- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 19 December 2014 09:19
- Hits: 4707
วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8787 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'เมินพิธี ทำบุญแก้ดวง ปปช.ยุติสอบคดี ถอดถอน 310 สส.
คันเดิม - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เดินทางด้วยรถเบนซ์ประจำตำแหน่ง ทะเบียณ ญค 1881 คันที่กิ่งไม้หล่นใส่ เข้าประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ที่ตึกสมช. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. |
นายกฯ เมินทำบุญเสริมดวง ลั่นไม่ขวัญอ่อนกิ่งไม้หล่นใส่รถ ติงสื่ออย่าวิจารณ์สิ่งไม่ดีทำให้เสียสติ อารมณ์เสีย โหรชี้"บิ๊กตู่"ดวงดีถึงปี"61 มี "ดวงผู้แก้ไข"จัดการปัญหาประเทศ ป.ป.ช. ยกฟ้องคดีถอดถอน 310 ส.ส.แล้ว "บวรศักดิ์"ยันเปล่าขัดแย้ง "สมบัติ" แค่เห็นต่างเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง อดีตส.ว.-นักวิชาการรุมค้านสปช.สืบทอดอำนาจหลังมีรัฐธรรมนูญ-รัฐบาลใหม่ รัฐคุมเข้มเทศกาล ปีใหม่ ติดกล้องวงจรปิดทั่วกรุง สมช.เผยไม่มีสัญญาณน่าห่วง
"บิ๊กตู่"ไม่ตกใจกิ่งไม้หล่นใส่
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ธ.ค. ที่สภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ มีรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ซึ่งก่อนเข้าประชุมผู้สื่อข่าวได้สอบถามพล.อ.ประยุทธ์ถึงเหตุการณ์กิ่งต้นชมพูพันธุ์ทิพย์หักโค่นใส่ขบวนรถภายหลังเสร็จภารกิจที่ท้องฟ้าจำลอง เมื่อเช้าวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าตกใจหรือไม่และได้ไปดูดวงมาหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์เพียงแต่ส่ายหน้า ก่อนขึ้นไปประชุมสมช.
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมถึงเรื่องดังกล่าวว่า "ไม่ตกใจ ผมไม่ใช่คนขวัญอ่อนขนาดนั้น" เมื่อถามว่าได้ไปทำบุญบ้างหรือยัง เพราะมีคนเสนอให้เสริมดวง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังว่า ไม่มี ไม่มี ทำความดี ความดี พร้อมทุบอกด้านซ้าย ก่อนจะขึ้นรถกลับมาปฏิบัติภารกิจที่ตึกไทยคู่ฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงใช้รถเบนซ์ S600 ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานครคันเดิม ซึ่งบริเวณด้านซ้ายประตูหลังติดกับที่นั่งของพล.อ.ประยุทธ์ ยังมีรอยบุบเล็กน้อยที่เกิดจากเศษไม้กระเด็นมาโดน แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามขัดแล้วก็ตาม
โต้"ซีไอเอ"มีคุกลับในไทย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานระบุคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ซีไอเอ มีการจับกุมผู้ก่อการร้ายเข้ามาสอบสวนและทรมานในประเทศไทยว่า เป็นเรื่องของซีไอเอ ปัญหาของเราคือเมื่อมีเรื่องแบบนี้ เราก็ส่งตัวให้เจ้าหน้าที่เขาไป เขาจะไปทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าจะมาทำในแผ่นดินเรา เราไม่รับผิดชอบเพราะส่งตัวให้ไปแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน
"สื่อมวลชนไม่ควรนำเสนอข่าวที่จะดึงฝ่ายก่อการร้ายมาเกี่ยวข้องในไทย มาขยายความแบบนี้ หากบอกว่าเป็นหน้าที่ ก็ควรคำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลักก่อน และเคารพสิทธิส่วนบุคคลบ้าง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ไม่ห่วงตั้งองค์กรเสรีไทย
ส่วนกรณีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จดทะเบียนจัดตั้งองค์กรเสรีไทยที่สหรัฐ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นี่เป็นความแตกต่างระหว่างโลกภายนอกกับไทย ซึ่งเขาอาจมองในแง่สิทธิมนุษยชน เราบอกว่ามีกฎหมาย แต่เขาบอกว่ากฎหมายแบบนี้บ้านเขาไม่มี ก็อยากบอกว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่เหมือนเขา จำเป็นต้องมีกฎหมายดูแลสถาบัน แต่ไม่ห่วงการเคลื่อน ไหวขององค์กรเสรีไทย คิดว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจ และจากการเดินทางไปต่างประเทศก็เข้าใจเรา ถือเป็นความคิดเห็นที่แตกต่าง ทั้งหมดเป็นคนไทย