ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโซล (Seoul Declaration)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 19 November 2017 13:14
- Hits: 3949
ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโซล (Seoul Declaration)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบ/รับรอง
1.1 (ร่าง) ปฏิญญาโซล (Seoul Declaration)
1.2 (ร่าง) ประเด็นนำเสนอให้หัวข้อ “Collaboration for the Next Decade-ImprovingYouth Employability”
2.หากจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารตามข้อ 1.1 ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ ศธ. หารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้นได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง [ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการจะรับรอง (ร่าง) ปฏิญญาโซลและนำเสนอในหัวข้อ “Collaboration for the Next Decade – Improving Youth Employability” ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซม ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2560 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี]
สาระสำคัญของ (ร่าง) ปฏิญญาโซล และ (ร่าง) ประเด็นนำเสนอในการประชุมฯ ในหัวข้อ“Collaboration for the Next Decade-Improving Youth Employability” จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกับแต่ละประเทศสมาชิกอาเซม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสและคุณภาพทางการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาด้านอาชีวศึกษา โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. (ร่าง) ปฏิญญาโซล จะแสดงถึงวิสัยทัศน์สำหรับทศวรรษหน้า โดยการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายและสมรรถนะเพื่อการว่าจ้างสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคตระหว่างเอเชียและยุโรป การเสริมสร้างสมรรถนะการจ้างงานผ่านการปรับปรุงคุณภาพทางการศึกษา มุ่งไปสู่การปรับวิธีการสอนตามหลัก STEM และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดการพัฒนาทักษะร่วมกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา รวมทั้งการปรับปรุงเครื่องมือสำคัญเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมผ่านข้อปฏิบัติในด้านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
2. ประเด็นการนำเสนอเอกสารในหัวข้อ 'Collaboration for the Next Decade-Improving Youth Employability” เป็นการกล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การกำหนดเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะใหม่และคิดอย่างเป็นระบบ การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทย 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหางานทำของเยาวชนผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะการศึกษาและฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาและเทคนิคในสถาบันอาชีวศึกษาต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการจ้างงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรของภาคเอกชน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560