัตรได้เลยหรือไม่ ไม่ทราบ" เมื่อถามว่ามีความตั้งใจให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2559 หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทราบแต่เพียงว่ารัฐธรรมนูญจะเสร็จเมื่อไหร่ จากนั้นจะเป็นรัฐบาลรักษาการ หลังจากนั้นให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเลือกตั้ง รัฐบาลตอนนั้นก็จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก ต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามา คิดแค่นั้น แต่จะเมื่อไหร่ อย่ามาห่วงกังวลว่าอยากอยู่ในตำแหน่ง "ถ้าผมอยากอยู่ มีอย่างเดียวคือทำให้ประเทศเป็นมหาอำนาจให้ได้ แล้วได้ไหม และผมจะอยู่ด้วยอะไร ในเมื่อผมเข้ามาอย่างนี้ ผมจะอยู่ได้ไหม ประชาชนยอมรับผมหรือเปล่า ต้องมีทั้งส่วนได้ ส่วนเสีย มีคนหลายประเภทก็ต้องฟังเขาบ้างว่าต้องทำอย่างไร ไปกีดกันใครก็ไม่ได้มากอยู่แล้ว กฎหมายก็ว่ากันมา หากลไกให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ เป็นอนาคตของประเทศ อย่ากังวลผม หรือถ้าเบื่อหน้าก็บอกผมให้ไปได้แล้ว ก็รีบบอก ถ้าอยากจะไม่มีอนาคตก็เอาสิ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว @ ลั่นไม่สมัครเป็นรัฐบาลอีก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปลายปี 2558 ต้องมาดูกันว่าจะเลือกตั้งอย่างไร กกต.ก็ทำไป รัฐธรรมนูญออกได้หรือไม่ จะผ่านหรือเปล่ายังไม่รู้เลย จะต้องทำประชามติหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดว่าจะต้องทำหรือไม่ สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง ถ้าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยก็สามารถเลือกตั้งได้อยู่แล้ว อย่ากังวล อย่างไรตนก็ไม่สมัครเป็นรัฐบาล เรื่องอะไรจะมาสมัครอีก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ปีใหม่นี้ขอให้อธิษฐานสิ่งดีๆ ต่อกัน ถ้ารู้สึกดีกับผมก็อวยพรให้หน่อย ถ้ารู้สึกไม่ดีก็อย่าเพิ่งขัดแย้งกับพวกเราเลย อย่าไปมองว่าอะไรก็ไม่ดี ผมรับผิดชอบในภาพรวม ครม.ทำเต็มที่ เรียกมาคุยตลอด อะไรตัดสินใจได้ก็ทำร่วมกันไป อันไหนไม่ได้จะทำได้อย่างไร ในเมื่อผมไม่อนุมัติ อย่าไปพูดถึงสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ การอุดหนุนทำไม่ได้ เพราะปัญหาที่เราแบกรับอยู่ตอนนี้และถ้ายืดไปเรื่อยๆ ต้องใช้เงินเป็นล้านๆ" @ แจงตั้ง"บิ๊กป้อม"ตามงานครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณี เตรียมแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการทำงานของรัฐมนตรีว่า เป็นการขับเคลื่อนการทำงาน ไม่ใช่จับผิดคน เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรเป็นทหารคิดเร็วเหมือนกับตน พล.อ.ประวิตรมีความสามารถ ต้องการให้ พล.อ.ประวิตรไปตามงานว่าติดขัดตรงไหน เช่น การจ่ายเงินสหกรณ์ยาง ปรากฏว่ากู้เงินไม่ได้ เพราะหนี้เก่ายังอยู่ ก็เพิ่งรู้ จากนั้นก็หารือใน ครม.ให้ยกเลิกหนี้เก่าได้หรือไม่ แบบนี้ถึงเรียกว่าขับเคลื่อน ทั้งหมดทุกฝ่ายทำหมดแล้ว แต่ต้องมีคนตามเรื่อง พล.อ.ประวิตรคงไม่ได้เข้าไปดูเองทั้งหมด แต่จะตั้งคณะอนุกรรมการมาติดตามและ คสช.ไปร่วมได้หรือไม่ อย่างเช่นตั้งจุดลงทะเบียนจ่ายเงินร่วมกับ ธ.ก.ส. แบบการจ่ายเงินจำนำข้าวจะได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตรให้ติดตามการทำงานของรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจการบ้านเพื่อปรับ ครม. ไม่มีใครกดดันให้ตนปรับได้ เพราะปรับเอง ไม่ถามใครอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าสั่งอะไรไป และได้อะไรกลับมาบ้าง ถ้าไม่ได้กลับมา ก็ปรับเองไม่เห็นต้องไปถามใคร ไม่ใช่รัฐบาลปกติ ไม่ใช่พรรคการเมือง @ ปัดคสช.เป็นกก.พิทักษ์รธน. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คสช.มีแนวคิดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วว่า "อ๋อเหรอ ไม่รู้เลย ยืนยันว่าไม่รู้ และยังไม่ได้คิด" เมื่อถามย้ำว่า คสช.จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ได้คิด ไปคิดกันมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเรื่องเดียวกันว่า "ไม่มีครับ ไม่เคยมีข้อเสนอเรื่องนี้ ผมไม่เคยได้ยินว่ามีข้อเสนอให้ คสช.อยู่ต่อ" @ รบ.พร้อมโชว์ผลงาน3เดือน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม กล่าวว่า การแถลงผลงาน 3 เดือนของรัฐบาลจะเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์จะแถลงนำในภาพรวม จากนั้นจึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีในแต่ละด้านแถลงในรายละเอียดต่อไป เช่น เรื่องการสร้างความปรองดอง แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้แถลง ขณะที่ส่วนตัวรับผิดชอบการแถลงงานด้านสังคม จะเน้นหนักในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมไปถึงเรื่องการศึกษา สาธารณสุข "การลดความเหลื่อมล้ำ มีเรื่องการให้ความช่วยเหลือหญิงไทยต่างประเทศ โดยสร้างเว็บไซต์ให้สามารถติดต่อกลับมาได้หากมีปัญหา การช่วยคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำหนังสือเสียงแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างอารยสถาปัตย์เพื่อผู้พิการ รวมถึงการเพิ่มเบี้ยคนพิการจาก 500 เป็น 800 บาท และมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับการคุ้มครองอุ้มบุญด้วย" นายยงยุทธ์กล่าว @ "พรเพชร"ชี้ฟังความเห็นรอบด้าน ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงโดยให้ใช้รูปแบบสภาผู้แทนราษฎรเลือกแบบเดิมว่า หน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังความเห็นทุกฝ่าย โดยเฉพาะความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องขอความเห็นชอบจาก สปช. ดังนั้นความเห็น สปช.องค์กรที่บัญญัติขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้มีความสำคัญในแง่การแสดงความเห็น ส่วนองค์กรอื่นๆ หรือแม่น้ำ 5 สาย ก็มีส่วนเสนอความคิดเห็น เช่น ข้อเสนอของ สนช. เป็นเพียงส่วนหนึ่งจะนำไปพิจารณา การถกเถียงตอนนี้แค่รูปแบบของการได้มาฝ่ายบริหารหรือนายกรัฐมนตรี กมธ.ยกร่างฯ คงหาข้อยุติ โดยการปรับให้รูปแบบเป็นอย่างไร จะปิดช่องโหว่เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยยั่งยืน เป็นปัญหาที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องพิจารณาว่าที่มานายกฯ จะมาจากการเลือกตั้งและคุณสมบัติจะเป็นอย่างไร รวมทั้งที่มาผู้แทนฯ นำระบบอะไรมาใช้ เพื่อสร้างผู้แทนเป็นตัวแทนประชาชนแท้จริง ถ้าได้แล้วและทำให้เลือกตั้งเป็นธรรม เป็นตัวแทนประชาชนแท้จริง ฝ่ายบริหารก็ไม่น่ากลัวว่ารัฐสภาจะเป็นผู้เลือกฝ่ายบริหารหรือนายกรัฐมนตรี @ เชื่อไม่มีใครมาสั่งลงเรือแป๊ะได้ เมื่อถามว่าการที่ กมธ.ยกร่างฯ ตีตกการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นสัญญาณความขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่ทราบแต่อย่าพูดว่าตีตก เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯ เมื่อฟังความเห็นรอบด้านก็ต้องคอยดูร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาฉบับแรกช่วงเดือนเมษายน 2558 จะเห็นชัดเจนว่า กมธ.ยกร่างฯ คิดอย่างไร เมื่อถามว่าขณะนี้นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.การปฏิรูปการเมือง สปช. โต้เถียงประเด็นนี้กับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นความขัดแย้งแนวความคิดหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เป็นสีสันความคิด ตอบได้อย่างหนึ่งว่าไม่ได้มีใครมาสั่งหรือบอกว่าต้องทำอย่างไร และถ้าจะพูดตามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าลงเรือแป๊ะนั้น ก็ไม่ได้มีการสั่งว่าจะลงเรืออย่างไร พิสูจน์ได้ว่าเรือลำนี้คนที่ลงเรือมีอิสระในแนวความคิด ส่วนการที่นายวิษณุเปรียบข้อเสนอบางคนเหาะเกินลงกานั้น เป็นความคิดส่วนตัวนายวิษณุ อาจเตือนไว้ว่าขอบเขตแต่ละคนเป็นอย่างไร ความคิดสร้างสรรค์บ้านเมืองสร้างรัฐธรรมนูญเป็นความคิดทุกฝ่าย แต่มีขอบเขตไม่ได้ผูกขาดแนวความคิด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง กมธ.