แต่ถ้าหัวใจไม่เป็นคนไทยก็แล้วไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้กลุ่มเห็นต่างเข้ามาพูดคุยกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประกาศไปหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เห็นว่าจะเรียกให้มาได้สักคน เคยบอกว่าใครอยู่ต่างประเทศ ให้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราจะดูแลให้ความเป็นธรรม อาจจะเมตตาด้วยซ้ำเพราะเป็นคนไทย แต่เขามองตนเป็นคนไทยหรือเปล่า ส่วนที่นายจารุพงศ์เรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยว ข้องกับเรื่องนี้ด้วยนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไปดูว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ เรา ลงนามไปแล้วหรือยัง หลายประเทศมีปัญหาหมด ถ้าเอาทุกเรื่องไปฟ้อง ใครจะเสียหาย ประเทศเสียหายหรือไม่
วอนสื่ออย่าขยายความ
ต่อข้อถามว่ามององค์กรเสรีไทยจะพัฒนาไปสู่สากลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปขยายให้เขา เสรีไทยเมื่อก่อนเกิดจากสงครามโลก แต่นี่องค์กรเสรีไทยจริงๆ เขายังไม่รับเลย เป็นเสรีไทยจากอะไร ผิดกฎหมายหรือเปล่า คนเหล่านี้หนีอาชญา กรรมทั้งนั้น เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่ต้องให้ค่ากับเสรีไทยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เพิ่งรู้หรือ คนผิดกฎหมายก็คือผิด จะ ไปขยายความในเขาทำไม เข้าใจคำว่าผิดกฎหมายหรือยัง"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเราเข้ามาทำอะไร เข้ามาให้ถูกตำหนิแล้วเป็นความสุขหรือ มันไม่ใช่ เราทำเพื่อให้เกิดความสุขในอนาคตกับคนไทยทุกคน ดังนั้นจะผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี ต้อง ให้เวลาแก้ไขปัญหาเพราะสลับซับซ้อน หมักหมมมานาน วันนี้ทุกอย่างต้องแก้ไขหมดไม่ว่าทางปฏิบัติ ทางกฎหมาย หรือการขับเคลื่อนต่างๆ ไม่อย่างนั้นเดินหน้าไม่ได้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงกับนานาชาติตลอด สิ่งที่ตนพูดทุกครั้งมีแปลเป็นภาษาอังกฤษและส่งไปสถานทูตทุกครั้ง อย่างเพลงคืนความสุข ต่างประเทศเช่น กัมพูชา ก็ยังรู้จัก
สั่งล่า"ไอ้โม่ง"ตัวจริง
เมื่อถามว่าทางการข่าวมีการติดตามว่า ไอ้โม่งตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังเสรีไทยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เสรีไทยใครเป็นคนขับเคลื่อนแล้วโยงใยกับใคร ให้ไปหามา บางเรื่องไม่จำเป็นต้องบอกทุกอย่าง แต่มีการรายงานอยู่ และอะไรที่มีปัญหาเร่งด่วน เราก็รีบแก้ไข อะไรที่ยังไม่เกิด เราก็เฝ้าระวัง ใครทำผิดกฎหมายก็ส่งกระบวนการยุติธรรม ต่างชาติจะให้ตัวหรือไม่ เราบังคับไม่ได้ แต่ขอความร่วมมือก่อน ไม่ใช่ขอตัวนักโทษข้ามแดน และขอมาตลอดแต่ไม่เคยได้ เพราะความแตกต่างและบริบทพื้นฐานของแต่ละประเทศต่างกัน บางประเทศมองว่าถูก เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่เรามองแล้วว่าผิดกฎหมายไทย เราต้องเคารพกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศ ดังนั้น การจะให้คนอื่นเข้าใจทั้งหมดเป็นไปไม่ได้
"หากเราเป็นมหาอำนาจรวมตัวกันเป็นอาเซียน มีพลเมือง 600 ล้านคน เป็นหนึ่งเดียวก็จะมีศักยภาพต่อรอง แต่ถ้าในประเทศยังรวมกันไม่ได้ แล้วจะไปรวมกับใครได้ เห็นต่างแต่ต้องอยู่ร่วมกันได้ อย่าใช้ความรุนแรงมาต่อสู้กัน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทุกคนรู้ดีว่ามันเกิดอะไรขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ห่วงความมั่นคงปีหน้า
เมื่อถามว่า กัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย จะประสานส่งตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอไปแล้ว แต่กัมพูชาบอกว่ายังไม่เจอตัว และมีการเคลื่อนไหวไปหลายประเทศ ส่วนการระงับหนังสือเดินทางนั้น ก็มีแล้ว แต่จำไม่หมด ต้องถามกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อถามว่าได้ระงับหนังสือของนายจารุพงศ์ แล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปกังวล หากเขาไม่ถือของไทยก็ถือของประเทศอื่นได้ เพราะเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรา แต่เราให้ความสำคัญกับเขาเพราะบ้านเรามันอันตรายกว่าบ้านเขา เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะคนทำความผิดมาก็ไปอยู่ต่างประเทศ บ้านเราทะเลาะกันมากอยู่แล้ว
