- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 24 December 2014 14:33
- Hits: 3673
คสช.เป็น'กก.พิทักษ์รธน.' อยู่เหนือ'รบ.' พท.-ปชป.รุมต้านสูตรใหม่
- มติชนออนไลน์ :
ยกร่างฯโละเลือกนายก ให้ส.ส.โหวตเหมือนเดิม 'วิษณุ'เตือนปาก'สมชัย' จี้คำนึงความสงบก่อนพูด บิ๊กป๊อกเชียร์ขันน็อตรมต.
พท.-ปชป.-นักวิชาการรุมสับสูตรการเมืองใหม่ ชี้ไปกันใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย ชี้ กมธ.ร่าง รธน.ดับฝันเลือกนายกฯโดยตรง ให้สภาล่างโหวตเหมือนเดิม ชงรอง ปธ.สภามาจากพรรคอันดับ 2 'บวรศักดิ์'แจงทุกปมลงเว็บ ขณะที่'สมชัย'ลั่น ม.ค.รู้ตัวคนจ่ายค่าเลือกตั้ง 'บิ๊กป๊อก'หนุนขันนอตงาน รบ. ปชป.ฟ้อง'สุดา'หมิ่นเบื้องสูง
@ บุกทำเนียบชวน"บิ๊กป้อม"สวดมนต์
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 15/2557 ที่ตึกบัญชาการ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยก่อนเดินทางขึ้นตึกบัญชาการ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย น.ส.ดาวิกา โฮร์เน่ และนายภัทรเดช สงวนความดี ตัวแทนศิลปิน ดารา จากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เชิญชวนคณะรัฐมนตรีร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีและลงนามใน ส.ค.ส. โดย พล.อ.ประวิตรลงนามบน ส.ค.ส.จำลองขนาดใหญ่ เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมส่งความสุขให้ตนเอง คนที่รัก รวมถึงสังคมโดยรวม ด้วยการสวดมนต์ข้ามปี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา
@ "บวรศักดิ์"แจงทุกปมลงเว็บ
ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในกรณีที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงและออกเอกสารชี้แจงเพื่อตอบโต้นายบวรศักดิ์ที่ออกมาทักท้วงข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงว่าเป็นระบบรัฐสภาแบบซุปเปอร์ประธานาธิบดี โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า "ภายในสัปดาห์หน้าผมจะเขียนบทความ เพื่ออธิบายในประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียด ลงในเว็บไซต์ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ"
@ ดับฝันเลือกนายกฯโดยตรง
ขณะที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญประชุมกันที่รัฐสภา เพื่อพิจารณากรอบภาคการเมืองเป็นนัดแรก จากนั้นนายสุจิต บุญบงการ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า กมธ.ยกร่างฯได้สรุปรูปแบบการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้คงรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาเช่นเดิม ที่นายกฯต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลที่ไม่สามารถรับข้อคิดเห็นของ สปช.และ สนช.ที่เสนอให้เลือกนายกฯโดยตรงได้ เพราะระบบรัฐสภาเป็นระบบที่คุ้นชินและสามารถแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ได้ เพราะแม้จะเป็นการเลือกนายกฯในรูปแบบเดิมแต่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มการเมืองเดิมใช้อำนาจเสียงข้างมากคุมเสียงในสภาได้เบ็ดเสร็จ โดยต้องการให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ใช่เครื่องมือของนายทุน และ ส.ส.ต้องเป็นผู้แทนจากประชาชนไม่ใช้ผู้แทนกลุ่มทุนที่สำคัญจะทำอย่างไรให้มีการยอมรับเสียงข้างน้อยในสภาด้วย ซึ่งในส่วนของระบบเลือกตั้งนั้นจะต้องชี้ให้เห็นว่าทำอย่างไรที่โอกาสของพรรคใหญ่จะไม่มาคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาเหมือนในอดีต ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กจะมีส่วนร่วมมากขึ้นตามสัดส่วนที่ได้รับ
