ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 17 December 2017 22:30
- Hits: 2159
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....)
เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 2 ฉบับ (มาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 2 ฉบับ (มาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 โดยเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการรับฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องฝากเงินเป็นรายได้เดือนติดต่อกัน มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมแล้วทั้งหมดต้องไม่เกิน 600,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามลำดับ ดังนี้
2.1 เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีได้รับผลตอบแทนดังกล่าวและดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรประเภทออมทรัพย์ รวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2.2 เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประจำ ที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับผลตอบแทนดังกล่าวทุกประเภทหรือดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วต้องไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี และได้รับผลตอบแทนดังกล่าวหรือดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ธันวาคม 2560--