นายกฯ กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงในปีหน้าที่จะมีมากขึ้นเพราะไทยจะเป็นแหล่งทรัพยากร มีหลายอย่างที่พวกทำผิดกฎหมายสามารถอยู่ได้ ซึ่งเราต้องเข้มงวดเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เคยกล่าวถึงคนลงเครื่องบินในปี 2551 ทำหุ้นร่วง พล.อ. ประยุทธ์กล่าวติดตลกว่า "ผมบอกว่าปี 51 มีคนถูกจับเรื่องนี้ ที่ลงเครื่องบินแล้วไปจับเป็นผู้หญิง ก็ตีความไปเรื่อย"
ลั่นอย่าทำให้อารมณ์เสีย
ต่อข้อถามว่ามั่นใจจะไม่มีอะไรมาทำลายสมาธิการบริหารงานใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ทำงานต้องมีสมาธิ ทุกอย่างเราเดินหน้าประเทศไปข้างหน้า ส่วนใครจะต่อต้าน อยู่ซ้ายกับขวาต้องดำเนินการไป สำหรับกลไกต้องแก้ปัญหาไป แต่เราต้องเดินไปข้างหน้าบริหารขับเคลื่อนประเทศในเชิงรุก ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์โลก ไม่มีอะไรทำให้เสียสติ
ส่วนการจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2558 นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของการเมือง เมื่อมีการเลือกตั้งก็เลือกกันไป เลือกให้ดีก็แล้วกัน ซึ่งความมั่นคงเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ความมั่นคงอีกอย่างหนึ่งคือการมีเสถียรภาพของฝ่ายการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีความสงบสุขแบบนี้จึงเรียกว่ามีเสถียรภาพ ต่างชาติจึงมาคบเรา ถ้ามาตีกันอีกใครเขา จะมา เช่น การประชุมสุดยอดแผนงาน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในวันที่ 19 ธ.ค. ผู้นำทุกประเทศสมาชิกมาหมด ซึ่งแสดงว่าเขายอมรับไทย เดี๋ยวหาว่าตนขี้โม้ สิ่งเหล่านี้ควรนำเสนอเพราะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนสิ่งที่ไม่ดีนั้นต้องมาถามก่อน แต่จะวิเคราะห์วิจารณ์ก็ไม่ห้าม แต่อย่าทำให้เสียสติ อารมณ์เสีย
ย้ำเรื่องปรองดองในชาติ
ด้านนายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า การประชุมสมช.ครั้งนี้ กำหนดนโยบายยุทธ ศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติในภาพรวม 7 ปี คือปี 2558-2564 นายกฯเน้นย้ำให้งานด้านความมั่นคงของชาติเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และนำไปสู่การบริหารราชการแผ่นดิน
นายอนุสิษฐกล่าวว่า ความมั่นคงภายในประเทศนั้น สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้คือเรื่องปรองดองของคนในชาติ หากมีการจัดระเบียบและดูแลความคิดเห็นที่แตกต่างได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง หาระบบการจัดการเพื่อไม่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ภายใต้กติกา แต่ถ้าปล่อยให้ความอิสระเกิดขึ้นจนไม่มีกติกา ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งรายละเอียดต่างๆ อยู่ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากการเข้าสู่อำนวจ การประพฤติมิชอบจากการแก่งแย่ง ทำให้คนเกิดความแตกแยก
ซัด"ตั้ง อาชีวะ"ปูดข่าวมั่ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาหลบหนีคดีตามป.อาญา มาตรา 112 โพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาเปิดเผยชีวิตหลังหนีออกจากประเทศไทย และเข้าไปกบดานอยู่ในกัมพูชา โดยการแอบขึ้นเรือโดยสารจากท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาไปฟิลิปปินส์ เพราะคสช.จับลูกเมียของเพื่อนชาวกัมพูชาเป็นตัวประกัน เพื่อแลกเปลี่ยนตัวกับตนนั้น
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. กล่าวว่า โลกโซเชี่ยลมีเดียไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลที่โพสต์เป็นนายเอกภพ จริงหรือไม่ แต่เป็นเรื่องปกติของคนที่เคลื่อนไหว มักอยากให้คนสนใจ ส่วนการติดตามตัวนายเอกภพ กลับมาดำเนินคดี ต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการกับฟิลิปปินส์ แต่ต้องเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีกฎหมายแตกต่างกัน ซึ่งนายเอกภพ ทำผิดกฎหมายไทยกรณีหมิ่นสถาบัน อีกทั้งพยายามบิดเบือนให้เป็นเรื่องการเมือง ทั้งที่ไม่ใช่ ยืนยันว่าที่ผ่านมาคสช.ไม่ได้ไล่ล่านายเอกภพ และจับเพื่อนนายเอกภพเป็นตัวประกันอย่างที่กล่าวอ้าง เป็นเพียงการจุดประเด็นของนายเอกภพเท่านั้น
ป.ป.ช.ยกฟ้องคดีโต้ง-310ส.ส.