@ รองปธ.สภามาจากพรรคที่ 2
นายสุจิต กล่าวต่อว่า สำหรับตำแหน่งประธานรัฐสภามีข้อเสนอให้มาจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ส่วนรองประธานสภา คนที่ 1 และ 2 อาจมาจากพรรคที่มีคะแนนรองลงมา เพื่อไม่ให้ผูกขาดจากพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง การปฏิบัติหน้าที่จะต้องเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้มติพรรค ขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรสำคัญๆ ให้มาจากพรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ.ยกร่างจะร่างรัฐธรรมนูญโดยคำนึงถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35(4) ที่ห้ามบุคคลที่มีพฤติกรรมในทางทุจริตให้ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองได้
"นายบวรศักดิ์ได้สอบถามในระหว่างการประชุมถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งมี กมธ.ที่เคยเสนอรูปแบบเลือกนายกฯและ ครม.โดยตรงได้ขอถอนความเห็นออกไปแล้ว โดยให้ความเห็นว่า คงฝ่า กมธ.ลำบาก แต่ก็ยังมี กมธ.อีกหนึ่งคนที่ยังขอสงวนความเห็นว่าจะอภิปรายเรื่องนี้ต่อไป" นายสุจิตกล่าว และว่า ส่วนรูปแบบการเลือกคณะรัฐมนตรี ที่มา ส.ส.-ส.ว. และระบบการเลือกตั้งรวมทั้งประเด็นว่า นายกฯจะต้องเป็น ส.ส.หรือไม่นั้น จะได้ข้อสรุปในการประชุม กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 24 ธันวาคมนี้
@ "วิษณุ"ปัดตอบข้อพิพาท
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีความเห็นข้อขัดแย้งต่อข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงต่อของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ในที่สุดคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ ทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นที่ป้อนและเสนอเข้าไป อีก 4 เดือนร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ตอนนั้นสมาชิกแต่ละคนสามารถทำงานเป็นคนๆ ได้ โดยไม่ต้องเป็นกลุ่ม เพราะเป็นการขอแก้ ขอแปรญัตติ ซึ่งต้องไปเจอกันตอนนั้นอีกหน ผู้สื่อข่าวถามว่า การเลือกนายกฯ และ ครม.โดยตรง จะทำให้เกิดซุปเปอร์ประธานาธิบดี หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องไปถามผู้ที่พิพาทกัน ตนไม่เกี่ยว อย่าเอาเข้าไปด้วยเลย ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเป็นการงัดข้อกันเพราะทั้งหมดอยู่สภาเดียวกัน ก็มีสิทธิที่จะพูด
@ ไม่เคยได้ยินกก.พิทักษ์รธน.
ส่วนกระแสข่าวสูตรการเมืองใหม่ คสช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยนั้น นายวิษณุกล่าวว่า เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ข้อเท็จจริงตนไม่ทราบ และเท่าที่ควรจะได้ยินก็ยังไม่ได้ยิน สำหรับการทำประชามติ ถ้าคิดจะทำต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดย คสช.มีอำนาจเสนอแก้ ฉะนั้น คสช.จึงเป็นคนให้คำตอบสุดท้าย เพราะใครอยากจะมีประชามติก็มีไม่ได้ทั้งนั้นถ้าไม่แก้ แต่ คสช.เสนอแล้ว สนช.จะแก้ให้หรือไม่ก็ไม่รู้ ดังนั้น คสช.เป็นคนเปิดประตูแล้วอยู่ที่ สนช.จะลงเรือหรือไม่ เมื่อมีการแก้จะเปิดโอกาสให้ลงประชามติได้ สำหรับเมื่อไหร่ถึงจะรู้ว่าต้องทำเช่นนั้น ก็ต้องรอว่ามีความต้องการกันหรือไม่
"ตอนนี้ยังไม่ได้ทำแกงส้มเลย แล้วจะบอกว่าอร่อยหรือไม่ยังเร็วเกินไป แต่เมื่อใกล้เสร็จแล้วเอามาชิมว่าเป็นอย่างไร เผ็ด ขม เปรี้ยว หรือควรเททิ้ง ซึ่งแปลว่าทำประชามติ ซึ่งผมเข้าใจว่าช่วงเดือนเมษายน 2558 จะรู้แล้ว" นายวิษณุกล่าว
