การลงนามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ฉบับปี ค.ศ. 2017 -2021
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 11 November 2017 14:28
- Hits: 4294
การลงนามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ฉบับปี ค.ศ. 2017 -2021
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการลงนามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework : UNPAF) ฉบับปี ค.ศ. 2017 - 2021 รวมถึงการปรับเปลี่ยนร่างกรอบความร่วมมือดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องติดตามและร่วมกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team : UNCT) ขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้กรอบ UNPAF ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. กต. ได้จัดพิธีลงนามกรอบ UNPAF ฉบับปี ค.ศ. 2017-2021 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยและนาง Deirdre Boyd ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมผู้แทนหน่วยงานภายใต้ UNCT เป็นผู้ลงนามฝ่ายสหประชาชาติ
2. กต. ได้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างกรอบ UNPAF ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครอบคลุมพัฒนาการที่เป็นปัจจุบันและรัฐบาลให้ความสำคัญ ดังนี้
2.1 การปรับถ้อยคำตามความเห็นของ พณ.
2.1.1 ปรับเพิ่มเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในยุทธศาสตร์ผลลัพธ์ที่ 3 เพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำแนวปฏิบัติด้านการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและยั่งยืนมาใช้ด้วย
2.1.2 ปรับเพิ่มประเด็นเรื่องการขยายการแลกเปลี่ยนด้านนวัตกรรมในยุทธศาสตร์ผลลัพธ์ที่ 4 เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
2.2 การปรับถ้อยคำตามความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.2.1 ปรับเพิ่มข้อความในหน้า 11 ภายใต้ข้อ III.SITUATION ANALYSIS หัวข้อย่อย Environment, Natural Resources, Climate Change and Disaster Resilience วรรค 3 ซึ่งระบุรายละเอียดการดำเนินงานของไทยภายใต้ความตกลงปารีส เพื่อความถูกต้องของข้อมูลตามเอกสาร Nationally Determined Contribution
2.2.2 แก้ไขข้อความในภาษาอังกฤษและเพิ่มเติมคำให้ชัดเจนในฉบับแปลภาษาไทยใน indicators ข้อ 6 ภายใต้ Annex I: Results Matrix
2.2.3 ข้อให้ใช้ข้อมูลแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2593 NAMAs Roadmap และ NDC Roadmap ในคอลัมน์ Baseline & Target (2021)
2.2.4 เพิ่มชื่อหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักของ SDG 7 คือ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย ภายใต้ Means of Verification และ Role of Partners ที่จะต้องเป็นผู้ประเมินการดำเนินงานและรวบรวมข้อมูล
2.2.5 เพิ่มเติมรายละเอียดภายใต้หัวข้อ Risk and Assumption เกี่ยวกับการขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องมือทางกฎหมายและทางเศรษฐศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างบูรณาการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.2.6 กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับการแสดงเจตจำนงในการลดก๊าซของประเทศไทย รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายระยะกลางด้านการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2593
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560