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่เป็นประธาน ก่อนเริ่มประชุม นายพรเพชรแจ้งว่าประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ทำหนังสือถึงสนช. 2 ฉบับคือ 1.รายงานการไต่สวนกรณีการถอดถอนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง ออกจากตำแหน่ง กรณีมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 50 จากกรณีใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งพบว่าการกระทำของนายกิตติรัตน์ฟังไม่ได้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
2.กรณีขอให้ถอดถอนอดีตส.ส. 310 คนออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 50 กรณีร่วมลงคะแนนเห็นชอบร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ผู้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมือง ในวาระ 3 ซึ่งป.ป.ช.เห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีบท บัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นมูลฐานการพิจารณานำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ จึงไม่มีเหตุที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงอีกต่อไป มีมติให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
แจงเหตุผลส่งเรื่องสนช.
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า กรณีนี้ต่างกับคดีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และส.ส. ส.ว.ที่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.มิชอบ เนื่องจากกรณีดังกล่าว ป.ป.ช.วินิจฉัยจบไปแล้วและส่งให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนตามกฎหมาย ซึ่งตอนส่ง วุฒิสภายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่เรื่องยังไม่เข้าที่ประชุมเพราะมีรัฐประหารก่อน พอมีสนช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ส.ส.และส.ว. จึงต้องส่งเรื่องคืนมาให้ป.ป.ช.ยืนยันว่ามีอำนาจหรือไม่ ซึ่งได้ยืนยันกลับไปว่าป.ป.ช.วินิจฉัยเสร็จแล้ว แม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญแต่พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ยังบังคับใช้และมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องให้สนช.พิจารณา ส่วนสนช.จะพิจารณาถอดถอนได้หรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับเรา เป็นแค่ขั้นตอนการส่งเท่านั้น
"ส่วนเรื่องที่ค้างอยู่และป.ป.ช.ยังไม่ได้วินิจฉัย ถ้าเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างเดียวจะส่งคืนสนช.เหมือนกับกรณีนี้ แต่ถ้ายื่นถอดถอนแล้ว มีข้อกล่าวหาอื่นอีก เช่น เสียบบัตรแทนกัน กระทำความผิดกฎหมายอาญา ขัดต่อข้อบังคับ อย่างนี้ป.ป.ช.ทำต่อได้ เราจะดูคำร้องเป็นหลัก ดังนั้น คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.มิชอบกับกรณีนี้เลยต่างกันเพียงนิดเดียว" นายสรรเสริญกล่าว
"เทียนฉาย"สั่งเช็กเรตติ้งสปช.