ยกร่างฯ คงดูเสียงประชาชน ดูหลักกฎหมาย การคิดนอกกรอบไม่ใช่สิ่งเสียหายและคงไม่เกินลงกา จึงต้องยอมรับความคิด และบางครั้งต้องคิดอะไรที่เป็นตัวของเราเอง ถ้าไม่ได้แอบแฝงด้วยนัยยะอื่น @ "พรเพชร-เทียนฉาย"อวยพรสื่อ ทั้งนี้นายพรเพชรพร้อมด้วยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูป (สปช.) น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการ สนช. และนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยังได้เข้าร่วมงานเลี้ยงปีใหม่ที่ห้องสื่อมวลชนประจำรัฐสภา และร่วมรับประทานอาหารกลางวันอย่างชื่นมื่น โดยมีนายประสาร มฤคพิทักษ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช.ร่วมด้วย ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ยังร่วมมอบกระเช้าในเทศกาลปีใหม่ด้วย จากนั้นนายพรเพชรกล่าวอวยพรต่อสื่อมวลชนว่า ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขอปวารณาตัวต่อประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็จะนำไปปรับปรุง พร้อมชมเชยสื่อมวลชนที่มีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น มีการตรวจสอบกันเอง @ กมธ.ยกร่างฯถกปมระบบเลือกตั้ง ขณะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานประชุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยวันนี้พิจารณาเรื่องระบบการเลือกตั้ง และผู้นำการเมืองที่ดี กมธ.ยกร่างฯ ได้เชิญนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องข้อดีข้อเสีย และความเหมาะสมที่ควรใช้กับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันด้วย ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างฯ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ มีมติสอดคล้องไปในทางเดียวกันโดยให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีผู้แทนจากการเลือกตั้งผสม ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ที่ควรมีทั้งผู้แทนที่เป็นผู้แทนของประชาชนในเขตจังหวัดหรือการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และผู้แทนที่เป็นผู้แทน ของประชาชนที่ไม่มีฐานเสียงในเขตจังหวัดหรือการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยแบ่งสัดส่วน ส.ส.แบ่งเขต 250 คน และแบบสัดส่วน 200 คน รวม 450 คน คำนึงถึงเสียงสะท้อนของภาคประชาชนสังคม ยกตัวอย่างเช่น หากพรรค ก. ได้คะแนนแบบบัญชีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 หรือได้จำนวน ส.ส. 45 คน และพรรค ก. ยังชนะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตอีก 45 เขต ผลก็คือ พรรค ก. จะมี ส.ส.ในสภาทั้งสิ้นเพียง 45 คน ที่มาจากระบบเขตเท่านั้น ขณะที่พรรค ข.ได้คะแนนแบบบัญชีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 ของทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน ส.ส.ที่ควรจะมี 45 คน แต่พรรค ข. ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพียง 30 เขต ผลก็คือ พรรค ข. จะมี ส.ส. 45 คน ที่มาจากแบบแบ่งเขต 30 คน แต่จะได้ ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อเข้ามาอีก 15 คน รวมเป็น 45 คน เช่นกัน @ เปิดทางพรรคเล็กมีส.ส.เพิ่ม "ปัจจุบันมี 9 ประเทศ ที่ใช้ระบบสัดส่วนผสม ได้แก่ ประเทศเยอรมนี แอลเบเนีย โบลิเวีย ฮังการี อิตาลี เรโซโท เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และเวเนซุเอลา โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 10 เพื่อแก้ปัญหาการเลือกตั้งที่ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งของประชาชนได้ตอบสนองผู้มาลงคะแนนอย่างแท้จริง" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า สำหรับข้อดีของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม คือ เสียงของประชาชนไม่สูญเปล่า พรรคขนาดเล็กและภาคประชาสังคมจะมีตัวแทนในสภามากขึ้น ส่งผลให้พรรคการเมืองมีบทบาทมากขึ้น กล่าวคือพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่ไม่ต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งจนเกินไป