@ ทาง 2 แพร่งใช้เวลาต่างกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการทำประชามติจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนไปถึงไหน นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อปี 2550 การทำประชามติ ไม่ได้สร้างความเข้าใจมากพอ จึงทำให้เป็นที่มาของการกล่าวหาว่าไปลงประชามติกันโดยไม่รู้เรื่อง เคยมีตัวอย่างการทำประชามติหนเดียว แล้วไม่ประสบความสำเร็จเสียด้วย ก็ต้องคิดหนัก หากรัฐธรรมนูญเสร็จเดือนกันยายน 2558 จะมีทาง 2 แพร่ง คือเลี้ยวซ้ายไม่ทำประชามติ คือ 3 เดือน ไปออกกฎหมายลูก อีก 2 เดือนไปหาเสียงเลือกตั้ง แต่ถ้าเลี้ยวขวา มีประชามติ ก็ต้องออกกฎหมายลูกมาเร็วๆ ก่อนฉบับแรกคือกฎหมายลูกว่าด้วยการลงประชามติ ระหว่างนั้นจึงออกกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมืองไป ในช่วง 3 เดือนนั้น จึงเป็นเวลาที่ใช้เตรียมทำประชามติได้ แต่วันเลือกตั้งนั้นจะทำให้การประกาศวันเลือกตั้งเลื่อนออกไปต้องบวกเพิ่มอีก 2-3 เดือน ถ้าการทำประชามติไม่ผ่านก็เสียเวลาหน่อยแต่ช่างมัน
@ แนะกกต.นึกถึงความสงบ
นายวิษณุกล่าวกรณีที่ กกต.เสนอลงโทษฟ้องร้องค่าเสียหาย 3 พันล้านบาทจากผู้ที่ทำให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ว่า ไม่ได้สำรวจว่าอำนาจของ กกต.นั้นมีหรือไม่ หากเชื่อว่ามีอำนาจก็แล้วแต่ก็เดินหน้าไป ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเถียงกันว่ามีอำนาจหรือไม่ ทุกคนเวลาจะทำอะไร ถ้าเชื่อว่าตนเองมีอำนาจและอยากจะทำก็ทำไป แล้ววันหนึ่งพอต้องฟ้องก็ไปที่ศาล หากศาลตีความว่าไม่มีอำนาจก็จบ แต่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยด้วย หน้าที่การปรองดองไม่ใช่ของรัฐบาล หรือ คสช. ทุกคนต้องช่วยกัน เมื่อถามถึง การยุบรวมองค์กรอิสระ นายวิษณุกล่าวว่า องค์กรใดที่ไม่มีความจำเป็นก็นำมายุบรวมกันเป็นองค์กรเดียวกันได้ก็ควรจะทำ เพราะหากมากเกินไปอาจจะสิ้นเปลืองเวลา สิ้นเปลืองเงินทอง เกิดความโกลาหลขึ้นในประเทศด้วย หากปล่อยให้คิดกันไปเรื่อยๆ ตั้งได้กว่า 20 องค์กรแล้วก็อิสระกันหมด
@ พท.-ปชป.ชี้คนอยู่เหนือกม.
ทางด้านความคิดเห็นที่มีต่อสูตรการเมืองใหม่รวมถึงการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่ต่อไปในรูปแบบของคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อดูแลการทำงานของรัฐบาลนั้น
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนี้หมายความว่ากำลังจะทำให้คนอยู่เหนือกฎหมาย ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นควรจะเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือคน คนต้องเคารพกฎหมาย ดังนั้น ส่วนนี้คือส่วนที่ต้องปรับแนวคิดว่าจะคุ้มครองรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่รู้เอารูปแบบมาจากไหนอย่าลืมว่า คสช.มาจากการรัฐประหาร ถ้าจะทำเช่นนี้แสดงว่า คสช.ยังคงมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยิ่งไปกว่ารัฐบาลหอยในอดีต ถอยหลังลงคลอง และจะเป็นชนวนความขัดแย้งที่สำคัญ ยิ่งกว่าเรื่องอื่นใดที่กล่าวมาเพราะประชาชนจะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร
นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หลักการของประชาธิปไตยไม่ได้มีองค์กรไหนที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
นายวีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ต้องตอบคำถามของสังคมและประชาชนให้ได้ว่ามีเหตุผลอะไรที่จะอยู่ต่อ (อ่านต่อหน้า 2)
@ "บิ๊กป๊อก"หนุนขันนอตงานรบ.