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...)พ.ศ.. ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการในวาระแรกทั้ง 2 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 25 คนมาพิจารณาภายใน 90 วัน
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการประชุมสปช. เพื่อพิจารณารายงานของกมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการสรุปความเห็นข้อเสนอแนะยกร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.ปฏิรูป 18 คณะของสปช.เมื่อวันที่ 15-17 ธ.ค.ว่า ภาพรวมการอภิปรายดีมาก แต่ละคนใช้เหตุผล ซึ่งตนมีแนวคิดว่าจะสำรวจความเห็นประชาชนเพื่อสอบถามถึงความเข้าใจในสิ่งที่สมาชิกสปช.ได้อภิปราย โดยจะสอบถามลงลึกในรายละเอียดประเด็นต่างๆ ของกมธ.แต่ละคณะ ว่าเข้าใจในสิ่งที่สมาชิกอภิปรายอย่างไรบ้าง เรื่องนี้เป็นเพียงการเช็กเรตติ้งการประชุมสปช. ไม่ได้จัดทำโพล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับหน้าที่ดำเนินการ
12ม.ค.ถกรธน.รายมาตรา
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมพิจารณาประมวลความเห็นและข้อเสนอแนะของสปช. สนช. พรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ที่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการกมธ.ยกร่างฯ และประธานอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้เริ่มพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของสปช.ถึง 246 ประเด็น แยกเป็น 272 เรื่อง แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 2.กลุ่มที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก 3.กลุ่มที่เป็นมาตรการทางการบริหารที่เสนอต่อครม. และ 4.กลุ่มที่ยังไม่มีข้อยุติและแนวทางที่ชัดเจน
นายคำนูณกล่าวว่า ในการประชุมกมธ.ยกร่างฯวันที่ 19 ธ.ค. เวลา 09.00 น. นาย วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)จะมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัว จากนั้นเวลา 13.00 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. จะส่งมอบรายงานสรุปข้อเสนอแนะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ส่วนการพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯวันที่ 22-26 ธ.ค.นี้ จะลงรายมาตราในประเด็นหลัก เพื่อกมธ.ยกร่างฯ จะเริ่มประชุมวางกรอบในวันที่ 5-11 ม.ค.58 และเริ่มต้นพิจารณารายมาตราตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.เป็นต้นไป
"บวรศักดิ์"ยันไม่ขัดแย้งสมบัติ
ส่วนที่นายบวรศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกฯและครม.โดยตรง เพราะเป็นแนวคิดที่มีความเสี่ยง จะตัดความเห็นของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมืองที่เสนอเรื่องนี้เลยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่าไม่ได้บอกว่าไม่รับข้อเสนอของนายสมบัติ แต่ตั้งข้อสังเกตถึงข้อดี ข้อเสีย และต้องรับฟังความเห็นอีกหลายครั้งก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะครบ 120 วันในวันที่ 17 เม.ย.58 จากนั้นจะมารับฟังความเห็นสปช. นัดที่สอง อาจใช้เวลา 3-7 วัน ก็เพิ่มเติม แก้ไขได้
นายบวรศักดิ์กล่าวถึงกระแสข่าวขัดแย้งกับนายสมบัติ ว่าตนกับนายสมบัติเคารพนับถือกันมาก ไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่ข้อเสนอที่นายสมบัติเสนอให้เลือกนายกฯและครม.โดยตรงนั้น ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยทั้งหมด ยกตัวอย่าง ข้อเสนอที่ไม่ให้นายกฯและครม.รักษาการภายหลังยุบสภานั้น ตนเห็นด้วย อันไหนดีเราก็เอามา อันที่มีความเห็นขัดแย้งกันก็ต้องชั่งน้ำหนักเลือกสิ่งที่ดีที่สุด
ยกร่างรธน.ไร้พิมพ์เขียว