เพราะจะให้เกิดการตรวจสอบยาก ที่ผ่านมาพรรคใหญ่คุมเสียงเบ็ดเสร็จ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การแบ่งโซนพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน จะแบ่งเป็น 8 กลุ่ม โดยใช้ภูมิภาคเป็นตัวแบ่งเขต และจะพยายามให้มีจำนวนประชากรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เห็นพ้องกันว่าให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการคัดเลือกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อความเป็นอิสระในการทำงานในสภา แต่สามารถสมัครเป็นกลุ่มได้ จะต้องมีการออกแบบวิธีการลงทะเบียนกลุ่มอีกครั้ง ส่วนนายกฯต้องมาจาก ส.ส.หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป @ กมธ.ยกร่างฯปัดกก.พิทักษ์รธน. พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึง กระแสข่าวที่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วว่า คณะรัฐมนตรีและ คสช.ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้เสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเองก็ยืนยันว่าไม่เคยได้ยิน กมธ.ยกร่างฯมีหน้าที่เพียงแค่ร่วมพายเรือแป๊ะ แต่ถ้าหากพายเรือแป๊ะแล้วไปผิดที่ผิดทาง ก็อาจมีการมาสะกิดเตือนแล้วบอกให้พายใหม่ไปให้ถูกทาง และที่ผ่านมาทาง กมธ.ยกร่างฯก็ยังไม่เคยได้ข้อเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.และ ครม. ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 34 เลย เพราะทาง ครม.และ คสช. เองก็ไม่อยากให้สังคมมองว่า เข้ามาชี้นำการทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ แต่ในอนาคต เมื่อ กมธ.ยกร่างฯ เริ่มทำหน้าที่ร่างรายมาตราแล้ว หาก ครม.และ คสช. มีข้อเสนอแนะก็อาจจะส่งมาให้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้เช่นกัน พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาในส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น ในที่ประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 25 ธันวาคม ยังไม่ได้หารือในประเด็นดังกล่าว เบื้องต้นประเด็นที่มาของนายกฯ มีการกำหนดไว้อยู่ 2 แนวทาง คือ 1.ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ 2.ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. คณะ กมธ.ยกร่างฯจะได้มีการประชุมหาข้อสรุปในส่วนที่มาของนายกฯอีกครั้ง @ "เอกชัย"เปรียบ"สภาโต๊ะอิหม่าม" พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเหมือนกับแนวทางการบริหารประเทศอิหร่าน ที่มีสภาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือสภาโต๊ะอิหม่าม คอยทำหน้าที่ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลให้เดิมไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่วางไว้ ไม่ให้มีการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตนยืนยันว่าไม่เคยได้ยินว่าข้อเสนอดังกล่าวมาจาก คสช.แล้วเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ หรือ สปช. ให้ดำเนินการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ก็ได้ให้อำนาจ ครม.และ คสช. สามารถให้ข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างฯได้ แตกต่างจากการให้ข้อเสนอแนะการยกร่างฯของ สปช. ที่บังคับให้ดำเนินการเสนอรายงานข้อเสนอแนะการยกร่างฯ ภายใน 60 วัน นับจากเปิดสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 31 ดังนั้นการให้ข้อเสนอแนะของ ครม.และ คสช.ถือเป็นการให้ข้อเสนอแนะทางข้างที่อาจมาในรูปของการหารือพูดคุยกับประธาน กมธ.ยกร่างฯเป็นการส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารอย่างเป็นทางการก็ได้ @ คปก.แถลงหนุนส.ส.เลือกนายกฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อาคารซอฟต์แวร์ พาร์ค นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) พร้อมด้วยคณะกรรมการ คปก.ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องข้อเสนอกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ว่า ด้านสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก มีข้อเสนอว่าการประกาศดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่สถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติ ประกาศดังกล่าวต้องมีระยะเวลา ขอบเขตพื้นที่ชัดเจน การกำหนดมาตรการต่างๆ ต้องชัดเจนและใช้เท่าที่จำเป็น เสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและพิจารณาทบทวนความชอบด้วยเหตุผลของการประกาศ มาตรการที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินอันเป็นการกระทบสิทธิของประชาชน ตลอดจนความจำเป็นของการมีอยู่ของประกาศในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ ส่วนหมวดคณะรัฐมตรี (ครม.) เห็นควรให้คงบทบัญญัติเกี่ยวกับ ครม.บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบของสภาผู้แทนราษฎร เป็นกลไกการเข้าสู่อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินที่มีจุดยึดโยงประชาชน รวมถึงการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีภายหลังยุบสภา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารราชการแผ่นดิน @ กมธ.การเมือง-สนช.ถก"กกต." ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายกล้า นรงค์ จันทิก สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยสมาชิกคณะกรรมาธิการ เข้าร่วมหารือกับ กกต.เพื่อแลกเปลี่ยนและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน นายกล้านรงค์ กล่าวภายหลังการหารือว่ามาแลกเปลี่ยนความเห็นว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานขององค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายให้การปฏิรูปประเทศเกิดความสำเร็จ และได้รัฐธรรมนูญที่มีผลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง เพราะ กมธ.การเมือง รับผิดชอบในด้านระบบการเมืองก่อนหน้านี้ได้ไปพบปะและพูดคุยกับผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มาแล้ว ความเห็นที่ได้รับเป็นประโยชน์มาก หลังจากนี้ทางคณะกรรมาธิการจะนำความเห็นต่างๆ ไปรวบรวมเพื่อเสนอต่อ สนช. ก่อนเสนอกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป @ กกต.ขออำนาจแจกเหลือง-แดง นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า กกต.ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า ถ้าไม่ให้อำนาจ กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง กกต.ก็เหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง เป็นกรรมการไม่สามารถไล่ผู้เล่นเกเรออกจากสนามได้ รวมทั้งได้เสนอความคิดเห็นว่าควรขยายเวลาการสืบสวนสอบสวนก่อนการประกาศผลจากเดิม 30 วัน เป็น 60 วันด้วย เพื่อให้กระบวนการสืบสวนมีประสิทธิภาพ ส่วนประเด็นเรื่องที่มาของ กกต. หรือวาระการดำรงตำแหน่งนั้น เราไม่ได้เสนอหรือแสดงความเห็น เพราะเห็นว่ามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย แต่ กกต.ได้เสนอเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ เช่น เมื่อเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา มีอุปสรรคอะไรทำให้เราไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ ได้เสนอแก้กฎหมายไป เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติให้ ส.ส.มาจากระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม นายศุภชัยกล่าวว่า เชื่อว่าหากมีการเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้ง สำนักงาน กกต.ก็พร้อมปฏิบัติได้หมด เพราะพนักงาน กกต.ล้วนมีประสบการณ์การทำงาน แต่คงต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจกับระบบเลือกตั้งอีกครั้ง ส่วนระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้น เข้าใจว่าผู้ที่ออกแบบผ่านการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วครั้ง จึงคิดว่าการปฏิรูปคงต้องทำให้ดีขึ้น @ แจงยังไม่มีมติฟ้องลต.โมฆะ นายศุภชัยกล่าวถึงกรณีสำนักงาน กกต.เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 3 พันล้านบาท กับบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ โดยระบุเพียงสั้นว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานของสำนักงาน กกต. กกต.ยังไม่มีมติ และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมา เดิมในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ มีกำหนดการ กกต.ทั้ง 5 คน จะแถลงผลงาน กกต.ในรอบ 1 ปีนั้น เบื้องต้นคงไม่มีการแถลงข่าวของ กกต.แล้ว เพราะมี กกต.บางคนติดภารกิจ แต่อาจจะมอบหมายให้นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เป็นผู้ชี้แจงแทน @ ป.ป.ช.แจงคดีเอาผิด268ส.ส. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีถอดถอน ส.ส. 268 ราย กรณีมีส่วนร่วมแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ว่า ขณะนี้สรุปสำนวนเสนอเข้ามาในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว โดยได้ให้แยกสรุปเป็นกลุ่มๆ เช่นเดียวกับกรณี ส.ว.ถูกชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้ ขณะนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหา ส.ส.เพิ่มเติมอีก 1 ราย เนื่องจากในช่วงรัฐประหาร ได้หยุดกระบวนการไต่สวน เพราะไม่ชัดเจนว่ามีอำนาจทำต่อหรือไม่ แต่ตอนนี้มีอำนาจทำเพิ่มแล้ว ก็ให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเลย สรุปคดีแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ส.ส.ที่แก้ข้อกล่าวหาจบหมดแล้ว จะแบ่งว่า ส.ส.เหล่านี้ลงชื่อหรือไม่ลงชื่อ ยกมือเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ และ 2.ส.ส.กระทำความผิดทางอาญา เช่น เสียบบัตรแทนกัน เป็นต้น ในส่วน ส.ส.แก้ข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และจัดกลุ่มได้แล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.คงจะได้วินิจฉัยเป็นกลุ่มว่า ผิดอะไร ผิดอย่างไร ไม่ผิดอะไร ไม่ผิดอย่างไร และต้องมีมติออกมาในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอน เมื่อถามว่า ส.ส.ที่ถูกแยกสำนวนเป็นคดีอาญามีเยอะหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า กรณีเสียบบัตรถ้าพูดจริงๆ เป็นจุดปัญหา เพราะระบบของสภาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครเสียบบัตรแทนใคร ใช้เครื่องไหน วันไหน เวลาไหน เพราะเป็นระบบไว้ออกเสียงอย่างเดียว คือใครมีบัตรมากดก็ออกเสียงได้ จึงพิสูจน์ไม่ได้ จากการไต่สวนพบว่า มีผู้กระทำผิดโดยมีพยานยืนยันค่อนข้างชัดเจน เพียงแต่ว่าเราจะสาวไปถึงผู้ร่วมกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ก็พยายามทำอยู่ ถ้าทำได้ก็จะมีผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่ม แต่ถ้าทำไม่ได้อย่างน้อยคนเสียบบัตรจะต้องรับผิดชอบ @ ป.ป.ช.แย้ม25ธ.ค.สรุปคดีข้าว นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึง ความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด (อสส.) ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จะมีการประชุมในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมา อสส.มองว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ เพราะในสำนวนพูดถึงเรื่องทุจริต จึงต้องการให้ ป.ป.ช.สอบพยานในส่วนของจีทูจีเพิ่มเติม แต่ ป.ป.ช.ยืนยันไปแล้วว่าหลักของสำนวนไม่ได้ฟ้องในเรื่องทุจริต แต่เป็นเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องจีทูจี หรือเรื่องทุจริตนั้นก็มีอีกสำนวนหนึ่ง ป.ป.ช.กำลังดำเนินการอยู่ การประชุมของคณะทำงานร่วมฯก็จะยืนยันเรื่องนี้ และคงจะทราบว่าจะเอาอย่างไร เพราะจะปล่อยเวลาเลื่อนไปอย่างนี้ไม่ได้แล้ว วันที่ 25 ธันวาคมต้องสรุปได้แล้วว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง @ จ่อฟ้องเองได้ใน1สัปดาห์ นายปานเทพกล่าวว่า หากที่ประชุมของคณะทำงานร่วมฯไม่สามารถตกลงกันได้ เลขาธิการ ป.ป.ช.ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่วมฝ่าย |