ที่กระทรวงมหาดไทย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เดินทางเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยใช้เวลาหารือร่วมกันประมาณ 30 นาที โดย พล.อ.อนุพงษ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า นายพรเพชรเดินทางมาอวยพรตนเนื่องในเทศกาลปีใหม่เท่านั้น ไม่ได้มีการหารือทางการเมืองหรือประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมลงนามแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามขันนอตการทำงานของรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เห็นด้วยแต่ไม่อยากให้ใช้คำว่าขันนอต แต่อยากให้ใช้คำว่าเร่งการทำงานจะดีกว่า อยากให้ทุกกระทรวงเร่งทำงาน เพราะรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศเพียงปีเดียว เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก จึงอยากให้ทุกฝ่ายเร่งเดินหน้าทำงาน อย่ายืดเยื้อเพื่อไม่ให้เสียเวลา และต้องเป็นไปตามกรอบที่นายกฯวางไว้ เมื่อถามว่า ต้นปีหน้าสมควรปรับ ครม.แล้วหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐมนตรีทุกคนตั้งใจทำงาน ไม่มีความขัดแย้งแม้จะมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ยังทำงานร่วมกันได้ดี ที่สำคัญไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น มองว่ายังทำงานร่วมกันได้อยู่
@ พท.เชื่อมีพิมพ์เขียวรธน.
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า กมธ.ยกร่างฯเริ่มเหาะเกินลงกาว่า มองว่านายวิษณุกำลังปรามกรรมาธิการฯว่าอย่าเสนอแนะการร่างรัฐธรรมนูญให้เลยเถิดออกไป แสดงให้เห็นว่ามีพิมพ์เขียวไว้แล้วอย่างแน่นอน ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญในยุคของการรัฐประหารทุกครั้ง เมื่อยึดอำนาจเสร็จจะตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาครั้งนี้แม้จะมีการให้อำนาจกรรมาธิการฯเสนอแนะและร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงไม่มียุคไหนที่กรรมาธิการฯจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบ เพราะในยุคนี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญจริงๆ
มีเพียงนายวิษณุ นายบวรศักดิ์ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เท่านั้นที่เป็นผู้วางกรอบ
@ พท.โวยป.ป.ช.ไม่ยุติธรรม
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่ฟ้องคดีข้าวในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งๆ ที่มีความผิดปกติหลายอย่าง ไม่ขายข้าวให้กับผู้ประมูลที่ให้ราคาสูงสุด การขายต่ำกว่าราคาตลาด ขายโดยไม่ต้องประกวดราคา และนำแคชเชียร์เช็คเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาวางค้ำประกัน แต่ ป.ป.ช.กลับไม่เห็นว่ามีความผิด แต่กรณีข้าวของพรรคเพื่อไทย กลับพยายามเล่นงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายที่ได้แถลงไว้ในรัฐสภาแล้ว ถือเป็นการช่วยเหลือชาวนาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนกับที่สหรัฐและญี่ปุ่นทำโดยกระตุ้นไปที่รากหญ้า ถ้าหากเป็นการกระทำความผิด ผู้นำประเทศทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นคงต้องผิดด้วย เพราะหนี้สาธารณะของสองประเทศสูงมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีหนี้สูงถึง 230% ของจีดีพี แต่ไทยมีหนี้เพียง 46% เท่านั้น
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ปล่อยให้ไม่มีการฟ้องคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จนหมดอายุความและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปล่อยให้คดีบริจาคเงินของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 258 ล้านบาทหมดอายุความเช่นกัน อีกทั้งในโครงการไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาทมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากมาย ประชาชนไม่รับรู้และจำไม่ได้เลยว่ารัฐบาลในสมัยนั้นใช้อะไรไปบ้าง เห็นแต่สถานีตำรวจที่สร้างไม่เสร็จ และครุภัณฑ์อาชีวะที่ราคาแพงมหาโหด ป.ป.ช.ไม่ตัดสิน แต่พรรคเพื่อไทยกลับโดนทุกเรื่อง แม้กระทั่งความพยายามที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ยังโดนฟ้อง จึงอยากถามว่าประเทศนี้จะสงบได้อย่างไร ถ้าไม่มีความยุติธรรม
