แผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกใน การพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 30 September 2017 20:24
- Hits: 2251
แผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกใน การพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการยกระดับ การบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของแผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 กำหนดแผนงานออกเป็น 5 แผนงาน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
แผนงานที่ 1 การปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน ระยะที่ 2
1) พิจารณาลดรายการเอกสารหลักฐานประกอบ เพื่อเป็นการลดภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ในการเตรียมเอกสารในการติดต่อราชการของประชาชน
2) การลดขั้นตอนและระยะเวลาแล้วเสร็จตามคู่มือสำหรับประชาชน โดยตั้งเป้าหมายลดระยะเวลาแล้วเสร็จไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30-50
3) การปรับปรุงรูปแบบของคู่มือสำหรับประชาชน ให้มีรูปแบบสวยงามเข้าใจง่าย ข้อมูลชัดเจนและครบถ้วน
4) การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการ
5) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อลดขั้นตอนการให้บริการโดยการจัดทำ One Stop Service
6) ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายที่ใช้มาเป็นเวลานาน หรือมีการมอบอำนาจหรือกระจายอำนาจ เพื่อให้การดำเนินการมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
7) การคัดเลือกหน่วยงานต้นแบบ ในการปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนในระยะที่ 2 ภายใต้แนวคิด “เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง”
แผนงานที่ 2 การจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา
สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นควรให้หน่วยงานราชการพิจารณาจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา โดยขอให้จัดทำแผนการดำเนินงานจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา (ภาษาไทยควบคู่ภาษาอังกฤษ) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งการดำเนินการจะขึ้นอยู่กับความพร้อมและจำนวนเอกสารที่จะต้องแปล โดยเริ่มดำเนินการในปี 2560 และให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2564
แผนงานที่ 3 การพัฒนาระบบติดตามการให้บริการ (Tracking system)
ระยะที่ 1 ปรับปรุงกฎ ระเบียบให้หน่วยงานผู้อนุญาตสามารถแจ้งเหตุแห่งความล่าช้าแก่ผู้ยื่นคำขอเป็นหนังสือ หรือผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดรูปแบบของหนังสือแจ้งเหตุแห่งความล่าช้าให้เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันทุกหน่วยงาน
ระยะที่ 2 ปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยให้หน่วยงานผู้อนุญาตรายงานการพิจารณาที่ล่าช้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระบบดังกล่าวจะสร้างไฟล์เอกสารหนังสือแจ้งเหตุความล่าช้าด้วยรูปแบบที่เป็นมาตรฐานและจัดส่งไปยังผู้ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวสามารถแจ้งผู้ยื่นคำขอผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น SMS e-Mail
ระยะที่ 3 พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับคำขอตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาต และผู้ยื่นคำขอและหน่วยงานกำกับสามารถติดตามสถานะการดำเนินการพิจารณาคำขอทุกรายการและ ทุกขั้นตอนได้ทันที รวมถึงมีระบบแจ้งเตือนผู้ยื่นคำขอและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลา ตามคู่มือสำหรับประชาชน
แผนงานที่ 4 การอำนวยความสะดวกในการจองคิวกลางและการให้ข้อมูลป้อนกลับของ
ประชาชนต่อการบริการ (Citizen Feedback Survey)
1) ระบบการจองคิวกลาง เพื่อการอำนวยความสะดวกในการรับบริการจากภาครัฐ มีลักษณะเป็นการจองคิวออนไลน์ในรูปแบบการให้บริการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบศูนย์กลางของภาครัฐ โดยสามารถจองคิวล่วงหน้า และมีระบบการแจ้งเตือนคิวผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่
2) ระบบการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่มาใช้บริการของภาครัฐ (Citizen Feedback)เป็นการพัฒนาช่องทางที่เหมาะสมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อมารับบริการจากหน่วยงานของรัฐ และนำความคิดเห็นดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพ
แผนงานที่ 5 การทบทวนกฎหมายในการยกเลิกใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น
ระยะที่ 1 ปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ ในการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน โดยให้คงเหลือเฉพาะคู่มือกลาง จำนวน 5,724 คู่มือ เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานให้เหมือนกันทุกหน่วยงานสาขา / ภูมิภาค
ระยะที่ 2 ปรับลดจำนวนประเภทกระบวนงาน โดยคัดเลือกกระบวนงานประเภทการจดทะเบียนให้มีการจดแจ้งผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 50 ของกระบวนงานดังกล่าวและปรับปรุงให้กระบวนงานประเภทการรับแจ้ง / จดแจ้งสามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
ระยะที่ 3 พิจารณาทบทวนกฎหมายในกระบวนงานประเภทที่เหลือ ได้แก่ การออกใบอนุญาต การออกใบอนุญาตแบบไม่มีใบอนุญาต และการจดทะเบียน/ขึ้นทะเบียน เพื่อปรับลดกระบวนงาน โดยมีเป้าหมายให้คงเหลือประมาณ 1,000 กระบวนงาน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กันยายน 2560