โครงการบ้านฅนไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 January 2018 16:10
- Hits: 21705
โครงการบ้านฅนไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. กรอบการดำเนินโครงการบ้านฅนไทย
2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน แยกบัญชีโครงการบ้านฅนไทย เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) โดยไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลและขอนำผลกระทบรายได้และค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการบ้านฅนไทยมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ และขอไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน (กรณี % NPLs ที่เกิดขึ้นาสูงกว่าค่าเฉลี่ย NPLs ของธนาคารในภาพรวม) และขอนำผลกระทบต่อรายได้และค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการบวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสพนักงาน (การคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายของธนาคาร คือ ต้นทุนเงินฝากบวก 0.25% (เงินนำส่งกองทุนฯ) บวกต้นทุนดำเนินงาน)
สาระสำคัญของเรื่อง
โครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุระยะที่ 2 (บ้านฅนไทย)
กระทรวงการคลังได้สำรวจที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศเพื่อนำมารองรับการดำเนินโครงการ “บ้านฅนไทย” โดยในเบื้องต้น กระทรวงการคลังได้คัดเลือกที่ดินราชพัสดุที่มีความเหมาะสม และไม่เป็นที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน จำนวน 8 แปลง ครอบคลุม 4 ภาค เพื่อนำมาดำเนินโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุ
ประเภทที่อยู่อาศัย :
กระทรวงการคลังได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างโครงการบ้านฅนไทยเป็นประเภทที่อยู่อาศัย 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
(1) บ้านแฝด พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร
(2) บ้านแถว พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร และ
(3) อาคารชุดพักอาศัย พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร ในระดับราคา 350,000 - 700,000 บาทต่อหน่วย
กลุ่มเป้าหมาย :
1) ประชาชนที่อยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับกระทรวงการคลัง
2) ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน
3) ประชาชนทั่วไป (ธนาคารไม่ต้องสนับสนุนดอกเบี้ย) โดยพิจารณากลุ่มเป้าหมายลำดับที่ 1 ก่อน เมื่อ Supply เหลือจึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ 2 และ 3 ตามลำดับต่อไป
คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ :
ผู้มีสัญชาติไทย
มาตรการสินเชื่อ :
กรอบวงเงินโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท
(1) สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ร้อยละ 3 ต่อปี หลังจากนั้น MLR – ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและหรือบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ
(2) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 ร้อยละ 2.75 ต่อปี หลังจากนั้น กรณีรายย่อย MRR - ร้อยละ 0.75 ต่อปี หรือ กรณีสวัสดิการหักเงินเดือน MRR - ร้อยละ 1.00 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio : DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (Debt to Income Ratio : DTI) ตามที่ธนาคารกำหนด โดยมีวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุในระดับราคา 350,000-700,000 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสินพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม
รูปแบบ :
โครงการการผ่อนชำระสู่การเช่าระยะยาว (Rent to Lease) กรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัย และผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) พื้นที่โครงการ ที่ราชพัสดุครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ
2) ราคาที่อยู่อาศัยในระดับราคา 350,000 - 700,000 บาท ต่อหน่วย
3) บ้านแฝด/บ้านแถว/อาคารชุดพักอาศัยมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตรต่อหน่วย
4) กำหนดให้มีการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางไม่เกินร้อยละ 30 ของพื้นที่โครงการฯ เพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น และ/หรือเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ
5) การคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการจะพิจารณาผู้ที่เสนอเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการมากที่สุด
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการในแต่ละพื้นที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และจัดทำแผนบริหารโครงการฯ ตลอดอายุโครงการ ส่วนกระทรวงการคลังจะพิจารณาผ่อนปรนอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ “บ้านฅนไทย” โดยพิจารณาความเป็นไปได้ภายใต้หลักกฎหมายและระเบียบกระทรวงการคลังที่กำหนด
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มกราคม 2561