@ ปชป.ฟ้อง"สุดา"หมิ่นเบื้องสูง
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรค ปชป. แถลงที่พรรคถึงการร้องตำรวจให้ดำเนินคดีกับ น.ส.สุดา รังกุพันธ์ นักวิชาการเสื้อแดง กรณีลงข้อความและภาพในเฟซบุ๊ก ระบุว่า "แต่งดำเดือนธันวาไว้อาลัยคดี ปรส." ว่าเดือนธันวาคมเป็นเดือนมหามงคลที่คนไทยจะแต่งสีเหลือง การกระทำดังกล่าวเป็นการจาบจ้วงผิดมาตรา 112 จึงได้ยื่นเรื่องต่อ พล.อ.รุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ดำเนินการ และพรรคประชาธิปัตย์จะฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทเนื่องจากข้อความที่ น.ส.สุดาโพสต์มีการกล่าวหา ปชป.ขายชาติทำให้เกิดความเสียหายในคดี ปรส. เป็นการใส่ร้ายอย่างน่าละอาย
@ "สมชัย"ลั่นม.ค.รู้ตัวคนรับผิด
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวกรณีที่ กกต.จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ รวมจำนวนกว่า 3 พันล้านบาท ว่าช่วงปลายเดือนมกราคม 2558 จะรู้ว่า กกต.จะฟ้องใครบ้าง ซึ่งจะพิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้นว่าใครเป็นต้นเหตุทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต.มีรายชื่ออยู่แล้วว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง โดยการพิจารณานั้นจะดูจากความเสียหายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ความเสียหายจากทรัพย์สินที่ถูกทำลาย เช่น อาคารสถานที่ รถยนต์ อุปกรณ์ต่างๆ อันนี้จะมีผู้กระทำผิดโดยตรงมีมูลค่าความเสียหายไม่มาก 2.ความเสียหายจากค่าใช้จ่ายจัดการเลือกตั้งวงเงินเกือบ 3 พันล้านบาท ตรงนี้จะดูจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะว่ามีสาเหตุจากอะไร ใครเป็นสาเหตุ เมื่อ กกต.ทั้ง 5 คนลงมติส่งเรื่องต่ออัยการ ถ้าอัยการจะเห็นด้วยก็ส่งฟ้องร้องต่อศาลเพราะเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายนำเงินกลับเข้าสู่แผ่นดิน
@ ป.ป.ช.เตรียมแจงปมข้าว
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวกรณีที่คณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) ในคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการนัดประชุมด่วนกับคณะทำงานร่วมฝ่าย ป.ป.ช.ในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุมร่วมครั้งที่ 4 ว่าเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานร่วมฝ่าย ป.ป.ช.ที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าว จะนำข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการไต่สวนที่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะข้อมูลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 1 และ 2 ไปรายงานถึงความเสียหายของโครงการดังกล่าว หลังจากนั้นจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งหลังช่วงปีใหม่ โดยอาจเป็นครั้งสุดท้าย หากทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงหาข้อสรุปได้
@ "เต้น"โพสต์"ยักษ์ลักมาลิงพาไป"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงคำว่าเหาะเกินลงกา ว่า "เห็นนายวิษณุ ใช้สำนวนเปรียบเทียบพวกร้อนวิชาบางคนในแม่น้ำ 5 สาย ว่า เหาะเกินลงกา แล้วชักคึกนึกสนุกขึ้นมาด้วย ขอฝากสำนวนถึงบรรดาผู้มีอำนาจและผู้ลงเรือแป๊ะทั้งหลายซึ่งกำลังเร่งเครื่องปฏิรูป เร่งมือร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ว่าขอให้ยึดประชาชนเป็นหลัก จะทำอะไรแป๊ะกับคนบนเรือควรสรุปให้เข้าใจตรงกัน ตอนยึดอำนาจท่านประกาศว่าเพื่อปฏิรูปสร้างประชาธิปไตย สามัคคีปรองดอง แต่พอเริ่มทำงานหลายคนแสดงชัดว่าต้องไล่ล่าอีกฝ่ายอย่าให้เหลือรอด เนื้อหาบางเรื่องก็ขัดหลักการจนวิจารณ์กันวุ่นวาย แบบนี้จะเข้าข่ายยักษ์ลักมาลิงพาไปหมายถึงนางสีดาถูกทศกัณฐ์ลักตัวมาด้วยวิธีการนอกระบบ พอหนุมานไปพบจะพานางกลับสีดาก็ไม่ยอมเพราะห่วงจะถูกครหาว่าตอนมาก็ผิดตอนกลับก็ไม่ถูก ยืนกรานให้พระรามต้องมารับให้ถูกต้องตามหลักการจึงจะกลับไปอยู่ด้วย น่าเห็นใจสีดานะครับ ตอนยักษ์ลงมือบอกว่าจะพาไป ทางพอลิงมาก็จะพาไปอีกทาง สีดาจะทักท้วงบ้างก็กลัวทัพลงกาจะพาไปปรับทัศนคติ"