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯไม่มีพิมพ์เขียวแนวทางการยกร่างไว้ก่อน ตามที่สปช.บางส่วนอภิปรายไว้ และการประชุมสปช.วันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เชิญสมาชิก สปช.ที่ยังมีข้อสงสัยเข้าร่วมรับฟังการประชุมของกมธ.ยกร่างฯ แต่ไม่มีใครเข้าฟัง ยืนยันว่าตนและนายสมบัติ ไม่ได้ขัดเเย้ง กัน เป็นเพียงความเห็นต่าง ซึ่งข้อเสนออื่นๆ ของกมธ.ปฏิรูปการเมืองจะนำมาพิจารณาพร้อมกัน
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เปิดเผยว่าในวันที่ 19 ธ.ค. สนช.จะส่งข้อเสนอแนะประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญให้กับกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งยอมรับว่ามีข้อเสนอบางส่วนเกี่ยวข้องกับที่มาของนายกฯและครม.รวมอยู่ด้วย
ค้านสปช.สืบทอดอำนาจ
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงการบ้านที่นายบวรศักดิ์ฝากให้สมาชิกสปช.คิดหาแนวทางอยู่ปฏิรูปประเทศต่อไปว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ สปช.อยู่ทำหน้าที่ต่อหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วไม่ว่าจะอยู่ในรูปเดิมหรือเป็นคณะกรรมการ หน่วยงาน หรือองค์กร เพราะเราสามารถให้ภาควิชาการจากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันพระปกเกล้า ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ แล้วสรุปเป็นรายงานเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาให้ดำเนินการได้ ถ้าสปช.กังวลว่ารัฐบาลชุดใหม่จะไม่ผลักดันการปฏิรูปต่อ ก็แค่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างอยู่นี้ให้มีสภาพบังคับตามกฎหมายก็ได้
"การหาแนวทางอยู่ปฏิรูปประเทศต่อนั้น จะทำให้สังคมมองสปช.ว่าพอมีอำนาจแล้วก็อยากสืบทอดอำนาจอยู่ยาว ทั้งที่เราจะเห็นได้ว่ามีสมาชิกสปช.ไม่กี่คนที่ตั้งใจทำงานปฏิรูป แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสปช.เองว่าจะดำเนินการอย่างไร หากเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยก็ยุติการทำหน้าที่เมื่อมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลชุดใหม่ แต่หากไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย เชื่อในระบอบคนดีคนวิเศษที่สามารถคิดแทนประชาชนทั้งประเทศได้ ขอให้อยู่ต่อไป แต่ต้องเลิกอ้างว่าทำเพื่อประชาธิปไตย" นายสิงห์ชัยกล่าว
ว้ากมองข้ามหัวประชาชน
ส่วนนายปราชญ์ ปัญจคุณาธร อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สปช.ไม่มีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศชาติตั้งแต่แรก เพราะมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งการปฏิรูปไม่ใช่ภาระหน้าที่ของสปช. ไม่มีใครบังคับให้มาทำหน้าที่นี้ แต่เกิดจากการเสนอตัวเข้ารับการสรรหาของสปช.เอง ที่สำคัญปัญหาที่ต้องปฏิรูปนั้นเกิดจากปัญหาของประชาชน การแก้ปัญหาก็ต้องเกิดจากประชาชน ผู้ที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเอง การบ้านดังกล่าวจึงสะท้อนชัดเจนว่าเป็นการมองข้ามหัวประชาชน เมื่อนึกอยากจะทำอะไรก็แต่งตั้งกันเอง พออยากอยู่ต่อก็ถามกันเอง
น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ตนเคยย้ำหลายครั้งแล้วว่าตอนนี้อาจารย์สอนกฎหมายต่างมึนงงเพราะกฎหมายไม่เป็นไปตามหลักการ ฝ่ายนิติบัญญัติที่เกิดขึ้นภายใต้การยึดอำนาจนี้ แม้จะดำเนินการที่ไม่ถูกกฎหมายหรือล่วงล้ำอำนาจฝ่ายอื่นก็ไม่มีความผิด เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุถึงการนิรโทษกรรมต่อการกระทำใดๆ ที่ทำอยู่ในตอนนี้ ถ้าจะให้สปช.คงอยู่ก็ทำได้ แต่ต้องได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติที่มีที่มาถูกต้อง ไม่ใช่ตั้งเองได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดข้อถกเถียงว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่
"ปึ้ง"สวนหมัดปธ.ป.ป.ช.
