WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 1

GOV4การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 1

 

       คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

       1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 1

       2. เห็นชอบต่อท่าทีของไทยสำหรับใช้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 1

       ทั้งนี้ ในกรณีมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีของไทยดังกล่าว ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว ให้สามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย

 

สาระสำคัญของเรื่อง

       องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 1 รวมทั้งสิ้น 37 คน ประกอบด้วย

               (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยฯ

               (2) ประธานอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ

               (3) ผู้แทน ทส.

               (4) ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม

               (5) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

               (6) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ

               (7) ผู้แทนกระทรวงการคลัง และ

               (8) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยแล้วเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560

       กรอบท่าทีของไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 1 มีสาระสำคัญ ดังนี้

      1. สนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของอนุสัญญามินามาตะฯ ในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศและการปล่อยสู่ดินหรือน้ำของปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์ให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

     2. คำนึงถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ และความต้องการจำเพาะของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในระดับประเทศ และความร่วมมือในระดับภูมิภาคด้านการจัดการสารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจร โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและทางด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ

      3. คำนึงถึงหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกันตามขีดความสามารถและสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

       4. สนับสนุนความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณี ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นภาคีและข้อตกลงที่สอดคล้องกับศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศ

       5. สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งนี้ หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากท่าทีการเจรจานี้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

     นอกจากนี้ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 1 ยังจะพิจารณาทางเลือกในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวรของอนุสัญญามินามาตะฯ และคัดเลือกคณะกรรมการบังคับใช้และปฏิบัติตาม รวมทั้งการพิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอนุสัญญามินามาตะฯ ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ด้านยุทธศาสตร์ ด้านเทคนิควิชาการและวิทยาศาสตร์ ด้านกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการกำกับดูแล ความช่วยเหลือด้านเทคนิควิชาการ ทรัพยากรและกลไกการเงิน ด้านการประเมินผลและการรายงานผล และประเด็น อื่น ๆ

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กันยายน 2560

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!