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณียื่นหนังสือถึงนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ว่า อยากให้สังคมเข้าใจว่ากรณีนี้เป็นการลาออกจากบริษัทองค์การเภสัชกรรมเมอริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด ล่าช้าเกินกว่า 15 วัน หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ป.ป.ช. ไม่ใช่บริษัทองค์การเภสัชกรรมฟามาซูติคอล จำกัด ที่ก่อนหน้านี้มีการสอบสวนไปแล้ว เรื่องนี้ตนเพิ่งพบหลักฐานสดๆ ร้อนๆ จึงอยากให้นายปานเทพ เข้าใจด้วยว่าเป็นคนละเรื่องกัน
ส่วนที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ระบุแม้นายภักดี จะขาดคุณสมบัติก็ไม่ทำให้การตัดสินของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะนั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใช้ตรรกะอะไร เมื่อหนึ่งในองค์คณะไม่ถูกต้องแล้ว ย่อมทำให้ทั้งคณะไม่ถูกต้องไปด้วย ส่วนที่บอกว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจตรวจสอบกันเอง ตนก็งงเหมือนกันว่าใครจะตรวจสอบ จะเป็นศาลปกครอง หรือสนช. นี่คือจุดบกพร่องขององค์กรอิสระที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ จึงอยากฝากให้นายกฯ และสปช. ช่วยปฏิรูปจุดนี้ด้วย
เลขาฯแจงเหตุไม่สอบ"ภักดี"
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ในที่ประชุมป.ป.ช.วันเดียวกันมีมติให้ชี้แจงว่า ในข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ไม่มีบทบัญญัติใดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจและหน้าที่ตรวจสอบว่ากรรมการ ป.ป.ช. คนใดขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 16 บัญญัติถึงกระบวนการตรวจสอบว่า หากกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมาย ให้วุฒิสภามีหน้าที่พิจารณามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
นายสรรเสริญกล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง เห็นว่าการกล่าวอ้างของนายสุรพงษ์ เป็นเอกสารเรื่องเดียวกับที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ใช้แถลงต่อวุฒิสภาว่า นายภักดี ลาออกจากกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมเมอริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด เกินกว่า 15 วัน นับแต่วันดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี พ้นจากกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 16 เป็นพิเศษ วันที่ 9 มี.ค.2555 ได้ลงมติไม่ให้นายภักดี พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าวุฒิสภาผู้มีอำนาจลงมติถอดถอนกรณีกรรมการ ป.ป.ช. กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยพิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนนี้จนยุติไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีเหตุจะพิจารณาเรื่องนี้อีก
นายกฯเข้มปลอดภัยปีใหม่
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ให้เกิดความปลอดภัย ประชาชนมีสุขและไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นต้องดูแลให้ได้ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพฯ นั้น นายกฯ กล่าวว่า ได้ติดกล้องวงจรปิดทั่วทุกบริเวณเพื่อป้องกันและป้องปรามผู้กระทำผิด อย่าคิดว่าจะทำผิดกฎหมายได้เพราะฝ่ายความมั่นคงได้ประสานกับคสช. กระทรวงหมาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม. ดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้ดีที่สุด ฉะนั้นอย่ามาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอีก ใครคิดจะทำหรืออยากเห็นความวุ่นวายก็อย่าทำ ด้านการข่าวขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าห่วง
เมื่อถามว่าให้น้ำหนักภัยก่อการร้ายกับการสร้างสถานการณ์การเมืองอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีการก่อการร้าย จะมาก่อการร้ายทำไมในไทย จะมีเพียงคนที่คึกคะนองหรืออยากให้ประเทศมีปัญหา คนพวกนี้ถ้าทำ ถือว่าไม่รักชาติ ต้องดำเนินคดีอย่างเต็มที่ เราให้ความสำคัญทุกด้าน ไม่ใช่เพ่งเล็งแต่การสร้างสถานการณ์ทางการเมือง ทุกคนต้องรู้ว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์ไหน ประชาชนต้องการอะไร ฉะนั้นอย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนอีกเลย
เผยไม่มีสัญญาณน่าห่วง
นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสมช.กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์รับมือในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการอย่างต่อเนื่อง ต้องเร่งรัดดูแลความปลอดภัย ตรวจสอบติดตามหาข่าวและจัดระเบียบบริหารจัดการความมั่นคง ซึ่งมีศูนย์บริหารความมั่นคงแบบบูรณาการอยู่ที่กระทรวงกลาโหม ประสานกับทุกกระทรวง และคสช. ซึ่งทางการข่าวยังไม่มีสัญญาณ น่าเป็นห่วง แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ออสเตรเลีย เพราะไม่เกี่ยวกับประเทศไทย
เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อไป เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องยกเลิกและมีคำตอบให้กับประชาชนอยู่แล้ว ถ้าทุกอย่างยังไม่เรียบร้อย บ้านเมืองยังไม่สงบ ก็คงกฎอัยการศึกไว้ต่อไป ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบอะไร ยกเว้นผู้ไปเคลื่อนไหวและก่อความไม่สงบ
มท.ลุยจัดระเบียบสังคม
นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและขึ้นปีใหม่ 2558 ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันและมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ดังนั้น เพื่อป้องกันการกระทำผิดตามกฎหมาย สถานบริการ และดูแลความปลอดภัยของประชาชน กระทรวงมหาดไทยจึงสั่งการให้ ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดดำเนินการ ดังนี้
1.กวดขันสถานบริการและสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เน้นนโยบายจัดระเบียบสังคม 6 ประการ คือ เรื่องใบอนุญาต การกวดขันมิให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าใช้บริการ กวดขันมิให้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การแสดงลามกอนาจารหรือการแสดงที่ไม่เหมาะสม การนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ และเวลาการเปิด-ปิดสถานบริการตามที่กฎหมายกำหนด
2.กวดขันมิให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติดที่แอบแฝงในรูปแบบต่างๆ 3.ร้านจำหน่ายสุราที่ได้รับอนุญาตตามประเภท ที่ 3-6 ให้จำหน่ายได้เฉพาะเวลา 10.00- 14.00 น. และ 11.00-24.00 น. ผู้ใดฝ่าฝืนระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ และ 4.ตรวจสอบความปลอดภัยในอาคารสถานบริการ เช่น ถังดับเพลิง ทางหนีไฟ และมิให้ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ หรือเกิดระเบิดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือสํานักงานตํารวจแห่งชาติกำชับสถานีตำรวจนครบาลทุกแห่ง ตรวจสอบ ควบคุม กวดขันสถานบริการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายจัดระเบียบสังคมอย่างเคร่งครัด
โหรทำนาย"บิ๊กตู่"ดวงดีถึงปี"61
พ.ต.อ.อรรถวิโรจน์ ศรีตุลา หมอดูชื่อดัง ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์กิ่งชมพูพันธุ์ทิพย์หักโค่นใส่ขบวนรถพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ไม่ได้เป็นลางบอกเหตุร้าย หรือแสดงว่านายกฯ ดวงตก เพราะเป็นอุบัติเหตุธรรมดาที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ถ้าดูตามราศีเกิดของพล.อ.ประยุทธ์ คือราศีมีน ช่วงนี้เป็นปกติ ไม่มีเคราะห์ และเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะดาวเสาร์ยก ดังนั้น เรื่องแก้ชงหรือสะเดาะเคราะห์ไม่จำเป็นต้องมีอะไรพิเศษ ก็ทำไปตามปกติ
พ.ต.อ.อรรถวิโรจน์กล่าวว่า ช่วงก่อนหน้านี้เป็นช่วงดาวดับ ส่งผลต่อดวงประเทศและดวงโลกไม่ดีกันไปหมด คนทั่วไปไม่เฉพาะนายกฯ ต้องเจอเรื่องไม่ดีมากน้อยต่างกัน เห็นได้จากประเทศไทยเกิดเรื่องร้าย ทั้งความวุ่นวายทางการเมือง เรื่องผู้ใหญ่ การโยกย้ายข้าราชการ น้ำท่วมภาคใต้ หรือต่างประเทศเกิดเหตุยิงกันตายในตะวันออกกลาง และการจับตัวประกันที่ออสเตรเลีย แต่หลังจากนี้จะไม่มีข่าวร้ายแล้ว สถานการณ์ดีขึ้นหลังวันที่ 16 ธ.ค.เป็นต้นไป แต่จะหนักอีกครั้งช่วงวันที่ 14 มี.ค.-12 เม.ย.2558 และ 16 พ.ย.-16 ธ.ค.2558 จะเจอกับสารพัดความวุ่นวายต่อเนื่องไปถึงปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงดาวดับ สถานการณ์จะยิ่งหนัก
ด้านนายอรรถพล น้อยวงศ์ หรือหมอมีน ตีสิบ ซึ่งใช้หลักเลขศาสตร์สากล กล่าวว่า ปีนี้เป็นดาวเนปจูนตามหลักเลขศาสตร์สากล ซึ่งเป็นปีที่ประเทศวิกฤตและประสบอุปสรรคอยู่แล้ว ใครมาเป็นผู้นำก็สะดุด ไม่ได้หมายความว่าพล.อ.ประยุทธ์ ดวงตก แต่จะต้องทำงานหนักส่งผลให้เศรษฐกิจปีหน้าจะดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการส่งออก อสังหาริมทรัพย์และการต่างประเทศ เนื่องจากดวงของพล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างสมพงศ์กับดวงเมือง เหมาะแก่การเป็นผู้นำเข้ามาจัดการแก้ปัญหาประเทศ เรียกได้ว่าเป็น "ดวงผู้แก้ไข"
นายอรรถพลกล่าวว่า ดวงของพล.อ.ประยุทธ์ จะดีขึ้นตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2561 สอดคล้องกับดวงประเทศที่กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ควรระมัดระวังเรื่องการเดินทาง ควรทำบุญโดยเฉพาะการบริจาคเลือด เครื่องมือแพทย์และโลงศพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนเรื่องที่มีกิ่งไม้หล่นใส่นั้น ถือเป็นการฟาดเคราะห์ ยิ่งในช่วงวันเกิดของพล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับอิทธิพลจากดาวเสาร์หนุนให้ดีขึ้นไปอีก